เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
THE DINING UNIVERSE จักรวาลควันโขมงSALMONBOOKS
01: จักรวาลควันโขมง



  • ถ้าใครสักคนโยนคำถามใส่ว่า เราสนิทกับใครในครอบครัว เราคงตอบว่าย่าอย่างไม่เต็มเสียง ด้วยเราไม่รู้ว่าย่าคิดว่าเราสนิทกันแค่ไหน หรือสนิทกันไหมในช่วงเวลาสิบสองปีที่มีร่วมกัน

    เรามีย่าเป็นฮิปสเตอร์

    อย่างที่ถ้าเกิดเป็นสาวยุคนี้ก็อาจเป็นไอดอลสายฮิปได้แบบไม่ต้องพยายาม จะด้วยไลฟ์สไตล์ไม่อิงกระแสก็ใช่ แต่ใจความน่าจะอยู่ที่ทัศนคติ Don’t give a fuck. นั่นเสียมากกว่า

    มันเป็นเหตุผลหลักว่าทำไมในรั้วของเราถึงมีบ้านสองหลัง หลังแรกเป็นบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้สีช็อกโกแลตขนาดพอดีสามคนอาศัย ส่วนอีกหลังเป็นบ้านไม้ไซส์จิ๋วยกใต้ถุนสูงอวลบรรยากาศยุคโกโบริ จากสิ่งละอันพันละน้อยที่ข้ามเวลามารวมตัวกันอยู่ในบ้านของย่า ทั้งพัดลมเหล็กตัวใหญ่ โทรทัศน์ขาว-ดำ วิทยุทรานซิสเตอร์ และครัวไทยโบราณเปิดโล่งระบายควัน ด้วยย่ายืนยันจะไม่ใช้เตาแก๊ส สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งให้บ้านของย่ามีกลิ่นเก่าทั้งที่อายุของมันกับเราเริ่มต้นพร้อมกัน

    ย่าย้ายตัวเองออกจากบ้านใหญ่หลังเราเกิดได้ไม่นาน ด้วยภาพของครอบครัวที่ย่าครุ่นคิดติดอยู่ในใจนั้นนิยามถึงพ่อแม่ลูก และนับตัวเองเป็นอื่นทั้งที่ไม่มีใครขืนคิดแบบนั้นเลยสักคน

    “ฉันอยู่คนเดียวสบายตัวกว่า” เหตุผลที่ทำให้เราเขยิบห่างออกมาหลายคืบเวลานึกอยากสืบความประสงค์ของย่าว่าทำไมชอบอยู่คนเดียว
  • อาจเพราะชีวิตของย่าพบเจอกับการจากพรากมาอย่างจัดเจน สามีตายตั้งแต่ยังสาว ลูกคนหนึ่งต้องพลัดจากอกเพราะพกโรคร้ายติดตัวมาแต่เกิด ไหนจะต้องวิ่งหนีระเบิดท่ามกลางการตายของใครต่อใครที่เคยรู้จักตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กับแค่ประคองความรู้สึกว่างโหวงให้อยู่รอดก็คงแทบถอดใจ

    ทว่าย่าก็อยู่คนเดียวมาได้หลายสิบปี ในความ-หมายของการถอยความรู้สึกออกห่างจากคนรอบกายในระดับป่วยก็ไม่ปลอบชอบก็ไม่ชม ทว่าก็เป็นวิถีสันโดษแสนรื่นรมย์ในความหมายของการละเมียดลงรายละเอียดกับชีวิตชนิดต้องมีดอกมะลิซ้อนลอยน้ำดื่มในทุกขัน และใช้ดอกมะลิจากต้นเดียวกันนั้นวางแนบรูปถ่ายขาว-ดำบนหัวนอนเหมือนอยากย้อนเตือนตัวเองทุกวันถึงความสัมพันธ์ที่ผ่านมา

    “ลองไม่มีมันก็อยู่ได้เอง”

    เหมือนถ้าโลกไม่มีเตาแก๊ส ไม่มีไมโครเวฟ หรือไม่มีแม้แต่ไฟฟ้า เราก็จะมีชีวิตอยู่กันได้ในแบบหนึ่ง อย่างที่ย่าเล่าถึงครัวสมัยก่อนบ่อยๆ ว่าต่างโขมงด้วยควันไฟ เพราะน้อยรายจะมีเตาแก๊สใช้เหมือนทุกวันนี้ และย้ำซ้ำให้เราเชื่อว่าการไม่มีกระทั่งไฟฟ้านั้นขัดเกลาทักษะก้นครัวมากขนาดไหน ด้วยการดันให้เราใช้สองมือขยับจับเครื่องครัวอย่างกระฉับกระเฉง ไม่ว่าจะการกระชับสากให้กระทบครกหินอย่างตรงจังหวะ พลางกระซิบให้หยอดเกลือป่นลงระหว่างตำพริกแกงเพื่อลดกระเด็น หรือการเปิดทางให้เราเข้าใกล้เตาอย่างไม่รู้ตัวด้วยประโยคยุ “ก่อไฟให้เป็น ที่เหลือก็ไม่มีอะไรยาก”

    และจะแหวใส่ทุกครั้งเวลาเราอิดออดขอให้สอนทำอย่างอื่นบ้าง เหมือนเช้าหนึ่งที่เราเข้าไปวอแวขอให้สอนชงโกโก้ร้อนแสนอร่อยระหว่างย่าก่อเตาถ่านต้มน้ำ ร้อนชงกาแฟดำรสขมปร่า “อยากกินหวานแบบไหน” เราส่ายหน้าด้วยไม่เข้าใจ ก่อนย่าจะเมินสายตาเลยไปจัดแจงปิ้งขนมปังกินเคียงกันเป็นอาหารเช้า และปล่อยให้คำถามนั้นว่ายวนอยู่ในหัวของเราไปตลอดช่วงสาย กระทั่งจวนเที่ยงนั่นแหละถึงเติมถ่านเร่งไฟก่อนลงมือทำกับข้าวสำรับใหญ่เป็นมื้อกลางวัน จังหวะเดียวกันนี้ถ้าเป็นสุดสัปดาห์เราจะเพิ่งสะโหลสะเหลจากหน้าจอโทรทัศน์มานั่งแหมะอยู่ข้างๆ หยิบขนมปังปิ้งใส่ปาก เคี้ยวหงุบหงับ มองหญิงวัยเจ็ดสิบกะรัตทำอาหารบนเตาถ่านควันโขมงอย่างคล่องแคล่ว รอเวลาสำรับย้ายออกจากครัวแล้วเราถึงกระเถิบตัวไปช่วยดับเตา
  • ตามประสาเด็กสมาธิสั้น เราจึงใช้น้ำสาดดับเตาถ่านร้อนระอุในการดับเตาสองสามครั้งแรก ก่อนเตาจะแตกเป็นเสี่ยงให้เห็นคาตา จนเกิดเป็นซีนดราม่าเมื่อย่าเข้ามาปลอบพร้อมไม้เรียว และสอนให้รู้ว่าการดับวัตถุดินเผาร้อนด้วยน้ำเย็นมันไม่เป็นมืออาชีพ การดับเตาต้องประนีประนอมสุดชีวิตด้วยการคีบถ่านร้อนออกจากเตาใส่ลงโถกระเบื้องทีละก้อน ทีละก้อน และรอเวลาให้ความร้อนมอดดับลงไปเอง

    ย่าย้อนให้ฟังว่าหลังคุณทวดมอบหมายให้ทำครัวเมื่ออายุย่างเข้าสิบสี่ การจุดเตาก็กลายเป็นด่านแรกที่ย่าต้องเอาชนะ หลังล้มลุกคลุกคลานอยู่หน้าเตาควันได้พักใหญ่ จึงเรียนรู้วิธีจุดไฟแบบมาสเตอร์ได้
    ในที่สุด

    สูตรดั้งเดิมหน่อยจะใช้ใบไม้หรือกระดาษเป็นเชื้อเพลิง พอไฟติดจนลุกโพลงถึงใส่เศษไม้และถ่านตามลงไป ก่อนมาชี้ชะตาว่าจะดับหรือจะติดกันตอนพัดเตา ถ้าพัดช้าเกินไปจนไฟมอดก็ต้องวนกลับไปนับหนึ่งใหม่ แต่ถ้าพัดจนเริ่มท้อก็ต้องง้อไอเทมลับอย่างขี้ไต้ ผลผลิตจากน้ำยางพาราเหนียวหนึบผสมเศษไม้ปั้นเป็นก้อนกลม ติดไฟง่ายและนานกว่าเชื้อเพลิงมอดเร็วอย่างใบไม้หรือกระดาษ ช่วยทุ่นแรงพัดเตา ไม่ให้สาวๆ ต้องแขนล่ำกันทั้งพระนคร

    ความยุ่งยากหยุมหยิมทำให้เราออกปากถามย่าหลายครั้งว่าทำไมถึงต้องลุกมาจุดเตาแต่เช้าให้ลำบาก ควันก็แสบตา ถ่านก็ใช่ว่าจะหาซื้อง่าย บ่นกะปอดกะแปดไม่ทันจบ ย่าตัดบทฉับว่าเรื่องของฉัน มารบเร้าจนรู้เอาทีหลังว่าเพราะย่าติดกลิ่นควันไฟที่ฉาบอยู่บนผิวอาหารนั่นต่างหาก

    ถ้ารับรสให้ละเอียดจะพบว่ากลิ่นของควันมีผลกับรสอร่อยอย่างร้ายกาจ โดยเฉพาะอาหารปิ้งย่าง (ลองนึกถึงหมูปิ้งเจ้าอร่อยที่ร้อยทั้งร้อยต้องปิ้งเตาถ่าน ยิ่งเวลามันหมูหยดโดนไฟแล้วควันฉ่าขึ้นมารมยิ่งทำ
    ให้เนื้อหมูหอม) และการหุงข้าวแบบ ‘เช็ดน้ำ’ ที่ต้องใช้หม้อดินและเตาถ่าน ‘ดงข้าว’ หรือค่อยๆ หุงข้าวให้หอมนุ่มด้วยถ่านไฟอ่อนนั่นก็ทำให้รสชาติของเมล็ดข้าวต่างจากการหุงด้วยหม้อไฟฟ้าชนิดคนละวรรณะ
  • ครัวของย่าคล้ายจักรวาลขยายคลุมชีวิตวันเสาร์-อาทิตย์ของเราจนแนบสนิท จากตำแหน่งเด็กดับเตา นานวันเข้าถึงได้ขยับกลายเป็นผู้ช่วยมือหนึ่ง (ที่มีอยู่คนเดียว) ของครัวไร้แก๊สไปโดยปริยาย

    ชีวิตในจักรวาลควันโขมงดำเนินเรียบง่ายผ่านการกำกับของย่าผู้ไม่เคยห้ามปรามเมื่อเราลองใช้มีด แม้ตอนถูกคมบาดจนเลือดนองย่าก็ยังยืนยันให้เราใช้มีดได้ต่อไป (ถึงแม่จะกรี๊ดใส่ก็ตาม) “ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย” ย่าย้ำแบบนั้นทุกครั้งเมื่อเราทำพลาด มีดบาด ของแตก หรือต้องเททิ้งทั้งกระทะก็ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย

    คำสอนไม่ให้เอาใจไปวางไว้ปลายทางแต่อย่างเดียว ค่อยๆ เกลานิสัยเราจนเข้ารูป จากเคยหวังรางวัลในวันประกาศผลสอบ บางทีตกมาเป็นที่สองหรือสามก็หัวเราะออกอย่างไม่สะทกสะท้าน บ้างบางวันเกิดคึกนึกอยากเป็นเด็กผู้ชายก็เกี่ยวก่ายกิ่งมะม่วงในสวนจนลอยคว้างกระแทกพื้นจนแข้งขาลายก็หลายครั้ง แต่สุดท้ายย่าก็ยักไหล่แล้วบอกไม่เห็นจะเป็นอะไรอยู่ซ้ำๆ ร้อนถึงแม่ต้องเข้ามารั้งไว้ให้ไม่เตลิดกระทั่งเกิดวิวาทะให้เราต้องเข้าประสานด้วยสัญญาจะไม่หาเรื่องเจ็บตัวไม่ว่าจะเอาตัวเข้าไปเสี่ยงเท่าไหร่ก็ตาม

    ทว่าเบื้องหลังคำว่าไม่เป็นไรกลับซ่อนไว้ด้วยความกล้ำกลืน ข้าวผัดเค็มจัด แกงจืดหวานจ๋อย น้ำพริกจืดเจื่อน หลายเมนูที่แค่ชิมดูก็รู้ว่ากลืนไม่ลง แต่ ‘ทำแล้วก็ต้องกิน’ คติประจำครัวของเราเป็นแบบนั้น
  • เลยช่วยไม่ได้ที่เราต้องกินอาหารรสชาติปะแล่มในครั้งแรกๆ เพื่อเรียนรู้ว่าถ้าใส่น้ำมะนาวลงในหม้อต้มยำ ตอนกำลังเดือด น้ำต้มยำจะขมจนตาหยี หรือถ้าอยากให้ต้มจืดออกมารสชาติดีก็ต้องมีตัวชูโรงอย่างรากผักชี กระเทียม พริกไทย

    ย่าย้ำให้รู้อยู่เสมอว่าการทำอาหารไม่ใช่แค่เรื่องของการปรุง แต่กวาดรวมถึงระบบระเบียบทุกอย่างภายในครัว “ถ้าหั่นผักก่อนเนื้อก็จะไม่ต้องล้างเขียงหลายรอบ” ไม่ใช่คำเตือน แต่เป็นคำกำราบหลังเราเผลอหั่นเนื้อก่อนผักจนต้องล้างเขียงมากกว่าหนึ่งรอบเพราะเลอะกลิ่นคาว และไม่มากก็น้อย คำกำราบที่ลอยอยู่ในครัวของย่าได้กำซาบเข้ามามีผลต่อรสมือเรานับแต่นั้นจนวันนี้

    “ทำตามสูตรไม่ได้แปลว่าจะอร่อย” เสียงเปรยดังขึ้นทุกครั้งยามเราขอแง้มตำราอาหารสำหรับเมนูที่ไม่แน่ใจ ด้วยตามทฤษฎีของย่าแล้ว รสมือเป็นเรื่องของจังหวะการปรุงส่วนบุคคล จะใส่เครื่องปรุงอะไรเท่าไหร่ จะเร่งหรือลดไฟตอนไหน ก็เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความชำนาญจากการชิมไปปรุงไป เพราะต่อให้ชั่งตวงวัดตามสูตรเดียวกัน สุดท้ายรสชาติที่ออกมานั้นก็แปรผันตามน้ำหนักมือของผู้ปรุงอยู่ดี

    การขลุกตัวอยู่ในครัวของย่าสร้างจังหวะการปรุงส่วนตัวให้เราอย่างช้าๆ ไข่เจียวพริกขี้หนูสูตรครูพักลักจำที่ทำกี่ครั้งก็ไม่เหมือนต้นตำรับ กลายเป็นไข่เจียวพริกขี้หนูฉบับที่หยิบเอาหอมแดงซอยสับมาผสมกับพริกสดจนได้รสใหม่ เป็นการแหกคอกเล็กๆ น้อยๆ ถึงการกระโดดข้ามไปยังดินแดนใหม่ที่ย่าก็รู้และแอบดูอยู่ห่างๆ

    เหมือนบ่ายที่เราวิ่งทั้งรองเท้าเข้าไปในบ้านย่าด้วยว่าจะอวดเค้กกล้วยหอมที่ทำมาจากโรงเรียน ก่อนตัดแบ่งใส่จานกระเบื้องคนละชิ้นแล้วพากันชิมอย่างช้าๆ คู่กับโกโก้หอมหวานจากน้ำตาลอ้อยที่เราค้นพบว่าอร่อยกว่าใส่น้ำตาลทรายอยู่หลายขนาน ภาพย่ายกยิ้มหลังชิมจนหมดทำเอาเราใจฟู ก่อนคำแนะนำจะพรั่งพรูให้เรารู้ว่าควรหยดน้ำมะนาวลงในเนื้อกล้วยหอมบดเพื่อให้เนื้อเค้กไม่ขุ่นดำ และรู้อีกว่าที่คิดว่าย่าไม่ถนัดทางหวานอย่างฝรั่งนั้นไม่จริง

    จากครัวเตาถ่านสู่อีกหลายครัวที่เราพาชีวิตขยับไปโคจรอยู่ในนั้น และจากเมนูพื้นฐานที่ใครๆ ก็ทำกันสู่การดัดแปลงจนรสมือของเราชัดสวนทางกับรสมือของย่าที่เริ่มห่างหายไปตามกาลเวลาและแรงกายที่ถดถอย

    “ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย” ความไม่ยี่หระในวันนั้นส่งผลถึงจังหวะอิสระของเราในวันนี้ จากสองชีวิตที่รับ-ส่งให้กันและกันอยู่ในจักรวาลขนาดประมาณห้องครัว กระทั่งจักรวาลหนึ่งแตกดับกลับสู่ความว่างเปล่าและส่งพลังผลักให้อีกจักรวาลลอยคว้างไปตามทางรสชาติของตัวเอง

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in