เกิน คาด
บอกตรง ๆ เลยว่าครั้งแรกที่ได้ฟังทีเซอร์เพลงนี้โดยส่วนตัวผู้เขียนรู้สึกเฉย ๆ ไม่ได้ตื่นเต้นมาก แต่เมื่อได้มาฟังเพลงเต็มแล้วกลับค้นพบว่ามีสิ่งที่น่าสนใจซุกซ่อนอยู่มากมาย มีการนำเสนอที่แปลกใหม่ซึ่งส่งเสริมให้เพลงนี้มีความแตกต่างจากมาตรฐานเพลง K-pop ทั่วไปอย่างน่าประหลาดใจ จึงอยากจะขอนำความเจ๋งของเพลงมาสรรเสริญให้ผู้ฟังที่อาจจะเผลอฟังข้ามไปได้อ่านกัน
VIDEO
(อย่าลืมเปิดเพลงฟังควบคู่ไปด้วยนะ) Written By Danke
Composed by Shae Jacobs, KLOE & Lauren Aquilina
E Minor - 116 BPM
ต้องบอกเลยว่าถูกเพลงนี้หลอกตั้งแต่วินาทีที่ 0:00 เนื่องจากโน้ตที่ขึ้นมานั้นคือโน้ตตัว C ทำให้เราคาดเดาล่วงหน้าไปแล้วว่าเพลงนี้น่าจะอยู่ในคีย์ C Minor (ที่เป็น Minor เพราะความดาร์คและตามชื่อเพลง) จนกระทั่งเมื่อเข้าเพลงจริง ๆ ในนาทีที่ 0:11 นั่นทำให้ความคิดแรกถูกปัดตกไปทันที เพลงใช้โน้ต 2 ตัวคือ G และ A เล่นสลับวนไปมา มีเสียงลากคอร์ดของ Synthesizer แต่ด้วยเวลาอันสั้นก็ยังทำให้เป็นที่น่าสงสัยอยู่ว่าสรุปแล้วเพลงนี้มีทิศทางเป็นอย่างไรกันแน่
ยิ่งการที่เพลงเริ่มต้นแบบค่อย ๆ Fade-in เข้ามาจากเสียงเบาเหมือนกับถูก muted ปิดปากเอาไว้ก่อนที่จะค่อย ๆ ชัดเจนขึ้น อีกจุดที่น่าสนใจมากคือการที่ตัวโน้ตสองตัวนี้มันถูกเล่นในจังหวะยก ไม่ใช่จังหวะตกที่เป็นจังหวะหนักสำคัญกว่า ทำให้ไม่สามารถหาจุดเริ่มต้นของเสียงได้ทันที ฟังแล้วรู้สึกงง ๆ ว่าจังหวะของเพลงอยู่ตรงไหนกันแน่ และที่แปลกสุดก็คงเป็นการที่ดนตรีแบบนี้เริ่มขึ้นมาได้แค่ 1 ห้องครึ่ง (6 จังหวะ) เท่านั้นก่อนที่จะเข้าสู่ Intro หลัก อ้าว.. ที่ผ่านมามันยังไม่ใช่ Intro ของจริงแฮะ.. สิ่งเหล่านี้มันยิ่งสร้างให้เกิดความรู้สึกที่น่ากลัว วิตกกังวล ไม่มั่นใจ และเต็มไปด้วยความน่าสงสัย ไม่น่าเชื่อว่าเพียงไม่กี่วินาทีที่เริ่มต้นมาเพลงนี้กลับสามารถโชว์คาแรคเตอร์ที่ต้องการจะสื่อสารออกมาได้ชัดเจนมาก
Intro มีแนวทำนองหลักอยู่ที่แนวร้องที่ร้องโน้ต E F# G สามตัวนี้วนไปมาในแพทเทิร์นที่จำง่ายและสามารถติดหูได้ทันทีแม้ในการฟังเพียงครั้งเดียว โดยตัวดนตรีจากช่วง Pre-Intro (ขอเรียกแบบนี้) ยังคงดำเนินอยู่แต่เพิ่มเติมช่วงเสียงต่ำที่เหมือนกับเป็นเบสเข้ามา รวมไปถึงเสียง Synthesizer โน้ตตัว A และ B ในช่วงเสียงสูง
*Chord Progression ในเพลงนี้มีความน่าสนใจใช้ได้เลย โดยส่วนใหญ่ช่วงหลังมานี้เพลง K-pop ที่เป็นลักษณะเพลง Dance มักจะเน้นคอร์ดเพียงไม่กี่คอร์ดในเพลง โดยเฉพาะการเน้นคอร์ดหลักซ้ำเป็นเวลานาน ๆ และจะมีเปลี่ยนคอร์ดมากขึ้นในช่วงท่อน Pre-Chorus หรือท่อน Bridge แต่เพลงนี้กลับมีการเปลี่ยนคอร์ดแทบจะทุก 1-2 ห้องเพลงซึ่งเป็นแนวเดินคอร์ดที่ไม่ค่อยถูกใช้บ่อยมากแล้ว (ยังมีใช้อยู่แต่น้อยลงมาก) ความน่าสนใจของมันอยู่ที่มีการยืมคอร์ดจากคีย์อื่นมาผสมผสานโดยเฉพาะในนาทีที่ 0:22 คนฟังจะรู้สึกได้เลยว่าคอร์ด A นี้มันมีความพิเศษ มันมีสีสันที่สวยงามและสดใสกว่าคอร์ดอื่น ๆ มาก
*Chord Progression - แนวทางเดินของคอร์ด อีกจุดที่น่าสนใจคือการที่คอร์ดมีการไล่ลงเป็นสเต็ปที่สวยงามพอดีจากตอนเริ่มต้นเพลง สังเกตได้จากแนวเบสที่ไล่จากโน้ตตัว E ลงไปเรื่อย ๆ เป็น E-D-C#-C-B เป็นการเดินทางของคอร์ดที่เริ่มจากคอร์ด I (Em) ไปยังคอร์ด V (B) เพื่อจะส่งกลับมายังคอร์ดหลักต่ออย่างสวยงามและรู้สึกถึงความสมบูรณ์ของประโยคเพลง 8 *ห้องเพลง *ห้อง, ห้องดนตรี - เป็นการแบ่งเพลงออกมาเป็นส่วนย่อย ๆ ใน 1 เพลงจะมีหลายห้อง แต่ละห้องจะมีจำนวนจังหวะแต่งต่างกันไปตามกำหนด ประโยคของเพลงส่วนใหญ่จะมีความยาวอยู่ที่ 4 หรือ 8 ห้องเป็นมาตรฐาน โดยเฉพาะในเพลงป๊อป เข้าสู่ Verse แรกสิ่งที่โดดเด่นออกมาก่อนใครเพื่อนคือแนว Bass drum กลองใหญ่ Percussion หลักที่มีการเล่นเป็นลักษณะเลียนแบบเสียงหัวใจเต้นตุบ ๆ รวมไปถึงแนวเบสที่มีการเล่นเน้นโน้ตตัวหลักสั้น ๆ ควบคู่ไปกับกลอง เรียกได้ว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากที่ทำให้เพลงนี้มีความน่าตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลาซึ่งขัดกับแนวร้องอย่างชัดเจนที่มีความเรียบง่าย อยู่ในช่วงเสียงต่ำ ร้องด้วยเสียงสบาย ๆ มีความ airy เหมือนกับคนเพิ่งตื่นนอน ไร้ซึ่งเรี่ยวแรง คล้ายกันกับในเพลง Monster ของ Irene & Seulgi ที่ก็มีการเริ่มต้นแนวร้องในลักษณะคล้ายกันแต่เบสกลับหนักแน่น ทำให้เพลงไม่ได้รู้สึกอ่อนแรงเลย ตัวอย่าง เพลง Irene & Seulgi - Monster นาทีที่ 0:09 VIDEO
นอกจากนี้ยังคงมีเสียง Synthesizer ที่ลากเป็นคอร์ดอยู่ โดย Chord progression ในรอบนี้จะมีความแตกต่างออกไปเล็กน้อยในนาทีที่ 0:39 จากห้องที่ 6 ของแต่ละเซ็ตที่น่าจะเป็นคอร์ด A กลับมีโน้ตตัว G โดดเด่นออกมามากกว่าทำให้เสียงที่ถูกนำเสนอออกมานั้นกลายเป็นว่าคอร์ดนี้อาจจะเป็นคอร์ด C#dim ซะมากกว่า ซึ่งก็ค่อนข้างเมคเซนส์ในแง่ที่เบสของเพลงเป็นตัว C# และนอกจากนี้มันยังสร้างให้เกิดความรู้สึกหวั่นไหว ความมั่นคงที่ถูกสั่นคลอน อารมณ์พลุ่งพล่านรุนแรงขึ้นราวกับต้องการจะฉีกกฎและออกไปจากวังวนนี้แต่แล้วก็กลับลงมาสู่คอร์ดหลักที่ให้ความรู้สึกสบาย เหมือนกับการยอมรับความเป็นจริงที่ไม่อาจหลีกหนีได้
แนวร้องจะมีการร้องอยู่แค่ห้องที่ 1,3,5,7 เท่านั้นเหมือนกับเป็นการตั้งคำถาม ก่อนที่จะมีเสียงร้อง Background vocals ในทุก ๆ ห้องที่ 2,4,6,8 เหมือนกับเป็นกการตอบรับคอยสลับไปมาตลอด คล้ายกับการคุยกับตัวเองแล้วมีเสียงภายในหัวตอบกลับมาอย่างไม่มั่นใจเหมือนกับเป็น conversation นึงเลย
มีการสอดแทรกเสียงต่าง ๆ ไว้ในท่อนนี้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเสียงเบสที่ถูกใส่ Distortion ในนาทีที่ 0:34 และ 0:42 ซึ่งแสดงถึงความก้าวร้าว ความโกรธ, เสียง Synthesizer โน้ตตัว B นาทีที่ 0:30 และ 0:38 ซึ่งเป็นลักษณธ *pick-up เข้าห้องที่ 1 และ 4 โดยมีการปรับเสียงให้ค่อนข้างโฟกัส เด่นชัด และใส่ Vibrato ทำให้เกิดเสียงสั่นเหมือนคนที่กำลังหัวเราะล้อเลียน, และอีกเสียงที่ถูกบรรเลงอยู่ตลอดแต่คนอาจไม่ทันได้สังเกตคือเสียงเคาะเหล็กขนาดเล็กเบา ๆ ที่คอยสอดแทรกไปตลอดทั้งท่อน Verse นี้ (ต้องใส่หูฟัง) ซึ่งเสียงเหล่านี้อาจจะดูเหมือนไม่ได้มีความสำคัญมาก หากแต่แท้จริงแล้วเสียงนี้กลับช่วยสร้างบรรยากาศของเพลงให้เกิดความล่องลอยและวังเวงมากขึ้น รวมไปถึงสร้างความรู้สึกวุ่นวายและสับสนเหมือนกับจิตใจของคนเราเลยก็ว่าได้
*Pick up - โน้ต/จังหวะส่งเข้าสู่จังหวะหลัก
นอกจากนี้ยังคงมีเสียง Synthesizer ที่ลากเป็นคอร์ดอยู่เบา ๆ ก้อง ๆ ในช่วงเสียงสูง.. Chord progression ในรอบนี้จะมีความแตกต่างออกไปเล็กน้อยในนาทีที่ 0:39 จากห้องที่ 6 ของแต่ละเซ็ตที่น่าจะเป็นคอร์ด A กลับมีโน้ตตัว G โดดเด่นออกมามากกว่าทำให้เสียงที่ถูกนำเสนอออกมานั้นกลายเป็นว่าคอร์ดนี้อาจจะเป็นคอร์ด C#dim ซะมากกว่า ซึ่งก็ค่อนข้างเมคเซนส์ในแง่ที่เบสของเพลงเป็นตัว C# และนอกจากนี้มันยังสร้างให้เกิดความรู้สึกหวั่นไหว ความมั่นคงที่ถูกสั่นคลอน อารมณ์พลุ่งพล่านรุนแรงขึ้นราวกับต้องการจะฉีกกฎและออกไปจากวังวนนี้แต่แล้วก็กลับลงมาสู่คอร์ดหลักที่ให้ความรู้สึกสบาย เหมือนกับการยอมรับความเป็นจริงที่ไม่อาจหลีกหนีได้ แนวร้องจะมีการร้องอยู่แค่ห้องที่ 1,3,5,7 เท่านั้นเหมือนกับเป็นการตั้งคำถาม ก่อนที่จะมีเสียงร้อง Background vocals ในทุก ๆ ห้องที่ 2,4,6 เหมือนกับเป็นกการตอบรับคอยสลับไปมาตลอด คล้ายกับการคุยกับตัวเองแล้วมีเสียงภายในหัวตอบกลับมาอย่างไม่มั่นใจเหมือนกับเป็น conversation นึงเลย.. นาทีที่ 0:38 เป็นอะไรที่เซอร์ไพรส์มากที่มีการกระโดดไปโน้ตตัว G4 เข้ากับการเปลี่ยนคอร์ดที่พิเศษพอดีและยังทำให้เกิดช่วงเสียงความห่างของโน้ตที่กว้างมาก
ท่อน Pre-Chorus นาทีที่ 0:47 เป็นท่อนที่มีแนวทำนองร้องที่ยอดเยี่ยมและน่าสนใจมาก เริ่มจากการร้องที่โน้ตตัว E3 ก่อนที่จะไล่สเกลสูงขึเนไปเรื่อย ๆ จนถึงตัว E4 ครบคู่ความห่าง 1 Octave พอดี และเป็นแบบนี้ทั้งสองรอบก่อนที่รอบที่สองจะมีการกระโดดข้ามไปยังโน้ตตัว F# ที่เป็นโน้ตส่งเข้าสู่ท่อน Chorus
แต่ในขณะเดียวกันนั้นแนวเบสยังคงมีการไล่ลงเหมือนกับช่วงที่ผ่านมาสวนทางกันกับแนวร้อง คล้ายกับจิตใต้สำนึกของคนที่มีทั้งฝั่งดีและฝัั่งร้าย มีความคิดและการตัดสินใจที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง.. แต่แนวเบสรอบนี้จะแตกต่างออกไปเล็กน้อยในตอนท้าย แทนที่จะไล่ต่ำลงไปต่อจนถึงตัว B กลับเลี้ยววกไล่กลับขึ้นมาเพื่อที่จะ build อารมณ์โดยใช้โน้ตตัว D-D# ไล่ขึ้นก่อนจะไปจบที่ตัว E ในท่อนท่อนคอรัส โน้ตห่างครึ่งเสียง Chromatic นี้ทำให้เกิดความรู้สึกที่ intense บีบคั้นมากขึ้นกว่าเดิมเป็นเท่าตัว
องค์ประกอบหลายอย่างยังอยู่คงเดิม แต่สิ่งที่เพิ่มมาแล้วทำให้ท่อนนี้เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนก็คือเสียง Percussion ที่มีการเพิ่มเสียงคล้ายกับ Snare สลับกับ Bass drum และอีกเสียงที่ทำให้เพลงมีความ active มากขึ้นคือเสียงเบสอีกแนวซึ่งเป็นเสียงบอด *Ghost note ที่ถูกเล่นในจังหวะถี่ขึ้นคลอไปด้วยอยู่ตลอดเวลา *Ghost (Dead) Note - เกิดจากการใช้มือซ้ายอุดสายและมือขวดดีดหรือตบสายจนเกิดเป็นเสียงบอด มักถูกใช้เล่นเป็นจังหวะแทน Percussion และถูกใช้มากในเพลงสไตล์ Funk
ตัวอย่างเสียง Ghost Note บนเบส
VIDEO
นอกจากเสียงเบส Ghost note แล้วก็ยังมีเสียงโน้ตตัว G แทรกขึ้นมา เช่น ในนาทีที่ 0:50 ลักษณะเป็นการกระแทกหัวเสียงแล้วมีการใส่ Reverb ให้เกิดเสียงก้องสะท้อนออกไป ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าผู้แต่งต้องให้เสียงนี้สื่อถึงอะไร อาจจะเลียนแบบน้ำหยดติ๋งแล้วเกิดดเป็นคลื่นกระจายตัวออกในวงกว้าง หรือการสื่อในนัยที่เหมือนกับความคิดที่ถูกกระตุ้นเป็นระยะ ๆ ก็อาจจะเป็นได้ เชื่อว่าผู้ฟังก็จะรู้สึกว่าเสียงนี้ก่อให้เกิดความน่าสงสัย mysterious ลี้ลับ
เข้าสู่ท่อน Chorus หรือฮุคของเพลงที่ดนตรีมีความหนาและวุ่นวายสูงมาก contrast กับแนวร้องอย่างชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งแนวร้องนั้นร้องสบาย ๆ ไม่ได้มีการใส่ energy ลงไปเยอะ วนเวียนอยู่แค่โน้ตหลัก (คล้ายกับช่วง Intro) เพื่อสร้าง earworm ให้แก่ผู้ฟัง ก่อนที่ในช่วงครึ่งหลังของฮุคจะเป็นการกระโดดไปร้อง Falsetto ในช่วงเสียงสูงซึ่งสูงขึ้นไปถึงตัว D5 เลย นั่นทำให้ช่วง Range เสียงของเพลงนี้นั้นมีความกว้างมาก.. แถมมีการซ้อนเสียงแนวร้องเดียวกันทับลงไปมากกว่าหนึ่งเสียงรวมไปถึงเสียงร้องโน้ตเดียวกันใน Octave ต่ำกว่าตลอดทั้งท่อนฮุค ทำให้แม้ว่าเสียงร้องจะฟังดูอ่อนแรงแต่กลับรู้สึกได้ถึงความหนักแน่นและมั่นคง
เสียงโน้ตตัว G A จากเมื่อตอน Intro กลับมาอีกครั้งแต่มีการปรับให้เนื้อเสียงมีความแหลมมากกว่าทุ้มนุ่มเหมือนตอนต้นเพลง, แนวเบสแม้จะยังคงเล่นเน้นโน้ตหลักเหมือนเดิมแต่ก็มีการปรับให้เสียงแตก Distorted มากขึ้น, เสียง Synthesizer ลากหนาขึ้นและมีความสะท้อนก้องมากขึ้นเหมือนกับเพลงนี้ถูกบรรเลงอยู่ในโบสถ์ที่เสียงก้องมาก, การเพิ่มเสียงโน้ตในช่วงเสียงสูงและมีความกระแทกกระทั้นแทรกเข้ามาเรื่อย ๆ เช่นในนาทีที่ 1:07 ทำให้แนวดนตรีในท่อนนี้มีความวุ่นวายสูงมาก
ท่อนฮุคถูกซ้ำอีกรอบนึงในนาทีที่ 1:20 ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกมากที่มีท่อนฮุคสองรอบตั้งแต่ครั้งแรกของเพลง โดยส่วนมากมักจะเป็นการซ้ำเมื่อเป็นฮุคสุดท้าย หรือรอบที่สองของฮุคนั้นมีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน แต่ในเพลงนี้กลับมีการเปลี่ยนแปลงแค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากจะมีแนวประสานที่ทำให้เกิด Harmony เพราะ ๆ ทุกท้ายห้องที่ 2 และ 4 แล้วในรอบนี้ก้มีการสอดแทรกแนวประสานในห้องที่ 7 และ 8 ของฮุคไปด้วย
หลังจากท่อนฮุคมีการแทรก 1 ห้องที่ดรอปดนตรีทุกอย่างลง เหลือไว้เพียงเสียงสะท้อนจากท่อนฮุคเหมือนกับความคิดที่ยังคงค้าง ความทรงจำที่ตกตะกอนอยู่ในหัว ก่อนที่จะเป้นเสียงเอฟเฟคเหมือนกับเสียงรัวฉาบส่งเข้าสู่ท่อนถัดไป
บอกตรง ๆ ว่าตอนฟังท่อน Verse 2 ครั้งแรกถึงกับอุทานว่า "บ้าไปแล้ว" เมื่อดนตรีทั้งหมดถูกเปลี่ยนไปจนองค์ประกอบแบบเดิมหายไปหมด กลายเป็นดนตรีในช่วงนี้ค่อนข้างโปร่งโล่งเนื่องจากเสียงเบสหายไปและเหลือไว้เพียงการลากคอร์ดในช่วงเสียงสูง มีการใส่เสียง Percussion และเอฟเฟคหลายแบบลงไปซึ่งมีความเป็น Electronic สูงมาก คล้ายกับมีจังหวะ Dubstep เข้ามาผสม แนวร้องมีความคมชัดเต็มเสียงมากขึ้นและจังหวะในท่อนนี้ก็ถูกทำให้เหมือนกับช้าลงไปเท่าตัว มีเพียง Chord Progression เท่านั้นที่ยังคงเดิมอยู่.. ทุกสิ่งที่กล่าวมานั้นล้วนแล้วแต่ส่งเสริมให้ท่อนนี้เทียบได้กับเป็นท่อน Bridge ซึ่งมีคุณลักษณะเด่นคือเป็นท่อนที่มีความแตกต่างอย่างชัดเจนและมีการโชว์องค์ประกอบใหม่ ๆ... บ้าไปแล้ว! สรุปนี่มันเกิดอะไรขึ้น!
และแล้วก็กลับมาสู่ความปกติในท่อน Pre-Chorus อีกครั้ง ซึ่งแม้ว่าดนตรีและองค์ประกอบต่าง ๆ จะยังเหมือนเดิมแต่แนวร้องกลับชัดเจนขึ้นและมีการใส่อารมณ์ที่รุนแรงขึ้นไปจาก Pre-Chorus รอบแรกอย่างมาก แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกที่ถูกปลดปล่อยออกมามากขึ้น ความโกรธเคือง ขุ่นแค้นข้องใจซึ่งถูกสะสมมานานกำลังค่อย ๆ ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมา ก่อนที่จะเข้าสู่ท่อน Chorus สองรอบซึ่งเหมือนกับรอบก่อนหน้าเลย
หลังจากท่อนฮุคแทนที่จะเข้าสู่ท่อน Bridge ซึ่งมีความแตกต่างอย่างชัดเจนตามที่ควรจะเป็น แต่เพลงนี้กลับไม่เป็นแบบนั้น ดนตรีและการร้องลักษณะเดียวกับท่อน Intro ถูกยกกลับมาอีกครั้งนึงโดยที่ยังคงมีเสียงเคาะของ Percussion ลงจังหวะเพื่อคีพความน่าตื่นเต้น กับเสียงที่เหมือนกับเสียงน้ำหยดจากท่อน Verse 2 แต่รอบนี้เสียงจะคมชัดกว่าก่อนหน้า เหมือนความคิดหรือภาพความสงสัยต่าง ๆ ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ส่วนสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาก็คือเสียงพูดคุยคล้ายกับเสียงรายงานข่าว เสียงจากวิทยุสื่อสารที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย เห็นภาพฉากการก่ออาชญากรรม ไปพร้อม ๆ กับแนวการร้องแบบสบาย ๆ และตั้งแต่นาทีที่ 2:52 มีการเพิ่มเสียง Background Vocals ร้องประสานขึ้นมาด้วยโน้ตตัวเดียวกันแต่เสียงสูงกว่า 1 Octave.. เมื่อนำทุกเสียงมารวมกันมันเป็นความรู้สึกที่น่ากลัวมาก เหมือนกับอาชญากรผู้กระทำสิ่งที่โหดร้าย ก่อให้เกิดความวุ่นวายแต่ก็กลับยังเยือกเย็นอยู่
จุดที่ชอบที่สุดเลยของเพลงนี้อีกที่นึงก็คือหลังจากท่อน Instru นี้ในนาทีที่ 3:01 มีการเพิ่ม extra 1 ห้องที่ทุกอย่างถูกดรอปหายไป เกิดเป็นความเงียบชนิดที่เงียบสนิท ไร้ซึ่งสรรพเสียงใด ๆ ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยมากนักในเพลง K-pop แม้ว่า Silence จะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ถูกใช้บ่อยมากในช่วงการเปลี่ยนท่อนเพื่อสร้างอิมแพคให้แก่คนฟัง แต่ก็มักจะเป็นความใช้ความเงียบจากการตัดเสียงดนตรีที่มีความหนักออก หรือต่อให้ตัดเครื่องดนตรีที่เล่นในช่วงนั้นออกก็จะยังมีเสียงสะท้อนของดนตรีจากช่วงก่อนหน้า หรือเสียงร้องที่ลากค้างต่อมาเพื่อให้เพลงยังดำเนินอย่างต่อเนื่อง แต่เพลงนี้มันคือความเงียบที่ไม่เหลือสิ่งใดเลย เชื่อว่าผู้ฟังทุกคนจะต้องรู้สึกวูบไปกับเพลงและกลั้นหายใจอย่างรอคอยว่าจะเกิดอะไรขึ้น ความรู้สึกหวาดกลัว หวาดระแวง หายใจไม่ออก อึดอัดนี้ถูกสร้างมาได้ด้วยการ "เงียบ" ไม่น่าเชื่อเลย.. แล้วหลังจากนั้นก็กลายเป็นเสียงพูดราวกับกระซิบว่าให้ทำลายตัวฉันมากขึ้นกว่านี้อีก มันช่างแสนจะโรคจิตและทำให้อารมณ์ของผู้ฟังถูกฉุดกระชากอย่างถึงขีดสุด
ก่อนที่จะเข้าสู่ Chorus สุดท้าย แม้ว่าองค์ประกอบด้านดนตรีของเดิมจากก่อนหน้าจะยังคงอยู่เหมือนเดิมและไม่ได้มีอะไรมาเพิ่มเติม แต่มีการเพิ่มแนว Ad lib ออกมาอย่างเต็มที่เหมือนกับปีศาจร้ายที่อยู่ภายในใจได้ถูกปลดปล่อยออกมาจนหมดแบบไม่มีการยั้งเลย มีการร้องในลักษณะที่เหมือนกับการกรีดร้อง อ้อนวอน โหยหา เต็มไปด้วยทั้งความไม่พอใจ ความเศร้า ความโกรธแค้น ทุกอย่างมันผสมปนเปกันไปหมดจากการที่แนวร้องแอดลิบกลายเป็นไลน์ที่มีความสำคัญมากกว่าทำนองหลักและถูกร้องตลอดทั้งช่วงท่อนฮุคสองรอบ ซึ่งแทบไม่น่าจะมีเพลงไหนที่ให้ความสำคัญกับแนวร้องนี้มากขนาดนี้
จบเพลงแบบไม่มี Outro ลูกจบให้เสียเวลา ตัวเพลงจบลงคอร์ดหลักที่คอร์ด E Minor อย่างสวยงามก็จริงแต่กลับมีการใส่ Reverb ราวกับว่าอาชญากรคนนี้กรีดร้องอยู่ภายในห้องขังก่อนที่เสียงจะสะท้อนก้องไปตามทางเดินของคุกแคบ ๆ อันแสนมืดมิดและโดดเดี่ยว.. ตลอดไป...
- จบเพลง -
โครงสร้างของเพลง Criminal PRE-INTRO 0:10-0:14
INTRO 0:14-0:30
VERSE 1 0:30-0:47
PRE-CHORUS 0:47-1:03
CHORUS 1:04-1:39
VERSE 2 1:39-1:55
PRE-CHORUS 1:55-2:11
CHORUS 2:12-2:44
INSTRU 2:45-3:03
CHORUS 3:04-3:37
บทสรุป
เพลง Criminal เป็นเพลงที่มีความแปลกและแตกต่างจากเพลง K-pop อื่น ๆ อย่างชัดเจนมากในแง่ของโครงสร้างรูปแบบเพลงที่ไม่ได้มีการจัดเรียงหรือมีลักษณะองค์ประกอบเหมือนกับเพลงทั่วไป ทั้งการที่มีเสียงดนตรีนำมาก่อน Intro, การซ้ำท่อนฮุคทุกรอบที่แม้จะรู้สึกว่ามันเหมือนเดิมตลอด เกือบจะน่าเบื่อแต่ผู้เขียนมองว่ามันคือการสร้างให้เกิด earworm ที่จะคอยตามหลอกหลอนผู้ฟังและยังเป็นท่อนที่แสดงถึงคาแรคเตอร์ความเป็น Criminal ได้ดีมาก เน้นย้ำในจุดยืนความคิดของอาชญากร นอกจากนี้ยังมีการที่ท่อน Verse 2 มีองค์ประกอบที่ส่งเสริมให้ท่อนนี้ไปเหมือนกับท่อน Bridge ส่วนท่อนที่ควรจะเป็นท่อน Bridge ดันกลายเป็นท่อนที่ยกองค์ประกอบเดิมมาแทน
จะสังเกตได้ว่าแนวดนตรีเพลงนี้มีความวุ่นวาย ยุ่งเหยิงมากจากองค์ประกอบหลายอย่างที่ถูกเล่นพร้อม ๆ กัน ในขณะที่แนวร้องนั้นกลับร้องอย่างสบาย ๆ ไม่ได้กระแทกกระทั้นดุดันเพื่อแข่งกับเสียงดนตรีเลย ส่วนตัวผู้เขียนมองว่านี่เป็นจุดที่น่าสนใจที่ดนตรีต้องการแสดงออกถึงภาพบรรยากาศหลังเกิดอาชญากรรม ส่วนเสียงร้องเป็นเหมือนกับตัวผู้กระทำที่ไม่ได้รู้สึกรู้สาอะไร สามารถจินตนาการตามได้ถึงภาพความโหดร้ายที่เกิดขึ้นท่ามกลางความเยือกเย็นของอาชญากรผู้ไม่ยี่หระต่อสิ่งใด.. แต่โดยภาพรวมแล้วเพลงกลับไม่หนักมากเกินไป สามารถฟังได้สบายและติดหู
แม้เพลงนี้จะมีการใช้คอร์ดวนไปมาอยู่เพียงแค่ 4-5 คอร์ดโดยไม่ได้มีท่อนไหนที่มีคอร์ดแปลกพิศดารเพิ่มขึ้นมาหรือมีการเปลี่ยนแปลง Chord Progression แต่ดนตรีที่ออกมากลับดีจนน่าประทับใจ ไม่ได้รู้สึกว่ามันน่าเบื่อ กลับกลายเป็นการสร้างบรรยากาศให้ผู้ฟังรู้สึกว่าถูก trapped กักขังอยู่ในวังวนอันน่าสยดสยอง คล้ายกันกับเพลง Psycho ของ Red Velvet ที่ก็มีการใช้คอร์ดเพียงแค่ 4 คอร์ดวนไปมา แม้จะพยายามหนีแค่ไหนแต่สุดท้ายก็ต้องวนเวียนกลับมาที่เดิม ราวกับอยู่ในเขาวงกต ตกอยู่ในบ่วงแห่งความหลงใหลยั่วยวนใคร่ครวญหา อย่างไม่สามารถหลุดพ้นออกไปได้..
บทเพลง Criminal นั้นช่างสมบูรณ์แบบ ความรู้สึกนึกคิด ฉากต่าง ๆ ถูกวาดลวดลาย แต่งแต้มสีสัน จนออกมาเป็นศิลปะชั้นยอด
อ่านจบแล้วอย่าลืมกดดู MV เพลง Criminal อีกรอบด้วยนะ!
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in