เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
แว่นขยายเพลง k-popryeomook
วิเคราะห์ดนตรี เพลง TAEMIN - Advice
  • ADVERTISEMENT

    ADVERTISEMENT

    พีค

    ต้องยอมรับเลยว่าคาดหวังกับเพลงนี้ไว้สูงมาก หลังจากที่แทมินได้ปล่อยเพลงดี ๆ หลายเพลงติดต่อกันมาในช่วงปี 2020 แล้วไหนจะยังมาเจอทีเซอร์ที่ถูกปล่อยออกมาหน้านี้ซึ่งเป็นเสียงเปียโนอีก กรี๊ดบ้านแทบแตก และก็ต้องบอกอีกครั้งนึงว่าแทมินและทีมงานไม่ทำให้ผิดหวังเลย เพลงนี้เต็มไปด้วยสิ่งที่น่าสนใจอย่างที่ผู้เขียนคาดไม่ถึง จึงขอเปิดบทวิเคราะห์นี้เพื่อนำเสนอรายละเอียดต่าง ๆ ในเพลงนี้ที่ทำให้ Advice ออกมาเป็นผลงานศิลปะที่สมบูรณ์แบบ




    (อย่าลืมเปิดเพลงฟังควบคู่ไปด้วยนะ)


    Composed by Mich Hansen, Daniel Davidson, Peter Wallevik, Lucas Secon & Wayne Hector
    Arranged by Cutfather & PHD
    Lyric by Cho Yoon Kyung

    A Minor - 160 (80?) BPM


    • เปิดเพลงมาผู้เขียนถึงกับกรี๊ด (ด้วยความชอบส่วนตัว) กับการใช้เครื่องดนตรี Acoustic ในเพลงไตเติ้ลที่หาได้ไม่มากนัก แถมยังเปิด Intro มาด้วยเปียโนแบบตัวเดียวโดด ๆ วิธีการเล่นก็เป็นสไตล์แบบ classical ฟังแล้วก็ทำให้นึกถึงภาพของการบรรเลงเดี่ยวเปียโนในหอแสดงดนตรีอันหรูหรา ลักษณะการบรรเลงโน้ต arpeggio แบบ broken chords คือแยกโน้ตจากคอร์ดแตกออกมาทีละโน้ต ความห่างโน้ตเท่า ๆ กัน แล้วสลับเปลี่ยนคอร์ดไปเรื่อย ๆ

    • ซึ่งตัวคอร์ดเองก็ค่อนข้างจะคลาสสิกเช่นกัน แนวทางการเดินคอร์ดหรือ chord progression มาตรฐานที่นิยมใช้กันมาตลอด 200-300 ปี โดยเฉพาะเมื่อสักยุค 60s-80s ที่นิยมใช้กันในเพลงร็อคอยู่พักใหญ่ หลังจากนั้นมาก็ไม่ได้รับความนิยมมากอีกแล้ว แต่เพลง Advice กลับหยิบยกแนวทางเดินคอร์ดแบบนี้กลับมา มันฟังดูขลัง ในขณะเดียวกันก็น่าติดตามมากว่าจะสามารถพัฒนาดนตรีตรงนี้ต่อไปอย่างไร

    • Am - E - C - F - Dm คอร์ดที่ถูกใช้นั้นน่าสนใจมากในแง่ของการเล่าเรื่อง เนื่องจากมีการสลับไปมาระหว่าง Major ที่ฟังแล้วความสุข เปรียบได้กับสีสันที่สดใส ความสว่าง และ Minor ที่ฟังดูเศร้า ทะมึน น่ากลัว เป็นสีที่ค่อนข้างมืดหม่น มีความดาร์ค มันเหมือนกับคนโรคจิต มีสองบุคลิกในคนเดียว คล้ายกับโจ๊กเกอร์ที่แม้จะยิ้มอยู่แต่มันคือการแสยะยิ้มที่แสนจะน่ากลัว ยิ่งการใช้คอร์ดแบบนี้วนไปวนมาตลอดทั้งเพลงมันยิ่งทำให้เรารู้สึกหลอน ติดอยู่ในวังวนแห่งการหาคำตอบ เขาวงกตที่ไม่มีที่สิ้นสุดเลย


    พอฟังแนวเปียโนของเพลงนี้แล้วก็ทำให้นึกถึงเพลงคลาสสิกหลายเพลงเลย...


    ตัวอย่าง เพลง Edvard Grieg - Piano Concerto in A Minor Op. 16 มีแนวทางเดินคอร์ดคล้ายกันตั้งแต่ช่วงนาทีที่ 0:51 (แต่แนะนำให้ฟังตั้งแต่ต้นเพลงนาทีที่  0:24)

    ตัวอย่าง เพลง Sergei Rachmaninoff - Études-Tableaux, Op. 39 No. 2 in A minor เริ่มต้นนาทีที่ 0:17 สไตล์ของแนวเปียโนที่เล่นเป็น Arpeggio คล้ายกันกับเพลงของแทมินมาก ๆ

    ตัวอย่าง เพลง Frédéric Chopin - Etude in A minor Op. 25 No. 11 มีการ motive ที่เน้นตัว E คล้ายกันกับเพลงของแทมิน


    • อีกจุดที่น่าสนใจของแนวเปียโนของเพลงนี้คือนาทีที่ 0:08 ลักษณะการเปลี่ยนคอร์ดที่เป็นจังหวะยก หรือจังหวะ & ที่อยู่ระหว่างจังหวะ 3 กับ 4 ไม่ใช่จังหวะหนักของเพลง จะรู้สึกได้ว่าการเปลี่ยนคอร์ด F Major นี้มันช้าไปหน่อยหรือไม่ก็มาเร็วไปนิดนึง นั่นอาจทำให้ผู้ฟังแอบตกใจเล็กน้อยกับสีสันของเพลงที่เปลี่ยนไปอย่างกะทันหัน ไม่ทันได้ตั้งตัว ก็เป็นอีกจุดที่เพลงนี้หลอกเรา

    • ขออีกนิดแล้วกันกับพาร์ทเปียโน ชอบที่บรรเลงได้ classical style มาก ๆ มีการควบคุม dynamic ความดัง-เบา อย่างช่วงนาทีที่ 0:03-0:04 ที่ดึงเอาตัว E ให้ดังโดดเด่นออกมา หรือหลังจากนั้นก็จะมีตัว G กับ F ด้วย เป็นสิ่งที่โดยส่วนตัวผู้เขียนรู้สึกประทับใจในการพยายามสื่อสารที่มีเป้าหมายชัดเจน และทำออกมาได้อย่างดีทีเดียว


    ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนมองว่าเปียโนเป็นเครื่องดนตรีที่เหมาะมากในการสื่อถึงคาแรคเตอร์ที่มีความโรคจิต เนื่องจากเป็นเครื่องดนตรีที่สามารถสร้างเสียงประสานที่สมบูรณ์ได้ในตัวเอง สร้างเสียงสั้นยาว เสียงกระแทก ดัง-เบาได้ทั้งหมด แม้จะมีโทนเสียงหลัก ๆ แค่เพียงเสียงเดียวแต่การใช้เครื่องดนตรีเดี่ยว ๆ นั้นสามารถนำเสนอความเป็นปัจเจกของตัวละครที่ต้องการจะสื่อถึง เป็นตัวละครที่มีอารมณ์หลากหลายสลับไปมาตลอดเวลา นอกจากนี้อาจสื่อได้อีกว่าการที่ตัวละครหลักเป็นนักดนตรีนั้นมีความเป็นศิลปินที่อารมณ์ไม่นอน มีความติสต์แตก และ emotional มาก (อย่างที่หลายคนเข้าใจว่านักดนตรีเป็นแบบนั้น แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ได้ขนาดนั้น) ในขณะเดียวกันก็อาจจะเป็นอัจฉริยะด้วยเมื่อเราสังเกตจากผลการศึกษาที่ดนตรีช่วยพัฒนาสมองในหลายด้าน รวมไปถึงเปรียบเทียบกับบุคคลสำคัญในอดีตหลายคน เช่น Mozart ที่สามารถแต่งเพลงได้ตั้งแต่อายุเพียงแค่ 6 ขวบ หรือแม้แต่ Einstein ที่ก็เล่นดนตรีเช่นกัน (และแน่นอน คนเล่นดนตรีก็ไม่ได้อัจฉริยะทุกคนหรอกนะ 5555)
    ..หากแต่นี่เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของผู้เขียนเท่านั้น




    *เพิ่มเติม* จะสังเกตได้ว่าความเร็วของเพลงนี้คือ 160 BPM (160 จังหวะต่อนาที) ซึ่งถือว่าเร็วมากเมื่อเทียบกับเพลง k-pop โดยปกติทั่วไป ต้องบอกก่อนว่าส่วนตัวผู้เขียนเองก็ยังมีความไม่มั่นใจในเรื่องของจังหวะอยู่เนื่องจากถ้าหากฟังจากการเปลี่ยนคอร์ด จังหวะควรจะอยู่ที่ 80 BPM แต่หลังจากได้ดูการแสดงก็ทำให้ผู้เขียนถึงกับไปไม่ถูก เพราะจังหวะการเต้นดันไปตรงกับ 160 BPM และยึดจังหวะนี้เป็นหลัก เอาเป็นว่าผู้เขียนขอเขียนกำกับไว้ทั้งคู่ แล้วแต่วิจารณญาณของผู้อ่านแต่ละท่านเลย

    • เข้าสู่ Verse แรกของเพลง เปียโนที่ถูกนำเสนอมาก่อนเพื่อนยังคงอยู่ บรรเลงในรูปแบบเดิมและเป็นเหมือนกับตัวดำเนินเรื่องหลัก เสียงที่จะพาเราไปท่องเที่ยวในดินแดนอันแสนน่าอัศจรรย์ พอบวกกับเสียง synthesizer ที่แทรกมาเบา ๆ ตามโน้ตหลักของคอร์ดเปียโนแล้วก็ทำให้มันเป็นการเดินทางในดินแดนที่น่าพิศวงในเวลาเดียวกัน

    • ต้องบอกเลยว่าแปลกใจมาก ๆ เชื่อว่าหลายคนเมื่อได้ฟังก็รู้สึกแบบเดียวกันว่าเสียงร้องของแทมินมีความแตกต่างไปจากเพลงอื่น ๆ ของเขามาก แน่นอนว่ามีการใช้ autotune ปรับเนื้อเสียงไม่น้อยเลย แต่เราไม่ได้รู้สึกว่ามันทำให้เสียคาแรคเตอร์ความเป็นแทมินเลย เพราะเรายังคงได้ยินวิธีการออกเสียงหลายอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ปนอยู่ด้วย เรียกได้ว่าใช้ออโต้จูนได้อย่างชาญฉลาดจริง ๆ

    • แถมแนวร้องยังอยู่ในช่วงเสียงต่ำ ซึ่งโดยทั่วไปในเพลงไตเติ้ลจะไม่ค่อยมีหรอกที่เสียงร้องหลักต่ำกว่าดนตรี อย่างน้อยก็ต้องมีเบสมาร้องรับ แต่เพลงนี้ไม่เลย เสียงร้องเนี่ยแหละคือเบสเอง ไหนจะมีการใช้จังหวะที่แตกต่างกันไปตลอดเวลา จังหวะสะบัดที่กระชับว่องไว สั้น ห้วน และจังหวะที่ร้องอย่างรวดเร็ว มีการออกเสียงคำ การสร้าง phrasing ให้กับแต่ละโน้ตและประโยคต่างกันหมดเลย ในความรู้สึกของผู้เขียน มันเหมือนคนบ้าที่กำลังสับสนในตัวเองอย่างงั้นเลยนะ

    • ฟังแล้วก็ประทับใจในรายละเอียดของผู้ทำเพลง เนื่องจากมีการซ้อนแนวทำนองร้องสลับกับเสียงร้องเดี่ยว ๆ ไปมาตลอด  แค่ภายในเวลาสั้น ๆ  ไม่กี่วินาทีกลับมีการใส่รายละเอียดขนาดนี้ ซึ่งผู้เขียนรู้สึกว่ามันสร้างให้เสียงมีมิติ คนฟังฟังแล้วอาจรู้สึกได้ถึงความไม่แน่นอน ไม่ชัดเจน น่าสนใจมาก อย่างเช่นช่วงนาทีที่ 0:12-0:24 เนื้อเพลงที่เป็นตัวเข้มคือมีการซ้อนเสียงร้องจากแนวทำนองหลักเพิ่ม


    Yeah 누가 뭐라든 My way
    틈이 없는 My face
    필터 없이 뱉은 말엔
    No oh oh oh
    유리 가면 속의 미소
    가려 두려 씌운 베일마저
    Lost oh oh oh


    • นาทีที่ 0:24 ความรู้สึกค้างคาจากเสียงเปียโนที่หยุดไปแบบที่ยังไม่ลงจบอย่างสมบูรณ์ ถูกขยายด้วยการใช้เสียง sound effect คล้ายเสียงลมพัดเบา ๆ เสียงก้องในห้องร้างว่างเปล่า ก่อนที่จะดนตรีจะเปลี่ยนไป มีความหนักแน่นและแข็งกร้าวมากขึ้นจากเสียง percussion บีตต่าง ๆ คล้ายกับเสียงของกลอง kick drum และ snare drum ที่มีความ electronics กระแทกกระทั้น จะว่าแสดงออกถึงอารมณ์เกรี้ยวกราดและไม่พอใจได้อย่างชัดเจน

    • แม้เสียงเปียโนจะหายไป แต่ยังคงมีเสียง synthesizer ที่เล่นโน้ตหลักจากพาร์ทเปียโน (พวกโน้ตที่มีการเน้นให้เสียงดังออกมา) สร้างเสียงประสาน harmony บวกกับเสียงเบสที่เบามากจนแทบจะจับไม่ได้คลอไปกับจังหวะกลอง ฟังแล้วก็ราวกับว่าเรากำลังนั่งอยู่ในห้องที่ว่างเปล่าที่หากพูดขึ้นมาก็จะมีแต่เสียงตัวเองสะท้อนก้องไปมา บรรยากาศหลอนมาก

    • เป็นอีกครั้งที่ชอบแนวร้องที่มีความ creative มีทั้งการร้องทำนองปกติ สลับกับ speaking-singing รวมไปถึงการใช้เสียงร้องธรรมชาติสลับผสมกับการใช้ autotune และเสียงซ้อน เรียกได้ว่าสีสันเยอะ รายละเอียดเยอะทำให้เรารู้สึกว่าเห้ย นี่คนร้องเหมือนกำลังคลุ้มคลั่งอยู่รึเปล่า เราไม่สามารถจับต้นชนปลายได้เลยว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น และคนร้องต้องการจะสื่อสารอะไร กำลังมีอารมณ์แบบไหนอยู่กันแน่ ความวุ่นวายของแนวร้องส่งผลทางด้านจิตวิทยาของผู้ฟังมาก ๆ

    • ตอนช่วง 2 จังหวะสุดท้ายของท่อนมีการดรอปเสียงดนตรีที่หนัก ๆ ออกไปหมด เหลือแต่เสียงลากโน้ตตัว D ที่ให้ความรู้สึกค้างคาสุด ๆ กับแนวร้องที่กลายเป็นเสียงพูด ราวกับต้องการจะสื่อสารความต้องการอย่างเจาะจงกับผู้ฟังโดยตรง ก่อนที่จะ บู้มมมมม อ้าว ท่อน Chorus แล้วหรอ? แปลว่าก่อนหน้านี้คือ Pre-Chorus งั้นหรอกหรอ ช่างเป็นพรีคอรัสที่แปลกมาก ไม่ได้มีการ build อารมณ์ไต่ระดับขึ้นอะไรเลย เรียกแผ่วลงด้วยซ้ำในตอนท้าย นั่นทำให้พอเข้าสู่ท่อนฮุคอารมณ์ของผู้ฟังถูกฉุดกระชากแบบทันทีทันใด ราวกับโดนตีแสกหน้างั้นเลย




    • ท่อน Chorus แนวทำนองที่เคยร้องอยู่ในช่วง Octave 3 มาตลอด กระโดดขึ้นไปถึง E5 ซึ่งถือว่าสูงมากสำหรับผู้ชาย แล้วค่อย ๆ ไล่ระดับวนไปมาลงมาจบยังตัว E4 ครบ full octave ก่อนที่จะเริ่มต้นประโยคใหม่ที่โน้ตสูงอีกครั้งสลับไปมา เล่นเอาคนฟังเปลี่ยนอารมณ์กันแทบไม่ทันเลย มีแนวประสานจาก background vocals ที่ทำให้ท่อนนี้ยิ่งถูกเติมเต็ม หนักแน่น เต็มไปด้วยความมั่นใจและสื่อถึงอารมณ์ที่มั่นคงมากกว่าเดิม

    • เสียง percussion กับ synthesizer แบบช่วง Pre-Chorus กลับมาอีกครั้ง ความพีคอยู่ที่พาร์ทเปียโนตอนช่วงต้นเพลงกลับมาในแนวที่หลอนกว่าเดิมมาก ๆ คือเปลี่ยนจากเสียงเปียโนไปเป็นเสียงที่มีลักษณะคล้ายกับเสียงออร์แกนที่บรรเลงในโบสถ์ แล้วปรับยกเสียงสูงขึ้นไปอีก 1 ช่วงเสียง เรียกได้ว่าทั้งให้ความรู้สึกที่ขลัง ศักดิ์สิทธิ์ Holy แต่ก็หลอนสุด ๆ เช่นกัน

    ตัวอย่าง เสียงออร์แกนที่มักใช้บรรเลงในโบสถ์เพื่อประกอบพิธีทางศาสนา


    • ชอบที่มีการวนท่อนฮุคซ้ำอีกรอบนึง เนื่องจากเพลงนี้มีการเปลี่ยนท่อนที่ค่อนข้างรวดเร็ว แต่ละท่อนสั้นมาก พอเน้นท่อนฮุคอีกรอบแม้ว่าจะไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนไปนักแต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันน่าเบื่อหรือมากเกินไป จุดน่าสนใจเล็ก ๆ คือนาทีที่ 0:50 ตรงคำว่า 잘 봐 และนาทีที่ 0:53 해 봐 เป็นจุดที่สามารถได้ยินเสียงร้องหลักของแทมินได้อย่างชัดเจนมาก เมื่อเทียบกับทำนองเดียวกันนี้ที่มาในช่วงฮุคครึ่งแรกที่กลมกลืนไปกับเสียง background vocals เหมือนกับต้องการเน้นย้ำคำสั่ง ความต้องการอันแรงกล้าของตัวเอง

    • นาทีที่ 0:57 ประโยค Best take my own advice เป็นอะไรที่ประหลาดมากสำหรับผู้เขียนและเชื่อว่าสำหรับหลายคนที่ได้ฟังเช่นกัน.. ย้อนกลับไปในนาทีที่ 0:46 I'll shoot the one advice นั้นเริ่มจากโน้ตตัว C และไล่ลงมาหาตัว A ที่เป้็นโน้ตตัว tonic หรือ root ของเพลงนี้ ซึ่งมันจะไปคล้องกับประโยคก่อนหน้านาทีที่ 0:43 ซึ่งเป้นโน้ต C-D-E ไล่ขึ้น จะสังเกตได้ว่ามันมีแพทเทิร์นของมันที่เริ่มจากตัว C แล้วขึ้นอยู่กับว่าจะไปต่อทางไหน สูงขึ้นหรือต่ำลง.. กลับมาที่นาทีที่ 0:54 ซึ่งเป็นการไล่โน้ต C-D-E เหมือนเดิม หากแต่พอประโยคสุดท้ายกลับกระโดดลงมาที่โน้ตตัว A ทันทีแล้วค่อยขยับขึ้นลงเป็น A-B-C-B-A... เป็นอะไรที่แปลกมาก เหมือนเรารู้คำตอบรู้จุดจบสุดท้ายก่อนเวลาอันควร หรือจะมองในอีกมุมก็เหมือนกับการที่คนร้องต้องการจะสื่อว่าตัวเองมั่นใจในคำตอบและความต้องการของตัวเอง เน้นย้ำเลยว่าให้ฟังฉัน นี่แหละคือสิ่งที่ถูกต้อง จงทำตามซะ

    • หลังจากท่อน Chorus ยังคงไม่เข้า Verse ถัดไป หากแต่ถูกคั่นด้วย Post-Chorus เพื่อให้คนฟังได้ค่อย ๆ ปรับอารมณ์ เสียงเปียโนจากตอนต้นเพลงกลับมาอีกครั้งแล้ว พร้อมกับเสียงออร์แกนในช่วงเสียงสูง หากแต่เป็นการเล่นสลับล้อกันไปมา ไม่ได้เล่นโน้ตเดียวกันไปพร้อม ๆ กัน ลักษณะดนตรีคล้ายกับเพลงประเภท Fugue ที่เป็นที่นิยมในยุคบาโรก​ (ปี 1600-1750) คือการล้อกันไปมาของแนวดนตรีสองแนวหรือมากกว่า เล่นโน้ตเดียวกันแต่ไม่พร้อมกัน และมีการพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ นอกจากนี้ยังมีเสียงเบสที่เล่นเป็นเหมือนกับ percussion ซ่อนอยู่ด้านล่างเบา ๆ ด้วย

    • เสียงที่เด่นที่สุดในท่อน Post-Chorus แน่นอนว่าก็คือเสียงร้องในช่วงเสียงสูงที่ถูกปรับ autotune ให้เสียงแหลมเล็ก คล้ายกับเวลาที่เราปรับเร่งสปีดเสียงพูด หรือเวลาต้องการบิดเบือนเสียงพูดของใครบางคนที่เราไม่ต้องการให้รู้ตัวตนที่แท้จริง เป็นแนวทำนองที่ร้องแบบเดิมซ้ำไปซ้ำมาไม่ว่าดนตรีจะเปลี่ยนไปทางไหนแต่ทำนองนี้ก็จะยังคงร้องวนอยู่แค่โน้ตไม่กี่ตัว ราวกับว่ากำลังสะกดจิตคนฟังให้เข้ามาอยู่ใต้อานัติของตัวเอง ฟังแล้วทำให้นึกถึงเพลง Obsession ของ Exo ที่ก็มีการใช้เสียงร้องแบบนี้เช่นกัน

    ตัวอย่างเพลง EXO - Obsession คำว่า I want you



    • ยังมีแนวร้อง background vocals ที่เพราะมาก ๆ คอร์ดสไตล์แจ๊สที่มีสีสันมากกว่าปกติ สวยงาม มาในนาทีที่ 1:06 ซึ่งมาในช่วงเปลี่ยนคอร์ดบนเปียโนพอดี แต่แนวร้องกลับเปลี่ยนเสียงไม่พร้อมกันกับเปียโน ไหนจะเสียงร้องหลอน ๆ นั่นอีกที่ก็ไม่ยอมเปลี่ยนไปไหน มันทำให้เกิด dissonant หรือเสียงกัดกันอย่างรุนแรง และคอร์ดของแต่ละองค์ประกอบก็ยังคงเปลี่ยนเสียงไม่พร้อมกัน ทำให้เสียงกัดกันต่อไปเรื่อย ๆ จนจบท่อน Post-Chorus เรียกได้ว่าวุ่นวาย เละเทะ มึนงง ไม่เข้าใจ เกิดอะไรขึ้น คนฟังกำลังจะถูกพาไปออกประตูไหน เสียงของเครื่องดนตรีชิ้นไหน องค์ประกอบอะไรคือคำตอบ คือเสียงที่เราควรจะตามไปกันแน่นะ



    • 1:12 เข้าสู่ Verse 2 ที่แตกต่างจาก Verse 1 ค่อนข้างมากอยู่ แม้ว่าแนวร้องจะคล้ายกันแต่โทนเสียงตอนต้นมีความนุ่มละมุนกว่ารอบนี้ที่ค่อนข้างโฟกัส แหลม เสียดแทง และเสียงซ้อนเองก็น้อยลงกว่าช่วงก่อนหน้าเนื่องจากทำนองหลักมีความโดดเด่นพุ่งออกมามากเพียงพอแล้ว ดนตรีเองก็อาจเป็นส่วนนึงที่ทำให้ต้องมีการปรับโทนเสียงเนื้อร้องให้คมชัดและดังขึ้น เนื่องจากมีการเพิ่มเสียง percussion ที่คล้ายกับเสียงปรบมือ slap ทุกจังหวะนอกเหนือไปจากเสียงเปียโนแบบเดิม นั่นทำให้ดนตรีตรงช่วงนี้มีความกระฉับกระเฉง ไม่ได้นวยนาดมากเท่ากับช่วงตอนต้นอีกแล้ว ราวกับว่าอะไรบางอย่างในที่สุดก็ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาสักที พร้อมแล้วที่จะออกอาละวาด

    • ไม่แน่ใจว่าคนอื่นจะสังเกตเห็นมั้ยว่าดนตรีในเพลงนี้มันค่อย ๆ ดังขึ้นเพิ่ม volume เรื่อย ๆ มาตลอด หากย้อนกลับไปฟัง Verse แรกแล้วกดกลับมา Verse 2 ทันทีจะได้ยินอย่างชัดเจนเลยว่าความดังของเพลงแตกต่างกันมาก ซึ่งต้องบอกเลยว่าไม่ได้เห็นได้บ่อย ๆ นะที่จะใช้วิธีนี้ในการทำเพลง โดยทั่วไปเพลงมักจะคงระดับความดังไว้เท่าเดิมและใช้วิธีการเพิ่มองค์ประกอบแทน แต่ในเพลงนี้กลับไม่เป็นแบบนั้น ยิ่ง Pre-Chorus ที่ไม่ได้มีการเพิ่ม ลด หรือดัดแปลงองค์ประกอบอะไรเลยจากรอบแรก ผู้แต่งกลับใช้วิธีการเพิ่มระดับเสียงเพื่อปรับอารมณ์ของคนฟังแทน โดยเฉพาะเสียงเบสที่ในรอบนี้ดังมาก ๆ ..เจ๋ง แบบที่พูดได้แค่ว่า ว้าว คิดได้ยังไง ว้าววววววววว

    • นาทีที่ 1:32 คำว่า get it ร้องถี่และหลายครั้งขึ้นจาก Pre-Chorus รอบแรกมาก รู้ได้ถึงความ intense ของเพลงที่กำลังพาเรากลับไปสู่จุดพีคที่สุดอีกครั้ง




    • กลับเข้าสู่ Chorus อีกครั้ง ทุกอย่างดูเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและผ่านไปไวมาก เล่นเอาตั้งรับไม่ทัน ต้องตั้งสติและตั้งใจ concentrate อยู่กับเพลงตลอดเวลาไม่งั้นจะหลงทางทันที ไม่น่าเชื่อว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรในท่อนนี้ให้แตกต่างจากท่อนฮุครอบก่อนหน้าเลย เป็นเพราะการที่ทุกอย่างมันสั้นและผ่านไปไว ดนตรีเองก็ค่อนข้างแน่นและสมบูรณ์มาตั้งแต่แรกแล้ว นั่นทำให้การขยับขยายท่อนนี้เป็นเรื่องยาก แต่ผู้เขียนเองก็มองว่าไม่ได้จำเป็นเลย แค่นี้ก็มากเกินพอแล้ว

    • Post-Chorus รอบนี้ไม่มีเสียงเปียโนอีกต่อไปแล้ว เสียงออร์แกนเองก็ทำแค่เพียงลากค้างไว้ ทำนองหลักกลับไปอยู่ที่เสียงร้องเล็ก ๆ ที่เหมือนกับสะกดจิตอีกครั้ง แต่ในรอบนี้มีการเพิ่มเสียงบีตคล้ายกับการตีกลอง snare เป็นจังหวะที่ค่อนข้างเร็ว ละเอียด ที่เริ่มจากเสียงเบาแล้ว crescendo เร่งเสียงดังขึ้นเรื่อย ๆ ราวกับหัวใจที่ค่อย ๆ เต้นถี่รัวเร็วขึ้นด้วยความตื่นเต้น มีอะไรบางอย่างที่น่ากลัวกำลังใกล้เข้ามา เสียงร้อง background vocals มาในนาทีที่ 2:02 ซึ่งเร็วกว่าเดิมทำให้เกิดเสียงกัดอีกครั้ง แล้วอยู่ดี ๆ ก็เปลี่ยนท่อน.. อ้าวเดี๋ยว เพิ่งจะ Post-Chorus ไปแค่ 4 ห้องเอง ยังไม่ครบ 8 ห้องตามปกติเลย เท่ากับว่าท่อนนี้สั้นลงไปเท่าตัวเลยนะ นั่นทำให้การเข้าสู่ท่อนถัดไปเป็นอะไรที่เกินคาดและสร้างความตื่นตกใจ ความตระหนกให้ผู้ฟังได้เป็นอย่างดี ยังกับโดนแกล้ง jump scare แบบนั้นเลย




    • เข้าสู่ท่อน Bridge แบบไม่เหมือนใครตามสไตล์แทมิน ท่อน Bridge ที่โดยทั่วไปมักเป็นการนำเสนอดนตรีรูปแบบใหม่แตกต่างไปจากเดิม หากแต่เพลงนี้กลับนำเสียงเปียโนกลับมาบรรเลงอีกครั้ง มีเสียงตี snare drum ที่คล้ายกับถูก mute อยู่คลอไปด้วยทุก ๆ จังหวะที่ 2 และ 4 นั่นทำให้เพลงเหมือนกับกำลังล่องลอยอยู่ ไม่หนัก ไร้ซึ่งฐานให้ยึดเหนี่ยว มีเพียงเสียงเปียโนที่ยังคงฟังดูโดดเดี่ยวให้เราคล้อยตามไป กับเสียงร้องที่ค่อนข้างต่ำจนแทบจะกลายเป็นฐานของเพลงช่วงนี้แล้ว

    • เป็นท่อนที่สามารถได้ยินเสียงร้องที่ชัดเจนกว่าทุกท่อนที่ผ่านมา มีการใช้ autotune น้อยมาก แล้วพอเข้าสู่รอบที่สองของ Bridge ถึงกับทำให้ผู้เขียนยกยิ้มอย่างพอใจ นี่สิการบิ๊วอารมณ์แบบขั้นสุดยอด Bridge รอบเดียวมันสั้นไป รอบที่สองในนาทีที่ 2:17 เสียง Percussion บีตหนัก ๆ กลับมาแล้วแม้ว่าจะไม่ได้เล่นถี่มาก แต่ก็เสริมให้ดนตรีหนักแน่นและช่วยทดแทนเสียงเบสได้อย่างดีเลยทีเดียว

    • Background vocals คือหัวใจสำคัญของท่อนนี้เลย การเพิ่มเสียงประสานเข้ามานอกจากจะช่วยเติมเต็มช่องว่างที่เหลือยู่และทำให้เกิดความไพเราะขึ้นแล้ว ยังช่วยสร้างอารมณ์บีบคั้นให้กับคนฟังเพิ่มขึ้นไปอีก ด้วยการเพิ่มเสียงร้องที่เป็นโน้ตเดียวกันกับทำนองหลักแต่อยู่ในช่วงเสียงสูงกว่ามากถึง 2 Octave (โน้ต A5 ห่างจากเสียงร้องหลัก A3 ถึง 2 ช่วงเสียง)

    • ยิ่งมาถึงช่วงนาทีที่ 2:21 จะเริ่มได้ยินเสียงร้องโน้ตเดียวกันกับของแทมินแต่ต่ำลงไปอีก 1 ช่วงเสียง กลายเป็นมีโน้ตตัว A2 โผล่เข้ามาเพิ่ม นั่นทำให้เพลงนี้มีช่วงเสียงทำนองที่กว้างมากถึงมากที่สุด ถึงแม้ว่าดนตรีจะไม่ได้แน่นหรือยิ่งใหญ่ แต่ range เสียงที่กว้างนี้แหละที่แสดงออกถึงความยิ่งใหญ่ เกรียงไกร ก่อนที่เสียงเบสนี้ก็จะค่อย ๆ ดังและสามารถได้ยินชัดขึ้นเรื่อย ๆ อีกแล้ว ยังกับว่าจิตใต้สำนึกที่อยู่ลึก ๆ กำลังค่อย ๆ ตื่นขึ้นมา กำลังครอบงำจิตใจของเรา.. นี่เป็นการใช้ dynamic หรือการเพิ่มลดเสียงดังเบาเข้ามาเสริมในเพลง ซึ่งไม่เป็นที่นิยมและสามารถหาได้มากนักในเพลง k-pop

    • อีกความน่าสนใจคือการที่แนวร้องหลักของท่อนนี้มีจังหวะที่ค่อนข้างจะ simple เลยเมื่อเทียบกับตลอดทั้งเพลงที่ผ่านมา ราวกับว่าในที่สุดก็ค้นพบกับคำตอบที่กำลังตามหา แต่พอช่วงท้ายท่อนที่เหลือเพียงเสียงเปียโนบรรเลงเพียงตัวเดียวพร้อมกับลงคอร์ด E บอกให้เรารู้ว่าตอนนี้เรากำลังเดินมายืนอยู่ที่หน้าประตูทางออกแล้วนะ อีกนิดเดียวเท่านั้น แต่แล้วเมื่อเปิดประตูบานนั้นออกไปกลายเป็นว่าเราวนกลับไปอยู่ในเขาวงกตที่เต็มไปด้วยปริศนาและความวุ่นวายเหมือนเดิมซะงั้น.. ความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน แอบเสียดายที่หลังจากลงคอร์ดแล้วเข้าสู่ท่อน Chorus เร็วมาก อยากให้ค้างช่วงนี้ทิ้งไว้อีกสักนิดนึงเพื่อบีบคั้นอารมณ์คนฟังให้ถึงขีดสุดจนจะขาดอากาศหายใจตายกันไปข้างนึงเลย แต่ในอีกมุมการที่ดนตรีหนักกลับเข้ามาเร็วก็ทำให้คนฟังแทบจะดริฟต์กลับกันแทบไม่ทันเช่นกัน นึกว่าจะได้พักแล้ว เปล่าเลยไม่ให้พักหรอกนะกลับมานี่ก่อน! หลอกในหลอกอีกที




    • เข้าสู่ฮุคสุดท้ายแบบจัดเต็ม จากที่เคยเต็มอยู่แล้วจนไม่คิดว่าจะไปยิ่งกว่านี้ได้ แต่เหมือนจะลืมอะไรไปอีกอย่าง สิ่งนั้นก็คือแอดลิบนั่นเอง ซึ่งร้องเป็นลักษณะตอบรับกันกับทำนองหลัก คล้ายกับเป็น conversation ในช่วงเสียงที่สูงมากเช่นกัน ยิ่งช่วงนาทีที่ 2:44 ที่ร้องเป็นแนวประสานตัว D5 ซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ นั่นนะ โอ้โห มันทำให้เกิดคอร์ดที่มีสีสันเปลี่ยนไปและสร้างอารมณ์ที่บีบคั้นให้กับเพลงเยอะขึ้นมาก ..ผู้เขียนคิดว่าเสียงแอดลิบในท่อนนี้น่าจะเป็นเสียงผู้หญิงร้องมากกว่าเป็นตัวแทมินเอง พอมาผสมรวมกันกับดนตรีและแนวร้องอีกมากมายมันทำให้ท่อนนี้มีความวุ่นวายสูงมากถึงมากที่สุด พีคแบบที่ไม่สามารถพีคไปกว่านี้ได้อีกแล้ว อารมณ์ทุกอย่างระเบิดพลั่งพรูกันออกมา

    • นาทีที่ 2:56 Outro เตรียมตัวจบก็คือการยกเอา Post-Chorus มาใส่อีกครั้งนึง แต่ในครั้งนี้แนวร้อง background vocals ที่คอร์ด jazzy ถูกร้องเพิ่มขึ้นมาจากเดิมอีกครั้งนึง พร้อมไปกับการตะโกนกู่ร้องเป็นครั้งสุดท้ายว่า Best take my own advice ก่อนที่เปียโนจะลงคอร์ด Aminor จบอย่างสวยงาม พร้อมกับ sound effect ที่มีเสียงคล้ายกับเสียงสาดน้ำลงไปยังกองไฟให้ดับ ซู่ววว... เป็นอันปิดเรื่องราวอันแสนวุ่นวายของบทประพันธ์ชิ้นนี้ลงอย่างงดงาม สมบูรณ์แบบ



        - จบเพลง -




        โครงสร้างของเพลง Advice

        INTRO                          0:01-0:13

        VERSE 1                       0:13-0:24

        PRE-CHORUS              0:25-0:36

        CHORUS                      0:37-1:00

        POST-CHORUS            1:00-1:12

        VERSE 2                       1:12-1:24

        PRE-CHORUS              1:24-1:35

        CHORUS                      1:36-2:00

        POST-CHORUS            2:00-2:05

        BRIDGE                       2:06-2:32

        CHORUS                      2:32-2:56

        OUTRO                        2:56-3:11



        บทสรุป

          "งดงาม" น่าจะเป็นคำที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเพลงนี้ โดยเฉพาะการเลือกใช้เสียงเครื่องดนตรีที่หลากหลาย ทั้งเปียโนที่มีความเป็น acoustic ในสไตล์ที่คลาสสิกมาก เสียงออร์แกนที่มีความขลัง อลังการ บวกกับ sound แบบสมัยใหม่ แล้วไหนจะยังการใช้ autotune เพื่อปรับเนื้อเสียงให้เพลงนี้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ที่น่าทึ่งที่สุดก็คงเป็นเรื่องของการใช้เทคนิคเสียงดัง-เบา การเล่นกับ dynamic ซึ่งไม่ได้พบเห็นได้บ่อยนักในวงการ k-pop เป็นจุดนึงเลยที่ทำให้เพลงนี้มีความแตกต่างไปจากเพลงอื่น

          หลายคน รวมถึงตัวผู้เขียนเองเมื่อฟังเพลงนี้จบจะรู้สึกเหนื่อยมาก เนื่องจากการนำเสนอด้านอารมณ์ความรู้สึกที่มากมายจนล้นผ่านเสียงร้อง จังหวะ เสียงประสาน เครื่องดนตรี ตั้งแต่เริ่มจนจบแทบไม่มีช่วงไหนให้ได้พักหายใจหายคอเลย ดนตรีมันแน่นไปหมดตั้งแต่แรก ๆ และแทบไม่มีท่อนไหนที่ผ่อนลงเป็นช่วงระยะเวลานานเพียงพอ มีแค่หลัง Bridge ที่ผู้ฟังได้พักแต่ก็สั้นเหลือเกิน ยังไม่ทันหายหอบเลย

        ความเร็วของเพลงนี้อยู่ที่ 160 BPM ซึ่งถือว่าเร็วมากๆๆๆๆๆ เร็วแล้วจังหวะยังถี่ละเอียดตลอดเวลา ทุกท่อนผ่านเข้ามาและผ่านไปอย่างรวดเร็ว ไม่มีเวลาให้ผู้ฟังได้คิดตามและย่อยข้อมูลรายละเอียดที่เกิดขึ้น นั่นจึงทำให้เพลงไม่จำเป็นจะต้องมีการสับเปลี่ยนองค์ประกอบสลับไปมามากนัก ไม่ต้องใช้คอร์ดหรือแนวเสียงประสานที่สร้างสีสันแปลกใหม่วุ่นวายอะไร (การใช้คอร์ดวนก็สร้างความรู้สึกที่เหมือนกับถูกจองจำและวนเวียนอยู่ในจุดเดิม สอดคล้องกับเรื่องราวของเพลงดีด้วย) แต่ใช้วิธีเปลี่ยนสลับท่อนด้วยความรวดเร็ว และไปเพิ่มความยาวในท่อนฮุคเพื่อฝังเข้าหัวผู้ฟังและท่อน Bridge เพื่อที่จะได้มีเวลามากเพียงพอสำหรับโชว์ความงดงามได้อย่างเต็มที่แทน

        ถือว่าเป็นเพลงที่ค่อนข้างสั้นเมื่อเทียบกับเพลง k-pop ส่วนใหญ่ที่มีความยาวเกือบ 4 นาที แต่เพลง Advice กลับสมบูรณ์แบบและไม่ได้ฟังขาดหาย ไม่ได้รู้สึกว่าสั้นเกินไปเลย ทุกอย่างถูกจัดวางมาอย่างเป็นระบบระเบียบ ตอบโจทย์และสร้างอิมแพ็คให้กับผู้ฟังอย่างที่ไม่มีข้อครหาเลย




      Advice คือผลงานศิลปะที่เต็มไปด้วยรายละเอียดที่น่าค้นหา
        ความสวยงามอันน่าพิศวง ...ช่างสมบูรณ์แบบ


    อ่านจบแล้วอย่าลืมกดดู MV เพลง Advice อีกรอบด้วยนะ


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
manoica_ (@manoica_)
การที่ได้อ่านบทความวิเคราะห์ดนตรีแบบนี้แล้วทำให้ยิ่งเข้าใจทีมงานในส่วนต่างๆ ที่มีส่วนร่วมในเพลงหนึ่งเพลง ถึงเราจะไม่เข้าใจศัพท์เฉพาะได้ทั้งหมดแต่เราว้าวมากตอนอ่าน แบบคนทำเพลงเขาใช้อันนั้นเข้ามาอันนี้เข้ามาแทรก นึกภาพตามที่คุณคนเขียนขยายความและยกตัวอย่างมาให้
กว่าจะวิเคราะห์ได้จบในหนึ่งเพลงคงใช้เวลาและพลังเยอะมาก เป็นกำลังใจให้นะคะ^^
ryeomook (@ryeomook)
@manoica_ ศัพท์เฉพาะทุกคำเราอธิบายเพิ่มต่อท้ายทั้งหมดเลยค่ะ ขออภัยที่ไม่ได้เขียนกำกับไว้อย่างชัดเจนว่านั่นคือความหมายของคำ ถ้ายังไงลองอ่านย้อนดูคร่าวๆ อีกรอบได้นะคะ เผื่อจะทำให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น :) ขอบคุณมากเลยสำหรับกำลังใจนะคะ