สวัสดีค่ะ วันนี้ไม่ค่อยเกี่ยวกับภาษาญี่ปุ่นสักเท่าไหร่
แต่วันนี้จะมาเล่าเรื่อง SLA model ที่เรียนจากวิชานี้ให้ฟัง
คิดว่าหลาย ๆ คนที่เข้ามาอ่านบล็อคนี้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ๆ ที่เรียนวิชาเดียวกัน หรือ คนที่เรียนภาษาญี่ปุ่นเหมือนกัน คงมีหลายคนที่รับสอนพิเศษภาษาญี่ปุ่น ที่ผ่านมาไก่ได้มีโอกาสสอนภาษาไทยด้วยภาษาญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก แล้วพอดี้พอดีที่เรียนเรื่องการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ เลยถือโอกาสทดลองใช้จริงไปเลย
ก่อนอื่น SLA model ย่อมาจาก Second-language acquisition หรือการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ การเรียนรู้ภาษาของมนุษย์ถูกแบ่งเป็นการเรียนรู้ภาษาแม่หรือภาษาที่หนึ่ง และการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศหรือภาษาที่สอง โดยทั้งสองแบบนี้มีข้อจำกัดที่ต่างกันรวมถึงวิธีการสอนที่ต่างกันด้วย การสอนที่ได้ผลดีเราต้องเข้าใจก่อนว่าผู้เรียนเรียนรู้ภาษาอย่างไร
รูปแบบการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศที่ได้เรียนในห้อง อิงจาก noticing hypothesis ของคุณ Schmidt ซึ่งพูดถึงกระบวนการการเรียนรู้ตั้งแต่เรารับ input หรือข้อมูลที่เรารับเข้ามา ไปจนถึง output หรือข้อมูลที่เราแสดงออกไป ระหว่างทางผู้เรียนจะเกิด noticing, (comprehension,) comparing, และ integration ตามภาพด้านล่าง โดยระหว่างทางอาจเกิดบางข้อซ้ำ หรือมีการวนไปวนมาได้
รูปภาพจาก acedemypublication.com
ไก่จะขออธิบายไปพร้อม ๆ กับยกตัวอย่างตอนที่สอนนะคะ หัวข้อที่สอนก็คือ ลักษณะหน้าตาและทรงผม เริ่มจากการแนะนำคำศัพท์ต่าง ๆ โดยใช้ mnemonic (การลิงค์เสียงเพื่อช่วนให้จำง่ายขึ้น) เช่น kao ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า หน้า ภาษาไทย แปลว่า สีขาว เป็นต้น ในส่วนนี้เป็นการให้ input กับผู้เรียน ให้ผู้เรียนเชื่อมโยงเสียงและความหมายของคำศัพท์
จากนั้นก็เริ่มให้ประโยคตัวอย่างการอธิบายหน้าตา ตาสีอะไร มีผมยาวผมสั้นต่างๆ โดยให้ผู้เรียนสังเกต (noticing) การเรียงประโยคภาษาไทย ซึ่งมีลักษณะการวางประธานแล้วตามด้วยส่วนขยาย ต่างจากภาษาญี่ปุ่นที่วางหัวเรื่องหลักไว้ด้านหน้า กริยาหลักไว้สุดท้าย ในระยะนี้ผู้เรียนมักสร้างกฎจากการเข้าใจของตนเองขึ้นมา
แล้วให้ผู้เรียนลองแต่งประโยค ของตัวเองทุกครั้งที่เรียนศัพท์คำใหม่ เพื่อให้เกิดความคุ้นชินกับรูปแบบภาษาและคำศัพท์ และถือเป็นการทดสอบกฎที่ผู้เรียนสร้างขึ้นว่าถูกต้องหรือไม่ หากว่าไม่ถูกต้องเราจะให้ recast เป็นการพูดประโยคใหม่ที่ถูกต้อง หากเป็นคำถามก็ทวนคำถามที่แก้ไขแล้วและตอบคำตอบด้วย ในส่วนนี้ผู้เรียนจะเกิดการเปรียบเทียบระหว่างภาษาที่ตนเองต้องการจะพูดกับภาษาของเจ้าของภาษาหรือ comparing เพื่อที่จะเปลี่ยนจาก input (ข้อมูล) เป็น intake (ข้อมูลที่เป็นของผู้เรียน)
เมื่อผู้เรียนเปรียบเทียบแล้วเห็นข้อผิดพลาดของตนเองก็จะแก้ไขกฎที่ตนเองสร้างขึ้น ขั้นนี้คือ integrating และเมื่อฝึกฝนบ่อย ๆ ความรู้นี้ก็จะติดตัวผู้เรียนไปเป็นความจำระยะยาว
ดังนั้นเราจึงมีเกมให้ผู้เรียนได้เล่น เพื่อฝึกใช้สิ่งที่เรียนมา เกมที่เราใช้คือเกม who's who? ไม่แน่ใจว่าเคยเห็นรึเปล่า หน้าตาจะประมาณนี้ค่ะ
https://www.profedeele.es/profesores/fichas-quien-es-quien/
อันนี้เป็นภาษาสเปนนะคะ เราหารูปตัวการ์ตูนแบบนี้แล้วใส่ชื่อภาษาไทยลงไป
วิธีเล่น
1 ให้แต่ละฝ่ายเลือกตัวละครของตัวเองไว้ 1 ตัว แล้วเขียนชื่อลงในกระดาษไว้
2 ผลัดกันถามคำถามคนละข้อ โดยตอบได้แค่ ใช่ ไม่ใช่ หรือ ไม่รู้ เช่น ผมสีดำใช้มั้ย
3 ตัดตัวเลือกที่ไม่ใช่ออกไปเรื่อย ๆ จนเหลือคนเดียว
4 คนทายของฝั่งตรงข้ามได้ก่อนชนะ
ระหว่างการเล่น ถ้ามีประโยคไหนผิดเราก็แก้ให้แบบ recast เหมือนเดิม ทำให้ผู้เรียนวนกลับไปแก้กฎของตัวเองใหม่ วนไปเรื่อย ๆ จนสามารถพูดได้คล่อง
การสอนครั้งนี้ได้รับการตอบรับดีมาก ๆ จากผู้เรียน นอกจากไม่น่าเบื่อแล้วเรายังได้ทดสอบด้วยว่าผู้เรียนสามารถใช้ได้จริงหรือเปล่า โดยไม่ต้องใช้ข้อสอบหากผู้เรียนทำผิดแล้วได้คะแนนน้อยจะทำให้ท้อได้ รู้สึกว่าเรียนคลาสนี้ได้เอามาใช้เต็ม ๆ เลยค่ะครั้งนี้
ไว้เจอกันครั้งหน้าจะมาพูดถึงเรื่องคำอุทานภาษาญี่ปุ่นค่ะ รอติดตามนะคะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in