เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
booker loggerweawfah
ยุคสมัยแห่งความสิ้นหวัง
  • "บรรดาขุนนางและคนมีเงินเหล่านั้นล้วนไม่เคยมาถึงชั้นล่าง ที่แท้จริง ของเมืองนี้หรอก เพราะชั้นล่างที่แท้จริงนั้นไม่ใช่สถานที่ แต่เป็น ความรู้สึก"
    (p. 28)


    เพียงแค่ชื่อเรื่อง "ยุคสมัยแห่งความสิ้นหวัง" ก็ดึงดูดความสนใจของเราจากชั้นหนังสือได้เป็นอย่างดีเสียแล้ว เพราะมันช่างเหมาะเจาะกับสถานการณ์ประเทศในปัจจุบันนี้เหลือเกิน ขณะที่เรากำลังเขียนบทความอยู่นี้ ก็ขอพื้นที่สักเล็กน้อยในการบอกว่า เรากำลังดูถ่ายทอดสดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร์เพื่อเลือกประธานสภาไปด้วย โหย...ช่างบิวท์อารมณ์อะไรขนาดนี้  

    ประเด็นคือ "ความสิ้นหวัง" ของยุคสมัยหนึ่ง ๆ ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่หยิบยกขึ้นมาเขียนได้โดยง่าย เพราะมันช่างเป็นเรื่องส่วนบุคคลปะปนรวม ๆ ไปกับความเป็นสาธารณะในคราวเดียวกัน และความสิ้นหวังของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน คนหนึ่งอาจเกิดจากสภาพสังคม อีกคนอาจเกิดขึ้นจากอาการทางจิต หรืออาจเพราะปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย การหยิบยกความสิ้นหวังขึ้นมาประกาศกร้าวเป็นชื่อเรื่องจึงทรงพลังอย่างมาก และชวนให้เปิดอ่านเสียเหลือเกินว่าผู้เขียนจะถ่ายทอดเรื่องราวออกมาอย่างไร 

    ความแปลกใหม่อีกประการของเรื่องนี้คือ การใส่วิทยาการล้ำสมัยเข้าไปในบริบทสังคมแบบยุโรปในยุคก่อนสงครามโลก วิทยาการดังกล่าวคือ เครื่องสลีฟน๊อก (เครื่องกักเก็บการนอน) ที่นำไปสู่อาชีพ "นักนอน" ของโจเอล ตัวเอกของเรื่อง และหุ่นยนต์ที่มีจิตใจเหมือนมนุษย์ ที่ทำหน้าที่เป็นคนรับใช้ตามบ้านเรือนของชนชั้นสูงทั้งหลาย

    โจเอล  - นักนอนผู้อยากออกจากวงการ
    โอลิเวอร์  - ชนชั้นสูงที่ใช้ชีวิตโดดเดี่ยวอย่างเป็นปริศนา
    เมแกน  - หุ่นยนต์แม่บ้านที่มีจิตใจเหมือนมนุษย์

    เนื้อเรื่องร้อยเรียงผ่านความสัมพันธ์ของตัวละครทั้งสาม ต่างชนชั้น ต่างสถานะ ต่างความคิด และต่างความสิ้นหวัง ซึ่งเนื้อเรื่องเหมือนจะหนัก แต่ผู้เขียนสามารถทำให้เป็นเรื่องที่อ่านได้เพลิน ๆ เรื่องหนึ่ง บทสนทนาระหว่างตัวละครรื่นหูและลื่นไหลต่อเนื่องเป็นธรรมชาติ ชวนจิ้นได้นิด ๆ ถ้าอยากจะทำ (อิอิ) ด้วยฝีมือของ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท หรือในอีกนามปากกาหนึ่งคือ ร เรือในมหาสมุทร นั่นเอง

    สุดท้ายแล้วยุคสมัยแห่งความสิ้นหวังจะเป็นยุคสมัยแบบใด 
    และความสิ้นหวังที่เกิดขึ้นทั้งมวลจะมีทางออกหรือไม่ ?

    หรือต้องขึ้นอยู่กับการเลือกตั้งครั้งใหม่เท่านั้น! (ไม่ใช่แล้ว!! ไม่เกี่ยวกัน) 

    ท้ายที่สุด เป็นงานเขียนของนักเขียนไทยที่อยากแนะนำให้อ่านค่ะ ส่วนใครอ่านแล้วกลับมาอ่านบทวิเคราะห์ด้านล่างได้นะคะ ยังมีบางจุดที่มองเห็นเป็น plot hole หรือดูไม่สมเหตุสมผลอยู่บ้าง ใครคิดเห็นอย่างไร อยากให้มาแลกเปลี่ยนกัน 



    *ส่วนสำหรับผู้ที่อ่านแล้ว หรือไม่กลัวสปอยล์*

    เราสังเกตเห็นว่าความสิ้นหวังในเรื่องนี้ ถูกแยกออกเป็น 2 ประเด็น เขียนปะปนกัน

    1) ความสิ้นหวังในเชิงโครงสร้างทางสังคม 

    กล่าวคือ หนังสือเล่มนี้อธิบายสภาพสังคมที่แบ่งคนออกเป็นสองชนชั้น คือชนชั้นล่าง (นิวแองโกลล่าง) และชนชั้นสูง (นิวแองโกลบน) โดยทั้งสองชนชั้นนั้นมีความไม่เท่าเทียมกันสูงมาก เรียกได้ว่า ชนชั้นล่างจำเป็นต้องใช้เทียนไข แต่ชนชั้นบนร่ำรวยขนาดจ้างหุ่นยนต์คนรับใช้ได้ และความเหลื่อมล้ำทางสังคมในหนังสือ ยังถูกเขียนออกมาในรูปแบบของพื้นที่ทับซ้อน โดยอธิบายว่า 

    "เมื่อเลี้ยวมุมถนนและเมื่ออากาศที่หอมฟุ้งเปลี่ยนเป็นกลิ่นน้ำเน่าในตรอกหลังตึก
    นิวแองโกลล่างก็ปรากฎตัวขึ้นต่อหน้าคุณอย่างกะทันหัน
    แต่ไม่ต้องตกใจไป เพราะคุณไม่ได้พลัดหลงเข้ามาตลอดกาลหรอก
    ขอเพียงคุณกลั้นหายใจ จับกระเป๋าเงินไว้แน่น ๆ กันโดนคนล้วง
    แล้วเร่งฝีเท้าเดินจากตรงนี้ไปอีกสักสองช่วงตึก
    คุณจะไปถึงสวนสาธารณะที่พวกคนรวยชอบมาใช้เวลาว่าง
    ตรงนั้นเองที่นิวแองโกลบนเปิดประตูในคุณอีกครั้ง..."
    (p. 27) 

    ซึ่งความสิ้นหวังในเชิงโครงสร้างนี้สะท้อนภาพของสังคมกรุงเทพฯ ในปัจจุบันได้อย่างชัดเจนเลยทีเดียว ในมหานครแห่งนี้ คุณสามารถพบเห็นผู้คนจากชนชั้นล่างสุดอยู่ปะปนไปกับคนชนชั้นสูงที่สุด โดยที่แต่ละคนแทบจะไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์หรือรับรู้ซึ่งกันและกันเลย ราวกับเป็นมิติคู่ขนาน

    บนถนนเส้นเดียวกัน คุณสามารถพบเห็น รถ BMW จอดเคียงข้างรถเมล์พัดลมอายุกว่า 50 ปี ที่คนทำงานยืนเบียดเสียดกันแน่นเป็นปลากระป๋องแทบหายใจไม่ออก 
    หรือ คุณสามารถพบเห็นร้านอาหารนานาชาติในห้างหรูแต่เมื่อออกมาริมถนน คือ รถกระบะขายข้าวแกงยี่สิบบาทที่คนงานก่อสร้างแวะกิน 
    หรือ คุณสามารถเห็นชุมชนสลัมตั้งอยู่ติดกับห้างหรูได้

    นี่คือปัญหาเชิงโครงสร้างที่แบ่งสังคมออกเป็นเลเยอร์ เหมือนน้ำนมที่แยกชั้น ซึ่งส่วนบนสุดคือครีมอันนุ่มมันเข้มข้น (จึงมีสำนวนว่า cream of the crop = ครีมของผลผลิต หรือก็คือ "หัวกะทิ" นั่นเอง และยิ่งกว่านั้นครีมที่อร่อยเข้มข้น ยังถูกเรียกว่าครีมนั้นมีความ rich อีกด้วย) เลเยอร์เหล่านี้เหมือนจะอยู่ติดกันแต่ก็แยกชั้นกันอย่างชัดเจน ปัญหาในระดับนี้เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก และต้องใช้ระบบกลไกทั้งทางการเมือง สังคม สถาบันต่าง ๆ รวมถึงประชาชนเองเป็นผู้ร่วมกันแก้ไขและกำหนดทิศทางที่ถูกต้อง


    2) ความสิ้นหวังในมนุษยชาติ

    นั่นคือ ความสิ้นหวังในความเป็นมนุษย์นั่นเอง 

    Henri Desroche กล่าวว่า "ความหวังเปรียบได้กับเชือก เหมือนเชือกของชาวเผ่า Fakir ที่ผู้ทรงวิญญาณจะโยนมันขึ้นไปค้างไว้ในอากาศ การที่มนุษย์คว้าเชือกแล้วดึงตนเองขึ้นนั้นก่อให้เกิดความตึงเครียด เพราะความหวังถูกขับเคลื่อนด้วยพลังของจินตนาการ ความหวังจะไม่เกิดมีขึ้นได้เลยหากปราศจากการอยู่ร่วมกันของความเติมเต็มและความว่างเปล่าแห่งจินตนาการ" (อ้างอิง 1)

    เมื่อมนุษย์มองมนุษย์ด้วยกันเองแล้วเกิดความสิ้นหวัง นั่นคือการมองเห็นว่า ในตัวเพื่อนร่วมชาติแล้ว ไม่มีใครที่จะลุกขึ้นมาคว้าเชือกแห่งความหวังแล้วออกแรงดึง หรือแม้กระทั่งเชื่อในเชือกที่ห้อยค้างอยู่กลางอากาศนั่นอีกแล้ว 

    ในหนังสือเล่มนี้ จึงยกบทบาทของหุ่นยนต์ที่มีจิตใจเหมือนมนุษย์ขึ้นมา เป็นการแสดงออกถึงความสิ้นหวังที่มนุษยชาติมี เพราะแม้แต่หุ่นยนต์ ก็ยังมีจิตใจที่งดงาม มีความรู้สึกเศร้า เจ็บปวด รับรู้ถึงความอยุติธรรม มากกว่ามนุษย์ในเรื่องเสียอีก

    "อีธานเชื่อว่า การสิ้นสุดของโลกที่ครอบครองโดยมนุษย์กำลังจะมาถึง
    เขาตั้งข้อสังเกตว่า โลกของเราได้ถูกล้างใหม่มาหลายครั้งแล้ว
    เมื่ออารยธรรมหนึ่งดำเนินไปจนถึงจุดสูงสุด
    มันจะเสื่อมลงและธรรมชาติก็จะสร้างสิ่งมีชีวิตใหม่ขึ้นมา..."
    (คำโปรยปกหลัง)


    จุดบอดของเรื่อง

    1) ปูพื้นความสมเหตุสมผลและความสมจริงให้ผู้อ่านผิดพลาด
    การอธิบายความสมเหตุสมผลของโลกในหนังสือ โดยการเปรียบเทียบกับโลกปัจจุบันให้ผู้อ่านทราบอย่างชัดเจนเกินไป เป็นการจงใจ "ชี้" ให้ผู้อ่านเข้าใจว่าโลกนี้คือความไม่สมเหตุสมผลที่เกิดขึ้นจากปลายปากกาผู้เขียนเท่านั้น นอกจากนี้ การใช้คำว่า "เรา" ในการอธิบาย ซึ่ง POV (Point of view) เป็นมุมมองแบบพระเจ้า ทำให้ตัวผู้อ่านถูกดึงไปอยู่ฝั่งเดียวกับพระเจ้าผู้เล่าเรื่อง สร้างความขัดแย้งทางอารมณ์และความกังขาในความสมจริงของโลกในหนังสือเป็นอย่างมาก มันทำให้การดำรงอยู่ของสลีพน๊อกและวิทยาการหุ่นยนต์เป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล

    "เราอาจต้องแวะทำความเข้าใจกันสักเล็กน้อยก่อนที่จะไปต่อ
    ในประวัติศาสตร์ที่เราทั้งหลายรู้จัก หลอดไฟหลอดแรกถูกคิดค้นขึ้นในราวปี ๑๘๗๗ - ๑๘๘๗
    แต่ในจักรวาลที่โจเอลอยู่มีวิทยาการสองอย่างที่ปรากฏขึ้นอย่างไม่มีสาเหตุ..."
    (p. 25)

    2) กล่าวถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในมิติที่แบนเกินไป
    อย่างที่ชี้ให้เห็นถึงรูปแบบความสิ้นหวังสองแบบข้างต้น ในหนังสือเล่มนี้ พยายามเล่นมิติเชิงโครงสร้างโดยการแสดงความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น และความสิ้นหวังในการตะเกียดตะกายเพื่อหลุดพ้นจากสถานะดังกล่าวหรือความกลวงเปล่าในทรัพย์สินเงินทอง แต่โครงสร้างสังคมในหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ฉายภาพที่ทรงพลังเท่ายามที่เราได้อ่านชื่อเรื่องครั้งแรกเลย หรืออาจเป็นเพราะเราคาดหวังเกินไปก็อาจจะเป็นได้ 

    การสิ้นหวังเพียงเพราะมีสองชนชั้นนั้นมันไม่ suffer เพียงพอให้คนเราทุกข์ทรมานได้ (คือไม่ได้ทำให้สิ้นหวังจนถึงที่สุด) สิ่งที่ผู้เขียนต้องเติมเข้ามา อาจจะกล่าวถึงเพียงผิวเผินให้เห็นภาพสังคมคร่าว ๆ  คือ สถาบันต่าง ๆ เช่น สถาบันการเมือง สถาบันการศึกษา กระบวนการยุติธรรม ฯลฯ มันต้องสิ้นหวังด้วยโครงสร้างเหล่านี้จริง ๆ ต่างหาก ถึงจะแสดงให้เห็นถึงความเจ็บปวดและไร้อำนาจของประชาชนได้ (ดังที่คนไทยเราประสบอยู่ทุกวันนี้...เฮ้อ)

    3) กล่าวถึงความสิ้นหวังในมนุษยชาติน้อยเกินไป
    น้อยเกินไปในสัดส่วนที่เรียกว่า มีแต่ตัวละครดี ๆ แค่นับ โจเอล โอลิเวอร์ เมแกน เพื่อนบ้านและลูกสาว แฟนเพลงของโอลิเวอร์ หรือแม้กระทั่งตัววลาดิมีร์เอง ทุกคนล้วนเป็นคนดีอ่ะ ไม่มีการฉายภาพของความสิ้นหวัง ปัญหาของทุกคนก็เพียงแค่เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างเท่านั้น เพราะทุกตัวละครลึก ๆ แล้วก็มีความหวัง มีความต้องการอยากเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง เราจะไม่เห็นภาพของตัวละครเลว ๆ ฆ่าข่มขืน คดโกง หยาบช้า "ไร้ความเป็นมนุษย์" มันจึงเป็นประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไปนิด



    โดยสรุปแล้ว แนวคิด โครงเรื่อง และสารที่พยายามจะสื่อออกมาให้กับผู้อ่านของหนังสือเล่มนี้วางไว้ดีแล้ว ขาดเพียงแต่การสร้างความเข้มข้นของบริบท ที่จะทำให้ผู้อ่าน (โดยเฉพาะหนุ่มสาวไทยในยุคสมัยนี้) มีอารมณ์ร่วมและกล่าวขวัญถึงมากยิ่งขึ้น

                        ยุคสมัยแห่งความสิ้นหวัง
                        writer: จิรานันท์ เหลืองเพียรสมุท
                        แพรวสำนักพิมพ์

    อ้างอิง 1
    Blind pessimism and the sociology of hope. https://discoversociety.org/2015/12/01/blind-pessimism-and-the-sociology-of-hope/?fbclid=IwAR1F5D0_3VrNsKMMolhzgLryJ6-wFVA4J8WzuIuow_kfhxsXsDcjGE7Ui6I

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in