Disclosure : บทความนี้พูดถึงความคิดเห็นของหลายบุคคลต่อหนังสือเล่มนี้โดยพยายามที่จะไม่เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ระมัดระวัง
ตัวเอียงคือเปิดเปิดเนื้อหาบางส่วนที่อาจส่งผลกับอรรถรส และ [ข้อความในวงเล็บเหลี่ยม] คือเปิดเผยเนื้อหาสำคัญค่ะ
Book club ที่ไปเข้าร่วมเดือนนี้ เค้าได้เลือก The Vegetarian นวนิยายเจ้าของรางวัล Manbooker prize 2016 จากนักเขียนหญิงชาวเกาหลีใต้ Han Kang มาพูดคุยกัน
“The Vegetarian ถ่ายทอดผ่านมุมมองของตัวละครที่แตกต่างกันทั้งสามตัว สะท้อนถึง ตัวเอกของเรื่องซึ่งเป็นเพียงผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ที่ลุกขึ้นมาปฏิเสธกฎเกณฑ์และขนบธรรมเนียมที่พันธนาการเธอไว้กับหน้าที่ต่อครอบครัวและสังคม และด้วยการถ่ายทอดเรื่องราว อย่างสวยงามราวกับบทกวีในขณะเดียวกันก็ เชือดเฉือนคมคาย มันได้เล่าเรื่องราวว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ส่งผลอย่างไรบ้างต่อทั้งตัวเอกของเรื่องเองและผู้คนที่เล่าเรื่องราวนั้น หนังสือเล่มเล็กๆที่ทั้งงดงามและแปลกพิสดารนี้ จะติดตรึงอยู่ในใจ หรือบางทีอาจจะเป็นในความฝัน ของผู้อ่าน” Boyd Tonkin ประธานคณะกรรมการผู้ตัดสินรางวัลกล่าว
ที่ห้องอาหารชั้นล่างของโรงแรมใจกลางเมือง นักอ่านต่างทยอยกันมารวมตัวเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับหนังสือ วันนี้มีมากถึง 15 คน ฉันนั่งลงข้างแคธเทอลีน ผู้ออกตัวว่าเธอเองก็เป็นมังสวิรัติมาหลายปี ในขณะที่คุณคาเรนผู้ที่นั่งฝั่งตรงข้าม พลิกดูเมนูอาหารและสั่งลาบหมูทอดให้ตัวเอง :)
หลายคนมาคนเดียว บ้างก็เป็นขาประจำ บ้างก็เพิ่งมาเป็นครั้งแรก เมื่อคุณ Mike ผู้จัดงาน เห็นว่าทุกคนเริ่มทยอยมากันครบแล้วจึงเริ่มเปิดการสนทนาด้วยสิ่งที่ถือว่าเป็นธรรมเนียมคือการยกมือให้คะแนนหนังสือเล่มนี้ มีถึงสองคนที่ให้ 10 คะแนนเต็ม เธอให้เหตุผลว่าโดยส่วนตัวชอบอ่านหนังสือแนวนี้ และรู้สึกว่า และรู้สึกว่าน่าติดตามวางไม่ลงต้องอ่านไปจนจบ ในขณะที่ผู้ที่ให้คะแนนหนังสือเล่มนี้น้อยสุดคือ 4 คะแนน ให้เหตุผลว่า เธอเข้าไม่ถึงจิตใจและการกระทำของตัวละครในเรื่อง
จะเห็นว่า book club นี้เป็นการพูดคุยแบบสบายๆอาจจะใช้ความรู้สึกเป็นหลัก ไม่ได้มีกฎเกณฑ์มากมายนะคะ โดยส่วนตัวฉันให้ 8 คะแนน ด้วยเนื้อเรื่องที่มีความ “แปลก” และภาษาไหลลื่นราวกับบทกวี
ข้อจำกัดทาง ภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่าง : อุปสรรคของการอ่าน ?ย้อนไปในปี 2007 คุณ Han Kang เขียนและตีพิมพ์ เป็นเรื่องสั้น 3 เรื่องแยกกัน ก่อนที่จะนำมารวมกันเป็นนวนิยายหนึ่งเล่มในการถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษครั้งแรกในปี 2015
ประเด็นเรื่องการแปล ก็ค่อนข้างเป็นที่ถกเถียงกันมากในวงสนทนาของเราในวันนี้ มีหลายคนที่ชื่นชมผู้แปลว่าสามารถถ่ายทอด ด้วยภาษาที่งดงามและต่างทึ่งเมื่อรู้ว่า คุณ Deborah Smith นักแปลนั้น ตัวเธอเองอยู่ในระหว่างการเรียนภาษาเกาหลี คือพูดภาษาเกาหลีไม่ได้ด้วยซ้ำ !? แต่สามารถถ่ายทอดออกมาได้น่าทึ่งไม่แพ้ต้นฉบับ ด้านคุณไบรอัน หนุ่มเกาหลีหนึ่งเดียวในวันนี้ ก็ออกตัวว่า ตัวเขาเอง เคยอ่านเวอร์ชั่นภาษาเกาหลีมาก่อน และมาอ่านซ้ำอีกครั้งเป็นภาษาอังกฤษ ก็ไม่รู้สึกว่าเป็นการเสียอรรถรสแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ดีมีสมาชิกอีกหลายคนที่รู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ถูกแปลมาได้ดีพอเนื่องจาก พวกเขาอ่านแล้วยังรู้สึกว่ามีบางอย่างที่ยังไม่เข้าถึงสิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อจำกัดทางภาษา หรือวัฒนธรรมที่แตกต่างกันก็ตาม อย่างไรก็ตามทาง สำหรับ Manbooker prize คณะกรรมการได้มอบรางวัลให้แก่ทั้งผู้แต่งและผู้แปลโดยเฉพาะค่ะ
บทที่ 1 The Vegeatarianประเด็นที่น่าสนใจคือ ทำไมผู้เขียนถึงเลือกเอา “การเปลี่ยนมาเป็นมังสวิรัติ” มาเป็นแกนหลักในการดำเนินเรื่อง วงสนทนาในวันนั้นประกอบไปด้วยชาวตะวันตกเป็นส่วนใหญ่และพวกเขามีความคิดเห็นว่าการเป็นมังสวิรัติ ไม่ใช่เรื่องที่เป็นขบถหรือผิดแปลกไปจากธรรมเนียมสังคมแต่อย่างใด แต่มองว่าเป็นทางเลือกของวิถีชีวิตส่วนบุคคลเสียมากกว่า
“ทำไมถึงไม่แต่งเรื่องให้เธอ ลุกขึ้นมาทำอะไรที่สุดโต่งกว่านั้น เช่น ถือมีดไปไล่ฆ่าฟันคนอะไรแบบนั้นล่ะ” หนุ่มชาวอังกฤษพูดขึ้นมาติดตลก แต่สิ่งที่เรารู้แน่นอนก็คือว่า การเป็นมังสวิรัติ เป็นสิ่งที่ไม่ได้เป็นที่ยอมรับทั้งต่อสามีและครอบครัวของเธอเองแต่ตัวเอกของเรื่องก็ยังคงยืนกรานที่จะทำเช่นนั้น ฟังดูแล้ว การ กระทำเช่นนั้นคงเป็นดั่งสัญลักษณ์ของการลุกขึ้นมาเป็น “ขบถ”ของผู้หญิง ธรรมดา คนหนึ่ง
บทแรกเริ่มเรื่องมาได้อย่างน่าสนใจ ชวนติดตาม และสำหรับฉันมันเป็นอะไรที่อ่านแล้วแอบขำหลายที
ถึงความเหวอแ-กของตัวสามี ซึ่งเป็นตัวละครที่ถ่ายทอดเรื่องราวในบทแรกนี้ กับการที่ต้องมาค่อยๆค้นพบว่าภรรยาของตัวเองค่อยๆเปลี่ยนไปแบบคาดไม่ถึง
บทที่ 2 Mongolian Markปานสีน้ำเงินที่พบในทารกแรกเกิดมีลักษณะเด่นชัดในขวบปีแรกและค่อยๆจางลงเมื่อทารกอายุมากขึ้น มักพบในทารกที่มีเชื้อชาติเอเชียหรือแอฟริกัน บทที่สองมีปานแรกเกิดชนิดนี้เป็นจุดศูนย์กลางในการดำเนินเนื้อเรื่อง
ในวงสนทนาถกเถียงกันว่า การกระทำของตัวเอกในเรื่องเป็นอีกหนึ่งวิธีในการแสดงความเป็นขบถของเธอ หรือว่า เป็นเพียงแต่เป็นผู้ถูกกระทำเหมือนกับในชีวิตที่ผ่านมา
ถ้าหนังสือเล่มนี้จะทำเป็นหนัง บทที่สองก็คงจะเหมือนกับเป็นตอนไคลแมกซ์ และเต็มไปด้วยวัตถุดิบสำหรับการกำกับศิลป์และลำดับภาพที่ surreal ฉันชอบที่ผู้เขียนเล่นกับความรู้สึก primitive ด้วยการเชื่อมโยง รอยแผลเป็นแต่กำเนิด เข้ากับ กามารมณ์ และตกแต่งมันด้วยเครื่องเพศของพืชอย่าง ดอกไม้
“
แต่ตัวละครพี่เขยนั้น ต้องพูดตรงๆว่า เขามันก็แค่ไอ้คนขี้แพ้” คาเรนยักไหล่ ส่วนหนุ่มๆให้ความเห็นว่า ในมุมมองของผู้ชายนั้น [จุดเริ่มต้นอาจจะเป็นความใคร่ทางกามารมณ์จริง และมันได้นำไปสู่ ตอนสุดท้ายที่เขาค้นพบว่า อยากจะมีอิสระ หลุดพ้นจากกฎเกณฑ์แบบเธอบ้าง]
“ตอนสุดท้ายจะเห็นว่า [เขารู้สึกละอายในความขลาด ที่ไม่กล้าแม้แต่ปลิดชีวิตตัวเอง]” ทุกคนพยักหน้า
บทที่ 3 Flaming treesบทสุดท้ายถ่ายทอดผ่านสายตาของตัวละครหญิง วงสนทนาในวันนั้นมีความสนใจอย่างมาก เกี่ยวกับ ประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคมเกาหลี คุณไบรอัน หนุ่ม เกาหลีเพียงคนเดียวจึงต้องตอบคำถามมากเป็นพิเศษ เขาพูดถึงสภาพสังคมที่กดดัน และความความเพียรพยายามที่ทำเท่าไหร่ก็ยังไม่รู้สึกว่า “ดีพอ”
ที่น่าสนใจคือ คุณไบรอันพูดถึงคำภาษาเกาหลี ที่ไม่มีคำแปลในภาษาอังกฤษ นั่นก็คือ Han /ฮัน/ และพยายามอธิบายความหมายว่าเป็น ห้วงอารมณ์เศร้าหมองระดับชนชาติ ฉันพิมพ์คำนี้เก็บไว้ในโน้ต เพื่อจะเอามาค้นอ่านเพิ่ม ซึ่งต้องบอกเลยว่า อืม เหมือนจะรู้เรื่องนะ แต่ไม่ค่อยเข้าใจ(ว่ะ)
จากการอ่านบทสัมภาษณ์ของผู้แต่งพบว่าตอนที่สามนี้ เป็นตอนที่เธอรู้สึกว่าเขียนยากที่สุด ในวงสนทนาของเราในวันนี้ก็เช่นกัน หลายคนลงความเห็นว่า เป็นตอนที่อ่านสนุกน้อยที่สุด บางคนบอกว่าเป็นตอนจบที่พวกเขารู้สึกผิดหวัง
“รู้สึกผิดหวังที่ [ผู้เขียนเลือกจุดจบให้ตัวละครเป็นจิตเภท] เหมือนกับว่าพฤติกรรมที่ผ่านมาตอนต้นเรื่องไม่มีความหมาย”
“นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่าจะตีความอย่างไร ถ้าตีความตามบรรทัดฐาน ตามกฎเกณฑ์ ก็ย่อมคิดว่า [ตัวละคร Yeong hye เป็นบ้า แต่ในทางกลับกัน มันก็เหมือนกับว่าเธอได้เลือกที่จะหลุดออกไปจาก กฏเกณฑ์ของสังคมไปสู่โลกของเธอแล้ว”]
ฉันฟังแล้วก็ได้แต่รู้สึกว่า ทางเลือกของตัวละครหญิงในเรื่องนั้นไม่ได้มีมากนัก หรือแท้จริงแล้วอาจจะไม่ต่างอะไรมากกับโลกแห่งความเป็นจริง [ทางเลือกของตัวละครในเรื่อง คือระหว่าง การใช้ชีวิตไปตามกรอบที่สังคมกำหนดอย่างมึนชา หรือ ละทิ้งทุกกฏเกณฑ์และกลายเป็นหนึ่งเดียวกับอาณาจักรพืชไปเลย]
เมื่อการอภิปรายได้เลยเถิดไปถึงชนชาติ ก็มีคุณป้าท่านหนึ่งวิจารณ์ประเทศไทย และความ “ไทยๆ”ของคนไทย ด้วยความไม่เข้าใจว่า ทำไมพวกเราถึงก้มหน้าก้มตา ยอมรับระบบแย่ๆ หรือแม้แต่ประชาธิปไตยที่ไม่เต็มใบอยู่แบบนี้ ฉันได้แต่ฟังแล้วก็ไม่สามารถนึกคำตอบสั้นๆเพื่อคลายความสงสัยอันพรั่งพรูของป้าได้ ถ้าชาวเกาหลีมีคำว่า Han อย่างที่คุณไบรอันว่า ชาวไทยอย่างเราก็คงมีคำแบบนั้น ที่ไม่รู้จะแปลให้คนอื่นเข้าใจได้อย่างไรเหมือนกัน ในช่วงท้าย การสนทนาเริ่มออกทะเลไปไกล บางคนก็เริ่มหันมาจับกลุ่มคุยกันเอง ฉันกระดกไวน์แดงที่เหลือในแก้วจนหมดก่อนที่จะกลับ
“บทกวี เยือกเย็น พิสดาร” น่าจะเป็นคำจำกัดความที่ฉันยกให้นิยายเรื่องนี้ นับเป็นอีกหนึ่งในนวนิยายเอเชียที่มีสไตล์ Surrealism ดีแท้ ถ้าใครอยากลองหานิยายสไตล์แหวกแนว อ่านง่าย เล่มไม่หนามาก ก็ลองไปหาอ่านแล้วเข้ามาคุยกันนะ
Credit image : bodypainting จาก Johannes Stttuter Art
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in