เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
แว่นขยายเพลง k-popryeomook
วิเคราะห์ดนตรี NCT DREAM (Part I)
  • Dear Dream... สุขสันต์วันครบรอบ 4 ปี NCT Dream


    บทวิเคราะห์นี้จะแตกต่างจากการวิเคราะห์เพลงอย่างละเอียดในทุก ๆ ครั้ง เพราะผู้เขียนอยากจะนำเสนอลักษณะ สไตล์การแต่งเพลง องค์ประกอบต่าง ๆ ของเพลงไตเติ้ลทั้ง 6 เพลงโดยสังเขป เพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางด้านดนตรีของวงดรีมตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมาว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด แล้วอะไรคือกิมมิคประจำเพลงของวงน้องเล็กแห่งตึกชมพู

      (อย่าลืมเปิดเพลงฟังควบคู่ไปด้วยนะ)




    ทุกวันนี้คงไม่มีใครในวงการติ่งที่จะไม่รู้จักวงบอยแบนด์ที่เดบิวต์ด้วยอายุเฉลี่ย 15.6 ปี อย่างวง NCT Dream ยูนิตน้องเล็กแห่งจักรวาล NCT ซึ่งเปิดตัวมาด้วยเพลง Chewing Gum ตั้งแต่เมื่อปี 2016 


    Written by Kenzie, Mark (NCT), Thomas Troelsen, Jo-Yoon-Kyung, Jang Minji (JF), Moon Sulli (JF) & Jo Yoon Gyung
    Composed by Thomas Troelsen & Kenzie
    Arranged by Thomas Troelsen & Kenzie

    C# Major - 104 BPM


    คอร์ด - เสียงประสาน

    • บทเพลงนี้เป็นหนึ่งในเพลงที่เรียกได้ว่ามีการใช้คอร์ดหลักและแนวการเดินคอร์ดที่ 'ปกติ' 'ธรรมดา' 'มาตรฐาน' มากที่สุดเพลงหนึ่งของ NCT เลยก็ว่าได้ เนื่องจากมีจำนวนคอร์ดที่ใช้ในเพลงน้อย ไม่ได้หลากหลายมากเท่ากับเพลงในยุคหลังมา มีการใช้คอร์ดซ้ำค่อนข้างมากโดยเฉพาะ C# ซึ่งเป็นคอร์ดหลักของเพลง

    • แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังคงไม่ทิ้งความเป็น SM Entertainment ที่มักใช้รูปแบบของ Modal Mixture ซึ่งผสมระหว่างดนตรี Major ที่มีความสดใสและ Minor ที่จะออกดาร์คกว่าเข้าด้วยกัน แม้เพลงนี้จะชัดเจนว่าอยู่ในบันไดเสียงที่เป็น Major แต่ก็จะมีการสอดแทรกใช้คอร์ด Minor รวมไปถึงการยืมคอร์ดจากคีย์ Minor มา เช่น ในท่อน Chorus นาทีที่ 1:02 มีการใช้คอร์ด A ซึ่งไม่ได้อยู่ในคีย์ C# แต่กลับยืมมาจาก C#m อีกทีนึงเป็นต้น

    • เมื่อพูดถึงการเล่นเสียง Major-Minor แล้วก็จะต้องพูดถึงแนวทำนองซึ่งมีการผสมผสาน หลอกหูตลอดเกือบทั้งเพลง เช่น นาทีที่ 0:28 ดนตรีในช่วงนี้ถูกดรอปไปหมดจนเหลือเพียงแนวเบสที่เล่นโน้ตตัว C# บ่งบอกยืนยันว่านี่คือคอร์ดที่มีโน้ตหลักตัวแรกเป็นตัว C# แน่นอน แต่แนวทำนองกลับมีการร้องโน้ตตัว E แทนที่จะเป็นตัว E# (F) นั่นทำให้เพลงเปลี่ยนสีสันกลายเป็นมีความมืดมนขึ้น แม้เพียงเล็กน้อยแต่ก็ทำให้การสื่อถึงเด็กวัยใสน่ารักกลับกลายเป็นเด็กที่แอบมีความร้ายกาจซ่อนอยู่ภายในอย่างที่ผู้ฟังอาจไม่ทันได้ตั้งตัว


    โครงสร้าง

    • ทุก ๆ หลังท่อนฮุคจะมีการแทรกด้วยท่อน Post-Chorus ที่ยกเอาทำนองจาก Intro ตอนต้นเพลงมาร้องซ้ำ ความยาว 4 ห้อง ก่อนที่ทำนองนี้จะถูกนำมาร้องอีกครั้งในตอนท้ายเพลงเป็น Outro ความยาว 8 ห้องเพลง

    • ท่อน Bridge ของเพลงนี้เป็นการร้องแร็พตลอดความยาว 8 ห้อง ซึ่งจะค่อนข้างแตกต่างจากเพลงของ SM หลายเพลงที่จะเน้นไปที่จะเน้นนำเสนอองค์ประกอบทางดนตรีใหม่ ๆ  รวมไปถึงคอร์ดที่แตกต่างออกไปจากช่วงก่อนหน้า และการเน้นโชว์ Vocal ก่อนที่จะปิดด้วยไฮโน้ตเพื่อส่งเข้าฮุคสุดท้าย




    องค์ประกอบ

    • ในแง่ขององค์ประกอบทางดนตรีนั้นจะสังเกตได้ว่าเพลงของ NCT จะมีการเน้นเสียงเบสค่อนข้างมาก อย่างในเพลงนี้ตั้งแต่เริ่ม Verse แรกในนาทีที่ 0:09 ก็จะสามารถได้ยินเสียงเบสที่ผสมกับ Percusssion อย่างชัดเจน แม้เพลงจะสดใสแค่ไหนแต่ก็ไม่เคยทิ้งความหนักแน่น นอกจากนี้ก็จะมีการใช้เสียงเครื่องกระทบที่หลากหลายมากโดยจะเน้นที่เสียงสูงเพื่อทำให้เกิดความตื่นเต้นและสนุกสนาน

    • การใช้โน้ต Chromatic หรือการไล่เสียงที่มีความห่างระหว่างแต่ละเสียงเพียงครึ่งเสียงนั้นถูกใช้เป็นทำนองหลัก เป็นกิมมิคของเพลงเลยก็ว่า ตั้งแต่เริ่มต้นเพลงที่ร้อง ชู ชู ชู ชู ชูวิ่งกัม มีการไล่ระดับโน้ตไต่ลงต่ำซึ่งมีความห่างครึ่งเสียงเกือบทั้งหมด โดยลักษณะ Chromaticism นี้จะสร้างความรู้สึกที่หลอกหลอนหู ความสงสัย น่าพิศวงให้กับผู้ฟัง

    • มีการดรอปเงียบหลังจากท่อนฮุคตั้งแต่ช่วงนาทีที่ 1:09 จะสังเกตได้ว่าดนตรีจะค่อย ๆ บางลงเรื่อย ๆ จนเหลือเพียงเสียง Bass Drum ก่อนที่จะเข้าสู่ท่อน Verse ถัดไปที่มีเพียงเสียงร้องหลักและเสียงประสานในนาทีที่ 1:14 นี่ถือเป็นเทคนิคที่ถูกใช้บ่อยมากในเพลงของ SM โดยเฉพาะ NCT ที่มีการลดบทบาทของดนตรีลงหลังจากท่อนฮุคเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศและอารมณ์ของเพลง


    แนวการร้อง

    • หนึ่งในจุดที่น่าสนใจมากของเพลงนี้คือการที่ผู้ฟังหลายท่านอาจไม่สามารถบอกได้อย่างแน่ชัดว่าเสียงของแต่ละคนเป็นอย่างไร เนื่องจากการใช้เสียง Background Vocals เข้ามาประสานแทบจะเกือบตลอดทั้งเพลง ตั้งแต่ร้องคำแรกยันคำสุดท้าย (ยกเว้นช่วงแร็พ) แถมยังเป็นแนวประสานที่หนา มีหลายแนวไม่ใช่แค่เพิ่มมา 1 เสียงแต่กลับมามากกว่านั้น สร้างให้เกิดเป็นคอร์ดที่มีสีสันน่าสนใจมาก แถมยังถูกตั้ง Volume ไว้ค่อนข้างดังด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่า Harmony ของเพลงนี้ส่วนใหญ่ก็มาจากแนวร้องนี่แหละ

    • หรือต่อให้จะเป็นเสียงร้องโน้ตเดียวแต่ก็ยังมี BG Vocals ที่ร้องทับโน้ตเดียวกันเข้าไปอีกด้วย เช่น ในนาทีที่ 0:28 ในกรณีนี้อาจคาดเดาได้ว่าต้องการเพิ่มความหนาของเสียงร้องเนื่องจากเนื้อเสียงของเด็กจะยังค่อนข้างบาง จึงต้องการเสียงเพื่อซัพพอร์ตเพิ่มเติม

    • นอกจากนี้ยังมีการใช้ Autotune เพื่อปรับเนื้อเสียงจากต้นฉบับไปค่อนข้างมาก แต่การปรับเนื้อเสียงในเพลงนี้นั้นก็เพื่อให้เข้ากับบริบทของเพลงที่มีความสนุกสนาน สดใส ขี้เล่น และเพื่อให้เข้ากับดนตรีที่เป็น Synthesizer ทั้งหมดเสียงที่ออกมาจึงมีความเป็น Electronic ซุกซ่อนอยู่ด้วย แม้แต่เสียงประสานเองก็ถูกปรับแต่งอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน

    • แนวทำนองในเพลงนี้นั้นไม่มีช่วงเสียงต่ำเลย แทบตลอดทั้งเพลงเมโลดี้จะอยู่ในช่วงเสียงกลางและสูงเป็นหลัก อาจเนื่องมาจากสรีระตามวัยของนักร้อง รวมไปถึงสไตล์เพลง แต่ก็จะสังเกตได้ว่าเสียงประสานเข้ามาช่วยเติมเต็มรวมไปถึงเสียงเครื่องดนตรีอื่น ๆ โดยเฉพาะเบสที่ทำให้เพลงนี้มีฐานที่มั่นคงแข็งแรง


    _____________________________________



    ครึ่งปีถัดมา NCT Dream ได้ปล่อยมินิอัลบั้มแรกพร้อมเปิดตัวด้วยเพลงไตเติ้ล My First and Last บทเพลงที่ยังคงความเป็นเด็กวัยใสแต่ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก


    Written by Mark (NCT)
    Composed by August Rigo, Justin Davey & Ryan Jhun

    D Major - 108 BPM

    คอร์ด - เสียงประสาน

    • หากฟังเพียงช่วงต้นเพลงก็จะรู้สึกว่าเพลงนี้นั้นน่าจะอยู่ในคีย์ D minor เนื่องจากแนวเบสนั้นเล่นโน้ตสามตัวคือ D E F ไม่ใช่ F# จนกระทั่งเข้าสู่ท่อน Verse ที่แนวทำนองกลับร้องในบันไดเสียง Major! โดนเพลงของวงนี้หลอกอีกเช่นเคย.. กว่าที่เพลงจะมีความชัดเจนก็เข้าสู่ท่อน Chorus ในนาทีที่ 0:54 แล้ว ซึ่งอารมณ์ของเพลงนั้นเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเนื่องจากเสียงประสาน Harmony คอร์ด D Major

    • และแน่นอนว่าก็ยังคงหนีไม่พ้นการใช้ Modal mixture ในเพลงนี้อย่างเช่นในนาทีที่ 0:38 หรือแม้แต่ในท่อนฮุคที่มีการใช้ Borrowed chord ซึ่งถูกยืมมาอีกทีด้วยเช่นกัน

    • ท่อน Chorus มีความน่าสนใจมาก จะสังเกตได้ว่ามีการร้องประสานเสียงเพื่อสร้าง Harmony แต่จะมีบางช่วงจังหวะที่เสียงประสานจะหายไป เช่น ในนาทีที่ 1:07 ซึ่งนั่นทำให้เหลือเพียงเสียงเบสที่เป็นโน้ตตัว Bb กับแนวทำนองซึ่งเป็นโน้ตที่กัดกันและอาจจะไม่ใช่ส่วนหนึ่งของคอร์ดนี้เลยด้วยซ้ำ คนแต่งจงใจเว้นว่างคอร์ดพิศดารนี้ให้ผู้ฟังได้เกิดความฉงนสงสัยเล็ก ๆ ว่าสรุปแล้วต้องการจะสื่อถึงอารมณ์แบบไหนกันแน่ กว่าจะมาเฉลยก็ปาเข้าไปนาทีที่ 3:12 ซึ่งเป็นตอนท้ายของเพลงแล้วว่ามันคือคอร์ด Bb Major แบบไม่ต้องให้คาดเดาจากเพียงเบส เมื่อเทียบกับภาพใน MV แล้วก็คงจะเปรียบได้กับความสงสัยของเด็ก ๆ ที่แอบชอบคุณครูก่อนที่จะมาเฉลยว่าคุณครูนั้นไม่โสดแล้วนะในตอนจบ


    โครงสร้าง

    • หลังจากท่อนฮุคในเพลงนี้มีการสอดแทรกด้วยท่อนแร็พความยาว 4 ห้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลกเลยทีเดียว เนื่องจากเรียกได้ว่าหลุดจากฟอร์มปกติของเพลงป็อป เพราะมันไม่ใช่ทั้ง Post-Chorus หรือ Instru และไม่ใช่ส่วนหนึ่งของ Verse ถัดไปด้วยเช่นกัน

    • ท่อน Bridge ของเพลงนี้เองก็ค่อนข้างแปลก เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วแต่ละท่อนมักจะมีความยาวอยู่ที่ 8 ห้องหรือในเพลงนี้ก็จะมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 17 วินาที เช่น ท่อนฮุคที่สองตั้งแต่ 1:56-2:13 แต่ว่า Bridge กลับมีความยาวถึง 12 ห้องตั้งแต่ 2:13-2:41 หรือประมาณ 38 วินาที นั่นทำให้ผู้ฟังอาจรู้สึกว่าท่อนนี้มันยาวแปลก ๆ



    องค์ประกอบ

    • เพลงนี้ยังคงเป็นเพลงที่เน้นการใช้เสียง Sample หรือจาก Synthesizer เป็นหลัก มีการใช้เครื่องดนตรี Electronic อย่างเสียงกีตาร์ไฟฟ้าและเบสโดยที่ไม่มีเสียงเครื่อง Acoustic เลยเหมือนกับเพลง Chewing Gum นอกจากนี้ยังมีการใช้เสียง Synthesizer ที่คล้ายคลึงกันมาก ในเพลง Chewing Gum ท่อนฮุคจะมีแนว *Countermelody สอดแทรกขึ้นมาส่วนในเพลงนี้ก็จะมีเช่นกันอย่างในนาทีที่ 3:08 ที่มีลักษณะคล้ายกับเสียงของเครื่องสายไล่ขึ้นลงไปมา เป็นต้น

    *Countermelody - ทำนองรอง
    • เริ่มต้นเพลงมาแบบไม่ต้องพูดพร่ำทำเพลงอะไร เสียงเบสก็กระแทกมาอย่างดุดัน แข็งแรง เล่นวนอยู่แค่เพียงโน้ตสามตัวเป็นหลัก (ก่อนที่จะมีกีตาร์/เบสอีกแนวนึงเพิ่มขึ้นมาในนาทีที่ 0:28) แนวเบสนี้ยังคงดำเนินอยู่แทบจะตลอดทั้งเพลงทั้งในท่อนฮุค ท่อน Bridge และ Verse อื่น ๆ เรียกได้ว่าเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญมาก สื่อถึงความมุทะลุ ความแข็งแกร่ง ความดื้อรั้น เหมือนกับความรักอันรุนแรงเร่าร้อนอย่างฉุดไม่อยู่ของเด็กวัยรุ่น

    • หลังจากท่อนฮุคกลายเป็นท่อนแร็พที่ดนตรีกลับมาบางอีกครั้ง แม้จะมีเสียงเบสอันหนักแน่นประคองอยู่ตลอดแต่เสียงประสานต่าง ๆ นั้นกลับหายไป.. เทคนิคการใช้ความเงียบนั้นถูกใช้อีกในนาทีที่ 2:14 ซึ่งเป็นท่อน Bridge ซึ่งมักจะเป็นท่อนที่มีความแตกต่างจากส่วนอื่นของเพลง โดยรอบนี้เหลือเพียงแค่เสียงร้องแร็พกับ Percussion เท่านั้น ก่อนที่จะกลับมาดรอปอีกครั้งในท่อนฮุคสุดท้ายนาทีที่ 2:41 ซึ่งนอกจากนั้นก็ยังมีการเปลี่ยนลักษณะจังหวะดนตรีที่ให้ความรู้สึกว่าเพลงนั้นช้าลงเท่าตัวด้วยเช่นกัน


    แนวการร้อง

    • เป็นอีกครั้งที่ Background Vocals มีความสำคัญมาก เนื่องจากตัวดนตรีเน้นไปที่เสียงเบสกับจังหวะเป็นหลัก ทำให้เสียงร้องประสานรับหน้าที่ในการสร้าง Harmony ทั้งหมดรวมไปถึงซัพพอร์ตแนวร้องหลักที่ยังคงมีเนื้อเสียงบางอีกด้วยเช่นกัน

    • แนวทำนองส่วนใหญ่ในเพลงนี้ยังคงอยู่ในช่วงเสียงสูง มีการเพิ่มเทคนิค Falsetto หรือเสียงหลบที่ไม่มีในเพลงก่อนหน้า แต่ก็จะสังเกตได้ว่าแนวร้องแร็พนั้นจะอยู่ในช่วงเสียงที่ต่ำลงมามากกว่าเพลง Chewing Gum โดยเฉพาะในท่อน Bridge ที่แนวร้องจะอยู่ในช่วงเสียงกลาง-ต่ำ ทำให้เพลงนี้มีความหลากหลายมากขึ้น


    _____________________________________



    กระโดดข้ามมาในปี 2018 NCT Dream ได้ปล่อยเพลง Go ออกมาซึ่งเป็นหนึ่งในเพลงจากอัลบั้ม Empathy ที่รวมเพลงของ NCT หลากหลายยูนิตไว้ด้วยกัน เพลงนี้เป็นเหมือนกับจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของวงน้องเล็กที่กำลังก้าวข้ามผ่านไปสู่ดนตรีที่มีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น


    Lyric by 황유빈, 지예원, 마크 (MARK)
    Composed by The Stereotypes, Tiffany Fred, 소피야 (Sophiya), Distract, 유영진
    Arranged by The Stereotypes

    Eb Minor - 132 BPM



    คอร์ด - เสียงประสาน

    • เป็นเพลงที่เมื่อได้ฟังครั้งแรกถึงกับร้องฮะ งงเลยทีเดียวว่าสรุปเพลงนี้อยู่ในคีย์อะไรกันแน่ เนื่องจากโน้ตหลักที่ได้ยินมาตั้งแต่เริ่มเพลง 2 ตัวคือ E และ Eb เล่นสลับกันไปมา แต่โน้ตตัว Eb ในช่วง Intro นั้นกลับเป็นโน้ตตัว *Dominant ของคอร์ด Ab Minor คอร์ดหลักของเพลงนั้นยังไม่ได้ถูกนำเสนอมา นั่นทำให้ช่วงต้นเพลงเมื่อได้ฟังแล้วจะก่อให้เกิดความรู้สึกที่น่าพิศวง สงสัย

    *Dominant - โน้ตตัวที่ 5 ของคอร์ด/สเกล

    • พอเข้าสู่ท่อน Verse กลับกลายเป็นว่าไม่มี Harmony เลย มีเพียงแนวร้องที่เป็นทำนองเท่านั้นที่ยังคงไล่ไปมาอยู่ในสเกล Eb Minor ส่วนท่อน นานานา เองก็ร้องอยู่บนโน้ต Bb ซึ่งเป็นโน้ต Dominant ยิ่งตอกย้ำความสงสัยใคร่รู้ การเรียกร้องที่ต้องการคำตอบของเด็กวัยรุ่น.. กว่าที่ Harmony ชัดเจนจะกลับมาก็เข้าสู่นาทีที่ 1:02 ในช่วงครึ่งหลังของคอรัสแล้ว แต่แน่นอนว่าแทบจะทั้งเพลงยังคงคอนเซปต์ไม่เน้น Harmony เป็นหลัก

    • สิ่งที่น่าสนใจคือมีการนำ *Chord Progression จากช่วง Intro กลับมาใช้อยู่อีกหลายครั้ง อย่างเช่นในช่วงท่อนแร็พนาทีที่ 1:46 และกลับมาอีกครั้งในท่อน Bridge นาทีที่ 2:44 เป็นการตอกย้ำความรู้สึกที่มั่นคงแน่ชัดของเพลงนี้ คำถามที่ยังไม่เคยไปไหน ความรู้สึกที่ยังคงติดอยู่ในใจ

    *Chord Progression - แนวทางเดินคอร์ด
    • เป็นหนึ่งในเพลงที่มีจำนวนคอร์ดหลักน้อยที่สุดในบรรดาเพลงไตเติ้ลของ NCT Dream ทั้งหมด


    โครงสร้าง

    • เนื่องจากเพลงนี้มีจังหวะที่เร็วมากเมื่อเทียบกับสองเพลงก่อนหน้า นั่นจึงทำให้แต่ละท่อนมีช่วงสั้นกว่าและสามารถเพิ่มปริมาณแต่ละท่อนได้ ตั้งแต่ต้นเพลงที่ Intro มีความยาวถึง 8 ห้องเมื่อเทียบกับเพลงก่อน ๆ ที่มีเพียง 4 ห้องเท่านั้น หรือแม้แต่ท่อนฮุคเองก็มีความยาวถึง 16 ห้องซึ่งยาวเป็นสองเท่าของเพลงทั่วไป

    • เพลงนี้ยังคงรูปแบบของการมี Verse 2 ท่อนก่อนที่จะเข้าสู่ท่อน Chorus โดยที่ไม่มีท่อน Pre-Chorus เหมือนกับสองเพลงก่อนหน้า ใช้วิธีการแต่งทำนองที่ส่งเข้าแทนเพื่อประหยัดท่อนไปใช้ในการนำเสนอสิ่งอื่นที่น่าสนใจมากกว่า

    • นาทีที่ 1:46 อยู่ดี ๆ ก็มีท่อนแร็พเพิ่มเข้ามาที่เปรียบได้กับเป็นท่อน Pre-Chorus ของเพลง น่าแปลกใจมากที่ท่อนนี้ถูกเพิ่มเข้ามาแต่กลับไม่มีในรอบแรก แต่ก็ทำให้เพลงนั้นสมบูรณ์แบบและไม่รู้สึกว่ามันมีท่อนแร็พเยอะมากเกินไป

    • ท่อน Bridge ของเพลงนี้ก็ยังคงเป็นท่อนแร็พอีกเช่นเคยเหมือนกับสองเพลงก่อน แต่จะมีความแตกต่างคือการเพิ่มท่อน Bridge รอบที่ 2 ที่เป็นท่อนโชว์การร้องเข้ามานั่นทำให้มีความยาว 16 ห้อง ซึ่งโดยปกติท่อน Bridge มักจะไม่ยาวขนาดนี้ แต่จะเป็นการใช้ท่อน Instru หรือ Dnace Break เพื่อยืดให้เพลงยาวขึ้นมากกว่า

    • นั่นทำให้สิ่งที่หายไปอีกอย่างนึงของเพลงนี้คือท่อน Outro ที่เป็นเหมือนการนำเสนอการเดินทางกลับมาสู่จุดเริ่มต้นที่เป็นเสมือนจุดสิ้นสุด หากแต่เพลงนี้กลับตัดจบฉับทันที คล้ายกับจะบอกว่าไม่ได้ต้องการจะพูดคุยอะไรต่อแล้ว ฉันได้คำตอบแล้วและพอใจแบบนี้ ลาก่อน




    องค์ประกอบ

    • เป็นที่ชัดเจนมากว่าเสียงเบสยังคงเป็นเหมือนกับกระดูกสันหลังหลักของเพลง NCT Dream โดยแนวเบสจะเน้นที่การเล่นโน้ตตัว Eb ซึ่งเป็นโน้ตหลักของเพลง และมีการ *Glissando ขึ้นลงไปมาระหว่าง Eb 2 Octave อีกด้วย เทคนิคเบสแบบนี้จะถูกใช้อีกมากในอนาคต

    *Glissandro - เทคนิครูดสายเพื่อให้เกิดเสียงสไลด์ขึ้นลง

    • หากแต่ในเพลงนี้ไม่ได้มีแค่เบสที่เป็นหัวใจหลัก แต่ยังมีการเพิ่มเสียง Synthesizer ที่คล้ายกับเสียงของกลุ่มเครื่องสายเข้ามาลากคอร์ดในช่วงต่าง ๆ เพิ่ม Harmony ฟังสบายสลับกับการเดินของเบสที่รุนแรงและมีความ Electronic สูงมาก... เพลงของ NCT Dream ยังคงเต็มไปด้วยเสียง Synthesizer และ Effect ในช่วงเสียงสูงมากมายที่มีความ Percussive กระแทกกระทั้น และไม่มีเครื่องดนตรี Acoustic เรียกได้ว่าเป็นดนตรีที่สมัยใหม่อย่างเต็มรูปแบบจริง ๆ

    • Chromaticism ยังคงถูกนำมาใช้เป็นเสมือนการตั้งคำถาม ความสงสัยในเพลงนี้อยู่อีกเช่นเคย ตั้งแต่วินาทีแรกของเพลงที่เล่นสลับไปมาระหว่างโน้ตตัว E และ Eb ก่อนที่โน้ตนี้จะวนเวียนกลับมาอีกหลายครั้ง รวมไปถึงอีกชุด Chromatic ตัว B และ Bb เช่น ในนาทีที่ 1:02 จะสังเกตได้ว่ามีการใช้เสียง Synth เล่นกระแทกเป็นโน้ตสองตัวนี้สลับกัน และจะกลับมาอีกครั้งในนาทีที่ 1:46 ไปพร้อม ๆ กันกับชุด E, Eb ทำให้ท่อน Pre-Chorus นั้นกลายเป็นท่อนที่เต็มไปด้วยความรู้สึกอึดอัดจากเสียงโน้ตเหล่านี้


    แนวการร้อง

    • แนวทำนองเพลงนี้มีช่วง Range ที่กว้างมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากช่วงเริ่มต้นเพลงที่ลงไปต่ำถึงตัว Gb3 ซึ่งต่ำที่สุดแล้วเมื่อเทียบกับเพลงไตเติ้ลที่ผ่าน ๆ มาของวง รวมไปถึงเสียงแร็พในท่อน Pre-Chorus ที่ต่ำมากจนเมื่อเทียบเป็นตัวโน้ตก็แทบจะเกือบลงไปถึง Octave 2 เลยทีเดียว ในขณะเดียวกัยเสียงสูงเองก็มีการไล่ขึ้นไปถึงตัว Bb4

    • เป็นเพลงที่ยังคงมีเสียงประสานจากแนวร้องเป็นตัวสร้าง Harmony อย่างเช่นในนาทีที่ 1:02 ที่มีเสียงประสานมากถึง 4-5 แนวเลยทีเดียว หรือแม้แต่นาทีที่ 1:30 เองก็มีเสียงประสาน ถึงแม้จะแค่ 1 แนวแอบสอดแทรกขึ้นมาแต่ก็สร้างให้เกิดสีสันที่แตกต่างได้ หากตัดเสียง Background Vocals ออกไปเพลงคงจะโล่งจนน่าใจหายเลย

    • เมโลดี้แทบจะเกือบทั้งเพลงจะเป็นการร้องไล่สเกลไปมาอยู่ที่โน้ต 3-4 ตัวบนบันไดเสียง Eb Minor นอกนั้นส่วนใหญ่ตะเป็นการร้องแบบ Speaking-Singing, การแร็พ และการตะโกน ซึ่งทำให้เพลงนี้มีความ aggressive รุนแรง สื่ออารมณ์ที่ก้าวร้าว แตกต่างจากบทเพลงก่อนหน้าของ NCT Dream อย่างสิ้นเชิง


    _____________________________________




    We Go Up บทเพลงที่ถูกปล่อยออกมาในเดือนกันยายนปีเดียวกับเพลง Go แต่กลับมีความแตกต่างในแง่ของคอนเซปต์อย่างชัดเจน



    Lyric by Kenzie & Mark
    Composed by MZMC, Andrew Bazzi (Rice N' Peas), Mike Woods (Rice N' Peas), Kevin White (Rice N' Peas) & Kenzie
    Arranged by Rice N' Peas

    Eb Major - 122 BPM

    คอร์ด - เสียงประสาน

    • หากเพลง Go นั้นทำให้คุณหลงทางหาคอร์ดหา Harmony ไม่เจอแล้วนั้น เพลง We Go Up คือขั้นกว่าไปอีก เนื่องจากตั้งแต่เริ่มต้นเพลงมานั้นเสียงเบสอยู่ในช่วง Range ที่ต่ำถึง Octave แรกจนแทบจะฟังไม่ออกว่าเป็นเสียงโน้ตอะไร (Ab1 กับ Eb1) มีเพียงเสียงจาก Cowbell ที่เคาะเป็นเสียงตัวโน้ตซึ่งเสียงเองก็เพี้ยน ไม่ได้ตรงกับ Pitch ใดพอดี แนวร้องก็เป็นการแร็พไม่มีเมโลดี้ที่ชัดเจนอีก กว่าจะเจอจุดที่ settle ได้จริง ๆ ก็เข้าสู่ท่อน Pre-Chorus ในนาทีที่ 0:35 แล้ว

    • เพลงนี้เป็นอีกครั้งที่คอร์ดหลักของเพลงมีเพียงแค่ 2 คอร์ดคือ Ab และ Eb สลับกันไปมาเกือบตลอดทั้งเพลง แต่มีจุดที่น่าสนใจคือช่วงท้ายของทุกท่อนฮุคจะจบด้วยการไล่เสียงลงมาครึ่งเสียงที่ตัว G อย่างในนาทีที่ 1:05 ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกที่เหมือนกับเพลงจะเปลี่ยนจาก Major ไปเป็น Minor หากแต่ว่าสุดท้ายก็กลับเข้าสู่ Major ปกติเหมือนเดิมหรือแม้แต่กระทั่งตอนจบของเพลงนี้ที่ก็จบด้วยคอร์ดนั้นแล้วก็หายไป กลายเป็นความรู้สึกที่ถูกปล่อยให้ล่องลอยเคว้างคว้างอย่างหาคำตอบไม่ได้

    • นอกจากนั้นก็ยังมีคอร์ด Cm ที่ถูกเสริมเข้ามาบ้างในท่อนฮุค เช่น นาทีที่ 1:01 แม้อาจจะยังฟังไม่ชัดมากแต่ก็น่าจะแค่ให้เกิดความสงสัยเคลือบแคลงเพียงเล็กน้อย จนกระทั่งมาในท่อน Bridge นาทีที่ 2:14 ที่ยินคอร์ดนี้อย่างชัดเจนมากขึ้นทำให้เพลงเกิดสีสันที่แตกต่างออกไป เป็นการนำเสนออารมณ์เศร้า เหนื่อยล้าจากดนตรีที่ active มาตลอดในช่วงก่อนหน้า


    โครงสร้าง

    • เพลงนี้เป็นเพลงที่แตกต่างจากเพลงส่วนใหญ่ ไม่ใช่แค่ของ NCT Dream เท่านั้นแต่ยังแตกต่างจากเพลงของ SM ส่วนใหญ่คือการที่ไม่มี Intro ในช่วงต้นเพลง ไม่ได้ขึ้นต้นด้วยท่อนฮุค แต่กลับขึ้นมาด้วยท่อน Verse แรกแบบไม่ทันให้ได้ตั้งตัวเลย แต่ก็ต้องยอมรับว่าเพลงนี้ถูกแต่งมาดีจนแม้จะขึ้นมาด้วยท่อนนี้ก็ยังรู้สึกได้ถึงความสนุกสนาน ไม่น่าเบื่อทั้ง ๆ ที่ไม่มีการ build อารมณ์มาก่อนเลย

    • ในที่สุดเพลงนี้ก็มีท่อน Pre-Chorus ที่ฟังครั้งแรกแอบรู้สึกว่าเหมือนเป็นท่อน Chorus แต่ในช่วงท้ายกลับมีการ build อารมณ์ขึ้นเพื่อส่งต่อไปยังท่อน Chorus

    • ท่อน Verse ของเพลงนี้ค่อนข้างน่าสนใจมาก เพลงโดยทั่วไปความยาวของแต่ละ Verse จะอยู่ที่ 8 ห้อง โดยผู้ฟังจะรู้สึกว่าใน 1 Verse นั้นจะมีองค์ประกอบแนวดนตรีการร้องที่คล้ายคลึงกัน แต่ในเพลงนี้กับให้ความรู้สึกว่าแต่ละ Verse นั้นถูกแบ่งย่อยออกได้เป็น 4 ห้องกับอีก 4 ห้อง หากลองฟังในนาทีที่ 0:12 จะรู้สึกว่าท่อนของแจมินและเจโน่นั้นค่อนข้างแตกต่างกันเนื่องจากการดรอปเสียงเบสไปทั้งหมด ทำให้เหมือนกับว่าที่จริงแล้ว Verse นึงของเพลงนี้อาจจะมีความยาวแค่ 4 ห้องก็เป็นได้

    • โดยปกติหลังจากท่อน Bridge มักจะตามมาด้วยท่อนฮุคหลัก แต่ในเพลงนี้ตอนท้ายของท่อน Bridge กลับค่อย ๆ ไล่เสียงต่ำลงแล้วจึงตามมาด้วยท่อน Pre-Chorus อีกรอบนึงคล้ายกับว่ายังต้องการยืดอารมณ์ของคนฟังต่อไปอีกสักหน่อยก่อนจะเข้าสู่ช่วงท้าย และจบลงแบบไม่มี Outro อีกเช่นเคย



    องค์ประกอบ

    • เช่นเคย เสียงเบสยังคงเป็นองค์ประกอบหลักของเพลง หากแต่ในเพลงนี้อยู่ในช่วงเสียงที่ต่ำมากจนแทบฟังไม่ออกว่าเป็นโน้ตตัวอะไร เรียกได้ว่าเป็น Pedal tone ลากค้างเพื่อให้เพลงนั้นมีฐานที่แข็งแรง.. ในขณะเดียวกันช่วงท่อน Verse เสียงอื่น ๆ กลับอยู่ในช่วง Range สูงแทบจะทั้งหมด ไม่ค่อยมี Harmony เยอะมากทำให้เพลงนี้ค่อนข้างโปร่ง โล่ง ฟังง่าย และเน้นไปที่แนวร้องกับเนื้อเพลงเป็นหลัก

    • เพลงนี้เป็นเพลงที่มีการเล่นกับความเงียบ หรือการใช้ Silence มาเป็นส่วนหนึ่งของเพลงเยอะมาก โดนทั่วไปการดรอปมักจะเกิดเพื่อใช้สำหรับการเปลี่ยนอารมณ์เพื่อเข้าสู่ท่อนถัดไป เช่น ช่วงท้ายของท่อน Pre-Chorus ก่อนเข้าท่อน Chorus แต่ในเพลงนี้กลับมีการดรอปตั้งแต่ Verse แรก และมีการใช้องค์ประกอบนี้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งเพลง ทำให้เพลงนี้เมื่อได้ฟังแล้วอาจจะเหมือนกับการนั่งรถไฟเหอะที่เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง มีความคดเคี้ยวเลี้ยวไปมาตลอด

    • การใช้เสียง Cowbell คอยประกอบจังหวะทั้งเพลงนั้นสร้างให้เกิดความรู้สึกสนุกสนาน และเป็นเสียงเครื่องดนตรีที่มีความเป็น Acoustic ที่สุดแล้ว นอกนั้นดนตรีเพลงนี้ก็ยังคงยึดกับการใช้เสียงสังเคราะห์ Synthesizer เป็นหลัก

    ตัวอย่างเสียง Cowbell แบบต่าง ๆ


    แนวการร้อง

    • การร้องแบบ Speaking-Singing ถูกนำเสนอตั้งแต่เริ่มต้นเพลง โดยถ้าหากสังเกตดี ๆ การร้องแบบนี้หรือการแร็พนั้นแท้จริงแล้วก็มีตัวโน้ตซ่อนอยู่ โดยในเพลงนี้จะเป็นการเริ่มร้องจากเสียงที่สูงแล้วไล่ลงต่ำไปเรื่อย ๆ ค้ลายกับการไล่ Chromatic ทีละครึ่งเสียง

    • เป็นเพลงที่มีเสียง Adlib แทรกเยอะมากและมีแทบจะตลอดทั้งเพลง อย่างเช่นตั้งแต่นาที่ 0:11-0:34 จะมีเสียงมาร์คทั้งตะโดกน ร้องเป็นคำแบบต่าง ๆ สลับกันไปในทุกห้องเพลง ทำให้เพลงนี้ไม่น่าเบื่อเลย มันเต็มไปด้วยลูกเล่นให้ผู้ฟังได้ติดตามตลอด

    • ที่น่าสนใจมากคือมีการใช้เสียงตะโกนมาเป็นเหมือนกับเสียงประสานทำให้เกิด Harmony แทนที่จะเป็นเสียงร้องแบบธรรมดาเหมือนเพลงอื่น เช่น คำว่า 너의 빛 กับ Wild and free นาทีที่ 0:21-0:22 หรือประโยค 끝내자 다음 스테이지 ในนาทีที่ 0:47 มันสร้างให้เกิดเป็นเสียงประสานได้อย่างน่าแปลกใจมาก


    _____________________________________



    to be continued...

    Part II
    Boom
    Ridin'
    บทสรุป


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in