เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
booker loggerweawfah
Das parfum - น้ำหอม
  • "ในเมื่อผู้คนเกิดความเชื่อมั่นในใจเช่นนี้แล้ว ผู้คนเหล่านั้นเชื่อในตัวเขานับแต่แรกลมหายใจที่ได้กลิ่นกายสังเคราะห์ของเขาเสียแล้ว"
    (p.204)

    Das parfum เป็นนวนิยายที่เขียนขึ้นในปี 1985 โดยนักเขียนชาวเยอรมัน Patrick Suskind เคยถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ เรื่อง Perfume (น้ำหอมมนุษย์)

    โดยส่วนตัวไม่เคยรู้จักเรื่องนี้มาก่อน แต่สะดุดตากับปกหนังสือสีดำรูปขวดน้ำหอมแปลกตา จึงตัดสินใจซื้อมาทันทีโดยไม่ได้คิด และก็ไม่ผิดหวังเลยสักนิด เพราะหนังสือเล่มนี้พาเราไปรู้จักเรื่องราวของ "กลิ่น" เพิ่มขึ้นมาก ทั้งการจำแนกกลิ่น การสกัดกลิ่นจากสิ่งต่าง ๆ กระบวนการทำน้ำหอมในอดีต และมุมมองของกลิ่นที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยรู้หรือสนใจมาก่อน

    หนังสือเล่มนี้คือเรื่องราวของ ญอง บัสติส เกรอนุย ชายผู้มีลักษณะพิเศษคือ ไร้กลิ่น และมีพรสวรรค์ราวกับถูกสร้างมาเพื่อเกรอนุยเพียงหนึ่งเดียว คือ พรสวรรค์ในการรับรู้กลิ่นที่แรงกล้า
    เกรอนุยพึ่งพาจมูกของตนในการเรียนรู้โลกกว้าง เขาเกิดมากำพร้าและไม่สนใจจะหัดอ่านเขียนจนถูกมองว่าเป็นเด็กหัวช้าและปัญญาทึบ แต่เขาเดินฝ่าความมืดมิดได้ราวตาเห็นและรับรู้ได้ว่าเมื่อไหร่ฝนจะมาหรือใครกำลังมา
    ในตอนยังเด็ก เกรอนุยไม่เข้าใจสิ่งที่เรียกว่า ความรับผิดชอบ จริยธรรม ศีลธรรม ความดี-ชั่ว เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถระบุได้ด้วยกลิ่น แต่เด็กชายเกรอนุยที่ใคร ๆ ก็มองว่าหัวทึบนั้น กลับรู้ว่านี่คือไม้สนไม่ใช่ไม้ซีดาร์ เขาสามารถจำแนกสิ่งต่าง ๆ ออกเป็นสารพันสิ่งได้ด้วยการดมกลิ่นเท่านั้น
    และลึก ๆ เขามีความปราถนาอันแรงกล้าที่จะเป็นผู้สรรค์สร้างน้ำหอมเลอเลิศที่เขาจินตนาการขึ้น
    และลึกยิ่งกว่า คือความปราถนาที่จะสร้าง "กลิ่น" ของตนเอง

    ซึ่งนี่เองคือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวน่าระทึกขวัญที่เกิดขึ้นต่อไป...


    กลิ่น-การได้กลิ่นในสังคม (อ้างอิง 1) 

    การได้กลิ่นเป็นหนึ่งใน 5 ผัสสะที่มนุษย์ใช้เพื่อวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประกอบสร้างโลกรอบตัวขึ้น
    ระหว่าง การมองเห็น การฟัง การลิ้มรส การสัมผัส เราจะพบว่า "การได้กลิ่น" เป็นความสามารถที่เรามักจะหลงลืม หรือไม่ทันได้คิดถึงมันจนกว่าเราจะได้กลิ่นของสิ่งหนึ่ง ๆ 
    เพราะมนุษย์ได้รับกลิ่นโดยอัตโนมัติ เราหายใจเข้าออกเพื่อดำรงชีวิตอยู่ทุกเวลา และกลิ่นต่าง ๆ ล้วนส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของเราทั้งสิ้น

    นักสังคมวิทยาได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกลิ่นกับกลไกทางสังคม พบว่า "กลิ่น" มีบทบาทสำคัญในการชักจูงและสร้างการรับรู้ของคน ๆ หนึ่งที่มีต่อสังคม มันสามารถกำหนดชนชั้นทางสังคมของผู้คน นอกจากนี้ ยังเชื่อมโยงไปถึงการสร้างกลุ่ม สร้างความสนิทชิดเชื้อ สะท้อนความคาดหวัง นำไปสู่ความศิวิไล และยังเป็นตัวกำหนดคุณค่าทางศีลธรรมของคนได้อีกด้วย 

    ในอดีต "กลิ่น" เป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งที่ยากจะจับต้องหรืออธิบายเป็นรูปธรรมได้ เพื่อสื่อสารให้ทราบถึงความรังเกียจและการหลีกหนีเหมือนการได้กลิ่นเหม็น เช่น กลิ่นของปีศาจ กลิ่นของแม่มด หรือใช้ในการแบ่งแยกเชื้อชาติ เช่น กลิ่นของพวกยิว หรือแม้กระทั่งกระตุ้นความปราถนาทางเพศ (ที่แฝงคุณค่าเชิงศีลธรรม) เช่น กลิ่นของสาวบริสุทธิ์ เป็นต้น 
    แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป "กลิ่น" ก็ยังมีบทบาทสำคัญ เรายังคงตัดสินว่า กลิ่นเหม็น คือ ความชั่วร้ายและความสกปรก ส่วนกลิ่นหอม คือกลิ่นของความดี ความสะอาดและความสวยงาม แม้ว่าจะเริ่มต้นจากการเป็นพฤติกรรมตามกลไกธรรมชาติก็ตาม แต่สิ่งที่สืบทอดต่อมาคือ มนุษย์ได้เอาการรับรู้นี้มากำหนดกฏเกณฑ์และบรรทัดฐานทางสังคมด้วย

    ดังนั้น สัญลักษณ์หนึ่งของการก้าวเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ คือความสามารถในการกำจัดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ และดัดแปลง/ประดิษฐ์กลิ่นที่เป็นที่ยอมรับของสังคมนั่นเอง 
    เราจึงรังเกียจคนที่มีกลิ่นตัวและกลิ่นปาก รับไม่ได้กับการตดในที่สาธารณะ และไม่ยอมให้หน้าบ้านของตนมีกองขยะเน่าเหม็น แม้กระทั่งกลิ่นจากของเสีย เราก็ยังมีการจัดการให้มันถูกลำเลียงไปตามท่อที่ผนังอยู่ใต้ผนังเพื่อให้พ้นสายตา
    ส่วนกลิ่นที่หอมและดึงดูด ก็ถูกนำมาใช้เป็นตัวแทนของการยอมรับในสังคม โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์ชื่นชอบกลิ่นหอม ดอกไม้ ผลไม้สด ทะเล แสงแดด ทั้งหมดให้ความรู้สึกสบายใจ สนิทชิดเชื้อ ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง ดังนั้น มนุษย์จึงมีการปรุงแต่งกลิ่นประดิษฐ์ขึ้น (1) เพื่อใช้ปรับเปลี่ยนกลิ่นของตนเองให้เป็นไปตามบรรทัดฐานของสังคมหรือกลุ่มที่ตนสังกัดอยู่ (2) เพื่อใช้ควบคุมสิ่งแวดล้อมรอบด้านให้เป็นไปตามที่มนุษย์ต้องการ

    การเอาแนวคิดทางสังคมวิทยามาจับกับเนื้อหาใน Das perfum จึงน่าสนใจมาก 
    มันจะทำให้เรามองโลกด้วยกลิ่นตามสายตาของเกรอนุยได้ชัดขึ้น
    กลับกัน มันก็จะทำให้เราหันมาได้กลิ่นของสังคมปัจจุบันในมุมที่ต่างออกไปด้วย.


    **คำเตือน - เนื้อหาด้านล่างมีสปอลย์**

    กลิ่น-กลิ่นกายสังเคราะห์-ความเป็นมนุษย์

    กลับมาที่เนื้อหาของ Das parfum 

    (1)
    การที่เกรอนุยเกิดมาไม่มีกลิ่น แสดงให้เห็นถึงนัยยะสำคัญที่ส่งแรงกระทบมาถึงผู้อ่านตั้งแต่ต้นเรื่อง เราจะพบว่า เนื้อเรื่องเริ่มต้นด้วยการเกิดอย่างน่าอดสูราวกับไม่ใช่มนุษย์ของทารกเกรอนุย ตามมาด้วยความประหลาดที่ทำให้ทารกต้องย้ายแม่นมหลายครั้ง และคำกล่าวหาจากแม่นมว่าทารกคนนี้เป็นปีศาจ

    "... ที่ตรงจุดนี้แหละเจ้าค่ะ จะมีกลิ่นหอมน่าดมที่สุด กลิ่นคล้ายคาราเมล
    หอมหวานวิเศษจริง ๆ เชียวแหละเจ้าค่ะ ... ถ้าหากได้ดมที่จุดนี้ละก็จะนึกรักเด็กทีเดียว
    ไม่ว่าจะลูกตนเองหรือลูกคนอื่น และถ้าเด็กไม่มีกลิ่นอย่างนี้ ถ้าจุดขวัญกระหม่อมไม่มีกลิ่นอะไรเลย
    หรือยิ่งกว่านั้น คือรู้สึกคล้ายลมเย็น อย่างเด็กนี่..." 
    (p.18)

    เราทราบแล้วว่า "กลิ่น" มีบทบาทสำคัญต่อมนุษย์ในการจัดกลุ่มหรือใช้เพื่อแบ่งแยกเรา-เขา คำถามสำคัญที่ตามมาคือ ตัวเกรอนุยที่ไม่มีกลิ่นอะไรเลยจะถูกจำแนกว่าเป็นมนุษย์ได้หรือไม่?
    และบทบรรยายที่ว่า เด็กชายเกรอนุยไม่รู้จัก... สื่อให้เห็นถึงความผิดปกติทางจิตที่นำไปสู่การฆาตกรรมโดยไร้สำนึกของเกรอนุยได้หรือไม่?


    (2)
    กลิ่นกายสังเคราะห์ที่เกรอนุยสร้างขึ้นและหมั่นนำมาปะพรมลงบนตัวเอง ส่งผลให้เกรอนุยกลายเป็นบุคคลที่มีตัวตนขึ้นมาในสังคม มันทำให้ผู้คนหลงใหล นับถือ ให้เกียรติเกรอนุย ยิ่งไปกว่านั้นยังทำให้รูปลักษณ์น่ารังเกียจของเกรอนุยดูราวกับชายหนุ่มรูปงามจากสวรรค์ 

    "เกรอนุยแลเห็นกองขี้แมวที่หลังธรณีประตูทางออกไปสู่ลานหลังบ้าน
    ค่อนข้างหมาด ๆ ใหม่ ๆ เขาตักเอามาครึ่งช้อนน้อยแล้วหยดน้ำส้มสายชูและโรยเกลือป่นตามลงไปในขวด ... เขาขูดเอาคราบกลิ่นปลาออกมาเล็กน้อย ผสมกับไข่เน่าและคาสโตรเรียม แอมโมเนีย
    ลูกจันทน์เทศ ผงเขาสัตว์ และหนังหมูไหม้เกรียมป่นจนละเอียด ... น้ำยาขนานนี้ส่งกลิ่นเหลือหลาย เหม็นเน่าเกรอะร้ายกาจยิ่งนัก "
    (p.190)

    เนื้อเรื่องในช่วงนี้กำลังสะท้อนให้เห็นว่า กลิ่นกายสังเคราะห์หรือน้ำหอมที่เกรอนุยปรุงแต่งขึ้นมานั้น ไม่ได้ทำมาจากสิ่งของซึ่งบริสุทธิ์สะอาดตามความเข้าใจของเรา มันประกอบมาจากสิ่งสกปรกน่าขยะแขยงมากมาย การที่ชาวเมืองหลงใหลไปกับกลิ่นนี้ทำให้เรามองเห็นว่ามนุษย์สามารถมัวเมาไปกับสิ่ง ๆ หนึ่งได้มากแค่ไหน และความเป็นมนุษย์เองก็ไม่ได้สร้างมาจากความสะอาดบริสุทธ์เท่าไหร่นัก


    (3)
    การสร้างกลิ่นกายสังเคราะห์ คือ ความพยายามทำตามความต้องการของสังคมและความต้องการเป็นส่วนหนึ่ง เกรอนุยอยากได้การยอมรับให้เป็นพวกเดียวกัน กล่าวคือ เป็นมนุษย์เหมือน ๆ กับคนอื่น ๆ เพราะเป็นสิ่งที่เกรอนุยไม่เคยได้รับมาก่อน
    แต่สุดท้าย เกรอนุยก็รู้ว่าผู้คนในเมืองไม่ได้ยอมรับหรือชื่นชมในตัวของเกรอนุย แต่เป็นตัวกลิ่นนี้ต่างหากที่ชาวเมืองลุ่มหลงและให้คุณค่า เกรอนุยตระหนักว่ามันก็เป็นเพียงเปลือกนอกเท่านั้น เป็นการหลอกลวงและคำโกหกชั้นดี

    "ผู้คนมิได้ยึดถือในตัวเขาดอก หากบูชาเทิดทูนรัศมีกลิ่นหน้ากากแห่งกลิ่นของเขา
    กลิ่นหอมที่เขาช่วงชิงมาเป็นของตน
    อันเป็นกลิ่นที่ควรค่าแก่การหลงใหลบูชาเยี่ยงเทพ"
    (p.298)


    (4)
    ตอนจบจึงเป็นการอ่านที่สะเทือนใจมาก นอกจากความรู้สึกขยะแขยงเวทนาที่ปะปนอยู่แล้ว ลึก ๆ ในกลุ่มก้อนของความหวั่นพรึงตอนกำลังอ่านอยู่นั้น บังเกิดความรู้สึกกระจ่างชัดขึ้นมาแวบหนึ่งว่า นี่คือตอนจบที่เหมาะสมที่สุดแล้วกับเกรอนุยผู้ไขว่คว้าการเป็นที่ต้องการมาตลอด

    ในเมื่อที่ผ่านมาไม่เคยมีใครต้องการเขาจริง ๆ เลยสักคน สุดท้ายก็เพียงร่างกายนี่แหล่ะ ขอเพียงมีใครสักคนต้องการเกรอนุยสักเล็กน้อย จะเป็นเนื้อหนังหรือกระดูกเขาก็ยินดีที่จะให้นั่นเอง

    สุดท้ายแล้ว ความเป็นมนุษย์ที่ว่านั่น คืออะไรกันแน่?

    Das parfum
    น้ำหอม
    writer: Patrick Suskind
    translator: สีมน
    Words Wonder Publishing

    อ้างอิง 1 - Largey, Gale P., Watson, David R., (1972). The Sociology of Odors. American Journal of Sociology, Vol. 77, No. 6, pp. 1021-1034., The University of Chicago Press.
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in