เพราะหากสังเกตดูแล้วจะเห็นว่าทรงผมและการแต่งกายจะคล้ายกับจีนค่ะ
คาดว่าช่างที่แกะสลักอาจได้รับแรงบันดาลใจมาจากกลุ่มของคนจีนที่เข้ามาค้าขายก็เป็นได้
มีรายละเอียดแตกต่างไปจากนางอัปสรในปราสาทอื่น ๆ เช่นกัน
เราเริ่มจากการเดินดูในส่วนของ ระเบียงคด ก่อนเป็นอันดับแรกค่ะ ซึ่งตัวระเบียงคดนี้เป็นกำแพงล้อมรอบปราสาททั้งสี่ทิศ มีหลังคาคลุมตลอดแนว นิยมสลักเป็นเรื่องราวทางศาสนาหรือเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการบันทึกเรื่องราวและเทิดพระเกียรติกษัตริย์ผู้สร้างและทำนุบำรุงตัวปราสาทค่ะ
ภาพที่แกะสลักอยู่ในระเบียงคดของปราสาทนครวัดแห่งนี้ที่มีความยาวรวมกันประมาณ 1 กิโลเมตรนั้นมีเรื่องราวที่น่าสนใจชวนให้ติดตามชมมากค่ะ ซึ่งเราแนะนำว่าให้เริ่มเดินชมในทิศทวนเข็มนาฬิกาและค่อย ๆ สังเกตรายละเอียดไปเรื่อย ๆ นะคะ
อย่างในภาพด้านบนนี้เป็นช่วงแรกของระเบียงคดนี้เป็นแกะสลักเป็นเรื่องราวของ สงครามทุ่งกุรุเกษตร จากเรื่อง มหาภารตะ ค่ะ (แน่ล่ะ ก็เพราะนครวัดสร้างขึ้นเป็นเป็นเทวาลัยบูชาพระวิษณุยังไงล่ะ) เรื่องราวของมหาภารตะก็ต้องบอกว่าเป็นมหากาพย์ฮินดูเกี่ยวกับการรบอันยาวนานของสองตระกูล นั่นคือตระกูลเการพ และ ปาณฑพ ซึ่งซีนนี้ก็เป็นซีนที่สองกองทัพเข้ามาห้ำหั่นประจันบาญกันอยู่ค่ะ
ในเรื่องนี้พระวิษณุได้นั้นอวตารลงมาเป็น พระกฤษณะ ซึ่งทำหน้าที่เป็นสารถีให้แก่ อรุชุน แม่ทัพของฝั่งปาณฑพนั่นเอง
หากอยากทราบเรื่องราวของมหาภาระตะแบบวิเคราะห์ เจาะลึก เราขอแนะนำให้ไปฟังคลิปของ อ.วีระ ธีรภัทร ค่ะ สนุกสนาน ฟังง่าย ได้ความรู้มากเลยทีเดียวค่ะ ฟังไปก่อนแล้วไปเห็นของจริงจะยิ่งสนุกและอินมากเลยค่า
สำหรับระเบียงทางทิศใต้นั้นเป็นภาพ ขบวนเกียรติยศของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ค่ะ เป็นภาพที่พระองค์รายล้อมด้วยเหล่าเสนาอำมาตย์ กองทัพยิ่งใหญ่ ประกอบด้วยทัพช้าง ทัพม้า และไพร่พล
ตรงจุดนี้ของระเบียงคดฝั่งทิศใต้ ก็มีภาพของกองทัพที่มีจารึกไว้ว่า เสียมกุก ซึ่งแปลว่า กองทัพสยาม ซึ่งยังไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่านี่เป็นกองทัพของสยามจริงหรือไม่ และมาจากแคว้นใดในยุคสมัยนั้น
ต่อมาเป็นโซนของภาพสลักเล่าเรื่องราวของ นรก - โลกมนุษย์ - สวรรค์ ค่ะ โดยจุดนี้จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนบนลงล่าง เป็นภาพของโลกสวรรค์ โลกมนุษย์ และนรก (ภาพที่ถ่ายมาคือส่วนที่เป็นนรกค่ะ ก็...ทำความคุ้นเคยเอาไว้ก่อนเนอะ) มีบางส่วนที่ถล่มลงมาทำให้ภาพบางส่วนเสียหาย ไม่สามารถบูรณะให้กลับมาเหมือนเดิม
ระเบียงคดด้านทิศตะวันออกนั้น เป็นภาพของ ตำนานการกวนเกษียรสมุทร ค่ะ มีความยาว 150 เมตร ด้านซ้ายมือเป็นฝ่ายยักษ์กำลังฉุดหัวของพญานาควาสุกรี (ตามภาพที่เราถ่ายมา) และส่วนหางเป็นฝ่ายเทวดา ตรงกลางเป็นภาพของพระวิษณุกำลังกำกับการกวนเอาน้ำอมฤต มีภูเขามันทระเป็นแกนกลาง และมีเต่าที่ก็คืออีกภาคอวตารของพระวิษณุรองอยู่เพื่อไม่ให้ภูเขาทะลุทำให้แกนโลกแตก ส่วนด้านบนเป็นเหล่านางอัปสรที่เกิดจากการกวนเกษียรสมุทรนั่นเอง
เหล่าสัตว์น้ำปั่นป่วนเพราะการกวนเกษียรสมุทรค่ะ
การกวนเกษียรสมุทร นี้ เริ่มมาจากการต่อสู้ช่วงชิงพื้นที่ระหว่างยักษ์อสูรกับเหล่าเทวดาค่ะ เริ่มมาจากอยู่ ๆ เทวดาก็ไปเคลมพื้นที่สวรรค์ไปจากพวกยักษ์ เลยต้องสู้กันยาวนาน เพราะต่างมีอิทธิฤทธิ์พอ ๆ กัน เนื่องจากตอนนู้นใครบำเพ็ญเพียรจนแรงกล้าก็ไปทูลขอพรวิเศษจากพระศิวะกันทั้งนั้น เรียกได้ว่าเทพมาก เท้าติดแสงกันหมด ฟาดกันไปฟาดกันมาไม่จบไม่สิ้นกันเสียที
ทางฝ่ายเทพ นำทีมโดย พระอินทร์ ก็พยายามจะชนะศึกสงครามในครั้งนี้ให้จงได้ แต่ทำยังไง๊ยังไงก็ไม่ชนะกับเขาเสียที เพราะตัวเองเนี่ยดันไปโดนฤาษีตนนึงสาปไว้ จนต้องไปขอความช่วยเหลือจากพระศิวะและพระพรหมว่าจะทำยังไงดี ฝ่ายเทพทั้งสองก็บอกว่าใจเย็นก่อนพระอินทร์ พรที่ให้ฝ่ายนู้นไปแล้วก็ให้ไปเลย มาเรียกคืนไม่ได้ มันไม่แฟร์
พระอินทร์เลยไปพึ่งพระวิษณุที่เป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ซึ่งพระวิษณุก็ปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่างั้นก็กวนเกษียรสมุทรมั้ยล่ะ เอาน้ำอมฤตมาเป็นใบชุบ ทำให้มีพลัง เป็นอมตะไม่ตาย แต่ทีนี้การกวนเกษียรสมุทรเนี่ย กำลังฝ่ายเทวดาพวกเดียวจะทำกันไม่ไหว เลยต้องไปเซ็นสัญญาสงบศึกหยุดยิงชั่วคราวกับพวกยักษ์และชวนกันมาลงแรงเพื่อให้ได้น้ำอมฤต พอได้ปุ๊บก็แบ่งกัน แฟร์เทรดที่แท้
ฝ่ายยักษ์ก็นะ... พ่อคนซื่อ เออออห่อหมกกับเขาไปด้วยซะอย่างงั้น พระอินทร์ก็จัดแจงให้พญานาควาสุกรีมาช่วยใช้ลำตัวเป็นเชือกในการชัก โดยให้พันภูเขามันทระไว้ แล้วก็เกณฑ์ให้พลพรรคยักษาทั้งหลายไปจับตรงส่วนหัว เพราะคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่าพญานาคต้องเจ็บตอนโดนดึงแล้วก็จะพ่นพิษออกมาชัวร์ป้าบ (ซึ่งก็จริงดังว่า และบุคคลผู้เป็นฮีโร่ในเหตุการณ์นี้คือพระศิวะที่เห็นว่าพิษของพญานาคนั้นอันตราย เลยดื่มพิษนั้นเสียเพื่อไม่ให้โลกพินาศ จึงเป็นเหตุว่าทำไมคอของพระศิวะถึงเป็นสีดำนั่นเอง) ส่วนเทวดาก็ดึงตรงหางไว้ สบายกันทั้งผอง ดึงกันแบบชิว ๆ ซึ่งกิจการงานใหญ่ขนาดนี้ ก็ได้พระวิษณุเจ้าของไอเดียเสร็จมาเป็นประธานกำกับพิธีกรรมดังกล่าว และก็อวตารร่างลงไปเป็นเต่ายักษ์ เอากระดองรองภูเขามันทระไว้อีกทีนึงเพราะกลัวว่ากวนไปกวนมา ภูเขาจะทะลุไปถึงแกนโลก เดี๋ยวจะบึ้มแตกดับกันไปทั้งผอง
พิธีกรรมดังกล่าวกินเวลาไปเป็นพัน ๆ ปี ระหว่างนั้นก็มีไอเท็มวิเศษโผล่ออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น พระจันทร์ ที่พระศิวะเห็นแล้วชอบเลยเอาไปปักผม เพชรเกาสตุภะ หนึ่งในมณีที่ว่ากันว่างามสุดในสามโลกก็เป็นของพระวิษณุเจ้าของโครงการ จากนั้นก็มี ดอกบัวที่ลอยขึ้นมาพร้อมกับพระลักษมี ซึ่งก็ได้เลือกพระวิษณุเป็นคู่ครอง
ถัดมาก็เป็น นางวารุณี เทวีแห่งสุรา ช้างเอราวัณ ซึ่งพระอินทร์ก็เอาไปเป็นสัตว์พาหนะ ม้าอุจฉัยศรพ (พระอินทร์ก็เคลมเอาไปใช้ โดยให้พระอาทิตย์เอาไปใช้เทียมราชรถ ซึ่งม้านี้นี่แหละจะเป็นต้นเหตุของตำนานครุฑ-นาคในลำดับต่อไป) ต้นปาริชาติ ที่มีดอกหอมมาก ได้กลิ่นแล้วระลึกชาติได้ เป็นไอเท็มที่ออกมาปุ๊บก็ลอยขึ้นไปบนสวรรค์ทันที
จากนั้นก็มี โคสุรภี เป็นโควิเศษ ขอพรได้ หริธนู ซึ่งพระวิษณุก็รับมาไว้ใช้ หอยสังข์ (ด้วยเหตุนี้จึงนิยมนำมาใช้ในงานมงคลต่าง ๆ เพราะถือว่าเป็นไอเท็มวิเศษนั่นเองจ้า) และจากนั้นก็มีหมู่เทพีอัปสรสวรรค์ปุ๊งปิ๊งออกมาจำนวนมากถึง 35 ล้านตน ไม่มีใครเคลมไป เลยตกเป็นส่วนกลาง ใครใคร่จะเชยชมก็ตามสะดวก
ไอเท็มลำดับต่อไปก็มี พิษร้าย ผุดขึ้นมา พวกงูพิษต่าง ๆ ก็มาสูบกินกันหมด เลยมีพิษร้ายจนถึงทุกวันนี้ และในที่สุดก็มี ธันวันตริ เทพที่เป็นแพทย์สวรรค์ผุดขึ้นมาพร้อมกับ หม้อน้ำอมฤต
พระวิษณุเห็นดังนั้นก็คิดว่าไม่ได้การแล้ว ต้องทำการล่อพวกยักษ์ไปไกล ๆ เลยอวตารร่างเป็นนางอัปสรงดงาม ไปยั่วยวนพวกยักษ์ให้ตามไปไล่จับ เรียกได้ว่าเห็นสตรีดีกว่าน้ำอมฤตไปอีก มี พระราหู ตนเดียวที่ไม่บ้าจี้ตามเขาไปด้วย มีสติดี แปลงกายเข้าไปดื่มน้ำกับเขาด้วย แต่พระอาทิตย์กับพระจันทร์เห็นเข้าเลยไปฟ้องพระวิษณุ เลยโดนขว้างจักรมาตัดหัวทันที แต่ก็ไม่ตายไง เพราะเป็นอมตะแล้ว เลยแค้นฝังหุ่นพระอาทิตย์กับพระจันทร์มาก เจอที่ไหนต้องจับอม!
และกว่าพวกยักษ์คนซื่อจะรู้ตัวว่าเขาหลอกก็ช้าไปแล้ว แพ้สงครามไปโดยปริยาย หญิงไม่ได้ แถมตายด้วย...
สำหรับภาพสลักอื่น ๆ ในระเบียงคดนั้น ก็มีฉากตอนที่ พระวิษณุทรงครุฑปราบกองทัพอสูร พระกฤษณะปราบพญาพาน ตลอดจนภาพ ศึกกรุงลงกา จากเรื่องรามเกียรติ์อีกด้วยค่ะ
และนี่คือเรื่องราวทั้งหมดในตลอดช่วงเช้าของวันที่สาม
ณ นครวัด
ศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลก
เพชรน้ำเอกแห่งสถาปัตยกรรมของอาณาจักรขอมโบราณ
ที่ยังคงมนตร์ขลังและเต็มไปด้วยกลิ่นอายของอารยธรรมโบราณ
ที่ควรค่าแก่การเก็บรักษาไว้ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลก
สำหรับการชมปราสาทในช่วงบ่ายนั้น
เราขอยกยอดไว้เล่าในตอนหน้านะคะ
เพราะเนื่องจากเนื้อหาเยอะ รูปภาพแยะ
หากเอามาเล่าพร้อมกันก็อาจจะใช้เวลาในการอ่านนานพอสมควรค่ะ
โปรดติดตามตอนต่อไปด้วยนะค้า
-- ครั้งหนึ่ง ถึง นครวัด --
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in