เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
แว่นขยายเพลง k-popryeomook
วิเคราะห์ดนตรี เพลง NCT 127 X Amoeba Culture - Save
  • บทเพลงจากโปรเจคชอง NCT 127 ร่วมกับค่าย Amoeba Culture ที่มาแบบไม่ทันให้ได้ตั้งตัวสักเท่าไหร่ และจากการสังเกตสมาชิกของค่ายนี้ก็ทำให้สามารถคาดเดาสไตล์ดนตรีที่จะออกมาได้ไม่ยากเลย เรียกได้ว่าฟังแล้วโยกหัวตามตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ เชื่อว่าหลายคนคงจะถูกใจกับเพลงนี้ที่ฟังแล้วราวกับมันพาเราเข้าไปอยู่ในโลกแห่งแสงสีกับผู้คนอีกมากมายที่พร้อมจะขยับร่างกายไปด้วยกัน และแม้ว่าเพลงนี้จะมีลักษณะของดนตรีแบบ EDM แต่ก็ยังซ่อนเอาไว้ด้วยสิ่งที่น่าสนใจ ลองไปดูกันว่ามีอะไรบ้าง




    (อย่าลืมเปิดเพลงฟังควบคู่ไปด้วยนะ)


    Written By Gaeko (개코)Choiza (최자) & THAMA (따마)
    Keyboards Arranger Philtre
    Arranger Philtre
    Composer Gaeko (개코) & Philtre

    F Minor - 126 BPM


    • เริ่มต้นเพลงมาแบบไม่ทันได้เตรียมใจด้วยเสียงพูดที่ถูกปรับแต่งให้มีความเป็น electronics โดยที่ในช่วง 2 ห้องแรกของเพลงผู้ฟังส่วนใหญ่น่าจะยังจับจังหวะไม่ได้เลย ยังไม่คาดคิดด้วยซ้ำว่านี่คือการเข้าสู่เพลงแล้ว ไหนจังหวะ 1 2 3 4 จนกระทั่งห้องที่ 3 ของเพลงที่เริ่มมีเสียงกลอง bass drum ตุ้บ ๆๆ เข้ามา นั่นแหละเราถึงจะค่อยรู้สึกเหมือนว่าเท้าแตะพื้นแล้ว ไม่ล่องลอยอย่างไร้จุดหมาย

    • เมื่อสังเกตดี ๆ 2 ห้องแรกที่มีแต่เสียงพูดนั้นที่จริงเป็นแค่ส่วนขยายของ Intro ที่มาเริ่มจริง ๆ ตอนที่กลองเข้ามา ก่อนที่จะเพิ่มตามมาด้วยกลอง snare drum แล้วห้องสุดท้ายของ intro จึงค่อยดรอปบีตทั้งหมดออก ก่อนที่จะส่งเข้าเพลงอย่างเป็นทางการด้วยเสียง synthesizer ลากโน้ตตัว F ที่ค่อย ๆ เร่งเสียงให้ดังขึ้นเพื่อเตรียมหูของเราให้พร้อมกับคีย์ F Minor ที่กำลังจะมาถึง

    • Verse มีการใช้แนวทางเดินคอร์ดซึ่งนำเสนอโดยเสียงเบส คือ VI - V - i หรือก็คือคอร์ด Db Major - C Major - F Minor ซึ่งก็เรียกได้ว่าค่อนข้างมาตรฐานเลยสำหรับเพลงป๊อป อาจจะแปลกเล็กน้อยที่เริ่มต้นด้วยคอร์ด VI ซึ่งไม่คุ้นหูเท่ากับคอร์ด I ซึ่งเป็นคอร์ดหลักขอเพลง หรือคอร์ด V ที่สำคัญรองลงมา

    • แต่ที่แปลกกว่าอาจจะเป็นการที่แนว synthesizer เล่นสวนทางกับแนวเบส โดยแนวเบสมีการไล่โน้ตจากบนลงล่าง Db - C -F แบบเดิมตลอด ในขณะที่ synthesizer กลับเล่นไล่จากล่างขึ้นบนโดยที่โน้ตตัวที่โดดเด่นออกมาคือ F - E - G - Ab ทำให้เกิดสีสันและสร้าง dynamic ให้กับเพลง

    • แปลกสุดเลยก็น่าจะเป็นการที่แนวทำนองร้องนั้นร้องย้ำโน้ตตัว C ตั้งแต่เริ่ม ทำให้เกิดการกัดกันกับโน้ตตัว Db ที่มีความห่างระหว่างกันแค่เพียงครึ่งเสียง ก่อนที่ดนตรีจะเปลี่ยนไปเป็นคอร์ด C Major ทำให้ไม่เกิดการกัดกันและตอนท้ายทำนองร้องเปลี่ยนไปเป็นโน้ตตัว F ตรงคอร์ด F Minor พอดีเช่นกัน คนฟังฟังแล้วอาจจะรู้สึกว่าทุกการเริ่มประโยคมันมีอะไรบางอย่างที่แหม่งหู แม้จะเกิดขึ้นแค่เพียงระยะสั้น ๆ แต่เนื่องจากเป็นดนตรีวนไปวนมาแบบเดิมหลายรอบมันทำให้เราถูกย้ำความรู้สึกแบบนี้ซ้ำ ๆ

    • 0.19 ครึ่งหลังของ Verse แรกมีการเพิ่มเสียงร้องประสานกับแนวทำนองหลักเบา ๆ ด้วยโน้ตตัวเดียวกันแต่สูงขึ้นไป 1 ช่วงเสียง และมีการเพิ่มแนวทำนองที่เป็นลักษณะ Countermelody หรือทำนองรองแทรกกลางขึ้นมาเพื่อเติมเต็มช่วงที่ทำนองหลักหยุดและไล่โน้ต Ab - G - F ที่ช่วยเติมเต็มคอร์ดเข้าไปอีก ฟังไปก็คล้ายกับการโต้ตอบเป็น conversation ระหว่าง 2 ทำนอง




    • บีตทุกอย่างถูกดรอปออกไปเหลือเพียงเบสและ sound อีกเล็กน้อย แนวทำนองจบท้ายด้วยการร้องจบลงตัว F แล้วมีหางเสียงต่อไป Eb อ้าวเห้ย ทำไมเลยล่ะ! ก่อนจะเข้าสู่ท่อน Verse 2 (ฟังครั้งแรกเข้าใจว่ามันคือท่อน Pre-Chorus แล้วด้วยซ้ำ) ที่มีการนำเสนอทำนองรูปแบบใหม่ที่หลุดจากการย้ำโน้ต C กับ F วนไปวนมา โดยที่ยังเป็นการร้องประสานเสียงห่างกัน 1 ช่วงเสียง แต่ครั้งนี้ทำนองหลักกลับเป็นเสียงสูงและแนวประสานคือเสียงต่ำแทน เออ สลับกันแบบนี้ก็เจ๋งไปอีกแบบดี หลังจากนั้นก็กลับมาเป็นทำนองเดี่ยว ๆ สลับกันไป ซึ่งรอบที่สองที่ร้องว่า On the way the melody goes โน้ตตอนท้ายไล่สูงขึ้นไปแทนที่จะไล่กลับลงแบบรอบก่อนหน้า

    • ในท่อน Verse 2 นี้มีการเพิ่ม snare drum เข้ามาตีในจังหวะยก นั่นทำให้ rhythm ของเพลงมีความละเอียดถี่มากขึ้น จังหวะมูฟไปข้างหน้ากว่าช่วง Verse 1

    • อีกจุดที่ชอบคือการที่ทำนองมีโน้ตตัว Eb เช่น โน้ตสุดท้ายของ Verse 1 ที่ไปจบตัวนี้ทำให้มันรู้สึกว่าไม่ลงตัวขนาดนั้น เพลงยังต้องดำเนินไปต่อ แล้วก็ในท่อน Verse 2 คำว่า way กับ 싫어 모든 ซึ่งมันดันตรงกับดนตรีที่กำลังลงเบสตัว Db มันทำให้เกิดสีสันแปลกใหม่อีกแล้ว มีความ jazzy ซ่อนอยู่เล็กน้อยให้คนฟังได้รู้สึกฟินเบา ๆ เป็นต้น

    • เอาล่ะ ท่อน Pre-Chorus มาแล้วในนาทีที่ 0:42 ที่รู้ได้ทันทีเลยว่านี่คือการเตรียมตัวเราก่อนจะเข้าสู่ท่อนพีคของเพลง เรื่องจากดนตรีที่เคยหนัก ๆ พวกบีตจาก bass drum หายไปเลย ส่วนแนวเบสก็ถูกลดบทบาทลงจนเสียงเบามากราวกับซ่อนตัวอยู่ยังไม่ปรากฎกายให้ใครเห็น เหลือเพียงเสียง snare drum ที่ก็ไม่ได้ดังกระแทกออกมาเท่าช่วงก่อนหน้า ในขณะที่มีการเพิ่มมาของเสียง synthesizer ที่เล่นโน้ต countermelody เบา ๆ ในช่วงเสียงสูง ฟังแล้วก็น่ารักดี ส่วนทำนองหลักก็ยังยึดอยู่กับสามคอร์ดแบบเดิม เพิ่มเติมคือ background vocals ที่เข้ามาเติมเต็มเพลงแทนที่หลายสิ่งถูกลดความสำคัญไป

    • ครึ่งหลังของ Pre-Chorus แนวทำนองค่อย ๆ ไล่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่องค์ประกอบทางดนตรีอื่นเองก็ไต่ระดับความดังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ sound effect ที่คล้ายเสียงลมที่นอกจากจะดังขึ้นยังเสียงแหลมเล็กลงเพื่อส่งไปยังท่อนต่อไปที่ทุกคนรอคอยให้เสียงเบสและกลองตุ้บ ๆๆ กลับมา



    • ท่อน Chorus? มันควรจะเป็นท่อนฮุคแล้วนะ แต่เปล่าเลย มีการเพิ่มท่อน drop ตรงนี้ขึ้นมาเพื่อโชว์ sound ต่าง ๆ ให้คนได้มีช่วงพักจากทำนอง จากเสียงร้องเพื่อให้ได้โยกหัวกันแบบเต็มที่ พร้อมกับตั้งข้อสงสัยว่ามันกำลังเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ฉันกำลังอยู่ที่ไหน ทำไมถึงดนตรีจึงโล่งได้ขนาดนี้ มีเพียง bass drum แนวเบส แล้วก็เสียง synthesizer กุ๊งกิ๊งเบา ๆ แต่กลับหนักหน่วง หนักแน่นไปหมด แปลกดี ปกติไม่ค่อยได้เห็นการเพิ่มท่อนแบบนี้บ่อย ๆ นัก แต่ 127 เองก็เคยมีเพลงที่มีการเพิ่มท่อนในลักษณะนี้มาก่อน


    ตัวอย่าง เพลง NCT 127 - Superhuman นาทีที่ 1:02 มีการเพิ่มท่อน Drop ที่ไม่มีเสียงร้องใด ๆ เน้นเบสและบีตต่าง ๆ ก่อนเข้าท่อนฮุค



    • ดนตรีดรอปหายไป นำเข้าสู่ท่อน Chorus อย่างเป็นทางการในนาทีที่ 1:04 ซึ่งเป็นอีกครั้งที่ดนตรีหนักแน่น บีตทุกอย่างมาเต็มจัดเต็มและถี่ละเอียดมากขึ้น มีเสียง synthesizer คล้ายเสียง Flute ที่เล่นโน้ตไล่ลง C - Bb - Ab - G - F เป็นสเกล F Minor แต่ประเด้นที่น่าสนใจคือการที่แนวร้องนั้นกลับต่ำมาก ๆ และเป็นลักษณะของ speaking-singing แตกต่างจากเพลงส่วนใหญ่ในสมัยก่อนที่มักจะเน้นทำนองร้องที่สูง มีทำนองที่ชัดเจนและโดดเด่นกว่าดนตรี หลัง ๆ มามีการทำท่อนฮุคในสไตล์นี้ค่อนข้างเยอะเลย


    ตัวอย่าง - เสียง Flute (ฟลูต) เครื่องเป่าชนิดหนึ่งที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเครื่องลมไม้



    • 1:12 มีการดรอปดนตรีเงียบไปนิดนึง คนฟังที่กำลังโยกหัวตามอยู่อาจจะมีสะดุด เหยียบเบรคกันแทบไม่ทัน เป็นอีกลูกเล่นที่ใช้บ่อยมากในวงการ k-pop หลัง ๆ มาเรียกได้ว่าใช้เยอะ ใช้ทุกช่วง เบรคหัวทิ่มสะดุดกันไปตลอดทาง เล่นกับใจคนฟังไม่หยุดเลย อย่างตอนท้ายท่อนฮุคเพลงนี้เองก็ยังมีอีกรอบ


    ตัวอย่าง เพลง aespa - Next Level ดนตรีดรอปนาทีที่ 0:34, 0:50, 1:01, 1:09, 1:18, 2:01, 3:07, 3:18, 3:36



    • แอบประทับใจคำว่า Memories of love ที่มีการใช้ autotune ปรับให้เสียงเหมือนกับถูก mute ไว้ เสียงที่มาจากไกล ๆ ทุกครั้งที่คำนี้โผล่มาก็จะเป็นเนื้อเสียงแบบเดียวกันหมด เหมือนกับเป็นความทรงจำที่อยู่ข้างในที่พยายามจะโผล่ออกมาแวบ ๆ คอยย้ำเตือนเราซ้ำแล้วซ้ำอีก เป้นการใช้ออโต้จูนที่รู้สึกว่าเหมาะมาก


    • Verse 3 คล้ายกับ Verse 1 เลย ทั้งแนวทำนองแล้วเครื่องดนตรีส่วนใหญ่ แตกต่างแค่มีเสียง snare drum ตั้งแต่เริ่ม ไม่ใช่ในช่วงครึ่งหลังของท่อน กับการเพิ่มแนวร้อง oh oh oh oh เข้ามา พอเข้าสู่ Verse 4 เองก็มีการเพิ่มเติมแนว background vocals ที่สอดประสานกับทำนองหลักสลับกันไปมา รวมไปถึงการร้องคอร์ดที่สวยงามมากตั้งแต่นาทีที่ 1:46

    • ท่อน Pre-Chorus และ Chorus ยังคงมีการใช้องค์ประกอบแบบเดิมทุกอย่าง ที่ทำให้เกิดความแตกต่างอย่างชัดเจนก็คงเป็นเสียงร้องที่ไม่เหมือนกับรอบก่อนหน้า ว่าแล้วนี่ก็เป็นอีกเรื่องที่แปลกไปจากปกติ เนื่องจากเพลงของ SM Entertainment ส่วนใหญ่ในท่อนฮุคมักจะเป็นการร้องทำนองประสานเสียงพร้อมกันทุกคน แต่เพลงนี้นอกจากจะเป็นกึ่งแร็พแล้วยังเป็นการร้องเดี่ยวอีก ทำให้พอเดาได้ว่า A&R ที่คอยแบ่งท่อนในเพลงนี้ไม่ใช่คนของ SM (มั้ง? เดา!)

    • ช่วงท้ายของ Chorus รอบนี้มีการดรอปดนตรี แล้วใช้วิธีการลงบีตหนักแค่ทุกจังหวะหลักแทน ซึ่งต่างจากคอรัสรอบแรกที่ดนตรีดำเนินปกติแล้วไปดรอปตอนท้ายทีเดียวตามแบบแผน เป็นการบ่งบอกว่าบางสิ่งบางอย่างกำลังมา อะไรที่น่าจะเกินความคาดหมายของคนฟังอย่างยิ่ง




    • เข้าสู่ท่อน Bridge ที่ถึงกับต้องร้อง เห้ย! เพราะเราคุ้นเคยกับ bridge แบบ SM ที่เน้นดนตรีเพราะ ๆ กับโชว์โวคอล แต่เพลงนี้กลับหักมุมกลายเป็นท่อนแร็พซะงั้น โดยที่ดนตรีใน snythesizer และเบสมีการใช้ Chromaticism ที่เป็นการนำเสนอดน้ตที่มีความห่างครึ่งเสียงเป็นหลัก ไหนจะจังหวะที่ลงทุกจังหวะ 1 กับ 3 แทนที่จะทุกจังหวะแบบช่วงก่อนหน้า นั่นทำให้ความรู้สึกของเพลงมันหนักหน่วง จังหวะอืด ช้าลง สังเกตได้เลยว่าคนฟังจะโยกหัวช้าลงกว่าเดิมเท่าตัว

    • 2:32 เสียงดนตรีอื่น ๆ หายไปหมด กลายเป็นแนวเบสที่โดดเด่นขึ้นมาเลย และยังมีการสไลด์เสียงในนาทีที่ 2:35 ทำให้คนฟังอาจรู้สึกเหมือนกับโดนเหวี่ยงขึ้นลงยังกับเล่นรถไฟเหอะ เนื่องจากความโหวงของเพลงที่ทำให้เราเหลือที่ยึดมั่นแค่เพียงเบส พอเบสขยับตัวเราเลยถูกดึงไปตาม movement ของเสียงด้วย

    • 2:36 มีการเพิ่มขึ้นมาของ synthesizer ในช่วงเสียงสูงทำนองเดียวกันกับในท่อนฮุค แต่ครั้งนี้มีการปรับเนื้อเสียงให้แตกต่างออกไป ไม่ใช่เสียงคล้ายฟลูคแล้วแต่กลับคล้ายเสียงของเครื่องสายที่ช่วงหางเสียงของทุกตัวโน้ตมีการปรับบิดคลื่นความถี่ให้เสียงเพี้ยนนิด ๆ ฟังแล้วก็แอบหลอน.. 2:42 แนวเบสรูดสไลด์อีกครั้งแต่รอบนี้มีการเดินโน้ตเพิ่มเพื่อส่งเข้าท่อนถัดไปด้วย เท่ห์เลย

    • หลังจาก Bridge แล้วก็ได้แต่คาดเดาว่ามันจะไปในทิศทางไหนต่อ สรุปว่ากลับเข้าสู่ท่อน Pre-Chorus อีกครั้ง ที่ดูจากรูปการณ์แล้วน่าจะถูกนำกลับมาใช้แทน Bridge เพื่อบิ๊วเข้าสู่ท่อนฮุครอบสุดท้าย โดยที่แน่นอนว่ามีการเพิ่ม background vocals ที่หนาขึ้น และหลากหลายมากขึ้น

    • 2:58 อยู่ดี ๆ ก็มี sound effect คล้ายกับเสียงยานอวกาศหรืออะไรที่เคลื่อนที่ผ่านมิติแบบไว ๆ แล้วก็ใช่ อยู่ดี ๆ เหมือนเราถูกดูดออกไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ในห้วงอวกาศที่ไร้ซึ่งน้ำหนัก ดนตรีหายไปหมดเหลือเพียงกลอง snare drum เสียงเบา ๆ ก่อนที่จะเร่งความดังขึ้นควบคู่ไปกับ sound effect เสียงแหลมเล็กที่ราวกับว่าเรากำลังถูกดูดกลับเข้าไปอีกครั้ง เออ เว้ย แปลกดี เป็นการเพิ่ม 1 ห้องเพื่อเล่นกับใจคนฟังที่คาดหวังว่าจะเข้าสู่ท่อนฮุค เตรียมพร้อมจะโยกแบบสุดตัว แต่เปล่าเลย คุณโดนหลอกค่ะ!



    Saving you, saving me


    • รอบนี้ไม่มีช่อง drop ที่มีแต่เสียงบีตแล้ว แต่เข้าสู่ท่อน Chorus เลยทันที โดยที่ท่อนคอรัสรอบนี้มีการนำองค์ประกอบจากท่อน Pre-Chorus มาใส่ผสมผสานกับของเดิมด้วย ทั้งโน้ตไล่ที่เป็นเสียง Flute แล้วก็ทำนองร้อง Saving you, saving me แล้วไหนจะยังมีแนวแอดลิบเข้ามาเพิ่มเติมเต็มท่อนฮุครอบสุดท้ายอีก มั่นใจมากว่าถ้าเอาเพลงนี้ไปเปิดในปาร์ตี้ ผับ หรือในคอนเสิร์ตตน่าจะกระโดดกันมันมาก เรียกว่าไปให้สุดแล้วหยุดที่เต้นจนหลังพัง

    • ท่อนฮุคสุดท้ายนี้ความทรงจำที่เคยยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่ มันกลับชัดเจนขึ้นมาแล้ว Memories of love ในรอบนี้ไม่ได้ถูกใช้ autotune ปรับเสียงอีกต่อไป แต่เป็นเสียงร้องที่ชัดเจน และยังทิ้งท้ายเพลงนี้ด้วยประโยคนี้อีก โดยที่มีเสียง echo ก้องสะท่อนซ้ำ ๆ ราวกับต้องการจะย้ำเตือนคำคำนี้ให้ฝังเข้าไปในใจคนฟังงั้นเลย อื้อหือ...




      - จบเพลง -




      โครงสร้างของเพลง Save

      INTRO                          0:00-0:11

      VERSE 1                       0:11-0:26

      VERSE 2                       0:26-0:41

      PRE-CHORUS              0:42-0:57

      DROP                           0:57-1:04

      CHORUS                      1:04-1:20

      VERSE 3                       1:20-1:35

      VERSE 4                       1:35-1:50

      PRE-CHORUS              1:50-2:05

      DROP                           2:05-2:13

      CHORUS                      2:13-2:28

      BRIDGE                       2:28-2:43

      PRE-CHORUS              2:44-3:01

      CHORUS                      3:01-3:19



      บทสรุป

        แม้เพลงนี้จะไม่ได้ถูกแต่งโดยนักแต่งเพลงเจ้าประจำของ SM แต่ด้วยความที่ดนตรีส่วนใหญ่ของ NCT 127 มักมีการใช้ synthesizer หรือเสียงสังเคราะห์เป็นองค์ประกอบหลัก มีแนวเบสที่โดดเด่น และท่อนแร็พที่แข็งแรงโดยที่ยังไม่ทิ้งแนวทำนองร้อง นั่นจึงทำให้เพลงนี้หลายคนฟังแล้วอาจจะรู้สึกว่า เออ ก็ฟังดูเป็น 127 มากเลยนะ

    มีหลายจุดในเพลงนี้ที่น่าประทับใจ แม้จะใช้แค่เพียงเสียงสังเคราะห์ล้วนโดยที่ไม่มีเสียงแบบ Acoustic เลย แต่เพลงนี้กลับนำเสนอสีสันและอารมณ์ที่หลากหลายได้จากการเลือกใช้องค์ประกอบต่าง ๆ สัลบเปลี่ยนเวียนกันไป การปรับเสียงร้องโดยใช้ autotune และการเพิ่ม background vocals ที่ทำให้เกิด harmony เสียงประสานอันไพเราะ พอฟังแล้วเลยไม่รู้สึกว่ามันหนักจนเกินไป

    และโดยเฉพาะ form ของเพลงที่มีการเพิ่มท่อน Drop ก่อนท่อน Chorus หรือการที่ท่อน Bridge เป็นท่อนที่โชว์แร็พแทนที่จะเป็นร้องโวคอลตามปกติทั่วไป ก่อนที่จะยกเอา Pre-Chorus กลับมาซึ่งก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่ามันซ้ำมันน่าเบื่อ แต่กลับยังรู้สึกตื่นเต้นที่ได้ฟังท่อนนี้ ก็เรียกได้ว่าไม่ทิ้งลายความเป็น Hip-hop ของค่าย Amoeba Culture และศิลปินทุกคนที่ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานนี้ออกมา



    NEO CULTURE TECHNOLOGY



    อ่านจบแล้วอย่าลืมกดดู MV เพลง Save อีกรอบด้วยนะ



    อ่านบทความวิเคราะห์ดนตรีเพลง NCT 127 - Punch Click
    อ่านบทความวิเคราะห์ดนตรีเพลงอื่น ๆ Click
    อ่านบทความความรู้เรื่องดนตรีในวงการ K-pop Click



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in