ภาษาญี่ปุ่นเอาใจยาก...
มีคนฟัง แต่ก็ยังพูดคนเดียว
ไม่มีคนฟัง บางทีก็ยังพูด
การจะใช้ภาษาญี่ปุ่นได้อย่างธรรมชาติ เราก็ต้องเข้าใจภาษาญี่ปุ่นก่อน และการพูดคนเดียวที่ว่านี้ก็เป็นเอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของภาษาญี่ปุ่นเช่นกัน เขาเรียกว่า 独り言(ひとりごと)
独り言(ひとりごと)
聞く相手がいないのにひとりでものを言うこと。
(ไม่มีคนฟัง แต่ก็ยังจะพูดคนเดียว)
พูดคนเดียวยังไง เราก็เห็น ๆ อยู่ว่าภาษาญี่ปุ่นมีประโยคคำถาม ◯◯◯ですか?◯◯◯ますか? นี่นา ไม่เห็นจะพูดคนเดียวตรงไหนเลย แต่ถ้าเราลองสังเกตดูดี ๆ แล้ว คนญี่ปุ่นจะพูดออกมา แม้ว่าจะไม่มีคนคุยด้วย อีกแบบหนึ่งก็คือ มีคนคุยด้วยแต่มีแว้บหนึ่งที่ลืมเขาไป แล้วพูดอะไรสักอย่างออกมาค่ะ
1. ไม่มีคนฟัง ก็ยังจะพูดกับตัวเอง
พูดกับตัวเองในที่นี้ไม่ใช่พูดเอง ถามเอง ตอบเองนะคะ5555 ถ้าใครเคยดูซีรี่ส์หรือหนังญี่ปุ่น เราจะเห็นว่าบางครั้งถึงจะไม่มีคู่สนทนาเขาก็พูดอะไรสักอย่างออกมา ตัวอย่างที่เห็นชัดมาก ๆ เช่น
いただきます。?
(จะทานแล้วนะคะ/ครับ)
เวลาคนญี่ปุ่นจะกินข้าว เขาจะพูดพร้อมยกมือไหว้อาหารก่อนกินทุกครั้งอย่างที่เราเห็นกันบ่อย ๆ ตามในซีรี่ส์หรืออนิเมะ ถึงแม้ว่าจะนั่งกินคนเดียวหรือร่วมโต๊ะกับคนอื่น ตอนเราอยู่ญี่ปุ่นเราก็เจอพวกคุณลุงตามร้านราเม็งหักตะเกียบดังเป๊าะ แล้วก็พูดอิตะดะคิมัสก่อนกิน ถึงลุงจะนั่งหันหน้าเข้าหากำแพงและคนข้างลุงก็คือหนู ผู้ที่ไม่ได้เป็นคนทำอาหารให้ลุงก็ตาม นั่นแหละ ลุงพูดกับตัวเอง55555
พอกินเสร็จก็จะมีอีกหนึ่งประโยค นั่นก็คือ
ごちそうさまでした。
(ขอบคุณสำหรับอาหาร)
ถึงจะนั่งกินคนเดียวก็พูดได้ค่ะ (แต่ก็สามารถพูดกับคนทำอาหารให้เรากินได้เป็นการขอบคุณ อย่างเช่นตอนไปกินราเม็งแล้วต้องยกจานเก็บคืนให้พ่อครัว ก็พูดโกะจิโซซามะเดชิตะกับเขาได้เหมือนกันค่ะ)
ตัวอย่างอื่น ๆ เช่น
- 痛い!(いたい): เจ็บ! อุทานเวลาเจ็บ เช่น เดินชน กระแทก หัวโขก โดนเหยียบเท้าต่าง ๆ
- 疲れた〜(つかれた): เหนื่อยยย พูดเมื่อเสร็จจากภารกิจอันเหน็ดเหนื่อย เช่น เลิกงาน เที่ยวหมดวัน
- 惜しい!(おしい): เสียดาย พูดตอนเกือบจะสำเร็จแล้ว เช่น โยนบาสเกือบลงห่วง คีบตุ๊กตาแล้วดันหล่นก่อนถึงช่อง
เหล่านี้คนญี่ปุ่นเขาจะพูดกับเป็นปกติเลยค่ะ แม้ว่าจะไม่มีคนฟัง แต่ถ้าเป็นคนไทยไม่ค่อยพูดกันออกมาเป็นคำ ๆ แบบนี้ เรามักจะพูดเป็นคำอุทานแทนอย่าง โอ๊ย! อุ๊ย! เฮ้อ อะไรแบบนี้แทน
2.มีคนฟัง แต่ก็ยังพูดกับตัวเอง
มีคนฟังแล้วทำไมไม่พูดกับเขาล่ะ? เย้ย ไม่ได้หมายความว่าเขามานั่งคุยกับตัวเองนะคะ55555 แต่การที่พูดกับตัวเองทั้ง ๆ ที่มีคนฟัง หมายถึงว่า คนพูดจะลืมคนฟังไปชั่วคราว แล้วเผลอพูดกับตัวเอง (aka เสียงในใจ) หรือความคิดเห็นต่อเรื่องราวที่กำลังได้ยินออกมา
ลักษณะของการพูดคนเดียวประเภทนี้จะสังเกตได้จาก พูดคำห้วน ๆ→สวิตช์กลับรูปประโยคตามปกติที่คุยกันอยู่ เสียงในใจของเขาก็คือคำที่พูดออกมาห้วน ๆ นี่แหละค่ะ
อาจจะยังไม่เห็นภาพเท่าไหร่ ตัวอย่างเช่น
A:素敵なかばんですね。
กระเป๋าสวยจังเลยนะคะ
B:これですか。1000円で買ってきましたよ。とてもやすいですね。
อันนี้หรอคะ ซื้อมาในราคา1000เยนล่ะค่ะ ถูกมากเลยใช่ไหมคะ
A:やすい!どこで買ったんですか。
ถูก! ซื้อมาจากที่ไหนหรอคะ
จะเห็นว่า A พูดออกมาห้วน ๆ โดยไม่มี です เพราะเป็นการพูดความคิดตัวเองออกมาโดยลืมอีกฝ่ายไปชั่วคราว เหมือนเป็นการพูดกับตัวเองมากกว่าบอกอีกฝ่ายนั่นเองค่ะ การพูดห้วน ๆ นี้เขาเรียกว่า 裸の文末形(はだかのぶんまつけい)ถ้าเป็นภาษาไทยเราก็คงจะเป็นคำอุทานอย่าง หรอ? โอ้โฮ! อะไรแบบนี้แทนเนอะ
(2 บรรทัดบน)
วาดภาพเหมือน!
เคยเป็นไวรัลในทวิตเตอร์ด้วยครับ!! พูดจริงครับ!!
/นี่พูดเองเออเองป่าว555
ในทีแรกเราก็ไม่ได้ตั้งข้อสังเกตว่าภาษาญี่ปุ่นมีเอกลักษณ์อย่างการพูดคนเดียว แต่พอได้ฟังเลคเชอร์ในห้องก็รู้สึกว่า อ๋อ มันมีหลักการ มีคนทำวิจัยจริงจังด้วยนะ แล้วก็ไม่เหมือนภาษาไทยอย่างที่อาจารย์บอกจริง ๆ รู้สึกได้เข้าใกล้ความเป็นธรรมชาติของภาษาญี่ปุ่นไปอีกนิส
พูดถึงการใช้ภาษาอย่างเป็นธรรมชาติ พอเราได้ลองใช้ภาษาญี่ปุ่นในชีวิตประจำวันกับคนญี่ปุ่นจริง ๆ เราก็เจอรูปประโยคและวิธีการพูดมากมายที่หนังสือเรียนไม่ได้สอนไว้ นอกจากประโยคพูดกับตัวเองที่ยกตัวอย่างไปข้างบน เราก็เจอรูปประโยคที่เหมือนจะเป็นการรำพึงรำพันกับตัวเอง แต่ความจริงแล้วเป็นประโยคคำถามที่ต้องการคำตอบด้วย5555 ตัวอย่างเช่น เวลาจะให้เพื่อนส่งรูปที่ถ่ายด้วยกันให้ เขามักจะไม่ถามตรง ๆ ว่า
写真を送ってくれる?(しゃしんをおくってくれる?)
ส่งรูปให้หน่อยได้มั้ย?
แต่จะถามว่า
写真を送ってくれるかな?(しゃしんをおくってくれるかな?)
ส่งรูปให้หน่อยจะได้รึเปล่านะ?
ซึ่งตัว かな ที่ห้อยมาตอนท้ายมันให้ความรู้สึกรำพึงรำพันกับตัวเองมาก ๆๆๆ เปรียบเทียบกับภาษาไทยคงจะเป็น ได้รึเปล่าน้า ได้มั้ยน้า ซึ่งก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้เราต้องตั้งสติว่าเขาพูดกับตัวเองหรือเขาพูดกับเราอยู่กันแน่5555
การพูดคนเดียวแบบนี้ฟังดูแปลก ๆ สำหรับคนไทยอย่างเรา แต่เป็นเรื่องปกติของภาษาญี่ปุ่น
เพราะฉะนั้นแล้ว สลัดความเขินทิ้งไป แล้วมาลองพูดให้เป็นธรรมชาติกันดีกว่า
แล้วนี่เราพูดอยู่กับใครเนี่ย...
pleech.
?
ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก:
https://kotobank.jp/word/独り言-611788
https://www.jpf.go.jp/j/project/japanese/archive/globe/14/109__123.pdf
http://www.gengoj.com/seminar/view.php?seminar_list_id=1
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in