เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
キキの日記 (Kiki no Nikki)Naomi
05 ー 二重否定:ปฏิเสธแต่ไม่ปฏิเสธนะจ๊ะ (1/2)
  • #kikinonikki

    (บันทึกนึกขึ้นได้ของ Kiki)

              สวัสดีค่าาาา วันนี้เราจะมาพูดถึงหัวข้อ ลักษณะเฉพาะของภาษาญี่ปุ่น กันค่ะ ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่น่าสนใจมาก ๆ หลายอย่างเลย  ในฐานะที่เป็นทั้งผู้เรียนและเป็นคนสอนภาษาญี่ปุ่นด้วย ก็เคยมีโมเม้น "เอ๊ะ" กับลักษณะเฉพาะพวกนี้อยู่หลายครั้ง แล้วก็มักจะได้รับคำถามจากน้อง ๆ ที่เริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นใหม่ ๆ ด้วย ก็เลยต้องพยายามเรียนรู้ศึกษาเพื่อหาคำตอบและวิธีการอธิบายมาอธิบายให้น้องฟังอยู่ตลอด

              สำหรับลักษณะเฉพาะของภาษาญี่ปุ่นที่เราจะมาพูดถึงในครั้งนี้คือเรื่อง 二重否定 หรือการปฏิเสธซ้อนปฏิเสธนั่นเองค่ะ เป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ยากเพราะคอนเซ็ปต์ก็คล้าย ๆ กับภาษาไทยคือ
    ปฏิเสธ x ปฏิเสธ = บอกเล่า แต่ที่น่าสนใจคือบางประโยคอาจแฝง sense อื่น ๆ ที่มากกว่าประโยคบอกเล่าแบบปกติ นอกจากนี้คือในภาษาญี่ปุ่นมีรูปประโยคที่ใช้ปฏิเสธซ้อนปฏิเสธเยอะมากกกกกกกกกก และคนญี่ปุ่นก็นิยมใช้สำนวนพวกนี้กันเยอะมาก ๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวันด้วย มาค่ะเริ่มเลอ!

    二重否定:ปฏิเสธซ้อนปฏิเสธ

              ตอนที่สอนภาษาญี่ปุ่นขั้นต้น มักจะมีน้อง ๆ มาบ่นตลอดเลยว่าจำสำนวนคำสั่งพวก "ต้อง" "ห้าม" ในภาษาญี่ปุ่นไม่ค่อยจะได้เลยเพราะมันหน้าตาคล้ายกันและยาวมาก ถ้ายกตัวอย่างสำนวนพื้นฐานนี้ขึ้นมาทุกคนต้องร้องอ๋อกันแน่ ๆ เพราะใครที่เรียนภาษาญี่ปุ่นน่าจะต้องผ่านสำนวนนี้มาแล้วแน่นอน

    〜なければならない  : ต้อง... (ถ้าไม่ทำ...ไม่ได้)
    〜なくてはいけない  : ต้อง... (ถ้าไม่ทำ...ไม่ได้)

              สมัยที่เราเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นขั้นต้นใหม่ ๆ แล้วเรียนมาถึงเรื่องสำนวน "ต้อง" นี้ เราก็ทำอะไรไม่ได้เลยนอกจาก "จำ" pattern สำนวนพวกนี้ จนพอเราเรียนไปเรื่อย ๆ จนถึงหัวข้อเรื่องรูปเงื่อนไข (รูป ば) เราถึงได้เข้าใจว่า อ๋าาา จริง ๆ แล้วมันแปลว่า "ถ้าไม่ทำ...ไม่ได้" มันก็เลยแปลว่า "ต้องทำ" นี่เอง ทุกครั้งเวลาสอนเรื่องนี้ก็เลยจำเป็นต้องอธิบายเรื่องรูปเงื่อนไขให้น้องฟังไปก่อนคร่าว ๆ ด้วย เพื่อให้น้องเห็นภาพ เข้าใจความหมายและจำสำนวนได้ง่ายขึ้น ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งตัวอย่างของสำนวนการใช้ประโยคปฏิเสธซ้อนปฏิเสธนั่นเอง

    อะมาเข้าเรื่องกันค่ะ (ซักที)

    1. 二重否定  คืออะไร

    • 二重否定 ก็คือการที่ในประโยคเดียวกันใช้สำนวนปฏิเสธซ้อนกันสองครั้ง เพื่อแสดงความหมายเป็นบอกเล่า
    • ยกตัวอย่างประโยคปฏิเสธซ้อนปฏิเสธ และประโยคบอกเล่า

    例)子どもでも、できないわけではない。   ถึงแม้จะเป็นเด็ก ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำไม่ได้
    =   子どもでも、できる。   ถึงแม้จะเป็นเด็ก ก็สามารถทำได้

    • จะเห็นได้ว่าจริง ๆ แล้วพอแปลประโยคที่ใช้สำนวนปฏิเสธซ้อนกันออกมา ความหมายก็ไม่ได้ต่างจากประโยคบอกเล่าปกติเท่าไหร่ อ้าวแล้วอย่างงี้จะใช้ประโยคปฏิเสธซ้อนปฏิเสธให้ยุ่งยากซับซ้อนหัวจะปวดไปทำไม ก็ต้องตอบเลยว่าความหมายสุดท้ายมันคล้ายกันก็จริง แต่ในบางกรณีการใช้ปฏิเสธซ้อนปฏิเสธก็อาจจะให้ (แฝง) ニュアンス (nuance) หรือ sense ที่ต่างออกไป ซึ่งมันอาจจะถูกต้องตรงกับสิ่งที่ผู้พูดต้องการจะสื่อมากกว่าการใช้รูปบอกเล่าเฉย ๆ ได้ เช่น

    例)子どもの幸せを願わない人はいない。   ไม่มีใครไม่อยากให้เด็ก ๆ / ลูกมีความสุข
    =   子どもの幸せを皆が願う。   ทุกคนอยากให้เด็ก ๆ / ลูกมีความสุข

              จากตัวอย่างนี้ จะเห็นได้ว่าการใช้ปฏิเสธซ้อนปฏิเสธอาจจะให้ความรู้สึกของการเน้นความเป็นบอกเล่ามากกว่าการใช้ประโยคบอกเล่าเฉย ๆ ก็เลยจะนำมาสู่หัวข้อถัดไปเลยว่าความหมายหรือ sense ที่ได้จากการใช้ปฏิเสธซ้อนปฏิเสธเป็นยังไงบ้าง

    2. sense ที่ได้รับจากการใช้สำนวนปฏิเสธซ้อนปฏิเสธ

    2.1 強い肯定:เน้นความหมายบอกเล่าให้ชัดเจนขึ้น

    例1)こんなとき、お酒を飲まずにはいられない
    ในช่วงเวลาแบบนี้เนี่ย มันไม่ดื่มเหล้าไม่ได้แล้วล่ะ
       お酒を飲む。   จะดื่มเหล้า

    • ประโยคตัวอย่างนี้ความหมายสุดท้ายอาจจะแปลได้ว่า "จะดื่มเหล้า" ตามตัวอย่างประโยคบอกเล่าปกติ แต่ sense ที่แฝงมานั้นจะต่างออกไป เพราะประโยคปฏิเสธซ้อนปฏิเสธจะให้ความรู้สึกแบบว่า 「すごく飲みたくなって飲んでしまう」「どうしても飲んでしまう」「絶対、飲む」 อะไรทำนองนี้เข้าไปด้วย เพราะฉะนั้นความหมายจริง ๆ ของตัวอย่างประโยคปฏิเสธซ้อนปฏิเสธนี้น่าจะเป็น 「こんなとき、お酒をどうしても飲んでしまう。」 มากกว่า

    2.2 曖昧な肯定:ทำให้ความหมายบอกเล่าคลุมเครือกำกวม


    例2)その予約は、キャンセルにならないとも限らない
    การจองนี้ไม่ใช่ว่าจะไม่ถูกยกเลิก (เสมอไป) นะ
       キャンセルになる。   จะถูกยกเลิก

    • ความหมายที่ว่า ตกลงมันจะถูกยกเลิกหรือไม่ยกเลิกกันแน่ นี้ถูกทำให้เบลอ ๆ คลุมเครือกำกวมมากขึ้น คือไม่พูดออกมาอย่างชัดเจนเลยว่าจะยกเลิกหรือไม่
    • ประโยคตัวอย่างนี้ความหมายสุดท้ายอาจจะแปลได้ว่า "จะถูกยกเลิก" ตามตัวอย่างประโยคบอกเล่าปกติ แต่ sense ที่แฝงมานั้นจะต่างออกไป เพราะประโยคปฏิเสธซ้อนปฏิเสธจะให้ความรู้สึกแบบว่า 「おそらくキャンセルになるだろう」「キャンセルになるかもしれない」 อะไรทำนองนี้เข้าไปด้วย
    • เพราะฉะนั้นถ้าต้องการที่จะเบลอความชัดเจนก็สามารถใช้ประโยคปฏิเสธซ้อนปฏิเสธได้ แต่ Kiki คิดว่าถ้าหากเป็นกรณีที่จำเป็นต้องบอกข้อมูลสำคัญ ก็ควรจะใช้รูปประโยคที่เข้าใจง่ายและไม่ซับซ้อนเกินไปเพื่อไม่ให้ผู้ฟังเกิดความสับสน เช่น ถ้าใช้ 「その予約は、キャンセルになるかもしれない。」 ก็อาจจะเข้าใจง่ายมากกว่า


    โอเคฮะ ครั้งนี้ก็แวะมาสั้น ๆ สำหรับหัวข้อ 二重否定 หรือการปฏิเสธซ้อนปฏิเสธ ครั้งนี้ได้พูดถึงความหมายของสำนวนการใช้ปฏิเสธซ้อนปฏิเสธไปแล้ว แต่มีอีกหัวข้อนึงที่อยากจะพูดถึงคือเรื่องเกี่ยวกับว่าแล้วสถานการณ์ไหนหรือกรณีไหนบ้างที่มักจะใช้สำนวนปฏิเสธซ้อนปฏิเสธ แล้วก็อยากจะแนะนำสำนวนปฏิเสธซ้อนปฏิเสธอื่น ๆ ที่เจอบ่อย ๆ ในชีวิตประจำวันด้วย แต่เนื่องจากกลัวว่ามันจะยาวเกินไปเพราะฉะนั้นขอตัดไปเป็นพาร์ทต่อไปนะคร้าบ

    ขอบคุณที่อ่านกันมาจนถึงตอนนี้ ฝากติดตามพาร์ท 2 ด้วยน้าาาา555555

    #kikinonikki

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
oriental_tomato (@oriental_tomato)
น่าสนใจมากเลยค่ะ ชอบที่มีภาพประกอบมาด้วย อ่านแล้วทำความเข้าใจตามง่ายมาก ๆ รอชมพาร์ทสองต่อนะคะ
k.l.k (@k.l.k)
อยากอ่านภาคที่สองเร็วๆ