เคยได้ยินจากหนังเรื่องอะไรสักอย่าง เขาบอกว่า “ถ้าอยากรู้ว่าคนๆ หนึ่งเติบโตขึ้นมาอย่างไรหรือมีอดีตแบบไหน ให้ลองไปดูโปสเตอร์ที่แปะอยู่ในห้องนอนของคนๆ นั้น” ...ดูเหมือนว่าจะจริง เพราะเมื่อผมมองไปรอบๆ ห้องตัวเอง โปสเตอร์ที่แปะอยู่ก็คือ รูปวง X Japan วง Luna Sea และโปสเตอร์เกม Final Fantasy ภาค 7 และ 8
มันเป็นหลักฐานชั้นดีว่าผมเติบโตมากับวัฒนธรรมญี่ปุ่น
ในขณะที่เด็กรุ่นปัจจุบันเติบโตมากับกระแสเกาหลีฟีเวอร์ คนรุ่นผมที่มีช่วงวัยรุ่นอยู่ในยุค 90s จนถึงต้นยุค 00s ก็โตมากับอะไรที่ญี่ปุ๊นญี่ปุ่นสุดๆ จนเมื่อนึกย้อนดูก็พบว่าผมถูกหล่อหลอมมาด้วยผลิตผลจากประเทศญี่ปุ่นอย่างแท้จริง
อันดับแรกสุดคงเป็นการ์ตูนญี่ปุ่น สมัยนั้นทุกคนต้องอ่าน The Talent นิตยสารรายสัปดาห์ที่รวมการ์ตูนดังไว้หลายเรื่องแต่โดยหลักเราจะอ่านเพื่อมาเมาท์มอยกันที่โรงเรียนเรื่อง Dragon Ball ตอนล่าสุด แถมยุคนั้นยังไม่มีอินเทอร์เน็ต การจะดูอนิเมะสักเรื่องก็ต้องแหกตาตื่นมาดูช่องเก้าการ์ตูน ซึ่งฉายช้ากว่าญี่ปุ่นไปประมาณสามชาติ (จำได้แม่น น้าต๋อย เซมเบ้ บอกว่า อนิเมะ ‘คนเก่งฟ้าประทาน’ จะมาฉายตอน ป.4 สรุปมาจริงตอนกูอยู่ ม.1...หลังจากนั้นไม่เคยเชื่อใจใครอีกเลย)
สิ่งที่ฮิตอันดับถัดมาก็คงเป็นเกม ตั้งแต่ยุคซูเปอร์แฟมิคอมยันเพลย์สเตชั่น ตอนประถมก็จะเล่นเกมตะลุยด่านอย่าง Rockman หรือเกมต่อสู้แบบ Street Fighter แต่พอโตขึ้นก็จะเริ่มเล่นอะไรจริงจังขึ้นอย่างพวกเกม RPG ที่เป็นตำนานที่สุดคงหนีไม่พ้นเกม Final Fantasy โดยเฉพาะภาค 7 ที่เล่นกันอย่างข้ามวันข้ามคืนเพราะเนื้อเรื่องยาวมหากาพย์เหลือเกิน (กว่าจะเคลียร์ได้ต้องเล่นราวๆ 60-80 ชั่วโมง) และการที่แอริธ นางเอกของเรื่องตายทำให้ผมและเพื่อนๆ เครียดมาก พวกเราพยายามหาวิธีชุบชีวิตเธอ แม้จะรู้แก่ใจว่าคนสร้างเกมมันไม่ได้ออกแบบส่วนนั้นไว้
ส่วนเพลงญี่ปุ่น แม้จะไม่ได้เป็นกระแสหลักในระดับโรงเรียนเพราะเพื่อนๆ ส่วนใหญ่จะฟังเพลงฝรั่ง แต่ตอนมัธยมที่มีอินเทอร์เน็ตแล้ว ชีวิตก็มีทางออกพอสมควร มีเว็บบอร์ดหรือห้องแชตที่คุยกันเรื่องเพลงญี่ปุ่นมากมาย ช่วงนั้นที่บ้าคลั่งกันสุดๆ ก็คือ X Japan แต่ภายหลัง พอวง L’Arc~en~Ciel กับอุทาดะ ฮิคารุ (Utada Hikaru) ดังขึ้นมา เพลงญี่ปุ่นก็เป็นที่นิยมในวงกว้างขึ้น
ละครญี่ปุ่นตอนนั้นก็เฟื่องฟูพอควร ได้ฉายช่วงไพรม์ไทม์ช่อง itv (พิมพ์คำนี้แล้วมันช่างรู้สึกโบราณจริงๆ) ถึงแม้จะฉายช้าไปสามชาติเช่นกัน แต่ยุคนั้นยังไม่มียูทูบ เลยไม่มีทางเลือก ต้องทนดูในทีวีแบบดีเลย์กันไป ส่วนฝั่งหนังเนี่ย จะมีช่วงหนึ่งที่มีหนังญี่ปุ่นเข้าฉายที่ลิโด้แทบจะทุกสัปดาห์ และถึงจะฉายแค่ที่ลิโด้โรงเดียว แต่หลายเรื่องก็ทำเงินเป็นกอบเป็นกำ ฉายกันแบบข้ามเดือน เช่น Always: Sunset on Third Street หรือ Be with You นี่ยังไม่นับพวกของจิปาถะญี่ปุ๊นญี่ปุ่นอื่นๆ ที่วนเวียนอยู่รอบตัวอย่าง รถทามิย่า การ์ดยูกิ ทามาก็อตจิ ตู้ถ่ายรูปสติ๊กเกอร์ โมเดลกันดั้ม ฟิกเกอร์อีวานเกเลียน ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ
อย่างไรก็ดี ช่วงมัธยมปลายถึงมหา’ลัย ผมพยายามทำตัวเป็นคนอินดี้อยู่พักใหญ่ ด้วยการเสพอะไรที่ไม่แมส ลับแล นอกกระแส หรืออะไรที่ชาวบ้านเขาไม่เสพกัน เพราะคิดว่ามันช่างเท่และคูลเหลือเกิน ดังนั้นการเสพวัฒนธรรมญี่ปุ่นของผมมันก็เลยพลอยอินดี้ไปด้วย เช่น ชาวบ้านเขานิยมหนังญี่ปุ่นโนะเนะรักหวานใส ไอ้เราก็ไปดูหนังโคตรหดหู่แบบ All About Lily Chou-Chou พระเอกไม่มีเพื่อนไม่มีแฟน แถมโดนรังแกทั้งทางกายทางใจ เคยยัดเยียดให้เพื่อนเอากลับไปดูที่บ้าน วันรุ่งขึ้นมันเอามาคืนพร้อมกับหายไปจากชีวิตเราหลายสัปดาห์
ด้วยความอินดี้เข้าสิงร่าง พอมาเรื่องเพลงก็จะรู้สึกว่า โอ๊ย L’Arc~en~Ciel นี่มันแมสเกินป๊าย ก็ไปขวนขวายฟังวงแปลกๆ ชื่อประหลาดๆ อ่านยากนี่ยิ่งชอบ แบบ Aliene Ma’riage, Missalina Rei หรือ Noir fleurir (หลายปีต่อมา พอเอากลับมาฟังอีกครั้งก็พบว่าเพลงแม่งโคตรกระป๋องเลย)
ส่วนการ์ตูน พวก One Piece, Bleach, Naruto นี่ฉันไม่อ่านหรอกนะ กระแสหลักเกินไป ก็มักจะค้นหาการ์ตูนที่คนอื่น
เขาไม่อ่านกัน เช่น ‘เมื่อวานเจ๊ทานอะไร’ หรือ ‘ห้องแถวนี้มีดอกรัก’ ซึ่งรุ่นน้องคนหนึ่งไม่เชื่อว่าโลกนี้มีการ์ตูนชื่อแบบนี้ด้วย ส่วนรุ่นพี่อีกคนที่เปิดร้านเช่าการ์ตูนเคยพูดว่า “การ์ตูนที่มึงชอบหลายเรื่องในร้านกูมีนะ แต่ไม่เคยมีคนหยิบ” (มันช่างตอกย้ำความอินดี้ได้ดีจริงๆ)
พอมองย้อนกลับไปแล้ว ก็ตลกดีกับความพยายามจะอินดี้ของตัวเอง ทำไมสมัยก่อนกูถึงทำตัวน่าหมั่นไส้ได้ขนาดนั้นนะ ไม่น่าแปลกใจเลยที่ไม่ค่อยจะมีเพื่อนคบ แต่ถ้ามองในอีกมุม การพยายามอินดี้นี่มันก็มีข้อดีเหมือนกัน อย่างน้อยที่สุดมันก็ทำให้ได้พบสิ่งแปลกใหม่ในชีวิต และนั่นรวมถึงการเสพสื่อและวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่ไม่ใช่กระแสหลักด้วย
ถึงกระนั้น ก็มีช่วงที่ผมห่างเหินจากวัฒนธรรมญี่ปุ่นไปอยู่เหมือนกัน
ช่วงสามปีที่ผ่านมา หลังจากอินดี้มาทั้งชีวิต ผมก็เกิดความรู้สึกว่าพอกันที กูเหนื่อย กูขอแมสบ้างแล้วโว้ย ผมเลยกระโจนเข้าสู่กระแสเพลงเกาหลีและเป็นแฟนคลับน้องๆ วง Girls’ Generation อย่างเต็มตัว (ติดตามรายละเอียดได้ใน ‘Sorry, Sorry ขอโทษครับ...ผมเป็นติ่ง’ นะครับ—เนียนขายของซะงั้น) ช่วงสามปีนั้นผมเลยแทบไม่ได้ฟังเพลงหรือดูละครญี่ปุ่นเลย
แต่อย่างที่เขาว่ากันว่าเมื่อคู่กันแล้ว ย่อมไม่แคล้วกัน หลังจากที่เกาหลีฟีเวอร์มาสามปีติด ผมก็เริ่มอิ่มตัวกับกระแสเกาหลี และกลับมาหาวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่คุ้นเคย ไม่ว่าจะเพลง หนัง ละคร หรือการ์ตูน เอาเข้าจริง พอลองสังเกตชีวิตตัวเองดีๆ วัฒนธรรมญี่ปุ่นก็ไม่เคยห่างหายไปจากชีวิตผมเลย
ผมยังคงซื้อการ์ตูนญี่ปุ่นอยู่เรื่อยๆ ถึงแม้จะซื้อมาดอง...มีความสุขทุกครั้งเวลาเข้าร้านอาหารญี่ปุ่น แล้วได้ยินเพลงของ อุทาดะ ฮิคารุ...เวลาออกกำลังกาย ก็มักยัดหูฟังด้วยเพลงเจป๊อปร่าเริง...เวลาสอนหนังสือก็ใช้ตัวอย่างเป็นหนังญี่ปุ่นบ่อยมาก ...หรือกระทั่งตอน X Japan มาเล่นคอนเสิร์ตเมื่อปี 2554 ก็ยังอุตส่าห์เสี่ยงตายลุยน้ำท่วมไปดูคอนเสิร์ต
พอได้กลับมาใกล้ชิดกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นอีกครั้ง ผมเลยระลึกได้ว่า ...เฮ้ย หนึ่งในความฝันของกูคือการไปประเทศญี่ปุ่นนี่หว่า! อยากไปเห็นว่าพวกย่านดังๆ แบบชินจูกุ ชิบูย่า ฮาราจูกุ เป็นอย่างไร กระโปรงนักเรียนหญิงญี่ปุ่นสั้นจริงไหม ร้านซีดีขายหนังเอวีกันโจ่งแจ้งเลยจริงหรือเปล่า อยากลองไปกินข้าวหน้าเนื้อหรือราเมนที่เขาว่าอร่อยนักหนา และอื่นๆ อีกมากมายบรรยายไม่หมด
อันที่จริงโครงการ ‘โกเจแปน แดนในฝัน’ เคยผุดขึ้นมาตอนผมอยู่มหา’ลัย ตอนนั้นเพื่อนๆ ไปเที่ยวญี่ปุ่นกัน แล้วชวนผมไปด้วย ไอ้เราก็บากหน้าไปขอเงินพ่อแม่ ผลคือถูกเลคเชอร์กลับมาไม่เหลือชิ้นดี “จะใช้เงินสิ้นเปลืองแบบนี้ได้ยังไง” “เก็บเงินไว้เรียนต่อปริญญาโทไม่ดีกว่าหรือ” และบลาๆๆ สรุปคืออดไป จบ.
อีกสาเหตุที่ไม่ได้ไปญี่ปุ่นสักทีคือ เป็นโรคกลัวการไปต่างประเทศ อันที่จริงคือกลัวการไปอยู่ที่ไม่คุ้นเคยทั้งหมด อย่างเวลาต้องไปติดต่อสถานที่ราชการหรือธนาคารก็มักทำตัวไม่ถูกเหงื่อไหล หายใจไม่คล่อง แล้วแบบนี้กูจะไปต่างบ้านต่างเมืองได้อย่างไร
แต่เมื่อปี 2555 ผมได้เปลี่ยนแปลงตัวเองชีวิตครั้งใหญ่ โดยกำหนดธีมให้ปีนั้นเป็นปี ‘ไสหัวตัวเองไปเมืองนอก’ ผลคือ ได้ไปทั้งเกาหลีใต้ เยอรมนี สิงคโปร์ (ไปเองบ้าง ไปกับโครงการนั่นนี่บ้าง) สรุปคือ ไม่กลัวการไปต่างประเทศอีกต่อไปแล้ว ส่วนเรื่องเงินตอนนี้ก็พอจะหาเลี้ยงตัวเองได้ และมีปัญญาออก ค่าเที่ยวเอง ดังนั้นปัจจัยต่างๆ ก็เอื้อต่อการไปเยือนดินแดนในฝัน
และช่วงกลางปี 2555 ผมอ่านเจอข่าวว่าวง Luna Sea ซึ่งเป็นวงดนตรีญี่ปุ่นที่ผมติดตามมานานถึง 15 ปี กำลังจะกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง พร้อมจัดคอนเสิร์ตใหญ่ที่โตเกียว แม้การไปญี่ปุ่นครั้งหนึ่งจะไม่ใช่เรื่องเล็ก ค่าใช้จ่ายก็หนักหนาเอาการ แต่จิตใต้สำนึกของผมมันบอกว่า “งานนี้ต้องไป” หลังจากที่ตื่นขึ้นมาเจอโปสเตอร์ Luna Sea ที่อยู่ในห้องตัวเองมาสิบปีกว่า นี่แหละคือโอกาสที่ผมจะได้เห็นพวกเขาตัวเป็นๆ
เอาเข้าจริง ณ วินาทีแรกที่อ่านข่าวนั้นจบ ผมตัดสินใจทันทีว่า...
มันถึงเวลาที่ผมจะไปญี่ปุ่นแล้ว
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in