เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Sleeveless Loverainbowflick17☂️
Marsha P. J´s Flowers and Bricks ดอกไม้ราตรี, ข้างถนนสายที่อื้ออึงไปด้วยเสียงประท้วง

  • วันที่ 6 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้เป็นวันครบรอบการจากไปของมาร์ชาร์ พี. จอห์นสัน หนึ่งในนักเคลื่อนไหวเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศที่สำคัญคนหนึ่ง เป็นที่รู้จักทั้งในฐานะนักเคลื่อนไหว แดรกควีน(คนที่รูพอลล์ (RuPaul) จากรายการแดรกเรสเรียกว่าแม่ ผู้กรุยทางให้แก่แดรก) และแม่ของชาวเกย์ไร้บ้านหลายคนในนครนิวยอร์ก

    ที่ต้องพูดถึงวันครบรอบการจากไป เพราะการจากไปของเธอมีสาเหตุน่าสงสัยและไม่แน่ชัด 
    การจากไปของมาร์ชาร์เป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของหลาย ๆ คนที่ใช้ชีวิตอยู่บนถนน และต่อสู้กับตัวตนที่ถูกตีตราว่าเป็นอื่น ในขณะที่เป็นเรื่องไม่มีความหมายอะไรเลยสำหรับตำรวจ

    ออกตัวก่อนว่าเนื่องจากเรื่องนี้มีสารคดีอยู่แล้วสองสามเรื่อง จะขอเล่าแบบสั้น ๆ แล้วกันค่ะ 

    *** 

    มาร์ชาร์มีชื่อเดิมว่า มัลคอล์ม  มิเชล จูเนียร์ (Malcolm Michaels, Jr.)  เกิดวันที่ 24 สิงหาคม 2488 ในเอลิซาเบธ มลรัฐนิวเจอร์ซีย์ ท่ามกลางพี่น้องอีกแปดคน เธอใช้ชีวิตวัยเด็กอย่างยากลำบากเพราะโตมาในครอบครัวชาวคริสต์ เข้าโบสถ์ตั้งแต่เด็ก แน่นอนว่าโบสถ์ในขณะนั้นไม่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ

    เธอเริ่มสวมชุดกระโปรงครั้งแรกตอนอายุห้าขวบ แต่ก็ต้องหยุดใส่เพราะถูกคุกคามจากบรรดาเด็กผู้ชายที่เป็นเพื่อนบ้านทั้งหลาย ในบทสัมภาษณ์ปี 1992 เธอเล่าถึงประสบการณ์การถูกล่วงละเมิดทางเพศ*เอาไว้ด้วย

    หลังจากนั้นการเป็นเกย์กลายเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้สำหรับเธอ เป็นเพียงความฝัน (some sort of dream) เท่านั้น

    * ต้นฉบับใช้ Sexually Assault ซึ่งแปลได้หลายอย่าง ล่วงเกินทางเพศ ล่วงละเมิดทางเพศ การใช้ความรุนแรงทางเพศ ซึ่งความหมายในภาษาไทยของคำนี้ก็ครอบคลุมหลายระดับเช่นกัน 

    บวกกับแม่ของเธอเคยพูดเอาไว้ด้วยว่า การรักเพศเดียวกันนั้นต่ำยิ่งกว่าสุนัข แม้มาร์ชาร์จะเข้าใจในความไม่เข้าใจของแม่ และบอกว่าเป็นเพราะแม่ไม่รู้เรื่องความหลากหลายทางเพศมาก่อนก็ตาม

    มาร์ชาร์ย้ายไปที่กรีนวิช วิลเลจ (Greenwich Village) ในมหานครนิวยอร์ก (Newyork City) เมื่อมีอายุได้ 17 ปี หลังจากจบมัธยมศึกษา พร้อมด้วยเงินติดตัว 15 ดอลลาร์ กับกระเป๋าอีกหนึ่งใบ เนื่องจากไม่มีเงินจึงต้องดิ้นรนอย่างหนัก และกลายเป็นคนไร้บ้าน

     อย่างไรก็ตาม เธอพบความสุขจากการเป็น ควีน* ท่ามกลางสถานบันเทิงยามค่ำคืนบนถนนคริสโตเฟอร์ (Christopher Street) 

    *หมายถึงแดรกควีน (Drag Queen)

    เข้าถึงภาพจากวิกิพีเดีย - Original publication: Pay It No Mind documentary
    "I was no one, nobody, from Nowheresville until I became a drag queen. That's what made me in New York, that's what made me in New Jersey, that's what made me in the world." -Marsha P. Johnson
    ฉันเคยไม่มีตัวตน เป็นใครไม่รู้ มาจากที่ไหนก็ไม่รู้ กระทั่งฉันได้เป็นแดรกควีน ฉันถึงเกิดขึ้นมาในนิวยอร์ก เกิดขึ้นมาในนิวเจอร์ซีย์ เกิดและมีตัวตนอยู่บนโลก
  • ช่วงแรกเธอใช้ชื่อ แบล็ก มาร์ชาร์ (Black Marsha) เป็นชื่อในวงการ แต่ต่อมาเปลี่ยนเป็น มาร์ชาร์ พี. จอห์นสัน (Marsha P. Johson) โดยจอห์นสันมาจากชื่อร้านอาหาร โฮเวิร์ด จอห์นสัน (Howardv Johnson) ส่วน P ย่อมาจาก "Pay it no mind" แปลได้ประมาณว่า  ไม่ต้องสนใจ ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญ และเธอมักจะใช้ความหมายของตัว P นี้ ตอบกลับแกมเหน็บแนมกับคนที่ถามเรื่องเพศของเธอด้วย

    Pay it no mind เคยทำให้มาร์ชาร์หลุดจากศาล เพราะผู้พิพากษาฟังแล้วชอบอกชอบใจมาแล้วครั้งหนึ่ง
     
    มาร์ชาร์อธิบายอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองว่าเธอเป็นเกย์ เป็นคนแต่งกายข้ามเพศ (transvestite) และเป็นควีน 


    *อธิบายยากนิดหน่อย มีหลากหลายความเห็นเกี่ยวกับการวิเคราะห์อัตลักษณ์ทางเพศของมาร์ชาร์ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีคำว่าข้ามเพศ (transgender) บางคนตีความว่าเธอเป็นผู้ชายเกย์ (Gay men) ที่ชอบแต่งกายข้ามเพศเฉย ๆ มากกว่าจะเป็นผู้หญิงข้ามเพศ คำที่ใช้อธิบายได้ใกล้เคียงที่สุดน่าจะเป็น gender nonconformity ความหมายประมาณว่า เป็นคนที่มีพฤตกรรม ไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิด
    ตรงนี้ก็อยากจะเสริมด้วยว่าการเป็นแดรก หลายๆคนนิยามว่ามันคือการสร้างตัวตนขึ้นมาอีกคนหนึ่ง (Persona, alter ego) บางคนจึงไม่ได้มองว่าเป็นผู้หญิงข้ามเพศก็มี
    อย่าไงไรก็ตาม ในสารคดี The Death and Life of Marsha P. Johnson มีช่วงหนึ่งที่พูดถึงเรื่องตัวตนของเธอนี่แหละ มีคนพูดประมาณว่า เธอเป็นอะไรก็ได้ที่เธออยากจะเป็น เธออยากจะใส่เสื้อผ้าผู้หญิง เธอก็ใส่ วันไหนเธอจะออกจากบ้านเป็นผู้ชาย เธอก็ออกจากบ้านเป็นผู้ชาย ซึ่งมาร์ชาร์ก็ตอบกลับด้วยว่า รู้ได้ไงเนี่ย (Wow, How do you know that?) ด้วยน้ำเสียงเห็นด้วย ส่วนเพื่อน ๆ ของเธอ ใช้สรรพนาม She นะคะ 





    มาร์ชาร์ออกแบบชุดทั้งหมดด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่มาจากร้านเสื้อผ้ามือสองหรือร้านเสื้อผ้าถูก ๆ ชอบนำดอกไม้มาประดับศีรษะ เรียกว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเธอเลยก็ว่าได้ โดยเธอมักได้ดอกไม้มาจากดอกไม้ที่เหลือจากการคัดแยกดอกในแมนฮัตตัน เพราะว่าไปนอนอยู่ใต้โต๊ะที่ใช้คัดแยกดอกไม้นั่นเอง

    เอกลักษณ์อื่น ๆ คือเธอเป็นคนตัวสูง ผอม มักแต่งกายด้วยชุดคลุมลายดอกไม้ ชุดกระโปรงแวววาวต่าง ๆ สวมรองเท้าส้นสูงพลาสติกสีแดง และสวมวิกสีสดใส 



    มาร์ชาร์ กับ สโตนวอลล์ อินน์ 


    Marsha P. Johnson (ซ้าย) และ Sylvia Rivera (ขวา) เดินขบวนในนิวยอร์ก ซิดี้ ปี 1973.Photo courtesy of Netflix

    เธอบอกว่าเธอเป็นหนึ่งในบรรดาแดรกควีนคนแรก ๆ ที่เข้าไปใช้บริการสโตนวอลล์ อินน์ บาร์เกย์ชื่อดังในยุคนั้น หลังจากที่สโตนวอลล์ อินน์อนุญาตให้แดรกควีนเข้าไปใช้บริการได้ (ช่วงแรก ๆ เป็นบาร์ที่เข้าได้เฉพาะผู้ชายเกย์) ตรงนี้มันบุกเบิกตรงที่ บาร์เหย์ส่วนใหญ่ในสมัยนั้นไม่ค่อยต้อนรับควีนอยู่แล้ว

    บางคนเชื่อว่ามาร์ชาร์เป็นคนเริ่มต้นปาอิฐก้อนแรกเข้าไปในสโตนวอลล์ อินน์* แต่เธอปฎิเสธ เธอบอกว่าเธอเข้ามาถึงตอนตีสอง ซึ่งตอนนั้นบาร์ก็ไฟไหม้แล้ว และการจลาจลก็เริ่มต้นไปแล้วเช่นกัน ส่วนสาเหตุที่เธอไปนั้นคือเธอไปหาเพื่อนสนิท  ซิลเวีย ริเวร่า (Sylvia Rivera) และคืนนั้นก็นอนคุยกันเรื่องการจลาจลบนม้านั่งในสวนสาธารณะ 

    ถึงแม้ตัวเธอจะยืนยันว่าไม่ได้เป็นคนจุดประกายให้เกิดการจลาจลคืนแรกและไม่ได้มีส่วนร่วมอะไรที่สลักสำคัญ แต่ในการจลาจลคืนที่สอง พยานหลายคนเห็นเธอปีนขึ้นเสาตะเกียง เพื่อจะเอากระเป๋าที่ใส่อิฐไปวางบนรถตำรวจ

    *ก่อเป็นชนวนให้เกิด การจลาจลที่สโตนวอลล์ เป็นเหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์เควียร์ที่สำคัญมากเหตุการณ์หนึ่ง เพราะทำให้เกิดการเดินขบวนไพรด์ และตั้งเดือนมิถุนายนเป็นเดือนของไพรด์ในเวลาต่อมา ซึ่งเล่าไว้ในตอนที่แล้ว http://minimore.com/b/XjjvB/6

    หลังสโตนวอลล์


    ภาพนี้เข้าถึงจาก NY time เครดิตรูป Diana Davies, via New York Public Library 

    หลังจากเหตุการณ์จลาจลที่สโตนวอลล์ เธอได้เข้าร่วมกลุ่มเรียกร้องสิทธิ์ความเท่าเทียมให้กับเกย์กลุ่มหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า Gay Liberation Front หรือ GLF และร่วมเดินขบวนในวันครบรอบหนึ่งปีสโตนวอลล์ เหตุการณ์ที่ทำให้เธอเป็นที่จดจำคือเหตุการณ์ในเดือนสิงหาคม ปี 1970 เมื่อเธอและเพื่อนสมาชิก GLF ไปนั่งประท้วงที่ Weinstein Hall มหาวิทยาลัยนิวยอร์กหลังจากผู้บริหารยกเลิกงานเต้นรำเมื่อเพราะพบว่างานได้ได้รัับสปอนเซอร์จากองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับเกย์ 

    หลังจากนั้นไม่นาน เธอกับเพื่อนสนิท (Sylvia Rivera) ก็จัดตั้ง STAR,  Street Transvestite Action Revolutionaries organization ขึ้นมา เป็นองค์กรณ์เรียกร้องความเท่าเทียมให้กับเกย์ กลุ่มคนที่มีบทบาทไม่ตรงเพศกำเนิด (gender non-conforming) และคนข้ามเพศ (Transgender) 

    ปี 1973 มาร์ชาร์กับซิลเวียถูกแบนจากการเข้าร่วมขบวนไพรด์ โดยเหตุผลคือคณะกรรมการจัดงานเกย์และเลสเบี้ยนที่จัดขบวนนั้นเห็นว่า ไม่ควรให้แดรกควีนเข้าร่วมขบวน เพราะจะทำให้ดูไม่ดี 

    ซึ่งเหล่าแดรกควีนก็ตอบกลับคำกล่าวหานั้นด้วยการไปเดินขบวนนำหน้าขบวนอีกทีเสียเลย 
  • อีกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใกล้เคียงกัน คือครั้งหนึ่งเธอต้องเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจระหว่างที่กำลังเร่งรีบไปที่อื่นอยู่ ตำรวจพยายามจะจับเธอ แต่ถูกเธอตีด้วยกระเป๋าที่มีอิฐสองก้อนอยู่ข้างใน จากนั้นจึงโดนจับขึ้นศาลไปเลย เมื่อผู้พิพากษาถามว่าทำไมถึงรีบร้อนนัก มาร์ชาร์จึงอธิบายว่าเธอกำลังพยายามหาเงินมาเป็นค่าหลุมฝังศพสามี ในยุคนั้นการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันยังผิดกฎหมายในอเมริกาอยู่ ผู้พิพากษาจึงถามต่ออีกว่า แล้วเกิดอะไรขึ้นกับสามีที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายของเธอคนนั้นล่ะ เธอจึงตอบว่า "Pigs killed him" (พวกคนสกปรกฆ่าเขา) / Pig เป็นคำด่าแรงๆคำหนึ่ง

    ในเบื้องต้นศาลสั่งให้จำคุกมาร์ชาร์ 90 วัน แต่ทนายโน้มน้าวให้ส่งเธอไปที่โรงพยาบาลแบลวู(Bellevue Hospital)แทน

    *สมัยนั้นเป็นเกย์นอกจากจะผิดกฎหมายแล้วยังเป็นโรคที่ต้องไปบำบัดด้วย


    STAR HOUSE บ้านของคนไร้บ้าน

    มาร์ชาร์กับซิลเวียร่วมกันจัดตั้ง STAR HOUSE เป็นที่พักพิกสำหรับวัยรุ่นเกย์และทรานส์ในช่วงปี 1972 โดยทั้งคู่ใช้เงินจากการทำงานขายบริการทางเพศของตัวเองมาจ่ายค่าเช่า

    STAR HOUSE จัดหาอาหาร เสื้อผ้า กำลังใจ (emotional support) ให้ความรู้สึกราวกับเป็นบ้านของเหล่าแดรกควีน ผู้หญิงข้ามเพศ คนที่มีบทบาทไม่ตรงเพศกำเนิด(gender nonconformists ) และเกย์ไร้บ้านทั้งหลาย มาร์ชาร์กลายเป็นคนสำคัญในกลุ่ม LGBTQ+ ในฐานะ “ Drag Mother (ประมาณว่า คุณแม่)  

    แม้แต่ซิลเวียเองก็บอกว่ามาร์ชาร์เป็นเหมือนแม่ของเธอ*

    *ให้สัมภาษณ์ในสารคดีด่้วยตัวของเธอเอง
    นอกจากนั้นเธอยังพยายามช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์ด้วย


  • ตั้งแต่ปี 1966 มาร์ชาร์ใช้ชีวิตอยู่บนถนนและขายบริการเพื่อยังชีพ (Survival Sex) อาชีพขายบริการนี่เองทำให้เธอถูกจับกว่า 100 ครั้ง และถูกยิงครั้งหนึ่งในช่วงปลายทศวรรษ 1970  และมาร์ชาร์พูดถึงความเจ็บปวดทางอารมณ์และจิตใจและอารมณ์ของตัวเองครั้งแรกในช่วง 1970 เช่นกัน 


     บ็อบ คอฮ์เลอร์ (Bob Kohler)  นักเคลื่อนไหวเกย์คนหนึ่งในสมัยนั้นเล่าว่าเห็นมาร์ชาร์เดินเปลือยอยู่บนถนน และโดนจับไปบำบัด ช่วงปี 1980 ถึง 1992 เธออยูกับเพื่อนชื่อแรนดี้ วิกเกอร์ (Randy Wicker) หลังจากที่เขาชักชวนให้เธอเข้ามาค้างคืนที่บ้านในคืนหนึ่ง เพราะอากาศข้างนอกหนาวมาก คืนนั้นข้างนอกมีอุณหภูมิประมาณ -12°C

    ถึงแม้มาร์ชาร์จะเป็นคนที่ใจกว้างและจิตใจดี แต่ก็อย่างที่บอกว่าเธอเหมือนมีตัวตนที่ซ้อนกันอยู่ บางครั้งด้านมืดของเธอภายใต้ตัวตนของมัลคอล์มจะโผล่ขึ้นมา ซึ่งเป็นคนอารมณ์ร้อน ก้าวร้าวและมักจะหาเรื่องต่อยตี ทำให้ไปจบที่โรงพยาบาล 

    อาการทางจิตใจของเธอนี่เองที่ทำให้นักเคลื่อนไหวเกย์หลายคนลังเลที่จะพูดถึงบทบาทของมาร์ชาร์แม้ว่าเธอจะมีส่วนจุดประกายการเรียกร้องเสรีภาพในช่วงต้นทศวรรษ 1970 ก็ตาม

    หลังจากขบวนพาเรดปี 1992 ร่างของมาร์ชาร์ถูกพบลอยอยู่ที่แม่น้ำฮัดสัน ตำรวจคาดการณ์ว่าเป็นการฆ่าตัวตาย แต่เพื่อน ๆ ของมาร์ชาร์และหลายๆคนที่รู้จักดเธอยืนยันว่าเธอไม่ได้ดูอยากฆ่าตัวตายหรือมีแนวโน้มจะฆ่าตัวตายแต่อย่างใด และพยายามจะพูดถึงรอยแผลขนาดใหญ่ที่หลังศีรษะของเธอด้วย

    อย่างไรก็ตามเพื่อนสนิทอย่างซิลเวียก็บอกว่ามีความเป็นไปได้เหมือนกัน เพราะเธออาจจะอยู่ในช่วงที่อ่อนแอและอ่อนไหว รวมไปถึงทั้งคู่เคยให้สัญญากันไว้ว่าซักวันจะข้ามแม่น้ำจอร์แดน (ซึ่งหมายถึง แม่น้ำฮัดสัน นั่นแหละ) ด้วยกัน อย่างไรก็ตาม บางแหล่งข้อมูลบอกว่าซิลเวียก็ไม่เชื่ออยู่ดีว่ามาร์ชาร์จะฆ่าตัวตาย

    ทางด้านแรนดี้ ให้ความเห็นเอาไว้ว่ามีความเป็นไปได้ที่มาร์ชาร์จะไม่มีสติ ประสาทหลอนเดินลงแม่น้ำ หรืออาจจะกระโดดลงแม่น้ำเพื่อหนีจากการถูกคุกคามก็ได้ แต่แรนดี้ยืนยันด้วยเหมือนกันว่ามาร์ชาร์ไม่ได้ดูอยากฆ่าตัวตายแต่อย่างใด

    มีพยานรู้เห็นเหตุการณ์หลายคนออกมาพูดเรื่องเห็นกลุ่มอันธพาลต่อสู้กับมาร์ชาร์ มีพยานคนหนึ่งได้ยินผู้ชายคนหนึ่งอวดกับเพื่อนในบาร์ว่าเขาฆ่าแดรกตายไปคนหนึ่ง 
    ในสารดคี The Death and Life of Marsha P. Johson ผู้ชายคนหนึ่งก็ยืนยันว่ามีรูอยู่ที่ศีรษะมาร์ชาร์

    คนในท้องถิ่นพูดกันว่าเจ้าหน้าที่ไม่สนใจจะสืบเรื่องมาร์ชาร์เพราะเป็นเรื่องของ ผู้ชายเกย์ผิวดำ*

    *อันนี้ต้องขอโทษทีนะคะ พอดีว่าไม่ค่อยใช้ภาษาไทยกับเรื่องเชื้อชาติเลยจริง ๆ เลยไม่มั่นใจว่าใช้คำไหนถึงจะถูก เหมือนเคยได้ยินว่าผิวสีไม่ใช้กันแล้ว เรียกตรง ๆ ไปเลย ถามคนรอบตัวพอควรแล้วแต่ทุกคนก็ดูจะอึ้งเหมือนกันเพราะไม่เคยพูดเป็นภาษาไทย ถ้าใครรู้รบกวนบอกหน่อยนะคะ

    หลายคนที่ไม่ปักใจเชื่อว่าเป็นการฆ่าตัวตายจัดการเดินขบวนเรียกร้องให้สืบสวนแต่ดูเหมือนจะไม่เป็นผล 

    เพื่อน ๆ โปรยเถ้าถ่านของมาร์ชาร์ลงในแม่น้ำหลังจากทำพิธีศพที่โบสถ์

    ใคร ๆ ที่รู้จักมาร์ชาร์ต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเธอเป็นคนสนุกสนาน อารมณ์ดีและมักยิ้มอยู่เสมอ แต่การเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ์ของเธอ เธอก็ทำอย่างทุ่มเทและต่อเนื่องเช่นกัน การผสมผสานความสุขและสีสันเข้ากับความมุ่งมั่นในการเรียกร้องอิสระเป็นจุดเด่นที่ส่งต่อไปยังนักเคลื่อนไหวคนอื่น ๆ

  • เพิ่มเติม-สิ่งที่คิดว่าน่าสนใจ-หัวข้อที่เกี่ยวข้อง 

    - เธอเป็นสมาชิกของ เดอะ ฮ็อต พีช (The Hot Peach) บริษัทที่ทำโรงละครแดรก (Drag; Dragqueen Theatre ) ด้วย

    - ปี 1995 ซิลเวียเดินลงแม่น้ำฮัดสันเพื่อหวังจะจบชีวิตตนเอง  (ข้อมูลจาก ABOUT NEW YORK; Still Here: Sylvia, Who Survived Stonewall, Time and the River มีบทสัมภาษณ์ซิลเวียอยู่)

    -  พูดกันแล้วมาร์ชาร์เป็นหลายอย่างที่ต้องถูกสังคมมองด้วยสายตาเหยียดหยามมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเชื้อชาติ เป็นเกย์ เป็นแดรกควีน เป็นคนไร้บ้าน เป็นคนทำงานขายบริการทางเพศ 

    - เรื่องนี้จุดที่สนใจอีกที่คือความไม่เท่าเทียมในความไม่เท่าเทียมอีกที หลายคนจะเห็นว่าเหตุการณ์การไม่ให้ร่วมขบวนนั้นมันเป็น LGBTQ+ ที่ปฎิเสธตัว T : Transgender นั่นเอง 

    - และเราก็ได้เห็นว่าคนก็เป็นคนจริง ๆ มีทุกอย่างผสมกันอยู่ก็คือคนจริง ๆ 

    ตอนที่เกี่ยวข้อง
    ตอนที่เกี่ยวกับผู้หญิงข้ามเพศที่เป็นคนดำ

    สารคดีเพิ่มเติม

    ที่จริงเล่าสั้นๆตัดๆเพราะเห็นว่ามีสารคดีอยู่แล้วด้วยค่ะ 

    The Death and Life of Marsha P. Johnson หาดูได้ใน Netflix นะคะ
    นิสนึง เรื่องนี้เหมือนมีการถกเถียงเรื่องขโมยไอเดียหรือผลงานอะไรบางอย่างด้วย ลองอ่านดูได้ค่ะ เคยมีคนเขียนบทความถึงเยอะอยู่ https://www.sbs.com.au/topics/sexuality/agenda/article/2017/10/09/trans-filmmaker-claims-director-marsha-p-johnson-doco-stole-her-work

    อัพเดท เขาว่ากันว่าเป็นการขโมยผลงานของคนทำภาพยนตร์ที่เป็นทรานส์ค่ะ 

    ก็เลยแนะนำให้ดู  Happy Birthday, Marsha! ดู น่าจะต้องเช่าเอานะคะ ที่ลงมาใหเป็นตัวอย่างค่ะ ของจริงยาวปรมาณ 15 นาที

    Happy Birthday, Marsha!



    Pay It No Mind - The Life and Times of Marsha P. Johnson (คลิปนี้น่าจะจากคนทำสารคดีโพสโดยตรงเลยค่ะ เห็นว่าเป็นชื่อเดียวกัน และมีพูดขอบคุณต่าง ๆ ในช่อง description ด้วย)



    References

    Chan, S. (2018, March 8). Marsha P. Johnson, a Transgender Pioneer and Activist. Retrieved from https://www.nytimes.com/interactive/2018/obituaries/overlooked-marsha-p-johnson.html

    France, D. (2017, October 6). The Death and Life of Marsha P. Johnson [Video file]. Retrieved from https://www.netflix.com/

    Marsha P. Johnson. (2005, June 8). Retrieved from https://en.wikipedia.org/wiki/Marsha_P._Johnson

    Trotta, D. (n.d.). Forsaken transgender pioneers recognized 50 years after Stonewall. Retrieved from https://graphics.reuters.com/USA-LGBT-STONEWALL/010092NF3GR/index.html

    หมายเหตุ : ครั้งนี้ใช้วิกิเป็นหลักอีกแล้ว แทบจะเหมือนวิกิพิเดียเลย มีเสริมนิดๆหน่อยๆ เนื่องจากในวิกิพิเดียมีข้อมูลละเอียดมากสุดค่ะ

    *edit แก้ชื่อเดือนค่ะ เบลอ 555
    edit 2 เพิ่มข้อมูลค่ะ
    edit 3 แก้คำผิดและคำตกหล่นค่ะ
    edit 4 แนะนำตอนเพิ่มเติมค่ะ 
    edit 5 แก้เนื้อหาเรื่องสารคดีนิดหน่อยค่ะ 

    เหมือนเดิมค่า ถ้ามีอะไรดูแล้วผิดพลาดคลาดเคลื่อนก็รบกวนมีเมตตาทักมาบอกกันหน่อยนะคะ
    Contact
    Twt dm : @rainbowflick17
    Email : rainbowflick37@gmail.com
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
Elio Alba (@elioalba008)
ขอบคุณที่เอาข้อมูลดีๆแบบนี้มาแบ่งปันครับ :)