ในสายธารการต่อสู้เรียกร้องเพื่อประชาชนของไทย ชื่อ “จิตร ภูมิศักดิ์” เป็นชื่อแรก ๆ ที่เราจะประหวัดถึงในฐานะปัญญาชนผู้สั่นสะท้านอนุรักษ์นิยมด้วยงานค้นคว้าอย่าง “โฉมหน้าศักดินาไทย” “ศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน” หรือกาพย์กลอนต่าง ๆ มี “โคลงสรรเสริญกรุงเทพมหานครยุคไทยพัฒนา” เป็นอาทิ รวมถึงยังเอาตัวเองเข้าสู่การต่อสู้ผ่านการเข้าป่าจวบจนถูกสังหารในราวป่าอีสาน
ในฐานะปัญญาชนนักคิด ข้อสันนิษฐานของจิตรอย่าง “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาวและขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” รวมถึงข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับวรรณคดีเรื่องโองการแช่งน้ำ ก่อให้เกิดงานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับลักษณะทางสังคม ภาษา และวรรณคดีไทยมากมาย
ในหน้าประวัติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จิตรคือหนึ่งในตัวแทนของนิสิตที่กล้าทำสิ่งที่แตกต่างอย่าง “มหาวิทยาลัย ฉบับ 23 ตุลาคม 2496” --- ความแตกต่างที่อาจถูกมองได้ว่าเป็น “อันตราย” จนถึงขั้นใช้ความรุนแรงในการประชาทัณฑ์เขาท่ามกลางที่ประชุมของนิสิต และลงเอยที่ผู้ถูกทำร้ายกลายเป็นผู้ถูก “พักการเรียน”
แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ชายชื่อ “จิตร ภูมิศักดิ์” สนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษวิธี แนวคิดสังคมนิยม นิรุกติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ คือเครื่องจรรโลงจิตใจมนุษย์อย่าง “ดนตรี” ที่เขาทั้งคลุกคลี ตีแผ่ความเป็นไป และเสนอทางแก้ปัญหาเอาไว้
แม้จะไม่มีบันทึกว่าจิตรเริ่มเล่นดนตรีไทยตั้งแต่เมื่อไร แต่เท่าที่พบหลักฐาน มีบันทึกว่าเมื่อครั้งจิตรเป็นนิสสิตอักษรศาสตร์[1] เขาเข้าร่วมบรรเลงดนตรีไทยกับกลุ่มนิสิตอยู่เสมอ ๆ (ซึ่งกลุ่มนี้ได้พัฒนามาเป็นชมรมดนตรีไทยในเวลาต่อมา) ทั้งเคยพาเพื่อนนิสสิตผู้เล่นดนตรีไทยไปคารวะหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ถึงบ้าน ครั้นเขาถูกคุมขังด้วยข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคง จะเข้คู่ใจของจิตรในเรือนจำลาดยาวได้กลายเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญในการสรรค์สร้างบทเพลงที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ของประชาชนด้วย วิถีชีวิตที่แทบไม่ห่างจากดนตรีของจิตรนั้นเป็นเครื่องแสดงความสนใจในดนตรีของจิตรได้จนเป็นที่ประจักษ์
มากไปกว่านั้น จิตรยังเคยวิเคราะห์เพลงไทยเดิมต่าง ๆ ในเชิงประวัติ และวิพากษ์วิจารณ์ (วงการ) ดนตรีไทยไว้หลากหลายบทความ ด้วยนามปากกา “มนัส นรากร” อันอาจแปลได้ว่า “สิ่งที่ทำให้รื่นเริงใจด้วยการสรรค์สร้างของมนุษย์” สอดคล้องกับสิ่งที่เขาต้องการวิจารณ์ในฐานะส่วนหนึ่งของศิลปะ โดยจำนวนหนึ่งจากในนั้นคือบทความชุดที่จะขอเรียกต่อไปว่า บทความชุด “หลุมฝังศพของดนตรีไทย” ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือไทยใหม่ในวันที่ 3,4,12,19,21 และ 27 สิงหาคม 2497 ซึ่งเป็นช่วงที่เขาถูกพักการเรียนจากกรณีหนังสือ “มหาวิทยาลัย” อันลือลั่น และเขาก็เข้าทำงานอยู่ในหนังสือพิมพ์หัวนี้ระหว่างการถูกทำทัณฑ์ บทวิจารณ์เหล่านี้สอดคล้องกับทั้งความสนใจและสังคมในขณะนั้นเป็นอย่างดี
หากจะเท้าความไปถึงภาวการณ์ทางดนตรีไทยในยุคนั้น คงต้องนิยามตามที่เราคุ้นหูว่าเป็น “ยุคเสื่อม” เมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามบังคับใช้ “ประกาศรัฐนิยม” ซึ่งมีส่วนหนึ่ง “จำกัด” การเล่นดนตรีไทย เช่น ต้องขออนุญาตต่อกรมโฆษณาการ (ปัจจุบันเรียก กรมประชาสัมพันธ์) ก่อน ต้องนั่งเล่นบนเก้าอี้ เป็นต้น ประกอบกับความบันเทิงรูปแบบใหม่ ๆ ได้รับความนิยมและการส่งเสริมจากรัฐบาล มีภาพยนตร์ การเต้นรำ ดนตรีสากล เป็นอาทิ ความอยู่รอดของดนตรีไทยจึงเสมือนแสงตะเกียงอันริบหรี่ท่ามกลางแสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์ในฐานะส่วนหนึ่งของความเป็นปรปักษ์ต่อสมัยใหม่
ในบทความชุด “หลุมฝังศพของดนตรีไทย” นี้ จิตรพยายามเสนอว่า ทำไม(วงการ)ดนตรีไทยถึง “ยังไม่ไปไหน” สักที ด้วยเหตุผลต่าง ๆ เสมือนความเปรียบที่จิตรใช้เป็นชื่อบทความแรกในชุดนี้ว่าเป็น “หลุมฝังศพ” ที่ผู้คนในวงการค่อย ๆ ขุด กลบ และฝังร่างดนตรีไทยในหลุมนั้นนิจนิรันดร์ ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงของเครื่องดนตรีที่ไม่เอื้อต่อการบรรเลง ทำนองเสียงที่มีจำกัด หน้าที่ของดนตรีไทยเพื่อเป็นเครื่องมือบำรุงบำเรอความสุขและประกอบเกียรติยศของชนชั้นนำ รวมถึงเพื่อรับใช้นาฏศิลป์ หรือการประชันฝีมือผ่านการสร้าง “ทางเพลง” และ “แต่งเพลง” ที่ข่มกัน ทั้งยังเรียกร้องให้คนดนตรีไทยช่วยกันคิดหาทางเพื่อให้ “ดนตรีไทย” อยู่รอดต่อไปข้อวิจารณ์ดังกล่าวนี้ ถือได้ว่า จิตรได้เชื่อมโยงดนตรีไทยเข้ากับศาสตร์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสังคมวิทยา ทฤษฎีดนตรีสากล และหลักการออกแบบ ทั้งสะท้อน “ความเป็นจริง” ของสังคมผู้เล่นดนตรีไทยอีกด้วย
ในเวลาไล่เลี่ยกัน จิตรได้เสนอ “ทางออก” ไว้ในบทความที่ชื่อว่า “ภาวะทางนาฏศิลปและวรรณคดี อันเป็นทางออกของดนตรีไทย” ในไทยใหม่ ฉบับวันที่ 8 ตุลาคม ศกเดียวกัน โดยจิตรได้กล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างการแสดงนาฏศิลป์ วรรณคดี และดนตรีไทย อนึ่ง ผู้เขียนมิสามารถเสาะหาต้นฉบับหนังสือพิมพ์ดังกล่าวได้ เป็นแต่ตั้งสมมติฐานว่า การไขรหัสความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างสามองค์ประกอบนี้ จะทำให้ผู้สนใจดนตรีไทยเจอ “ทางออก” – ที่อาจหมายความถึง “ทางรอด” ของดนตรีไทยด้วย จึงใคร่วอนผู้รู้และสามารถสืบหาบทความนี้ได้ช่วยไขความสงสัยข้อนี้ของผู้เขียนด้วย
กาลเวลาล่วงเลยไป 60 กว่าปี ข้อเสนอของจิตรที่พยายามหาทางรอดให้ดนตรีไทยได้รับการตอบสนองด้วยกลวิธีที่หลากหลาย เช่น การประยุกต์ดนตรีไทยเข้ากับเพลงไทยสากลหลายเพลง การสร้างทางเพลงใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดความไพเราะมากขึ้น หรือกระทั่งการประยุกต์เพลงไทยให้เป็นไปตามสมัยนิยม เช่น การรีมิกซ์ หรือนำเครื่องดนตรีไทยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทำนองหลักในเพลงไทยสากลสมัยใหม่ ในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาธรรมเนียมปฏิบัติต่าง ๆ เช่น การครอบครู การไหว้ครูเพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนเริ่มเล่น ด้วยเป็น
ขนบแห่งการเรียนรู้ “ศาสตร์ชั้นสูง”
ส่วนรูปลักษณ์ของเครื่องดนตรีไทย ก็มีแนวคิดจากนักสร้างสรรค์ที่ตั้งใจจะปรับเปลี่ยนรูปร่างเครื่องดนตรีไปตามยุคสมัยและการใช้งานที่หลากหลาย เช่น โปรเจกต์ Re-Thai ของ Taylor O สตูดิโอ ที่ออกแบบเครื่องดนตรีไทยให้ “โมเดิร์น” ยิ่งขึ้น เช่น การออกแบบขิมให้เป็น “ขิมไฟฟ้า” ที่บางลง ขนย้ายได้สะดวก และเพิ่มความสามารถ เช่น การเชื่อมต่อบลูทูธ หรือการจูนสายอัตโนมัติ หรือการออกแบบ “ระนาด 2021” ให้เป็นระนาดที่มีรูปร่าง “minimal” ใช้วัสดุที่แตกต่างออกไปอย่างอลูมิเนียม หรือการออกแบบ “ระนาดรางแก้ว” ของ “เรือนดุริยางค์” เพื่อลดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าลง เป็นต้น ความพยายามปรับตัวด้านรูปลักษณ์ของดนตรีไทยนี้เอง สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาที่จิตรเคยยกไว้ว่า เครื่องดนตรีไม่เอื้อต่อการเล่นนั้น เป็นอุปสรรคสำคัญต่อทั้งสุขภาพผู้เล่นและการบรรเลงตามสถานที่ต่าง ๆ ในยุคที่หมอนวดและการจัดกระดูกเป็นเสมือนปัจจัยที่ 5 ของผู้คน และการเสพโสตศิลป์คือเครื่องเยียวยาจิตใจในวันหมองหม่น ในขณะเดียวกัน แนวคิดการปรับรูปแบบเครื่องดนตรีไทยก็ยังเอื้อต่อการใช้เทคโนโลยีการทำดนตรีในปัจจุบันอีกด้วย
ทั้งหมดที่ยกมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความคิดในการเปลี่ยนแปลงเพื่อ “รันวงการ” ดนตรีไทยเท่านั้น และวลีที่ว่า “ทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมมีสองด้าน” ก็ดูจะเป็นจริงเสมอ เสียงสะท้อนจากผู้คนในวงการคีตศิลป์ก็ย่อมมีทั้งเสียงชื่นชมและเสียงคัดค้านการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น แต่สายธารกาลเวลาย่อมไหลไปไม่หวนกลับ การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ จึงเป็นวิถีทางหนึ่งของการอนุรักษ์ดนตรืไทย ที่ถือกันว่าเป็น “สมบัติชาติ” เอาไว้ให้คนรุ่นหลังเข้าถึง สนใจ และศึกษาต่อไป ในขณะเดียวกัน การอนุรักษ์ก็มิใช่การแช่แข็งให้สิ่งนั้นต้องเป็นเหมือนเดิมตลอดกาล หากแต่เป็นการปรับตัวต่อกระแสสังคมที่เปลี่ยนไป และยืนยันในคุณค่าสำคัญอันเป็น “หัวใจ” ของดนตรีไทย ที่เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชีวิตของผู้คนในสังคมไทย ไม่ว่าจะชนชั้นใดก็ตาม
บรรณานุกรม
วิชัย นภารัศมี. (2561, 3 ตุลาคม). หลุมฝังศพของดนตรีไทย โดย จิตร ภูมิศักดิ์ [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก
https://www.silpa-mag.com/culture/article_38921.
วิทวัส ปัญญาเลิศวุฒิ. (2564, 5 พฤศจิกายน). โปรดักต์ดีไซเนอร์ไทย จับ ‘ระนาด’ และ ‘ขิม’ มาออกแบบ
ใหม่ ให้ดูเป็นเครื่องดนตรีร่วมสมัยมากขึ้น. เข้าถึงได้จาก https://www.beartai.com/lifestyle/
840874.
สงัด ภูเขาทอง. (2564, 22 มีนาคม). “ฐานันดร” ของดนตรีไทย “ชนชั้น” ในงานศิลป์ อิทธิพลจากมนุษย์
สร้าง [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.silpa-mag.com/culture/article_38921.
สวัสดิ์ จงกล. (2559). เทวาลัยที่เคารพรัก [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.arts.chula.ac.th/
AlumWeb/100years/NarrativesOfTeacher.php
สหายเอื้องตาเหิน. (2564). ดนตรีไทยในทรรศนะ “จิตร ภูมิศักดิ์”, ใน มหาวิทยาลัย ปีที่ 99ฉบับ จิตร ภูมิ
ศักดิ์ (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก https://chu.in.th/e-library/มหาวิทยาลัย-ปีที่-๙๙-ฉบับจิตร-ภูมิ
ศักดิ์.
ไอเดียสุดเก๋ ระนาดแก้ว แบบไม่ตัดไม้ทำลายป่าโชว์ของดีให้โลกได้เห็น [ออนไลน์]. (2564,15 พฤษภาคม).
เข้าถึงได้จาก https://thaihitz.com/ไอเดียสุดเก๋-ระนาดแก้ว-แ/.
[1] สะกดตามอักขรวิธีในยุคนั้น
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in