เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Interviewอ่าน-คิด-เขียน
บทความนี้อุทิศให้เหยื่อข่มขืน
  • กลุ่มคนที่ถูกพูดถึงแต่กลับไร้ซึ่งเสียงในสังคม 

    อาจารย์นักจิตวิทยาจึงเป็นกระบอกเสียงพูดถึงเขา พูดแทนเขา และพูดกับเขา


    ขณะที่เลื่อนเมาส์ลงตามนิวส์ฟีด เราเห็นข่าวข่มขืนวิ่งผ่านตาบ้างเป็นครั้งคราว
    หากคลิกเข้าไปในโพสต์นั้น ก็อาจจะเห็นความเห็นเหล่านี้จนชิน


    xxx : ก็แต่งตัวโป๊เองนี่
    xxx : อายุแค่นี้เอง สงสารจัง สงสารครอบครัวด้วย
    xxx : คนทำมันไม่ใช่มนุษย์ ข่มขืน = ประหารเท่านั้น


    เราอาจจะพิมพ์ตอบโต้ เรียกร้องความเป็นธรรมให้เหยื่อ เร่งให้ตำรวจดำเนินคดีกับคนใจมาร
    แต่คำถามสำคัญที่สุดก็คือ แล้วเหยื่อล่ะ ?
    หลังจากถูกข่มขืนแล้ว เขาเป็นอย่างไรบ้าง เขาได้รับการช่วยเหลือหรือการเยียวยาอย่างไร จะใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างไร...
    กลับไม่ค่อยมีใครถามคำถามเหล่านี้

    คนที่ควรได้รับการเอาใจใส่ดูแลมากที่สุด ในบางครั้งกลับไม่ได้ถูกพูดถึง



    บทความนี้จึงอุทิศให้แก่เหยื่อข่มขืน 

    สร้างที่ยืนให้กลุ่มคนที่มีบาดแผลทางจิตใจ

    และต้องการความเข้าใจจากสังคม








    บุคคลในภาพคือคนที่ร่ำเรียนมาหลายปีเพื่อช่วยเหลือคนเหล่านี้


    อาจารย์ชลาลัย แต้ศิลปสาธิต จบปริญญาตรีสาขาจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนจะเรียนต่อปริญญาโทสาขานิติจิตวิทยา ที่ John Jay College of Criminal Justice ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันอาจารย์เป็นผู้สอนประจำสาขาวิชาจิตวิทยาที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีประสบการณ์ด้านการเยียวยาเหยื่อความรุนแรงที่มีความชอกช้ำทางจิตใจ (trauma)

    หลังจากที่ได้อ่านบทความ "ควรทำอย่างไรเมื่อโดนข่มขืน – คุยกับนักจิตวิทยาเรื่องการเยียวยาจิตใจและการล้างแค้น" ที่โพสต์โดย See Doctor Now แอปพลิเคชันที่ให้บริการทางแพทย์ผ่านวิดีโอคอล เราก็มั่นใจว่าอาจารย์คือนักจิตวิทยาที่ให้ความรู้ในภาพรวมแก่เราได้ ไม่ว่าจะเป็นอาการ การเยียวยา รวมถึงสิ่งที่พึงปฏิบัติสำหรับเหยื่อและสังคม


    คาบต่อไปนี้จะเป็นวิชา
    ' เหยื่อข่มขืน 101 ' 
    บรรยายโดย อาจารย์ชลาลัย แต้ศิลปสาธิต








    เคยได้รับเคสการเยียวยาเหยื่อข่มขืนไหม

    ถ้าเป็นเคสที่เป็นการข่มขืนโดยตรงนี่ยังไม่มีนะ แต่จะมีเคสคือสมัยก่อนอาจารย์จะเคยทำงานเป็นนักจิตวิทยาอยู่มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เขาทำงานเกี่ยวกับเคสเด็กทั้งหมดที่ถูกทารุณกรรม มันจะมีหลายครั้งที่เป็นเคสเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศเหมือนกัน หน้าที่งานของอาจารย์ไม่ได้ทำหน้าที่บำบัดเขาโดยตรง แต่เป็นการประสานงานกับแพทย์มากกว่า เรื่องของการประเมินความเสี่ยง ประเมินอาการหลังเกิดเหตุการณ์ เรื่องของการเยี่ยมบ้าน

    เด็กบางคน ถ้าเกิดว่าถูกกระทำโดยคนในครอบครัว หรือครอบครัวไม่มีความสามารถในการปกป้องเด็กได้ พนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะแยกเด็กออกจากครอบครัว ไปอยู่บ้านพักเด็ก บ้านพักฉุกเฉิน มูลนิธิหรืออะไรก็แล้วแต่ที่มีโอกาสได้รับการดูแลจากนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ ได้อย่างทั่วถึงมากกว่า แต่เด็กหลายคนยังอาศัยอยู่บ้านเหมือนเดิม ถึงเวลาหมอนัดก็ค่อยมาเจอ หน้าที่ของอาจารย์ตอนนั้นก็คือไปเยี่ยมบ้านบ่อย ๆ ไป follow-up เดือนละครั้ง แล้วก็ทำกิจกรรมกับเด็ก


    แล้วที่มูลนิธิมีการจัดการช่วยเหลือเหยื่อกันอย่างไร

    เด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หลาย ๆ ครั้งจะถูกส่งไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา แต่ว่าด้วยความที่อาชีพทั้งสองอาชีพนี้ยังขาดแคลน ก็ใช่ว่าเด็กทุกคนจะได้รับการทำจิตบำบัดกันทั้งหมด ส่วนใหญ่ก็จะได้รับการประเมิน ดูสภาพว่ามีอาการ PTSD (post-traumatic stress disorder) หรืออะไรเกิดขึ้นบ้างแล้วดูกันต่อไป


    ตอนอาจารย์ไปเยี่ยมเหยื่อที่บ้าน พวกเขามีอาการอย่างไร

    ใช้คำว่าส่วนใหญ่เพราะไม่ใช่ทุกคนเนอะ อาการ PTSD ของเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะการข่มขืนมันก็อาจมีลักษณะคล้าย ๆ กัน แต่มีต่างกันเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเช่น ถ้าเป็นเด็กนี่อาจจะกลัวมาก ไม่กล้ากลับไปในที่ที่โดนทำร้าย ไม่อยากเดินผ่าน ผู้ใหญ่ก็อาจเป็นเหมือนเด็กได้ แต่เด็กอาจจะมีรีแอคชันที่เยอะกว่า เช่น ถ้าเดินผ่านก็จะร้องไห้ กรี๊ด ถ้าเจอผู้ชายที่รูปร่างหน้าตาเหมือนคนที่ทำร้ายเขาก็กรี๊ด ร้องไห้ขึ้นมา อาการพวกนี้เกิดขึ้นได้หมดเลยในเคสที่ถูกทารุณกรรมทางเพศ

    
แต่ยังมีประเด็นหนึ่งที่สังคมยังไม่ค่อยเข้าใจ ถ้าเราไปดูเกณฑ์วินิจฉัยโรคของ PTSD เขาจะบอกเลยว่า onset (ระยะเวลาที่อาการจะแสดง) จะเกิดได้ตั้งแต่หลังเกิดเหตุทันที บางคนมีอาการทันที แต่บางคนนี่มีอาการหลังเกิดเหตุ 3 เดือน บางคนก็มากกว่า 3 เดือนอีก ทีนี้ คนไทยหลายคนไม่เข้าใจ มองว่าเหยื่อโดนทำร้ายร่างกาย โดนข่มขืน โดนทารุณกรรมมา ก็ปกตินี่ อยู่ได้ไม่เห็นเป็นไรเลย 

    แต่ไอ้ความปกติมันคือปกติที่ไม่ปกติ เพราะว่าอาการมันยังไม่แสดง คืออาการ PTSD อาจจะไปแสดงหลังเกิดเหตุไปแล้วสัก 3 เดือนก็ได้ พอสังคมไม่เข้าใจ สามเดือนผ่านไปผู้หญิงคนนี้เริ่มมีอาการแปลก ๆ สังคมก็จะยิ่งไป blame เหยื่อว่าทำตัวเอง

    
คนที่มีอาการ PTSD และไม่ได้รักษาอย่างทันท่วงทีหรือได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์ที่ดีอาจจะมีปัญหาพฤติกรรมในระยะยาวได้ เช่น อาการ addiction ซึ่งอาการ addiction ที่พูดถึงนี้ อาจเกิดในลักษณะที่ว่า โดนข่มขืนมา แต่ไม่ได้รับการรักษาอาการทางจิตใจให้ดี แล้วสังคมหรือคนรอบข้างก็ไม่เข้าใจ สังคมรวมถึงคนรอบข้างก็อาจจะไป blame เหยื่อไปเรื่อย ๆ จนคนกลุ่มนี้ไม่มีทางออก เลยหันมาพึ่งตัวช่วยบางอย่าง เช่น แอลกอฮอล์ หรือ สารเสพติด เพื่อให้เขาสามารถอยู่รอดไปวันต่อวัน เพราะถึงแม้สิ่งเหล่านี้จะไม่ดีต่อสุขภาพแต่มันช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดทางจิตใจ ณ ขณะนั้นของเขาได้ ทีนี้พอคนกล่มนี้มีอาการ addiction ก็ทำให้สังคมยิ่งไป blame เขาเพิ่มขึ้นไปอีก ไปว่าเขาอีกว่าเขาทำตัวเอง




    แล้วในฐานะนักจิตวิทยา จะพยายามเยียวยาเหยื่ออย่างไร

    เวลาเยียวยาเหยื่อ จริง ๆ แล้วก็จะทำควบคู่ไปกับงานของจิตแพทย์ คือจิตแพทย์ก็มีหน้าที่ในการประเมินโรค วินิจฉัยโรค แล้วก็จ่ายยาในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ยา เช่น บางคนวิตกกังวลมาก เครียดมาก นอนไม่หลับ ทำให้ใช้ชีวิตประจำวันไม่ได้ หมอบางคนเขาก็อาจจะมียามาช่วยให้นอนหลับและใช้ชีวิตประจำวันได้ ในเรื่องของจิตใจ หมอบางคนอาจจะได้รับการฝึกฝนมาในเรื่องของการทำจิตบำบัด เขาก็อาจจะทำจิตบำบัดไปเลย แต่ว่าถ้าหมอบางคนไม่ได้ฝึกด้านนี้มา นักจิตวิทยาก็สามารถช่วยได้โดยใช้กระบวนการจิตบำบัด พูดคุย เยียวยารักษาจิตใจ ซึ่งมันก็ใช้เวลา แต่บอกไม่ได้ว่าแค่ไหน บางคนอาจจะฟื้นตัวเร็ว บางคนอาจจะใช้เวลานานกว่านั้น


    ความยากลำบากที่สุดเวลาที่จะช่วยเหยื่อคืออะไร

    ความยากลำบากที่สุดที่อาจารย์เจอส่วนใหญ่แล้วคือการทำงานกับครอบครัวและคนในสังคม คือการที่เรารักษาคนไข้คนหนึ่ง ช่วงเวลาที่เขามาโรงบาลหรือนัดเจอจิตแพทย์ นักจิตวิทยาที่คลินิก เขาอาจจะแฮปปี้ อาจจะรู้สึกดีขึ้นมา แต่สุดท้ายเขาก็ต้องกลับไปอยู่บ้านเขาถูกไหม เมื่อเขากลับไปอยู่ในชุมชนเดิมที่ไม่มีใครเข้าใจเขา เอาแต่ด่าว่าเขา ตำหนิเขา มันก็ไม่หายสักที ฉะนั้นความท้าทายและความยากคืออาจารย​์มองว่าเป็นการทำงานกับคนในชุมชน ในปัจจุบันคนก็เลยต้องทำงานเพื่อแก้ตรงจุดนี้ เช่น มีเรื่องของการเยี่ยมบ้าน พอผู้ป่วยกลับไปบ้านก็ไม่ใช่ว่าเราทิ้งเลย แต่มีการจัดทีมออกไปเยี่ยมบ้าน ไปคุยกับครอบครัว บางโรงพยาบาลเขาอาจจะมีโปรแกรมจัดบริการชุมชน แต่มันก็ไม่ได้มีตลอดทั้งปี 

    เพราะฉะนั้นทางที่ดีที่สุดอาจารย์มองว่ามันไม่ต้องรอให้มีการเยี่ยมบ้านหรือการจัดโปรแกรมเกิดขึ้นถึงจะให้ความรู้กับสังคมได้ แต่การให้ความรู้กับสังคมมันควรเกิดตลอดเวลา


    อะไรคือสิ่งที่จะช่วยเขาได้มากที่สุด

    สิ่งที่จะช่วยเขาได้มากที่สุดก็คือชุมชนกับครอบครัวนี่แหละ คนกลุ่มนี้ ต่อให้จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาช่วยได้ แต่ก็ไม่ได้อยู่กับเขาตลอด 24 ชั่วโมง อย่างมากเขาอาจจะมีนัดเดือนละครั้ง มากสุดก็อาทิตย์ละครั้ง แต่เวลาที่เหลือเขาอยู่กับตัวเขาเอง เขาอยู่กับครอบครัว อยู่กับชุมชน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดที่จะช่วยเขาได้คือความเข้าใจของครอบครัวและคนในชุมชน คือเหมือนเขาต้องการกำลังใจในการที่จะอยู่ต่อไป ซึ่งกำลังใจมันก็ต้องมาจากคนรอบข้างมากกว่าที่จะมาจากโรงพยาบาลถูกไหม


    แล้วเราในฐานะคนรอบข้างของเหยื่อ ควรหรือไม่ควรปฏิบัติอะไรต่อเขาบ้าง

    พูดในภาพรวม คนรอบข้างให้ทำตัวปกติ ในที่นี้ก็คือไม่ต้องไปโอ๋เขาเกินไป เพราะการโอ๋เขาอาจจะทำให้เขารู้สึกเป็นจุดเด่น ทั้งที่จริง ๆ เขาอาจจะไม่อยากเป็นจุดเด่นก็ได้ คือเขาไม่ได้อยากมีชีวิตโดยที่ทุกคนรับรู้ว่าเขาโดนอะไรมา ฉะนั้นให้ปฏิบัติกับเขาแบบเดิม แต่ก็คอยดูแลซัพพอร์ตเขาทางด้านจิตใจ ถามความรู้สึก เป็นยังไงบ้าง ชวนเขาไปทำกิจกรรมแบบปกติที่เคยชวน แล้วก็พยายามทำความเข้าใจเขาว่าอาการพวกนี้มันใช้เวลาในการฟื้นตัว ไม่ใช่ว่าจะหายกันง่าย ๆ ในเวลาไม่กี่วัน ไม่กี่เดือน บางคนใช้เวลาหลายปีในการรักษาตัวเองให้หายจาก PTSD อย่าไป blame เขา อย่าดุอย่าว่าเขา 


    “ทำไมตั้งนานแล้วยังไม่หาย”
    “เรื่องมันผ่านไปแล้วจะคิดอะไรอีก”
    “จะร้องไห้ทำไม น้ำตามันเป็นสัญลักษณ์ของคนอ่อนแอ”

    คำพูดพวกนี้เขาไม่ได้อยากได้ยิน






    หากถูกข่มขืนหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ สิ่งที่เหยื่อควรทำเป็นอันดับแรกคืออะไร

    ถ้าถูกข่มขืน สิ่งแรกที่ควรทำก็คือไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ไม่ต้องอาบน้ำ คือถ้าเกิดเราโดนข่มขืนแล้วอาบน้ำ หลักฐานต่าง ๆ ที่อยู่บนร่างกายเรามันก็จะหายไปเลย เพราะฉะนั้นให้รีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดให้เร็วที่สุด แล้วก็แจ้งกับทางโรงพยาบาลเลยว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรา ให้เขาเก็บหลักฐานไปติดต่อตำรวจ และถ้าเราไปถึงโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมงหมอจะจัดยาให้อยู่แล้ว พวกยาคุมฉุกเฉิน ยาต้านเชื้อ HIV

    อีกอย่างหนึ่ง หลายคนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศกล้าที่จะดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่หลายคนก็ไม่ แล้วหลาย ๆ คนที่ไม่ออกมาแสดงตัวส่วนหนึ่งก็เพราะว่าครอบครัวรู้สึกอับอาย ไม่อยากเป็นข่าวก็เลยไม่อยากดำเนินคดี ในกรณีแบบนี้อยากให้ครอบครัวทำความเข้าใจ และสังเกตดูว่าสุดท้ายแล้วคนที่ตกเป็นผู้เสียหายต้องการอะไร

    คือสังคมไทยยังเป็นสังคมแบบ collectivism แบบเข้มข้น เวลาจะทำอะไรจะยึดความต้องการของกลุ่มเป็นหลัก พอมาเป็นเรื่องแบบนี้คนที่ตกเป็นเหยื่อก็จะแคร์ความรู้สึกของคนในครอบครัวมาก หลาย ๆ คนรู้สึกว่าฉันทำให้ครอบครัวอับอาย ฉันมันเป็นตราบาป ครอบครัวจะมีวิธีซัพพอร์ตเขายังไงให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาเจอมันเป็นความโชคร้ายนะ แต่ไม่เป็นไรเรามาเริ่มต้นกันใหม่ แล้วก็เดินไปพร้อมกันได้ อย่าทอดทิ้งเขา หรือห้ามไม่ให้เขาดำเนินคดี 

    จริง ๆ มันควรจะซัพพอร์ตกันให้ดำเนินคดี เพราะว่าการดำเนินคดีเป็นการป้องกันไม่ให้คนร้ายไปทำอย่างนี้กับคนอื่นอีก

    ถ้าเหยื่อตัดสินใจจะดำเนินคดี ครอบครัวก็ต้องให้การซัพพอร์ตทางด้านจิตใจ เพราะการออกมาดำเนินคดีมันเหมือนเอาตัวเข้าไปในสปอตไลท์ คนก็จะจ้องมองเป็นข่าว และแน่นอน กระแสสังคมก็จะมีส่วนที่ซัพพอร์ตและส่วนที่ victim-blaming (โทษเหยื่อ)



    คิดว่าถ้ามี platform ที่เหยื่อสามารถเข้าไปแชร์ประสบการณ์ระหว่างเหยื่อข่มขืนด้วยกัน จะดีกว่าไหม อาจจะช่วยเหยื่อที่อาย ไม่กล้าไปโรงพยาบาล ในการเยียวยาตัวเอง

    อาจารย์มองว่ามันเป็นดาบสองคม ในแง่หนึ่งมันก็อาจจะดีตรงที่ได้มีพื้นที่ในการระบายว่าเขาเจออะไรมา ได้เจอเพื่อนที่ถูกกระทำเหมือนเราทำให้รู้สึกว่าไม่ได้เป็นคนเดียวที่โดนกระทำ แต่อีกมุมหนึ่งการไปพิมพ์ประสบการณ์ในเว็บเป็นการระบายโดยที่ไม่ได้มีผู้เชี่ยวชาญมาคอยดูแล การพิมพ์ระบายจะกลายเป็นว่าเหยื่อมาพิมพ์กันเอง คุยกันเอง เศร้ากันเอง บางทีมันก็อาจจะทำให้อาการเศร้ามันยิ่งมากขึ้นก็ได้ อีกอย่างหนึ่ง สมัยนี้การทำเพจให้คนได้มีพื้นที่ในการพูดถึงประสบการณ์ของตัวเอง ในปัจจุบันยังตรวจสอบกันยาก เราจะรู้ได้อย่างไงว่าคนที่มาพิมพ์เล่าเรื่องราวของเขา จะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง

    มันอาจจะมีประโยชน์ก็ได้ในมุมหนึ่ง แต่มันก็ไม่ได้มีประโยชน์เท่าไหร่ถ้าเทียบกับการไปพบแพทย์ ดังนั้นถ้าเหยื่ออาย ไม่อยากบอกใครก็ไม่เป็นไร เรื่องพวกนี้มันเป็นความสมัครใจของเหยื่อ แต่ทางที่ดีที่สุดคือควรมาหาผู้เชี่ยวชาญ พบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อจิตใจเขามาก โดยที่การเยียวยาด้วยตัวเองเป็นอะไรที่ทำได้ค่อนข้างยาก ไปรับบริการจากผู้เชี่ยวชาญจะดีกว่า


    ถ้ามีคนที่เคยมีประสบการณ์การถูกคุกคามทางเพศอ่านอยู่ อยากจะบอกอะไรกับเขาในฐานะนักจิตวิทยา

    สิ่งที่เกิดขึ้นอาจก่อให้เกิดความรู้สึกผิด เช่น ความรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนผิด ความรู้สึกที่ว่าทำไมฉันไม่ดูแลตัวเองให้ดี ความรู้สึกเศร้า รู้สึกแย่ รู้สึกกลัว หวาดระแวงว่าสิ่งที่โดนกระทำจะกลับมาอีกครั้ง อยากจะบอกว่าความรู้สึกพวกนี้เป็นความรู้สึกที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกคนที่ตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศ ถ้ารู้สึกแบบนี้ก็อย่าเก็บไว้คนเดียว มันมีผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้บริการอยู่อีกเยอะ ให้เอาตัวเองไปรับบริการพวกนี้ เพื่อที่เหยื่อจะได้ใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุขมากขึ้น




    ตอนอาจารย์เรียนอยู่ที่อเมริกามีความแตกต่างด้านการให้พื้นที่หรือการให้ความช่วยเหลือเหยื่อมากไหม

    อาจารย์มองว่าไม่ค่อยแตกต่าง ที่อเมริกาก็มีระบบของเขา ที่ไทยก็มีระบบของเรา มันก็ไม่ได้ด้อยกว่านะ แต่เรายังขาดแคลนบุคลากรอยู่ ประเทศไทยยังขาดแคลนจิตแพทย์ นักจิตวิทยา รวมไปถึงคนที่ทำงานด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการดูแลจิตใจ
สิ่งหนึ่งที่อาจารย์เห็นว่ามันต่างกันเลยอย่างชัดเจนก็คือเขามีเรื่องการให้ความรู้ประชาชนมากกว่า ยกตัวอย่าง ให้ความรู้ไปเลยว่าถ้าคุณถูกข่มขืน สิ่งที่คุณต้องทำคืออะไร เป็นสเต็ปแบบหนึ่งสองสาม แล้วลองย้อนกลับมาดูบ้านเรา เรามีวิชาเพศศึกษา วิชาที่เกี่ยวกับสุขอนามัยหรือเรื่องเพศ แต่ไม่เคยมีการสอนนักเรียนนักศึกษาเลยว่าถ้าถูกข่มขืนมาต้องทำอะไรบ้าง อาจารย์เลยมองว่าอันนี้คือข้อต่าง ประเทศไทยเราไม่ได้ปลูกฝังเรื่องนี้ลงไปในหลักสูตรการเรียนการสอนเลย ก็เลยทำให้เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ไม่เคยมีใครพูดถึง


    ที่ไม่เคยมีใครพูดถึง เพราะเป็นเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรมหรือเปล่า

    มันก็เป็นไปได้ เรื่องเพศนี่มันเหมือนกับว่าเป็น taboo ของสังคม เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากพูดถึง ถ้าเป็นสังคมยุโรป อเมริกัน คนอาจจะพูดถึงมากหน่อย เพราะเขามองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็ไม่ได้ธรรมดาขนาดนั้น มันก็ยังมีความหมิ่นเหม่ แต่เขากล้าที่จะให้ความรู้เรื่องนี้มากกว่าคนไทย

    สิ่งสำคัญที่สุดที่สังคมไทยต้องการก็คือเรื่องของการให้ความรู้แก่คนในสังคม เพราะถ้าเกิดเรามีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เพิ่มขึ้น สมมติว่าวันดีคืนดีเรามีจิตแพทย์และนักจิตวิทยาเพิ่มขึ้น มันไม่ได้เป็นอาชีพขาดแคลนแล้ว แต่ถ้าเกิดสังคมยังไม่เข้าใจ ก็ทำงานไม่ได้อยู่ดี


    แล้วเหยื่อที่นั่นมีความรู้สึกผิดอย่างที่บ้านเราเป็นไหม

    ความรู้สึกผิดก็พูดยาก เพราะเป็นเรื่อง subjective แต่ละคนอาจจะรู้สึกไม่เหมือนกันถึงแม้ว่าจะเป็นคนประเทศเดียวกันก็ตาม แต่ในภาพรวม การที่เหยื่อรู้สึกผิด ถ้าเรามองในเชิงจิตวิทยา ส่วนหนึ่งมันเกิดจากกระบวนการที่เรียกว่า victim-blaming (การโทษเหยื่อ) ซึ่งมีอยู่ทุกที่ ไม่ใช่เพราะประเทศไทย ประเทศที่เจริญแล้วก็มี ที่อเมริกาก็เคยมีข่าวไม่กี่ปีที่ผ่านมาว่าเจ้าหน้าที่รัฐบางคนออกมาพูดว่าคนที่ถูกข่มขืนเกิดจากไม่ระวังตัวเอง นุ่งสั้น การพูดแบบนี้ก็เป็นการโทษเหยื่อเหมือนกัน มันก็เลยเกิดเป็น movement “Don’t tell me how to dress”

    อย่างของประเทศไทยก็จะมาในลักษณะการบอกว่า ผู้หญิงคนหนึ่งถูกข่มขืนเป็นเพราะแต่งตัวโป๊ เป็นเพราะกลับบ้านดึกหรืออยู่ในที่เปลี่ยวคนเดียว ซึ่งเรื่องพวกนี้มันไม่เกี่ยวเลย สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นเหตุที่ทำให้คนคนหนึ่งถูกข่มขืน แต่สังคมเลือกที่จะมองแบบนี้แล้วก็ไปโทษเหยื่อมากกว่าเพื่อความสบายใจของสังคม จะเห็นตัวอย่างได้เรื่อย ๆ ตามพาดหัวข่าว อันหนึ่งที่เห็นได้ชัดเลย และเป็นตัวอย่างที่ช็อคความรู้สึกคนระดับนานาชาติก็คือข่าวเกาะเต่า ที่ผู้หญิงผู้ชายอังกฤษโดนฆ่า แต่นายกรัฐมนตรีไทยออกมาพูดกับนักข่าวในทำนองว่าเป็นเพราะผู้หญิงแต่งตัวโป๊เพราะใส่บิกินี ซึ่งการพูดแบบนี้ของนายกไม่ค่อยต่างจากการแสดงความคิดเห็นของคนไทยอื่น ๆ ในลักษณะของการโทษเหยื่อเท่าไหร่ 


    การที่นายกของประเทศออกมาพูดแบบนี้มันสื่อให้เห็นถึง

    ค่านิยมของชายเป็นใหญ่และการโทษเหยื่อซึ่งยังมีอยู่เยอะมากในบ้านเรา


    ผู้ให้สัมภาษณ์ อาจารย์ชลาลัย แต้ศิลปสาธิต
    ผู้สัมภาษณ์/เรียบเรียง พิชญา วินิจสร
    ภาพประกอบ พิชญา วินิจสร
    ภาพปก Agnes Cecile

    ผลงานสืบเนื่องจากรายวิชา #ศิลปะการเขียนร้อยแก้ว ปีการศึกษา 2561  #ห้องเรียนเขียนเรื่อง 


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in