เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
booker loggerweawfah
The Order of Time - ความลี้ลับของเวลา
  • "ไม่มีความต่างโดยเนื้อแท้ระหว่างอดีตกับอนาคตในการไหลของเวลา
    มีเพียงการครุ่นคิดพร่าเลือน
    ถึงความเป็นไปไม่ได้อันลี้ลับของเอกภพ ณ จุดใดจุดหนึ่งในอดีตเท่านั้น"
    (p.40)

    ช่วงนี้พบว่ากำลังสนุกไปกับการอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์มาก 
    เพราะมันมีความต่างจากหนังสือเรียนในวัยเด็ก ที่แค่ใช้นิ้วกรีดเปิดดูผ่าน ๆ ก็รู้เลยว่าเราคงไม่เข้าใจ
    อนึ่ง ถึงแม้ว่าผู้เขียนจะไม่ได้เรียนสายวิทย์มาก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับว่า ด้วยการเรียบเรียงเรื่องราวอย่างเป็นระบบ การตั้งคำถามอันน่าสนใจ และการเลือกใช้ถ้อยความสวยงามของผู้แปลแล้ว ทำให้หนังสือวิทยาศาสตร์เล่มนี้ (หรือเล่ม Why grow up ที่เขียนถึงก่อนหน้าด้วย) เป็นหนังสือที่สร้างความอัศจรรย์ใจให้เราได้ไม่แพ้การอ่านนิยายสนุก ๆ เลย

    The Order of Time เป็นหนังสือที่ตั้งคำถามว่า เวลาคืออะไร? มีอยู่จริงหรือไม่และมันทำงานอย่างไร?
    คำถามทั้งหมดถูกตอบผ่านสายตาของนักควอนตัมฟิสิกส์ Carlo Rovelli 
    โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 
                 ภาคที่ 1 - การแหลกสลายเป็นผุยผงของกาลเวลา
                 ภาคที่ 2 - โลกที่ไร้กาลเวลา
                 ภาคที่ 3 - ที่มาของเวลา

    ความสนุกของหนังสือเล่มนี้อยู่จึงอยู่ที่ความล้ำของเนื้อหา 
    อยู่ที่ความพยายามของ Carlo ในการลอกปลอกเปลือกของเวลาออกทีละชั้น ทีละชั้น
    จนถึงแก่นกลางของสิ่งที่เรียกว่า "เวลา" ในความเข้าใจ(ผิด)ของมนุษย์

    ยังไม่พอ.

    เขายังทั้งบดทั้งบี้การดำรงอยู่ของเวลานั้นจนแหลกละเอียด
    และสำรวจลึกเข้าไปถึงหน่วยที่เล็กที่สุดตามแนวคิดกลศาสตร์ควอนตัม นั่นคือตัวควอนตัมของเวลาเอง 

    คำถามคือ.
    เราคิดว่าเรารู้จักเวลาดีแล้วจริงหรือ?
    ที่เราเข้าใจว่าอดีต ปัจจุบัน อนาคต ดำเนินไปเช่นนี้ เพียงเพราะว่าโลกมันเป็นไปเช่นนี้เองจริง ๆ หรือ?

    คำตอบคือ.
    ไม่เลยสักนิด

    นี่แหล่ะคือต้นตอของความล้ำที่ว่า คือ ในขณะที่เรากำลังดำดิ่งเข้าไปสู่โลกแห่งการพิสูจน์ของ Carlo
    ความเข้าใจของเราจะค่อย ๆ ถูกลอกออก จนกระทั่งตัวตนของเราแหลกสลายกลายเป็นเพียงผลจากการมีอันตรกิริยา (interaction) ของควอนตัม เมื่อผ่านไปครึ่งเล่ม เศษผงซึ่งคือตัวตนของเราจะค่อย ๆ ถูกกอบมารวมกันใหม่ และกลายเป็นเราอีกคนที่มองโลกต่างไปจากเดิม.

    ใครอยากลองสัมผัสประสบการณ์นี้ ต้องลองอ่านหนังสือเล่มนี้ :)

    The Order of Time 
    ความลี้ลับของเวลา
    writer: Carlo Rovelli
    translator: โตมร ศุขปรีชา
    Salt Publishing


    **สำคัญมาก** 

    ควรทำความเข้าใจคอนเซ็ปต์เรื่อง Entropy เชิงฟิสิกส์ให้ได้ก่อนเริ่มอ่าน เพราะเราเสียเวลากับการหาอ่านเรื่องนี้นานมาก มันค่อนข้างเข้าใจยากสำหรับเด็กสายศิลป์อย่างเรา ใครอยากอ่านหนังสือไปเลยแบบอารมณ์ดิบ ๆ ก็ไม่ต้องอ่านด้านล่างนะ

    ตั้งแต่ตรงนี้ อยากจะอธิบายให้คนที่งงเรื่อง Entropy ให้เห็นภาพเล็กน้อยตามที่เราเข้าใจจากการค้นเพิ่มและการอธิบายจากหนังสือ หากมีส่วนไหนเข้าใจผิดพลาดต้องขออภัยด้วย

    หนังสือเริ่มต้นด้วย
    รูดอล์ฟ คลอวิอุส  คิดค้นกฏทางฟิสิกส์ขึ้นมาข้อหนึ่ง นั่นคือ

    "หากสภาพแวดล้อมของวัตถุไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ 
    ความร้อนเดินทางจากวัตถุเย็นไปสู่วัตถุร้อนไม่ได้"
    (p.31)

    หมายความว่า มีความร้อนอยู่ในวัตถุหนึ่ง และความร้อนจะเดินทางไปสู่วัตถุที่เย็นกว่าเท่านั้น การเดินทางของความร้อนนี้ทำให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น (จาก ร้อน -> เย็น) แต่ถ้าวัตถุนั้นเย็นอยู่แล้ว และไม่มีอะไรมาทำให้วัตถุนั้นร้อนขึ้น วัตถุนั้นจะไม่สามารถร้อนขึ้นได้เลย 

    ให้นึกภาพ แก้วใส่น้ำแข็งตั้งอยู่เฉย สุดท้ายน้ำแข็งก็จะละลายกลายเป็นน้ำ (จาก ร้อน -> เย็น)
    แต่น้ำในแก้วจะไม่สามารถกลายเป็นน้ำแข็ง (เย็นขึ้น) หรือกลายเป็นน้ำเดือด (ร้อนขึ้น) ได้ ถ้าสภาพแวดล้อมไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด เพราะความร้อนเปลี่ยนกลับไม่ได้

    ซึ่ง "การเปลี่ยนแปลง" แสดงให้เห็นว่ามี "เวลา" เกิดขึ้นนั่นเอง

    นี่คือกฎพื้นฐานเดียวของฟิสิกส์ที่แยกอดีตออกจากอนาคต (p.31)
    และปริมาณที่ใช้วัดกระบวนการของความร้อนที่เปลี่ยนกลับไม่ได้นี้ เรียกว่า เอนโทรปี (entropy) 

    แต่ว่า entropy ไม่ใช่ความร้อน
    เบื้องหลังการเดินทางของความร้อนคือโมเลกุลของวัตถุที่เคลื่อนย้ายไปมาต่างหาก

    ดังนั้น Entropy คือ A measure of molecular randomness, or disorder. (อ้างอิง 1)
    (หน่วยวัดความไม่มีแบบแผน/ไม่เป็นระเบียบของโมเลกุล)

    ให้มองใหม่

              แก้วน้ำแข็ง       -----------ตั้งทิ้งไว้------------>         แก้วน้ำ       
    (โมเลกุลแยกเป็นก้อนๆ)                            (โมเลกุลของน้ำแข็งทุกก้อนรวมกัน)
               เอนโทรปีต่ำ                                                    เอนโทรปีสูง 
    (เป็นแบบแผน/เป็นระเบียบ)                         (ไม่เป็นแบบแผน/ไม่เป็นระเบียบ)         

    เมื่อใช้แนวคิดนี้กับการมองเห็นด้วยตาของมนุษย์ทั่วไป

              ไพ่เรียงสี       ------------สับไพ่------------------>         ไพ่สลับสี       
          (ไพ่แยกเป็นชั้นๆ)                                                 (ไพ่ถูกสลับคละกัน)
               เอนโทรปีต่ำ                                                        เอนโทรปีสูง 
    (เป็นแบบแผน/เป็นระเบียบ)                            (ไม่เป็นแบบแผน/ไม่เป็นระเบียบ)    

    กล่าวคือ

    เอนโทรปี (entropy) คือ ปริมาณที่บอกถึงความไม่เป็นระเบียบของระบบ ยิ่งระบบมีความไม่เป็นระเบียบสูง เอนโทรปีก็จะยิ่งมีค่าสูง แต่ถ้าระบบมีความไม่เป็นระเบียบน้อย เอนโทรปีก็จะยิ่งมีค่าต่ำ ซึ่งเราไม่มีวิธีที่จะหาเอนโทรปีสัมบูรณ์ (absolute entropy, So) ของสารใด ๆ ได้ (อ้างอิง 2)

    แต่ประเด็นของหนังสือเล่มนี้ในการยกเรื่อง entropy ขึ้นมาก็คือ
    แบบแผน/ระเบียบ ที่มนุษย์มองว่ามีในตอนแรกเนี่ย มันเป็นสิ่งที่มนุษย์คิดขึ้นมาเองเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง (ในอีกแง่หนึ่งคือ เวลา) ขึ้นมาหรือเปล่า
    ไพ่เรียงสี (เป็นระเบียบ/เอนโทรปีต่ำ) เป็นเพราะมนุษย์เลือกมองเฉพาะโครงสร้างเรื่องสีหรือเปล่า เพราะความจริงแล้วมันอาจจะยุ่งเหยิงไม่เป็นระเบียบด้วยโครงสรา้งอื่น ๆ ที่มนุษย์มองไม่เห็นอยู่ก็ได้
    โลกก็เช่นกัน มนุษย์มองเห็นโครงสร้างของโลกในแบบที่มนุษย์เท่านั้นมองออก และทึกทักเรื่องการเปลี่ยนแปลง สร้างกรอบเวลาขึ้นมาเองต่างหาก

    เช่นนี้แล้ว สรุปว่ายังมีการเปลี่ยนแปลง (ในอีกแง่หนึ่งคือ เวลา) อยู่อีกหรือไม่? 

    .
    .
    .

    แปะลิ้งสำหรับคนที่อยากลองทำความเข้าใจเอง

    คลิปของ TED-Ed      


    คลิปของ CrashCourse


    อ้างอิง 1 CrashCourse - Entropy: Embrace the Chaos! Crash Course Chemistry #20
    อ้างอิง 2 https://il.mahidol.ac.th/e-media/ap-chemistry1/thermodynamics/entropy1.htm


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in