33/2016
ลักษณ์ อาลัย
อุทิศ เหมะมูล
---------------------------------
เรื่องราวของชายที่ทิ้งครอบครัวไว้เบื้องหลัง มุ่งเข้าสู่วิถีแห่งคนเมือง ความขัดแย้งที่เป็นปมชีวิตค่อย ๆ ถูกตีแผ่แบออกมาอย่างน่าหดหู่ ชายผู้นี้เก็บกักปมปัญหา ฤา เป็นตัวสร้างปัญหาเสียเอง?
จริงแท้อย่างไร ไม่มีใครตอบได้
ผมทำใจไม่อ่านเรื่องนี้มานาน ไม่ใช่เพราะไม่ชอบ แต่เกรงว่าจะไม่เป็นอันทำอะไรเหมือนที่ ลับแล แก่งคอย และจุติ ทำไว้กับผม แน่นอนเมื่อเปิดอ่านก็ไม่มีอะไรมาหยุดผมได้เลย จนถึงสาม สี่ บทสุดท้าย ที่ผมต้องค่อย ๆ ผ่อนความเร็วลง ก็ไม่เกี่ยวกับเนื้อเรื่องเลย แต่เป็นเพราะผมไม่อยากให้มันจบ ไม่อยากความ ไม่อยากปิดประตูให้ตัวละครเหล่านั้นต้องหลับตารอคอยผู้คนอื่นมาเปิดอ่าน
พี่ม่อน เล่นของหนักแสดงฝีมือกับนวนิยายเรื่องที่สอง อย่างอุกอาจ พยายามสร้างความต่างและเปิดมุมมองการเขียนนิยาย(สำหรับผมที่พึ่งหัดอ่าน)ให้แผ่กว้าง และจงใจแสดงให้เห็นว่า มันต้องดีกว่าเก่า(ลับแล-แก่งคอย)
เรื่องเลยเต็มไปด้วยสีสันมากมายที่ถูกอัดยัดลงไป บางอย่างเกินพอดี บางทีก็เป็นสีนสัน เรื่องหลักเป็นเนื้อเค้กที่กลมกล่อม ละมุน และอร่อยนุ่ม ฉาบไปด้วยครีมฉูดฉาด เข้าบ้างไม่เข้าบ้าง หวานไป เปรี้ยวไป หรือบางทีมีขม คล้ายทดลอง
ไม่อยากเปรียบกับ ลับแลฯ แต่ก็อดไม่ได้ ด้วยเรื่องขององค์ประกอบ ตัวละคร ฉาก ปม คล้ายคลึงกัน จึงทำให้นึกย้อนหา พี่น้องลับแลอย่างเลี่ยงไม่ได้
พงศาวดาร ใต้เส้นที่ขีดกั้นมันคือความแตกฉานที่บรรจงใส่เข้ามา อย่างแออัด ความจริงแล้วสามารถโดดเด่นเป็นเรื่องหลักได้ แต่ด้วยบางอย่างอย่างอาจจำเป็นต้องเล่ามาด้วยวิธีนี้ เป็นความรู้ที่น่าสนใจ แต่ด้วยเป็นเพียงแค่หน้าประดับตบแต่ง เลยขาดความกลมกล่อมหรือความหนักอย่างที่ควรมี(อันนี้น่าเสียดาย)
ทั้งสามเล่ม(ลับแลฯ/ลักษณ์อาลัย/จุติ)ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นมหากาพย์ที่ลงตัว เพราะแต่ละเรื่องมีเอกลักษณ์ของตัวเอง แต่ผมก็เชื่อว่ามันเป็นหนึ่งในยุคของตนเอง แม้มันมันจะเล่นย้ำกับองคประกอบซ้ำ แต่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ทุกคนมีเรื่องเล่า พลังของเรื่องเล่าที่แอบซ่อนและออกมาล้อเล่นกับเรา
.ผมสะอึกกับคำกล่าวที่ว่า
"เราคือนักตัดแต่งความทรงจำ"
ความจริงไม่เคยถูกเล่า เพราะเมื่อเราเล่ามันคือความไม่จริง
สิ่งที่ถูกชำระแล้ว ล้วนไม่จริง
-----------------
ลิง
2-6-16
18.57
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in