ดุเดือด!
ซิงเกิ้ลที่สองจากอัลบั้มเต็ม Super One ที่ถูกปล่อยออกมา ต้องบอกก่อนเลยว่าเคยได้ฟังเพลงนี้แล้วครั้งนึงในคอนเสิร์ต Beyond Live เมื่อเดือนเมษายน ณ ตอนนั้นยอมรับว่ามีความสนใจในเพลงแต่ก็ไม่เท่าระบบ AR ที่มีเสือกระโดดออกมา แถมยังบอกกับตัวเองไว้แล้วด้วยว่าจะเขียนถึงแค่เพลงไตเติ้ลหลักแค่เพลงเดียว แต่เมื่อได้กลับมาฟังเพลงนี้อีกครั้งหลังจากที่ MV ถูกปล่อยออกมา โอ้โห!! ผู้เขียนไม่อาจหักห้ามใจไม่ให้ตัวเองนำรายละเอียดต่าง ๆ และความเจ๋งของเพลงนี้มาบรรยายได้เลย
(อย่าลืมเปิดเพลงฟังควบคู่ไปด้วยนะ)
Composed by Alexander Magnus Karlsson, Ludvig Evers & Moonshine
Arranged by Moonshine
Lyric by 황유빈 (Hwang Yoo Bin)
F Minor - 85 (170?) BPM
อาจมีคนสงสัยจึงคิดว่าควรอธิบายก่อนว่าทำไมถึงใส่ว่าความเร็วของเพลงเป็น 85 หรือ 170 BPM เนื่องจากบีตต่าง ๆ ในเพลงมีความถี่และเร็วมาก แนวเบสมีการเน้นแบตลอดเวลาจนแทบจะเหมือนกับว่าเป็นจังหวะ 170 BPM แต่มันก็ถือว่าเป็นอย่างน่าตกใจเมื่อเทียบกับเพลง pop-dance ทั่วไปที่มักมีความเร็วอยู่ตั้งแต่ประมาณช่วง 90-140 BPM หากสังเกตจากแนวเบสและการแบ่งท่อนในเพลงนี้ตั้งแต่เริ่มต้นก็จะรู้สึกได้ว่าเพลงมีความเร็วอยู่ที่ 170 BPM หากแต่เมื่อเพลงผ่านไปเรื่อย ๆ มีการเปลี่ยนจังหวะหนักที่ทำให้เพลงรู้สึกว่าช้าลง การใช้ Percussion เน้นจังหวะห้องค่อนข้างห่าง บวกกับท่อน Bridge ที่แตกต่างออกไปอย่างชัดเจนและน่าจะมีความเร็วอยู่ที่ 85 BPM ซึ่งเป็นจังหวะที่ช้าลงไปเป็นเท่าตัวจากช่วงก่อนหน้า สุดท้ายแล้วจึงคิดว่าควรใช้จังหวะ 85 BPM เป็นตัวกำหนดและอธิบายเพลงนี้
เปิดเริ่มต้นเพลงมาด้วย *Pick up นำเสนอประโยค 네 안의 호랑이 ตามชื่อเพลง Tiger Inside ที่เป็น Motive หลักเสมือนตัวแทนของเสือที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจของคนให้ผู้ฟังได้รู้จักก่อนที่แนวทำนองนี้จะกลับมาตลอดทั้งเพลง ซึ่งเพลงที่มีการเริ่มต้นด้วยการหยิบยกเอาแนวร้องสั้น ๆ ที่เป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของเพลงมาร้องแบบนี้มีไม่มากนัก อย่างเช่นในเพลง Superhuman ของ NCT 127 ผู้แต่งได้อธิบายไว้ว่ามีการตัดเอาท่อน Yeah Superhuman จากตอนกลางเพลงมาใส่ตอนต้นเพื่อสร้างอิมแพคให้แก่ผู้ฟังตั้งแต่วินาทีแรกของเพลง
*Pick up - โน้ต/จังหวะส่งเข้าสู่จังหวะหลัก ตัวอย่าง เพลง NCT 127 - Superhuman นาทีที่ 0:16
Intro นี้แม้จะมีความยาวเพียงแค่ 2 *ห้องเพลง (หรืออาจจะมองว่าเป็น 4 ห้องเนื่องจากจังหวะที่เร็วมากถึง 170 BPM) ทำให้รู้สึกว่า Intro นี้สั้น ผ่านไปไวแต่ก็ยังซ่อนเอาไว้ด้วย element ที่น่าสนใจมาก *ห้อง, ห้องดนตรี - เป็นการแบ่งเพลงออกมาเป็นส่วนย่อย ๆ ใน 1 เพลงจะมีหลายห้อง แต่ละห้องจะมีจำนวนจังหวะแต่งต่างกันไปตามกำหนด ประโยคของเพลงส่วนใหญ่จะมีความยาวอยู่ที่ 4 หรือ 8 ห้องเป็นมาตรฐาน โดยเฉพาะในเพลงป๊อป โดยเฉพาะเสียงร้องคล้ายกับเสียงขู่คำรามของเสือ เสียงร้อง Death Growl/Vocal Fry นี้มีลักษณะเป็นการใช้เทคนิคบีบเค้นให้เสียงออกมาเป็นเสียงแตก ๆ คล้ายกับเทคนิคการร้องเสียงคำรามที่มักถูกใช้อย่างมากในเพลงประเภท Metal ก่อนที่จะมีเสียงเอฟเฟคที่มีสไตล์คล้ายคลึงถูกนำเสนอตามมาเป็นเสียงเสือต้อนรับผู้ฟังเข้าสู่เพลง Tiger Inside
ตัวอย่างเสียง Death Growl ในเพลง NCT 127 - Limitless นาทีที่ 0:27
ดนตรีเริ่มต้นมาด้วยเสียงเบสที่มีการเล่นโน้ตสั้น ๆ เหมือนกับเป็นการให้จังหวะแทนเครื่อง Percussion โดยมีลักษณะเสียงที่คล้ายคลึงกับกลอง Tom-tom ในขณะเดียวกันก็ไปคล้ายกับเสียงกลองของชนเผ่าเชอโรคี โดยแนวเบสนี้ถูกนำเสนอเป็นแพทเทิร์นที่ดำเนินอยู่เกือบตลอดทั้งเพลงเป็นเหมือนกับ *Ostinato หัวใจหลักของเพลงเลยทีเดียว
*Ostinato - แนวทำนอง หรือ เบส ที่ถูกบรรเลงซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ ในยุค Baroque ออสตินาโตที่เรียกว่า Figured Bass ถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญมากของเพลง
แนวเบสเล่นโน้ตเพียงแค่ 2 ตัวในช่วงต้นเพลงคือโน้ต F และ B ก่อนที่จะกลายเป็น 3 ตัววนไปมา F B C โดยปกติแล้วคีย์ F Minor นั้นตัว B จะต้องติดแฟลตเป็นโน้ต Bb แต่ว่าเพลงนี้กลับมีโน้ตตัวที่ 4 ของสเกลตัวนี้สูงขึ้นไปครึ่งเสียง มีหลายทฤษฎีมากที่จะสามารถนำมาอ้างอิงได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ Aeolian Mode, Double Harmonic Scale, แต่ที่คิดว่าน่าจะตรงที่สุดคือการใส่ # ให้โน้ตตัวที่ 4 สูงขึ้นครึ่งเสียงจนกลายเป็นขั้นคู่ (interval หรือความห่างระหว่างโน้ตสองตัว) ที่เรียกว่า Tritone ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ค่อนข้างยากในดนตรีสมัยใหม่ โดยเฉพาะในวงการ k-pop
ตัวผู้เขียนเดาว่าเสียงเบสที่มีลักษณะคล้ายกลองในเพลงนี้น่าจะเป็นการเลียนแบบเสียงกลองของชนเผ่าเวลาประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ หรือประกอบการละเล่น การแสดง ด้วยตัวเนื้อเสียงของเบสในเพลงนี้บวกกับตัวโน้ตที่ไปคล้ายคลึงกับกลองของชาวเผ่าไม่ว่าจะเป็นชาวอินเดีย หรือแม้แต่เผ่าเชอโรคีซึ่งเป็นกลุ่มคนพื้นเมืองของสหรัฐอเมริกา.. นอกจากนี้เสียงตัวโน้ตยังมีความเพี้ยนซ่อนอยู่เล็กน้อย ไม่ได้ถูกตั้งเสียงมาตรงเป๊ะ นั่นยิ่งสร้างความน่าฉงนลึกลับซับซ้อนให้กลับเพลงมากยิ่งขึ้นไปอีก เหมือนกับเสือที่ยังคงซ่อนเขี้ยวเล็บไว้อยู่ในยามสงบ
ตัวอย่างเสียง กลองทอมทอมของอินเดีย VIDEO
ตัวอย่างเสียง กลองของชนเผ่าเชอโรคี ตัวVIDEO
เริ่มต้น Verse แรกมาด้วยการร้องในลักษณะ Speaking-Singing เหมือนกับเพลงไตเติ้ลอื่น ๆ ของ SuperM ก่อนที่ห้องสุดท้ายของ Verse นี้ (ที่มีความยาว 4 ห้องเพลง) จะกลายเป็นการร้องเน้นย้ำโน้ตตัว Eb ซึ่งเป็นโน้ต *Leading note ของสเกล F Minor การเล่นย้ำโน้ตตัวนี้ถือเป็นการขยี้อารมณ์ความรู้สึกของคนฟังให้เกิดความอึดอัดและตื่นเต้นมากขึ้น * Leading note - โน้ตตัวที่ 7 ของสเกล เป็นโน้ตนำเข้าสู่ Tonic ซึ่งเป็นโน้ตหลักของสเกล
เข้าสู่ Verse 2 ก็เป็นอันสะดุดหัวทิ่มกันเลยทีเดียว เมื่อเพลงกลับเปลี่ยนคีย์อย่างกะทันหันไปเป็น F Major โดยที่ไม่มีการเตรียมตัวหรือใช้คอร์ดต่าง ๆ เพื่อนำเข้าสู่คีย์ใหม่ อยู่ดี ๆ จากที่เพลงเคยดาร์ค ทะมึน กลับกลายเป็นมีทำนองร้องที่สดใสแฮปปี้ขึ้นมาเหมือนกับการพยายามจะบอกว่าถึงฉันจะเป็นเสือแต่ก็ไม่ได้โหดร้ายเสมอไปนะ แต่ก็มีความสง่างามในตัวด้วย ในท่อนนี้แนวเบสเปลี่ยนไปแล้วกลายเป็นโน้ตตัว F ลากในช่วงเสียงที่ต่ำมาก ๆ แทน แม้เพลงจะสดใสแค่ไหนแต่ก็ยังคงไม่ทิ้งความดุร้ายภายในแบบฉบับเสือ โดยจะสังเกตได้ว่ามีการใช้เทคนิค *Glissando สอดแทรกบ้างในจังหวะที่ค่อนข้างไว ในมุมมองของผู้เขียนรู้สึกว่าผู้แต่งต้องการสื่อถึงการตวัดกรงเล็บข่วนของเสือ ฉับ! นอกจากนี้ก็ยังมีการ Percussion เพิ่มมาจากตอนแรกที่มีเพียงแนวเบสกับเสียงคล้ายเสียงปรบมือในจังหวะหนัก ในท่อนนี้มีเสียงเคาะเหล็กหลากหลายขนาดเพิ่มเข้ามาด้วย.. แต่ในช่วงท้ายของท่อนก็ยังคงการใช้ Leading Tone ที่เป็นตัว Eb อยู่เป็นการส่งสัญญาณว่าจะกลับเข้าสู่ Minor แล้วนะ
*Glissando - เทคนิคการรูดสาย, การสไลด์เสียงจากโน้ตนึงไปอีกโน้ตนึงโดยไม่มีการแยกขาดออกจากกัน
ท่อน Pre-Chorus นี้น่าสนใจมาก แนวร้องนำทำนองจากแนวเบส Ostinato ที่เป็นโน้ตตัว F B C มาร้อง ในขณะเดียวกันแนวเบสเองก็นำเสนอสิ่งเดียวกันในช่วงเสียงที่ต่ำกว่า กลายเป็น Parallel Octave ซึ่งในทางทฤษฎีดนตรีแล้วนั้นนี่คือสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง หากแต่ท่อน Pre-Chorus ในเพลงนี้กลับใช้มันอย่างเต็มที่แบบไม่สนกฎเกณฑ์ใด ๆ แต่ใช้วิธีเพิ่มแนวร้องประสานเพื่อให้เกิดสีสันมากขึ้น ซึ่งน่าสนใจมากเพราะแนวประสานดันก่อให้เกิดเป็นเสียงในคีย์ Major ตอนนี้กลายเป็นว่ามันผสมผสานกันไปหมด นี่มันคือ modal mixture ดี ๆ นี่เอง.. Percussion เสียงเครื่องกระทบต่าง ๆ หายไปกลายเป็นท่อนที่ค่อนข้างเงียบ แต่กลับไม่ได้สงบขนาดนั้นเนื่องจากแนวเบสยังคงสร้างความตื่นเต้นลึก ๆ เหมือนกับช่วงที่สงบก่อนพายุจะโหมกระหน่ำ จะสังเกตได้ด้วยว่ามีการสอดแทรกด้วยเสียงร้อง Adlib แตกต่างกันไปในทุกห้องเพลง ทั้งเสียงคำรวมหรือแม้แต่เสียง yeah ทำให้เพลงไม่โล่งโปร่งเกินไป ก่อนที่ในช่วงท้ายของท่อน Bridge นี้จะมีการใส่เอฟเฟคที่เหมือนกับเสียงคำรามมาอีกครั้งตั้งแต่นาทีที่ 0:44 ควบคู่ไปกับแนวร้อง Bring it on ที่ค่อย ๆ เพิ่ม Volume ขึ้น แนวประสานในลักษณะการตะโกนเพิ่มเข้ามาจนนำเข้าสู่ท่อนฮุคของเพลง
네 안의 호랑이 จากเมื่อตอนต้นเพลงกลับมาอีกครั้งในท่อน Chorus โดยทำนองร้องในท่อนนี้มีการร้องย้ำตัวโน้ตและสลับไปมาอยู่ระหว่างโน้ตแค่เพียง 3 ตัวเท่านั้นคือ C4 F4 และ C5 นั่นจึงทำให้เมโลดี้ในท่อนฮุคนี้ค่อนข้างติดหู ฟังเพียงแค่ครั้งเดียวก็สามารถจำได้ทันที.. ช่วงครึ่งหลังของท่อนคอรัส นาทีที่ 0:58 ก็กลายเป็นการร้องตะโกนหลากหลายเสียงประสานกันแทนก่อนที่จะจบด้วยทำนองแบบเดิม นอกจากนี้จะสังเกตได้ว่าช่วงครึ่งแรกของคอรัสมีแนวทำนองเสียงประสานอยู่ด้านบนคอยสอดแทรกเบา ๆ ในขณะที่ช่วงท้ายกลับไม่มีแนวประสาน ส่วนตัวผู้เขียนมองว่าการที่ทำนองร้องคำว่า 호랑이 ซึ่งแปลว่าเสือมีการร้องด้วยโน้ต F4 แล้วกระโดดไปจบที่ตัว C5 นั้นน่าจะเป็นการเลียนเสียงคำรามของสิงโตเวลาล่าเหยื่อ ซึ่งต่างจากเสียงขู่คำรามนิ่ง ๆ ในเวลาปกติ เสียงที่แผดกระชากออกมาจะมีลักษณะหางเสียงช่วงท้ายที่เล็ก แหลงลง และเสียงสูงขึ้น ดนตรีในท่อนฮุคมีความหนักแน่นมากโดยเฉพาะแนวเบสที่มีการผสมผสานของเบสทั้งสองแบบที่ถูกนำเสนอไปในช่วงก่อนหน้า แม้ว่าจะเน้นเล่นที่โน้ตตัว F เพียงตัวเดียวเท่านั้น แต่ก็ทำให้เพลงมีฐานที่มั่นคงแข็งแรงดุดันเหมือนกับเสือ ส่วนแนว Percussion ก็กลับมาอีกครั้งและเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในครึ่งหลังที่มีเสียง hi-hat และเครื่องกระทบอื่นเพิ่มขึ้นมา นอกจากนี้ยังมีเสียง Synthesizer เล่นเป็นคอร์ดเข้ามาในทุกจังหวะที่ 2 และ 4 ของแต่ละห้อง ก่อนที่ตอนหลังจะมีการเล่นโน้ต F Ab Bb B ไล่ในลักษณะ *Arpeggio เป็นสเกล F diminished ซึ่งนำเสนอความน่ากลัว ความลึกลับที่ถูกซ่อนอยู่
*Broken Chord ในสไตล์ Arpeggio - การเล่นโน้ตทีละตัวจากคอร์ด ไม่ได้มีหลายเสียงพร้อมกัน
อีกอย่างที่ทำให้ท่อนคอรัสนี้เจ๋งมากคือเสียง echo ที่สะท้อนแนวร้อง 네 안의 호랑이 ล้วมีเสียงร้อง 랑이 สะท้อนตอบกลับมา เหมือนว่าเป็นการร้องตะโกนในถ้ำอันว่างเปล่า พอตะโกนไปก็เกิดเสียงสะท้อนกลับมาหาตัวเราเองอีกครั้งนึง มันฟังดูลึกลับ น่าสงสัยใคร่รู้
แน่นอนว่าหลังจากท่อนคอรัสก็จะต้องเป็นท่อนแร็พตามสไตล์ SM Entertainment เป็นท่อนที่ดนตรีหลายอย่างจะถูกดรอปหายไปเพื่อสร้างความแตกต่างทางอารมณ์รวมไปถึงโชว์เสียงร้องอย่างเต็มที่ โดยเหลือไว้เพียงเสียงเบส Ostinato จากตอนแรกแต่มีการเพิ่มเอฟเฟคให้เกิดเสียงสะท้อนก้องคล้ายกับว่าผสมเสียงของ Bass drum เข้าไปด้วยจนมันยิ่งคล้ายกับกลองของกลุ่มชนเผ่ามากกว่าเดิมไปอีก.. แถมในแนวร้องและแร็พส่วนใหญ่ของเพลงนี้ก็จะมีการยึดจังหวะที่คล้ายกับจังหวะของ Ostinato ด้วย มีช่วงจังหวะที่เร็วและช้าสลับกันไปคล้ายกับเสียงของเบส
จุดที่แอบแปลกใจคือนาทีที่ 1:13 มีการดรอปเสียงดนตรีออกทั้งหมดเหลือเพียงเสียงร้อง เล่นเอางงเหมือนเวลาขับรถแล้วเบรคกะทันหันจนหัวทิ่ม หลังจากนั้นมีการดรอปอีกทีตอนท้าย Verse ซึ่งเป็นเรื่องปกติเพื่อที่จะเข้าสู่ Verse ถัดไป การที่มีดรอปตรงกลางนี้มันน่าสนใจมาก
แนวแร็พใน Verse 3 นี้เรียกได้ว่าแปลกใหม่และเกินคาดมาก มีการร้องที่หลากหลายและมีการใส่ extended technique เข้าไปหลายครั้งภายในช่วงเวลาไม่กี่วินาที โดยเฉพาะเสียงขู่คำรามเพื่อสื่อถึงตัวเสือ หรือแม้แต่เสียงร้อง อืมอืม ในนาทีที่ 1:13 ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้บ่อยนัก จนมาตอนท้ายของ Verse ที่อยู่ดี ๆ ก็กลับมาเป็นการร้องแบบมีเมโลดดี้อีกครั้ง แค่นั้นยังไม่พอ ยังกลายเป็นทำนองที่อยู่ในคีย์ Major เพราะโน้ตตัว A แทนที่จะเป็น Ab อีก เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลา 11 วินาทีที่เต็มไปด้วย Variations เยอะจนงงกันไปเลย
กระโดดข้าม Verse 4 ที่ยังคงเหมือนเดิมกับ Verse 2 มาที่ท่อน Pre-Chorus ที่มีการเพิ่มแนวร้องในนาทีที่ 1:34 ซึ่งเริ่มต้นด้วยโน้ตตัว B ก่อนจะค่อย ๆ สไลด์ขึ้นไปจบที่ประมาณตัว C (ประมาณเพราะมันไม่ถึงกับตรงโน้ตนี้ 100%) มี adlib เสียงตะโกนเพิ่มเข้ามาก่อนที่จะเข้าสู่ท่อน Chorus
ท่อน Chorus รอบที่ 2 นี้ก็ยังคงมีองค์ประกอบต่าง ๆ เหมือนเดิมกับรอบแรก แต่จุดที่ต่างออกไปกลับเป็นการที่หลังจากท่อนนี้มีการเพิ่ม Post-Chorus หรือจะเรียกว่าเป็นคอรัสที่เพิ่มให้ยาวขึ้นมาก็ได้ เพื่อต้องการจะคีพความสนุก ความเร่าร้อนนี้ ยืดอารมณ์ความรู้สึกออกไปอีกเล็กน้อยก่อนที่จะดรอปในช่วงท่อน Bridge ซึ่งเป็นท่อนที่มีความแตกต่างจากช่วงที่ผ่านมา โดยในท่อน Post-Chorus มีการร้องโน้ตไล่อยู่ในสเกล F Minor แต่โน้ตที่ถูกเลือกมาใช้กลับทำให้เสียงที่ออกมาแปลกและแตกต่างจากสเกลธรรมดา จนสงสัยว่ามันคือสเกลอื่นหรือไม่ เช่น octatonic scale โดยมีเสียง Synthesizer เล่นโน้ตเดียวกันในช่วงเสียงที่สูงกว่ามากเพิ่มความตื่นเต้นเร้าใจให้กับเพลง
เข้าสู่ท่อน Bridge แน่นอนว่าต้องเป็นท่อนที่โชว์ Vocal อย่างเต็มที่ โดยเสียง Percussion เครื่องกระทบต่าง ๆ หรือแม้แต่เสียงเบสเองก็ถูกดรอปจนหายไปหมด กลายเป็นมีเพียงเสียง Synthesizer ลากคอร์ดในช่วงเสียงสูงและอีกหนึ่งเสียงที่เพิ่มมาคือเสียงเครื่องสาย *Pizzicato เหมือนกับเป็นความพิศวงที่ถูกซุกซ่อนอยู่ในยามที่ดนตรีสงบ และอีกเครื่องดนตรีที่โผล่มาแค่เพียงไม่กี่วินาทีคือเปียโนในนาทีที่ 2:26-2:29 เป็น 3 วินาทีที่เสียงเปียโนถูกบรรเลงในช่วงเสียงสูง มีความโดดเด่นด้วยเนื้อเสียงที่กังวาลใส น่าเสียดายที่มีบทบาทแค่เพียงน้อยนิดเท่านั้น
*Pizzicato - เทคนิคการดีดสาย
แนวทำนองร้องของท่อน Bridge ต้องเรียกได้ว่าค่อนข้างแปลกสำหรับเพลง pop-dance ที่ต่อให้เป็นท่อนที่มีความ Lyrical แค่ไหนก็แทบจะไม่มีเพลงไหนเลยที่มีการร้องที่เรียบง่ายเหมือนเพลงนี้ การเดินโน้ตขเบ็ต 1 ชั้นธรรมดา (2 โน้ตต่อ 1 จังหวะ) แทบจะเกือบตลอดทั้งท่อน มันทำให้เพลงเปลี่ยนไปอย่างมาก เหมือนว่าจังหวะจะช้าลงเป็นเท่าตัว มีความเนิบนาบ จนแทบจะกลายเป็นคนละเพลงไปเลย
และในที่สุดท่อนนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงในแง่ของ Harmony ซักทีหลังจากที่เราวนเวียนอยู่กับคอร์ด F และสเกลรูปแบบต่าง ๆ ของคีย์ F มาเป็นเวลานาน ในท่อนนี้มีคอร์ดที่สวยงามโผล่ออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นคอร์ด V7 หรือ VI ที่มีความเป็น Major และทำให้เกิดสีสันใหม่ ๆ ช่วงครึ่งแรกของ Bridge ดนตรีจะค่อนข้างโปร่ง ให้ความรู้สึกที่ล่องลอย เน้นแนวทำนองหลักและมีการสอดแทรกด้วยเสียงประสานด้านล่างในบางช่วงทำให้เพลงฟังดูอบอุ่นมากขึ้น พอเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังตั้งแต่นาทีที่ 2:29 เสียง Percussion กลับมาอีกครั้ง มี Background Vocals ร้องประสานหนาเป็น Harmony เพราะ ๆ ก่อนที่ตอนท้ายจะมีแนวร้องประสานด้านบนเพิ่มเข้ามาไล่สูงขึ้น ในขณะเดียวกันเสียงดนตรีกลับลากค้างและ Glissando ลงเพื่อเป็นการส่งเข้าสู่ท่อนถัดไป
และผู้เขียนต้องขอยอมรับว่าประทับใจใน high note เพลงนี้มากมากเพราะตัวสุดท้ายนั่นคือตัว Ab5!! ซึ่งถือว่าสูงมาก ๆๆๆๆ แบคฮยอนทำลายสถิติของตัวเองไปเรื่อย ๆ ร้องไฮโน้ตสูงขึ้นทุกเพลง.. จาก Jopping ที่ตัว F5 มาเพลง 100 ตัว G5 จนมาเพลงนี้ที่ Ab5.. เพลงต่อไปจะสูงขึ้นไปอีกมั้ย?
นาทีที่ 2:40 หลังจาก Bridge 8 ห้องแทนที่จะเข้าสู่ท่อนคอรัส ไม่เลย คุณถูกหลอกแล้ว เพราะท่อน Bridge ยังคงไม่จบเพียงแค่นี้แต่ถูกยืดต่อออกไปด้วยท่อนแร็พที่ดนตรี Harmony เสียงประสานหายไปหมด เหลือไว้เพียงเสียงเบสแบบเดียวกับช่วง Verse 2 ที่มีการทำให้เสียงแตก Distortion และ Glissando เหมือนเสียงตวัดกรงเล็บข่วนด้วยความไว มีเสียง Percussion อีกเสียงที่คล้ายกับเสียงนาฬิกาเดิน (?) และแน่นอนว่าที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับท่อนแร็พเพลง K-pop คือการร้องในจังหวะ Triplets (3 โน้ตต่อ 1 จังหวะ) จะสังเกตได้จากที่แร็พในช่วง 2 ห้องแรกจะมีจังหวะที่ช้าก่อนที่พอเข้าสู่ 2 ห้องท้ายในนาทีที่ 2:45 จังหวะจะเร็วขึ้น
Bridge ที่เพิ่มมานี้มีความยาวเพียงแค่ 4 ห้อง (ไม่ครบ 8 ที่ทำให้เกิดความสมมาตรมากกว่า) กลายเป็นว่าโดนหลอกครั้งที่ 2 และสุดท้ายแทนที่จะเข้าสู่ท่อนคอรัส เปล่าเลย คุณ ถูก หลอก อีก แล้ว!! โดนหลอก 3 ครั้งซ้อน ทำให้นึกถึงเพลง Tempo ของ Exo ที่มีการยืดท่อน Bridge ออกไปถึง 4 รอบด้วยกัน
ตัวอย่าง ฺBridge เพลง Exo - Tempo นาทีที่ 2:17-3:25 โดยมี Bridge ถึง 4 รอบ และดนตรีมีความซับซ้อนคล้ายกับเพลง Tiger Inside
แนวเบส Ostinato ถูกบรรเลงอย่างโดดเดี่ยว ลักษณะคล้ายกับท่อน Intro ที่กลับมาอีกครั้งด้วยความยาว 2 ห้องเพื่อทดแทน 2 ห้องแรกที่หายไปเมื่อตอนต้นเพลง โดยมีการร้องไล่โน้ตลงเป็น F Dinimished สเกลฟังสบาย เหมือนกับว่าสงครามการสู้รบต่าง ๆ กำลังสงบลง เสือกำลังจะเข้าสู่นิทรา แต่แล้วตอนท้ายก็มีแนวร้องไล่ขึ้นเป็น F Minor Arpeggio เพื่อส่งเข้าสู่ท่อนคอรัสสุดท้าย
Chorus รอบสุดท้ายฟังแล้วอาจรู้สึกว่ามันเหมือนเดิม แต่แท้ที่จริงแล้วมีการเพิ่มเสียง Percussion ที่เป็นเสียงตีแหลกจากท่อน Verse 2 เป็นเสียงแหลม ๆ ตีในจังหวะขเบ็ต 1 ชั้นเพิ่มเข้ามาด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีแนวแอดลิบที่คอยสอดแทรกเพิ่มสีสันและดึงให้อารมณ์พลุ่งพล่านมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในนาทีที่ 3:07 ซึ่งมีแนวแอดลิบร้องตัวโน้ต Db C ซึ่งเป็นลักษณะคู่ครึ่งเสียง Chromatic สร้างอารมณ์ที่น่ากลัว ยิ่งเมื่อใส่ reverb เข้าไปก็ทำให้เสียงนี้มันฟังดูหลอน สยองขวัญมากยิ่งขึ้นไปอีก
Post-Chorus กลับมาอีกครั้งโดยรอบนี้ทำหน้าที่เป็นดั่ง Outro ส่งท้ายเพลง หากแต่ในรอบนี้มีการใส่เสียงประสานตอนช่วงประโยค Dinner's ready, yeah รอบสุดท้ายที่ทำให้เพลงกลายเป็นว่าจบในคีย์ F Major เป็นการจบที่บ่งบอกถึงชัยชนะอันสว่างสดใส ในที่สุดเจ้าเสือก็ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาพร้อมที่จะออกมาโลดแล่นในโลกแห่งความเป็นจริงพร้อมกับอาหารเย็นที่กำลังรอคอยอยู่
- จบเพลง - โครงสร้างของเพลง Tiger Inside INTRO 0:06-0:13
VERSE 1 0:13-0:24
VERSE 2 0:24-0:35
PRE-CHORUS 0:35-0:47
CHORUS 0:47-1:09
VERSE 3 1:09-1:20
VERSE 4 1:21-1:31
PRE-CHORUS 1:32-1:43
CHORUS 1:43-2:05
POST-CHORUS 2:06-2:17
BRIDGE 2:17-2:51
INSTRU 2:51-2:56
CHORUS 2:57-3:19
OUTRO 3:19-3:31
บทสรุป หลังจากที่ได้ฟังเพลง 100 เชื่อว่าหลายคนก็น่าจะรู้สึกว่าเพลงนั้นมีความเป็น SuperM สูงมากด้วยความที่มีลักษณะองค์ประกอบทางดนตรีและรูปแบบโครงสร้างเพลงที่คล้ายคลึงกับเพลง Jopping ค่อนข้างมาก แต่เพลง Tiger Inside กลับฉีกแหวกแนวออกไปจากเพลงก่อนหน้าอย่างชัดเจน แต่ก็ยังสามารถคงคอนเซปต์ความยิ่งใหญ่ ความเป็น Avengers ที่เหนือมนุษย์ และยังชูความสามารถอันโดดเด่นของสมาชิกในวงออกมาได้เป็นอย่างดี
ที่ประทับใจในเพลงนี้มากก็คงเพราะว่าเพลงนี้เป็นบทเพลงที่มีการใช้โน้ตและสเกลที่แตกต่างออกไปจากเพลง K-pop ส่วนใหญ่เป็นแกนหลัก โดยเฉพาะโน้ตตัว #4 หรือตัว B ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวโน้ตที่สำคัญที่สุดของเพลงนี้ ทำให้เกิดอารมณ์พิศวง และเมื่อถูกย้ำอยู่ตลอดทั้งเพลงนั้นก็สามารถหลอนประสาทคนฟังได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว มันสื่อได้ถึงทั้งความน่ากลัวของตัวเสือซึ่งในแง่นึงก็เป็นสัตว์ที่ดุร้าย และความกลัวใรความหมายที่ลึกกว่านั้นซึ่งซ่อนอยู่ภายในจิตใจของคน
การใช้องค์ประกอบต่าง ๆ เลียนแบบเสือในเพลงนี้น่าสนใจมาก ทั้งการร้อง Death Growl และ Synthesizer ที่ใส่เสียงแตก Distortion เพื่อให้คล้ายกับเสียงขู่คำราม, เสียงเบส Glissando เหมือนเสียงตวัดเล็บข่วน, แนวทำนองที่มีช่วงหางเสียงตวัดสูงขึ้นเลียนแบบการร้องคำรามของเสือ, เสียงเบสผสมกลองใหญ่ที่สามารถสื่อได้ถึงความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของเสือ รวมไปถึงการนำเสนอสไตล์ดนตรีที่แตกต่างสลับไปมา มีทั้งช่วงที่วุ่นวาย ช่วงดุดัน และช่วงสงบ เหมือนกับลักษณะนิสัยของเสือ
นอกจากนี้การเลียนแบบเสียงกลองที่ชนเผ่ามักใช้บรรเลงเวลาประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เองก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่น่าสนใจ เนื่องจากในความเชื่อของคนจีน เสือ เป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อ ความมงคล ผู้คนเชื่อว่าเสือเป็นหนึ่งในสัตว์ที่ฉลาดที่สุดจนถึงขั้นที่ว่าผู้นับถือศาสนาพุทธนิกายวัชรยานได้นำหนังเสือมาห่มในระหว่างนั่งสมาธิเพื่อเปลี่ยนแปลงความโกรธให้เป็นปัญญา ผู้เขียนจึงเชื่อว่าผู้แต่งน่าจะต้องการนำเสนอไอเดียนี้ ที่ต้องการเชิดชูเสือในแง่ของความเชื่อนี้ออกมาผ่านเพลงด้วย
เพราะดนตรีคือศิลปะ ไม่มีถูกไม่มีผิด สุดแล้วแต่ผู้ฟังจะจินตนาการ แล้วคุณล่ะ ตีความเพลงนี้ไว้อย่างไร?
อ่านจบแล้วอย่าลืมกดดู MV เพลง Tiger Inside อีกรอบด้วยนะ!
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in