เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
WHY ร้ายSALMON X VANAT
16: STEPMOTHER & STEPSISTERS แม่เลี้ยงใจร้ายกับพี่ๆ ขี้อิจฉา
  • PROFILE
    NAME: Lady Tremaine, Drizella และ Anastasia
    FIRST APPEARANCE: Cinderella (1934)
    GOAL: กดซินเดอเรลล่าเอาไว้ ไม่ให้ได้ดี

    * Cinderella เป็นนิทานที่ถูกเล่าปากต่อปากจนแพร่หลายไปทั่วยุโรป ก่อนจะได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในปี 1934 ในหนังสือรวมนิทาน The Pentamerone ของ Giambattista Basile กวีชาวอิตาเลียน และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากเวอร์ชั่นการ์ตูนแอนิเมชั่นของ Walt Disney ในปี 1950 โดยเนื้อหาในที่นี้ยึดข้อมูลจาก Cinderella ฉบับ Walt Disney

    ‘แม่เลี้ยง’ และ ‘พี่น้องต่างมารดา' ของนางเอกมักจะเป็นตัวแทนในตำแหน่ง ‘ร้ายสำเร็จรูป’ ที่ไม่ว่าใครสวมบทบาทก็ต้องถูกวางคาแรคเตอร์ให้เป็นคนขี้อิจฉา เจ้าอารมณ์ ชอบโยนความผิด เอาดีเข้าตัว รักที่จะรังแกนางเอก ฯลฯ อยู่เสมอ

    ในวงการแม่เลี้ยงกับคณะลูกสาวคงไม่มีวีรกรรมไหนเลื่องลือฉาวโฉ่ไปกว่าเรื่องของ ‘เลดี้เทรเมน’ กับ ‘สองลูกสาว’ ที่รุมกระทำเรื่องสุดแบดกับ ‘ซินเดอเรลล่า’ ทุกเมื่อเชื่อวัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เลดี้เทรเมนเคยเป็นแม่เลี้ยงที่ดี แต่เธอก็มาเปลี่ยนไปเมื่อพ่อของซินเดอเรลล่าตายจาก

    เลดี้เทรเมนและลูกสาววัยไล่เลี่ยกับซินเดอเรลล่า ‘ดริซเซลล่า’ กับ ‘อนาสตาเซีย’ เอาแต่จ้องจะใช้งานซินเดอเรลล่าให้เก็บกวาดบ้าน กดขี่สารพัด จิกหัวใช้โดยไม่แบ่งสมบัติเงินทองให้ แม้แต่เสื้อผ้าก็ปล่อยให้ใส่แต่ชุดเก่ามอมแมม ขณะที่สามแม่ลูกแต่งตัวสวยงามตลอดเวลา ซินเดอเรลล่าอยู่ในบ้านโดยมีตำแหน่งที่ไม่ต่างจากคนรับใช้ ทั้งที่ความจริงแล้ว สมบัติเหล่านั้นต้องเป็นของซินเดอเรลล่า!

    สำหรับเลดี้เทรเมน เธอรักและตามใจลูกสาวของตัวเองยิ่งกว่าใคร เธอจะไม่ยอมให้ใครได้ดีไปกว่าลูกของตัวเอง โดยเฉพาะซินเดอเรลล่า เธอทำทุกวิถีทางที่จะไม่ให้หล่อนโงหัวขึ้นมาเทียบเคียงกับลูกสาวของเธอได้

    ส่วนดริซเซลล่าและอนาสตาเซีย ทั้งคู่เป็นเด็กสาวเอาแต่ใจ ขี้อิจฉา อีกทั้งยังชอบทะเลาะ ชิงดีชิงเด่นกันเอง แต่เมื่อมีซินเดอเรลล่าเป็นเป้าหมายที่ต้องเหยียบย่ำร่วมกัน ทั้งสองก็หันมาปรองดองและร่วมมือกันได้เป็นครั้งคราว
  • BAD LIST

    • เมื่อพระราชวังเชิญหญิงสาวทั่วราชอาณาจักรให้ไปร่วมงานเลี้ยงเต้นรำ เลดี้เทรเมนและลูกสาวทั้งสองทำทุกอย่างเพื่อขัดขวางไม่ให้ซินเดอเรลล่าเข้าร่วมงาน เลดี้เทรเมนตั้งเงื่อนไขว่า ถ้าซินเดอเรลล่าอยากไปก็ต้องทำงานบ้านทุกอย่างให้เสร็จและหาชุดที่เหมาะสมมาให้ได้ ซินเดอเรลล่าทำงานเสร็จตามเงื่อนไขและหาชุดราตรีมาสวมใส่เพื่อไปร่วมงานเลี้ยงได้ แต่เลดี้เทรเมนก็ชี้นำให้ลูกสาวทั้งสองทำลายชุดนั้น ทั้งฉีก กระชาก จนขาดวิ่น ทำให้ซินเดอเรลล่าไม่สามารถเข้าร่วมงานเลี้ยงได้อยู่ดี

    • เมื่อมหาดเล็กของเจ้าชายมาตามหาตัวเจ้าของ ‘รองเท้าแก้ว’ ที่ซินเดอเรลล่าทำตก เลดี้เทรเมนสังหรณ์ใจว่าซินเดอเรลล่าอาจเป็นเจ้าของรองเท้าตัวจริง เธอจึงจับซินเดอเรลล่าไปขังไว้ในห้องใต้หลังคา

    • พอซินเดอเรลล่าออกจากห้องใต้หลังคามาแสดงตัวได้ เลดี้เทรเมนก็พยายามบอกมหาดเล็กว่าเธอเป็นเพียงสาวใช้ชั้นต่ำ ไม่มีทางเป็นเจ้าของรองเท้าแก้วนี่ได้หรอก! แต่มหาดเล็กก็ยังคงไม่ล้มเลิกความตั้งใจ เลดี้เทรเมนจึงดำเนินการขั้นสุดท้าย ขัดขามหาดเล็กให้ล้มจนรองเท้าแก้วตกกระแทกพื้นแตก ไม่เหลือโอกาสให้ซินเดอเรลล่าได้ลองสวมใส่เพื่อแสดงตัวอีกต่อไป
  • IN-DEPTH
    โดย วณัฐย์ พุฒนาค

    จะว่าไป ความร้ายที่รวบรวมมาก็มีหลายตัวเหมือนกันที่เป็น ‘ตัวร้ายต้นแบบ’ ในทำนองที่ว่าถ้านึกถึงวีรกรรมความร้าย เราจะนึกถึงตัวละครตัวนั้นทันที และในตอนนี้ เราก็มาถึงเรื่องของตัวร้ายที่คุ้นเคย พบเจอได้บ่อยๆ เพราะตัวร้ายประเภทนี้มักปรากฏในหนังหรือละครที่เราดูอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เป็นตัวร้ายที่เราเรียกกันว่า ‘นางร้าย’ นั่นเอง

    ส่วนใหญ่แล้ว นางร้ายในละครไทยมักมีหน้าที่ก่อกวนไม่ให้พระเอกกับนางเอกสมหวัง ซึ่งนอกจากจะก่อกวนในจอแล้ว พวกเธอยังสร้างความรำคาญให้กับคนดูนอกจอด้วยเสียงกรี๊ดที่ไม่รู้จะกรี๊ดไปทำไมอีก

    เดี๋ยว...ออกทะเลทำไม กลับมาสู่เรื่องของนางร้ายตามหัวเรื่องกันก่อน 

    แม้ว่าภาพของแม่เลี้ยงใจร้ายและเหล่าพี่สาวนอกไส้ใจดำจะเป็นตัวแทนของนางร้ายหรือตัวอิจฉาในปัจจุบัน แต่ภาพของนางร้ายทำนองนี้ก็ถูกเล่ามาตั้งแต่โบราณกาล ผูกติดมากับเทพนิยายที่เอาไว้ใช้เล่าให้เด็กๆ ฟังก่อนนอนเป็นร้อยๆ ปีมาแล้ว ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป โครงสร้างความบันเทิงแบบเทพนิยายก็ถูกนำมาปรุงแต่งให้เข้ากับยุคสมัย จนอาจเรียกได้ว่าโครงสร้างของมันไม่ต่างอะไรกับละครทุกวันนี้เลย 

    ยกตัวอย่าง Cinderella แกนของเรื่องที่ว่าด้วยนางเอกผู้ถูกรังแกจากนางร้าย แต่ตอนจบก็ใช้มารยาและเล่ห์กลเพื่อครองรักกับพระเอกได้อย่างสุขสมก็ถูกผลิตซ้ำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ซึ่งไม่ใช่แค่แนวเรื่องที่เหมือนเดิมนะครับ บทบาทและหน้าที่ของตัวร้ายก็ถูกผลิตซ้ำ จนผมอยากเรียกการเกิดขึ้นของเรื่องราวทำนองนี้ว่าเป็นการสร้างจินตนาการเกี่ยวกับผู้หญิงที่ซ้ำไปซ้ำมาไม่รู้จบ โดยเฉพาะเรื่องของ ‘ผู้หญิงกับอารมณ์’

    ลองดูความร้ายแบบแม่เลี้ยงใน Cinderella และเหล่าหม่อมแม่จากบ้านทรายทองสิครับ ความร้ายของพวกเธอมักถูกโยงเข้ากับ ‘ความเป็นหญิง’ ซึ่งอาจมีความหมายโดยนัยว่าที่ผู้หญิงมีลักษณะร้ายกาจเช่นนี้ก็เพราะไร้ซึ่งผู้ชายอยู่
  • ใน Cinderella เราจะเห็นได้เลยว่าครอบครัวของตัวละครหลักไม่มีผู้ชายเลยสักคน โดยเฉพาะ ‘พ่อ’ ที่เรามักจินตนาการให้เป็นหัวหน้าครอบครัวที่เที่ยงธรรม บ้านใน Cinderella จึงเป็นบ้านที่ถูกปกครองควบคุมกันเองโดยผู้หญิง ซึ่งการปกครองของเพศหญิงก็ถูกแต่งให้เต็มไปด้วย ‘ความอยุติธรรม’ ดังจะเห็นได้จากการร่วมกันเล่นงานซินเดอเรลล่าแบบผู้หญิงๆ เช่น ไม่ชอบหน้ากันด้วยความอิจฉาริษยา หรือการกลั่นแกล้งกีดกันต่างๆ นานา นัยสำคัญของเรื่องราวเหล่านี้เลยมีการเมืองเรื่องเพศแฝงอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนแม้ทุกวันนี้เราก็เชื่อกันว่าผู้หญิงมีอารมณ์เป็นที่ตั้ง ดังนั้นความแนบเนียนของสารที่ถูกส่งผ่านการสร้างตัวร้ายแบบหญิงๆ (จากนิทานโบราณมาถึงนางร้ายในละคร) จึงเป็นการให้ความชอบธรรมกับผู้ชายในการควบคุมผู้หญิงอยู่ในที

    แต่ในโลกแห่งความจริง มันไม่สามารถแบ่งได้ว่าผู้หญิงใช้แต่อารมณ์หรือผู้ชายเป็นตัวแทนของเหตุผลเสมอไป แน่นอนว่ามันต้องปนเปไปตามเรื่อง แต่ภาพที่ถูกผลิตซ้ำจนกลายเป็นภาพจำมักมีแนวโน้มที่จะทำให้เรามองหรือตัดสินสิ่งต่างๆ โดยมีอคติทางเพศเจืออยู่—โอเค ผู้หญิงอาจจะเอาอารมณ์เข้าว่า แต่พวกเธออาจติดหลุมพรางของผู้ชายอยู่ก็เป็นได้

    ถ้าเราดูโครงสร้างของเรื่องแบบง่ายๆ นางซินฯ ซวยก็เพราะพ่อตาย เลยถูกแม่เลี้ยงปกครองอย่างไม่ยุติธรรม ขณะที่ ‘พจมาน’ แห่ง บ้านทรายทอง ก็ควรจะมีความสุขตามฐานะ แต่กลับถูกโขกสับให้เป็นคนรับใช้ กวาดปล่องไฟจนได้ฉายาสาวขี้เถ้าตามซินเดอเรลล่า 

    แต่ในตอนท้ายของเรื่อง ทั้งคู่ก็มีพระเอกมาช่วย นำไปสู่ครอบครัวที่มีผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัว ฟื้นฟูโลกที่สมบูรณ์แบบและมีความสุขไปจนนิรันดร์
  • ส่วนเหล่านางร้ายก็ถูกลงโทษไปอย่างสาสม ถ้าเป็นในละครไทย พวกเธอก็อาจเสียโฉมหรือเป็นบ้า ไม่สามารถใช้หน้าตาเป็นอาวุธได้อีกต่อไป ขณะที่ในนิทาน นางร้ายก็จะต้องพบชะตากรรมที่สาหัสกว่าที่นางเอกเคยเจอ อย่างใน Cinderella ฉบับของพี่น้องตระกูลกริมม์ แม่เลี้ยงและพี่น้องคนละไส้ก็พบจุดจบที่สยองกว่าฉบับดิสนีย์มาก 

    ในฉากเด็ดของเรื่องอย่างการลองรองเท้า เจ้าของรองเท้าตัวปลอม (นางอิจฉาทั้งสอง) ต้องพบปัญหาคือเท้าใหญ่จนไม่สามารถใส่ลงไปในรองเท้าแก้วได้ คุณแม่ผู้แสนดีจึงแก้ปัญหาด้วยการยื่นมีดให้ลูกสาวทั้งสอง ออกปากให้ลูกสาวคนโตตัดนิ้วหัวแม่โป้งทิ้ง ส่วนคนน้องตัดส้นเท้าทิ้ง โดยให้เหตุผลประกอบว่า “พอได้เป็นเจ้าหญิงก็ไม่จำเป็นต้องใช้เท้าเดินอีกต่อไป” (!!!) แต่ในตอนท้าย เจ้าชายก็จับได้ว่าทั้งคู่ไม่ใช่เจ้าของรองเท้าแก้วตัวจริงอยู่ดี

    ดูเหมือนว่านางอิจฉาจะได้รับบทลงโทษที่โชกเลือดไปแล้วใช่มั้ยครับ แต่เรื่องยังไม่จบ เพราะหลังจากหน้าแหกไปแล้ว สองพี่น้องนางอิจฉายังจะกล้าบุกไปงานแต่งงาน ประกาศตนเป็นญาติเพื่อขอมีส่วนร่วมในทรัพย์สินและฐานันดรของราชวงศ์ ผลก็คือ ทั้งสองถูกนกจิกลูกตาและไล่ตะเพิดออกมาจากงานสมรส

    นัยสำคัญของเทพนิยายที่ถูกเล่าซ้ำบ่อยๆ คือโลกที่สมบูรณ์แบบและจบอย่างสุขสมบูรณ์เป็นโลกที่ชายหญิงสมบูรณ์แบบได้ครองคู่กันในท้ายที่สุด 

    เทพนิยายอาจกำลังกระซิบกับเด็กๆ ว่าท้ายที่สุดผู้หญิงก็ต้องการผู้ชายคอยปกป้องคุ้มครอง ซึ่งในอีกความหมายของการคุ้มครองก็คือการปกครองเหล่าหญิงสาวที่เต็มไปด้วย ‘อารมณ์’ 

    เพราะถ้าหากปล่อยให้อารมณ์เหล่านี้เป็นอิสระ พวกเธอก็อาจตกเป็นอย่างครอบครัวในตอนเริ่มเรื่อง คือเต็มไปด้วย 'ความยุ่งเหยิง' และ 'ความอยุติธรรม'

    แน่นอน จุดจบของผู้หญิงที่ลุกขึ้นใช้อำนาจย่อมจบไม่สวยด้วยการถูกลงโทษอย่างสยดสยอง

    เป็นอุทาหรณ์สอนใจหญิงที่ถูกเล่นซ้ำมาหลายร้อยปี

    บางที ความยุติธรรมของผู้ชายก็อาจไม่ค่อยยุติธรรมกับผู้หญิงหรือเปล่า?
  • “There’s the large carpet in the main hall; clean it! And the windows, upstairs and down; wash them! Oh yes, and the tapestries and the draperies--”

    “นั่น ยังมีพรมผืนใหญ่ในห้องโถง ไปซักซะ! แล้วกระจกทั้งชั้นบนชั้นล่าง ไปเช็ดซะ! โอ้ใช่ แล้วยังมีพวกผ้าม่านผ้าแขวนผนังอีก...”
    —Lady Tremaine

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in