ช่วงเวลาสำคัญของคนเรา คือตอนไหน นี่คงเป็นคำถามที่มีหลากหลายคำตอบ บางคนอาจบอกว่าช่วงที่สำคัญที่สุดในชีวิต คือตอนที่รู้ว่ากำลังจะมีลูกคนแรก มีบ้านหลังแรก มีรถคันแรก แต่งงาน รับปริญญา ไปเรียนต่อเมืองนอก ใส่ชุดม.ปลาย แฟนคนแรก หรือแม้แต่เดินได้ครั้งแรก
คำถามนี้คงจะมีคำตอบที่ไม่หลากหลายเหมือนคำถามแรก และดูเหมือนว่าจะตอบได้ง่ายกว่า เต็มที่ก็อาจเป็นสองครั้ง ครั้งแรกคือตอนที่เรายังเป็นเด็ก พ่อแม่พยุงเราขึ้นด้วยสองมือ และให้เราเริ่มรู้จักที่จะใช้สองขาของเราให้ถูกวิธี ครั้งที่สองอาจเป็นตอนที่เราเริ่มแก่ตัวลง อายุมากขึ้น ลักษณะท่าทางการเดินหรือการพยุงตัวอาจไม่เหมือนเก่า ทำให้ต้องมาหัดเดินกันใหม่
แต่กับใครบางคน การหัดเดิน อาจเกิดขึ้นได้ครั้งแล้วครั้งเล่า เกิดขึ้นซ้ำ ๆ จนเธอไม่รอช้าที่จะลุก เมื่อรู้ว่าต้องเริ่มหัดเดินใหม่อีกแล้ว การหัดเดินใหม่ของเธอ เป็นการหัดเดินทั้งทางกายภาพที่ต้องใช้สองขาข้ามผ่านสภาวะการเจ็บป่วยของร่างกายและการหัดเดินใหม่ทางจิตใจที่ต้องใช้ความเข้มแข็งข้ามผ่านความกลัวมาแล้วนับไม่ถ้วน
“สวัสดีค่ะ ชื่อ นิดา (นามสมมุติ) ปัจจุบันอายุ 36 ปี อาชีพก่อนป่วยคือพนักงานโรงแรม จริง ๆ ตอนนั้นเราไปสอบบัตรไกด์ ระหว่างรอบัตรเลยไปทำงานโรงแรม หลังจากป่วยก็หยุดทำงานตรงนั้นไปเลย ส่วนอาชีพหลังป่วยตอนนี้ก็จะเป็นพวกขายของออนไลน์และวาดรูปการ์ตูน”
นิดา แนะนำตัวให้เราฟังด้วยน้ำเสียงฉะฉาน รู้สึกแปลกใจเล็กน้อยที่เธอกำลังบอกว่าเธอ “ป่วย” แต่จากน้ำเสียง ท่าทาง และความสดใสบนใบหน้า ไม่มีตรงไหนเลยที่ทำให้เรารู้สึกว่าเธอเป็นอย่างนั้น อาการป่วยที่นิดาได้เล่าให้เราฟังต่อจากนี้ คือ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ SLE (Systemic Lupus Erythematosus) คือ ภาวะที่เม็ดเลือดขาวหรือภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ จริง ๆ แล้วมันควรทำหน้าที่ทำลายเชื้อโรคอย่างที่ควรจะเป็น แต่ในผู้ป่วย SLE เจ้าภูมิคุ้มกันพวกนี้ดูเหมือนจะทำงานเกินค่าแรง เพราะมันกลับไปทำลายเซลล์ร่างกายตัวเอง ทำให้เกิดการอักเสบในอวัยวะต่าง ๆ ที่มันไปทำลาย
“เราเป็นคนแปลกอย่างหนึ่ง ไปอยู่กับใครคนนั้นก็ตายหมด (หัวเราะ) แม่เราไปทำงานต่างประเทศตั้งแต่เด็ก เราเลยอยู่กับพ่อมาตลอด ประมาณ 9 ขวบ พ่อก็เสีย เลยต้องมาอยู่กับตายาย แม่ก็จะกลับมาหาบ้างนาน ๆ ครั้ง”
นิดาเล่าถึงช่วงชีวิตในวัยเด็กที่เธอต้องอยู่กับคุณตาและคุณยายมาตลอดหลังจากที่คุณพ่อเสียไป แม้เธอจะเคยชินกับการไปอยู่กับคุณตาคุณยาย เนื่องจากตอนที่คุณพ่อยังมีชีวิตอยู่นั้นไม่ค่อยมีเวลาดูแล จึงต้องฝากให้คุณตาคุณยายเลี้ยงอยู่บ่อย ๆ แต่ความรู้สึกที่พ่อจากไปแล้ว เธอไม่ชินเอาเสียเลย นี่จึงถือเป็นการหัดเดินครั้งที่สองของเธอที่เกิดขึ้นในวัยเพียง 9 ขวบเท่านั้น แน่นอนว่า เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องปกติที่ควรจะเกิดขึ้นกับเด็กน้อยวัยกำลังช่างพูดช่างเจราจา แต่ในเมื่อเธอไม่สามารถเลือกได้หรือไม่สามารถกลับไปแก้ไขอะไรได้อีก สิ่งที่เธอต้องทำในตอนนั้น คือการเริ่มหัดเดินใหม่
“ตอนพ่อเอาไปฝากไว้กับคุณตาคุณยาย เขาก็สอนให้เราทำงานบ้าน กวาดบ้าน ซักผ้า ทุกอย่างต้องทำเอง มันเลยฝึกให้เราอยู่ได้ด้วยตัวเองมาตั้งแต่เด็ก พอวันหนึ่งที่พ่อไม่ได้อยู่กับเราแล้ว เราก็เหมือนพอรู้ว่าเราต้องทำอย่างไรต่อ มันเสียใจนะ มันงงมาก แต่มันก็ต้องคิดว่าเราจะไปอย่างไรต่อ ไปทางไหนต่อ”
การหัดเดินครั้งที่สอง พ่วงตามมาด้วยการหัดเดินครั้งที่สาม อย่างที่นิดาบอกกับเราไว้ตั้งแต่ต้น ว่าเธอไปอยู่กับใคร คนนั้นก็มักจะต้องมีอันเป็นไปเสมอ เธอจึงขยายความในส่วนนี้ให้เราฟัง
“พอช่วงมัธยมต้น คุณยายก็เสีย เห็นไหม (หัวเราะ) หลังจากนั้นคุณป้า (พี่สาวของพ่อ) ก็เลยให้เราไปอยู่ด้วย เพราะแกไม่มีครอบครัว แกเลี้ยงหลานอยู่แล้ว 2 คน พอเราเข้าไปอยู่ที่บ้านเขา ก็เหมือนกลายเป็นลูกคนกลางของแกไปเลย คุณป้าก็ช่วยซัพพอร์ตค่าใช้จ่าย ค่าเลี้ยงดูเราตั้งแต่ตอนนั้น”
การหัดเดินครั้งที่สามของนิดา ดูเหมือนจะมั่นคง แข็งแรง และราบรื่นกว่าครั้งก่อน ๆ เพราะหลังจากที่เธอต้องย้ายมาอยู่กับป้า เธอก็มีชีวิตที่ดีขึ้นตามลำดับ คุณป้าเลี้ยงดูเธอเป็นอย่างดีทั้งด้านที่อยู่อาศัย ค่าเทอม ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันต่าง ๆ ทุกอย่างล้วนไม่เคยขาดตกบกพร่อง รวมถึงความรักและความอบอุ่นด้วยเช่นกัน แม้จะไม่ใช่แม่แท้ ๆ แต่ป้าของนิดาก็ไม่เคยทำให้นิดารู้สึกว่าขาดอะไรไป นิดายังบอกอีกว่า ป้าเป็นคนสอนให้เธอเข้าใจสัจธรรมของชีวิต พาเธอเข้าวัดทำบุญมาโดยตลอด ส่วนหนึ่งที่ทำให้เธอเข้มแข็งมาได้ถึงทุกวันนี้ ก็เพราะว่าคำสอนที่ป้าคอยบอกและทำให้เห็น
วันที่นิดาทราบข่าวว่าคุณป้าเสีย เป็นวันที่เธออยู่ในวัย 21 ปี นักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ที่กำลังจะเรียนใกล้จบ ชีวิตและอนาคตของเธอดูจะไปได้ดีและสวยงามเหมือนกับเนรมิตได้ตามใจหวัง โดยที่เธอไม่ได้เตรียมใจไว้ก่อนเลยสักนิด ว่าเธอกำลังจะต้องเริ่มหัดเดินใหม่เป็นครั้งที่สี่
“วันที่คุณป้าเสียเป็นวันหลังวันแม่ ตอนวันแม่เรายังโทรคุยกันอยู่เลย เรามาเรียนมหา’ลัยที่กรุงเทพ แต่คุณป้าเขาป่วย นอนอยู่โรงพยาบาล ตอนนั้นเขาทรุดหนักแล้วนะ แต่เขายังไม่บอกเราเลย เขาก็บอกว่า เขาไหว เขาปกติดี วันนั้นเราบอกรักกัน เราก็รู้สึกเขิน ๆ นะ เพราะเราก็ไม่ได้เรียกเขาว่าแม่ มันยังมีเส้นบาง ๆ ขีดอยู่ว่าเขาไม่ใช่แม่จริง ๆ พอวันรุ่งขึ้น เขาโทรมาหาเรา บอกว่าเขาไม่ไหวแล้วนะ เขาคงส่งเราเรียนต่อไม่ไหวแล้ว แต่เขายังมีเงินเก็บก้อนนึงไว้ให้เราอยู่ ให้เราไปบริหารเอง ป้าส่งได้แค่นี้จริง ๆ”
มาถึงตอนนี้เราเข้าใจในสิ่งที่นิดาพยายามบอกกับเราตั้งแต่ต้น หลังจากการสูญเสียคุณพ่อไปในครั้งแรก ตามมาด้วยคุณยาย และคุณป้า ทั้งหมดเกิดขึ้นภายในเวลาสิบกว่าปีเท่านั้น ทุกครั้งที่ชีวิตของเธอกำลังจะผันเปลี่ยนไปตามฤดูกาลของช่วงวัย ความสูญเสียกลับนำพาเมฆครึ้มและสายฝนให้ตกลงกลางใจของเธอทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เธอยังเป็นเด็ก กำลังจะเป็นวัยรุ่น หรือแม้กระทั่งตอนที่เธอกำลังจะเรียนจบ สิ่งที่เรากำลังมองเห็นภายใต้รอยยิ้มที่สดใส และน้ำเสียงที่ดังฟังชัดของเธอนั้น คือความความเข้มแข็งที่พาเธอก้าวผ่านการสูญเสีย ความกลัว และความเศร้ามาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน
นิดาจำเป็นต้องลาออกจากที่เรียนที่เดิมเนื่องจากไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้ เธอเริ่มต้นเรียนที่ใหม่ ชีวิตใหม่ และอยู่บ้านหลังใหม่กับคุณน้า ซึ่งเป็นช่วงที่เธอจะต้องทำงานพิเศษต่าง ๆ มากมายเพื่อส่งเสียตัวเองจนเรียนจบปริญญาตรี เธอยังบอกกับเราอีกว่า เหตุผลที่เธอต้องทำงานหนักขนาดนี้ เป็นเพราะเธอไม่อยากรบกวนน้ามากเกินไป อีกทั้งเธอก็โตพอที่จะดูแลตัวเองได้ในระดับหนึ่งแล้ว เพียงแค่น้าคอยช่วยเหลือเรื่องที่อยู่ ที่พัก แค่นี้เธอก็เกรงใจมากพอแล้ว
ที่มาภาพจาก https://unsplash.com/photos/SPVSeCN7p58
“3 เดือนหลังจากป้าเสียไป ตอนนั้นเราตัวคนเดียวจริง ๆ เลย เอาตรง ๆ เลยนะ เราคิดว่าทำไมเราต้องมาอยู่ตรงนี้ ทำไมต้องมาเจอเรื่องอะไรแบบนี้ด้วย ย้อนกลับไปถึงว่าทำไมพ่อต้องมาทิ้งเราไป ทำไมยายต้องจากไป ทำไมป้าถึงเป็นแบบนี้ มันโทษทุกอย่างไปหมด คนที่มีบุญคุณกับเรา เราตอบแทนเขาไม่ได้สักคน เรารู้สึกว่า ทำไม ทำไม ทำไม ในหัวเต็มไปหมด กลัวว่าจะไม่มีเงินเรียน ไม่มีเงินกินข้าว จะใช้ชีวิตต่ออย่างไร หลังจากนั้น น้าก็โทรมาถามสารทุกข์ สุขดิบ แล้วก็ให้เราไปอยู่ด้วยเพราะเขารู้ว่าเราไม่มีใครแล้ว”
สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราสัมผัสและรู้สึกได้ในตัวของผู้หญิงคนนี้ คือ ถึงแม้ว่าจะมีฝนตกหนักและฟ้าผ่าในชีวิตของเธอมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่เธอก็มีแสงอาทิตย์ที่เธอสร้างขึ้นเอง ปรากฏอยู่บนขอบฟ้าอันมืดครึ้มนั้นได้เสมอ
“ถ้ามองย้อนกลับไป ตอนนั้นมันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรามีภูมิคุ้มกันในเรื่องความรู้สึก ความเจ็บปวด และการสูญเสีย มันเป็นภูมิต้านทานให้เรามากขึ้น เราเจออะไรหนัก ๆ ต่อจากนี้ มันก็ไม่เท่าตอนนั้นแล้ว”
“เจออะไรหนัก ๆ ต่อจากนี้ มันก็ไม่เท่าตอนนั้นแล้ว”
“ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เรากำลังจะเรียนจบแล้ว (หลังจากย้ายที่เรียนใหม่) ตอนแรกเราเรียนเภสัชใช่ไหม แต่พอต้องเปลี่ยนที่เรียน เราเลยเลือกเรียนการโรงแรม งานที่ต้องทำส่งอาจารย์ก็ค่อนข้างเยอะ มีไปออกทัวร์ ทำคลิปวิดีโอนำเสนอทัวร์ ต้องออกแดดกลางแจ้งบ่อย ๆ เจอผู้คนเยอะขึ้น ตอนนั้นรู้สึกว่าตัวเองมีอาการบวมที่ขา แต่คิดว่าเราอาจจะแค่เดินเยอะ แต่พอมาปลายปี 53 เราไปถ่ายรูปนักศึกษาก่อนจบ พอถ่ายเสร็จก็สงสัยว่า เอ๊ะ...ทำไมผมมันบางลงกว่าตอนปี 1 เยอะเลย คิดในแง่ดีว่าเราอาจจะไม่ได้สระผมก่อนมาถ่ายรูป ผมเลยลีบหรือเปล่า ความคิดเข้าข้างตัวเองมาก (หัวเราะ)”
นิดาเล่าต่อว่า หลังจากนั้น เธอได้ตัดสินใจไปถ่ายรูปนักศึกษาอีกครั้ง โดยครั้งนี้ เธอสระผมก่อนไปถ่ายเพื่อให้คลายข้อสงสัยในใจ แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็ออกมาเป็นเหมือนเดิม
“ตอนนั้นก็แอบคิดนะว่าเราเป็นอะไรหรือเปล่า แต่ด้วยความที่ร่างกายยังปกติเลยไม่ได้คิดอะไร พอต้นปี 54 เป็นช่วงรอรับปริญญา เราก็เลยไปสอบบัตรไกด์ทิ้งไว้ ระหว่างรอเราก็เริ่มทำงานโรงแรมไปด้วย เวลาเข้างานมันก็ต้องทำเป็นกะ อย่างเช่น เข้าบ่ายเลิกอีกทีเกือบเที่ยงคืน บางคืนเข้างานตีห้า เราก็ต้องตื่นตั้งแต่ตีสาม กะทำงานเราก็เปลี่ยนไปทุกอาทิตย์ เวลานอนเราก็รวนไปหมดเลย บางคืนเราเลิกงาน 4 ทุ่ม แต่กว่าจะเคลียร์เอกสารเสร็จก็ 5 ทุ่ม กว่าจะถึงบ้าน อาบน้ำนอน ก็ปาไปตี 3 แล้ว อีกอย่างหนึ่งที่รู้สึกว่าเป็นตัวกระตุ้นทำให้โรคกำเริบขึ้นมาคือ ช่วงนั้นเรางกมาก (หัวเราะ) เพื่อนบางคนยังทำธีสิสไม่เสร็จ เราก็รับจ้างทำ ตอนนั้นไฟแรงมาก อยากเก็บเงิน แต่จริง ๆ เราก็เรียนไปด้วยทำงานไปด้วยมาตั้งแต่ป้าเสียไปแล้ว เพราะตอนนั้นเหมือนขาดเสาหลักไปเลย เราเลยต้องดูแลตัวเองให้ได้”
นิดาเล่าให้เราฟังถึงอาการผิดปกติอย่างอื่นที่ตามมา นั่นคือ เธอเริ่มมีอาการขาบวม ตาบวม และหน้าบวม ในบางวันเธอต้องไปทำงานทั้งที่ตาบวมเหมือนคนเพิ่งร้องไห้ รองเท้าคู่เดิมที่เคยใส่ได้ก็กลายเป็นคับ ทั้ง ๆ ที่ก็น้ำหนักของเธอก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก นอกจากนี้เธอยังเริ่มสังเกตว่า ปัสสาวะของเธอนั้นมีฟองเยอะผิดปกติ เธอยังพูดติดตลกไว้ตอนท้ายอีกว่า
“ฟองเยอะขนาดนี้ต้องยืนฉี่แล้วนะ”
เมื่อเธอสังเกตอาการผิดปกติเหล่านี้มาได้เกือบ 1 อาทิตย์ เธอจึงตัดสินใจไปหาหมอที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เนื่องจากเธอสามารถใช้สิทธิ์ประกันสังคมที่โรงพยาบาลแห่งนั้นได้ ในขั้นต้นก็เหมือนกับการซักประวัติคนไข้ทั่วไป เธอได้บอกรายละเอียดเกี่ยวกับอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเธอให้หมอฟัง
และหมอก็ฟันธงทันที ว่าเธอเป็น “SLE”
ที่มาภาพจาก https://unsplash.com/photos/6pcGTJDuf6M
“หมอก็เก่งนะ (หัวเราะ) เขาก็บอกเลยว่าคุณน่าจะเป็น SLE แต่เขาขอตรวจเลือดก่อนเพื่อความมั่นใจ พูดนิ่ง ๆ เลย เราก็งง คือเรารู้จัก SLE มาก่อนหน้านี้นะ เพราะน้าเราเป็นโรคนี้แล้วแกก็เสียชีวิตไป เราก็ได้แต่คิดว่า อ่าว...เป็น SLE แล้วไง ทำไงต่ออะ ก็ช็อกนะตอนนั้น เพราะรู้ว่ามันรักษาไม่หาย แล้วมันก็ทำให้น้าเราเสียด้วย”
โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ SLE เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรม แล้วอาจมีปัจจัยภายนอกบางอย่างเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการของโรค เช่น แสงแดด ความร้อน ยาบางชนิด เชื้อโรค หรือความเครียดต่าง ๆ นิดาบอกกับเราว่า เธอคิดว่าเธอน่าจะได้พันธุกรรมของโรคนี้มาจากน้าของเธอเอง ประกอบกับเธอต้องเจอกับความเครียดและแสงแดดอยู่บ่อย ๆ จากการทำงาน เลยอาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรค
“แต่ถามว่ากลัวไหม จริง ๆ ก็ไม่ได้กลัวอะไรมาก เพราะเราคิดว่าป่วยก็ต้องรักษา ไม่ได้รู้สึกกังวลอะไรเลย จะมีแค่คุณตาที่เรายังเป็นห่วงอยู่ ว่าถ้าเราเกิดเป็นอะไรไปก่อน เราจะไม่ได้กลับไปดูแลคุณตาเลยนะ คุณตาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวของเราเลย”
นิดาได้ทราบผลหลังจากผ่านไปหนึ่งอาทิตย์ ว่าเธอเป็น SLE จริง ๆ อย่างที่คุณหมอคาดการณ์ไว้ และเธอก็ได้รับยากดภูมิคุ้มกันมาทาน ซึ่งเป็นการรักษาตามอาการของโรคนี้โดยปกติ แต่หลังจากนั้นร่างกายของเธอก็อ่อนแอลงเรื่อย ๆ จนเธอไม่สามารถไปทำงานได้
“ตอนแรกคิดแค่ว่า ป่วยก็เอายามากิน กินแล้วก็หาย แล้วก็ไปทำงานได้เหมือนเดิม แต่มันไม่ใช่ หลังจากเรากินยาไปแล้วร่างกายเราแย่ลงมาก ๆ เหมือนเป็นคนป่วยตลอดเวลา ไม่มีแรง ไม่รู้ว่าการกินยามันไปกระตุ้นให้โรคมันแสดงตัวออกมาชัดขึ้นรึป่าวนะ (หัวเราะ) เรากลายเป็นว่าเดินไม่ได้เลย ไม่มีแรง ไปทำงานไม่ได้ พยายามฝืนแล้วแต่ไม่ไหวจริง ๆ”
หลังจากที่เธอทานยากดภูมิคุ้มกันตามที่แพทย์สั่งได้เป็นเวลาเกือบ 3 อาทิตย์ นิดารู้สึกว่าอาการป่วยของเธอนั้นเริ่มทรุดหนักขึ้นทุกวัน ๆ เธอไปหาหมอบ่อยมาก ประมาณ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ บ่อยจนแฟนหนุ่มของเธอหงุดหงิดและไม่อยากพาเธอไปแล้ว โดยครั้งสุดท้ายที่เธอตัดสินใจไปโรงพยาบาล เธอเปลี่ยนไปรักษากับโรงพยาบาลรัฐอีกแห่งหนึ่งใกล้บ้าน เนื่องจากเธอมีอาการปวดบริเวณหลังฝั่งซ้ายมากจนไม่สามารถเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลเดิมได้
“พอครั้งสุดท้าย ร่างกายเราเหนื่อยมาก ไม่ไหวแล้ว ขอให้แฟนพาไปหาหมอ แฟนเราก็โมโหมาก บอกว่าไปแล้วก็ได้แค่ยากับให้น้ำเกลือ แบบนี้ไม่ต้องไปหรอก ถ้าอยากไปหนูไปเองเลย แต่คือเขาก็ไม่รู้ว่าข้างในเราเหนื่อยแค่ไหน”
เมื่อไปถึงที่โรงพยาบาล เธอถูกพาเข้าห้อง ICU และกลายเป็นผู้ป่วยวิกฤตในคืนนั้นทันที
“หมอให้ไปทำ CT SCAN เลยรู้ว่าลิ่มเลือดอุดตันตรงทางเดินเลือดที่จะไปเลี้ยงไต มันเลยทำให้เราปวดหลัง จริง ๆ ตำแหน่งที่เราปวดตรงนั้นคือไต หมอก็มีความกังวลว่าลิ่มเลือดนี้จะหลุดไปที่ปอด หัวใจ สมอง หมอก็ย้ายเราไป ICU คืนนั้นเลย กลายเป็นผู้ป่วยวิกฤต ประมาณเที่ยงคืน หมอก็ออกมาบอกกับญาติที่มารออยู่ข้างหน้า ICU ว่าให้ญาติทำใจนะ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ญาติพี่น้องมาเจอ เหมือนให้มาสั่งลา (หัวเราะ) อันนี้คือแฟนมาเล่าให้เราฟังอีกทีนะ”
ที่มาภาพจาก https://unsplash.com/photos/0lrJo37r6Nk
เราค่อนข้างแปลกใจกับปฏิกิริยาของนิดาเมื่อเธอเล่าถึงเหตุการณ์ในตอนนี้ให้เราฟัง เธอสามารถเล่าเรื่องนี้ได้อย่างสบาย ๆ และเหมือนไม่มีความกังวลอะไรเลยแม้แต่น้อย ทั้ง ๆ ที่หมอเป็นคนบอกกับญาติของเธอเองว่าให้ทำใจ ซึ่งนั่นหมายถึงว่า เธออาจจะไม่มีชีวิตรอดแล้วก็เป็นได้
“ตอนอยู่ใน ICU เราไม่ตกใจเลย รู้สึกตัวทุกอย่างนะ รู้ว่าพยาบาลทำอะไร เสียงคนไข้เตียงข้าง ๆ ทำอะไร เสียงไอ เสียงที่วัดคลื่นหัวใจ เตียงข้าง ๆ เราต้องปั๊มหัวใจ เราก็รู้ ได้ยินหมดทุกอย่าง เราก็ได้แต่มอง แล้วก็คิดว่า เออ...มาถึงมือหมอแล้ว เราคงไม่เป็นอะไรแล้วล่ะ ก็ยังคิดเข้าข้างตัวเองอยู่ว่าเราคงไม่เป็นอะไรมากหรอก ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นมีตัวกระตุ้นหัวใจมาแปะตามตัวเราแล้วนะ เหมือนพร้อมกู้ชีพตลอดเวลา (หัวเราะ)”
เหตุผลที่ทำให้นิดาไม่รู้สึกตกใจกับคำพูดเช่นนั้นของหมอ อาจเป็นเพราะว่าเธอยังรู้สึกตัวดีอยู่ทุกอย่างและยังคิดเข้าข้างตัวเองว่า
“ไม่ได้เป็นอะไร”
แม้ว่าร่างกายของเธออาจจะอ่อนแอและเหนื่อยล้าเต็มทน แต่จิตใจของเธอยังคงสดใสและติดอารมณ์ขันเหมือนอย่างในตอนนี้ที่เรากำลังพูดคุยกับเธออยู่ อย่างไรก็ตาม เธอได้เล่าให้เราฟังว่า เธอเห็นอะไรแปลก ๆ ในตอนที่เธอนอนอยู่ห้อง ICU ด้วย
“ตอนที่นอนอยู่คือมีเหตุการณ์อย่างนึง เกิดขึ้นประมาณวันที่ 5-6 ที่เราอยู่ใน ICU อันนี้เราพูดจริง ๆ เลยว่าเรามีสติ ไม่ได้เบลอ ไม่ได้รู้สึกง่วง รู้แค่ร่างกายเราทรมาน เราเห็นคนอยู่ 3 คน มายืนอยู่ข้างเตียง ๆ ตอนแรกทุกอย่างในห้องเสียงดังมาก เสียงดังแบบจอแจเลย แต่อยู่ดี ๆ มันก็เงียบแล้วก็เบาลง เสียงเดียวที่เราได้ยินตอนนั้นคือเสียงวัดชีพจร แต่เสียงคนอื่น ๆ เงียบหมดเลย สามคนนี้ก็มายืนข้าง ๆ ตัวสีแดง ๆ ตาโต ผมหยิก ๆ ใส่โจงกระเบน คนที่ยืนตรงกลางจะตัวใหญ่กว่า แล้วก็มองมาที่เรา แล้วเขาก็ยิ้มให้ ไม่ได้ทำหน้าดุเลย ไม่พูดอะไร แต่ตอนนั้นเหมือนเราพูดในใจบอกกับเขาว่า เรายังไม่ได้ดูแลตาเราเลย เรายังไม่ได้ดูแลแม่เราเลย จะมารับแล้วเหรอ (หัวเราะ) แล้วสักพักเขาก็หายไป หลังจากนั้นเสียงรอบ ๆ ข้างก็กลับมาดังเหมือนเดิม แล้วเราก็หลับไป แปลกนะ เรานอนห้อง ICU มาเป็นอาทิตย์ แต่พอเจอเหตุการณ์นั้น ตื่นเช้ามา เขาก็ย้ายเราไปกึ่งวิกฤตเลย”
ร่างกายกับหัวใจของเธอไม่ได้ไปด้วยกัน สิ่งที่นิดาเห็นในวันนั้นอาจเป็นเครื่องการันตีได้ค่อนข้างชัดเจนแล้ว ว่าเธอยังมีจิตใจที่พร้อมสู้และพร้อมกลับไปตลอดเวลา แม้ว่าร่างกายของเธอจะพาดอยู่บนเส้นระหว่างความเป็นและความตายมาแล้วก็ตาม
“พอออกมาอยู่ห้องกึ่งวิกฤต เราก็มาเจอคนไข้อื่น ๆ ที่เขาเป็นหนักกว่าเราอีกนะ มีคนที่เขาแย่กว่าเราอีก เขายังอยู่ได้เลย เราก็ต้องไม่เป็นอะไรสิ”
หลังจากนั้นเธอได้ย้ายมารักษาที่โรงพยาบาลรัฐอีกแห่งหนึ่ง เนื่องจากแพทย์ที่โรงพยาบาลแห่งใหม่อยากให้เคสการรักษาของเธอเป็นเคสศึกษาให้กับเหล่านักศึกษาแพทย์ด้วย เพราะอาการของโรคที่เกิดขึ้นกับเธอนั้นไม่เหมือนกับผู้ป่วย SLE ทั่วไป เธอแทบจะไม่มีอาการที่สามารถสังเกตได้จากภายนอกว่าเธอเป็น SLE นอกจากอาการตัวบวม ขาบวม และหน้าบวมเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น แต่ภาวะเช่นนี้ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะการแสดงออกของโรคที่เกิดขึ้นภายในร่างกายของเธอนั้นน่ากลัวยิ่งกว่า
“พอย้ายโรงพยาบาล หมอก็มายืนข้างเตียงแล้วก็บอกเราว่า อาการของคุณน่ะ 50 50 นะ คุณอาจจะตายวันนี้ หรือพรุ่งนี้เลยก็ได้ เราก็งงเลย แบบ เอ๊ะ...อะไรนะ”
แม้นิดาจะได้ทราบการพยากรณ์โรค แต่เธอก็ยังยืนยันกับเราคำเดิม ว่าเธอไม่ได้รู้สึกกลัวหรือกังวลอะไรเลย เนื่องจากเธอยังรู้สึกตัวดีอยู่ทุกอย่าง เราเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า เธอไม่ได้เป็นอะไรอย่างที่เธอบอกจริง ๆ หรือเธอเป็น wonder woman กันแน่ นอกจากนี้ เธอยังเล่าให้เราฟังถึงการรักษาตัวในตลอดระยะเวลาเกือบครึ่งปีที่เธอนอนอยู่ในโรงพยาบาล เธอมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาตัวในโซนผู้ป่วยวิกฤต เนื่องจากหมอต้องการให้มีพยาบาลคอยดูแลและเฝ้าสังเกตอาการของเธออย่างใกล้ชิด เธอจะต้องทานยา และฉีดยาบริเวณหน้าท้องทุกวัน นอกจากนี้ยังมีการเจาะชิ้นเนื้อปอดเพื่อตรวจดูความผิดปกติอื่น ๆ อีกด้วย และที่สำคัญ เธอได้ทราบจากหมอว่า ตอนที่เธอมีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน นั่นทำให้ไตข้างหนึ่งของเธอไม่สามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติอีกแล้ว
ที่มาภาพจาก https://unsplash.com/photos/1TL8AoEDj_c
“เท่ากับว่าเหมือนเรามีไตแค่ข้างเดียว ทำงานได้แค่ 10% แต่หมอก็บอกว่าคนเราอยู่ได้ด้วยไตข้างเดียวนะ ก็ต้องดูแลรักษา ทานยาควบคู่ไปด้วย หมอก็บอกว่ายาต่าง ๆ ที่กินนี่มันจะมีปฏิกิริยาทำให้เราอารมณ์ไม่ค่อยคงที่ หัวเราะง่าย หงุดหงิดง่าย ไม่ต้องตกใจ มันเป็นผลค้างเคียงของยาเฉย ๆ ความจำก็อาจจะสั้นลงด้วย เนี่ย...ขนาดตอนนี้เรายังลืมเลยว่าจะพูดอะไรต่อ (หัวเราะ)”
ไม่ว่าจะเป็นการรักษา การทานยา หรือสภาวะความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในร่างกายของเธอตลอดระยะเวลากว่า 6 เดือน สิ่งเหล่านั้นไม่ได้ทำให้นิดารู้สึกกลัวหรือกังวลว่าตัวเองจะเป็นอะไรไปเลยแม้แต่น้อย สิ่งเดียวที่ทำให้เธอกลัวตอนที่อยู่โรงพยาบาลคือ ความมืดและความเงียบต่างหาก
“ตอนกลางคืนมันเงียบมาก ถึงแม้โซนผู้ป่วยวิกฤตจะคนเยอะก็จริง แต่มันไม่มีเสียงอะไรเลย ได้ยินแค่เสียงเครื่องช่วยหายใจ เสียงไอ พยายามทำให้ตัวเองหลับ สวดมนต์ หลับตา ญาติก็มาเฝ้าไม่ได้ เขาจะให้ญาติเยี่ยมแค่ 2 ชั่วโมง บางทีแฟนทำงานเสร็จ กว่าจะมาหาเราก็ทุ่มครึ่งแล้ว มีเวลาอยู่กับเขาแค่นิดเดียวเอง ตอนนั้นมันเป็นอะไรที่ไม่อยากลืมตาตอนดึก ได้ยินเสียงอะไรตอนดึกก็หลอนตลอด เราเห็นคนตายทุกวัน วันละคนสองคน มันก็ใจหายนะ เคยมีพระมาคุยกับเราด้วย ไม่แน่ใจว่าใครเป็นคนนิมนต์ท่านมา แต่เหมือนเขาจะนิมนต์พระมาให้คุยกับคนไข้ที่ค่อนข้างวิกฤต พระก็มานั่งคุยกับเรา (หัวเราะ) พระก็บอกให้ปลง เตียงรอบข้างก็มองเรานะว่าเป็นอะไร ไม่ไหวแล้วเหรอ (หัวเราะ)”
เมื่ออาการป่วยของเธอเริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ หมอจึงอนุญาตให้เธอสามารถกลับไปพักรักษาตัวที่บ้านได้ แต่เธอก็จะต้องดูแลร่างกายอย่างระมัดระวัง และจะต้องมาตรวจเพื่อติดตามการรักษาอยู่เสมอ
ที่มาภาพจาก https://unsplash.com/photos/pY58mAGvGJo
“หลังออกจากโรงพยาบาลประมาณ 1 เดือน ก็ต้องไปให้คีโม เป็นการทำเคมีบำบัดทั้งหมด 6 เดือน หมอบอกว่าอาการเราค่อนข้างหนัก แต่หนักของหมอมันหนักแค่ไหน เราก็ไม่เข้าใจนะ (หัวเราะ) เพราะเรารู้สึกว่าก็ไม่เห็นหนักเลย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราไม่เห็นอาการเจ็บป่วยอะไรชัด ๆ ด้วย แต่หมอบอกว่ามันอยู่ข้างใน ตอนที่อยู่โรงพยาบาลยังให้คีโมไม่ได้เพราะว่าร่างกายยังอ่อนแออยู่ อาจจะติดเชื้อได้ง่าย แต่ตอนนี้ร่างกายเราเริ่มแข็งแรงแล้ว พร้อมจะให้คีโมแล้ว ก็เลยสามารถทำได้”
เมื่อต้องให้คีโม ร่างกายของนิดาก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกระบวนการรักษา นั่นคือ เธอบอกว่าเธอมีอาการผมร่วงและมีหนอกขึ้นบริเวณช่วงลำคอ นั่นทำให้เธอตัดสินใจไปตัดผมสั้น ถึงแม้ว่าในตอนนี้เส้นผมสีดำมันวาวของเธอจะกลับมาขึ้นดกดำเป็นปกติแล้ว แต่เธอก็บอกกับเราว่า ในตอนนั้น ผมของเธอมีขนาดที่มัดได้เท่านิ้วก้อยเท่านั้นเอง
คนอีกคนหนึ่งที่มีบทบาทในชีวิตของนิดาไม่น้อยและปรากฏอยู่ในบทสนทนาที่เธอพูดคุยกับเรามาตลอด นั่นคือคนรักของเธอ ด้วยความที่เธอไม่ได้มีญาติสนิทคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ตลอดระยะเวลาที่เธอพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล แฟนของเธอจึงเป็นคนที่คอยดูแลและมาเยี่ยมเธอในทุก ๆ วัน
“ตอนที่เราเริ่มให้คีโม ช่วงนั้นแฟนเราก็ไปสอบตำรวจ ปรากฏว่าเขาสอบได้ เขาก็พาเราไปจดทะเบียนสมรส พอจดแล้ว เราก็ได้สิทธิ์การรักษาพยาบาลของราชการ ค่ายา ค่าเคมีบำบัด มันก็เบิกได้ครอบคลุมหมด”
เธอเล่าว่า เธอกับแฟนผ่านอะไรด้วยกันมาค่อนข้างมาก แฟนของเธอเป็นคนเดียวที่ใกล้ชิดเธอและดูแลเธออยู่ตลอดเวลา ในช่วงแรกที่เธอต้องรักษาตัว เป็นเวลาเดียวกันกับที่แฟนของเธอลาออกจากที่ทำงานเก่าพอดี จึงทำให้สภาวะการเงินค่อนข้างติดขัด
“ช่วงนั้นที่เขาลาออกจากงาน เราก็ยังนอนป่วยอยู่เลย เขาก็หางานใหม่ไปเรื่อย ๆ ตอนนั้นก็ยังลุ่ม ๆ ดอน ๆ คิดในใจว่าไม่คุ้มเลย เงินที่เก็บมาทั้งหมดต้องมาเสียให้ค่ารักษาพยาบาลหมดเลย”
ในตอนนี้เธอเข้มแข็งและยิ้มได้เยอะกว่าเก่า รวมถึงร่างกายของเธอก็กลับมาสมบูรณ์แข็งแรงเหมือนกับคนปกติทั่วไปแล้วเช่นกัน น้ำหนักตัวและรูปร่างของเธอกลับมาเป็นเหมือนก่อนที่เธอจะเข้าโรงพยาบาล และเธอยังบอกอีกว่า หลังจากที่เธอกลับมาพักรักษาตัวที่บ้าน เธอก็ได้ลดปริมาณยาที่ต้องทานลงเรื่อย ๆ จนเธอไม่ต้องทานยากดภูมิคุ้มกันและยาเสตียรอยด์ต่าง ๆ มาเป็นระยะเวลากว่า 8 ปีแล้ว
ดูเหมือนว่า โรคภัยไข้เจ็บที่ทำให้เธอเฉียดตายมาแล้วหลายครั้ง ไม่สามารถทำให้ผู้หญิงคนนี้เกิดความกลัวหรือกังวลใด ๆ ขึ้นมาได้เลย เธอย้ำกับเราอยู่เสมอว่าในเมื่อป่วย ก็ต้องรักษา รักษาให้หายดีก็เท่านั้นเอง สิ่งที่ทำให้เธอกลัวและไม่ชอบที่สุดจากในป่วยในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นเรื่องความมืดและความเงียบแล้ว ก็คงเป็นเรื่องการกินและการที่เธอต้องให้คนอื่นคอยดูแลอยู่ตลอดเวลา
ที่มาภาพจาก https://unsplash.com/photos/IMMHJRp4dcM
“โรคนี้มันทำให้กินอะไรลำบากมาก เราชอบกินส้มตำ พอเราเห็นคนอื่นกิน เราก็อยากกิน ทรมานมากจริง ๆ อันนี้ (หัวเราะ) อีกอย่างหนึ่งคือ ตอนเราออกจากโรงพยาบาลแล้ว แฟนเราก็ให้เราไปอยู่บ้านญาติเขา เพราะน้าคนที่เคยดูแลเรา เขาย้ายไปต่างจังหวัดแล้ว พอเราไปอยู่บ้านเขา เขาก็ต้องคอยดูแลเรา พาเราไปหาหมอ ตื่นตี 4 ตี 5 มาทำกับข้าวให้เรากิน เพราะเรายังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ นี่แหละเป็นความกลัว ความกังวลอย่างหนึ่งของเราที่ต้องให้คนอื่นมาดูแล เพราะเขาไม่ใช่ญาติเราด้วย เราก็เกรงใจเขา เขาก็มีงานประจำอยู่แล้ว ยังต้องมาเหนื่อยกับการดูแลเราอีก
แต่สิ่งหนึ่งที่เธอไม่เคยรู้สึกกลัวหรือเป็นกังวลเลย นั่นคือ เรื่องคนรัก เธอเล่าว่ามีหลายต่อหลายคนถามเธอว่า เธอไม่กลัวแฟนทิ้งเหรอ เธอไม่กลัวแฟนไปมีผู้หญิงคนอื่นเหรอ เธอกลับตอบได้อย่างมั่นใจว่าเธอไม่เคยมีความคิดแบบนั้นเลย
“เขาก็ทนเนอะ (หัวเราะ) เขาก็ไม่ไปจากเรานะ ทั้ง ๆ ที่เราก็ไม่มีอะไรให้เขาเลย ป่วยด้วย ช่วยทำงานไม่ได้ แต่เขาก็ไม่เคยไปไหนเลย ไม่มีวันไหนที่เขาไม่มาหาเราที่โรงพยาบาล ไม่รู้สิ เขาก็บอกกับเราว่า เขาทิ้งเราไม่ได้หรอก เขาบอกแค่นั้น ตัดเรื่องความกลัวที่จะโดนทิ้งไปเลย มั่นใจในตัวเองไหม (หัวเราะ) เหมือนเราก็รู้จักกันดีพอแหละ ว่าต่างคนต่างเป็นอย่างไร”
“เราก็บอกกับตัวเองว่า เออ เดี๋ยวเราก็หาย รักษาไปให้ดีที่สุด รู้สึกแค่ว่าไม่อยากให้ร่างกายทรมานไปมากกว่านี้แล้ว เราเห็นหน้าแฟนแล้วเราสงสารอะ ตอนเช้าก่อนเขาไปทำงาน เขาก็ต้องแวะมาหา ตอนเย็นเลิกงานเสร็จก็ต้องรีบมาหา วันฝนตกก็ยังตากฝนเข้ามาหาเรา ไม่มีวันไหนที่เขาไม่มา เขาเจออะไรที่เราชอบกิน เขาก็ซื้อมาให้ แอบเอามาให้เรากิน กลัวพยาบาลเห็น (หัวเราะ) เรารู้สึกว่า เราไม่อยากอยู่โรงพยาบาลนาน ๆ แล้ว เพราะเห็นเขาเหนื่อยที่จะต้องมาดูแลเราแบบนี้”
เมื่อออกจากโรงพยาบาล นอกจากกำลังใจจากคนรัก การควบคุมเรื่องอาหารอย่างเคร่งครัด โดยจะต้องเป็นอาหารที่ทำทานเองทุกมื้อ ต้องเลือกวัตถุดิบที่ปลอดภัยและลดปริมาณเครื่องปรุง การทานยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง การออกกำลังกาย การหลีกเลี่ยงพื้นที่ชุมชน แออัด และหลีกเลี่ยงแสงแดดแล้ว นิดาก็ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่คอยยึดเหนี่ยวจิตใจของเธอ ให้เธอมีกำลังใจในการดูแลตัวเองจนหายดี นั่นก็คือ คุณตาและคุณป้าของเธอเอง
“กำลังใจสำคัญอีกอย่างคือ ตา ตาเป็นคนที่ให้คำสอน ให้สติทุกอย่างในการดำรงชีวิต เขาสุขุม ใจเย็น ป้าเราก็เหมือนกัน เขาก็สอนเรามาตลอด สอนด้วยการกระทำ ทำให้เราเห็นเป็นตัวอย่าง นี่ก็เป็นกำลังใจสำคัญ เวลาเราท้อหรือเสียใจมาก ๆ เราก็จะนึกถึงเขาตลอด”
หญิงสาววัย 36 ผู้ที่ผ่านเรื่องราวทั้งดีและร้ายมามากมาย ผ่านการล้มและลุก การหัดเดินมาครั้งแล้วครั้งเล่า ดูเหมือนว่าเธอจะสามารถข้ามผ่านเรื่องราวต่าง ๆ มาได้อย่างเข้มแข็งและมองปัญหาต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านไป มองความทุกข์แสนสาหัสในใจเป็นเรื่องเล็กได้อยู่เสมอ แต่จริง ๆ แล้วในส่วนลึก เธอก็ยังมีความกังวลและมีสิ่งที่ติดอยู่ในใจของเธอมาตลอด เนื่องจากเธอมีความหวังและความฝัน ว่าเธออยากจะมีลูกน้อยเป็นของตัวเอง แต่เนื่องจากสภาวะโรคที่เธอเป็นอยู่ อาจส่งผลอันตรายทั้งต่อตัวเด็กและตัวเธอเองได้
ที่มาภาพจาก https://unsplash.com/photos/DY2miYwMchk
“ถ้าติดในใจก็คงเป็นเรื่องลูกนี่แหละที่ตอนนี้มันไม่สามารถมีน้องได้ ก็อย่างว่าเนอะ ถ้าเราจะเสี่ยงมีมันก็เสี่ยงได้แหละ แต่เราไม่รู้เลยว่ามันจะออกมาดีหรือไม่ดี มันไม่สนุกเลยกับการต้องกลับไปนอนโรงพยาบาลอีก หรือการต้องพาลูกไปโรงพยาบาลด้วย”
เธออธิบายให้เราฟังว่า เผื่อว่าวันหนึ่งเธอกับแฟนอาจไม่ได้อยู่ด้วยกันเหมือนอย่างที่ผ่านมา เธอจึงอยากมีลูก เพื่อให้ลูกเป็นตัวแทนของแฟนเธอ เป็นตัวแทนของความรัก ความอบอุ่น และความผูกพันที่เธอกับแฟนมีให้กันมาตลอด 13 ปีที่ผ่านมา
“มันก็กลัวแหละ กลัวว่าเราจะเหงาไหม เราจะอยู่อย่างไร เราจะยืนไหวไหมถ้าเราไม่ได้อยู่กับคนที่เรารัก เพราะเราเคยผ่านจุดที่ต้องเสียคนที่เรารักไปมาก ๆ อย่างป้าเรา ถือว่าเป็นคนที่เรารักที่สุด ณ ตอนนั้น เรามีความรู้สึกที่พีคที่สุดในแล้วตอนนั้น ถ้ามันมาเกิดกับเราอีก มาเกิดกับแฟนเราอีก เราจะทำอย่างไร คนในครอบครัวเราหรือคนในครอบครัวเขา เขาก็ต่างมีครอบครัวของเขาเองไปแล้ว เขาไม่สามารถมาซัพพอร์ตความรู้สึกเราได้ 24 ชั่วโมงเหมือนลูกหรือสามีเรา เราไม่อยากไปเป็นภาระความรู้สึกคนอื่นว่าต้องมาแคร์เราตลอดเวลา เนี่ยแหละ ความกลัวมันกลัวอยู่ตรงนี้ ถึงขั้นคิดว่า ถ้าวันนี้เขาเกิดอุบัติเหตุหรือเขาไม่ได้อยู่กับเรา เรานึกภาพไม่ออกจริง ๆ ว่ามันจะเป็นยังไง เราอยู่ได้นะ แต่เราจะอยู่อย่างไรล่ะ เราเดินต่อได้ แต่เราต้องเดินอย่างไรล่ะ เราต้องมาหัดเดินใหม่อีกแล้วเหรอ”
เธอยังบอกอีกว่า ในเมื่อเธอไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขทำให้ครอบครัวของเธอในวัยเด็กสมบูรณ์เหมือนอย่างคนอื่นได้ ในตอนนี้ที่เธอมีโอกาส เธอจึงอยากจะสร้างครอบครัวของเธอให้สมบูรณ์เท่านั้นเอง
แม้ว่าในวันนี้ เธออาจจะยังรู้สึกว่าเธอขาดอะไรไป แต่เราเชื่อว่า การหัดเดินทั้งห้าครั้งที่ผ่านมาของเธอ ทั้งการหัดเดินทางกายภาพและการหัดเดินทางจิตใจ ข้ามผ่านความสูญเสีย ความกลัว และความตายมาได้หลายต่อหลายครั้ง มันได้ช่วยหล่อหลอมให้เธอเข้มแข็ง เข้าใจความหมายของชีวิต เห็นคุณค่าในสิ่งที่อยู่รอบตัว และมีความสุขในแบบที่เธอเป็นได้อย่างที่ผ่านมา
“การเฉียดตายในครั้งนี้ ทำให้เราเข้าใจชีวิตตัวเองมากขึ้น รู้จักการวางแผนชีวิต รู้จักการยอมรับ รู้จักการทำใจ รู้ว่าใครที่เราควรเก็บไว้และตัดทิ้งไปจากชีวิต และที่สำคัญนะ มันทำให้เรารู้ว่าทุกนาที จริง ๆ ก็ทุกวินาทีเลยมั้ง มันมีค่ามากนะ เราคิดทุกวันเลยว่าวันนี้เราจะทำอะไรให้คนที่เรารักมีความสุข เราช่วยเขาทำงานหาเงินไม่ได้ แต่เราก็ตอบแทนเขาด้วยการทำให้คนรอบข้างเราสบายใจ ทำกับข้าวให้ ซักเสื้อผ้าหอม ๆ ให้ เวลาเขาไปไหนจะได้มีกลิ่นหอม ๆ ติดตัวเขาไป ทำอะไรก็ได้ให้ตัวเรารู้สึกมีคุณค่า ทำทุกอย่างให้คนที่เรารักมีความสุข ที่สำคัญเลยคือ ก่อนที่จะให้กำลังใจคนอื่น เราต้องให้กำลังใจตัวเองก่อนนะ”
นิดาพูดทิ้งท้ายพร้อมมอบรอยยิ้มให้กับเราอีกครั้ง อย่างที่เราเห็นมาตลอดระหว่างการสนทนา
ขอให้เธอมีความสุขกับทุกการก้าวเดินต่อจากนี้ ไม่ว่าเธอจะต้องหัดเดินใหม่อีกกี่ครั้งหรือไม่ก็ตาม เราเชื่อว่า เธอจะผ่านมันไปได้อย่างดงามและมีความสุข อย่างที่เธอเคยทำได้ตลอดมา
ผู้ให้สัมภาษณ์ : นิดา (นามสมมุติ)
ผู้สัมภาษณ์และเรียบเรียง : ณัฐชา เกิดพงษ์
กองบรรณาธิการ: ธมลวรรณ จิ้มลิ้มเลิศ, จณิศา ชาญวุฒิ
บรรณาธิการต้นฉบับ: หัตถกาญจน์ อารีศิลป
ภาพประกอบเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์: ธมลวรรณ จิ้มลิ้มเลิศ
เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ทำซ้ำหรือดัดแปลง
© สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558
อ้างอิงข้อมูลเรื่องโรค SLE จาก :
https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=38
https://si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=1434
อ่าน-คิด-เขียน เป็นพื้นที่เผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์ของเหล่า content creator ฝึกหัดก่อเรื่องสร้างภาพ มาร่วมชมและแชร์คอนเทนต์หลากรส หลายอารมณ์ไปกับเราได้เลยค่ะ เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้ทาง line official เพื่อมิให้พลาดคอนเทนต์ที่น่าสนใจจากเหล่านักเรียนเขียนเรื่อง โดยคลิกลิงก์เพื่อเพิ่มเพื่อน https://lin.ee/CMxj3jb หรือเพิ่มเพื่อนทางไลน์ ID โดยค้นหา @readthinkwrite2559 ได้เลยค่ะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in