เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Sleeveless Loverainbowflick17☂️
Claude Cahun ภาพไม่มีผู้ชาย รูปถ่ายไม่มีผู้หญิง
  • ภาพไร้บุรุษ รูปไร้สตรี คนรักกลายเป็นน้องสาวต่างพ่อแม่--นักเขียน นักปั้น นักโทษในคุกนาซี-- ชีวิตของ คลอว์ด กาอัง ศิลปินที่ปฎิเสธทั้งเพศชายและเพศหญิง


    “Masculine? Feminine? It depends on the situation. 
    Neuter is the only gender that always suits me.”
    (ความเป็นหญิง? ความเป็นชาย? ล้วนขึ้นอยู่กับสถานการณ์
    ความไร้เพศเป็นเพศเดียวที่เหมาะสมกับฉัน)

    Aveux non avenus (1930) 
    หนังสืออัตชีวประวัติของกาอัง


    คลอว์ด กาอัง* เป็นศิลปินชาวฝรั่งเศส เป็นทั้งนักเขียน นักปั้น และนักถ่ายภาพ ถ่ายภาพแนวเซอเรียลลิสต์ (surrealist) ค้นหาและสำรวจทั้งอัตลักษณ์ทางเพศและจิตใต้สำนึก มีชื่อเสียงที่สุดจากภาพถ่ายตัวเองค่ะ

    *พยายามถอดเสียงให้ใกล้เคียงกับที่ได้ยินในภาษาฝรั่งเศส อาจถอดเสียงเป็น กัง กาเอิง คัง คาเอิง ประมาณนี้ก็ได้ค่ะ เนื่องจากตัว ca คล้ายทั้ง ก และ ค  ส่วนภาษาอังกฤษได้ยินเขาอ่านกันว่า คาฮุน หรือ คาฮุง
    กาอัง หรือชื่อเดิม ลูซี  (Lucie Renee Mathilde Schwob) เกิดปี 1894 ที่น็องต์  (Nantes) ในครอบครัวชาวยิว  เมื่ออายุสี่ขวบแม่เริ่มมีอาการป่วยทางจิต และต่อมาต้องเข้ารับการรักษาและไปอยู่ที่โรงพยาบาลจิตเวชอย่างถาวร คุณยายเป็นคนเลี้ยงดูต่อหลังจากแม่ไม่อยู่ 

    หลังจากต้องเผชิญหน้ากับการต่อต้านชาวยิว (anti-Semitism) ที่โรงเรียนมัธยมในน็องต์ ลูซีก็เข้าเรียนที่โรงเรียนเอกชนพาร์สันส์ มีด (Parsons Mead School) ในเซอเรย์ (Surrey) 

    ปี 1909 ลูซีในวัย 15 ปี พบกับซูซาน มัลเล มัลแลร์บ  (Suzanne Malherbe) ในวัย 17 และร่วมกันทำงานศิลปะตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  รวมไปถึงมีความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกเป็นคู่รักกันในภายหลัง

    ลูซีเริ่มถ่ายภาพตัวเองตั้งแต่ปี 1912 ขณะนั้นอายุ 18 ปี แล้วก็ถ่ายต่อไปเรื่อย ๆ จนช่วงทศวรรษที่ 1930

    ภาพจาก Queerculturalcenter.org

     

    แม่ซึ่งเป็นหม้ายของมัลแลร์บแต่งงานกับพ่อซึ่งหย่าแล้วของลูซี ในปี 1917

    ในปีใกล้ๆ กันนั้น* ลูซีเปลี่ยนชื่อเป็น คลอว์ด กาอัง ซึ่งเป็นชื่อที่ไม่ได้บ่งบอกเพศ ก่อนจะมาจบที่ชื่อนี้ได้เปลี่ยนมาก่อนแล้วสองชื่อ คือ คลอว์ด คูลี (Claude Courlis) มาจากชื่อของเดอะ เคอร์ลิว (the curlew) และ ดาเนียล โดกลาส (Daniel Douglas) มาจากชื่อของ ลอร์ด อัลเฟรด โดกลาส**(Lord Alfred Douglas).

    *บางแหล่งบอกว่า 1917 บางแหล่งบอกว่าประมาณปี 1919
    **อดีตคนรักของ ออสการ์ ไวด์ (Oscar wilde) นักเขียนชื่อดัง 
  • กาอังเรียนต่อในมหาวิทยาลัยแห่งปารีส ที่ซอร์บอนน์ (the University of Paris, Sorbonne) โดยย้ายไปปารีสพร้อมกับมัลแลร์บ ซึ่งกลายเป็นทั้งน้องสาวต่างบุพการี คนรัก และเป็นนักวาดภาพประกอบใต้นามแฝง มาร์เซล มัวร์ (Marcel Moore) เธอสะดวกใจกับนามแฝงนี้กว่าชื่อจริง ๆ และเป็นที่รู็จักในชื่อของ มัวร์ มากกว่าชื่อจริงด้วย  (ต่อไปนี้จะเรียกว่ามัวร์)


    ปารีสทำให้กาอังได้ใกล้ชิดกับศิลปะแนวเซอเรียลลิสต์ ได้ร่วมงานกับแมน เรย์ (Man Ray) ศิลปินผู้มีส่วนร่วมสำคัญในการเคลื่อนไหวเซอเรียลลิสต์ และมีส่วนในการร่วมจัดตั้งกลุ่มฝ่ายซ้ายร่วมกับจอร์จ บาตาลเล (Georges Bataille)

    กาอังและมอร์ทำงานร่วมกันหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นงานเขียน งานประติมากรรม ภาพตัดต่อและภาพตัดปะ บทความและนวนิยายที่เด่น ๆ เช่น ในวารสาร เมอร์เคียวเดอฟรองซ์ (Mercure de France) 
    เป็นเพื่อนกับคนดังเช่น อองรี มิโชซ์ (Henri Michaux) และ ปิแอร์ มอร์ฮังก์ (Pierre Morhange)  


    "Under this mask, another mask"- หน้ากากซ้อนหน้ากาก

    คำกล่าวดังที่กาอังใช้อธิบายตัวตน คือหน้ากากที่ซ้อนทับกันไปอีกที

    ภาพบุคคลของกาอังมักมีลักษณะมองตรงไปที่ผู้ชม โกนหัว ส่วนมากเผยให้เห็นเฉพาะหัวและไหล่ และเบลอส่วนที่ใช้เป็นตัวบ่งชี้เพศหรือตัวบ่งชี้พฤติกรรมออกไป


    Selfportrait With Cat , circa 1927
    ภาพจากhintmag

    งานของทั้งคู่สั่นคลอนแนวคิดของความเป็น ตัวตน ตามคติเดิมที่เคยยึดถือมา และเปิดพื้นที่ในการทดลองปรับเปลี่ยนมุมมองทางสังคม เพศ และศิลปะ

    ภายใต้กรอบของการเป็น "เพศที่อ่อนแอกว่า" ท่ามกลางสังคมปิตุลาธิปไตย ศิลปะเป็นพื้นที่แห่งการปฎิเสธการยอมรับอำนาจ ปลดปล่อยความปราถนา และทำตามความเชื่อมั่น หลายงานจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อปฎิเสธการจ้องมองแบบสังคมชายเป็นใหญ่

    I am in training don’t kiss me 1927; Jersey Heritage Collections. ©Jersey Heritage
    ภาพนี้เข้าถึงจากเว็บไซต์ itsrudetostare


    I Am In Training, Don't Kiss Me เป็นภาพที่มีชื่อเสียงมากที่สุดภาพหนึ่งของกาอังเลยก็ว่าได้ ผสมองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างเข้าด้วยกัน เธอใส่ชุดรัดรูป สวมกางเกงขาสั้นสำหรับต่อยมวย ข้าง ๆ มีที่ถ่วงน้ำหนักวางอยู่ เพิ่มความเป็นผู้หญิงด้วยการวาดหัวใจลงบนแก้ม วาดจุดสองจุดไว้บริเวณหน้าอก และใช้สายตาท่าทาง มีข้อความเขียนว่า  Don't Kiss Me I'm In Training (อย่าจูบฉัน ฉันกำลังฝึกอยู่)  เขียนอยู่ตรงหน้าอก ในเรียงความเรื่อง Acting Out: Claude Cahun and Marcel Moore เขียนโดยคุณ Tirza True Latimer ได้วิเคราะห์ภาพนี้ไว้ว่า กำลังฝึกนั้นอาจหมายถึง ฝึกที่จะเป็นผู้หญิง หรือที่จะไม่เป็นผู้หญิงก็ได้
  • Imprisonment การกักขังทางตัวตน สู่การกักขังทางร่างกาย 

    ปี 1937 กาอังกับมอร์ย้ายจากปารีสไปเจอร์ซีย์ เกาะนอกชายฝั่งนอร์มังดี สัณนิษฐานว่าอาจจะย้ายไปเพื่อหลีกหนีการต่อต้านชาวยิวและความวุ่นวายทางการเมือง โดยปิดบังเรื่องที่ตัวเองคือชาวยิว 

    ปี 1940 กองทหารเยอรมันบุกเจอร์ซีย์

    ภาพจากคลิป Lover Other: The Story of Claude Cahun and Marcel Moore_barbarahammer.com 

    ทั้งสองคนกลายต่อต้านนาซีและสงคราม โดยผลิตใบปลิวต่อต้านเยอรมันขึ้นมา ใบปลิวส่วนใหญ่เป็นการแปลรายงานบีบีซีเกี่ยวกับข่าวอาชญากรรมและความไร้ศีลธรรมของนาซี จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาเยอรมัน เอาเรื่องเหล่านั้นมาต่อกันเป็นบทกวีและและคำวิจารณ์แรง ๆ จากนั้นทั้งคู่ก็ไปเข้าร่วมกิจกรรมทหารเยอรมันต่าง ๆ ในเจอร์ซีย์ แล้วเอาใบปลิวที่ว่าไปวางไว้ตามเก้าอี้ กระเป๋าเสื้อผ้า และกล่องบุหรี่ เพื่อให้ทหารเจอ นอกจากนั้น พวกเขายังโยนใบปลิวเข้าไปในรถและหน้าต่างด้วย 

    ความพยายามในการต่อต้านของทั้งคู่ไม่ใช่เพียงแค่การแสดงออกทางการเมือง แต่เป็นการผสมการแสดงออกทางศิลปะ โดยใช้ความสร้างสรรค์เพื่อปฎิเสธอำนาจ ซึ่งโดยปกติหลาย ๆ งานของกาอังมักจะเน้นการท้าทายตัวตนและการทำลายอำนาจบางอย่างอยู่แล้ว

    Claude Cahun, Self portrait (in cupboard), c. 1932 Courtesy of Jersey Heritage Collections 
    ภาพนี้เข้าถึงจากเว็บไซต์ anothermag

    ทั้งสองเสี่ยงชีวิตกระจายการโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านนาซีให้ทหารเยอรมันเป็นเวลาหลายปี ระหว่างนั้นก็ปกปิดตัวตนโดยการกลับไปใช้ชื่อเดิมและแนะนำตัวเองในฐานะพี่น้องสองสาว แต่สุดท้ายก็ถูกค้นพบและถูกจับในปี 1944  แน่นอนว่าโดนเอาไปขังคุก และตัดสินโทษประหาร แต่พวกเขาก็โชคดีรอดพ้นจากชะตากรรมมาได้เพราะเจอร์ซีย์ได้รับอิสรภาพโดยการช่วยเหลือของพันธมิตรในปี 1945 พอดี แต่ถึงอย่างนั้นบ้านและทรัพย์สินก็ถูกยึด และศิลปะของพวกเขาก็ถูกทำลายไปแล้ว

    การกระทำทารุณในคุกยังคงส่งผลต่อสุขภาพของกาอัง เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในวันที่ 8 ธันวาคม 1954 ที่นิวเจอร์ซีย์ สหราชอาณาจักร

    Claude Cahun, May 1945 Courtesy of Jersey Heritage Collections ภาพนี้เข้าถึงจากเว็บไซต์ anothermag


    ผลงานของกาอังเป็นแรงบันดาลใจให้กับช่างภาพร่วมสมัยหลายคน เช่น ซินดี้ เชอร์แมน (Cindy Sherman) กิลเลียน แวริง (Gillian Wearing) และ นาน โกลดิน (Nan Goldin)

    ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่  The Museum of Modern Art  ที่นิวยอร์ก, the San Francisco Museum of Modern Art และ the Museum of Fine Arts ที่บอสตัน 
  • ดูภาพเพิ่มเติมได้ที่ http://www.artnet.com/artists/claude-cahun/ 

    หนังสืออ่านเพิ่มเติม

    Aveux non Avenus  หรือชื่อภาษาอังกฤษ Disavowals or cancelled confessions 
    เป็นอัตชีวประวัติของกาอัง ครั้งแรกเรื่องนี้ถูกปฎิเสธไม่ให้ตีพิมพ์ แต่ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ปี 1930 สำนักพิมพ์ต่อต้านนาซี (the anti-nazi publication house) ได้ตีพิมพ์ออกมาจำนวน 500 เล่ม 
    ส่วนปัจจุบันน่าจะหาอ่านได้ทั่วไปค่ะ  มีรีวิวใน Goodread 

    Related topic
    - anti-Semitism
    - ใครที่ชอบดูงานศิลปะ เราทำบล็อกไว้เก็บงานศิลปะที่ Queer นิด ๆ และมีคำอธิบายสั้น ๆ ไว้ ไม่ได้เขียนอธิบายอะไรมากเพราะมันไม่ค่อยมีอะไรให้เล่า หลายรูปมันอาจจะเปลือยไปนิดหน่อย  ลองไปเลื่อนๆ ดูได้ค่ะ ค่อย ๆ อัพเดทเรื่อย ๆ quitequuerarts.tumblr.com
  • หมายเหตุคำแปลเพิ่มเติม https://rbf17ref.home.blog/2019/06/02/ref-notes-cahun/ 

    References

    Claude Cahun. (n.d.). Retrieved from http://www.artnet.com/artists/claude-cahun/

    Emelife, A. (2016, June 29). Claude Cahun: The trans artist years ahead of her time. Retrieved from http://www.bbc.com/culture/story/20160629-claude-cahun-the-trans-artist-years-ahead-of-her-time

    Hammer, B. (n.d.). Lover Other: The Story of Claude Cahun and Marcel Moore_barbarahammer.com. Retrieved from https://vimeo.com/2910481

    Hidalgo, A. (2017, May 31). Claude Cahun: la máscara bajo la máscara. Retrieved from https://www.revistacactus.com/claude-cahun-la-mascara-bajo-la-mascara/

    Johnson, S. (2015, April 28). Claude Cahun: A Very Curious Spirit. Retrieved from http://www.anothermag.com/art-photography/7358/claude-cahun-a-very-curious-spirit

    Latimer, T. (n.d.). Acting Out: Claude Cahun and Marcel Moore. Retrieved from http://www.queerculturalcenter.org/Pages/Tirza/TirzaEssay1.html

    Marcel Moore. (2004, December 21). Retrieved from https://en.wikipedia.org/wiki/Marcel_Moore


    แปล เรียบเรียง ถอดเสียง ผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อน ขออภัยล่วงหน้า ถ้าหากเห็นรบกวนช่วยทักมาบอกหน่อยนะคะ
    Twitter @rainbowflick17
    E-mail rainbowflick37@gmail.com

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in