เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
สามวันดี สี่วันเศร้าBUNBOOKISH
คำนำนักเขียน
  • “พี่ทรายไม่สบายเหรอคะ กินยาเยอะเลย”
    “อ่อ โรคประจำตัวค่ะ ต้องกินทุกวัน”
    “เป็นอะไรเหรอคะ พี่ทรายดูแข็งแรงออก”
    “เป็นโรคซึมเศร้าค่ะ”
    “เหรอคะ หนูว่าพี่ดู… ไม่ค่อยเศร้าเลยนะคะ”


    ใช่, ฉันเป็นโรคซึมเศร้า
    เคยเป็นแล้ว
    และเคยหายแล้ว
    .
    .
    .
    และกำลังเป็นอีกแล้ว
    ไม่รู้ว่าติดอกติดใจอะไรโรคนี้กันนักหนา
    สำหรับใครที่เคยสงสัยว่า โรคที่ชื่อมันดูหว่องเหลือเกินอย่าง ‘โรคซึมเศร้า’ มันมีอยู่จริง หรือเป็นแค่การคิดไปเองของคนที่อยากจะกระทำการหว่องเท่านั้น ฉันก็อยากจะเอาตัวเองเป็นเครื่องยืนยันว่า ระหว่างฉันคนที่ป่วย ฉันคนที่กินยาต้าน

    อาการซึมเศร้า ฉันคนที่หมอบอกว่าไม่ต้องกินยาแล้ว และฉันคนที่กลับไปเป็นโรคซึมเศร้าอีกครั้ง
    ทั้งหมดล้วนเป็นตัวฉันในเวอร์ชั่นที่แตกต่างกันลิบลับ
    แต่ถามว่าคนที่คิดไปเองว่าตัวเอง (เป็นโรค) ซึมเศร้า
    มีไหม ก็ตอบได้เลยว่ามี อาจเริ่มจากเห็นคนอื่นเขาเป็น ก็เลยเริ่มกลับมาสงสัยว่า
              เอ๊ะ! กูก็ซึมๆ เศร้าๆ เหมือนกัน อาจจะเป็นโรคซึมเศร้ากับเขาบ้างก็ได้
    และที่มากพอๆ กับคนที่คิดไปเองว่าป่วย ก็คือคนที่คิดไปเองว่าตัวเองไม่ได้ป่วยนี่แหละ
    อาจเพราะชื่อ ‘โรคซึมเศร้า’ นี่แหละ ที่ทำให้พูดถึงขึ้นมา
    แล้วรู้สึกว่าอาการของมันคือเหงาๆ หว่องๆ เหมือนโลกมีหมอกควันนิดๆ จนคนพากันคิดว่า เอ้า! ถ้าซึมมึงก็ลุกขึ้นมาสนุกสิ เศร้าก็หาเรื่องออกไปทำอะไรข้างนอกสิ ทำตัวให้มันร่าเริงเข้าสิ
              หาอะไรทำสิ อย่าคิดมากสิ...

    ในขณะที่ชื่อของกลุ่มอาการโรคซึมเศร้าในภาษาอังกฤษมักจะมีคำว่า depress และ disorder รวมอยู่ด้วย เลยพอจะช่วยให้เห็นภาพว่ามันเป็นโรคที่เกี่ยวกับความเครียด ความกดดัน และอาการสิ้นยินดีในชีวิตชนิดที่ควบคุมไม่ได้ มากกว่าการนั่งซึมๆ เศร้าๆ อย่างที่หลายคนเข้าใจ

              ต่อจากความสงสัยว่าโรคซึมเศร้ามีอยู่จริงเหรอ คำถามที่เราและคนป่วยซึมเศร้าหลายคนน่าจะเคยได้ยินตามมาก็คือ ถ้าป่วยจริง แล้วไปเศร้าอะไรมานักหนา ถามแบบนี้มา ก็อยากถามกลับว่า แล้วมีเวลาพอจะฟังคำอธิบายของเราไหม...

              จริงๆ แล้วสาเหตุของการป่วยโรคซึมเศร้ามันมีมากมาย
    พอๆ กับเมล็ดทรายบนชายหาดหัวหิน อาจเป็นคนที่เคยมีเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจในวัยเด็ก เคยถูกทำร้ายร่างกาย เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ เคยประสบอุบัติเหตุรุนแรง เคยมีคนรักที่ตายจากไป อาจเพิ่งคลอดลูกคนแรก อาจมีประวัติการใช้เหล้าและยาเสพติดต่อเนื่อง หรืออาจไม่ได้มีความเสี่ยงและไม่เคยมีประวัติความรุนแรงอะไรในชีวิต แต่วันหนึ่งกลไกในสมองมันก็ ลั่นกริ๊ก
              แล้วโลกของคุณก็เปลี่ยนไปตลอดกาล...

    ก็เป็นเสียอย่างนี้ โรคซึมเศร้าเลยเป็นโรคที่เข้าใจยาก เพราะไม่สามารถอธิบายให้ใครเข้าใจที่มาของมันได้ง่าย เหมือนเป็นหวัดเพราะไปเดินตากฝน ร่างกายไม่แข็งแรงเพราะกินแต่อาหารไม่มีประโยชน์ หรือเป็นมะเร็งเพราะใช้ชีวิตสุ่มเสี่ยง

              และไม่ได้หมายความว่าคนป่วยจะต้องมีจิตใจอ่อนแอ หรือผ่านชีวิตที่บัดซบกว่าใครมาเสมอไป
              แล้วทำไมเมื่อก่อนไม่ค่อยเห็นใครเป็นโรคซึมเศร้า หรือเพราะคนสมัยนี้เปราะบาง อยู่ห่างวัด ห่างศาสนา อีพวกเด็กยุคอินเทอร์เน็ต จิตใจอ่อนไหว หรือไม่ก็ชอบทำตัวป่วยตามกระแส
    ได้ยินแล้วก็อยากจะเข้าไปแนะนำตัว, สวัสดีค่ะ ฉันชื่ออินทิรา อายุ 37 ปี
    คุณแม่ฉันก็ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และป่วยมาตั้งแต่สี่สิบกว่าปีก่อน ยุคที่โทรศัพท์มือถือยังเป็นแรร์ไอเท็ม โทรทัศน์มีแค่ไม่กี่สถานี ส่วนอินเทอร์เน็ตก็แทบไม่ต้องพูดถึง

              แต่คุณแม่ก็นำเทรนด์โรคซึมเศร้า ต้องไปพบจิตแพทย์และกินยารักษาตัวมาตั้งแต่ตอนนั้น
    แล้วแบบนี้ จะบอกว่าโรคซึมเศร้าเพิ่งมาเป็นกันในยุคนี้สมัยนี้ได้ยังไง…
              เออ แต่ก็ไม่รู้ว่าผู้คนยุคจิ๋นซีฮ่องเต้เขาจะป่วยเป็นโรค
    ซึมเศร้ากันบ้างไหม แต่ถ้าเทียบเอาจากค่าเฉลี่ยอายุของคนในยุคนั้นที่ตายง่ายกว่า หรือไม่ก็มัวแต่ทำสงครามกันจนแทบไม่มีเวลากินข้าวกินปลา คนป่วยซึมเศร้าทั้งหลายอาจผันตัวไปเป็นพวกทัพหน้ากล้าตายที่ไม่ได้ไยดีอะไรกับชีวิต และถูกมองว่ากล้าหาญในสายตาคนยุคต่อมาอย่างเราก็เป็นได้

              ความไม่รักตัวกลัวตายกับความหมดอาลัยตายอยากในชีวิต มันใกล้กันนิดเดียว
    พูดถึงสงครามแล้วก็นึกได้ว่า ในยุคสมัยที่โลกเรายังมีสงครามอย่างเอิกเกริก นอกจากความสูญเสียทั้งในและนอกสนามรบแล้ว ผลของสงครามไม่ได้จบลงแค่นั้น แต่ยังคงหลงเหลือมากับเหล่าผู้ที่รอดชีวิต เกิดเป็นอาการ  Shell Shocked หรือไข้สงครามที่ทหารผ่านศึกหลายคนนำติดตัวกลับมาจากสนามรบ บางคนต้องใช้เวลาสักระยะกว่าจะปรับตัวและกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ ในขณะที่บางคนต้องหนีห่างจากสังคม กลายเป็นคนมีพฤติกรรมผิดแปลก กลัวสิ่งที่ทำให้หวนนึกถึงการสู้รบ กลายเป็นคนติดเหล้า ติดยา เสียสติ หรือฆ่าตัวตายไปเลยก็มี  บางคนอาจเรียกอาการเหล่านี้ว่าเป็นความป่วยไข้ทางใจ
              แต่จะใช้คำว่าทางใจก็ไม่ถูกนัก เพราะที่จริงแล้วอาการป่วยนั้นเกิดขึ้นกับกลไกการทำงานภายในสมองมากกว่า
              ดังนั้น ไม่ว่าจะระดมคำคม คติธรรม หรือว่าสารพัดบทสวดมนต์มาเยียวยาและเชียร์อัปคนป่วยให้ลุกขึ้นมาเข้มแข็ง มันก็ไม่มีประโยชน์และไม่ได้ผลอะไรนัก รังแต่จะทำให้หงุดหงิด

              เมื่อพบว่ามนุษย์ซึมเศร้ายิ่งปิดกั้นตัวเองจากคนที่ไม่มีวันเข้าใจความผิดปกติที่เกิดขึ้น
    แต่ก็อีกนั่นแหละ, ถ้าคุณไม่เข้าใจและไม่สามารถยื่นมือ
    เข้าไปช่วยอะไรคนป่วยได้ คุณก็ไม่ผิด ขอแค่คุณไม่ไปซ้ำเติม
    ไม่ตัดสิน และมีเมตตาต่อกันในระดับที่คนเราพึงมีต่อกัน
              ฉันว่ามันก็คงไม่ยากเกินไป.

    อินทิรา เจริญปุระ


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in