Disclosure : บทความนี้พูดถึงความคิดเห็นของหลายบุคคลต่อหนังสือเล่มนี้โดยพยายามที่จะไม่เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ระมัดระวัง
ตัวเอียงคือเปิดเปิดเนื้อหาบางส่วนที่อาจส่งผลกับอรรถรส และ [ข้อความในวงเล็บเหลี่ยม] คือเปิดเผยเนื้อหาสำคัญค่ะ
ในเดือนนี้ book club เลือกหนังสือ
The Leavers โดย
Lisa Ko นิยายเล่าเกี่ยวกับชีวิตของผู้อพยพในอเมริกา ผ่านมุมมองของสองแม่ลูกชาวจีน ที่ตัวตนและความสัมพันธ์ของพวกเขาได้เปลี่ยนไปตลอดกาล
ที่น่าสนใจคือหนังสือเล่มนี้ ได้รับรางวัล
ชนะเลิศ Pen/Bellwether Prize for fiction ปี 2016 ซึ่งเป็นรางวัล สำหรับนักเขียนอเมริกันที่มีผลงานด้านนวนิยายสะท้อนความยุติธรรมในสังคม รวมถึงวัฒนธรรม หรือประเด็นทางการเมืองที่ส่งผลต่อตัวละคร (ทำให้เรารู้สึกว่า โอ้โห มีรางวัลแบบนี้ด้วยแฮะ) ซึ่งอ้างอิงจากบทสัมภาษณ์ของ Lisa Ko เค้าจะบอกชัดเจนเลยว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในฟลอริดา เกี่ยวกับชะตากรรมของหญิงอพยพชาวจีนที่ถูกจับคุมขังในทัณฑสถานสำหรับผู้อพยพผิดกฏหมายและลูกชายของเธอที่เกิดในสหรัฐฯ ได้ถูกส่งตัวไปให้ครอบครัวชาวแคนาดารับอุปการะ ภายหลังเธอยังได้เปิดเผยว่า ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาสุขภาพจิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวอีกด้วย
ในตอนเย็นหลังเลิกงานที่มีเมฆครึ้ม ฉันมุ่งหน้าไปยังจุดนัดหมาย เพียงเพื่อพบว่า ยังไม่มีใครมา นับว่าแปลกเนื่องจากครั้งที่ผ่านมามีคนมาร่วมเยอะมาก ภายหลังจึงได้ทราบว่า หลายคนอยู่ในช่วงลาพักร้อน
สำหรับวงสนทนาของเราวันนี้ มีผู้เข้าร่วมเพียงห้าคน หลายคนให้คะแนนนิยายเล่มนี้ค่อนข้างดีคือ 7-8 จากเต็ม 10 คะแนน
“ มันน่าสนใจที่ได้อ่านนิยาย ที่สะท้อนมุมมองจากผู้แต่งชาวเอเชียเอง โดยเฉพาะประเด็นของผู้อพยพ” แครอล สาวอเมริกันกล่าว
หนุ่มชาวจีนให้คะแนนน้อยที่สุด อยู่ที่ 5 คะแนน โดยให้เหตุผลว่า เขาไม่ชอบอ่านนิยายแนว realistic และออกตัวว่าจริงๆแล้วยังอ่านไม่จบด้วยเหลืออีกหลายบท ก่อนจะก้มลงไปอ่านต่อ
ฉันนึกขำในใจเพราะว่า หนังสือเล่มนี้ เล่าเรื่องต่างๆในตอนต้นก่อนจะนำไปสู่บทสรุป รวมถึงคำอธิบายต่างๆในตอนท้ายภายในเพียงไม่กี่บท หนุ่มจีนคนนี้คงจะเตรียมใจมาแล้วว่าจะต้องโดนสปอยล์
นวนิยายกับประเด็นทางสังคมและการเมือง
Lisa Ko ให้สัมภาษณ์ว่า เธอรู้สึกขัดใจกับคำกล่าวที่ว่า “โลกวรรณกรรมไม่ควรข้องเกี่ยวกับการเมือง” เพราะรู้สึกว่า เราจะแยกศิลปะเหล่านั้นออกจากโลกที่เป็นที่รังสรรค์มันขึ้นมาได้อย่างไร “และคุณจะต้องการทำอย่างนั้นไปเพื่ออะไรล่ะ”
ประเด็นของผู้อพยพ เป็นที่สนใจมากทั่วทุกมุมโลกที่ต้องประสบปัญหาในแบบต่างๆ และโดยเฉพาะการที่ Donald Trump ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม นิยายเรื่องนี้สะท้อนวิถีชีวิตและความสัมพันธ์ของตัวละครที่ได้รับผลกระทบ มากกว่าที่จะไปเน้นข้อกฏหมาย หรือกระบวนการยุติธรรม
“ฉันคิดว่า มันเป็นอะไรที่สีเทาๆ จริงอยู่ที่สมัยก่อนมีผู้อพยพและทำงานอย่างผิดกฎหมายอยู่จำนวนมาก ฉันเคยเห็นกรณีที่ปลอมแปลมเอกสารสวมรอยแทนคนตาย ไปจนถึงการแอบลักลอบกลับเข้าสหรัฐฯหลังถูกส่งตัวกลับก็ตาม แต่ปัจจุบันกฏหมายนี้ก็เข้มงวดขึ้นมาก” ราเชล ซึ่งออกตัวว่าทำงานเกี่ยวกับกฏหมายกล่าว
พ่อแม่อุปถัมน์ บทบาทที่ไม่ง่าย
เรามักเห็นการอุปการะบุตรบุญธรรมมากในโลกตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอุปการะข้ามชาติ ในแง่หนึ่งอาจเป็นเหมือนสัญลักษณ์ความเท่าเทียม แต่อีกมุมหนึ่งนี่อาจเป็นการเหยียดเชื้อชาติก็เป็นได้ ทัศนคติที่มองว่า เด็กเหล่านั้นควรถูกแยกออกจาก พ่อแม่ ของพวกเขามาสู่อ้อมอกของครอบครัวตะวันตกที่สมบูรณ์ ในสภาพแวดล้อมที่ดีกว่า โดยไม่มีใครรู้ว่า แท้จริงเด็กเหล่านั้นต้องการอะไร นิยายเล่มนี้ได้สะท้อนมุมมองของ Deming เด็กที่ถูกแยกจากแม่ที่แท้จริง ไปสู่ครอบครัวคนอเมริกันที่รับอุปการะ และเปลี่ยนชื่อให้เขาใหม่ว่า Daniel นอกจากการปรับตัวและการเผชิญกับการคาดหวังของตัวเด็กแล้ว ด้านพ่อแม่บุญธรรมก็ต้องเผชิญกับปัญหาไม่แพ้กัน แม้ว่าพวกเขาจะพยายามทำสิ่งที่พวกเขาคิดว่าดีที่สุดแล้วก็ตาม
“พวกเราไม่ใช่ แองเจลิน่า โจลี่ นี่นา” ราเชลกล่าวติดตลกถึงดาราฮอลลีวู้ดที่รับอุปการะเด็กกำพร้าจาก 3 ประเทศ
“ปัญหาที่ Deming หรือ Daniel ก็ตาม เผชิญในเรื่องการปรับตัว อาจเป็นเพราะเขาถูกส่งไปอยู่กับครอบครัวใหม่ตอนอายุมากแล้ว เกือบ 8-9 ขวบ” ทุกคนเห็นด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่ว่าเขามีรูปร่างหน้าตาแบบเอเชียที่แตกต่างจากพ่อแม่บุญธรรมอเมริกัน เนื่องจากเชื้อชาติที่ต่างกันก็ย่อมเป็นประเด็นอยู่ดี
หลายคนบอกว่ารู้สึกว่าตัวละคร Deming น่ารำคาญบางครั้ง สำหรับฉันเองก็เห็นด้วย และรู้สึกว่า นอกจากปมเรื่อง trust issue แล้ว เรื่องอื่นๆในชีวิตเขาก็ไปไม่สุดสักทาง ไม่ว่าจะทางที่ดีเช่น ทักษะทางดนตรีที่เขามีถูกบรรยายออกมาผ่านภาวะ Synesthesia อย่างน่าสนใจแต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้นำไปสู่อะไรที่มากกว่านั้น หรือหากจะเป็นด้านที่แย่เช่น การที่เขาหันเหสู่การพนัน แต่ก็ไม่ได้ดำดิ่งลึกสู่โลกมืดอะไรมากนัก ดูเหมือนว่า ตัวละครนี้จะตกอยู่ในวังวนของการพยายามทำสิ่งต่างๆแบบล้มลุกคลุกคลาน
“แม้แต่ตัวตนของเขา ยังสับสนเลย ว่าควรจะเป็นเด็กชายจีน Deming หรือหนุ่มอเมริกัน Daniel ไม่แปลกที่เขาจะล้มลุกคลุกคลานกับหลายเรื่องในชีวิต” ไมค์แสดงความเห็น
คนที่จากไป เพราะเลือกไปหรือไม่มีสิทธิ์
Peilan หรือ Polly ตัวละครแม่ในเรื่อง ที่ถูกวางให้จำเป็นต้องแยกจากลูกชายของเธอไปนั้น ถูกถ่ายทอดออกมาโดยใช้ สรรพนามบุรุษที่ 1 ในขณะที่ตัวละครอื่นใช้สรรพนามบุรุษที่ 3 ราวกับว่าหนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกความในใจของเธอที่มีต่อลูก ผู้เขียนเผยว่า ในขณะที่เธอพยายามถ่ายทอดมุมมองของเด็กเอเชียที่เติบโตมาในสหรัฐฯ ผ่านตัวละครลูก เธอชื่นชอบตัวละครแม่ที่เป็นผู้หญิงเก่ง กล้า ปากจัด และขบถ ในขณะเดียวกันก็มีปมในจิตใจที่สะท้อนให้เห็นว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบ
ฉันชื่นชอบตัวละครแม่ สาวน้อยจากหมู่บ้านมินเจียง ผู้กล้าที่จะฝัน เธอผ่านชีวิตมาแบบโชกโชน แต่ทว่าหลายๆเหตุการณ์ก็เป็นการตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยวของตัวเธอเอง รวมถึงการเดินทางออกจากจีนมาเผชิญโชคที่สหรัฐอเมริกา
ในวงสนทนาวันนั้น ลงความเห็นว่า การที่ตัวละครแม่ ทอดทิ้งลูกไปในตอนแรกดูเหมือนจะเป็นเพราะความจำเป็น [เนื่องจากถูกจับเข้าคุกของคนเข้าเมืองผิดกฏหมายและถูกส่งกลับจีน แต่ในภายหลังที่เธอไม่ได้ติดต่อลูกอีกเลยนั้น เหมือนกับว่าเป็นการตัดสินใจของเธอเองเสียมากกว่า คงเป็นเพราะว่า พวกเขาต่างคนต่างเติบโตมาไกลเกินกว่าจะกลับไปยังจุดเดิม]
“ทั้งตัวละครลูกที่ถูกหล่อหลอมมาในสังคมใหม่ และตัวละครแม่ ที่ผ่านเหตุการณ์ต่างๆมามากมาย ต่างก็ได้ลาจาก ตัวตน เดิมของตัวเองมาแล้ว”
“The Leavers are gonna leave” ฉันกล่าวถ้อยคำที่ดูเหมือนจะเป็นบทสรุปของเหตุการณ์นี้
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in