เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
PAPAYAH's ARCHIVERocket man
สำรวจชีวิตในฐานะ Artist Manager ของ “วรกันต์ ทองขาว”
  • สัมภาษณ์ : เดอะ มู๋ & พ่อแมม
    เรียบเรียง : กฤษฎ์  พรหมใจรักษ์

    "Artist Manager" หรือ ผู้จัดการศิลปิน เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีบทบาทสำคัญในวงการดนตรีและถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญของอุตสหกรรมดังกล่าว นอกจากการสร้างสรรค์ผลงานที่ดีและมีคุณภาพโดยตัวศิลปินเอง การที่ศิลปินหรือวงดนตรีการบริหารจัดการที่ดีมีผลอย่างมากกับพัฒนาการและการเติบโตของวงในเชิงธุรกิจ และยังช่วยให้ศิลปินสามารถโฟกัสไปที่การสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องพะวงหน้าพะวงหลัง 

    วันนี้ทาง PAPAYAH’s ARCHIVE ขอพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับ “วรกันต์ ทองขาว” หรือ “หลวงกัน” ชายหนุ่มผู้คร่ำวอดในสายงาน Artist Manangment ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของศิลปินที่หลายๆ คนรักอย่าง “Max Jenmana”, “O-PAVEE"“Yew”, “Freehand” และอื่นๆ อีกมากมาย รวมไปถึงผลงานเดี่ยวของหลวงกันเองภายใต้ชื่อ “Human Of Thailand” ผ่านการสัมภาษณ์เกี่ยวกับชีวิตและการทำงานในฐานะผู้จัดการศิลปินของหลวงกันว่ากว่าที่เขาจะกลายมาเป็นหนึ่งในผู้จัดการศิลปินที่คนอยากร่วมงานด้วยมากที่สุด เขาคนนี้ผ่านอะไรมาบ้าง   



       


    เริ่มเข้ามาจับงานสายนี้ได้ยังไง


    หลวงกัน : เริ่มจากช่วงฝึกงานสมัยเรียนมหา’ลัยประมาณ 7 ปีที่แล้ว ผมได้มีโอกาสมาฝึกงานกับทางค่าย “Believe Records” ตอนนั้นเพิ่งกลับมาจากเป็นทหาร ติดทหารอยู่ 2 ปี ก่อนจะกลับมาเรียนต่อปี 7 ปี 8 ตอนนั้นเรียนอยู่ที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คณะวิทยาการสื่อสาร สาขานวัฒกรรมการแบบสื่อและผลิตสื่อ ละก็เลือกมาฝึกงานที่กรุงเทพ



    อะไรคือแรงผลักดันให้เข้ามาฝึกงานที่ “Believe Records”


    หลวงกัน : คือมันอั้นมานาน เราเห็นเพื่อนเรา “O-PAVEE” ได้เป็นศิลปิน ซึ่งเป็นเพื่อนกันตั้งแต่มัธยม เคยเล่นดนตรีอยู่วงเดียวกันกับโอบ้าง ในขณะที่เราติดทหาร ตอนนั้นปี 53 เพลง “Superman” ติดชาร์ทอันดับหนึ่ง เลยรู้สึกว่า เฮ้ย โอ มันก็ทำได้นี่หว่า แล้วนี่กูทำอะไรอยู่วะ กูมาทำอะไรอยู่ตรงนี้ ช่วงที่เป็นทหารเราก็แต่งเพลงให้โอแล้วส่งไปให้บ้าง พอปลดทหารสองปีปุ๊ป ก็เลยโทรบอกโอว่ากูต้องหาที่ฝึกงานว่ะ โอก็เลยแนะนำผมให้กับพี่ว่าน วง Details พี่ว่านก็เลยดึงผมมาฝึกงานกับ “Believe Records” ก็ได้เข้าไปฝึกในฐานะ Creative ตอนนั้นพี่บอล พี่แฟรงค์ ก็ยังอยู่ที่บีลีฟ ก็ได้พี่แฟรงค์นี่แหละครับ ตอนนั้นพี่เขาเป็นผู้บริหารฝั่ง A&R ของค่าย ( A&R ย่อมาจาก “Artist and Repertoire”) พี่เขาก็ใช้ให้ทำนู่นทำนี่ พิมพ์เอกสารให้หน่อย อัพสมุดบัญชี เราก็ทำ บังเอิญพื้นฐานจากช่วงที่เป็นทหารเราได้ทำงานเสเมียน เอกสารเราก็พิมพ์ได้ หลังจากนั้นเวลามีงานที่ต้องออกหน้างานพี่แฟรงค์ก็พาผมไป เดินตามหลังทั้งงานของ "สิงโต นำโชค , คอนเสิร์ตใหญ่ของวง “25 Hours” เราก็อาศัยครูพักลักจำ สังเกตจากแก จนฝึกงานเสร็จพี่แฟรงค์ก็บอกว่าให้เรียนต่อให้จบ เรียนจบแล้วก็ขึ้นมาหาแก พอเรียนจบก็เลยขึ้นมาหาแก 




    พอเรียนจบแล้วขึ้นมากรุงเทพแล้วเป็นยังไงต่อ ได้ทำงานเลยไหม


    หลวงกัน : มาอยู่กรุงเทพมาประมาณสองปีกว่าจะได้ทำจริงจัง เพราะตอนนั้นที่ “Believe Records” พี่แฟรงค์ พี่บอล พี่มอย เขาย้ายไปอยู่ที่ “What The Duck” กันหมด พอมาอยู่ WTD งานแรกได้ทำคือการดูแล “ชาติ สุชาติ” เป็นศิลปินเบอร์แรกที่เราได้ดูแลในฐานะ AR ( Artist Relations) ครับ พี่แฟรงค์เป็นคนส่ง AR ไปให้ศิลปิน แล้วก็ “De Flamingo” ที่ได้ไปทัวร์ด้วยกัน ต้องขอบคุณพี่แฟรงค์กับพี่บอลครับ จำได้ว่าพี่แฟรงค์โยนงานมาให้งานหนึ่ง คือ “De Flamingo” ต้องไปทัวร์กับเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ยี่ห้องหนึ่งเป็นเวลาอาทิตย์นึง พี่เขาโยนเอกสารรายละเอียดงานปึกหนึ่งโดยไม่บอกอะไรเลย ผมต้องโทรประสานงานเองทุกอย่าง เบอร์ลูกค้า ร้านที่จะไปเล่น เครื่องเสียง รถตู้ ต้องจัดการเวลาเองทั้งหมดภายในอาทิตย์หนึ่งโดยที่ไม่บอกอะไรมาก่อนเลย ซึ่งเราก็ทำได้ พอทำได้แกก็เริ่มเชื่อ ให้ไปดู “ชาติ สุชาติ” ให้ไปดูแล “The Toys” ที่ตอนนั้นเพิ่งเข้าค่าย เพลง “ก่อนฤดูฝน” กำลังจะออกพอดี จนเริ่มโตขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็บังเอิญที่ไอ้โอ “O-Pavee” ซึ่งเป็นเพื่อนมาก่อน ซึ่งตอนนั้นโออยู่กับ “Home Records” เราก็กลายเป็นผู้จัดการส่วนตัวของโอไป 






    มาเจอและร่วมงานกับ “Max Jenmana” ได้ยังไง


    หลวงกัน : ช่วงนั้นผมทำโปรเจคจัดงานของตัวเองที่ “PLAY YARD by Studio Bar” ชื่อ “All Is By My Life” มีชื่อตอนว่า “One Night Stand” เป็นงานรวมศิลปินเดี่ยว ไลน์อัพวันนั้นมี “O-Pavee”, “Max Jenmana”, "The Toys" แล้วก็ “Alyn” ที่ปัจจุบันอยู่ค่าย “Love Is” แล้วก็วงเปิดคือ “Zom Marie” ก็ได้รู้จักกับ แม๊ก ครั้งแรกที่นั่น ผ่านไปสามเดือน แม๊ก ก็โทรมา “จารย์ ผมมีอีพีอยู่ชุดนึง ผมอยากทัวร์ แต่ผมมีผู้จัดการส่วนตัวของผมอยู่แล้วนะคนหนึ่งเขาดูแลผมมาตั้งแต่ The Voice เลย แต่ผมอยากให้อาจารย์มาดูภาคคอนเสิร์ต (แม๊กเรียกหลวงกันว่า อาจารย์) ผมอยากทัวร์คอนเสิร์ต” นั่นแหละ ก็ได้เริ่มมาทำตรงนี้จริงจังเป็นเมเนเจอร์ ขายงานศิลปินด้วย ดูแลด้วย จนด้วยโอกาสหรือโชคชะตาอะไรสัก อยู่ๆ เพลง “วันหนึ่งฉันเดินเข้าป่า” ดัง จากนั้นเราก็ได้ไปทุกที่เลย ทั้งซีนอินดี้ ซีนแมส ร้านหมอลำ ร้านเพื่อชีวิต เราได้ไปหมด ไปเจอวิธีการทำงานของแต่ละที่ที่ไม่เหมือนกัน ลักษณะการดีลงานที่ไม่เหมือนกัน แล้วเราทำเองหมด เหมือนเป็นโอกาสในการเก็บเลเวลตัวเอง ได้ทำงานกับคนที่ชั้นเชิงไม่เหมือนกัน ได้จัดการวงด้วยตัวเองด้วยครับ คือแม๊กจะให้ผมทำเองทุกอย่าง หาแบ๊กอัพมาเล่นให้ หาทีมงาน ดีลงานศิลปิน ช่วงแรกๆ ที่แม๊กยังไม่เคยทัวร์เราก็มีส่วนร่วมในการคิดโชว์ คิดลิสต์เพลง การแต่งตัว จนพอได้ทัวร์เยอะๆ แม๊กก็เริ่มรู้ว่าจะทำอะไรกับวงตัวเอง เราก็ถอยมาเป็นคนช่วยเสริม 





    วิธีเลือกศิลปินที่จะร่วมงานด้วย


    หลวงกัน : สิ่งที่ผมใช้ตัดสินใจเวลาที่จะร่วมงานกับศิลปินสักเบอร์ ผมต้องเชื่อมั่นในตัวเขา ความโชคดีอีกอย่างหนึ่งของผมคือศิลปินที่ผมดูแลเขาเขารู้ตัวตนตัวเองมันก็เลยง่ายในการทำงานและทำให้รู้ว่าเราจะพาเขาไปในลู่ทางไหน ซีนไหน อินดี้ หรือว่าแมส ต้องคุยกันกับศิลปินมากกว่าว่าเคมีตรงกันและเราต้องเชื่อในตัวงานเขาด้วย ยกตัวอย่าง “O-Pavee” เขาอยากทัวร์อยากมีเพลงที่คนรู้จักเยอะขึ้น เราก็พาไปคุยกับค่ายจนลงเอยกับ “Boxx Music” ในเครือ “Muzik Move” วิธีการทำงานก็เปลี่ยนไป ส่วนผมก็ง่ายขึ้นในการทำงานเพราะมีทีม มีค่ายช่วยผลักดันที่เราไม่ต้องทำเองทุกอย่าง  และผมจะพยายามไม่ทำงานกับศิลปินที่เป็น target เดียวกัน จะพยายามทำที่เป็นคนละทางกัน เพราะไม่งั้นมันจะมีปัญหากับตัวผมเองอีกแหละ มันจะเกิดคำถามที่ว่า วงเดียวกัน แนวเดียวกัน ตลาดเดียวกันเนี่ย เฮ้ยวงนี้มางาน ทำไมวงนี้ไม่มีงาน วิธีการทำงานเราก็ใช้พื้นฐานจากที่ตอนทำงานกับ “What The Duck” เราใช้พื้นฐานที่เราเคยทำงานกับค่ายมาใช้กับศิลปินเราที่ไม่มีค่าย “What The Duck” คือโรงเรียนแรกของผม ทุกวันนี้ผมก็ยังขอบคุณพี่แฟรงค์ พี่บอล พี่มอย ที่สอนอะไรหลายๆ อย่าง แล้วทำให้เรามาโตด้วยตัวเอง



    หลังจากที่ทำงานกับศิลปินที่ค่อนข้างแมส มาร่วมงานกับศิลปินอิสระได้ยังไง


    หลวงกัน : หลังจากที่ “Max Jenmana” หรือว่า “O-Pavee” เริ่มมีผลงานที่ชัดเจนขึ้น ก็มีศิลปินอินดี้อย่างเช่นที่ตามมาติดๆ ก็คือ “Freehand” ซึ่งต้องขอบคุณพี่ เบนซ์ มหานิยม เป็นคนที่แนะนำ ก็เลยได้มาคุยกัน ผมใช้เวลาประมาณ 2 ปี ในการเวลาส่งเสริม เตรียมงาน วางแผนปล่อยเพลงใหม่ เพื่อที่จะพา “Freehand” กลับมาทัวร์ตามร้านได้เหมือนเดิม เพราะตอนนั้นหลังจากที่พวกเขาปล่อยเพลง “ควันบุหรี่” เขาก็หายไปเลย ไปทำงานส่วนตัวกัน ทั้งที่จริงๆ “Freehand” มันเป็นวง gen เดียวกับ Zweed n’ Roll, Moving and Cut, Part Time Musicians มาพร้อมๆ กัน พอมาปัจจุบันเราก็ต้องวิเคราะห์ตลาดให้วงฟัง ต้องโตขึ้นนะ ต้องเข้าห้องอัดดีๆ ต้องมีมิวสิกวีดีโอดีๆ นะ ต้องมีมาตฐานการทำงานที่ดีขึ้น ตลาดตอนนี้เป็นยังงี้ๆ ทำความเข้าใจคุยกัน เขาก็ไปทำมาจนปลายปีที่แล้วปล่อยเพลงแรกมา ก็บอกน้องว่า ถ้าทำแบบนี้ๆ ปุ๊ป จะมีอะไรตามกลับมาบ้าง แล้วมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ด้วยความที่เราไปเจออะไรมาเยอะก็มาอัพเดทให้น้องฟังมากกว่า ทั้ง “Freehand” ทั้ง “Yew” อย่างวงหลังนี่ก็ใช้เวลาปีหนึ่ง




    มาร่วมงานกับ “Yew” ได้ยังไง


    หลวงกัน : “Yew” นี่วง “Dept” แนะนำให้รู้จักครับ เริ่มจากที่เบนซ์ วง “Dept” ให้ผมมาดูแลวงเขา วงนี้ไปเจอกันตอนผมพา “Freehand” ไปเล่นละไปเจอน้องๆ วง “Dept” แล้วยังเอิญน้องไปโดนตำรวจจับกับวง “Freehand” เราก็ไปช่วย (จอดรถผิดที่ โดนล๊อคล้อ) สักพักน้องเขาก็โทรมาชวนให้มาช่วยเป็นผู้จัดการ ทำงานกันได้ประมาณ 2 เดือนก็มีงานยาวไปจนถึงปลายปี ละก็น้องก็ได้เซ็นต์กับ SMALLROOM “พี่เดี๋ยวผมไปอยู่สมอลรูมแล้วนะพี่ แต่ผมว่าดูวงเพื่อนผมด้วยได้ไหม ชื่อวง Yew ครับพี่” ตอนแรกก็ไม่คิดรับใครเพิ่มละ เพราะเราก็เหนื่อย ดูวงเยอะ จนไอ้พี มือกีต้าร์ โทรมา อะ นัดเจอกันหน่อย พอได้คุยกับวงแล้วแบบ… เออ วงนี้มันแปลกว่ะ มีความพิเศษ คาแรกเตอร์ของสมาชิกแต่ละคนมันพิเศษ ทำให้ผมคิดถึงวงอย่าง “25 Hours” เลย เชี่ยมันแปลกดีว่ะ บุคลิกแต่ละคน เขาโตมาก เขาโตในแง่ของการทำงาน เลยลองดู ก็ใช้เวลาปีนึง แต่น้องเขาเก่งอยู่แล้ว เขารู้ว่าตัวเองต้องทำงานแบบไหน อาร์ทเวิร์คแบบไหน เอ็มวีแบบไหน เขาจัดการเองหมด โชคดีมาก น้องๆ เขาเก่งมาก ผมแค่หาลู่ทางให้เขาได้ออกไปเล่น ก็วางแผนให้น้องแบบปีต่อปี ปีนี้ต้องทำอะไร จนล่าสุดก็มีอีพีอัลบั้มที่ 3 แล้วก็อาจจะมีอัลบั้มเต็มภายในปีนี้ไม่ก็ต้นปีหน้า เป็นอีกวงที่เนื้อหอมวงหนึ่งที่มีค่ายมาตามจีบอยู่ ก็ฝากไว้ด้วยครับ ครบเครื่องครับวงนี้ 







    เห็นคุณพูดเรื่องการวิเคราะห์ตลาดเพลงปัจจุบันค่อนข้างบ่อย ตอนนี้คุณมองว่าตลาดของอุตสหกรรมนี้เป็นอย่างไรบ้าง


    หลวงกัน : สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำวงดนตรีหรือเป็นศิลปินในยุคนี้คือต้องมีผลงานที่ต่อเนื่อง เพราะเราอยู่ในยุคที่ศิลปินเยอะมาก เพราะถ้าปล่อยมาปีละเพลง เราอาจจะกลายเป็นคนที่โลกลืมำด้เลย วงการนี้มีของใหม่ที่พร้อมจะมาแทนที่คุณตลอดเวลา สิ่งนี้คือสิ่งที่ผมบอกศิลปินทุกคนตลอด คือ มึงต้องขยันนะ ไม่ว่าจะมีค่ายหรือไม่มีค่าย เพราะว่ามันจะมีของใหม่ที่จะมาทดแทนเราอยู่ตลอดเวลา เราก็เปรียบเปรยว่าเราทำสงครามกันอยู่ อยากไปทัวร์ใช่ไหม ถ้าอยากไปทัวร์ก็ทำเพลงให้ผมสิ เอาอาวุธให้ผมสิเดี๋ยวผมไปรบให้ แต่ผมจะไม่รีบ ไม่กดดัน ให้งานเขาออกมาดีที่สุด จนเขาแฮปปี้กับงาน จนเขามั่นใจในงานของตัวเอง ต้องเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบัน ผมก็อัพเดทตลอดว่าเทรนด์ตอนนี้เป็นยังไง คือผมเข้าใจว่าทุกวง วงเขาอยากได้พื้นที่ไปเล่น ได้ไปโชว์ แต่บางที บางวงผลงานเขาอาจจะไม่เหมาะในยุคนี้ แต่ว่าผลงานพี่มันดีแล้ว สิบปีข้างหน้าอาจจะกลับมา ไม่ต้องน้อยใจ ไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องไม่คิดมาก หรือว่าผลงานอัลบั้มนี้มันควรไปอยู่ในพื้นที่ชิงรางวัลมากกว่าที่จะไปโชว์ในตอนนี้ ผลงานแต่ละชิ้นที่แต่ละศิลปินสร้างสรรค์ขึ้นมามันมีคุณค่าในตัวของมันที่แตกต่างกัน




    ปัจจุบัน หลวงกัน เป็นผู้จัดการและดูแลวงอะไรอยู่บ้าง


    หลวงกัน : เป็นผู้จัดการ “O-Pavee”, “Max Jenmana” ล่าสุดก็ “เอ๊ะ จิรากร” ส่วนซีนอินดี้ก็จะมี “Freehand”, “Brown Flying”, “Dead Flowers”, “เวิลด์ นพรุจ”, “CHAMOOK” , “Yew” แล้วก็มีดูแลศิลปินในสังกัด Yell Recordz : “Death Of Heather”, “COGO”, “Apollo Thirteen” 





    หลังจากเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของศิลปินหลายๆ เบอร์ในฐานะผู้จัดการศิลปินมาเป็นเวลาหลายปี สู่การเป็นศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานของตัวเองภายใต้ชื่อ “Human Of Thailand” โปรเจคนี้มีที่มาอย่างไร


    หลวงกัน : “Human Of Thailand” มันคือเรื่องเล่าของคนๆ หนึ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย มันเป็นงานที่ผมเริ่มเขียนมันขึ้นมาร่วม 10 ปีที่แล้ว ตั้งแต่สมัยเรียนมหา’ลัย ก็เหมือนวัยรุ่นทั่วไป มันเป็นบันทึกเรื่องราวที่อัดอั้นตันใจจากเมื่อก่อนมากกว่าเลยเอามาทำ จะพูดว่าจริงจังก็ไม่ได้ เพราะเราแค่อยากเล่าเรื่อง เป็นคนชอบเขียนหนังสือ ชอบเขียนเรื่องสั้น ชอบเขียนกวี ก็เขียนไม่ค่อยจบ เลยคิดว่าเราเอาความชอบตรงนี้มาทำเป็นเพลงดีกว่าผนวกกับตัวเองก็อยากจะมีวงดนตรีอยู่แล้วก็เลยร้องด้วยตัวเองเลย ในส่วนของดนตรีอาจจะไม่สมบูรณ์แบบเท่าไหร่ ก็อาศัยเล่าเรื่อง เนื้อหาโดยรวมจะพูดถึงความไม่สมบูรณ์แบบของการเป็นประชาชนไทย งานนี้ต้องขอบคุณ ที วง “fellow fellow” ที่มาเป็นโปรดิวเซอร์ให้ แล้วก็กราฟ มือกีต้าร์วง “Dead Flowers” อาศัยทำแบบเล่าเรื่องมากกว่า เผื่อวันหนึ่งวันใดคนผ่านมาฟังแล้วสามารถขัดเกลาจิตใจเขาได้



    นี่คือสิ่งเราอยากทำจริงๆ เป็นความฝันของเราจริงๆ เลยหรือเปล่า


    หลวงกัน : ไม่เชิง แค่แก่นแท้เรามาจากบ้านนอก อยากเล่าเรื่อง อยากเป็นนักเขียน อยากเป็นศิลปิน แล้วการทำเพลงน่าจะเป็นฟอแมต์ทางศิลปะที่เข้าถึงคนง่ายที่สุด มากกว่าการเขียนรูป เพราะเขียนรูปบางทีบางคนอาจจะไม่ได้เข้าไปชมในแกลลอรี่ที่เดียวกันทุกคน แต่ว่าเพลงเนี่ยมันจะผ่านหูผ่านประสาทสัมผัสเข้าไปได้ง่ายกว่า ง่ายกว่าละคร เรื่องสั้น หรือวรรณกรรม ที่คนอาจจะไม่มีโอกาสได้อ่าน แต่ว่าการทำออกมาเป็นเพลงมันผ่านหูคนได้ง่ายแน่ แต่ผมไม่ได้โปรโมทเลยนะ อย่างผมเองก็ทำเพจตัวเองเพื่อสนับสนุนศิลปินอิสระผมก็ไม่เอาไปแขวนในเพจ ไม่ขายงานด้วย ขายงานศิลปินตัวเอง แต่ไม่ขายตัวเอง ผมมองโปรเจคนี้เหมือนการปลูกต้นไม้ครับ เราปลูกต้นไม้ต้นนี้เอาไว้เพื่ออาจจะไปออกดอกออกผลอีกสัก 10 ปีข้างหน้ามากกว่า ผมคิดถึงงานของ “อารักษ์ อาภากาศ” หรือว่า “มาโนช พุฒตาล” ครับ เป็นงานที่จะอยู่ได้นาน แต่เรื่องคุณภาพงานตอนนี้ผมก็ยอมรับว่ามันยังไม่ดีในส่วนของมาสเตอร์ริ่งการบันทึกเสียง



    ในส่วนของภาคดนตรี แนวทางเป็นอย่างไร


    หลวงกัน : คอนเซปหลักๆ ก็จะมาจากตัวผมเองนี่แหละ อยากได้แบบนี้ๆ จากนั้น ที กับ กราฟ เขาก็จะไปตีความหมายใหม่ให้ในบางเรื่อง อย่าง ที เขาก็จะได้เรื่องดนตรีสมัยใหม่ส่วมผสมความเป็นอิเลกทรอนิกส์อะไรไป ส่วนกราฟก็จะช่วนเรียบเรียง ใช้ห้องบันทึกเสียงของกราฟ ซึ่งก็ต้องขอบคุณที่พวกเขาเชื่อในตัวผม ก็ทำโดยไม่มีค่าใช้จ่ายอะไร




    “Human Of Thailand” มีผลงานออกมากี่เพลงแล้ว


    หลวงกัน : ปล่อยมา สองเพลง แล้วครับ เพลงแรกชื่อเพลง “ปริญญาตรี” เพลงนี้เขียนให้กับเด็กรุ่นใหม่ ให้เข้าใจความเป็นจริงของชีวิต คือเราเข้าใจว่าการศึกษาทำให้คนมีความฝัน แต่ในความเป็นจริงหลายๆ คนอาจจะจบมาแล้วจะไม่ได้ทำตามความฝันตัวเอง ผมคิดว่าพวกเราโดนขายฝันมาตั้งแต่เด็กๆ ว่าโตไปต้องเป็นแบบนี้ๆ แต่สุดท้ายพอมาเจอโลกแห่งความเป็นจริงมันเป็นไปไม่ได้ เขียนเพื่อเตือนสติ เตือนให้คนไม่ประมาทในการใช้ชีวิต ว่ามึงต้องทำเต็มที่กับชีวิตมึงถึงจะได้สิ่งที่มึงต้องการ เพราะไม่งั้นมึงก็เป็นได้แค่วรรคสุดท้ายของเพลง เป็นได้แค่เด็กปั๊มน้ำมัน...คือไม่ได้เหยียดหรืออะไระแค่เปียบเปรยให้ฟังว่าถ้ามึงไม่ทำให้เต็มที่สุดท้ายมึงก็ไม่ได้ทำตามความฝันของตัวเอง เพราะฉะนั้นมึงต้องเต็มที่ ไม่งั้นมึงจะเป็นเหมือนเพลงนี้ ถ้ามึงไม่ทำให้เต็มที่มึงก็จะได้แค่นี้นะ ต้องทำให้เต็มที่ก่อนจะได้ไม่เป็นเหมือนในเพลง เพลงที่สองชื่อเพลง “เจ้านาย” เพลงนี้อิงไปทางเรื่องการเมืองหน่อย แต่ว่าไม่ได้ใช้คำหยาบ เป็นการเปรียบเปรย เป็นปัญญาชนที่เอาความคิดมาคุยกัน เอาความคิดมาคุยกัน คุยกันด้วยเหตุผลอาจจะช่วยให้คนที่มีความขัดแย้งกันทางสังคมหันมาคุยกันด้วยเหตุผลมากกว่าที่จะต้องตะโกนโหวกเหวกโวยวายในการเรียกร้องสิทธิของตัวเองหรือว่าเอาแต่ใจ สุดท้ายมันอยู่ที่ดุลยพินิจของคนมากกว่าว่าจะต่อสู้กับความขัดแย้งยังไง ตอนแรกก็วางแผนคร่าวๆ ว่าจะทำเป็นอีพีออกมาในปีนี้เลย ชื่อว่า “Good Morning Bangkok” เล่าเรื่องราวชีวิตในกรุงเทพ ในอนาคตอาจจะมีใน streaming แต่ตอนนี้มีในยูทิวป์ กับ ฟังใจ ผมพยายามจะไม่ทำอะไรมากกับตรงนี้




    ความสุขของการทำอาชีพผู้จัดการศิลปินที่อยากจะเล่าให้คนอื่นฟัง


    หลวงกัน  ...การได้ต่อเติมฝันให้คนอื่น โดยพื้นฐานความฝันเรา เราเองอยากจะเป็นศิลปินแหละตอนเด็กๆ อยากอยู่เบื้องหน้า แต่ด้วยกฎเกณฑ์ทางสังคม หรือว่าเราต้องมีอาชีพ แล้วบุคลิกหรืออาชีพเราดันมาอยู่ในพื้นที่นี้ซึ่งผมก็ชอบนะ การได้อยู่เบื้องหลัง เป็นฟันเฟืองให้ศิลปินต่อเติมความฝันตัวเอง ความสุขของผมคือเมื่อศิลปินได้อยู่บนเวทีแล้วหันมายิ้มให้เราเพราะเขามั่นใจ อยู่บนเวที เขาได้โชว์ได้อะไรตามที่เขาต้องการแล้วหันหน้ามายิ้มให้เรา ผมมีความสุขละ หรือเมื่อวันใดที่เขาไม่มั่นใจในตัวเองเขาหันหน้ามามองเรา เราส่งพลังให้เขา นั่นคือสิ่งที่ผมดีใจมากกว่าการที่เขาได้ออกไปเล่นอีก ด้วยตัวเราเป็นนคนที่อยู่กับเพื่อนเยอะด้วย เราเป็นคนแคร์คนอื่น ก็เลยอาจจะทำงานง่ายขึ้น เข้าใจความรู้สึกคนอื่น อาจจะเคยผ่านโลกผ่านชีวิตที่เคยเกเรมาก่อน ซึ่งผมจะรู้สึกว่าไม่มีความสุขมากถ้าผมไม่ได้มาทำงานสายนี้ มีโอกาสมาผมก็ไม่อยากจะเสียโอกาสนี้ไป คือโอกาสน้อยมากที่จะได้มาเป็น AR, AM แล้วยุคสมัยนี้มหาลัยก็เปิดสอนวิชาพวกนี้ละ เริ่มมีวิชา Artist Management อะไรละ แล้วเราดันเป็นคนช่วงยุคแรกๆ ที่ได้มาทำ





    สำหรับคุณ อะไรคือความทุกข์ของอาชีพนี้


    หลวงกัน : เมื่อทำสิ่งใดที่เราตั้งเป้าไว้แล้วไม่ได้ ผมเป็นคาดหวังสูง เวลาที่ไปดีลงานแล้วพลาดแบบ บางทีแค่นิดเดียว หรือว่าเวลาที่ผมนัดเจอวง ว่ามาเจอกัน 9 โมง แล้วผมมาช้าไปสัก 5 นาที ผมนอยด์ละ นั่นคือสิ่งที่ผมนอยด์มาก เพราะผมเป็นคนตั้งกติกาเอง หรือบางทีไปเจอร้านนู้น เจองานนี้แล้วมันไม่ได้ตามที่เราหวังไว้ไว้ หรือไม่ได้ตามมาตฐานหรือผิดกติกานิดหน่อยผมก็จะนอยด์ละ นอยด์เพราะผมแคร์ว่าคนในวงว่าเขาจะรู้สึกไม่ดีหรือเปล่าทั้งๆ ที่เขาชิลมาก เขาไม่ได้คิดอะไรเลย มีแต่ผมที่คิดไปเองที่ชอบกลับมานอยด์ นี่คือความทุกข์ คิดไปเอง ผมเป็นคนคิดเพื่อป้องกันทุกอย่าง งานผมคือการป้องกัน แล้วถ้าไม่ได้ตามที่ผมป้องกันไว้ผมก็จะนอยด์ หรือว่าความคาดหวังของวงที่อยากไปเล่นแล้วผมไม่สามารถหางานให้เขาเล่นได้ผมก็นอยด์ แคร์คนอื่นมากเกินไป แคร์มากกว่าครอบครัว มากกว่าตัวเองก็เลยนอยด์



    คำแนะนำสำหรับผู้อยากจะมาทำงานสายนี้


    หลวงกัน : ที่ผ่านมามีคนเข้าหาเราเยอะมาก อยากเป็นเหมือนพี่ อยากดูแลศิลปิน แต่สุดท้ายเขาไม่ได้เข้าใจแก่น เขาคิดว่าการเขามาทำงานสาขานี้คือ คือเท่ แม่งเท่ว่ะ ใกล้ชิดศิลปิน แต่สุดท้ายงานเราไม่ได้เท่ คุณค่าของงานมากกว่าที่ทำให้ดูมีเสน่ห์ขึ้นมา งานเราแม่งหนักมาก บางคนเข้ามาแม่งก็หายไป สำคัญที่สุดคืออยากคนที่อยากสนใจเข้าใจแก่นของการทำงานก่อน เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตำแหน่งงานตัวเองว่าต้องทำอะไรก่อนทำตามหน้าที่ของตัวเองให้ได้ แล้วหลังจากนั้นคุณค่าของงานมันจะตอบรับคุณมาเอง ความเท่มันจะมาหาคุณเอง มันไม่ใช่แค่เปลือก ไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์ที่ออกมาว่าเบื้องหน้าเป็นยังไง คุณต้องทำงานหนักก่อน คุณต้องเข้าใจแก่นมันก่อน เพราะหลังๆ ผมเห็นหลายคนละ ภาพแม่งเท่ สวยมาก แต่พอทำงานดูแล้วแม่งไม่ได้เรื่องเลย ศึกษารากของมันให้ดีว่าวิธีการทำงานมันเป็นยังไง



    แก่นของการทำงานด้านการจัดการศิลปินคืออะไร


    หลวงกัน : การเป็นคนที่ไม่เห็นแก่ตัว ต้องรู้จักเสียสละ ทำงานให้ถูกต้องและชัดเจนที่สุด ถือประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลักของเราเป็นรอง ของเราต้องหลังสุด ไม่เอาผลประโยชน์มาเข้าตัวเองก่อน สำคัญเลย ผมโดนสอนมายังงี้ อย่าเอาผลประโยชน์ของศิลปินมาเข้าตัว ทุกสิ่งทุกอย่างต้องของส่วนรวมก่อน ผมไม่ได้ไม่เป็นไร อย่างน้อยก็ให้วงสบายก่อน สำหรับผม เวลาเราทำงานผมถือว่าผมเป็นอีกร่างหนึ่งของศิลปิน แต่เป็นภาคของการเมเนจ ทำทุกอย่างจัดการทุกอย่างให้ศิลปิน รู้ไส้รู้พุงศิลปิน รู้ความต้องการของศิลปินหมด ศึกษาตัวศิลปินที่เราบริหาร ศิลปินมีหน้าที่แค่มึงคิดงานแล้วมึงไปเล่นอย่างเดียว ไม่ต้องเครียดต้องพะวงข้างหลัง เดี๋ยวเรื่องข้างหลังผมคอยระมัดระวังหรือจัดการเอง ผมเครียดเอง ผมต้องเอาความเครียดมาเก็บไว้ที่ตัวเอง ไม่เคยบอกวงว่างานนี้กูเจอปัญหาอะไรบ้าง ไม่ทำให้วงนอยด์ นี่คือหลักการทำงานของผมเลยคือทำยังไงก็ได้อย่าให้วงนอยด์ แก่นการเป็นศิลปินคือการส่งต่อความสุขให้คนดู มันใช้พลังงานมาก เราไม่รู้หรอกว่าก่อนที่เขาจะขึ้นเวทีเขาอาจจะทะเลาะกับแฟน หมาไม่สบาย มีปัญหาทางบ้าน เราไม่รู้ แต่พอเขาอยู่หน้าเวทีแล้วเขาส่งพลังงานความสุข แต่ผมต้องส่งพลังงานความสุขให้ทุกคนสองเท่า การที่เขาจะมีความสุขบนเวทีได้คือผมต้องทำให้เขามีความสุขก่อน พอเขามีความสุข เขาก็มีพลังในการส่งต่อพลังความสุขให้คนดู






    contact : Facebook Wargun Thongkhao // instragram @human_of_Thailand


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in