เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
PAPAYAH's ARCHIVERocket man
ความฝันสองฝั่งโขงของ ‘เล็ก ใบเมี่ยง’
  • สัมภาษณ์และถ่ายภาพ : กฤษฎ์ พรหมใจรักษ์

     

    ‘เราน่าจะเป็นคนสองฝั่งโขงนะ เพราะเรามีสองบ้าน เราเกิดที่มุกดาหาร แต่ไปโตที่สะหวันนะเขต’

     

    เป็นคำตอบที่กระชับและครบใจความจากความสงสัยใคร่รู้ของผู้สัมภาษณ์เกี่ยวกับถิ่นกำเนิดและภูมิหลังอันซับซ้อนของ ‘เล็ก ใบเมี่ยง’ หรือ ‘อัศวิน คงศุภมานนท์’ นักเขียนผู้มีถื่นกำเนิด ณ ริมฝั่งโขงฝั่งซ้าย จังหวัด มุกดาหาร ก่อนจะไปเติบโตและใช้ช่วงต้นของชีวิตที่อีกฟากฝั่งของแม่น้ำ ณ เมือง สะหวันนะเขต ในช่วงเวลาก่อนที่การประทะกันของอุดมการณ์ สงครามกลางเมือง อันนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงปกครองของ ราชอาณาจักรลาว ไปสู่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบันจุดหักเหทางโชคชะตาได้นำพาตัวเขาและครอบครัวกลับมายังอีกฟากของแม่น้ำอีกครั้ง 

    ‘โรงรูปเงา-ลาวเจริญรามา’ คือผลงานหนังสือลำดับที่ 2 ในฐานะนักเขียนของ ‘เล็ก ใบเมี่ยง’ นวนิยาย base on true story แนว coming-of-age จากชีวิตจริงของ ‘เฮียเก้า’และครอบครัวกับเรื่องราวการผจญภัย ความรัก และการเจริญเติบโตที่โคตรจะโรแมนติกที่ถ้าหากได้หยิบขึ้นมาอ่านแล้วคงยากจะวาง และยังเปรียบเสมือนจดหมายรักและตัวแทนความทรงจำของเขาที่มีต่อเมืองสะหวันนะเขตอันเป็นเบ้าหลอมสำคัญต่อวิถีชีวิต ความคิดและรสนิยมที่ทำให้เขาเป็นเขาอย่างในทุกวันนี้

    บทสนทนาครั้งนี้เกิดขึ้น ณ ‘สะหวัน สำราญ’  Boutique hotel & Restaurant ริมฝั่งโขงแห่งจังหวัด มุกดาหาร ที่ ‘เล็ก ใบเมี่ยง’ เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นเจ้าของ กับบทสนทนาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวารวมไปถึงความฝันของในวัยหนุ่มตอนปลายของเฮียเล็กกับการ ‘ปลุก’ ดินแดนสองฝั่งโขงให้ตื่นจากการหลับไหลและบรรลุถึงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ของเมืองผ่านงานเฟสติวัล   




     

    ‘โรงรูปเงา-ลาวเจริญรามา’ ไม่ใช่งานเขียนเล่มแรกของคุณ แต่เป็นหนังสือเล่มแรกที่คุณอยากเขียน เหตุใดหนังสือเล่มนี้ถึงกลายเป็นผลงานลำดับที่ 2 หลังจาก ‘ฮอยอันหวานเย็น’ ผลงานหนังสือเล่มแรกในฐานะนักเขียนของ ‘เล็ก ใบเมี่ยง’

     

    เล็ก ใบเมี่ยง : มีภาษิตจีนอันหนึ่งเขาบอกว่า ‘วัยเด็กคือยุคทองของชีวิต’ หมายความว่า ชีวิตในวัยเด็กมันส่งผลต่อเราไปอีกครึ่งชีวิตเลยนะ ทั้งอิทธิพลของสภาพสิ่งแวดล้อมที่เราเติบโต ทุกๆ อย่าง ซึ่งเราอินกับชีวิตในช่วงนั้นของเรามากๆ มันเป็นวัยเด็กที่มีความสุขมากจนเราอยากจะถ่ายทอดให้คนอื่นได้รับรู้ด้วย ละเราก็เป็นนักอ่านมาประมาณหนึ่ง เป็นนักอ่าน นักดูหนัง เราเลยอยากเล่าความทรงจำสวยงามไว้ ไม่ให้มันหายไปกับสายลมแห่งการเดินทาง เราพยายามอ่านหนังสือเป็นร้อยเล่มเพื่อจะเขียนเล่มนีเเล่มเดียว ซึ่งตอนที่เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลังจากข้ามโขงกลับมาฝั่งไทยเราก็ไปตามหาหนังสือที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ช่วงนั้นของลาวมันไม่มีเลย มีแต่ของกัมพูชาและเวียดนาม แต่ไม่มีใครเขียนถึงลาวเลย มันทำให้เรารู้สึกว่างั้นคงต้องเป็นเราแล้วแหละที่จะเขียนเรื่องนี้

    เรื่องราวหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องชีวิตและการเดินทางของ ‘เฮียเก้า’ พี่ชายที่อพยพไปอยู่ฝรั่งเศสหลังลาวเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองผสมกับความทรงจำในวัยเด็กของเรา แต่ถ้าเราเล่าจากมุมมองแบบบุคคลที่ 3 เราว่ามันจะไม่ได้อรรถรส งั้นเราผ่านเราไปเลยดีกว่า ในเรื่องเราสวมเป็นเฮียเก้าไปเลยดีกว่า พอเป็นบุคคลที่หนึ่งเรารู้สึกว่าเวลาอ่านแล้วมันรู้สึกอินกว่า 

    ในภาษาลาว คำว่า ‘โรงรูปเงา’ แปลเป็นไทยว่า โรงภาพยนตร์ ในการเขียนหนังสือเล่มนี้ นอกจากความทรงจำในวัยเด็กของเรากับเฮียเก้าแล้ว ‘ โรงรูปเงา-ลาวเจริญรามา’ อีกส่วนหนึ่งเราได้รับแรงบันดาลใจมากจากหนังเรื่อง ‘Cinema Paradiso’ เป็นหนังคลาสสิคของอิตาลี เป็นเรื่องของคนๆ หนึ่งที่ไปคลุกคลีอยู่ในห้องฉายหนังตั้งแต่เด็กจนสุดท้ายกลายมาเป็นผู้กำกับใหญ่ของอิตาลี แล้ววันหนึ่งเขาได้มีโอกาสกลับมาในเมืองเล็กๆ ที่เขาเติบโตมา มีคนเคยบอกเราว่าถ้าเป็นคนที่ทำงานในวงการภาพยนตร์แล้วท้อจะแนะนำให้ไปดูหนังเรื่องนี้  ฉากที่พระเอกมาเจอโรงหนังในความทรงจำของตัวเองกำลังโดนทุบ คือมันใช่เลย สำหรับเรามันคือ ‘ลาวเจริญรามา’ เลย ตอนที่เราอยู่สะหวันนะเขตเราเด็กขายขนมหน้าโรงหนัง เราดูหนังบ่อยมาก ดูเกือบทุกวัน เหตุการณ์ในหนังสือในพาร์ทที่เป็นวัยเด็กนี่เราเขียนจากประสบการณ์ตรงของตัวเองภายใต้ตัวละครของเฮียเก้า ส่วนเรื่องช่วงที่โตขึ้นมาอีกหน่อยจะเป็นเรื่องของเฮียเก้า คือเล่าในชื่อเฮียเก้าแต่บางส่วนเราเอาความรู้สึกของตัวเองไปถ่ายทอดด้วย ส่วนหนึ่งก็เลยได้แรงบันดาลใจมากหนังเรื่องนี้ เราเป็นคนที่มีความผูกพันกับโรงหนัง  เราโตมากับโรงเรียนจีนที่ลาว ไปอยู่ที่นั่นตั้งแต่ 5 ขวบจนถึงช่วงที่ลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองตอนอายุ 13 ประมาณ 8 ปี อยู่ลาวมากกว่าอยู่มุกอีก (หัวเราะ) เพราะพอข้ามฝั่งมาก็ไปอยู่กรุงเทพ อยู่แถวสยาม แถวลิโด้ ก็ไปโตกับโรงหนังอีก  

     



     

    ภาษาไทยเเป็นภาษาที่เท่าไหร่ของ ‘เล็ก ใบเมี่ยง’

     

    เล็ก ใบเมี่ยง : ภาษาไทยเราได้ตั้งแต่เด็กอยู่แล้วนะ แต่ตอนเริ่มเข้าโรงเรียน เราเรียนที่โรงเรียนจีนฉงเตอะ ที่สะหวันนะเขต เรียนทั้งหมด 3 ภาษา : ภาษาจีน ภาษาลาว และ ภาษาอังกฤษ ถ้านับในด้านของการศึกษา ภาษาไทยเลยเป็นภาษาที่ 4 เราเลยเป็นคนที่ค่อนข้างมีปัญหาเรื่องตัวสะกด สะกดคำผิดบ่อยมาก (หัวเราะ) เราเรียนอยู่สะหวันนะเขตตั้งแต่ตอน ป.1 จนถึงช่วงม. ต้นเลย 

     

    เมือง สะหวันเขต ในความทรงจำของเราในตอนนั้นบรรยากาศเป็นยังไง

     

    เล็ก ใบเมี่ยง : ในช่วงต้นยุค 1970’s สะหวันนะเขตเป็นเมืองที่ศิวิไลซ์มาก ขนาดที่คนไทยที่อยู่แถบจังหวัดใกล้เคียงต้องข้ามไปกินเหล้าดูหนังที่นั่นเลย พอไปแล้วก็ต้องซื้อแฟชั่นกลับมา แบรนด์อย่าง Montagut, Lacoste, กางเกงยีนส์ Levi’s, Wrangler เพราะที่นู่นตอนนั้นเขาศิวิไลซ์กว่าเรา สะหวันนะเขตถือเป็นเมืองใหญ่ในขณะที่มุกดาหารตอนนั้นยังเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดนครพนม ยังเป็นเมืองเล็กๆ ประกอบกับใกล้ๆ สะหวันนะเขตจะเป็นที่ตั้งของฐานทัพใหญ่ของกองทัพสหรัฐอเมริกาอยู่ที่เมืองเซโน ห่างจากสะหวันนะเขตไปประมาณ 25 กิโลเมตร ซึ่งย่านโรงหนังลาวเจริญรามันก็จะมีบาร์เปิดอยู่แถวนั้น พวกทหารอเมริกันก็มักจะเข้ามาเที่ยว กินเหล้า ฟังเพลง เราเติบโตมากับบรรยากาศแบบนั้น ภาพตรงนั้นมันอยู่ในหัวเราหมดเลย มันโคตรคลาสสิคอะ ละยิ่งเราโตมาดูหนังฮอลลีวูดที่มันสร้างจำลองสงครามเวียดนาม บรรยากาศแบบนั้นมันอยู่ในตาเราหมดเลย

     

    ดนตรีช่วงนั้นที่สะหวันนะเขตเป็นยังไง

     

    เล็ก ใบเมี่ยง : ตอนนั้นสะหวันนะฟังแผ่นเสียงพอๆ กับกรุงเทพ คือเร็วมาก น่าจะเร็วกว่าแถวอีสาน   เพราะเศษฐกิจเขาดี ได้ฟังเพลงยุค 60’s ฟังร๊อคแอนด์โรล เพราะที่บ้านขายแผ่นเสียงด้วย ถ้าพูดถึงอิทธิพลของเพลงตะวันตกในยุคนั้น ลาวไม่แพ้ไทย ส่วนหนึ่งคือพวกอเมริกันเอามาเผยแพร่

     

    พูดถึงหนัง ในฐานะที่คุณเป็นคนที่ใช้ชีวิตร่วมสมัยไปกับบรรยากาศของภูมิภาคอินโดจีนในยุคนั่น หนังที่เกี่ยวกับช่วงเวลานั้นของอินโดจีนเรื่องไหนที่รู้สึกว่าทำออกได้ใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด

     

    เล็ก ใบเมี่ยง : เราชอบเรื่อง ‘The Deer Hunter’ แสดงนำโดย ‘Robert Der Niro’ หนังเขาพูดถึงคนล่ากวาง เป็นกลุ่มเพื่อนที่ชอบไปล่ากวางแล้วทุกคนติดทหารหมดเลยก็เลยโดนส่งมาเวียดนาม เป็นหนังที่เราดูแล้วรู้สึกโอโห ฉากบาร์ในไซง่อนคือมันเหมือนบาร์ในลาวเจริญรามาเลย บรรยากาศแทบจะเป็นอันเดียวกันเลยครับ แนะนำให้ไปดูครับ

     



    สมัยนั้นที่สะหวันนะเขตเขาฮิตหนังประมาณไหน

     

    เล็ก ใบเมี่ยง : ช่วงนั้นเขาจะฮิตหนังอยู่สองประเภท หนังจีนของชอว์บราเดอร์ส หนังกังฟูนู่นนี่นั่น ละก็หนังอินเดีย ซึ่งเราชอบดูหนังอินเดียมาก ความพิเศษของหนังอินเดียที่ฉายในยุคนั้นคือเวลาก่อนที่จะเริ่มฉายเขาจะมีการเล่าเรื่องย่อเป็นกลอนภาษาลาว เรารู้สึกว่า ฮึ่ย ทำไมมันไพเราะจังเลย เขาจะสรุปเนื้อเรื่องคร่าวๆ เป็นกลอนเปล่า เราชอบมาก หนังสมัยนั้นไม่มีซับไตเติล เขาจะใช้วิธีพากย์เอาสดๆ เลย ในโรงจะมีห้องพากย์สำหรับนักพากย์ไว้โดยเฉพาะ เมื่อก่อนแถวอีสาน นักพากย์จะไปเดินสายไปกับหนัง หนังอินเดียที่ดังมากๆ ในยุคนั้นคือเรื่อง ‘ช้างเพื่อนแก้ว’ เราโตมากับหนัง ซึ่งนี่แหละคือแรงบันดาลใจในชีวิต เป็นรสนิยมที่สะสมมาจนกลายเป็นเราในทุกวันนี้ มันเลยทำให้เราอยากเขียนเกี่ยวกับโรงหนังเข้าไปด้วย 

     

    คุณได้เล่าถึงวิธีเตรียมข้อมูลในการเขียน ‘โรงรูปเงา-ลาวเจริญรามา’ ไว้ในส่วนคำตามท้ายเล่มว่าด้วยการสัมภาษณ์ผู้คนอยู่ในเหตุการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าวจนกลายเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการนำมาเขียน คุณได้อะไรจากบทสนทนากับพี่น้องชาวลาวที่ใช้ชีวิตร่วมสมัยกับคุณในยุคนั้นบ้าง  

     

    เล็ก ใบเมี่ยง : ตอนเราเตรียมข้อมูลสำหรับการเขียนหนังสือเล่มนี่ ประเด็นหลักๆ ที่เราต้องการจากการไปสัมภาษณ์แต่ละครั้งคือ หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองแต่ละคนมีชีวิตแบบไหน ไปต่อกันยังไง คนที่ไม่หนีสภาพความเป็นอยู่เขาเป็นยังไง ลำบากไหม กินอยู่ใช้ชีวิตกันยังไง อึดอัดไหมกับการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ อีกกลุ่มหนึ่งคือ คนที่ลี้ภัยไปเมืองนอกแล้วกลับมา เพื่อเอามาเทียบกันว่า ตกลงหนีกับไม่หนีอันไหนดีกว่ากัน อย่างเรื่องของ ‘เจ๊ฮวน’ พี่คนหนึ่งที่เราไปคุยด้วยและเอาเรื่องของแกมาใส่ลงไปในหนังสือ ตอนช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองแฟนพี่เขาชวนหนีไปเมืองนอกด้วยกันแต่แกตัดสินใจไม่ไป สุดท้ายหลังจากเปิดประเทศแฟนแกกลับมาเยี่ยมพร้อมกับลูก การกลับมาเยี่ยมแฟนเก่าโดยการพาลูกมาด้วย มันเศร้ามากนะ เจ๊ฮวนที่อยู่ในหนังสือที่ไม่ได้หนี ทั้งที่จริงๆ เขาจะได้ไปอยู่ละแต่ว่าไม่อยากขัดคำสั่งพ่อ 

    ก็สัมภาษณ์ทั้งคนที่อยู่และทั้งคนที่ไปอยู่ต่างประเทศแล้วกลับมาด้วย เพราะทุกคนจะมีมุมมองเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ไม่เหมือนกัน บางคนก็กลัวมาก เพราะคอมมิวนิสต์เขาใช้คนของเราในการปกครองเรา เราไม่รู้ใครเป็นใคร สมมุติพี่ไปแจ้งกับทางการว่า คนนี้เป็นสมุนอเมริกัน อีกวันหนึ่งคนหนีหายไปเลย ถูกนำตัวไปปรับทัศนคติ แล้วหลายคนขวัญเสียจากการโดนปรับทัศนคติ ล้างสมองมาก

     

     

    ในช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในลาว คนในสะหวันนะเขตตอนนั้นเขามีมุมองเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ย่างไร

     

    เล็ก ใบเมี่ยง : อย่างเรื่องการเปลี่ยนสกุลเงิน มันทำให้ทุกคนจนเท่ากันหมดเลย เหมือนต้นกันเริ่มใหม่เลย พวกเศรษฐีที่เคยมีเงินเป็นกระสอบๆ กลายเป็นเศษกระดาษหมดเลย คนก็เริ่มกลัวละว่าแล้วต่อไปมันเป็นยังไง เริ่มมีเคอร์ฟิว เสรีภาพต่างๆ เริ่มหายไป หลายคนเลยเริ่มคิดว่าถ้ามีเงินก็หนีดีกว่า แต่สำหรับคนที่หนีถ้าโดนจับได้คือโดนประหาร เพราะเขาถือว่าคุณทรยศต่อระบอบการปกครอง ส่วนครอบครัวเราที่ตัดสินใจหนีเพราะว่าเรามีบ้านหลังที่สองที่ไทย เรามีทางเลือกมากกว่าคนอื่น พอหลังจากข้ามมา พี่น้องเราส่วนหนึ่งรวมถึงเฮียเก้าก็ตัดสินใจเข้าศูนย์อพยพเพื่อจะขอลี้ภัยไปประเทศ อีกส่วนหนึ่งตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศไทย

    ที่บ้านมีพี่น้อง 18 คน มีแค่ 8-10 คนที่ตัดสินใจไปเมืองนอก คนที่สมัครใจก็พากันไปส่วนมากจะเป็นพี่ผู้ชาย พี่ผู้หญิงส่วนมากจะเลือกอยู่ที่ไทย เราเป็นหนึ่งในพี่น้องที่ตัดสินใจไปเข้าศูนย์อพยพที่จังหวัดอุบลราชธานี 

    แต่สุดท้ายเราก็โดนอย่างที่เล่าในหนังสือ เราโดนร้องเรียนว่าเราไม่ใช่คนลาว เป็นคนไทยที่ไปแอบใช้ชื่อนาม-สกุลลาว เราก็เลยสอบตก โดนด้วยกันหมด สอบตกหมดเลย มีเฮียเก้าที่ดั้นด้นไปตอนหลังจนสำเร็จ เขาใช้อีกวิธีหนึ่ง

     

     

    ช่วงที่ไปอยู่ศูนย์อพยพคุณอายุเท่าไหร่

     

    เล็ก ใบเมี่ยง : ตอนนั้นประมาณ 14 ไปอยู่ประมาณหนึ่งเดือน เรื่องราวที่เจอในศูนย์อพยพตอนนั้นเรารู้เลยว่าต้องเอามาเขียนเล่าได้แน่ๆ เพราะ เราชอบมาก แสงวอร์มไลท์ เหงาๆ แสงของดวงจันทร์ เราเลยเขียนฉากนั้นออกมาได้สมจริงเพราะไปอยู่มาเดือนหนึ่งเต็มๆ ยุคนั้นที่ฝั่งไทยจะมีศูนย์อพยพที่อุบลราชธานี นครพนม หนองคาย แต่ละที่จะมีคนไทยปลอมเป็นคนลาวเยอะมาก ทุกคนยากไปแสวงหาชีวิตดีกว่าในประเทศใหม่ (ผู้สัมภาษณ์ : แต่ถ้าว่ากันจริงๆ เมืองไทยตอนนั้นก็ไม่ได้แย่นะ) แต่เขาก็อยากไปแสดงหาสิ่งที่ดีกว่า อย่างเรื่องรัฐสวัสดิการ เขาก็รู้เรื่องนี้

     

    แล้วอะไรที่ทำให้เราตัดสินใจไม่พยายามไปต่อ ในขณะที่ ‘เฮียเก้า’ ยังมุ่งดั้นด้นไปต่อจนสำเร็จ

     

    เล็ก ใบเมี่ยง : ตอนนั้นเราเป็นเด็ก เราตามผู้ใหญ่ แต่ในกรณีของเฮียเก้า เขาไปเพราะเขามีครอบครัว เพราะ ‘ซุ่นเฟย’ แฟนเขาได้ไปตามกติกาของผู้ลี้ภัย เขาเป็นคนสัญชาติลาวจริงๆ (ผู้สัมภาษณ์ : เพราะเรื่องราวในหนังสือคือเฮียก้าวตัดสินใจไปที่ศูนย์อพยพตามคำยุจากเพื่อน) ตัวละครชื่อ เฮียเต็ก เพื่อนของเฮียเก้า เราก็เห็นเขามาตั้งแต่เด็ก เราก็เอาความรู้สึกเราของเพื่อนมาเขียนแทนเฮียเก้า 

     

    สำหรับผู้สัมภาษณ์ความรู้สึกแล้วหลังจากอ่านจบ เรารู้สึกว่านี่มันคือ ‘แฟนฉัน’ เวอร์ชั่น สะหวันนะเขตเลย

     

    เล็ก ใบเมี่ยง : ใกล้เคียง แต่เรื่องราวใน ‘โรงรูปเงา-ลาวเจริญรามา’ จะเป็นช่วงวัยโตขึ้นมาหน่อย แล้วก็มีเรื่องของการเมืองและบริบททางประวัติศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มันไม่ใช่วัยเด็ก เป็นเรื่องราวการผจญภัยของคนหนุ่มที่ตามหัวใจไปเมืองนอก ช่วงท้ายของเรื่องที่ดำเนินเหตุการณ์ในประเทศฝรั่งเศส เราลงทุนขอวีซ่าเพื่อไปเขียนที่นั่นเลย ไปกับอยู่เฮียเพื่อไปดูว่าเฮียเก้าใช้ชีวิตยังไง กินยังไง สร้างตัวมายังไง ไปซึมซับจริงๆ ถึงจะเขียนตอนจบได้ มันก็เลยช้าไปเกือบสองปีเพราะครั้งแรกวีซ่าไม่ผ่าน เลยทำเสตจเมนท์ให้มันดีๆ หน่อยละให้เฮียเก้ากรันตีให้ด้วยเลยง่ายขึ้น ตอนเฮียเก้าได้อ่านหนังสือตอนที่พิมพ์เสร็จแล้ว แกร้องไห้เลยนะ เฮียบอกอยากให้มันเป็นหนังจังเลย คู่นี้เขาพลัดพรากกันหลายรอบมาก อย่างฉากดูหนังที่หนุ่มสาวต้องซื้อตั๋วคนละใบและเข้าไปกันคนละเวลานี่ฟังจากผู้ใหญ่มา สมัยก่อนเป็นยังงี้จริงๆ ซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์กันไม่ได้ ซ้อนท้ายจักรยานไม่ได้เลย แค่นั้นก็ดูไม่ดีแล้ว แต่เดี๋ยวนี้น่าจะน้อยลงเยอะแล้ว



     


    หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองคนที่อยู่ต่อเขาอยู่กันอย่างไร

     

    เล็ก ใบเมี่ยง : บางคนเขาก็บอกว่าหาเงินได้นะ อย่างในช่วงสงครามมันจะมีตลาดมืด บางคนก็ร่ำรวยไปเลย ในขณะที่หลายคนก็หาเงินไม่ได้เลย มันเป็นขาวกับดำไม่ค่อยมีสีเทาเลย อย่างบ้านคนที่หนี ทางรัฐบาลเขาก็ยึดเลย อย่างบ้านของเตี่ยพอเราหนีออกมาก็โดนยึดให้ทหารเข้ามาอยู่หมดเลย บ้านของคนที่หนีในเมืองเก่าปัจจุบันเป็นของทหารเข้ามาอยู่ประมาณ 95% แต่เรามองว่าเรื่องนี้มันมีข้อดีอยู่บ้าง มันดีตรงที่ว่า การที่ทหารเข้ามาอยู่ เขาไม่ได้เปลี่ยนแปลงมัน ไม่ได้ทุบ ไม่ได้สร้างใหม่ คือถ้าเป็นนักลงทุนเข้ามาอยู่หลายๆ ที่น่าจะโดนทุบหมดแล้ว ในความโชคร้ายก็ยังมีโชคดีคือเมืองมันไม่โดนเปลี่ยนแปลง ตอนนี้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองเก่าส่วนใหญ่จะเป็นครอบครัวที่รับราชการ

     

    หลังจากที่เราข้ามแม่น้ำ เราได้มีโอกาสเจอเพื่อนที่เรียนด้วยกันที่ฝั่งนู้นอีกบ้างไหม

     

    เล็ก ใบเมี่ยง : ตอนที่เราแยกจากเพื่อนเราอายุ 13 เองนะ ข้อเสียคือเราจำเพื่อนไม่ได้เลยเพราะเราเด็กมาก เพื่อนทั้งหมดในห้องเราจำชื่อเพื่อนได้แค่สองคนคือ ชู่หมิง กับ จิ้งหัว ละสองคนนี้เขาก็อยู่ออสเตรเลีย แต่เด็กฝั่งไทยก็ไปเรียนเยอะ ตอนนี้นักธุรกิจในมุกดาหาร เถ้าแก่ทั้งหลาย 90% เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนจีนฉงเตอะที่สะหวันนะเขต คนจีนเขาอยากให้ลูกเรียนภาษาจีนเพื่อทำการค้าไงและสะหวันนะเขตเลยถือเป็นทางเลือกแรกของคนจีนที่อยู่ฝั่งอีสาน อยู่ใกล้ ดูแลง่ายและไม่แพง ครูก็มาจากจีนแผ่นดินใหญ่หมดเลย สำเนียงดีมาก อย่างเราเคยไปเที่ยวไต้หวัน ไปเที่ยวจีน คนที่นู่นเขาตกใจเลยว่าคุณไปเรียนมาจากไหน สำเนียงคุณดีจัง อ่อ ครูเรามาจากแผ่นดินใหญ่ เรียนโรงเรียนจีนที่สะหวันนะเขต

     

    ตอนที่ได้กลับไปเยี่ยมสะหวันนะเขตหลังสาธารรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเปิดประเทศอีกครั้ง สะหวันนะเขตเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

     

    เล็ก ใบเมี่ยง : ตอนเราได้ข้ามกลับไปครั้งแรกเราก็ตกใจ เอ๊ะทำไมถนนมันเล็กลง ตอนเราเด็กๆ เรารู้สึกว่ามันใหญ่โตกว่านี้ และเมืองมันก็โทรมลงมากเหมือนในหนังเรื่อง ‘Cinema Paradiso’ เลย หลังจากที่หลายครอบครัวหนีไปบริเวณนั้นมันรกร้างว่างเปล่ามาหลายสิบปี ซึ่งตอนนั้เองที่เราเกิดความรู้สึกว่าสักวันจะต้องกลับมา ‘ปลุกเมือง’ ให้มันมีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง เราอยากจะทำให้ที่นี่กลายเป็นที่รู้จักเหมือนเมืองอย่าง ฮอยอัน, หลวงพระบาง, ปีนัง เราเคยพาครอบครัวไปเที่ยวฮอยอัน เราไปเห็นบ้านเมืองเขาแล้วเรารู้สึกว่า เฮ้ย นี่มันคือสะหวันนะเขตตอนเราเด็กๆ เลย บรรยากาศแบบเดียวกันเลย เตะลูกขนไก่ เล่นหมากรุก คนคุยกันริมน้ำ มันเหมือนสะหวันนะเขตในความทรงจำของเราในวัยเด็ก สำหรับเรา ณ ตอนนั้น สะหวันนะเขตคือสวยมาก สวยจริงๆ สวยแบบ…สำหรับเรามันเป็นสวรรค์จริงๆ 

     

    วิธีการ ‘ปลุกเมือง’ ในแบบฉบับของ ‘เล็ก ใบเมี่ยง’ ทำยังไง

     

    เล็ก ใบเมี่ยง : ต้องขอออกตัวก่อนว่าจริงๆ เราไม่ได้เก่งเลยนะ เราเริ่มจาก passion เป็นอันดับแรก มีประโยคหนึ่งเรามักจะพูดกับคนเสมอว่า ‘เฟสติวัลคือทางลัด’ ทางลัดในการทำให้เมืองเป็นที่รู้จักในวงกว้างในระยะเวลาที่รวดเร็ว อย่างเช่น เราไปปีนัง เราไปเพราะมันมีแจ๊สเฟสติวัล อะไรยังงี้ เราใช้ตรงนี้เป็น keyword ที่ใช้ในการปลุกเมือง ก็ใช้เวลาอยู่สองปีในการขายฝัน ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะ เวลาไปคุยเรื่องนี้กับใครในทีแรกทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่ามันไปไม่ได้หรอก จะเอาเงินมาจากไหน ซึ่งเราก็เข้าใจว่ามันยาก แต่ถ้าไม่ทำก็ไม่รู้ ตอนนั้นเราต้องเป็นผู้ประสานสิบทิศ เราประสานคนฉายหนังจากเวียงจันทร์ เราประสานสถาปนิกจากเวียงจันทร์ ทุกคนคืองงว่า เอ้ย ทำไม passion คุณแรงจัง คุณไม่ใช่คนลาวนะ เราก็บอกว่า เราเป็นคนลาว ที่นี่คือบ้านหลังที่สองของผม เราพยายามจนสุดท้ายเกิดเป็นเฟสติวัลประจำของเมืองสะหวันนะเขตที่ชื่อว่า ‘Savan Fun Fest’ โรงหนัง ดนตรี อาหาร สถาปัตยกรรม วัฒนธรรม เอาทุกอย่างมารวมกันในงานเดียว   





     

    การที่เราไม่ได้เป็นคนสัญชาติลาวแล้วอยู่ๆ จะไปจัดเฟสติวัลที่นั่นเราต้องพิสูจน์ตัวเองยังไงบ้าง

     

    เล็ก ใบเมี่ยง : ตอนนั้นเราไปสร้างอะไรที่นั่นไว้หลายอย่างละ เราสร้างร้านเหล้า เราสร้างโรงแรมไว้ละ ไปทำธุรกิจที่นั่นได้สามปีแล้ว เราพิสูจน์ตัวเองด้วยตัวผลงาน เราจะทำให้ดู ตอนที่พี่เล็กอธิบายคอนเซป เราเอาโปสการ์ด ‘Savan Fun Fest’ ปีแรกกับผังงานเดินแจกทุกคนในย่านเมืองเก่า “ซอยกันเด้อ สิเป็นงานบ้านเฮาปีแรก” แจกหมดเลย เขาก็รู้ว่างานนี้เกิดจากพี่เล็ก เราสร้างงานนี้ขึ้นมาเพราะเราอยากให้เมืองมันเป็นที่รู้จักเร็วขึ้น ปัจจุบันจัดไปแล้วสองครั้ง แต่ครั้งที่สองเราไม่ได้ไปเพราะว่าเจอโควิด-19  ส่วนปีนี้ไม่ได้จัดเพราะสถานการณ์โควิด หลายคนบอกว่างานนนี้เป็นงานประวัติศาสตร์ของสะหวันเขตเลย คนลาวที่ปัจจุบันไปอยู่ต่างประเทศเขาโทรมา เฮ้ยเล็กมึงทำได้ไงวะ เรารู้สึก สะใจมาก นี่แหละ passion

     

     

    คิดว่าอะไรทำให้มีเรามี passion กับพื้นที่ตรงนั้นขนาดนั้น

     

    เล็ก ใบเมี่ยง : มันน่าจะฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรานะ เราทำจนภรรยากับเฮียตวง พี่ชายคนโตเขาบอกว่า “เล็กมึงทำให้สะหวันเยอะเกินไปแล้ว” (หัวเราะ) คือเราคิดว่าถ้าเราทำให้สะหวันนะเขตดัง มุกดาหารก็จะดังไปด้วย อยากให้ลองสังเกตคนที่เราคบหาด้วย กลุ่มที่ไปทำ ‘สุกสะหวัน คาเฟ่’ ก็เป็นเด็กที่ตอยเขาไปเรียนกรุงเทพที่เราเจอเขาที่ร้าน ‘ใบเมี่ยง’ ร้านอาหารเก่าของเราที่กรุงเทพ เล่นเวสป้าด้วยกันมา เด็กรุ่นนี้โตกว่าลูกชายเรานิดหน่อย เรียกได้ว่ารุ่นลูกเลยแหละ เรากินเหล้ากับเขา เที่ยวกับเขา ปัจจุบันเขากลายเป็นคนทำร้านเหล้าที่ดังที่สุดในสะหวันนะเขตยังงี้ เป็นทีมของเรานี่แหละ จนคนสะหวันยอมรับว่าคนจากมุกดาหารที่มาทำธุรกิจที่นี่เขามาช่วยปลุกเมืองจริงๆ ความตั้งใจของเราตอนย้ายกลับมาจากกรุงเทพคือ  ตั้งใจจะกลับมาปลุกเมืองทั้งสะหวันเขตและมุกดาหารให้มันเจริญ ให้มันเป็นที่รู้จัก ผ่านหนังสือที่เราเขียน ผ่านเฟสติวัลที่เราสร้างขึ้นมา ไม่จะเป็น ‘มุกม่วนเด้อ’ ‘สะหวัน ฟัน เฟส’ ‘ตรุษจีนมุกดาหาร’ ยังงี้ ซึ่งกลายเป็นว่าเรากลับมาเป็นเจ้าพ่ออีเวนท์เลยตอนนี้ อย่างตอนที่ไปปลุกเมืองลาว เด็กที่เขาชอบของเก่าเหมือนกันก็จะข้ามไปกินเบียร์กินเหล้าทุกเสาร์-อาทิตย์ จนสุดท้ายคนที่มุกที่ไปกับพี่เล็กก็ไปสร้างเมืองเก่าไปปลุกเมืองเก่าที่มันหลับใหลมา 30 ปี เพราะเราต่างเห็นความงามของสะหวันนะเขต


     

    จากที่ได้พูดคุยกันมาจนถึงตอนนี้ ดูเหมือนว่าคุณทำอะไรให้กับสะหวันเขตไปเยอะ แล้วถ้ามองกลับมาทางมุกดาหารบ้าง เรามีแผนจะทำอะไรกับที่นี่ไหม

     

    เล็ก ใบเมี่ยง : สำหรับปฎิบัติการ ‘ปลุกเมือง’ ที่มุกดาหาร เราจัดไปสองงานแล้วคือ ตรุษจีนมุกดาหารปีที่แล้วกับไปเป็นส่วนหนึ่งของทีมงาน ‘มุกดาหารสามพิภพ’ ที่มียิงกระจู้ขึ้นฟ้า ก็คือเขาทำอีเวนท์ พญานาคสามภิภพ ดิน น้ำ ฟ้า ตอนนี้เราเอาแพชชั่นและพลังที่มีอยู่มาสร้างให้มุกดาหาร ปัจจุบันก็สองนี้ที่เรามีส่วนรวมในฐานะ creative

      



     

    ดูเหมือนว่าบทบาทของคุณในฝั่งมุกดาหารจะเป็นการไปช่วยเติมเต็มด้านที่ขาดหายไปในสิ่งที่มีอยู่แล้วของที่นี่มากกว่าที่จะสร้างอะไรขึ้นมาใหม่ของตนเอง เรามีแผนจะทำอะไรของตัวเองอีกไหม

     

    เล็ก ใบเมี่ยง : มีช่วงหนึ่งคนมุกเขาหมั่นไส้ว่าเราช่วยโปรโมทฝั่งนู้นเยอะไป (หัวเราะ) ซึ่งถ้าดูตามความเป็นจริงมันก็ถูกของเขา ซึ่งตอนนี้เรากลับมามุกดาหารแล้วทุกคนก็แฮปปี้ ถ้าเป็นงานส่วนตัวของเรา เราทำงานชื่อ ‘มุกม่วนเด้อ’ มาสองปีแล้ว ก็ประสบความสำเร็จมาก เป็นงานรวมของดีของอร่อยเมืองมุกดาหาร จัดที่นี่ ที่สะหวันสำราญเลย แรงบันดาลใจเรามาจากเราไปเห็นตลาดซิเคด้าที่หัวหิน แต่สเกลงานนี้ก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่เท่าสะหวันฟันเฟส เพราะเมืองมันไม่อุ้มเท่า แต่ว่าตรุษจีนมุกจะให้ความรู้สึกที่ใกล้เคียง คือโซนเมืองเก่ากลับมามีชีวิตเลย โชคดีที่เรามีพวกทีมจากสุกสะหวันคาเฟ่ น้องๆ ที่รักมาช่วยทำกับเรา

     

     

    งานเทศกาลตรุษจีนที่มุกดาหารมีความพิเศษต่างจากที่อื่นอย่างไร

     

    เล็ก ใบเมี่ยง : เรามองจุดแข็งอย่างหนึ่งของเมืองมุกดาหารคือความหลากหลายทางวัฒนธรรม ในปีที่จะถึงนี้เราตั้งใจจะทำให้เป็น ‘อินโดจีนเฟส’ เราจะรวมวัฒนธรรมของทั้งสามสามชาติเลยคือ จีน ไทย เวียดนาม จะจัดเป็นครั้งที่สองแล้ว ปีแรกคนตกใจมากกว่า อะไรวะ ทั้งเป็นช่วงโควิดและมีเตรียมงานแค่สามวันแต่งานออกมาสวยมาก คนตกใจ มาปีนี้คนเลยพร้อมให้ความร่วมมือ ในแง่การสนับสนุนจากชุมชนปีนี้เราพร้อมกว่าปีแรกมาก เราตั้งใจจะแข่งกับเบอร์หนึ่งคือ ตรุษจีนนครสวรรค์ เราจะทำให้ตรุษจีนมุกดาหารเป็นที่จดจำ เรามีจุดแข็งเราคือ หนึ่ง เรามีแปดเผ่าคนไทย สอง เรามีคนญวนที่มีเชื้อสายและรักษาวัฒนธรรมของตนเองไว้อย่างแข็งแรงและเป็นกลุ่มชาติพันธุ์และมีพาวเวอร์ในภาคธุรกิจของมุกดาหารและภาคอีสานมากขึ้นแล้ว ถ้าจะถามว่าทำไมถึงต้องแข่งกับเบอร์หนึ่ง สำหรับเราถ้าจะฝัน มันต้องใหญ่ไว้ก่อนแต่จะทำออกมาได้แค่ไหนเราก็ต้องมาดูกัน เพราะเรามองว่ามุกดาหารขาดอีเวนท์ครับ เราขาดเฟสติวัลในการโปรโมทเมือง ปีนี้น่าจะสนุก 1-3 กุมภาพันธ์ 2022 เราจะมีถนนสามสายคือ ถนนสายเวียดนาม ถนนสายจีน ส่วนฝั่งวัฒนธรรมไทยจะเป็นเมืองมิกซ์แอนด์แมท ปิดถนนเมืองเก่าสามวันเลย ถ้าคุณอยากหาอารมณ์ย้อนยุคแบบตรุษจีน เรารับรองว่างานี้มีให้แน่นอนครับ 




     


    ความฝันสองฝั่งโขงที่ยังไม่แล้วเสร็จของ ‘เล็ก ใบเมี่ยง’

     

    เล็ก ใบเมี่ยง : มีอีกเรื่องหนึ่งที่เราฝันไว้แต่ยังทำไม่สำเร็จ หลังจากจบสะหวันฟันเฟสเราไปจีบคนให้มาร่วมฝันด้วยกันอีกสามคน ทีมนั้นเขาเป็นเบอร์หนึ่งของลาวในด้านการท่องเที่ยว ดื่มเบียร์แล้วถูกคอกัน ชื่อพี่ธี หลังจากฟันเฟสเสร็จเราบอกกับเขาว่า พี่ธี เรามีอีกฝันหนึ่ง ช่วยหน่อย ‘SavanTopia’ ที่เกาะกลางแม่น้ำโขง คืนพระจันทร์เต็มดวง วันที่ 7 มีนาคม 2020 เป็นงานคอนเสิร์ตกลางแม่น้ำโขงครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เขียนไขและวานิช เล่นปิด ช่วยกันทำกับพี่ธีและทีม ได้เงินจากการท่องเที่ยวลาวมาสามแสน มีเบียร์ลาวเป็นสปอนเซอร์ แต่สุดท้ายมันไม่ได้เกิดขึ้นเพราะสถาการณ์การระบาดโควิด-19 ระลอกล่าสุด งานจัดวันที่ 7 วันที่ 2 มีนาคม งานโดนยกเลิก เสียดายมาก เหมือนอกหักเลย เพราะถ้าทำให้เกิดขึ้นได้งานนี้เป็นฟูมูนปาร์ตี้แบบครั้งแรกของคนทั้งสองฝั่งเลย

     

    ถ้าเป็นไปได้ในอนาคตเราอยากจะกลับไปจัดให้มันสำเร็จไหม

     

    เล็ก ใบเมี่ยง : จริงๆ มีคนถามเรื่องนี้เหมือนกันนะ ตอนนั้นเราตอบว่าน่าจะไม่ทำละ แพชชั่นไม่เหลือแล้ว เมื่อวานมีน้องคนหนึ่งมาปลุกแพชชั่นบอกว่าพี่เล็ก ถ้ามันเกิดขึ้นนะ มุกกับสะหวันจะเป็นอะไรที่ดังระดับประเทศไปเลยนะ เออ ใช่ว่ะ ประโยคนี้ทำให้เรากลับมาคิดใหม่ว่าอกหักอะช่างมัน เพราะมันเป็นงานของสองฝั่งโขง แล้วมันไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้นตรงกลางระหว่างสองฝั่งนี้เลย จริงๆ คนไทยเนี่ยต้องข้ามฝั่งไปสะหวันเขตก่อนนะ ไม่สามารถนั่งเรือข้ามจากฝั่งไทยไปดูได้ ความปลอดภัย 200% เลย  ห้ามเล่นน้ำ  ทุกคนมีชูชีพมีเรือวิ่งตลอดทาง ก่อนจะปิดปิดงานด้วยเพลง Imagine ของ John Lennon โห ฟินเลยนะ

     


     



    เคยได้ยินมาว่าเหตุผลที่คุณย้ายกลับมาที่มุกดาหารเพราะว่าคุณต้องการจะกลับมาตายที่ริมฝั่งโขง

     

    เล็ก ใบเมี่ยง : เป็นความตั้งใจตั้งแต่ตอนที่ลาวแตกแล้ว สมัยเราไปอยู่กรุงเทพเรากลับมุกดาหารทุกปี ที่บ้านทำขนส่งนั่งรถฟรีอยู่แล้ว ทุครั้งที่กลับบ้านก็ต้องแวะยโสธรเพื่อไปต่อรถที่บ้านพี่ชายอีกคนที่เคยขายแผ่นเสียงสมัยอยู่ที่สะหวันนะเขต แกจะถามคำถามหนึ่งที่เราไม่ชอบเลยว่า มึงจะกลับมามุกทำไมทุกปิดเทอม ซึ่งเราไม่อยากตอบ ‘กูจะกลับก็เรื่องของกูดิ’ เรากลับมาที่นี่ทุกปีจนเราได้แต่งงานกับภรรยาเราที่เป็นคนมุกดาหาร เราบอกเขาว่าสุดท้ายเราต้องกลับไปแก่และตายที่ริมโขงเท่านั้น เรามีความผูกพันธ์กับที่นี่ นี่คือความตั้งใจตั้งแต่อายุ สามสิบกว่าๆ ตอนข้ามมาใหม่ๆ ยังไม่รู้สึกแบบนี้หรอก แต่ตอนที่กลับมามุกทุกปีเรารู้สึกเลยว่าต้องกลับมาตายที่มุกดาหาร เราได้เลือกเรือนตายของเราไว้แล้ว

     

    คำถามสุดท้าย มีประโยคหนึ่งที่คุณเขียนใน ‘โรงรูปเงา-ลาวเจริญรามา’ คุณเขียนไว้ว่า พระอาทิตย์ตกที่ริมโขงที่สะหวันนะเขตคือพระอาทิตย์ตกที่สวยที่สุดในโลก สำหรับคุณคำพูดนี้ยังจริงอยู่ไหม

     

    เล็ก ใบเมี่ยง : จริง ตอนแรกที่เรามาอยู่มุกดาหาร เราเสียดายที่เราไม่ได้มีพระอาทิตย์ตกให้ดูเนอะ เพราะฝั่งนี้จะเป็นพระอาทิตย์ขึ้น แต่ตอนหลังไม่เสียดายแล้ว เรามีพระจันทร์ที่สวยที่สุดในโลกเหมือนกันที่มุกดาหาร สะพานจันทร์ที่มุกดาหารสวยไม่แพ้ทะเลเลย….

     

    พระจันทร์ 7 ดวง…

     

    หัดนอนดูพระจันทร์ดวงแรกบนแคร่ไม้ไผ่กลางถนนหน้าตลาดเทศบาลมุกดาหาร ตอนอายุ 13

     

    พระจันทร์ดวงใหญ่กลมโตเหลืองนวลในฤดูหนาวที่ศูนย์อพยพอุบลในปีต่อมา

     

    พระจันทร์ข้างหน้าต่างรถทัวร์ ที่วิ่งตามเราไม่หยุดหย่อนไปทั้งคืน

     

    พระจันทร์เหงา ๆ ตัดกับโคมไฟหลากสีที่

    ฮอยอัน ในปีที่เมืองเพิ่งได้มรดกโลกมาหมาด ๆ

     

    พระจันทร์เอียงอายแต่งตัวช้าที่โผล่มาอาบหาดทรายที่เกาะกูด ในคืนที่บทสนทนาไม่รู้จบแกล้มกับบทเพลงของเติ่ง ลี่ จวิน

     

    พระจันทร์โรแมนติกที่ชวนให้คิดถึงวัยเด็ก กลางลานโคโลเนียลสะหวันนะเขต ในคืนที่เมืองทั้งเมืองหลับไหลมากว่า 20 ปี

     

    สะพานจันทร์ที่ทอดผ่านน้ำลำน้ำโขง และเป็นดวงที่พาหัวใจกลับบ้าน เพื่อมายังเรือนตายที่บ้านเกิดมุกดาหาร…

     

    บทกวี โดย เล็ก ใบเมี่ยง

     





    ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------





Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in