4 ปีที่ไม่ทิ้งความเป็นดรีม
พาร์ทที่ 2 ของการวิเคราะห์ดนตรีของวง NCT Dream (ต้องแยกไม่เช่นนั้นจะยาวเกินไป) ไปเจาะรายละเอียดของอีก 2 เพลงที่เหลือโดยสังเขปและสรุปเรื่องราวพัฒนาการทางด้านดนตรีรวมไปถึงค้นหาคำตอบว่าอะไรคือกิมมิคของวงวงนี้
Part I >> https://minimore.com/b/K5qdG/11
(อย่าลืมเปิดเพลงฟังควบคู่ไปด้วยนะ)
Boom เพลงไตเติ้ลจากมินิอัลบั้มที่ถูกปล่อยออกมาในปี 2019 เป็นอีกหนึ่งบทเพลงที่แสดงถึงความเปลี่ยนแปลง นำเสนอมุมมองความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นของ NCT Dream
VIDEO
Lyric by Baek Geum-min (Song Carat), Lee Soo-jung (Song Carat) & Kim Min-jiComposed by Cedric "Dabenchwarma" Smith (3Sixty), Keynon "KC" Moore (3Sixty), Yoo Young-jin, Curtis Richardson, Adien Lewis & Ryan S. JhunArranged by 3Sixty, Yoo Young-jin, Curtis Richardson, Adien Lewis & Ryan S. Jhun
C Minor - 120 BPM
คอร์ด - เสียงประสาน
เพลงของ NCT ไม่เคยทำให้ผิดหวังเลยกับการหลอกหูคนฟังให้เกิดความสงสัยในตัวเพลงว่าอยู่ในคีย์อะไร มีทิศทางไปในทางไหน ความชัดเจนที่ไม่มีความชัดเจน กล่าวคือชัดเจนในตัวโน้ตและจังหวะ แต่กลับไม่ชัดเจนเลยว่าอยู่ในบันไดเสียงใด จะสังเกตได้จากการที่แนวเบสเล่นโน้ตตัว Bb C Db วนเวียนสลับไปมา แต่ก็จะเน้นไปที่โร้ตตัว C เป็นหลักบวกกับเสียง Synthesizer ในช่วงที่สูงกว่าที่เล่นโน้ต Eb E F G สลับไปมาเช่นกัน โน้ตเหล่านี้สร้างความน่าฉงนให้กับผู้ฟังเป็นอย่างมากแต่ก็พอเดาได้ว่าน่าจะอยู่ในคีย์ C Minor.. จนกระทั่งเข้าสู่ Verse 2 ในนาทีที่ 0:31 ถึงจะเริ่มมีแนวทำนองที่ร้องอยู่ในสเกล C Phrygian (Mode ประเภทหนึ่ง) จึงทำให้มั่นใจขึ้นว่าเพลงนี้อยู่ในคีย์ C Minor จริง ๆ
อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เมื่อฟังเพลงนี้แล้วเกิดความไม่มั่นใจว่าอยู่ในคีย์ใด คือการที่โน้ต Ee E F G มีการใส่เทคนิค *Glissandro เข้าไปในระหว่างการเปลี่ยนโน้ต โดยเริ่มที่เสียงต่ำกว่าเสียงจริงและไปจบที่เสียงเพี้ยนสูงกว่าเสียงจริง เนื่องจากเสียงเหล่านี้มีการขยับเขยื้อนตลอดเวลาและไม่ได้จบที่เสียงตรงโน้ตถูกต้อง ความเพี้ยนแค่เพียงเล็กน้อยไม่กี่ Frequency เหล่านี้กลับสร้างปัญหาให้กับผู้ฟังได้อย่างไม่น่าเชื่อ ถือว่าเป็นลูกเล่นที่น่าสนใจมาก
*Glissan dro - เทคนิครูดสายเพื่อให้เกิดเสียงสไลด์ขึ้นลง แม้ว่าคอร์ดหลัก ๆ ในเพลงนี้จะไม่ได้มีเยอะมาก แต่เนื่องจากมีการใช้เสียงประสานที่มีสีสันหลากหลาย การขยายคอร์ดให้มีความน่าสนใจขึ้นด้วยการใช้องค์ประกอบสไตล์เพลงแจ๊สมาใส่ก็ทำให้เพลงน่าสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะในท่อน Pre-Chorus นาทีที่ 0:48 และ Bridge นาทีที่ 2:24 คอร์ดเหล่านี้มีความสวยงามเป็นอย่างมาก สร้างอารมณ์ที่แตกต่างไปจากช่วงอื่น ๆ ของเพลงอย่างชัดเจน
แนวเมโลดี้ในเพลงนี้ค่อนข้างมีรูปแบบที่ชัดเจน (ไม่นับท่อนแร็พ) จะมีช่วงที่เป็นการไล่สเกลโน้ตต่อกันในบันไดเสียงตามคอร์ดนั้น ๆ รวมไปถึงมีการร้องโน้ตเดิมซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ ค่อนข้างเยอะ เช่น ท่อน Pre-Chorus นาทีที่ 0:48-0:52 เฉินเล่อร้องโน้ตตัว F ซ้ำกันถึง 22 คำและหลังจากนั้นแฮชานเองก็ร้องโน้ตเดียวกันอีก 17 คำ หรือแม้แต่ในครึ่งหลังของท่อนฮุคตั้งแต่นาทีที่ 1:11-1:15 ก็มีการร้องโน้ตตัว F ซ้ำกัน 17 คำอีกเช่นเคย เป็นการแสดงออกที่ต้องการตอกย้ำความคิดและความรู้สึกให้คนฟังได้รับรู้ (จะว่ากึ่ง ๆ ล้างสมองก็ได้) แต่ก็น่าสนใจมากที่เพลงกลับไม่ได้รู้สึกน่าเบื่อเลยแม้จะมีการร้องโน้ตตัวเดียวซ้ำเป็นเวลานานเนื่องจากคอร์ดที่ถูกเปลี่ยน แนวประสานหลายเลเยอร์เองก็คอยซัพพอร์ตและสร้างสีสันที่หลากหลายอยู่
โครงสร้าง
Intro มีความยาวถึง 8 ห้องเพลงเหมือนกับสมัยเพลง Go แม้จะไม่ได้มีองค์ประกอบอะไรมากมายแต่ก็ชูให้สิ่งที่สำคัญที่สุดโดดเด่นออกมาอย่างชัดเจน
เปิดเพลงมาด้วยการร้องแบบ Speaking-singing อีกเช่นเคย แต่ก็มีการร้องทำนองปกติตั้งแต่ Verse ที่ 2 ไม่เหมือนกับหลายเพลงที่ผ่านมาที่ส่วนใหญ่มักมาเริ่มมีทำนองชัดเจนในท่อน Pre-Chorus หรือท่อนฮุคแล้ว.. รวมไปถึงท่อน Verse หลังฮุคที่ยังคงเป็นท่อนแร็พตามสไตล์ของ NCT
ท่อน Bridge ในเพลงนี้มีการเปลี่ยนจังหวะจาก 4/4 กลายเป็น 2/4 ที่ทำให้ให้รู้สึกว่าเพลงช้าลง แต่ที่จริงแล้วเป็นแค่เทคนิคการเน้นจังหวะที่แตกต่างออกไป ทำให้เหมือนเป็นท่อนที่ได้พักเหนื่อย.. โดยทั่วไปหลังจากท่อน Bridge มักจะถูกส่งต่อไปให้ท่อน Chorus หากแต่เพลงนี้กลับกลายเป็นท่อน Pre-Chorus แทนเหมือนกับในเพลง We Go Up ซึ่งรูปแบบโครงสร้างแบบนี้ไม่ได้พบได้บ่อย ๆ ในเพลง K-pop
จบเพลงด้วยท่อนฮุคแบบไม่มี Outro ลูกจบ
องค์ประกอบ
ไม่น่าเชื่อว่าเพลงนี้ที่จริงแล้วมีองค์ประกอบอยู่เพียงไม่กี่อย่างเท่านั้น แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นจะต้องมีเสียงเบสที่เล่นโน้ตวนเวียนอยู่เพียงแค่ 3 ตัวเท่านั้นเป็นเหมือนกับ *Ostinato ซึ่งดำเนินอยู่แทบจะเกือบตลอดทั้งเพลงไม่ว่าจะในท่อน Verse ทั้งรอบแรก รอบหลัง รวมไปถึงท่อน Chorus (เว้นแค่ช่วง Lyrical) ไม่น่าเชื่อว่าโน้ตแค่เพียง 3 ตัวนี้จะกลายเป็นองค์ประกอบหลักที่อยู่คู่กับเพลงตั้งแต่เริ่ม Intro มาเดี่ยว ๆ จนจบโน้ตสุดท้ายเพลง
เสียงเบสของเพลงนี้จะมีลักษณะคล้ายกับปสมเสียง Bass Drum เป็นจังหวะหนัก ๆ ที่สามารถได้ยินตลอดทั้งเพลงแล้วนั้นยังมีแนวเบสอีกแนวในช่วง Verse 4 นาทีที่ 1:36 ซึ่งเล่นโน้ตตัว C เสียงดังชัดเจนก่อนที่จะมีการ Glissandro ลง.. แต่นอกจากแนวเบสแล้ว ยังมีเสียง Synthesizer อีกเสียงหนึ่งที่ก้มีการเล่นด้วยเทดนิค Glissandro จากโน้ตสูงไล่ลงอีกซึ่งโผล่มาในทุกท่อนฮุคของเพลง เช่น นาทีที่ 1:05, 1:07, 1:09, 1:15 เป็นต้น เป็นที่น่าสังเกตว่าเทคนิคนี้ค่อย ๆ ถูกใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ
มีการใช้ Percussion ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับเพลงของ NCT เพลงอื่น เสียงที่จะได้ยินอย่างชัดเจนที่สุดคือ Hi-hat, เสียง Closed rim shot บน snare และเสียงกลอง Bass drum นอกจากนั้นก็มีเสียง Sample ซึ่งผลิตโดยคอมพิวเตอร์อีกเพียงไม่กี่เสียงเท่านั้น
ตัวอย่างเสียง Closed Rim Shot บน Snare Drum นาทีที่ 1:43 การเอามือทาบบนกลองและตีบริเวณขอบ
Synthesizer ในเพลงนี้เองก็ไม่ได้ถูกชูออกมาให้โดดเด่นมีลูกเล่นเยอะมาก ที่ชัดสุดก็คงจะเป็นเสียงเบสและเสียงโน้ต Eb E F G นอกจากนั้นก็จะเป็นการลากคอร์ดในช่วงท่อน Pre-Chorus และท่อน Bridge ซึ่งมีการใส่เอฟเฟคให้เสียงถูกแยกเป็นโน้ตถี่ ๆ ถึงแม้ว่าเพลงโดยรวมอาจจะรู้สึกสงบ ช้าลง แต่กลับมีเสียงนี้ที่ช่วยให้เกิดความตื่นเต้น อาการสั่น บวกกับเสียงเบสดรัมที่เหมือนกับการเต้นของหัวใจ เลยกลายเป็นเหมือนกับคลื่นความวุ่นวายใต้น้ำ ความสงบก่อนที่จะเกิดพายุ
แม้ในเพลงนี้จะไม่ได้มีการโชว์การไล่โน้ตเป็น Chromatic หรือที่ความห่างครึ่งเสียงอย่างชัดเจน แต่ก็มีลูกเล่นของการนำเสนอโน้ตที่มีความห่างครึ่งเสียงอยู่ทั้งในแนวเบส, Synthesizer ช่วง Intro รวมไปถึงแนวแร็พที่มีการร้องไล่ที่เมื่อวัดค่าโน้ตออกมาแล้วจะมีความใกล้เคียงกับ Chromatic อยู่มาก
แนวการร้อง อีกหนึ่งกิมมิคประจำเพลงของ NCT Dream ก็คงจะหนีไม่พ้นแนวประสานที่หลากหลายมาก ตั้งแต่ Verse แรก เช่นในนาทีที่ 0:18 ประโยคที่ร้องว่า 음악 같은 stage หรือนาทีที่ 0:22 내겐 heavy rain จะมีการร้องประสานในลักษณะ Speaking-singing ซ้อนทับอยูุ่หลายแนวทั้งเสียงสูงกลางต่ำ แนวการประสานแบบนี้ถูกใช้ทุกครั้งที่มีท่อนแร็พ และแม้ว่าจะไม่ได้นำเสนอ Harmony ที่ชัดเจนว่าเป็นคอร์ดอะไรแต่ก็ทำให้เกิดเสียงประสานที่น่าสนใจมาก
และแน่นอนว่าเสียงประสานยังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สร้างให้เกิด Harmony ที่สวยงาม โดยเฉพาะในท่อน Pre-Chorus ที่แนวประสานมีความโดดเด่น หลากหลาย สวยงาม และมีหลายเลเยอร์มาก มีการเลือกร้องตัวโน้ตที่ก่อให้เกิดความ Jazzy แต่แม้จะโดดเด่นแค่ไหนก็ยังถูกปรับให้พอดีและส่งเสริมให้แนวทำนองหลักโดดเด่นกว่าได้
ช่วงครึ่งหลังของทุกท่อนฮุค เช่น นาทีที่ 1:11 เป็นท่อนที่แนวร้องมีความวุ่นวายสูงมาก เต็มไปด้วยเสียง Background Vocals หลากหลายแนวที่ร้องแตกต่างกันไปหมด แต่ด้วยความที่ Volume เบาทำให้ไม่รบกวนทำนองหลัก แต่กลับทำให้เพลงมีความดุดัน เข้มแข็ง สนุก เร่าร้อนมากยิ่งขึ้น เป็นการ build อารมณ์ผู้ฟังไปถึงจุดพีคสุดของ Chorus ก่อนที่จะไล่โน้ตลงตามสเกล C Minor (G F Eb D C) เป็นการจบประโยคอย่างสมบูรณ์แบบ
แม้ว่าจะเป็นการร้องแร็พแต่ก็มีการกำหนดโทนหรือทำนองไว้อย่างชัดเจน เช่น Verse แรกจะเป็นการร้องจากเสียงสูงไล่ต่ำลง หรือท่อนแจมินนาทีที่ 1:28 เองก็ไล่ในลักษณะเดียวกัน นอกจากนี้ท่อนแร็พยังมีการร้องเป็นจังหวะ *Syncopation แทบจะตลอดเวลา นั่นทำให้เพลงรู้สึกถูกดึงรั้งไว้ไม่ได้ move ไปข้างหน้ามากแม้ว่าจะมีจังหวะที่ค่อนข้างเร็ว
* Syncopation - จังหวะขัด เป็นลักษณะจังหวะที่ถูกใช้มากในดนตรีแจ๊ส เพลงนี้มีการร้องในช่วงเสียงที่กว้างขึ้นกว่าทุกเพลงก่อนหน้ามากอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในท่อนฮุคมีการไล่ลงไปต่ำถึงตัว C3 และสูงถึง Bb4 ภายในช่วงเวลาไม่กี่วินาที นับว่าเป็นการนำเสนอทำนองที่ท้าทายและเยี่ยมยอดมาก ช่วงแร็พมีการไล่เสียงลงไปต่ำถึงช่วง Octave 2 และแนว Adlib นาทีที่ 2:38 มีโน้ตลากประสานอยู่ที่ตัว C5 ซึ่งสูงที่สุดแล้วในบรรดาเพลงไตเติ้ลทั้งหมดที่ผ่านมา _____________________________________
และแล้วก็มาถึงเพลงไตเติ้ลล่าสุดของ NCT Dream บทเพลง Ridin' คือเพลงที่นำทุกองค์ประกอบ ทุกความเจ๋งจากบทเพลงไตเติ้ลที่ผ่านมาทั้ง 5 เพลงมาผสมรวมกัน มีการพัฒนา ต่อยอด จนกลายเป็นเพลงที่มีความสมบูรณ์แบบในทุกแง่มุม
VIDEO
Lyric by Jang Jeong-won & Rick BridgesComposed by Jonatan Gusmark (Moonshine), Ludvig Evers (Moonshine), Julien Maurice Moore, Jeremy "Tay" Jasper, Adrian McKinnon, Darius Martin & Hautboi Rich
Arranged by Moonshine
C# Minor - 149 BPM
คอร์ด - เสียงประสาน
โดยรวมเพลงมีการเน้นคอร์ด i ซึ่งคือคอร์ด C#m เป็นหลัก มีการเล่นย้ำคอร์ดนี้เพียงคอร์ดเดียวเป็นเวลานานมากในท่อน Verse ทั้งหมด ในท่อน Chorus เองก็มีเพียงคอร์ดนี้และอีกคอร์ดคือ G#m ซึ่งเป็นคอร์ด v สลับกันไปมาตามสไตล์เพลงป๊อป แต่เพลงกลับไปน่าเบื่อเลยเนื่องจากมีลูกเล่น องค์ประกอบหลากหลาย
ท่อน Pre-Chorus และท่อน Bridge เป็นท่อนที่มีคอร์ดซึ่งแตกต่างออกไป นำเสนอความ Lyrical มีการใช้คอร์ด VI หรือคอร์ด A Major เข้ามาเพื่อทำให้เพลงฟังดูมีความสุขสดใสมากขึ้น เช่น ในนาทีที่ 0:54 จะสังเกตได้เลยว่าบริบทของเพลงถูกเปลี่ยนแปลงไปก่อนที่จะค่อย ๆ กลับมาดาร์คลงเหมือนเดิม และในท่อน Bridge ก็มีการใช้คอร์ดที่ถูกยืมมาจาก relative key ด้วยเช่นกัน
แนวทำนองในเพลงนี้เองก็มีการร้องย้ำโน้ตตัวเดียวเยอะมาก โดยเฉพาะในท่อน Chorus อย่างเช่น 거리 위 텅 빈 듯한 이 느낌.. 열기로 가득 채워 Reloading เป็นการร้องย้ำที่โน้ตตัว C# และปิดท้ายด้วยตัว G# ซึ่งเป็นแพทเทิร์นหลักของแนวทำนองนี้ หรือทำนองหลังจากนั้นที่ร้องว่า 경계를 Break break out 어디든지 겨눠 봐 이젠 우리가 방아.. ก็เป็นการร้องย้ำอยู่แค่โน้ตตัว G# ตัวเดียว
เมื่อเข้าสู่ ท่อน Verse ท่อนของแจมินจะเป็นการร้องสลับไปมาระหว่างโน้ต C# และ G# นั่นจึงทำให้เป็นที่สังเกตได้ว่าเพลงนี้นอกจากจะเน้นคอร์ดแล้ว ตัวโน้ตหลักของแต่ละคอร์ดก็ถูกใช้อย่างเต็มที่ เป็นเหตุผลที่ทำให้เพลงนี้ติดหูง่าย สร้าง earworm ให้กับผู้ฟังจากการฟังแค่เพียงครั้งเดียว
ทำนองในช่วงอื่นของเพลงก็มักจะเป็นการเคลื่อนที่ของโน้ตในช่วง range ใกล้เคียงกัน ส่วนใหญ่มักเป็นการเล่นไล่โน้ตไปมาระหว่าง 2-3 ตัว และที่น่าสนใจมากก็คงจะเป็นท่อนที่ร้องว่าridin' and rollin' oh baby ที่มีการเน้นโน้ต B ซึ่งเป็น leading tone ไปหา C# ที่เป็นโน้ตหลักของเพลง โดยปกติเรามักไม่ได้เห็นการใช้โน้ตคู่นี้ในเพลง K-pop เป็นปริมาณมาก ๆ ต่อเพลงแต่เพลงนี้กลับดึงขึ้นมาเป็นหนึ่งในทำนองหลัก ติดหูคนฟัง
โครงสร้าง
แม้จังหวะจะเร็วมากแต่ Intro ของเพลงนี้มีความยาวเพียง 4 ห้องเท่านั้น ไม่ต้องมีการพูดพร่ำทำเพลงยืดเยื้อก็กระโดดเข้าสู่ท่อน Chorus ทันที นั่นทำให้คนได้รู้จักและคุ้นเคยกับท่อนฮุค หากแต่ว่าเป็นการนำมาแค่เพียงครึ่งเดียวเท่านั้นก่อนที่จะเข้าสู่ท่อน Verse เลย
ถือว่าเป็นเพลงที่มีท่อนฮุคยาวมาก ยาวเป็นเท่าตัวของเพลง K-pop โดยทั่วไป แม้จะมีท่อน Verse ถึง 4 ท่อนรวมไปถึงท่อนอื่น ๆ อีก ที่สามารถทำแบบนี้ได้ก็เนื่องมาจากการตัดท่อน Intro ให้สั้นลงและความเร็วของเพลงที่ 149 BPM ทำให้สามารถใส่ความหลากหลายลงไปในเพลงได้โดยไม่มีข้อจำกัดมากนัก
นอกจากท่อนฮุคแล้วนั้น ท่อน Bridge ของเพลงนี้เองก็มีความยาวเป็นเท่าตัวจากเพลงทั่วไปด้วยเช่นกัน โดยทั่วไปก็น่าจะมีแค่เพียงท่อนร้องนาทีที่ 2:33-2:45 เท่านั้น หากแต่เพลงนี้ยังมีเวลาเหลือมากเพียงพอให้ทำการ build up อารมณ์ไปต่อได้อีกถึง 8 ห้อง.. ก่อนที่จะจบเพลงโดยปราศจาก Outro
องค์ประกอบ
เพลงนี้เป็นเพลงที่มีแนวเบสโดดเด่น ชัดเจน และมีความหลากหลายในตัวมันเองมากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกเพลงไตเติ้ลที่ผ่านมาของ NCT Dream ที่ส่วนใหญ่มักจะเล่นอยู่เพียงไม่กี่โน้ตซ้ำไปมา หรือโน้ตลากเป็นหลัก แต่เบสของเพลง Ridin' กลับนำเสนอมากกว่านั้น โดยเฉพาะในท่อนฮุค มีแนวการเดินของโน้ตที่หลากหลายขึ้น ช่วงเสียงกว้างขึ้นไม่ได้แพ้ไปจากทำนอง แถมยังมีการใช้เทคนิค Glissando ที่เสียงดังฟังชัดเพื่อสื่อถึงเสียงเร่งเครื่องยนต์ แถมยังมีแนวเบสเพิ่มขึ้นมาอีก 1 เลเยอร์เป็นการประสานแนวเบสกันเองในบางจุดอีกด้วย.. นอกจากนี้ก็ยังมีการนำเสนอในลักษณะอื่น เช่น ในท่อน Verse จะเป็นเสียงลากโน้ตที่ต่ำมากจนหูของเราแทบฟังไม่ออกว่าเป็นตัวอะไร แถมยังมีการปรับให้เนื้อเสียงแตกเหมือนใส่ distortion ด้วย และในท่อน Pre-Chorus ที่เบสกระโดดขึ้นมาอยู่ใน Octave ที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเพื่อซัพพอร์ตแนวร้องและดนตรีที่สงบลง เรียกได้ว่าเพลงนี้เป็นเพลงที่มีแนวเบสสมบูรณ์แบบที่สุดเพลงนึงเลยก็ว่าได้
Synthesizer ในเพลงนี้น่าสนใจมาก มีการใช้รูปแบบเสียงที่หลากหลายเยอะแยะไปหมดมาผสมผสานกัน ตั้งแต่ Intro ต้นเพลง, เสียงโน้ตแทรกในท่อนฮุค (0:19), เสียงไซเรนตลอดเกือบทั้งเพลง (0:27), เสียงเล็กเสียงน้อยฉวัดเฉวียนไปมาใน Verse 2 (0:38), *countermelody ในท่อน Pre-Chorus (0:51) เป็นต้น ซึ่งถ้าหากทำไม่ดีก็จะรกฟังดูวุ่นวายและหนวกหูมาก แต่ในเพลงนี้กลับมีการบาลานซ์ให้ทุก ๆ เครื่องดนตรีมีความพอดี ฟังแล้วลงตัวกับแนวร้อง
*Countermelody - ทำนองรอง
มีการใช้ Percussion ที่เสียงกระแทกกระทั้นมาก ไม่ว่าจะเป็นช่วงเสียงต่ำกลางสูง ล้วนแต่มีการ attack หัวเสียงที่ชัดเจน หากใส่หูฟังแล้วเปิดเสียงดังก็อาจจะมีหูดับกันได้ แต่ต้องยอมรับว่าเสียง Percussion ที่มีหลากหลายเสียงมาก (น่าจะเกิน 10 แบบ) ทำให้เพลงมีความสนุก มันส์ และสร้าง contrast ทางอารมณ์ที่ชัดเจนมากเมื่อเข้าสู่ท่อน Pre-Chorus กับ Bridge ที่เสียงเครื่องกระทบหายไป
ความเงียบเองก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญและสร้างความแตกต่างให้กับเพลงได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในท่อน Verse 3 หลังจาก Chorus ที่เสียงดนตรีต่าง ๆ ถูกดรอปหายไปเหลือไว้เพียงเสียงเอฟเฟคเล็กน้อยและแร็พตามสไตล์เพลงของ SM Entertainment เลย เป็นการเปลี่ยน section ได้ยอดเยี่ยมมาก สร้างความน่าสนใจให้กับเพลงมากยิ่งขึ้น
นอกจากความเงียบแล้วสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในท่อนแร็พคือการใช้จังหวะ Triplets หรือ 3 พยางค์ (3 คำใน 1 จังหวะ) ในท่อนแร็พของเฉินเล่อที่ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ตื่นเต้น เร้าใจ แนวการร้อง เพลง Ridin' เป็นเพลงที่ไปสุดในทุกแง่มุมจริง ๆ แม้แต่ช่วงเสียงการร้องที่ทำลายสถิติเก่าทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการลงต่ำไปถึงตัว G#2 ซึ่งต่ำมากสำหรับมนุษย์ผู้ชายโดยทั่วไป (แถมร้องซ้ำไปซ้ำมาอีก ยากมาก) และขึ้นไปถึงตัว C#5 เป็นการร้องในช่วง Octave 2 และ 5 เป็นครั้งแรกเลยในบรรดาเพลงไตเติ้ลของ NCT Dream ทั้งหมด
ท่อน 0:31-0:37 เป็นท่อนที่มีการร้องใน range เสียงที่กว้างมาก มีการไล่ลงไปต่ำถึงตัว C#3 ก่อนที่จะร้องสูงขึ้นไป 1 Ovtave และจบท้ายด้วยตัว G#4.. โดยปกติทั่วไปแล้วช่วงต้นเพลงมักจะมีทำนองที่เรียบง่าย ไม่หวือหวา แต่เพลงนี้กลับแตกต่างออกไป ไม่มีการกั๊กใด ๆ ทั้งสิ้น ตลอดทั้งเพลงมีการนำเสนอความหลากหลายไม่ซ้ำเดิมแทยจะตลอด
Chromaticism คืออีกหนึ่งทำนองที่โดดเด่นมากในแนวร้อง ตั้งแต่ในท่อน Verse 2 นาทีที่ 0:38 ที่เป็นการไล่โน้ต B-A#-A-G# จะสังเกตได้ว่าการไล่โน้ตเป็นลักษณะครึ่งเสียงก่อให้เกิดความรู้สึกที่อึดอัดเล็กน้อยอย่างหาคำตอบไม่ได้ เนื่องจากช่วงเสียงระหว่างแต่ละตัวโน้ตที่ค่อนข้างแคบ.. และไลน์ Chromatic นี้ก็กลับมาอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งในท่อนฮุคครึ่งหลังนาทีที่ 1:24-1:09 ซึ่งเป็นการไล่โน้ตชุดเดิมในช่วงเสียงที่สูงขึ้นไป 1 Octave
มีการใช้เสียง Background Vocals ที่ค่อนข้างหนาหลายเลเยอร์ คอยสอดแทรกช่วงสั้น ๆ ตลอดทั้งเพลง และแม้ว่าจะไม่ได้มีความสำคัญในการสร้าง Harmony หลักเหมือนกับเพลงก่อนหน้าขนาดนั้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเสียงประสานเหล่านี้ในท่อน Pre-Chorus ทำให้เพลงมีมิติมากขึ้น ยิ่งเมื่อรวมกับเสียง Synthesizer ที่ลากคอร์ดคอยซัพพอร์ตแล้วนั้นยิ่งทำให้ท่อนนี้ฟังสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงท่อนฮุคอย่างในนาทีที่ 1:13 ที่ขาดเสียงประสานนี้ที่เข้ามาช่วยเพิ่มความแข็งแรงไปไม่ได้เลย.. หรือแม้แต่ท่อน Bridge ที่ 2 นาทีที่ 2:46 ที่เสียงประสานคือองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดรองจากเสียงร้องหลัก หากไม่มีเสียงประสานเหล่านี้ก็จะทำให้เสียงร้องหลักฟังดูแผ่ว อ่อนแรง ไม่ดุดันเพียงพอแม้จะร้องดังและกระแทกกระทั้นแค่ไหนก็ตาม
หนึ่งในแนวร้องที่น่าประทับใจที่สุดของเพลงนี้แน่นอนว่าต้องเป็นแนว Countermelody โดยเฉพาะตั้งแต่นาทีที่ 1:24 เป็นต้นไป มันทำให้เพลงไพเราะขึ้นอีกหลายเท่าตัวมาก.. ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความแปลกใหม่ในเพลงของ NCT Dream ที่มีการใช้องค์ประกอบแบบนี้หลังจากที่ลักษณะการแต่งเพลงที่มีแนวทำนองสองแนวซึ่งมีความสำคัญใกล้เคียงกันทั้งแนวบนล่างสวนกันไปมาแบบนี้เคยถูกใช้มากในช่วงที่เพลง K-pop กำลังรุ่งเรืองช่วงแรก ๆ ลักษณะ การสอดประสานทำนอง *Counterpoint แบบนี้เป็นการประพันธ์เพลงที่นิยมมากในสมัยยุคบาโรค เมื่อนำมาใช้ในเพลงสมัยใหม่กับเครื่องดนตรีที่มีความเป็น Electronic มันทำให้เพลงนี้ก้าวข้ามไปอีกขั้นและแตกต่างจากเพลง K-pop อีกหลายเพลงเลยทีเดียว
*Counterpoint - ทำนองอิสระหลายทำนอง (บางสถาบันหมายถึง การสอดทำนอง) แต่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน นำมาบรรเลงหรือร้องในเวลาเดียวกันคำว่าเค้าน์เต้อร์พ้อยท์มาจากภาษาลาตินว่า punctus contra punctum หมายถึงทำนองหนึ่งปะทะกับอีกทำนองหนึ่ง (cr: thaicontemp.com/p/tip.php) ____________________________________
บทสรุป
จะเห็นได้ว่าแต่ละเพลงของ NCT Dream มีลูกเล่นและรูปแบบที่ค่อนข้างชัดเจนในตัว แต่ในขณะเดียวกันองค์ประกอบต่าง ๆ เหล่านั้นก็มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถสรุปออกมาแยกตามแต่ละหัวข้อได้ ดังนี้
คอร์ด - เสียงประสาน
- Chord Progression ไม่วุ่นวายเลย จำนวนคอร์ดที่ใช้น้อยทำให้ไม่ complex เข้าใจยากเกินแล้วทดแทนด้วยองค์ประกอบอื่น ๆ แทน
- มีการใช้ Modal Mixture และยืมคอร์ดจากคีย์อื่นเข้ามาผสมผสานอยู่ตลอด
- เสียงประสาน หนา มีหน้าที่เป็นตัวสร้าง Harmony หลักของเพลง
- ช่วงหลัง ๆ มามีการใช้คอร์ดแจ๊ส ทำให้จากคอร์ดปกติมีสีสันที่แตกต่างออกไปมากขึ้น
- การใช้โน้ตซ้ำ ๆ ย้ำตลอดประโยคและแพทเทิร์นการเดินของโน้ตแบบเดิมเพื่อช่วยในการจดจำเพลง
โครงสร้าง
- ในช่วงแรกไม่มีท่อน Pre-Chorus แต่เป็นการส่งช่วงท้าย Verse เข้า Chorus เลย ก่อนที่เพลงในช่วงหลัง ๆ จะมีเพิ่มแยกออกมาอย่างชัดเจน
- มีเพียงเพลง We Go Up เพลงเดียวที่เริ่มต้นเพลงมาแบบไม่มี Intro เลย
- หลังจาก Intro ทุกเพลงจะเริ่มต้นมาด้วยท่อน Verse ยกเว้นเพลง Ridin' ที่เปิดมาด้วย Chorus
- ในช่วงแรกท่อน Bridge มักจะเป็นท่อนแร็พมีจังหวะค่อนข้างไวแต่ช่วงหลังมาจะเป็นท่อนที่โชว์ความ contrast ของดนตรี
- หลังท่อนฮุคของทุกเพลงจะเป็นท่อนแร็พ เสมอ
องค์ประกอบ
- แนวเบส มีความโดดเด่นและถูกนำเสนอออกมาเป็นสิ่งแรกในทุกเพลง มีการพัฒนาแนวเบสขึ้นมาเรื่อย ๆ ในทุกเพลงไตเติ้ล เรียกได้ว่าเบสคือทุกอย่างของเพลง NCT คือ Ostinato ที่มีความสำคัญและอยู่คู่กับเพลงตั้งแต่ต้นจนจบ
- Chromatic การไล่โน้ตทีละครึ่งเสียงเป็นสิ่งที่มีอยู่ในเกือบทุกเพลงของ NCT Dream โดยเฉพาะในเพลง Chewing Gum และ Ridin' ที่มีการไล่โน้ต 4 ตัว ส่วนเพลงอื่นเป็นโน้ต 2 ตัวสลับวนไปมา
- มีความ Futuristic สูงมากจากการใช้ Synthesizer เสียงสังเคราะห์เป็นหลัก ไม่ใช้เครื่องดนตรี Acoustic เลย
- เทคนิค Glissando ถูกใช้มากขึ้นจากที่เป็นแค่เอฟเฟคประกอบเพียงเล็กน้อยต่อเพลงก็กลายเป็นหัวใจหลักที่ดำเนินอยู่ตลอดเวลา
- เสียงดีดนิ้ว ถูกใช้บ่อยมากในช่วงหลัง ๆ ระหว่างท่อนที่มีความ Lyrical
แนวการร้อง
- มีช่วง Range เสียงในการร้องที่กว้างขึ้น (สูงขึ้น-ต่ำลง) ในทุกไตเติ้ล
- เทคนิค ต่าง ๆ เองก็เพิ่มขึ้น จากการร้องธรรมดาในวัยเด็กก็ค่อย ๆ มีการเพิ่มเสียง Falsetto ก่อนที่ช่วงหลัง ๆ จะมีการ challenge แนวร้องให้มีการเปลี่ยนสลับเทคนิคไปมาเยอะขึ้น
- มีการใช้ autotune ปรับเนื้อเสียงลดลงอย่างเห็นได้ชัด
- Background Vocals แนวร้องประสานจากที่เคยเสียงดังมากจนแทบกลบแนวร้องหลักหมดก็ค่อย ๆ ถูกลดลง และปรับเปลี่ยนให้มีลูกเล่นหลากหลายรูปแบบมากขึ้นไม่ใช่แค่การสร้าง Harmony ในแนวตั้งเท่านั้น
- มีการใช้เสียง speaking-singing หรือเสียงตะโกนเพื่อเป็นการสร้าง Harmony อีกรูปแบบ นอกจากนี้ยังมี adlib สอดแทรกอยู่มากมายตลอดทั้งเพลง ไม่ซ้ำจำเจเลย
จากรายละเอียดทั้งหมดที่ได้กล่าวมานั้น เมื่อนำมาผสมรวมกันอย่างดีและลงตัวแล้วก็จะออกมาเป็นเพลงแบบ NCT Dream ที่เมื่อได้ฟังก็จะรู้สึกคุ้นเคย นี่แหละน้องดรีม นี่แหละจักรวาล NCT แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกว่ามันไม่ธรรมดา ไม่น่าเบื่อ มีสิ่งที่น่าค้นหา แปลกใหม่ และทำให้ผู้ฟังตื่นเต้นได้อยู่เสมอ ต้องขอซูฮกผู้แต่งและผู้เรียบเรียงเสียงประสานทุกท่านที่สร้างผลงานอันสมบูรณ์แบบออกมามากมาย
อยากจะรู้แล้วว่าในอนาคตเพลงของ NCT Dream จะยังคงความเป็นดรีมมี่ได้อยู่มั้ย
แล้วจะมีอะไรฉีกแหวกแนวจากเดิมออกไปอย่างไร
ก็คงต้องรอลุ้นกันต่อไป...
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in