การสนทนากับเพื่อนใหม่อาจเกิดขึ้นได้ในงานปาร์ตี้ ตอนกำลังต่อแถวรับอาหารฟรีที่โรงเจ ตอนนั่งกินข้าวคนเดียวในวันที่เพื่อนเท หรือตอนโหนรถเมล์ที่แอร์เสีย คุณเงยหน้าขึ้นช้าๆ มองไปรอบๆ เห็นผู้คนใหม่ๆ หลากเพศ หลายวัย ผู้คนมากมายที่แตกต่างจากคุณ ลองเลือกมาสักคน คนนั้นแหละ ใช่แล้ว! ลุยไปเลย! เพราะเขาคือความสุขของคุณ!
“There are no strangers here; Only friends you haven’t yet met.”
- William Butler Yeats
“ที่นี่ไม่มีคนแปลกหน้าหรอก มีแต่เพื่อนที่คุณยังไม่เคยเจอก็เท่านั้นเอง”
ปี 2011 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิคาโก (The University of Chicago) สหรัฐอเมริกาได้ทำการทดลองโดยขอให้ผู้ร่วมวิจัยกลุ่มหนึ่งเข้าไปพูดคุยกับคนอื่นขณะนั่งรถไฟไปทำงานผลการวิจัยพบว่ากลุ่มที่เข้าไปคุยกับคนแปลกหน้ามีความสุขกว่ากลุ่มที่นั่งเงียบๆคนเดียว
และในปี 2013 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอสเซก (The University of Essex) ในสหราชอาณาจักรก็ได้ทำการทดลองในทำนองเดียวกันโดยให้ผู้เข้าร่วมวิจัยพูดคุยเล็กๆ น้อยๆ กับพนักงานคิดเงินในร้านกาแฟ ซึ่งผลก็เป็นไปตามคาด คนที่กล่าวทักทายพนักงานในร้าน มีความสุขและอารมณ์ดีกว่าคนที่แค่สั่งกาแฟแล้วจากไปซึ่งสาเหตุที่การพูดคุยกับคนแปลกหน้าทำให้มีความสุขได้ก็เพราะการเข้าไปทักทายคนอื่นทำให้เราต้องปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น ร่าเริงขึ้นชั่วขณะ แม้ว่าก่อนหน้านั้นอาจจะรู้สึกเฉยๆ หรืออารมณ์ไม่ค่อยดี แต่เมื่อเรายิ้มแย้มแจ่มใสพยายามเข้าหาเพื่อนใหม่ และได้รับการปฏิสัมพันธ์ที่ดีกลับมาก็ทำให้เราอารมณ์ดีต่อเนื่องไปอีก
จะเห็นได้ว่าความสุขเล็กๆ สร้างขึ้นได้ง่ายๆ เพียงแค่เปิดใจเปิดปาก ทักทายคนแปลกหน้า แต่สำหรับบางคนคงเป็นเรื่องยากไปสักหน่อยที่จะเริ่มต้นทักทายคนไม่รู้จักก่อน อาจจะรู้สึกเขินหรือกังวลว่าเขาจะมองว่าเป็นคนประหลาด แต่จำไว้ว่าอะไรๆ ก็ต้องฝึกกันทั้งนั้น ลองมาดูวิธีเตรียมพร้อมสู่การสนทนาไม่ว่าจะกับคนแปลกหน้าหรือกับคนที่ยังไม่รู้จักเขาดีกันดีกว่า
1. เตรียมหัวข้อสนทนาไว้ในใจบ้าง
ถ้าคุณเพิ่งดูหนังดีๆสักเรื่อง หรือเพิ่งอ่านหนังสือดีๆ สักเล่ม คุณก็ยกเรื่องนั้นๆ ขึ้นมาพูดได้เลยเขาอาจมีความชอบที่ตรงกับคุณบางอย่างทำให้บทสนทนาต่อเนื่องไปได้สบายๆหรือถ้าบังเอิญในสถานการณ์ตอนนั้นดันมีเพลงโปรดของคุณดังขึ้นมาพอดี คุณก็เอาเพลงนั้นเปิดหัวข้อสนทนากันไปเลย
2. ถามคำถามปลายเปิด
คือคำถามที่สามารถออกความคิดเห็นหรือสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ไม่ใช่คำถามที่ตอบได้แค่ใช่หรือไม่ใช่ เช่นตอนออกกำลังกายอยู่ในสวนสาธารณะช่วงฤดูหนาวของประเทศไทยแทนที่จะถามคู่สนทนาว่าชอบหน้าหนาวมั้ย ลองถามเรื่องความทรงจำวัยเด็กในช่วงฤดูหนาวของเขาดูสิ
3. ทำตัวเป็นนักเรียนอยู่เสมอ
ขณะที่คุณกำลังคุยกับคู่สนทนาอย่างสนุกสนานเขาอาจจะพูดถึงบางสิ่งที่คุณไม่เคยได้ยินหรือไม่รู้จักมาก่อนก็เป็นได้ถ้าไม่รู้อะไรก็อย่าเกรงใจที่จะถาม ไม่มีใครรู้ดีไปหมดทุกรื่องหรอก เมื่อคุณถามคู่สนทนาจะรู้สึกเหมือนได้เป็นครูที่สามารถแชร์ความรู้หรือประสบการณ์ที่มีและคุณผู้เป็นนักเรียนก็ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไปด้วย เห็นมั้ยล่ะว่ามีแต่ได้กับได้
4. ระวังคำถามเกี่ยวกับอาชีพ
เพราะบางคนอาจไม่ชอบอาชีพที่เขาทำอยู่หรืออาจไม่อยากพูดถึงมัน ดังนั้นควรถามคำถามกว้างๆ ไปก่อนว่า ช่วงนี้คุณทำอะไร หรือคุณทำอะไรมาบ้างจะดีกว่า
บางครั้งคำถามธรรมดาๆอาจเป็นสะพานที่เชื่อมความสัมพันธ์ของคนสองคนหรืออาจเปิดประตูให้เข้าใจโลกของคนอื่นมากขึ้นก็เป็นได้ อย่างไรก็ดีเมื่อฝึกฝนทักษะการพูดไปแล้วยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้นั่นก็คือทักษะการฟัง ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้มีคำสอนหนึ่งของพระพุธเจ้าที่ว่า “ถ้าปากคุณเปิด คุณก็ไม่สามารถเรียนรู้ได้” เพราะจริงๆ แล้วมนุษย์เราชอบพูดมากกว่าฟัง เวลาที่เราได้พูดจะรู้สึกเหมือนเป็นผู้ควบคุมเป็นจุดศูนย์กลางความสนใจ ดังนั้นการที่เราจดจ่อเพื่อฟังเรื่องราวต่างๆ เป็นเวลานานจึงกลายเป็นเรื่องยากทำให้การฟังเป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝนไม่แพ้กับการพูด
“Most of us don’t listen with the intent to understand, we listen with the intent to reply”
- Stephen Covey
“เราแทบทุกคนไม่ได้ฟังด้วยเจตนาที่จะเข้าใจ เราฟังด้วยเจตนาที่จะโต้เถียงต่างหาก”
เมื่อกล้าที่จะทำความรู้จักกับผู้คนหลากหลาย พูดคุยกับคนที่แตกต่างจากเรามันคือโอกาสที่จะได้ออกจาก comfort zone และโลกทัศน์ของคุณจะเปลี่ยนไป สิ่งเหล่านี้เองที่จะจุดประกายไอเดียสร้างสรรค์ทำให้คุณเป็นคนใหม่ที่มองโลกได้กว้างกว่าเดิม และคุณอาจจะค้นพบความสุขง่ายๆ ที่ทำให้วันธรรมดา ไม่ธรรมดาอีกต่อไป
: )
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in