Track: SOGYEOKDONG (소격동)
Artist: IU
Album: Single
Year: 2014
그 좁은 골목계단을 홀로 걸어요
그 옛날의 짙은 향기가 내 옆을 스치죠
ฉันเดินขึ้นบันไดตามลำพัง
ในซอยแคบที่เคยเดินด้วยกันกับคุณ
ความหอมหวานของวันวานพัดผ่านตัวฉันไป
널 떠나는 날
사실 난
วันที่ฉันจากคุณมา
จริง ๆ แล้วฉัน
등 밑 처마 고드름과
참새소리 예쁜 이 마을에 살 거예요
소격동을 기억하나요
지금도 그대로 있죠
น้ำแข็งที่ย้อยลงมาจากชายคาบ้านใต้เสาไฟกับเสียงนกร้อง
ฉันอยากอาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่สวยงามแห่งนี้
คุณยังจำโซกยอกดงได้ไหม
ทุกวันนี้มันก็ยังเป็นเช่นเดิม
* 아주 늦은 밤 하얀 눈이 왔었죠
소복이 쌓이니 내 맘도 설렜죠
나는 그날 밤 단 한숨도 못 잤죠
잠들면 안돼요
눈을 뜨면 사라지죠
* ในยามดึกของค่ำคืนหนึ่ง หิมะขาวได้ตกลงมา
มันกองขึ้นเป็นพูน ใจของฉันก็รู้สึกหวั่นไหวตามไปด้วย
คืนนั้นฉันหลับไม่ลงเลยสักนิด
ไม่สามารถหลับได้เลย
เพราะหากตื่นขึ้นมาแล้วมันจะหายไป
어느 날 갑자기
그 많던 냇물이 말라갔죠
내 어린 마음도
그 시냇물처럼 그렇게 말랐겠죠
อยู่มาวันหนึ่ง
น้ำในลำธารที่เคยมีมากมายก็แห้งเหือดไป
ดวงใจอันเยาว์วัยของฉัน
ก็แห้งเหือดไปด้วยเช่นเดียวกัน
너의 모든 걸 두 눈에 담고 있었죠
소소한 하루가 넉넉했던 날
그러던 어느 날 세상이 뒤집혔죠
다들 꼭 잡아요
잠깐 사이에 사라지죠
ฉันจะเก็บทุกอย่างที่เกี่ยวกับคุณไว้ในดวงตาทั้งสองข้าง
ในวันที่แสนจะธรรมดาแต่ก็เพียงพอแล้ว
แต่แล้ววันหนึ่ง โลกทั้งใบก็พลิกผัน
ทุกคนจงจับเอาไว้ให้แน่น
เพราะมันจะหายไปภายในพริบตา
잊고 싶진 않아요 하지만 나에게
사진 한 장도 남아있지가 않죠
그저 되뇌면서 되뇌면서
나 그저 애를 쓸 뿐이죠
ฉันไม่อยากจะลืมเลยสักนิด แต่สำหรับฉันแล้วนั้น
ไม่มีรูปสักใบหลงเหลืออยู่เลย
ในขณะที่ทบทวนซ้ำไปซ้ำมา
ฉันก็ได้แต่พยายามทบทวนอยู่เพียงเท่านั้น
ซ้ำ *
- - - - -
/ from the translator:
หลายคนคงกำลังสงสัยว่า โซกยอกดงคืออะไร?
โซกยอกดงเป็นย่านเล็ก ๆ ในเขตชงโน อยู่ใจกลางกรุงโซล เมืองหลวงของประเทศเกาหลีใต้
คำถามถัดมาคือ แล้วทำไมย่านเล็ก ๆ ในโซลนี้ถึงกลายมาเป็นชื่อเพลงได้?
คำตอบสำหรับคำถามข้อนี้คงยาว (ไม่) หน่อย แต่ปนไปด้วยเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์จำนวนมากที่น่าสนใจไม่น้อยกว่าเพลงนี้เลย
ต้องเกริ่นก่อนว่าเพลงโซกยอกดงของไอยูนี้ เป็นโปรเจคที่ทำร่วมกับนักร้อง-นักแต่งเพลง 'ซอแทจี' (서태지) ซึ่งโด่งดังในวงการเพลงเกาหลีเป็นอย่างมาก เพลงโซกยอกดงแต่งขึ้นโดยซอแทจี แต่แบ่งออกเป็น 2 เวอร์ชั่น กล่าวคือ มีเวอร์ชั่นที่ไอยูเป็นคนร้อง กับอีกเวอร์ชั่นที่ซอแทจีร้องเอง เอ็มวีก็แบ่งออกเป็น 2 เวอร์ชั่นตามคนร้องเช่นเดียวกัน (แต่มีเอ็มวีอีกเวอร์ชั่นหนึ่งที่เป็น director's cut ด้วย)
เอ็มวีเวอร์ชั่นซอแทจี
[x]เอ็มวีเวอร์ชั่น director's cut
[x]
อ้างอิงจากค่ายเพลงของซอแทจี แพลนของเขาคือการทำโปรเจคร่วมที่เกี่ยวกับเรื่องราวอันสวยงามและเศร้าโศกที่เกิดขึ้นภายในโซกยอกดงช่วงทศวรรษ 1980 ผ่านมุมมองของผู้หญิงและผู้ชาย เพราะซอแทจีเกิดและเติบโตขึ้นในย่านโซกยอกดง และช่วงเวลาวัยเด็กของเขาก็ตรงกับทศวรรษ 1980 พอดี
แล้วทำไมต้องเป็นโซกยอกดงในช่วง 1980?
เราสามารถพบคำตอบของคำถามข้อนี้ได้หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ในช่วงเวลานี้ ในปี 1979-1980 ชเวคยูฮาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ แต่ผู้ที่มีอำนาจในทางปฏิบัติจริง ๆ แล้วกลับเป็นนายพลช็อนดูฮวัน ผู้บัญชาการหน่วยสืบราชการลับของกองทัพบก (KCIA) ในขณะนั้น นายพลช็อนดูฮวันประกาศใช้กฎอัยการศึก ด้วยเหตุผลว่าเป็นการกีดกันเกาหลีเหนือที่พยายามแทรกซึมเข้ามา นอกจากนี้ยังใช้โฆษณาชวนเชื่อเพื่อสร้างความกลัวให้กับประชาชน เพิ่มวิชาการทหารเข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับมัธยมต้น โดยเด็กผู้ชายก็จะได้ฝึกเช่นเดียวกับทหาร และเด็กผู้หญิงก็ต้องฝึกการปฐมพยาบาลเบื้องต้น (วิชาการทหารนี้อยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนของเกาหลีใต้จนถึงปี 2007 ก่อนจะถูกยกเลิกไป)
ในวันที่ 17 พฤษภาคม 1980 นายพลช็อนดูฮวันขยายกฎอัยการศึกไปทั่วประเทศ โดยส่งผลให้เกิดการปิดมหาวิทยาลัย ยุติกิจกรรมทางการเมือง และจำกัดเสรีภาพสื่อยิ่งกว่าเดิม หลังจากนั้นในวันที่ 18 พฤษภาคม 1980 ประชาชนซึ่งนำโดยกลุ่มนักศึกษาในเมืองควังจู ออกมารวมตัวกันประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย นายพลช็อนดูฮวันสั่งให้กองทัพใช้กำลังปราบปรามประชาชน และเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างกองทัพกับประชาชน เหตุการณ์นี้ถูกเรียกว่า Gwangju Uprising (การก่อการกำเริบควังจู) มีผู้เสียชีวิต 165 สูญหาย 76 และบาดเจ็บกว่า 3,515 คน เรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้นับตั้งแต่สงครามเกาหลีเป็นต้นมา
สรุปโดยสั้นคือในช่วงปี 1980 เกาหลีใต้ตกอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมทหาร ภาคประชาชนถูกลดบทบาท เกิดโฆษณาชวนเชื่อ ลิดรอนเสรีภาพสื่อ และทำให้ประชาชนต้องใช้ชีวิตอยู่กับความหวาดระแวงว่าเกาหลีเหนือจ้องจะโจมตีเกาหลีใต้อยู่เสมอ
กลับมาที่โซกยอกดง ถึงแม้จะดูเป็นย่านเล็ก ๆ ในกรุงโซล เหมือนจะไม่ได้มีความสำคัญอะไร แต่จริง ๆ แล้วโซกยอกดงเป็นที่ตั้งของศูนย์บัญชาการป้องกันความมั่นคง คล้ายกับหน่วยงาน CIA ของอเมริกา ในขณะนั้น นักศึกษามหาวิทยาลัยที่มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยราว 1,100 คน ถูกลักพาตัวและนำไปทรมาน จนกว่าพวกเขาจะยอมเป็นสายสืบในกระบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยให้แก่รัฐบาล โดยมีนักศึกษา 6 คนที่เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาในขั้นตอนนี้
และซอแทจีผู้แต่งเพลงนี้ ก็เติบโตขึ้นมาในย่านและในสถานการณ์บ้านเมืองดังกล่าว
หลังจากให้ข้อมูลเกี่ยวกับโซกยอกดงในช่วงทศวรรษ 1980 แล้ว เราลองมาดูสิ่งที่เอ็มวีเพลงนี้ต้องการจะสื่อกันดีกว่าค่ะ เราแนะนำให้ดูเอ็มวีทั้ง 3 เวอร์ชั่นจึงจะสามารถปะติดปะต่อเรื่องราวได้ เพราะเอ็มวีแต่ละเวอร์ชั่นก็ตัดมุมมองของตัวละครมาให้ดูไม่เหมือนกัน
เมื่อดูเอ็มวีครบทั้ง 3 เวอร์ชั่นแล้วจะพบว่าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กผู้หญิงกับเด็กผู้ชาย ทั้งคู่เจอกันครั้งแรกบนรถแท็กซี่ โดยเด็กผู้หญิงถือกังหันลมกระดาษอยู่ในมือและมีรอยแผลจากการวิ่งหกล้ม หลังจากนั้นทั้งคู่ก็เจอกันในตรอกเล็ก ๆ ภายในย่านโซกยอกดงในยามกลางคืน ทั้งคู่นั่งฟังวิทยุด้วยกัน ซึ่งเป็นวิทยุของพ่อเด็กผู้หญิงที่เธอแอบนำออกมา จนอยู่มาวันหนึ่งเด็กผู้หญิงเอานกกระเรียนกระดาษให้กับเด็กผู้ชายระหว่างที่เขากำลังเดินทางไปโรงเรียน หลังเด็กผู้ชายเดินผ่านไป เด็กผู้หญิงก็มองเห็นเจ้าหน้าที่หลายคนเดินเข้ามาในย่านที่เธอพักอาศัยอยู่ ตัดภาพกลับไปฝั่งเด็กผู้ชาย เมื่อคลี่นกกระเรียนออกมาก็พบข้อความเขียนว่า "불빛이 모두 사라지는 밤에 만나..." หรือ "เจอกันในตอนกลางคืนหลังไฟดับไปหมดแล้ว" แต่เสียงไซเรนก็ดังขึ้น ไฟจากบ้านทุกหลังดับลง เด็กผู้ชายได้ออกไปตามหาเด็กผู้หญิงที่บ้าน แต่ก็พบว่าบ้านของเธอเละไม่เป็นท่า และเธอกับครอบครัวก็ไม่อยู่ที่นั่น เสียงไซเรนดังขึ้นอีกครั้งเป็นสัญญาณให้เปิดไฟได้ พร้อมกับที่เด็กผู้ชายตระหนักว่าเด็กผู้หญิงกับครอบครัวถูกรัฐบาลจับตัวไปแล้ว
จากการดูเอ็มวี จะพบองค์ประกอบทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเกาหลีที่สำคัญหลายประการด้วยกัน ดังนี้
1) กังหันลมกระดาษ (바람개비/팔랑개비/도르라기):
ลมมีความเกี่ยวข้องกับฝน และฝนก็มีความเกี่ยวข้องกับการทำนา คนเกาหลีสมัยก่อนจึงประดิษฐ์กังหันลมกระดาษขึ้นมาเพื่อใช้ขอพรให้มีฤดูเก็บเกี่ยวที่ให้ผลผลิตมาก แต่ภายหลังกังหันลมกระดาษก็กลายมาเป็นของเล่นสำหรับเด็ก ในที่นี้กังหันลมกระดาษจึงสื่อถึงความเยาว์วัย และสะท้อนความบริสุทธิ์ของตัวละครในเอ็มวีที่เป็นเด็กทั้งคู่
2) วิทยุสื่อสาร:
ดังที่ได้เล่าไปในตอนต้นว่าเกาหลีใต้ในขณะนั้นอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก เกิดการจำกัดเสรีภาพสื่อ และรัฐบาลใช้โฆษณาชวนเชื่อ ป้อนข้อมูลที่กลั่นกรองมาแล้วเท่านั้นให้กับประชาชน ดังนั้นการมีวิทยุจึงเป็นเหมือนกับสิ่งของต้องห้าม เนื่องจากสามารถตรวจจับสัญญาณอื่นที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐบาล และสามารถรับข่าวสารที่ไม่ผ่านการใส่สีตีไข่จากรัฐบาลได้ โดยพ่อของเด็กผู้หญิงมีวิทยุเครื่องนี้ จึงอาจตีความได้ว่าครอบครัวของเธออยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล หรือฝ่ายที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนั่นเอง
นอกจากนี้ในฉากที่เด็กผู้หญิงกับเด็กผู้ชายนั่งฟังวิทยุตรงบันได จะได้ยินเสียงจากวิทยุพูดเกี่ยวกับ "학원 녹화사업" หรือโปรเจคทำสถาบันการศึกษาให้กลายเป็นสีเขียว ซึ่งดูเหมือนจะเป็นโปรเจคที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่จริง ๆ แล้ว "สีเขียว" ในขณะนั้นเป็นโค้ดลับของรัฐบาลเผด็จการเกาหลีที่สื่อถึงการ "ล้างสมอง" ซึ่งก็คือโปรเจคที่จับนักศึกษามหาวิทยาลัยจำนวนมากมาทรมาน บังคับพวกเขาให้เป็นสายสืบให้กับรัฐบาลดังที่เล่าไปในตอนต้นนั่นเอง
3) เครื่องแบบฝึกทหาร (교련복):
ในสมัยนั้นวิชาการทหารถูกเพิ่มเข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา เด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายต่างก็ต้องเรียนและฝึกฝนทางทหารทั้งคู่ โดยเด็กผู้ชายจะซ้อมเดินขบวน ฝึกใช้ปืน ส่วนเด็กผู้หญิงก็จะฝึกปฐมพยาบาลเบื้องต้น ในเอ็มวีจะเห็นได้ว่าเด็กผู้ชายและเพื่อน ๆ ของเขาต่างก็อยู่ในชุดเครื่องแบบทั้งสิ้น ในขณะที่เด็กผู้หญิงไม่ได้ปรากฏให้เห็นในเครื่องแบบนี้ตลอดทั้งเอ็มวี จึงอาจตีความได้ว่าเธอไม่ได้ไปโรงเรียน หรือเพราะครอบครัวของเธออยู่ฝ่ายประชาธิปไตย จึงเลือกที่จะไม่ไปเรียนหนังสือหรืออยู่ในสภาพที่ถูกบังคับโดยรัฐบาล
4) นกกระเรียน (학/두루미):
นกกระเรียนในวัฒนธรรมเกาหลีถือเป็นสัญลักษณ์ของอายุที่ยืนยาว นอกจากนี้ยังสื่อถึงนักปราชญ์/ผู้มีปัญญา รวมไปถึงอิสรภาพได้อีกด้วย หรือหากพูดถึงนกกระเรียนกระดาษ หลายคนคงนึกถึงตำนานนกกระเรียน 1,000 ตัวของซาดาโกะ ซาซากิ โดยคนญี่ปุ่นเชื่อว่าหากพับนกกระเรียนครบ 1,000 ตัว สิ่งที่ปรารถนาจะกลายเป็นจริง ที่เกาหลีก็มีการพูดถึงตำนานนี้เช่นเดียวกัน นกกระเรียนกระดาษจึงสามารถสื่อถึงความหวังและความปรารถนาได้อีกด้วย ในบริบทของเอ็มวีนี้ เราว่านกกระเรียนกระดาษสื่อถึงได้ทั้งอิสรภาพที่หลุดจากการควบคุมของรัฐบาล และความหวัง ความปรารถนาที่จะนำประเทศไปสู่ประชาธิปไตย
5) การซ้อมปิดไฟ:
เมื่อเด็กผู้ชายคลี่กระดาษออกมาก็พบข้อความว่า "야간 등화관제 훈련에 적극 참여합(니다)" ซึ่งแปลว่า "โปรดเข้าร่วมการฝึกซ้อมปิดไฟ" หลายประเทศในช่วงสงครามจะมีการ "blackout" หรือปิดไฟยามกลางคืนเพื่อไม่ให้เครื่องบินของฝ่ายตรงข้ามมองเห็นบ้านเรือนและทิ้งระเบิดลงมาได้ รัฐบาลเกาหลีใต้ก็เช่นกัน ถึงแม้ในขณะนั้นสงครามเกาหลีจะถูกยุติไปกว่า 30 ปีแล้ว แต่รัฐบาลก็ยังให้ประชาชนซ้อมปิดไฟยามกลางคืนด้วยการอ้างเหตุผลว่าเกาหลีเหนืออาจส่งเครื่องบินเข้ามาทิ้งระเบิด จึงต้องให้มีการซ้อมปิดไฟอยู่ ผู้คนส่วนมากในขณะนั้นก็เชื่อคำพูดรัฐบาลและปิดไฟหลบอยู่ภายในบ้าน เนื่องจากพวกเขาเกรงว่าหากไม่ปฏิบัติตามอาจถูกยิงหรือทำร้ายได้ แต่บางคนก็ถือโอกาสนี้ในการออกมาเผารถ ทำลายศูนย์วิทยุที่กระจายข่าวแบบผิด ๆ ด้วยเช่นกัน
ในเอ็มวีจะเห็นว่าเด็กผู้หญิงนัดเด็กผู้ชายออกมาเจอกันขณะที่ซ้อมปิดไฟ เมื่อเสียงไซเรนดังขึ้น ไฟตามบ้านเรือนก็ค่อย ๆ ดับลง และเมื่อเสียงไซเรนดังขึ้นอีกครั้ง ไฟก็ค่อย ๆ เปิดกลับขึ้นมาใหม่
6) การจับกุมของเจ้าหน้าที่:
หลังเด็กผู้หญิงหย่อนนกกระเรียนกระดาษให้กับเด็กผู้ชายระหว่างทางที่เขาไปโรงเรียน เธอก็หันไปเห็นเจ้าหน้าที่จำนวนมากวิ่งเข้ามาในระแวกที่เธออาศัยอยู่ ในตอนท้ายของเอ็มวีหลังจากที่เด็กผู้ชายออกมาตามนัดแล้วไม่เจอเด็กผู้หญิง เอ็มวีจึงเฉลยว่าบ้านของเธอถูกรื้อ สิ่งของกระจัดกระจาย และเธอกับพ่อก็ถูกเจ้าหน้าที่เหล่านั้นนำตัวไป สาเหตุเป็นไปได้หลายอย่าง อาจเป็นเพราะเจ้าหน้าที่รู้แล้วว่าครอบครัวเธออยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล หรืออาจเป็นเพราะเธอนำวิทยุของพ่อออกมาใช้จนรัฐบาลสามารถตรวจจับสัญญาณแล้วตามตัวได้
เพิ่มเติม) ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กทั้งสองคน:
หากตีความจากเนื้อเรื่องในเอ็มวี เรามองว่าด้วยความที่ทั้งคู่ยังคงเป็นเด็ก จึงไม่ได้รับรู้และระวังถึงความโหดร้ายของสถานการณ์รอบข้างมากนัก สังเกตได้จากการที่เด็กผู้หญิงหยิบวิทยุของพ่อออกมาถือแล้วเดินไปมาในตรอกของย่านโซกยอกดง ซึ่งเป็นย่านที่มีหน่วยงานลับของรัฐบาลตั้งอยู่ อีกทั้งยังเปิดฟังด้วยกันกับเด็กผู้ชาย แต่ถึงจะฟังไปแล้ว เธอก็เลือกที่จะไม่เก็บมาใส่ใจและหันไปหอมแก้มเด็กผู้ชาย สะท้อนให้เห็นว่าตัวละครทั้งคู่สนใจในความสัมพันธ์และความรักอันบริสุทธิ์นี้มากกว่า นอกจากนี้เด็กผู้หญิงยังชวนเด็กผู้ชายออกมาเจอกันในขณะที่รัฐบาลประกาศซ้อมปิดไฟ ซึ่งเป็นเวลาที่ไม่ควรออกมา และเด็กผู้ชายก็เปิดไฟฉายและออกมาตามนัดอีกด้วย แต่จุดเปลี่ยนก็เกิดขึ้นเมื่อเด็กผู้ชายมาถึงบ้านเด็กผู้หญิงแล้วพบว่ารัฐบาลจับเธอกับครอบครัวไปแล้ว นั่นจึงเป็นวินาทีที่ทำให้เด็กผู้ชายรับรู้ถึงความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง ซึ่งตรงกับท่อน 'อยู่มาวันหนึ่งน้ำในลำธารที่เคยมีมากมายก็แห้งเหือดไป ดวงใจอันเยาว์วัยของฉันก็แห้งเหือดไปด้วยเช่นเดียวกัน' และเรามองว่านี่คงสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตวัยเด็กของคนเกาหลีในช่วงเวลานั้นจำนวนไม่น้อยเลย
โดยสรุป เมื่อกลับไปดูที่เนื้อเพลง จะพบว่าเนื้อเพลงสื่อถึงการระลึกถึงวันวานที่มีความสุข ('ความหอมหวานของวันวานพัดผ่านตัวฉันไป' 'น้ำแข็งที่ย้อยลงมาจากชายคาบ้านใต้เสาไฟกับเสียงนกร้อง ฉันอยากอาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่สวยงามแห่งนี้') แต่แล้วทุกอย่างก็กลับตาลปัตร ตัวละครทั้งสองถูกแยกกันโดยที่ก็ไม่รู้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะเป็นเช่นไรต่อ ('แต่แล้ววันหนึ่ง โลกทั้งใบก็พลิกผัน' 'ฉันไม่อยากจะลืมเลยสักนิด แต่สำหรับฉันแล้วนั้นไม่มีรูปสักใบหลงเหลืออยู่เลย') หากฟังเผิน ๆ เพลงนี้ก็คงเหมือนเพลงเศร้าทั่ว ๆ ไป แต่หากคำนึงถึงบริบททางประวัติศาสตร์ด้วยแล้ว จะพบว่าเพลงนี้ถ่ายทอดเรื่องราวที่สวยงามแต่ก็น่าเศร้าใจที่เกิดขึ้นภายในโซกยอกดง ทศวรรษ 1980 ตรงตามจุดประสงค์ของซอแทจีที่เกริ่นไว้ในข้างต้นแบบพอดิบพอดี
เพลงนี้เป็นเพลงอันดับหนึ่งในใจเราตั้งแต่เคยฟังเพลงเกาหลีมาเลยก็ว่าได้ เพราะตัวเมโลดี้เอง เนื้อเพลง เอ็มวีที่ถ่ายทอดเรื่องราว รวมไปถึงเบื้องหลังเพลงที่มีความเกี่ยวข้องกับเกาหลีใต้ในยุคเผด็จการอำนาจนิยมด้วย หวังว่าโพสต์นี้คงทำให้หลายคนที่เคยฟังเพลงนี้แล้วรู้สึกชอบมากขึ้น หรือใครที่เพิ่งมาฟังครั้งแรกก็หวังว่าจะชอบเพลงนี้ไม่มากก็น้อยนะคะ
หมายเหตุ: เราไม่ได้แปลแบบตรงตัว คำต่อคำ แต่เกลาคำให้เข้ากับสิ่งที่เพลงต้องการสื่อมากขึ้น เราเชื่อเสมอว่าคำแปลของเราไม่สามารถสะท้อนความหมายของเนื้อเพลงทั้งหมดได้ แต่ก็พยายามที่จะสื่อออกมาให้ได้ครบถ้วนมากที่สุด และหากผิดพลาดประการใดก็ขออภัยด้วยนะคะ ขอบคุณที่เข้ามาอ่านและขอให้เป็นวันที่ดีค่ะ :-)
ช่องทางในการติดตามศิลปิน:
แหล่งอ้างอิง:
- Anti Kpop-Fangirl, "A Lesson in Korean History: IU and Seotaiji's Sogyeokdong,"
(accessed June 14, 2020).
- T.K., "History Behind Seo Taiji's Sogyeokdong,"
Ask a Korean,
(accessed June 14, 2020).
sincerely,
themoonograph
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in