เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
แว่นขยายเพลง k-popryeomook
วิเคราะห์ดนตรี เพลง aespa - Next Level
  • โคตร เจ๋ง

    แม้ว่าจะเป็นการดัดแปลงจากต้นฉบับเพลง Next Level ที่เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Fast & Furious - Hobbs & Shaw ซึ่งมีอยู่แล้ว แต่ก็ต้องยอมรับเลยว่าเวอร์ชั่นของ aespa พาเพลงนี้หลุดออกนอกจักรวาลไปอีกไกลมาก เรียกได้ว่าถูกอัพเกรดไปเลเวลถัดไปอย่างยิ่งใหญ่ งดงาม และน่าติดตาม ลองมาดูกันว่ามีอะไรที่น่าสนใจซ่อนอยู่ในเพลงนี้บ้าง




    (อย่าลืมเปิดเพลงฟังควบคู่ไปด้วยนะ)


    Composed by Mario Marchetti, Adam McInnis, Sophie Curtis & Yoo Young Jin
    Arranged by Mario Marchetti, Adam McInnis & Yoo Young Jin
    Lyric by Yoo Young Jin

    F# Minor - 109 / 92 / 109 BPM



    • แน่นอนว่าความโดดเด่นของเพลง Next Level ต้นฉบับก็คือเสียงเบสอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งในเพลงของเอสป้าก็มีการยกเอาโน้ตในแนวเบสมาใส่ในเพลงของตัวเอง แม้แนวทางการเดินโน้ตจะเหมือนเดิมแต่ก็มีการปรับเปลี่ยนโทนเสียงให้มีความคมชัด ใช้ลักษณะเนื้อเสียงทีมีความคมชัด มีความเป็นเสียงสังเคราะห์และ distort มากว่าต้นฉบับ เพิ่ม volume ให้ดังขึ้นจนเสียงเบสโดดออกมา ได้ยินได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มโน้ตตัวสูงใน octave ที่ 2 เข้าไปซ้อนอีกด้วย และถ้าหากใส่หูฟังดี ๆ หรือใช้ลำโพง stereo ก็จะสามารถได้ยินการบิดเสียงไปมาของแนวเบสได้อย่างชัดเจน ก็เรียกได้ว่ามีการปรับแต่งให้ดนตรีมีความทันสมัยขึ้นมาก

    • ถือว่าเป็น Intro ที่ค่อนข้างน่าสนใจถ้ามองในแง่ว่านี่คือเพลง kpop สำหรับไอดอล เนื่องจากเป็นการเริ่มต้นเพลงมาด้วยเสียงเบสล้วน ๆ ไม่มีเสียงอย่างอื่นเลย อาจจะไม่ catchy เท่ากับเพลงอื่นอีกหลายเพลงแต่ก็ทำให้คนฟังเกิดความสงสัยและตื่นเต้นได้ในระดับนึงเลย หรือนี่อาจจะเป็นสไตล์ของ aespa เนื่องจากว่าเพลง Black Mamba เองก็ขึ้นต้นมาด้วยเสียงเบสเหมือนกัน แถมแนวเบสดันคล้ายกันอีก คือการเน้นใช้โน้ตตัวที่ 1,3,4 ของสเกลเป็นหลัก มันเป็นความบังเอิญหรือความตั้งใจกันนะที่เลือกเอาเพลง next level มาทำต่อแบบนี้..

    • อีกความน่าสนใจเล็ก ๆ ของแนวเบสนี้คือนาทีที่ 0:16 จะมีการใส่โน้ตเพิ่มเพื่อใช้ในการส่งเป็น groove เข้าท่อนถัดไป โดยที่แนวทำนองแบบนี้จะโปลมาตลอดทั้งเพลง การที่ใช้โน้ตตัว C แทนที่ตัว C# ซึ่งเป็นโน้ตหลักจริง ๆ ของคีย์นี้ก็ให้ความรู้สึกที่น่าอึดอัด เนื่องจากตามทฤษฎีมันก็ให้เกิดคอร์ดที่เรียกว่า diminished ที่สร้างอารมณ์หม่น ดาร์ค ทำให้เพลงนี้ยิ่งรู้สึกได้ถึงความทะมึนและน่ากลัว

    • เข้าสู่ท่อน Verse ที่ก็แทบจะยกจาก original มาเลย โดยเฉพาะเสียง percussion ซึ่งใช้เสียง kick drum กับ snare drum ตามต้นฉบับ แนวทำนองก็ใช้จังหวะร้องและการเดินโน้ตแบบเดียวกัน มีการปรับใช้ autotune เพื่อแต่งเนื้อเสียงให้มีความเป็น electronics เพียงแต่เปลี่ยนเนื้อร้องเป็นภาษาเกาหลี แต่แน่นอนว่าแนวเบสถูกปรับแต่งเสียงอย่างที่ได้เขียนไว้ก่อนหน้านี้ รวมไปถึงมีการสอดแทรก sound effect เพิ่มขึ้นมาในนาทีที่ 0:21 เป็นเหมือนเสียงระเบิดหรือเสียงกระทืบเท้าของคนเยอะ ๆ

    • ครึ่งหลังของ Verse 1 นาทีที่ 0:26 การเปลี่ยนคนร้องในท่อนนี้ทำให้เสียงที่ออกมาแตกต่างไปจากเดิม แม้ว่าแนวดนตรีจะไม่ได้เพิ่มหรือลดอะไรมากนัก มีเพียงการเพิ่มโน้ตในแนวเบสให้ถี่ละเอียดเล็กน้อยและปรับบิดเนื้อเสียงให้แตกต่างไปจากเดิมเล็กน้อย เพิ่มเสียงร้องแอดลิบ เยเยเยเย แทรกเข้ามาให้ได้ยินชัด ๆ ซึ่งถ้าหากได้ไปฟังต้นฉบับก็จะรู้ว่ามีเหมือนกัน หากแต่เสียงเบาและก้องมาก ๆ ต้องใส่หูฟังและเพิ่ม volume สูงจริง ๆ ถึงจะพอได้ยินเล็กน้อย แต่ตามสไตล์เพลง kpop พวกคำพูดแทรกแบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติและสร้างสีสันให้กับเพลงได้มาก


    ตัวอย่าง เพลง A$ton Wyld - Next Level นาทีที่ 0:21 เสียง เยเยเยเย




    • ตอนท้าย Verse มีการดรอปดนตรี แม้จะลากเสียงร้องในคำสุดท้าย แต่ก็มีช่วงจังหวะ 1 วินาทีที่เกิดความเงียบแบบเงียบสนิทอย่างชัดเจน โอ้โห เคว้งเลย มันทำให้คนฟังหลงทาง เหมือนถูกทิ้งไว้กลางสามแยกแล้วไม่รู้ต้องเลี้ยวไปทางไหน เลี้ยวไปจะเจอกับอะไร ชอบการเล่นกับ silence ในเพลงนี้ที่ดึงฉุดอารมณ์คนดูได้ดีมาก ๆ ทำให้นึกถึงเพลง Criminal ของแทมินที่ก็มีท่อนเงียบสนิทคล้าย ๆ กัน

    ตัวอย่าง เพลง Taemin - Criminal นาทีที่ 3:01



    • นาทีที่ 0:36 แนวเบสยังคงอยู่เหมือนเดิม เสียงกลองต่าง ๆ ก็เหมือนกับ Verse แรก จะมีเสียงเคาะเล็ก ๆ เพิ่มขึ้นมาคล้ายเสียง woodblock แนวร้องแม้จะมีการร้องตอนขึ้นต้นที่ต่างไป แต่ท่อนหลังจากนั้นก็ยังคงสไตล์ใกล้เคียงกับช่วงก่อนหน้า จนทำให้รู้สึกว่า เอ๊ะ หรือนี่คือ Verse 2 กันแน่นะ จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของท่อนนี้เลยทำให้รู้ว่าอ๋อ มันคือ Pre-Chorus แล้ว แต่ไม่ใช่ Pre-Chorus แบบทั่ว ๆ ไปที่เราคุ้นเคยเท่าไหร่

    ตัวอย่าง เสียง Woodblock


    • ครึ่งหลังของพรีคอรัสเป็นครั้งแรกในเพลงที่เสียงเบสหายไปเลย และมีการเพิ่มเสียงเครื่องกระทบจำพวกเครื่อง auxiliary percussion เครื่องเล็ก ๆ หลายอย่าง เช่น cowbell, triangle เป็นต้น นี่เป็นจุดที่ทำให้รู้สึกได้อย่างชัดเจนว่าเพลงกำลังจะเข้าสู่ท่อนอะไรสักอย่างที่มีความสำคัญเลยมีการปรับอารมณ์คนฟังเพื่อเตรียมพร้อม ตอนท้ายมีการดรอปเสียงดนตรีทุกอย่างและใส่ effect echo ในเสียงร้องเพื่อนำเข้าสู่ท่อนคอรัส ซึ่งถือว่าค่อนข้างแตกต่างจาก Pre-Chorus ที่เราคุ้นเคย (โดยเฉพาะสไตล์ SM) ที่มักจะเป็นท่อนที่มีความไพเราะ มีเสียงประสานเยอะ ๆ แล้วก็ build อารมณ์กันจนถึงขีดสุด ก็เป็นพรีฮุคในสไตล์ที่เจ๋งไปอีกแบบ



    I'm on the next level 



    • I'm on the next level ประโยคเดิมที่ใช้เปิดเพลงกลับมาอีกครั้งจนทำให้แอบสงสัยว่า เอ๊ะ หรือเมื่อตอนต้นเพลงจะนับเป็นท่อนฮุคได้ด้วย 555 แต่ถ้าสังเกตจริง ๆ ตั้งแต่ต้นเพลงมาดนตรีก็แทบจะเหมือนเดิมตลอดจนกระทั่งท่อนนี้เองก็เหมือนกัน จะมีเพิ่มมาก็แค่เสียง synthesizer นาทีที่ 0:52 กับ 0:57 ที่ไล่โน้ตนิดหน่อยสลับออก chanel ซ้ายขวา (ใส่หูฟัง!!) แต่ก็ต้องยอมรับว่าแม้จะไม่ได้มีทำนองติดหูในท่อนนี้ แต่การร้องคำว่า next level ในจังหวะเดิมทุกครั้งมันก็ทำให้ติดหูได้ไม่ยากเลย

    • เอาอีกแล้ว นาทีที่ 1:12 ก็เป็นการดรอปดนตรีอีกครั้ง ตอนท้ายท่อนก็ฮุคก็เงียบอีก ภายในเวลาสั้น ๆ แต่มีการใช้เทคนิค silence ไปถึงสี่ครั้งแล้ว ซึ่งถือว่าเยอะมากเทียบกับเพลง kpop เพลงอื่นที่มักจะใช้หลัก ๆ ในช่วงเปลี่ยนท่อน เช่น จาก Pre-Chorus ไป Chorus หรือ Chorus กลับเข้า Verse เป็นต้น แต่อาจจะเพราะว่าเพลงนี้มีสไตล์ดนตรีและแนวทำนองที่ค่อนข้างวนลูปซ้ำเดิมเยอะ ทำให้ต้องเพิ่มเอฟเฟคแบบนี้เพื่อปรับมู้ดคนฟังเป็นระยะ

    • นาทีที่ 1:10 เป็นท่อน Post-Chorus ที่ถึงกับร้อง ฮะ เลยนะ แบบว่ามายังไงเอ่ย อยู่ดี ๆ ก็กลายเป็นท่อนที่มีเสียงประสานเพราะ ๆ ให้ได้ยินเป็นครั้งแรก การร้องโน้ตไล่ลงนี้จะมีการกระโดดข้ามโน้ตไปมาเพื่อสร้างให้เกิดเสียงประสานหรือแนวทางเดินของคอร์ด (Chord progression) แต่แก่นหลักของทำนองตรงนี้จริง ๆ คือการไล่สเกลจากคำแรกของประโยค โน้ตตัว F#4 ค่อย ๆ ไต่ลงมาเรื่อย ๆ จนสุดท้ายจบไล่ลงแบบชัด ๆ คือ C#-B-A-G#-F# ซึ่งดำเนินไปอย่าง smooth มาก มีการสลับใช้ทั้ง Major และ Minor ไปตลอด สำหรับคนฟังทั่วไปก็ฟังแล้วย่อยไม่ยากเพราะมีแนวทำนองหลักดัง ๆ แค่โน้ตตัวเดียวเด่นเลย เสียงประสานตัวต่ำกว่าเสียงเบามากจนแทบไม่ได้ยิน ส่วนบีตก็มีแค่เสียงปรบมือ น้อยแต่มาก

    • ที่จริงแนวทางเดินคอร์ดแบบนี้ไม่ได้ยินในวงการ kpop เท่าไหร่เลย เนื่องจากเป็นสไตล์ที่อิงมาจากดนตรีคลาสสิกแบบโบราณ อาจจะเคยมีใช้ในเพลงช่วงยุคก่อนหน้านี้แต่ไม่ค่อยได้เห็นในปัจจุบันนัก เนื่องจากมีความ complicate เล็กน้อยเมื่อเทียบกับเพลงส่วนใหญ่ที่มักใช้ดนตรี simple คอร์ดมาตรฐานเพียงไม่กี่คอร์ด จดจำง่าย ร้องง่าย หรือไม่ก็หลุดไปทาง jazz ไม่ก็ r&b มากกว่า




    • กลับเข้าสู่ Verse 2 ที่มีการเพิ่ม effect เสียงสะท้อน เสียงแอดลิบสอดแทรกมาเพิ่มขึ้นตลอดไม่ให้มีช่วงที่แนวร้องเว้นว่างเหลือแต่เสียงดนตรี พอเข้านาทีที่ 1:27 ครึ่งหลังของ Verse นี้ ในที่สุดก็มีการเพิ่มแนวดนตรีเป็นเสียง synthesizer เสียงสังเคราะห์ล้อกับเสียงเบสในช่วงเสียงที่สูงขึ้นมา ทำนองที่ร้องก็มีการเพิ่มเลเยอร์หลายชั้นขึ้น จังหวะเปลี่ยนไปถี่และแตกต่างจากก่อนหน้ามากขึ้น ..แต่เชื่อเค้าเลย เบสกับกลองยังยืนพื้นเหมือนเดิมตลอด นับถือคนที่สามารถทำเพลงแบบนี้ให้ไม่น่าเบื่อได้จริง ๆ

    • อ้าว เห้ย 1:36 มันควรจะเป็น Pre-Chorus ที่เหมือนกับรอบก่อนหน้า แต่ไม่เลย นี่มันท่อนอะไรกันแน่ เอาเป็นว่าเราจะขอเรียกมันว่า Post-Verse 2 แล้วกัน เพราะถ้าเทียบจากคำร้อง watch me while I make it out ซึ่งต่อมาจากท่อน Verse 2 แล้ว ท่อนนี้ก็เหมือนเป็น extension ที่เพิ่มขึ้นมา (ใช่ เพิ่มมาแค่ 4 ห้อง ไม่ครบ 8) เพื่อเตรียมปรับอารมณ์ผู้ฟังไปสู่อะไรที่ยิ่งใหญ่อีกครั้ง

    • เป็นท่อนที่เหลือเพียงเสียงร้อง/แร็พ speaking-singing อีกครั้ง เสียงกระทบคล้ายเสียง snare drum และเสียงของ synthesizer ที่ถูกปรับให้เสียงคล้ายกลับเครื่อง brass (เครื่องลมทองเหลือง) ทำให้ท่อนนี้ได้ฟีล military ทหารเดินขบวนเหมือนกันนะ.. ตอนแรกคาดเดาว่าเสียงกลองน่าจะตีถี่ขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่เสียงร้องเองก็สูงขึ้น หากแต่ไม่ใช่เลย ดนตรีสวนทางความคิดเรา กลายเป็นเสียงเบส glissando ใช้เทคนิคสไลด์เสียงต่ำลงซะงั้น




    • เอาอีกแล้ว อยู่ดี ๆ เพลงก็เข้าสู่ท่อน Bridge ซึ่งโดยปกติจะต้องผ่านท่อน Chorus รอบที่ 2 ก่อน แต่เพลงนี้ไม่จ้า ทำลายแบบแผนเดิมหมดทุกอย่าง แล้วแนวเดินคอร์ดของท่อนนี้แปลกมาก หลังจากท่อน Post-Verse ที่ดนตรีค่อนข้างน้อยอยู่แล้ว ตอนหลังมีการสไลด์เบสลงทำให้เราเหมือนหลงทาง หา root หลักของเพลงไม่เจอว่าอยู่คีย์ไหนเสียงไหนพอเข้าท่อนนี้กลายเป็นเริ่มมาด้วยคอร์ด E minor ซึ่งต่ำลงไปจากเสียงหลักของเพลงที่เป็น F# 1 เสียง


    ถ้าอธิบายในทางทฤษฎีดนตรีที่อาจจะซับซ้อนหน่อย อาจมองว่าเรายังอยุ่ในคีย์ F# Minor เหมือนเดิมตั้งแต่ต้นเพลง โดยที่ chord progression คือ bVII-i-bii-III ซึ่งก็ค่อนข้างแปลกในทางทฤษฎีดนตรี มันทำให้ทิศทางเพลงเริ่มเบี้ยวจนเรารู้สึกว่ามันไม่น่าจะใช่แล้ว เรากำลังถูกหลอกแค่เพราะยังมีการใช้คอร์ด F# Minor แบบเดิมมาผสม แต่คอร์ดที่เหลือไม่เข้ากันกับคีย์เดิมแล้ว หากแต่ถ้าเกิดเราบอกว่า เห้ย เพลงนี้มันเปลี่ยนคีย์ไปตั้งแต่ตอนสไลด์เบสลงมาตัว E แล้วนะ กลายเป้นคีย์ E Minor นั่นทำให้ chord progression จะเปลี่ยน กลายเป็น i-ii-iii-IV ซึ่งมันจะ make sense ขึ้นกว่าเดิมมาก ๆ เลย อ้าว สรุปเราอยู่ส่วนไหนของโลกกันแล้ว ทุกอย่างดูสับสนและทับซ้อนกันไปหมด


    • พูดถึงเครื่องดนตรีในท่อนนี้ แม้เบสจะยังอยู่แต่แนวการเล่นกลับเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง กลายเป็นการไล่โน้ตขึ้น E-F#-G-A ซึ่งคอร์ดต่าง ๆ ที่ถูกบรรเลงโดย synthesizer เป็นเสียงที่ดังมาจากไกล ๆ ก็ดำเนินไปตามแนวทางของเบสเลย เสียงกลองใหญ่กับกลองแต๊กยังอยู่ แต่มีเสียงของเครื่องกระทบในช่วงเสียงสูง เป็นเสียงเล็ก ๆ ที่เล่นโน้ตตามคอร์ดในจังหวะที่ถี่คลอไปตลอด แจ่เนื่องจากเสียงสูงและเบาจนคนอาจจะไม่ทันสังเกตว่ามันมีการเปลี่ยนโน้ตที่คอ่นข้างเข้ากันกับดนตรีในส่วนอื่น ๆ

    • ครึ่งหลังของ Bridge นาทีที่ 1:54 แนวทำนองที่ร้องอยู่ดี ๆ ก็กลายเป็นคีย์ Major ซ้อนกับดนตรีที่ยังคงเป็น Minor อยู่ โอ้โห มันทำให้เกิดสีสันที่แปลกมาก ฟังไปก็สับสนไปหมดว่าตอนนี้เพลงกำลังจะพาเราไปที่ไหนกันแน่ จังหวะสุดท้ายของ Bridge ดนตรีดรอปเงียบอีกครั้ง เหลือแค่เสียงร้องโอ้ ก่อนที่จะมีการเพิ่มห้องมา 1 ห้อง extra เป็นจังหวะกลองผสมปรบมือคล้ายกับช่วง Post-Verse พร้อมการประกาศว่า Beat drop ...และใช่ค่ะ ทุกอย่างกลับตาลปัตรทันที




    • เห้ยยยยยยยยย อย่างงี้ก็ได้หรอ อยู่ดี ๆ ก็มีการเปลี่ยนจังหวะความเร็ว 92 BPM แบบไม่มีการค่อย ๆ ช้าลงด้วยนะ เปลี่ยนแบบทันทีทันใด แล้วจังหวะตอนต้นกับท่อนนี้ก็ไม่ได้มีความเกี่ยวโยง หารกันลงตัวหรืออะไรเลยทั้งสิ้น แปลกมาก มันเหมือนเราถูกฉุดกระชากให้เข้าไปอยู่ในอีกโลกคู่ขนานในทันที เริ่มห้องแรกมาก็เป็น 1 ห้องที่ถูกเพิ่ม Extra มาอีก คีย์ เสียงประสานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้คนฟังได้ลืมไปแล้วหมดสิ้นจากอาการช็อก แล้วในห้องนี้ยังจะมีแค่เสียงพูด เสียงกลองชุดเซ็ตจังหวะใหม่ แล้วก็เบสสไลด์ขึ้นลงที่ไม่ได้ทำให้เรารู้เลยว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ที่ไหน โอย ห้องนี้มันทำให้คนฟังงงเงิบหนักกว่าเดิมอีก คนเขียนรู้สึกว่านี่เหมือนคนแต่งกำลังแกล้งปั่นหัวคนฟังอยู่เลยนะ

    • เข้าสู่ท่อนที่ขอแรกว่า Interlude (ท่อนแทรกกลาง) อย่างเป็นทางการในนาทีที่ 2:08 กับเสียงเปียโน?? ไม่มั่นใจ แต่เหมือนเสียงเปียโนมากแต่กลับมาแค่เพียงช่วงต้นห้องไม่กี่ครั้ง ซึ่งเล่นโน้ตตัว E อ้าว สรุปว่าเราเปลี่ยนคีย์แล้วใช่มั้ยนะ แม้ว่าแนวร้องจะทำให้เกิดไขว้เขวไปบ้างเพราะเป็นการร้องสลับไปมาระหว่างโน้ตตัว E และ F# (คีย์เก่า) แต่ก็ค่อนข้างมั่นใจได้ว่าเป็นคีย์ E Minor แล้วเนื่องจากมีการลากโน้ตตัว G ซึ่งเป็นส่วนนึงของคอร์ด E minor นอกจากนี้แนวคอร์ดเสียงประสานเสียง synthesizer ที่คอยสอดแทรกสั้น ๆ ตลอดเวลา


    ฟังไปแล้วก็นึกถึงเพลงของ SM หลายเพลงที่มีการเปลี่ยนท่อนแบบนี้ บางเพลงยังคงคีย์เดิมแต่จังหวะเร็วขึ้นช้าลง บางเพลงก็เปลี่ยนแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือเหมือนกับเพลงนี้เลย


     ตัวอย่างเพลง Girl's Generation - I Got A Boy มีการเปลี่ยนจังหวะความเร็วไปมาหลายครั้ง แต่คีย์ยังยึดอยู่ที่ E Major และ E Minor และถึงแม้จะเปลี่ยนจังหวะหรือสไตล์ไปบ้างแต่ก็มีการใช้เนื้อเพลงและทำนองแบบเดิม

    ตัวอย่าง เพลง Super Junior - House Party นาทีที่ 1:41 เปลี่ยนจาก A Minor (แต่มีการผสม Modal mixture ทำให้รู้สึกฟีล Major สดใส) ไปเป็น E minor ที่มีความดาร์คกว่า (แต่เป็นคีย์ที่มีความ relate กัน) จังหวะเปลี่ยนจาก 112BPM ไปเป็น 150 BPM



    • ช่วงท่อนนี้สไตล์เพลงเปลี่ยนไปอย่างชัดเจนมาก จากต้นเพลงที่มีความ futuristic และ minimal มาก เน้นแร็พเป็นหลัก กลายเป็นท่อนร้องโชว์ความไพเราะใน Bridge พอมาท่อนนี้กลับกลายเป็นสไตล์ร้องกึ่ง R&B ที่มีจังหวะสนุกสนานแม้จะช้าลง ในแนวคอร์ดของ synthesizer มีการใส่เอฟเฟคทำให้เสียงคล้ายเสียงถูก mute ไว้บ้าง สลับกับเสียงคล้ายเสียง slap บนกีตาร์บ้าง บางช่วงเสียงคล้ายเครื่อง brass อีก แล้วยังจะมีเสียงวี๊ดเล็ก ๆ แทรก ในนาทีที่ 2:09, 2:12 และ 2:15 จะว่าไปก็ให้ความรู้สึกเหมือนเสียงการทำงานของคอมพิวเตอร์ ความสับสนวุ่นวาย เป็นท่อนที่ฟังแล้วรู้สึกได้ถึงความล้ำสมัย เทคโนโลยีที่ไปไกลเกินกว่าจะเอื้อมถึงได้

    • 2:18 แนวร้องมีความ intense มากขึ้น จังหวะถี่ โน้ตเยอะ ละเอียด ค่อย ๆ บิ๊วอารมณ์คนฟัง แม้ดนตรีจะยังเหมือนเดิม แต่ก็สังเกตได้เลยว่าการลากโน้ตตัว G ซึ่งเป็นโน้ตตัวที่ 3 ของคอร์ด E minor นั้นทำให้คนฟังยังคงมีความไม่แน่ใจ หลงทิศทางอยู่ เนื่องจากโน้ตตัวที่ 3 เป้นตัวที่มีความสำคัญน้อยที่สุดในคอร์ด เรียกได้ว่าแม้เบสจะหนักแน่นแค่ไหน แต่ตัวโน้ตมัน weak ในทางทฤษฎี นั่นทำให้คนฟังอาจจะรู้สึกสับสนงุนงงจับต้นชนปลายไม่ถูก แถมเบสยังค่อย ๆ เบาเสียงหายไปตลอด มีช่วงที่ดนตรีไม่มีฐานรองรับ อื้อหือ ยังกับว่ากำลังจะหล่นลงเหวแล้วแท่งไม้ที่เกาะอยู่ค่อย ๆ หักงั้นเลย มันหมิ่นเหม่ไปหมด

    • ช่วงท้ายของแนวร้องที่เป้นไฮโน้ตไต่ไปถึง E5 แล้วกลับลงมาจบที่ D5 เป็นการทำให้เรารู้ว่าเห้ย มันยังไม่จบนะ มันยังต้องไปต่ออีก พอเข้าสู่ 2:29 ดนตรีเริ่มซับซ้อนมากกว่าเดิม มีการใส่ลูกเล่นในแนว synthesizer ให้มีหลากหลายเสียงแย่งกันโดดเด่นออกมา เรียกได้ว่าวุ่นมาก แต่จะว่าไปพอสังเกตดี ๆ โน้ตที่ถูกนำมาใช้ทั้งหลายได้แก่ตัว E G A นั้นก็เป็นโน้ตที่เป็นแกนหลักของเพลง Black Mamba แล้วยิ่งถ้าฟังท่อนฮุคก็จะได้ยินเลยว่ามีการใช้ sound ที่คล้ายกันผสมอยู่ในเพลงนี้ด้วย ยังไม่นับว่าปิดท้ายด้วยคำว่า Black Mamba อีก.. หรือว่าการที่ท่อน Interlude อันนี้ถูกแทรกเข้ามาก็เพื่อจะพาเราหลุดไปอยู่ในอีกโลกนึงของเอสป้าจริง ๆ นะ


    ตัวอย่างเพลง aespa - Black Mamba นาทีที่ 0:46 ท่อน Chorus มีการใช้เสียง synthesizer ที่คล้ายกันกับท่อน Interlude เพลง Next Level แต่คนละสไตล์ รวมไปถึงแนวเบสที่ยึดโน้ตตัว E G A ตลอดทั้งเพลง


    • นาทีที่ 2:49 จังหวะเปลี่ยนอย่างกะทันหันกลับไปที่ความเร็ว 109 BPM แบบไม่ให้ตั้งตัวอีกแล้ว และแน่นอนว่าการเปลี่ยนท่อนก็ยังใช้เสียง percussion แบบเดิมพร้อมกับเสียงเบส glissando เป็นช่วงเวลา 1 ห้องที่สั้นมากสำหรับการทำ transition เพื่อเชื่อมต่อจากท่อนนึงไปอีกท่อนนึงที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ยังกับว่าเราวาร์ปกลับโลกปัจจุบันด้วยความเร็วแสงงั้นเลย แล้วคนฟังก็ไม่สามารถคาดเดาได้อีกว่าวาร์ปกลับไปแล้วจะไปตกอยู่จุดไหน มุมไหนของโลก ได้แต่เกิดความสงสัยว่าจะถูกส่งไปตกลงกลางทะเลทราย หรือกลางมหาสมุทรรึเปล่านะ

    • กลับเข้าสู่โลกปกติ(?) ท่อน Pre-Chorus กลับมาแล้วแบบงง ๆ งงมากเพราะมันดันกลับเข้ามาสู่ คีย์ F# Minor แบบกระโดดพรึ่บเปลี่ยนเสียงเลย เอ้า แบบนี้ก็ได้หรอ! อีกอย่างคือเราไม่สามารถคาดเดาได้จริง ๆ ว่าหลังจากหลุดไปไกลขนาดนั้นดนตรีจะดำเนินไปยังไงต่อ แต่พอมองย้อนกลับไปก็เข้าใจได้ว่ามันอาจจะเป็นท่อนที่ต่อจาก Post-Verse เมื่อเทียบกับต้นฉบับ โดยที่เพลง Next Level เวอร์ชั่นของเอสป้ามีการเพิ่มท่อน Bridge และ Interlude เข้ามาแทรกตรงกลาง

    • ช่วงท้ายของพรีคอรัสรอบนี้แตกต่างจากรอบแรกที่เสียงร้องค่อย ๆ ดรอปลง รอบนี้มีการตะโกน HA! ตอนท้ายเพื่อที่จะยังคีพอารมณ์ตื่นเต้นสนุกสนาน ก่อนจะเข้าสู่ท่อน Chorus อีกครั้งในนาทีที่ 3:09 ซึ่งมีการเพิ่มเสียงสังเคราะห์ synthesizer ที่เป็นโน้ตเดียวกับเบส แต่เสียงสูงขึ้นมา 1 ช่วงเสียง นั่นทำให้ดนตรีถูกเติมเต็มมากยิ่งขึ้นแม้จะเพิ่มมาแค่เสียงเสียงเดียว

    • ท่อนฮุครอบนี้ไม่จบง่าย ๆ ไปต่อกันเลยอีกรอบนึง ถึงดนตรีจะไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนไปเลย มีแค่เนื้อเพลงที่เปลี่ยน แต่นั่นก็ทำให้คนสามารถโฟกัสกับเนื้อเพลงซึ่งเป็นเหมือนใจความสำคัญหลักที่เพลงนี้ต้องการจะสื่อจริง ๆ จะมีจุดที่น่าสนใจคือนาทีที่ 3:37 มีการตะโกน ย่าห์ ออกมาพร้อมกับเอฟเฟค echo เสียงแทรกเหล่านี้ฟังไปผู้เขียนก็รู้สึกคล้ายกับใครสักคนถูกขังอยู่แล้วตะโกนออกมาเพื่อขอความช่วยเหลือเลย

    • ก่อนที่เพลงนี้จะจบแบบตัดฉับ! ไม่มี outro ใด ๆ ทั้งสิ้นให้เสียเวลา ความรู้สึกของคนฟังอาจจะรู้สึกว่าอ้าว จบแล้วหรอ เนื่องจากดนตรีไม่ได้มีอะไรที่บ่งบอกทั้งสิ้นว่ากำลังนำเราไปสู่ประตูทางออก ดนตรีทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม แต่กลับหยุดลงโดยที่ยังไม่ลงโน้ตตัวสุดท้าย ซึ่งคือตัว F# เพื่อจะปิดเพลงให้สมบูรณ์ กลายเป็นว่าเพลงนี้จบค้างที่ตัว A และปิดด้วยเสียงตะโกนแทน นั่นทำให้ผู้ฟังรู้สึกอารมณ์ค้าง ราวกับว่าเดินอยู่ดี ๆ ก็เจอกับดักร่วงหล่นลงสู่ความมืดมิดอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว ช่างเป็นเพลงที่เล่นกับใจคนฟังจริง ๆ





    - จบเพลง -



    โครงสร้างของเพลง Next Level

    INTRO                          0:08-0:17

    VERSE 1                       0:17-0:35

    PRE-CHORUS              0:35-0:52

    CHORUS                      0:52-1:09

    POST-CHORUS            1:10-1:18

    VERSE 2                       1:19-1:36

    POST-VERSE                1:36-1:45

    BRIDGE                        1:45-2:02

    INTERLUDE                  2:03-2:51

    PRE-CHORUS              2:52-3:09

    CHORUS                      3:09-3:45



    บทสรุป

    ไม่แปลกใจเลยที่ใครหลายคนรู้สึกว่าเพลงนี้เป็นเพลงที่ฟังแล้วทำความเข้าใจยาก เนื่องจากการที่ structure โครงสร้างของเพลงไปเป็นไปตามมาตรฐานเพลงป๊อปที่เราคุ้นเคย สลับไปมาไม่พอ ยังมีการเพิ่มท่อนตรงกลางที่ mood แต่งต่างอย่างสิ้นเชิง ไหนจะคีย์เพลงกับจังหวะความเร็วที่ถูกสับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วแบบไม่ทันให้ตั้งตัวอีก ไม่มีการใส่ท่อนที่ช่วยให้คนฟังได้เตรียมตัวเตรียมใจ บอกใบ้สักนิดว่าจะเจอกับอะไร มันทำให้ผู้ฟังมีเวลาไม่มากพอในการค่อย ๆ ปรับตัว และการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาบ่อยขนาดนี้แบบไม่มีแพทเทิร์นก็เลยทำให้ผู้ฟังยังไม่ทันได้ซึมซับจดจำท่อนนั้น ๆ ดนตรีก็เปลี่ยนไป กลายเป็นว่าต้องเริ่มทำความรู้จักกับอะไรใหม่ ๆ อีกแล้ว

    มองในทางกลับกัน ดนตรีแบบนี้มันทำให้คนฟังตั้งคำถามตลอดเวลา ไม่มีจุดที่รู้สึกว่าน่าเบื่อ ซ้ำจำเจ หรือสามารถเดาล่วงหน้าได้เลย อะไรที่เดาไว้กลับไม่ใช่แบบที่คิด มันน่าสนุก น่าตื่นเต้น ทำให้ผู้ฟังต้องตื่นตัวตลอดเวลา และทุกการกลับมาฟังอีกครั้งก็จะยังทำให้เราเกิดความสงสัย ค้นพบอะไรใหม่ ๆ ได้อยู่เสมอ แม้ว่าถ้าหากมองรายละเอียดเครื่องดนตรีจริง ๆ แล้วอาจจะไม่ได้มีอะไรมากมาย ไม่ได้ยิ่งใหญ่อลังการเต็มไปด้วย sound แปลก ๆ แต่ดนตรีน้อยชิ้นกลับทำให้เรารู้สึกแบบนี้ได้ ก้ต้องยอมรับเลยว่าคนแต่งมีของแต่รู้ว่าจะใช้ของเหล่านี้ในการดึงดูดผู้ฟังอย่างไร

    อีกจุดที่น่าสนใจแน่นอนว่าก็คือการนำเพลงนี้ที่ต้นฉบับดีอยู่แล้วมาต่อยอดจนกลายมาเป็นเพลงที่มีความเป็น SM Entertainment ได้อย่างไม่น่าเชื่อ มีการคงแนวทำนองเบส เสียงบีตกลอง รวมไปถึง effect การดรอปเสียงและอื่น ๆ ไว้ตามต้นฉบับเป๊ะ ๆ ปรับแค่ลักษณะเสียงเล็กน้อย แล้วยังมีการให้นักแต่งเพลงเจ้าของเพลงจริงมาร่วมในการเรียบเรียงเสียงประสานใหม่ สำหรับผู้เขียนรู้สึกว่านี่คือการให้เกียรติต้นฉบับมาก ช่างน่าประทับใจ แนวเบสวนไปวนมานี้เองที่ทำให้คนฟังรู้สึกเหมือนกับถูก trapped อยู่ในวังวนอะไรสักอย่าง เขาวงกตแสนมืดมนที่ไม่สามารถหาทางออกได้



    เพลง Next Level ของ aespa
    คือการข้ามพรมแดนดนตรี K-pop รูปแบบเดิม
    ไปสู่ 
    Next Level อย่างแท้จริง




    • อ่านจบแล้วอย่าลืมกดดู MV เพลง Next Level อีกรอบด้วยนะ!



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in