หลังจากการรอคอยอันแสนยาวนาน ในที่สุด EXO ก็กลับมาปล่อยเพลงใหม่ที่รอบนี้ก็พอจะเดากันได้ว่าเหมือนจะเป็นภาคต่อจากเพลง Power แถมยังมีการเชื่อมโยงเรื่องราวไปยังจักรวาลของ SM อีกด้วย นั่นทำให้เพลงที่ออกมามีสไตล์ดนตรีที่ชัดเจน คล้ายคลึงกับเพลงเก่า แต่ก็มีสิ่งใหม่ ๆ ที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นมาด้วย โดยเฉพาะสีสันของเพลงที่มีทั้งหม่นและสดใส ลองไปดูกันว่ามีอะไรซ่อนอยู่ในเพลงนี้บ้างนะ
(อย่าลืมเปิดเพลงฟังควบคู่ไปด้วยนะ)
Written by Kenzie
Composed by Moon Kim, Tiyon "TC" Mack, The Aristocrats, Tesung Kim & Damon Thomas
Arranged by The Aristocrats
A Minor - 128 BPM
- ต้องบอกเลยว่า intro เพลงนี้ขึ้นมาแบบให้แทบจะไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลย เนื่องจากเป็นการเน้นบีต sound ต่าง ๆ ที่มีความหลากหลาย มีการโชว์เอฟเฟคเสียงที่ถูกออกแบบให้นำเสนอออกมาผ่านช่องเสียงซ้าย-ขวาสลับกัน (แนะนำให้ใส่หูฟังหรือฟังผ่านลำโพง stereo) ฟังแล้วก็ทำให้พอจะเดาได้ว่าเพลงน่าจะมีความสนุกสนาน จากเสียงสังเคราะห์ที่ถูกทำให้คล้ายกับเสียงหยดน้ำ และจังหวะที่ค่อนข้างเร็ว สิ่งที่ไม่สามารถเดาได้เลยคือคีย์ของเพลงว่าสรุปแล้วโน้ตแรกที่เราจะได้ยินมันจะเป้นเสียงโน้ตตัวอะไร เรากำลังอยู่ส่วนไหนกันแน่นะ จะเกิดอะไรขึ้นมันช่างคาดเดาล่วงหน้าได้ยากเหลือเกิน
- พอเข้าสู่ verse 1 บอกเลยว่างงมาก ๆ ถ้าให้อธิบายจริงจังในทางทฤษฎีดนตรีก็จะเข้าใจยาก เอาเป็นว่า แนวเบสกับแนวทำนองมันไม่ไปด้วยกันเท่าไหร่ เหมือนอยู่กันคนละคีย์ ต้องใช้เวลาพักใหญ่ถึงจะพอจับจุดได้ว่าเพลงนี้อยู่ในคีย์ A Minor เพียงแต่เริ่มที่คอร์ด iv ซึ่งไม่ใช่คอร์ดหลักแล้วค่อยไปจบท้ายที่คอร์ด i มันเลยอาจทำให้คนฟังรู้สึกไม่มั่นคงมากนัก อีกทั้งแนวทำนองยังกัดกันไปคนละทิศละทางกับเบส เลยทำให้จับยึดกับอะไรไม่ได้เลย เหมือนกำลังล่องลอยอยู่กลางอวกาศอย่างไม่มีที่ไป
ถ้าอธิบายแบบละเอียด (ใครไม่เข้าใจตัวโน้ตสามารถข้ามไปได้เลย) แนวเบสเริ่มจากโน้ตตัว D แล้วต่อขึ้นไปยังตัว F กลายเป็นว่าน่าจะเป็นคอร์ด D Minor สรุปเพลงนี้อยู่ในคีย์ D Minor หรือเปล่านะ เพราะคอร์ดแรกของเพลงมักจะเป้นคอร์ดหลักที่กำหนดคีย์เพลง แต่ความแปลกประหลาดคือการที่แนวร้องร้องโน้ตเริ่มที่ตัว E เอาละ นอกคอร์ด D Minor แต่ยังพออนุโลมได้เพราะมีโน้ต D เข้ามาตอนหลัง (แม้จะเน้นโน้ตตัว E กับ C มากกว่า) แต่หลังจากนั้นพอมาจบที่ตัว C ซึ่งกลายเป้นว่าคอร์ดที่ 2 จะกลายเป้นคอร์ด F Major? แล้วหลังจากนั้นแนวเบสเดินต่อด้วยโน้ต E-G#-A นำไปจบที่คอร์ด A Minor ซะงั้น แต่ในขณะเดียวกันแนวร้องกลับยังร้องมาจบย้ำที่ตัว D... นี่มันคือ Modal Mixture ยืมคอร์ดกันไปมา แล้ว Major-Minor ทัยซ้อนกันแบบแทบจะทุกอณูของเพลง
- ในส่วนขององค์ประกอบอื่น ๆ กลายเป้นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง Intro นั้นหายไปหมดเลย กลายเป็นว่าเพลงค่อนข้างโหวง มีแค่เสียงร้อง เบส แล้วก็ kick drum ตุ้บ ๆ ที่ยังพอช่วยให้เพลงมีความหนักแน่นและ drive ให้จังหวะดำเนินต่อไปข้างหน้า แต่นอกเหนือจากนี้ก็ยังมี sound effect อย่างอื่นสอดแทรกอยู่บ้าง เช่นในนาที่ 0:27 จะมีเสียงคล้ายเสียง scratch แผ่นเบา ๆ หรือหลังจากนั้นก็มีเสียง synthesizer ที่โผล่มาเรื่อย ๆ แต่ลักษณะของเสียงแทบจะแตกต่างกันทั้งหมด เป็นอะไรที่น่าสนใจมาก มัน distract เราและทำให้คนฟังเกิดความสงสัย ความไม่แน่นอนจากการที่ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปตลอดเวลา
จุดที่น่าสนใจและสามารถเชื่อมโยงกันได้ของเพลงนี้กับเพลง Power มีอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว ทั้งการที่จังหวะความเร็วของเพลงอยู่ที่ 128 BPM เท่ากันแบบพอดิบพอดี การใช้ kick drum/bass drum หรือกลองใหญ่ลงบีตทุกจังหวะอย่างแข็งแรง A Minor ซึ่งมันเป็น relative key กันในทางทฤษฎี ทั้งสองเพลงมีการใช้ modal mixture ที่เป้นการยืมคอร์ดยืมโน้ตซึ่งกันและกันระหว่าง Major-Minor แถมแนวทำนองกับเบสของทั้งสองเพลงก็เลือกใช้ตัวโน้ตคล้ายกัน แต่สลับแนวกันในแต่ละเพลง เพลงในใช้ในเบสอีกเพลงจะใช้ในทำนอง เป็นอะไรที่ชาญฉลาดมาก คาดไม่ถึงเลยจริง ๆ
- 0:40 verse 2 เริ่มมีการเพิ่มเสียงดีดนิ้วเข้ามาทำให้เกิดจังหวะในช่วงเสียงสูง และยังมีเสียง background vocals ที่ร้องประสานทุก 2 คำท้ายของแต่ละประโยค นั่นทำให้เพลงเริ่มค่อย ๆ สมบูรณ์ขึ้นทีละเล็กน้อย อีกอย่างถ้าตั้งใจฟังดี ๆ (แนะนำให้ใช้หูฟัง!) ในนาทีที่ 0:43, 0:48, 0:50 จะได้ยินเสียง effect คล้ายกับเเสียงเคาะหรืออะไรสักอย่างกระแทกสลับออก chanel เสียงซ้ายขวาแบบเบา ๆ มันช่วยเสริมสร้างอรรถรสให้คนฟังโดยที่ไม่รู้ตัวเลย
- ห้องสุดท้ายของ verse 2 เสียงจังหวะทุกอย่างถูกดรอปออกไปเหลือแค่เพียงเสียงเบสที่ตอนท้ายมีการไล่โน้ตลงเพื่อเป็น groove ส่งต่อไปยังท่อนถัดไป ที่จริงจาก verse 1 เข้า verse 2 เองก็มีการไล่โน้ตแบบนี้แต่อาจได้ยินไม่ชัดเท่ารอบนี้ที่ไม่มีเสียงเครื่องดนตรีอื่นมารบกวน
- Pre-Chorus นี้เองก็แปลกอีกเช่นเคย ด้วยการที่แนวเยสเปลี่ยนไปเล่นโน้ตสั้น ห้วน ตัดขาดฉับเสียงกุด ซึ่งไม่ค่อยได้ยินบ่อยเท่าไหร่ โดยปกติมักจะมีการปรับเสียงให้หางเสียงโน้ตมีความไพเราะกว่านี้ ในขณะเดียวกันเสียง synthesizer ที่ลงคอร์ดคล้ายกับเปียโนเองก็มีหางเสียงที่สั้นกุดแบบเดียวกัน กลายเป็นว่าแทบไม่มีอะไรมารองรับแนวทำนองร้องหลักกับเสียง background vocals ที่เบามาก ๆ (แม้แต่เบสสั้น ๆ นี้เองก็เหมือนกับท่อน Pre-Chorus เพลง Power นะ)
- น่าแปลกมากที่สิ่งที่ทำให้ท่อนนี้ไม่โล่งและขาดตอนจนเกินไปกลับกลายเป็นเสียงเอฟเฟคที่คล้ายกับเสียงลมซึ่งดำเนินอยู่ตลอดเวลา คอยโอบอุ้มดนตรีที่ติด ๆ ขัด ๆ กับเสียง percussion ที่เริ่มในนาทีที่ 0:58 และค่อย ๆ เร่ง volume ดังขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนกับว่ายังคงมีความไม่มั่นใจแต่กำลังค่อย ๆ สร้างความเข้มแข็งหนักแน่นอยู่
- และเห็นได้ชัดเจนเลยเมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของ Pre-Chorus ในนาทีที่ 1:02 ที่กลับมาลากโน้ตยาวขึ้นอีกครั้ง แม้ว่าจะมีช่วงที่เสียงประสานต่าง ๆ จะถูกดรอปหายไป แต่มีเสียง percussion ที่ดังและถี่มากขึ้นจากการเพิ่ม hi-hat คอยรองรับอยู่
ตัวอย่าง hi-hat คือเครื่องที่ใช้มือขวาอ้อมมาตีด้านซ้าย ลักษณะเป็นฉาบสองอันประกบกัน สามารถใช้เท้าซ้ายเหยียบเพื่อให้ชนกันหรือแยกห่างออกจากกัน ยิ่งชิ้นเล็กเสียงยิ่งสูง
- 1:06 นี่เป็นอะไรที่บ้ามาก แนวเบสกับคอร์ดเปียโนค่อย ๆ ไต่ระดับสูงขึ้นไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งมันไม่ได้หาได้บ่อยเลยนะ คือถ้าไม่เบสนิ่งเปียโนไต่ขึ้น ก็จะเป้นการไล่สวนทางกันแนวนึงขึ้นอีกแนวนึงลง คอร์ดเปียโนคือเรียกได้ว่าสวยงามสีสันอลังการ jazzy สุด ๆ อย่างไม่น่าเชื่อว่ามันจะมาอยู่ในเพลงนี้ท่อนนี้ได้ แล้วเป็นเพลงที่ไม่ต้องมีดรอปเงียบแต่ส่งเข้าท่อน Chorus แบบไม่มียั้งกันเลย เรียกว่าบิ๊วกันแบบสุด ๆ
- และแล้วก็มาถึงท่อน Chorus ที่ดนตรีทุกอย่างกลับมาเติมเต็ม โดยเฉพาะแนวเบสที่ถูกดำเนินมาตั้งแต่ต้นเพลง (เรียกว่าเป็น Ostinato หรือแนวเบสที่ดำเนินอยู่ตลอดเพลง) คล้ายกับในเพลง Growl ที่ก็มีทำนองวนซ้ำตั้งแต่ต้นจนจบที่เราติดหูกัน แต่เพลงนี้เป้นเสียงเบสในช่วงเสียงที่ค่อนข้างจะต่ำมากเลยอาจทำให้รู้สึกว่าคุ้นเคยแต่ไม่ถึงขั้นจำได้แม่นทันทีในการฟังครั้งแรก.. เสียง Percussion หรือเครื่องกระทบมีความถี่ละเอียดมาก คือค่อย ๆ เพิ่มมาตั้งแต่ช่วง verse มา pre-chorus จนมาละเอียดที่สุดในท่อน chorus นี้
ตัวอย่าง เพลง EXO -Growl แนวเสียง synthesizer ดำเนินไปตลอดทั้งเพลงเหมือนเป้น Ostinato
- เป็นอีกครั้งที่ทำนองยังคงวนเวียนอยู่กับโน้ตตัว C-D-E ตอนที่ร้องคำว่า Don't fight the feeling หรืือรอบถัดมาที่กระโดดไปโน้ตตัว F-G-A นั่นยิ่งทำให้เพลงเขวกว่าเดิมอีก แต่พอประโยคถัดจากนั้นเช่นที่ร้องว่า 본능 대로 가 Babe ก็กลับไปตรงกันกับแนวเบสเข้าคีย์กันพอดี คนฟังเลยอาจจะรู้สึกว่าท่อนนั้นมันเติมเต็มความรู้สึกและคุ้นเคยหูมากกว่า
- สิ่งที่ชอบมากในท่อนนี้ก็คงจะหนีไม่พ้นแนวร้อง background vocals ที่ร้อง ah ah ah ah~ ถึงแม้ว่าจะมีเสียง synthesizer ที่ช่วยเสริมให้เพลงมีเสียงประสานเติมเต็มมากขึ้นแล้วแต่แนวร้องประสานกลับยิ่งช่วยเสริมให้ท่อนนี้มีความสนุกสนานหลากหลายมากขึ้นไปอีกมาก แล้วไม่ใช่แค่ร้องสั้น ๆ ในช่วงที่ทำนองหลักหยุด แต่ยังร้องต่อซ้อนกันไปอีก โอ้โห ดนตรีมันแน่นไปหมดเลย
- โอ้โห บอกเลยว่า verse 3 คือเกินคาดมาก ๆ จากที่ถูกบิ๊วมาตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้ที่กำลังมันเต้นหัวโยกอยู่ดี ๆ ก็ต้องเหยียบเบรคเอี๊ยดให้กับดนตรีที่เปลี่ยนไปอย่างกะทันหันแบบไม่ทันให้ตั้งตัว ซึ่งมันน่าสนใจมาก เพราะแนวเบสแบบเดิมยังอยู่แต่ช้าลงไปเท่าตัว บีตหนักก็ลงห่างกันกว่าเดิมนั่นทำให้เหมือนจังหวะเพลงช้าลงไปเท่าตัวเลย แล้วการที่ท้ายท่อนฮุคไม่มีช่วงดรอปให้เราได้เตรียมตัวแต่ตู้มเข้าจังหวะใหม่เลย แถมห้องแรกของ verse 3 นี้ไม่มีแนวร้องอะไรเลยทำให้คนฟังหลงทางอย่างหนักเลยทีเดียว
- แนวทำนองเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงทั้งตัวดน้ตและจังหวะ มีการเพิ่มเสียง synthesizer สอดแทรกขึ้นมา รวมไปถึงเสียง percussion ในช่วงเสียงสูงซึ่งส่วนใหญ่เป้นเสียง hi-hat พอเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของ verse นี้ก็ค่อยมีเสียงประสานจาก background vocals ที่ทำให้เพลงที่โล่งโปร่งเริ่มถูกเติมเต็มด้วย harmony มากขึ้น ทำนองเองก็ไต่ระดับขึ้นไปสูงขึ้น จังหวะต่าง ๆ ละเอียดถี่ขึ้นเป็นการเตรียมตัวกลับเข้าสู่เพลงปกติ จากที่หลุดเข้าวาร์ปไปแป๊บนึงก็เตรียมที่จะออกมาเดินทางต่อด้วยจังหวะปกติแล้ว
- ท่อน verse 4 นี้มีการเพิ่มองค์ประกอบจาก verse 2 ที่คล้ายคลึงกัน คือเสียง hi-hat กับเสียงคล้ายเสียงเคาะโลหะดังเบา ๆ อยู่ไกล ๆ ที่ทำให้จังหวะมีความ active มากขึ้น รวมไปถึงแนว synthesizer ที่ทำให้เกิดสีสันแปลกประหลาด มีเสียงที่ทั้งเข้ากันและกัดกันแต่ก็ออกมาสวยงามมาก และจะได้ยินเลยว่ามีการปรับให้เสียงออกสลับ chanel ซ้าย-ขวากัน เพิ่มความสนุกสนานให้กับเพลง เรียกได้ว่าดนตรีแน่นสนัสนุนแนวร้องเต็มที่ เตรียมที่จะเข้าสู่ท่อน Pre-Chorus ต่อไป
- คุณ ถูก หลอก! อยู่ดี ๆ ก็มีท่อนแร็พโผล่มาแบบ เห้ย มาจากไหน มาได้ยังไง เบรคหัวทิ่มรอบสองแบบไม่ทันตั้งตัวยิ่งกว่ารอบแรกอีก ใครมันจะไปคิดว่าจะมามีอีกรอบ แล้วดนตรีแปลกประหลาดที่สุดตั้งแต่เพลงเริ่มมาเลย แม้ว่าจังหวะฟังแล้วจะคล้ายกับ verse 3 ที่ช้าลงมาเท่าตัว แต่แนวเบสกลายเป็นเล่นโน้ตอย่างอื่นที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่วน synthesizer ก็เล่นคอร์ดที่มีโน้ตหลักเป็นโน้ตที่เคยถูกเล่นโดยเบสมาก่อน อ้าวเห้ย สลับตำแหน่งบนล่างกันเฉย มันทำให้เพลงตรงนี้ยิ่งฟังแล้วหลงทิศทางกว่าเดิมไปอีกเพราะเบสซึ่งเป็นฐานหลักมันหลุดออกนอกจักรวาลไปแล้ว แนวแร็พเองก็จังหวะหลากหลาย บางช่วงของท่อนนี้เป็นการร้อง speaking-singing บางช่วงก็มีโน้ตทำนอง แล้วยังมี baclground vocals ร้องประสานแทรกขึ้นมา มีเสียงตะโกนช่วยเสริมความตื่นเต้น แล้วยิ่งตอนท้ายมีเสียงบีตเล่นเป็นโน้ต triplets (1 จังหวะมี 3 โน้ต) ทำให้เกิดจังหวะที่ทับซ้อนกันไปหมด โอ้โห นี่มันอะไรกันเนี่ย!!
- ดนตรีดรอปเงียบไปก่อนที่ sound effect แหลมสูงเสียงวี๊ดจะพาเรากลับมาสู่เส้นทางหลัก หลังจากที่หลงออกไปไหนไม่รู้มาแป๊บนึง กลับเข้าสู่ท่อน Pre-Chorus ที่ในรอบนี้เสียงเครื่องดนตรีต่าง ๆ เริ่มมาดังทันที ไม่ได้เริ่มจากเบา ๆ แล้วค่อยดังขึ้นแบบรอบก่อน และเสียงร้องประสานกับแอดลิบต่าง ๆ เองก็เยอะขึ้นมากเช่นกัน ช่วงท้ายของท่อนนี้แทนที่แนวทำนองจะไล่โน้ตลงกลับไม่ใช่อีกแล้ว เป็นการไล่โน้ตขึ้นไปจบที่ตัว C5 ซึ่งช่วยบิ๊วอารมณ์ร่วมไปกับดนตรีจนถึงขีดสุด จัดหนักจัดเต็ม
- ท่อน Chorus รอบนี้ดนตรีทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม จนกระทั่งมาจนถึงตอนท้ายที่รอบก่อนหน้าไม่ได้มีการดรอป ดนตรีดำเนินต่อไปยังท่อน verse 3 แบบไม่มีให้เตรียมใจ ในรอบนี้มีการดรอปบีตต่าง ๆ ออก เหลือไว้แค่ดนตรีส่วนอื่นทำให้เรายังพอคาดเดาได้ว่าอะไรบางอย่างกำลังจะเกิดขึ้น ท่อนถัดไปจะเกิดการเปลี่ยนแปลงนะ
- เข้าสู่ท่อน Bridge ในตำนานของค่าย SM Entertainment ดนตรีเปลี่ยนสไตล์ไปอย่างชัดเจนกลายไปเป็น R&B ที่เน้นสีสันของ harmony การใช้คอร์ดต่าง ๆ ที่มีความฟุ้งซึ่งมาจากเสียง background vocals และเสียงที่บรรเลงโดย synthesizer ที่เสียงออกมาเป็นแผงยังกับพวกออร์แกน กับอีกแนวที่วิ่งไปมาเพื่อคีพความ active ให้กับเพลง , percussion บีตหนักหายไปหมดเหลือแค่เสียงดีดนิ้ว, แนวเบสแม้จะยังคงอยู่เสียงดังฟังชัดแต่ก็ถูกปรับให้เนื้อเสียงมีความนุ่ม คอยโอบอุ้มดนตรีทั้งหมด ส่วนแนวร้องทำนองมีจังหวะที่ค่อนข้างเรียบง่าย มีความ lyrical เชื่อมต่อกันมากขึ้นเมื่อเทียบกับตลอดทั้งเพลงที่ผ่านมาที่จะสั้น วนไปมา และมีการออกเสียงกระแทกกระทั้น เป็นท่อนที่รวม ๆ ออกมาแล้วสวยงามมาก
- ครึ่งหลังของ Bridge นาทีที่ 2:47 บีตต่าง ๆ เริ่มกลับเข้ามาโดยค่อย ๆ เร่งความเร็วและความละเอียดมากขึ้นเรื่อย ๆ คล้ายกับสไตล์เพลง EDM ที่ก่อนจะถึงท่อนดรอปจะมีการเร่งจังหวะและความดังขึ้นไปพร้อมกันกับ sound effect.. แต่ที่น่าแปลกคือแนวทำนองที่เริ่มร้องโน้ตในช่วงเสียงสูงแล้วไล่โน้ตต่ำลง แทนที่จะไล่ขึ้น สวนทางกับอารมณ์เพลง ก่อนที่จะไปร้องตะโกนแอดลิบเสียงสูงในท่อนฮุคสุดท้ายแทน ฟังแล้วก็นึกถึงเพลง Jopping ที่มีลักษณะการไล่โน้ตส่งคล้ายกัน
ตัวอย่าง เพลง Jopping นาทีที่ 3:35 ประโยคสุดท้ายของ Bridge ไล่โน้ตต่ำลง
- ฮุคสุดท้ายดนตรีระเบิดตู้มต้าม แน่นไปหมดทุกอณู จากที่ที่ผ่านมาจะสามารถได้ยินทำนอง เบส แล้วก็แทรกสลับด้วยเสียงกลางจาก background vocals รอบนี้ไม่ใช่อีกแล้ว กลายเป็นว่าทุกอย่างมาพร้อมกันอัดแน่นไปหมด ช่วงเสียงกลางถูกเติมเต็มจนไม่มีดนตรีไม่มีช่องว่าง แล้วยังมีแอดลิบเสริมขึ้นมาในช่วงเสียงสูงที่ไปถึง A5 อีก เป็นท่อนที่เปิดโอกาสให้คนฟังได้สนุกสุดเหวี่ยงทิ้งท้ายเพลงกันอย่างสมบูรณ์แบบ
- จบเพลง -
โครงสร้างของเพลง Don't Fight the Feeling
INTRO 0:17-0:25
VERSE 1 0:25-0:40
VERSE 2 0:40-0:55
PRE-CHORUS 0:55-1:10
CHORUS 1:10-1:25
VERSE 3 1:25-1:40
VERSE 4 1:40-1:54
DROP 1:55-2:10
PRE-CHORUS 2:10-2:24
CHORUS 2:25-2:40
BRIDGE 2:40-2:55
CHORUS 2:55-3:11
บทสรุป
บทเพลงที่เป็นดั่งเรื่องราวที่ถูกเชื่อมต่อมาจากเพลง Power ด้วยองค์ประกอบทางดนตรีหลากหลายอย่างที่ใครหลายคนอาจจะไม่ทันสังเกต แต่ก็สามารถรู้สึกได้ว่ามันมีสิ่งที่คล้ายกันอยู่ ทั้งจังหวะ ลักษณะของการเรียบเรียงเสียงประสาน รวมไปถึงการเลือกใช้คีย์หรือบันไดเสียงที่เกี่ยวข้องกันในทางทฤษฎี เป็นจุดที่ผู้เขียนขอยกย่องผู้แต่งเป็นอย่างยิ่ง
ความน่าสนใจของเพลงนี้อีกอย่างคือการเลือกใช้โน้ตต่าง ๆ ทั้งในทำนอง เบส และคอร์ด ที่สร้างสีสันแปลกใหม่ ไพเราะ แต่ก็สร้างเสียง dissonance หรือเสียงโน้ตที่มันกัดกัน กลายเป็นความหม่นหมองและความสดใสมันตีกัน แม้จะไม่มากจนทำให้รู้สึกว่าประหลาด ฟังแล้วไม่เพราะหรือแสลงหู แต่กำลังพอดีที่ที่จะทำให้คนเกิดความสงสัยใคร่รู่และไม่มั่นใจกับ direction ของเพลงไปบ้าง
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายจุดที่เรียกได้ว่า 'หลอก' คนฟังให้ต้องร้องฮะกันถ้วนหน้า กับจังหวะที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตรงช่วงกลางเพลง เดี๋ยวเร็ว ๆ อยู่ก็ช้า พอกลับมาเร็วแล้วยังจะมีท่อนแร็พที่โผล่ออกมาเบรคอารมณ์คนฟังที่กำลังสนุกสนานอีกรอบ สร้างความรู้สึกตกใจ หลังจากนั้นก็ค่อยผ่อนคลาย แต่ในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วย tension จากเครื่องดนตรีที่ถูกนำเสนอออกมา
อ่านจบแล้วอย่าลืมกดดู MV เพลง Don't fight the feeling อีกรอบด้วยนะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in