เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Sleeveless Loverainbowflick17☂️
Stonewall Uprising จากบาร์เกย์สู่อนุสาวรีย์
  • เวลา ตี 1 ยี่สิบนาที ของวันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน 1969 ตำรวจเมืองนิวยอร์กบุกเข้าไปในสโตนวอลล์ อินน์ ที่กรีนิชวิลเลจ สถานที่ขึ้นชื่อว่าเป็นบาร์เกย์ชื่อดังแห่งหนึ่ง ตามมาด้วยการปะทะกันของตำรวจและผู้คนข้างในลามออกมายังท้องถนน เกิดการประท้วงหกวันติดกัน 

    ความพยายามที่จะบังคับใช้กฎหมายต่อต้านเกย์โดยใช้กำลังในครั้งนั้น ดันกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิเกย์ในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก และถูกบันทึกอยู่บนหน้าประวัติศาสตร์เควียร์ที่สำคัญที่สุดหน้าหนึ่ง

    เนื่องจากเดือนมิถุนายนเป็น Pride Month เลยจะทำตอนนี้เป็นตอนพิเศษ ไม่ใช่ชีวประวัติบุคคลแต่อย่างใด แต่จะเล่าเรื่องการจลาจลที่สโตนวอลล์ ที่มาของการเดินขบวนไพรด์นั่นเองค่ะ  

    เบื้องหลังจลาจลของผู้ถูกกดทับ

    • ช่วงทศวรรษที่ 1950 ถึง 1960 เกย์ชาวอเมริกันยังต้องเผชิญหน้ากับกฎหมายต่อต้านรักเพศเดียวกันในหลายรัฐ มีความรุนแรงตั้งแต่ปรับไปจนถึงจำคุก กระทั่งคู่รักเพศเดียวกันที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ตัดสินใจมีความสัมพันธ์กันด้วยความเต็มใจในบ้านของตัวเอง ก็ยังถูกระบุให้ผิดกฎหมาย
    • มีกฎหมายอาญาที่อนุญาตให้ตำรวจจับกุม คนที่สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่ตรงเพศกำเนิด (อันที่จริงตัวกฎหมายคือ จะต้องใส่เสื้อผ้าตามเพศกำเนิดอย่างน้อยสามชิ้น ไม่อย่างนั้นจะโดนจับ)
    • ตลอดทศวรรษที่ 1950 และ 1960 การทำอัลเทอร์เนติก การสะกดจิต การรักษาด้วยการช็อตอิเล็กกส์โทรนิกและโลโบโตเมียถูกใช้โดยจิตแพทย์เพื่อพยายามรักษาให้กลับมารักต่างเพศ  (Katz, pp. 181–197.)
    • สำหรับการช็อตอิเล็กทรอนิกส์ที่เนื้อหาหดหู่ จะเขียนอธิบายสั้นๆแต่ปิดไว้เป็นสีขาว ใครอยากอ่านก็ลองลากคลุมดูค่ะ
    เอารูปโป๊เปลือยเพศเดียวกันให้ดูแล้วช๊อตไฟฟ้าถ้ามีอารมณ์ตอบสนองทางเพศบ้าง นอกจากช็อตแล้วบางครั้งอาจใช้วิธีบังคับให้อาเจียน หรือช็อตไฟฟ้าเมื่อไม่มีอารม์เวลาเห็นภาพเพศตรงข้ามบ้าง อย่างน่ากลัวที่สุดที่เคยได้ยินคือสายไฟนั้นไม่ได้พันแค่ตัวหรือศีรษะแต่พันอยู่ที่อวัยวะเพศ ]


  • กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศจึงมักจะรวมตัวกันอยู่ที่บาร์และคลับเกย์ บาร์และคลับเหล่านั้นเป็นเหมือนสถานที่หลบภัยที่พวกเขาสามารถแสดงออกถึงความเป็นตัวตนได้อย่างเปิดเผย และเข้าสังคมได้โดยไม่ต้องกังวล

    องค์การสุราแห่งรัฐนิวยอร์ก (the New York State Liquor Authority) ออกคำสั่งให้ลงโทษและปิดสถานประกอบการใด ๆ ก็ตามที่เสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับบุคคลที่เป็น หรือสงสัยว่าจะเป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ  โดยอ้างว่าการรวมกลุ่มกันของกลุ่มคนรักเพศเดียวกันนั้นก่อให้เกิด “ความไม่เป็นระเบียบ” ขึ้น

    ด้วยความพยายามของนักเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในที่สุดกฎข้อที่ว่าก็ถูกยกเลิกไปในปี 1966 บาร์ต่าง ๆ สามารถเสริฟไแอลกอฮอลล์ให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศได้ แต่การแสดงออกอื่น ๆ ก็ยังถูกจำกัดอยู่ เช่น การจูบ จับมือ หรือเต้นรำกับเพศเดียวกัน ก็ยังถือว่าผิดกฎหมายอยู่ บาร์เกย์จึงยังคงเป็นเป้าหมายของตำรวจเรื่อยมา


    สโตนวอลล์ อิน 

    แน่นอนว่ามีคนที่เล็งเห็นโอกาสในการจับธุรกิจ ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 ตระกูลมาเฟียเจนัว (the Genovese crime family) ซึ่งขณะนั้นคุมบาร์เกย์แถวกรีนวิชแทบจะทุกบาร์ จัดการซื้อ สโตนวอลล์ อิน (Stonewall Inn) อดีตบาร์และร้านอาหารแบบเสิร์ฟเฉพาะคนรักต่างเพศ เอามารีโนเวทแบบต้นทุนต่ำ และเปิดเป็นบาร์เกย์ในปีถัดมา

    สโตนวอลล์ อินน์ ขึ้นทะเบียนเป็น "bottle bar" แบบส่วนตัว ซึ่งเป็นบาร์ประเภทที่ไม่ต้องมีใบขออนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ เนื่องจากคนที่เข้ามาบาร์แต่ละคนจำนำสุรามาเอง และจัดการติดสินบนสถานีตำรวจเพื่อไม่ให้เข้ามายุ่งวุ่นวาย

    พอไม่มีตำรวจเข้ามายุ่งแล้วก็จัดการบริหารเองตามใจชอบ ตัดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นออกไปหมด บาร์นี้ไม่มีทางหนีไฟ ไม่มีน้ำประปาไว้ล้างแก้วหลังบาร์ เพียงแค่เอาไปผ่านน้ำในถังหรือกะละมังแล้วก็เอาไปใช้ต่อทันที ห้องน้ำที่ไม่สู้จะสะอาดดีก็ล้นเป็นประจำ เครื่องดื่มไม่ได้ดึงดูดใจอะไรเลยด้วย

    แย่ไปกว่านั้นคือมีการแบลกเมลล์ลูกค้าที่มีฐานะดีด้วยการขู่ว่าจะเปิดโปงเรื่องเพศ

    แต่สโตนวอล อินน์ ก็มีชื่อเสียงในกลุ่ม LGBTQ+ อย่างรวดเร็ว เพราะเป็นบาร์ใหญ่ที่ราคาเข้าค่อนข้างถูก คือเพียงแค่ 3 ดอลลาร์เท่านั้น แดรกควีนเข้าได้ ไม่เหมือนกับบาร์และคลับเกย์อื่น ๆ ที่ไม่สู้จะเต็มใจต้อนรับแดรกควีนเท่าไหร่* สโตนวอลล์ยังเป็นที่พักพิงของเหล่าวัยรุ่นเกย์ที่ไม่มีบ้านอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่ไปขอทานหรือแอบล้วงกระเป๋าเพื่อเอาเงินมาจ่ายค่าเข้าบาร์ ที่สำคัญที่สุดคือสโตนวอลล์เป็นหนึ่งในไม่บาร์ไม่กี่แห่ง หรืออาจจะเป็นบาร์แห่งเดียวด้วยซ้ำ ที่ไม่ห้ามเรื่องเต้น และการที่เต้นได้นี่แหละเป็นจุดขายที่ยอดเยี่ยมที่สุดแล้ว สโตนวอลล์มีฟลอร์เต้นรำถึงสองฟลอร์ด้วยกัน

    *edit - ในบทสัมภาษณ์ของซิลเวีย ริเวร่า(Sylvia Rivera) นักกิจกรรมที่อยู่ร่วมสมัย และได้เข้าไปใช้บริการ ไม่ค่อยเห็นด้วยว่าที่นี่ต้อนรับแดรกเท่าไหร่นะ เพียงแต่ก็เข้าได้เป็นบางกลุ่มเท่านั้น
    *edit2 - ในพอดคาสต์ You´re Wrong About บอกว่าที่จริง Stonewall ก็ไม่ได้ต้อนรับเท่าไหร่เหมือนกัน บาร์หลายๆที่ก็ชอบ Cis White Dude มากกว่า (ผู้ชายผิวขาวที่พฤติกรรมตรงเพศกำเนิด ถ้าจะพูดเป็นภาษาไทยให้เข้าใจง่ายๆก็ประมาณว่า ผู้ชายเกย์ผิวขาว รุกไม่ออกสาว อะไรเทือกๆนั้น) บางทีแดรกเข้าไปได้เพราะว่าตอนเดินผ่านประตูอะแต่งตัวเป็นผู้ชาย แล้วพอเข้าไปได้ก็ไปใส่วิกในห้องน้ำ ประมาณนี้

    ภาพของ Marsha P. Johnson หนึ่งในคนดังจากเหตุการณ์นี้ เชื่อกันว่ามาร์ชาเป็นหนึ่งในแดรกควีนคนแรก ๆ ที่เข้าสโตนวอลล์ อินน์ และเป็นนักเคลื่อนไหว มีเป็นสารคดีในเนตฟลิกซ์ด้วย ลองพิมพ์ชื่อดูค่ะ หรือไว้อาจจะมาเล่าก็ได้ / ภาพจากismorbo.com

    แต่ตำรวจก็ยังบุกบาร์เป็นปกติอยู่ดี โดยเข้ามาค้นบาร์อย่างน้อยเดือนละครั้ง แต่มักจะแอบเตี๊ยมกับคนคุมบาร์ให้เก็บพวกเหล้าผิดกฎหมายต่าง ๆ ไปก่อน นอกจากนั้นบาร์ก็ยังมีวิธีรับมือต่าง ๆ เช่น บนฟลอร์เต้นรำที่ปกติจะมืดๆแล้วมีแสงสีนั้น ถ้าเปิดไฟสว่างขึ้นมาเมื่อไหร่แปลว่ามีตำรวจเข้ามาแล้ว ทุกคนก็ได้สัญญาณว่าต้องหยุดเต้นทันที


  • เหตุการจลาจลที่สโตนวอลล์


    วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน ตำรวจบุกบาร์โดยที่บาร์ไม่ได้รับการเตี้ยมไว้ก่อนเหมือนทุกที นับเป็นการบุกครั้งที่สามในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน

    ตามธรรมดาแล้วทุกคนในบาร์จะต่อแถวให้ตำรวจตรวจ คนที่ไม่แต่งตัวตามเพศกำเนิดก็จะโดนจับด้วย โดยถ้าหากไม่มั่นใจก็จะให้ตำรวจผู้หญิงพาเข้าห้องน้ำไปตรวจสอบเพศกำเนิดก่อน ดูเหมือนว่าคืนนั้นหลายคนปฎิเสธที่จะไปกับตำรวจ หลายคนไม่ยอมเอาบัตรให้ดู ความอึดอัดก่อตัวขึ้นทั้งท่ามกลางผู้ใช้บริการบาร์และเหล่าตำรวจ และยิ่งเลวร้ายขึ้นไปอีกเมื่อตำรวจบางคนฉวยโอกาสลวนลามเลสเบี้ยนในขณะที่กำลังค้นตัว

    ลูกจ้างโดนจับข้อหาขายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์โดยไม่มีใบอนุญาติ คนที่ไม่ได้สวมเสื้อผ้าตามเพศกำเนิดอย่างน้อยสามชิ้นก็โดนจับเป็นจำนวนหนึ่ง  

    กลุ่มที่ไม่ได้โดนจับถูกตำรวจผลักและเตะออกจากบาร์ เหล่าผู้ใช้บริการบาร์ที่รู้สึกสุดจะทนแล้วกับการถูกข่มขู่และการถูกเลือกปฎิบัติจากสังคมมาเป็นเวลานาน รวมตัวกันอยู่รอบนอกบาร์ แทนที่จะแยกย้ายกันไปเหมือนปกติ สถานการณ์ดูจะตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ 

    เมื่อรถตำรวจคันแรกมาถึง ผู้คนข้างนอกมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากเก่าอย่างน้อยก็สิบเท่าของคนที่โดนจับ ตอนนั้นทุกคนยืนมุงกันเงียบกริบ ตำรวจพาเหล่ามาเฟียเข้ารถคันแรกไป มีเสียงเชียร์จากนักมุงดูเหตุการณ์ เมื่อถึงคิวลูกจ้างขึ้นรถตำรวจก็มีเสียงตะโกน "Gay Power!" ดังขึ้นมา บางคนเริ่มร้องเพลง We Shall Overcome  ฝูงชนตอบโต้ด้วยความสนุกสนานอารมณ์ดีผสมกับความรู้สึกขบถที่เพิ่มขึ้นเริ่มโยนเหรียญเพนนี ขวด หินกรวด ขยะ และของอื่น ๆ ไปที่ตำรวจ ในขณะเดียวกันกับที่มีเสียงซุบซิบกันว่าคนข้างในบาร์ถูกปฎิบัติด้วยอย่างรุนแรง


    We Shall Overcome เป็นเพลงกอสเปล(gospel) หมายถึงเพลงประเภทที่เกี่ยวกับศาสนา เน้นร้องประสานเสียง 


    จุดแตกหักเกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่พยายามนำตัวเลสเบี้ยนคนหนึ่งเข้าไปในรถตำรวจแล้วเธอไม่ยอม เธอต่อสู้กับตำรวจ 4 คน ทั้งสบถทั้งตะโกนอยู่ประมาณสิบนาที  ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่ใช้กระบองตำรวจตีหัวมีพยานให้การว่าสาเหตุเป็นเพราะเธอบ่นว่ากุญแจมือแน่นเกินไป จากนั้นถูกโยนเข้าหลังรถตำรวจ เธอตะโกนถามฝูงชนข้างนอกว่าทำไมไม่ทำอะไรซักอย่าง (Why don't you guys do something?) 
    ภายในเวลาไม่ถึงนาทีหลังจากนั้นการจลาจลเต็มไปด้วยผู้คนนับสี่ร้อยคนจึงเริ่มต้นขึ้น 

    Stormé DeLarverie รู้สึกจะเป็นผู้หญิงคนนั้นค่ะ

    ตำรวจไม่ค่อยได้เจอการต่อต้านรุนแรงจากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่าไหร่จึงรับมือแทบไม่ได้ เกิดความชุลมุนวุ่นวาย คนที่ถูกจับใส่กุญแจมือในรถตำรวจหลายคนหนีออกมา ขณะที่รถตำรวจก็เป็นเป้าโจมตีด้วยเหมือนกัน ทำให้รถตำรวจขับหนีไป ความปั่นป่วนกลางถนนเรียกความสนใจจากผู้คนรอบ ๆ  อาณาบริเวณได้เป็นอย่างดี 

    ตำรวจจำนวนสิบนาย ดึงบรรดาคนที่จับใส่กุญแจมือส่วนหนึ่ง  และ  โฮเวิร์ด สมิท (Howard Smith) นักข่าว วิลเลจ วิลล์ เข้าไปในสโตนวอล อินน์ เพื่อใช้สโตนวอล อินน์เป็นที่กำบัง 

    แต่เรื่องไม่จบ เพราะผู้คนยังพยายามจะพังเข้าไปในสโตนวอล พยายามทุบหน้าต่าง เมื่อพังเข้าไปไม่ได้ ก็มีคนพยายามจุดไฟใส่ขยะแล้วยัดไปตามช่องหน้าต่างด้วย

    สมิทเล่าว่าเขาคว้าประแจจากแถวนั้นมาได้อันนึงแล้วเก็บใส่กางเกงเอาไว้ โดยที่ตัวเขาเองไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าอาจจะต้องใช้มันกับฝ่ายไหนไหมในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายฝูงชนจลาจลหรือฝ่ายตำรวจ 

    เสียงไซเรนและรถดับเพลิงดังขึ้นมาในที่สุด หลังจากความไม่สงบนี้เกิดขึ้นกินเวลานาน 45 นาที

    กลุ่มเจ้าหน้าที่จาก The Tactical Patrol Force (TPF)  ซึ่งเป็นหน่วยที่มักปรากฎตัวเมื่อมีความวุ่นวายต่าง ๆ เข้าไปช่วยตำรวจที่ติดอยู่ในสโตนวอลล์ออกมาได้ และพยายามจะเคลียร์ถนนด้วยการค่อย ๆ เดินขบวนเรียงแถวหน้ากระดานแล้วดันคนออกไปเรื่อย ๆ กลุ่มชุมนุมมวลมหาประชาชนทั้งหลายเห็นดังนั้น จึงทำท่าท่างล้อเลียนเจ้าหน้าที่ ด้วยการทำท่าเตะสูง  และฮัมทำนอง Ta-ra-ra Boom-de-ay พร้อมกับใส่เนื้อเพลง 

    "We are the Stonewall girls/ We wear our hair in curls/ We don't wear underwear/ We show our pubic hair."
    (พวกเราเป็นสาวสโตนวอลล์ ทำผมเป็นลอนม้วน ไม่สวมชุดชั้นใน โชว์ขนใต้ร่มผ้า*)
    public hair แปลว่า ขนตรงอวัยวะเพศ 
    **ท่าเตะสูงที่ว่าคือ Kickline ซึ่งลักษณะประมาณนี้

    ร้องด้วยจังหวะของท่อนฮุกเพลงนี้ค่ะ เริ่มนาทีที่ 00.34

    ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ให้การว่าบางคนที่ล้อเลียนเจ้าหน้าก็โดนตีด้วยกระบองตำรวจ เขายังบอกต่ออีกว่าเป็นภาพที่ติดตา ในตอนนั้นเขารู้สึกลึกซึ่งถึงคำว่าโกรธเลยว่ามันเป็นอย่างไร เพราะมีคนที่ถูกทำร้ายจากแค่การล้อเลียน

    เจ้าหน้าที่ตำรวจเคลียร์ถนนจนเกือบจะเรียบร้อยในเวลาตีสี่ของคืนนั้น 

    มีคนโดนจับทั้งหมดสิบสามคน มีพลเรือน และตำรวจอีกสี่นายได้รับบาดเจ็บ 
  • การจลาจลคืนที่สอง


    พาดหัวข่าว เดอะนิวยอร์ก ไทม์ เดลี่ นิวส์ ( The New York Daily News ) เช้าวันอาทิตย์ที่ 29 
    ภาพจาก wikipedia
    เครก โรดเวลล์ ผู้ที่ยืนอยู่หน้าร้านหนังสืออนุสรณ์ออสการ์ไวด์ (Oscar Wilde Memorial Bookshop) ระหว่างที่เกิดการจลาจล ได้รายงาน นิวยอร์ก ไทม์, นิวยอร์ก โพต์ และเดลี่ นิวส์ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การจลาจลสโตนวอลล์ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ทั้งสามฉบับ และข่าวนี้ก็แพร่กระจายไปทั่วกรีนวิชอย่างรวดเร็ว ตามมาด้วยเสียงซุบซิบ ข่าวลือต่าง ๆ เช่นว่า กลุ่ม Students for a Democratic Society (นักศึกษาเพื่อสังคมประชาธิปไตย) หรือไม่ก็กลุ่มแบลก แพนเทอร์  (the Black Panthers) เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง หรือกระทั่งว่า ตำรวจเกย์คนหนึ่งโกรธรูมเมทที่หนีไปเต้นที่สโตนวอลล์เลยตามมาก็ยังมี



    เครก โรดเวลล์หน้าร้านหนังสืออนุสรณ์ออสการ์ ไวด์ ร้าหนนังสือที่อุทิศให้กับนักเขียนเกย์และเลสเบี้ยน Photo courtesy of the Craig Rodwell Papers, Manuscripts and Archives Division, The New York Public Library. เข้าถึงจาก Making Gay History 


    วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน ผู้คนต่างมายืนมองภาพสโตนวอลล์อินที่ไหม้เกรียม พร้อมด้วยข้อความกราฟฟิตีต่าง ๆ เช่น  "Drag power", "They invaded our rights", "Support gay power" "Legalize gay bars" และถึงแม้ว่าบาร์จะปิดตัวลงแล้ว ก็มีคำว่า "We are open." เขียนอยู่ *



    ภาพจาก Getty Image ถ่ายโดย Fred W. Mcdanah


    คืนถัดมาความโกลาหลบนถนนก็เกิดขึ้นอีกครั้ง ครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่เคยอยู่ในขลาจลคืนก่อน หรือคนที่มายืนมองกราฟฟิตีเย็นวันเสาร์ก่อนเท่านั้น แต่เหล่าไทยมุงที่สนอกสนใจอยากรู้อยากเห็น เหล่าคนที่เกลียดชังตำรวจ หรือแม้กระทั่งนักท่องเที่ยวก็มาเข้าร่วมด้วย

    สิ่งที่หลาย ๆ คนเห็นว่าน่าสนใจมากอีกอย่างหนึ่ง คืออยู่ ๆ กลุ่มLGBTQ+ ก็มีความกล้าที่จะแสดงออกถึงความรักในที่สาธารณะ ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์คนหนึ่งพูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า "จากที่ต้องเคาะประตูแล้วคุยกันผ่านช่องเจาะรูแคบ ๆ เพื่อจะเข้าไปหากัน... วันนี้เราเปิดเผย วันนี้เราอยู่บนถนน"

    เหตุการณ์โกลาหลวุ่นวายไม่ต่างจากวันแรก เผลอ ๆ จะวุ่นวายมากกว่าเสียอีก


    ในหนังสือ Stonewall : The Riots that Sparked the Gay Revolution เขียนโดย เดวิด คาร์เทอร์(David Carter) เล่าไว้ว่าผู้ประท้วงที่อยู่เต็มท้องถนนนั้นไม่ยอมให้รถขับผ่าน แต่ถ้าหากคนข้างในรถแสดงการสนับสนุนก็จะให้ผ่านไปได้

    การสลายการชุมนุมเป็นไปในรูปแบบเดียวกันกับคืนแรก


    ความขัดแย้งยังคงดำเนินต่อไป ในขณะที่มีสื่อ มีแผ่นพับ มีข่าวต่าง ๆ ออกตามมาหลายกระแส 
    เครก โรดเวลล์ เจ้าเก่าเจ้าเดิม ร่วมด้วย เฟรด ซาเกนท์  (Fred Sargeant) พิมพ์และแจกจ่ายแผ่นพับ 5,000 ใบในตอนเช้าหลังการจลาจล โดยหนึ่งในนั้นเขียนว่า "Get the Mafia and the Cops out of Gay Bars."  เอามาเฟียและตำรวจออกไปจากบาร์เกย์ สนับสนุนให้เกย์เป็นเจ้าของสถานประกอบการของตัวเอง คว่ำบาตรสโตนวอลล์ และบาร์เกย์ที่มีมาเฟียเป็นเจ้าของ ในขณะที่ในวันพุธ โฮวาร์ด สมิท (Howard Smith) และลูเซียน ทรูสกอต (Lucian Truscott) จากเดอะ วิลเลจ วอยซ์เขียนข่าวโดยใช้วลีอย่าง  "forces of faggotry", "limp wrists" และ "Sunday fag follies" ซึ่งมีคำที่ใช้ดูถูกเกย์โโยเฉพาะอยู่ เช่น faggotry 

    faggot เป็นคำด่าที่แรกมาก อารมณ์ประมาณ อีกะเทย ก็ได้ แต่แรงกว่ามาก ๆ ส่วน limp wrists ไม่มั่นใจว่าออกเป็นแนวล้อเลียนหรือเปล่า (คิดว่าใช่ ใครรู้ก็ช่วยบอกกันหน่อยนะคะ) แต่น่าจะสื่อถึงเวลายืนยกแขนขึ้นมาแล้วมักจะหักข้อมือลง หรือเวลาพูดออกท่าทางข้อมือจะหักลงเหมือนกัน เลยเรียกว่าพวกข้อมืออ่อน ข้อมือปวกเปียก อะไรประมาณนี้
  • ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นเกย์จะมองว่าการจลาจลในครั้งนี้เป็นเรื่องที่ดี เกย์หลาย ๆ คน รวมไปถึงสมาชิกหลายคนของ the Mattachine Society กลุ่มที่พยายามจะปรับทัศนคติผู้คนไปให้เห็นว่าการรักเพศเดียวกันนั้นไม่ได้ต่างอะไรกับการรักต่างเพศเลย  กลุ่มนี้มองว่าไม่อยากให้คนจำภาพเกย์ติดกับความรุนแรง และความไม่สงบ ไม่เป็นระเบียบเหล่านี้ แต่ขณะเดียวกัน จดหมายของ the Mattachine Society ก็ได้แสดงความคิดเห็นว่าที่เกิดการจลาจลเกิดก็เพราะกลุ่มคนรักเพศเดียวกันหลายคนไม่ได้มีเงินหรือโอกาสจะไปเข้าสังคมที่ยอมรับตัวเองที่อื่น ๆ ซึ่งอาจจะต้องใช้เงินมากกว่า สโตนวอลล์จึงเป็นเหมือนกับบ้าน และเมื่อบ้านโดนบุกรุกจึงต้องสู้ สู้ด้วยความรู้สึกว่าไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว


    ควันหลง


    เจ้าหน้าที่อาจสามารถดับควันที่สโตนวอลล์ อินน์ได้สำเร็จ แต่ควันจากบาร์ใหญ่ยังตลบอบอวลไปทั่วเมือง ผู้คนให้ความสนใจกับเหตุการณ์จลาจลครั้งนี้มากจริง ๆ และทำให้เกิดเหตุการณ์หลาย ๆ อย่างตามมาเป็นลูกโซ่ เช่น


    - มีเรื่องน่าสนใจในงานเดินประท้วงอย่างสันติของ the Mattachine Society  ซึ่งจัดขึ้นทุก ๆ ปีจากความร่วมมือของผู้จัด 4 คนเพื่อเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ งานนี้มีข้อบังคับข้อจำกัดเรื่องการแต่งกายและการประพฤติมากมาย แต่เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ซึ่งเท่ากับผ่านเหตุการณ์จลาจลมาได้เพียงไม่ถึงหนึ่งเดือนดีด้วยซ้ำ ผู้หญิงสองคนที่ร่วมเดินประท้วงตัดสินใจที่จะจับมือกันเดิน ผู้จัดคนหนึ่งร้องห้ามอย่างเด็ดขาด ในขณะที่ผู้จัดอีกคนโน้มน้าวให้คู่รักคู่อื่น ๆ จับมือกัน และมีคู่รักเพศเดียวกันจับมือกันประมาณสิบคู่ในวันนั้น ส่งผลให้การเดินประท้วงครั้งนี้ดังกว่าทุก ๆ ปี  
    อาจจะกล่าวได้ว่าการจลาจลที่สลายไปแล้วของเดือนก่อนทิ้งความกล้าบางอย่างไว้บนท้องถนนก็ได้


    ภาพผู้หญิงที่จับมือกันวันนั้น - Credit: Photo courtesy of The National Constitution Center by Nancy Tucker. เข้าถึงจาก Making Gay History 

    - มีกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเพิ่มขึ้น จริงอยู่ว่ามี the Mattachine Society  เป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหวอยู่แล้ว แต่กลุ่มใหม่ ๆ นี้วิสัยทัศน์ต่างกันออกไป ค่อนข้างจะกล้ามากขึ้น กลุ่มนักเคลื่อนไหวที่ตั้งมาทีหลังกลุ่มแรก ๆ เลยคือ the Gay Liberation Front (GLF) ซึ่งเป็นกลุ่มแรกที่กล้าใช้คำว่า "เกย์" ลงไปในชื่อกันโต้ง ๆ ที่ผ่านมากลุ่มนักเคลื่อนไหวมักจะเลี่ยงไม่ใส่คำว่าเกย์ลงไป อีกกลุ่มที่น่าสนใจคือ the Gay Activists Alliance (GAA).
  • สู่อนุสาวรีย์


    วันที ่4 มิถุนายน 2016 หรือคิดเป็น พ.ศ.2559 ประธานาธิบดี บารัก โอบามา ประกาศให้สโตนวอลล์ อินน์ เป็นหนึ่งในอนุสาวรีย์แห่งชาติ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่จุดประกายให้เกิดการเรียกร้องความเท่าเทียมให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในสหรัฐอเมริกา 





    ภาพจากOutsmagazine


    เพราะประวัติโชกโชนนี่ด้วยแหละ หนึ่งในมุกที่ชอบเล่นกันในเดือนไพรด์คือ Be gay, do crime. 

  • หนังสืออ่านเพิ่มเติม

    มีหลายเล่มมาก แต่ที่เราได้ยินบ่อย ๆ จะมี 



    Stonewall: The Riots that Sparked the Gay Revolution - David Carter

    ภาพจาก Amazon




    Stonewall Riots: Coming Out in the Streets-  Gayle E Pitman
    ภาพจาก Amazon


    • มีพอดคาสต์ของ Making Gay History น่าสนใจมาก ๆ
    • และอีกหนึ่งพอดคาสต์คือ You´re Wrong About อันนี้ใหม่เลย ก็น่าสนใจนะ เขาพูดเรื่องที่ว่ามันมีเรื่องอะไรบ้างในสโตนวอลล์ที่อาจจะมีการเล่ากันปากต่อปากแต่ไม่รู้ว่าจริงไหม หรือเรื่องที่คนทั่วไปส่วนใหญ่อาจจะไม่เคยได้ยิน 

    หมายเหตุ : ฉบับย่อ (นี่ย่อแล้ว 5555) ดังนั้นข้อมูลบางอย่างก็ไม่ได้บอกหมด ที่เห็นเป็นรายละเอียดย่อยก็ตัดออกไปบ้าง 

    ครั้งนี้ไม่ได้ทำหมายเหตุคำแปลเพิ่มเติม

    Related Topic
    - Compton's Cafeteria riot การจลาจลที่เกิดขึ้นก่อนแต่ไม่ใหญ่เท่าสโตนวอลล์

    - ชีวประวัติบุคคลที่น่าสนใจในเหตุการณ์นี้อย่าง Marsha P. Johnson,Sylvia Rivera

    -ธุรกิจแบบบาร์เกย์ที่จัดการโดยมาเฟีย และแสวงหาผลประโยชน์จากความหลากหลายทางเพศโดยที่จริง ๆ ไม่ได้สนับสนุนนี้มีความใกล้เคียงกับสิ่งที่เรียกว่า ย้อมชมพู หรือ Pink Washing 
    ซึ่งอาจจะเล่าก็ได้มั้งในโอกาสหน้าหน้า หน้า 5555

    - ถ้าลองศึกษาแนวคิดของ the Mattachine Society ก็จะได้เห็นความแตกต่างที่น่าสนใจบางอย่าง เช่นในthe Mattachine ชอบให้สนับสนุน "amicable and sweet" แต่ก็จะมีคนอื่นๆที่คิดว่า "Sweet! Bullshit! That's the role society has been forcing these queens to play." ความอ่อนโยนเนี่ยมันเป็นบทบาทที่สังคมยัดเยียดให้เราเป็นตางหาก  (พอพูดถึงบทบาทที่สังคมยัดเยียดให้ ตรงนี้ยิ่งน่าสนใจมาก ๆ) ในพอดคาสต์ You´re Wrong About บอกว่าพยายามทำแบบนี้เหมือน Wife that trys to cook for her abusive husband then asks him 'Can you be nice to me? look at all the thing I could do for you' เหมือนเป็นภรรยาที่พยายามเอาใจสามีเฮงซวยด้วยการทำอาหารให้เขากินแล้วถามเขาว่า ฉันทำอะไรให้เธอได้ตั้งเยอะแยะ เธอไม่ทำร้าย(ร่างกาย)ฉันได้ไหม 

    -เป็นหนึ่งในเรื่องที่มีความซับซ้อนเหมือนกัน ถ้าพูดถึงเรื่องความรุนแรงฟังแล้วไม่รื่นหูไม่ว่าจะเป็นจากฝ่ายไหน  แต่บริบทของการจลาจลสโตนวอลล์ มันเป็นความรู้สึกโกรธที่เก็บสะสมมาเป็นเวลานานเป็นทศวรรษ การ Backfire ต่อต้าน ระเบิดออกหลังจากที่เก็บออกมานาน มันก็เป็นเรื่องที่เห็นกันอยู่บ่อย ๆ 


    References
    Editors, H. (2019, June 7). Stonewall Riots. Retrieved from https://www.history.com/topics/gay-rights/the-stonewall-riots

    Editors, most recently revised and updated by Amy Tikkanen. (2019, June 6). Stonewall riots. Retrieved from https://www.britannica.com/event/Stonewall-riots

    Leiro, S. (2016, June 24). President Obama Designates Stonewall National Monument. Retrieved from https://obamawhitehouse.archives.gov/blog/2016/06/24/president-obama-designates-stonewall-national-monument

    Wikipedia. (2001, December 28). Stonewall riots. Retrieved from https://en.wikipedia.org/wiki/Stonewall_riots


    **โพสครั้งแรก 17 มิถุนายน
    แก้ไข 1 /กรกฎา -- มาแก้ชื่อเรื่องและเพิ่มข้อมูลนิดหน่อยค่ะ
    แก้ไข 2 /16 กรกฎา -- เพิ่มข้อมูลนิดหน่อย
    แก้ไข 3  /1 สิงหา -- เพิ่มข้อมูล เพิ่มแหล่งที่มาข้อมูล

    แปล เรียบเรียง สะกด ตรงไหนคาดเคลื่อน ผิดพลาด ขออภัยล่วงหน้านะคะ อาจจะเบลอ ขอความรักความเมตตาทักมาเตือน หรือถ้าหากอยากพูดคุยอะไรก็ติดต่อได้ตามช่องทางข้างล่างเลยค่า

    Twitter DM : @rainbowflick17
    Email : rainbowflick37@gmail.com
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in