เคยสงสัยกันมั้ยคะว่า ทำไมคนญี่ปุ่นชอบพูดคนเดียว
(แทรกเพลงอินโทรช่องพี่บอสกีรติ------ ไม่ใช่)
เรื่องวันนี้มาว่าด้วย 独り言 (ひとりごと) หรือ "การพูดคนเดียว/การรำพึงรำพัน" ในภาษาญี่ปุ่นกัน
ถ้าพูดถึงการ "พูดคนเดียว" หลาย ๆ คนอาจจะนึกถึงนิสัยหรือทักษะเฉพาะตัวที่ไม่ได้ทำกันได้ทุกคน
อย่างถ้าใครชอบเล่นทวิตเตอร์หรือเป็นลูกคนเดียว หลาย ๆ คนก็จะมีสกิลในการ "คุยกับแม่ซื้อ"
หรือสกิลการเล่าเรื่องแบบเอาสะใจไม่เน้นผู้ฟังกันเป็นเสียส่วนใหญ่ (บล็อกนี้ก็ใช่)
แต่รู้กันมั้ยว่า ศาสตร์ของการ "พูดคนเดียว" ในภาษาญี่ปุ่น ไม่ใช่แค่ลักษณะนิสัยเฉพาะคน หรือพูดไปตามความรู้สึกแค่ชั่วครั้งชั่วคราว แต่ลึกซึ้งไปถึงระดับ "ไวยากรณ์และคำศัพท์" ที่คนญี่ปุ่นทุกคนใช้กันทั่วไปในชีวิตประจำวันเลยนะ!?
เรียกได้ว่า ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาแห่งการ "พูดคนเดียว" เลยก็ว่าได้!
มาดูกันดีกว่าว่าในภาษาญี่ปุ่น มีอะไรที่เป็นการพูดคนเดียวบ้าง แล้วคนเรียนภาษาญี่ปุ่นอย่างเรา ๆ
กำลังพูดคนเดียวอยู่รึเปล่า?
独り言 (1) พูดคนเดียวตอนอยู่คนเดียว
ถ้าใครได้อยู่กับคนญี่ปุ่นบ่อย ๆ จะสังเกตได้ว่า พวกเขามักจะทำอะไรก็พูดไปด้วยตลอด
จนบางทีเวลาเราไปเป็นล่าม ต้องแบบเกาหัวบ่อย ๆ ว่า ชั้นต้องแปลมั้ยคะ คุณพูดกับชั้นรึเปล่าคะ!??
ยกตัวอย่างเช่น คำอุทาน
痛い!いたたたたたた… (มีกี่ た ก็ว่ากันไป บางทีอาจจะ た ไปจนกว่าจะหายเจ็บก็ได้)
ถ้าแปลเป็นภาษาไทยตรง ๆ ในสถานการณ์แบบนี้ ก็จะแปลว่า "เจ็บ" ใช่มั้ยคะ
แต่ในเซนส์ของเรา เรามองว่า คำว่า "เจ็บ" ดูเหมือนเป็นประโยคบอกเล่า ถ้าสมมติเราเดินชนเสาแบบในรูปนี้ แล้วมีคนอยู่ข้าง ๆ เรา เราจะพูดว่า "โอ๊ย เจ็บว่ะ" (เพื่อบอกเพื่อนข้าง ๆ เราว่า เราเจ็บ)
แต่ถ้าเราอยู่คนเดียวล่ะ?
ถ้าเป็นเรา อย่างมากเราก็จะอุทานเป็นคำที่ไม่มีความหมาย หรือเสียงที่หลุดปากออกมาเฉย ๆ มากกว่า เช่น "โอ๊ย" เพราะไม่มีใครอยู่ เราจะบอกทำไมว่าเราเจ็บ?
แต่ในภาษาญี่ปุ่น เราจะเห็นคำอุทานหรือคำติดปากที่เป็นคำบอกเล่าเยอะมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็น 痛い!(เจ็บ) 暑い!(ร้อน) 寒い!(หนาว) 怖い!(น่ากลัว) ที่ใช้ทุกสถานการณ์ไม่ว่าจะอยู่คนเดียวหรืออุทานให้เพื่อนข้าง ๆ ฟัง แทนที่จะใช้ โอ๊ย อุ๊ย เหมือนกับเรา
独り言 (2) คำทักทายที่พูดอยู่คนเดียว - Getsunova
คำทักทายในที่นี้หมายถึง あいさつ ที่เป็นคำกำหนดตายตัวมาอยู่แล้วนั่นเอง ซึ่งในหมวดนี้ มีคำที่ใช้พูดคนเดียวอยู่เยอะมาก ๆ เหมือนกัน อย่างคำที่ใครหลายคนต้องเคยพบเจอกันตามซีรี่ส์หรืออนิเมะญี่ปุ่น เช่น
いただきます - ごちそうさまでした。
(จะทานแล้วนะคะ) (ทานเสร็จเรียบร้อยแล้วค่ะ)
แม้คำแปลภาษาไทยด้านล่างจะเป็นคำแปลที่เห็นได้ทั่วไปตาม Subtitle ภาพยนตร์ต่าง ๆ แต่จริง ๆ แล้วคำนี้แปลเป็นภาษาไทยให้ได้ความหมายเป๊ะ ๆ นั้นไม่ง่ายเลยนะ เพราะจริง ๆ แล้ว いただきます แปลตรง ๆ ว่า "ได้รับ" ซึ่งในบางบริบทจะใช้เวลาเราจะรับของอะไรบางอย่างจากคนอื่น ซึ่งในที่นี้มีความหมายแฝงว่า เราจะรับชีวิตหมูหมึกกุ้งที่ตายเพื่อเรามาทานเป็นอาหาร หรือขอบคุณพระเจ้า (神様)และ ごちそうさまでした ก็ไม่ได้แปลตรง ๆ ตัวว่า "ทานเสร็จแล้ว" เหมือนกัน
จากที่อธิบายคำแปลไปด้านบนเมื่อกี้ อาจจะมีคนสังเกตได้แล้วว่า หมูหมึกกุ้งหรือพระเจ้าที่เขาขอบคุณก่อนทานอาหาร ไม่ได้มาเป็นคู่สนทนาที่นั่งกินข้าวด้วย หรือคุณเชฟโอมากาเสะที่ยืนปั้นข้าวอยู่ตรงเคาเตอร์เสียหน่อย ถ้าอย่างนั้น คนญี่ปุ่นก็พูดคนเดียวน่ะสิ!!
เอ๊ะ แต่ว่าเวลาเราดูซีรี่ส์เกาหลี อปป้าของเราก็พูดว่า "จะทานแล้วนะครับ" ก่อนจะกินแบบหล่อ ๆ เหมือนกันนี่นา ไม่ใช่ว่าคนญี่ปุ่นพูดคนเดียวก่อนกินอยู่ประเทศเดียวซักหน่อย!
แม้ว่า Subtitle อาจจะแปลออกมาเป็นไทยว่า "จะทานแล้วนะ" เหมือนกันทั้งสองภาษา แต่ในภาษาต้นทาง มีคนละความหมายกันนะ
ในภาษาเกาหลี "จะทานแล้วนะ" คือคำว่า 잘 먹겠습니다 (ชัล มอกเกตซึมนีดา)
โดยที่ 잘 (ชัล) หมายถึง อย่างดี (よく)และ 먹겠습니다 เป็น Verb รูปอนาคต หมายถึง "จะกิน"
รวมกันแปลออกมาเป็นประโยคที่บอกกับอีกฝ่าย (ส่วนมากเป็นคนที่เลี้ยงข้าวเรา) ว่า เราจะตั้งใจทานอาหาร (ที่เค้าให้เรา) อย่างดี
ดังนั้น ในบริบทของภาษาเกาหลี จึงไม่นำมาใช้พูดเวลาอยู่คนเดียวเหมือนกับภาษาญี่ปุ่น
ถ้าลองสังเกตดู จะมี あいさつ ที่เมื่อลองดูความหมายจริง ๆ ของประโยคแล้ว เหมือนพูดคนเดียว (แต่หวังให้เราตอบประโยคพูดคนเดียวของเขา) ในภาษาญี่ปุ่นอีกมากมาย
เช่นคำทักทายสวัสดี ที่หลายคนอาจเคยเจอสถานการณ์แบบนี้มาก่อนก็ได้
เจอหน้ากันในภาษาไทย: สวัสดีจ้า กินข้าวหรือยัง ไปไหนมา สบายดีไหม
เรา: อ๋อ กินแล้ว เพิ่งกลับจากมหาลัยฯ .... บลา ๆ
เจอหน้ากันในภาษาญี่ปุ่น: 今日はいい天気ですね。(วันนี้อากาศดีจัง)
เรา: はい (??)
独り言 (3) พูดคนเดียวใส่คู่สนทนา (เอ๊ะ!?)
บางคนอาจจะเคยเห็นบางช็อตที่เรากำลังสนทนากับคนที่อาวุโสกว่า เติมครับ/ค่ะ อยู่ดี ๆ ก็พูดรูปกันเองแทรกเข้ามา ทำเอางงว่าตกลงเธอจะพูดสุภาพหรือพูดแบบเพื่อนกัน เอาดีดี! และเราอาจจะคิดว่า หรือคน ๆ นี้อาจจะไม่แม่นภาษาญี่ปุ่น เลยใช้ระดับความสุภาพผิด ๆ ถูก ๆ ก็ได้
แต่จริง ๆ แล้ว การพูดสลับรูปสุภาพกับรูปธรรมดา เป็นการพูดคนเดียวอีกรูปแบบหนึ่ง (เอาอีกแล้ว!!) โดยจะมีบางช่วงที่คุย ๆ อยู่ จู่ ๆ ก็หันมาพูดกับตัวเอง (ทำเหมือนคู่สนทนาไม่ได้อยู่ตรงนั้นไปเลย อ้าว) โดยจะสังเกตได้ชัด ๆ จาก "ระดับความสุภาพในภาษา"
โดยช่วงที่หันมาพูดกับตัวเอง จะเป็นการพูดห้วน ๆ ไม่เติมรูปสุภาพ
และเรียกการสลับระดับภาษาแบบนี้ว่า スタイルシフト
ยกตัวอย่างเช่น
A: Cさんが離婚したこと、本当ですか?
B: うそ!まだ聞いてないんですけど!?
A: あ、そう?Facebookに書いていたらしいですよ。
จะเห็นว่า A กับ B มีความสัมพันธ์ที่คุยกันด้วยรูปสุภาพ แต่ตอนที่ B อุทาน จะ Switch ระดับภาษามาเป็นการรำพึงกับตัวเอง ส่วนประโยคที่สองของคุณ A ก็เหมือนกัน
ถ้าใครได้ลองใช้ภาษาญี่ปุ่นมาซักระยะหนึ่ง คงจะรู้สึกได้ว่า ภาษาญี่ปุ่นจะชอบพูดอ้อม ๆ ไม่แสดงความคิดเห็นออกมาตรง ๆ ซึ่งหลักการใช้ภาษาแบบนี้แหละ ที่ช่วยเสริมให้การพูดคนเดียว หรือการใช้ スタイルシフト ยิ่งปรากฎได้ชัดและบ่อยขึ้น เช่น การใช้คำลงท้าย ~かな? ~かね? (ใช่ไหมนะ?) ~かも(しれない)(อาจจะ) เวลาจะแสดงความคิดเห็น เพื่อให้ดูซอฟต์ๆ และไม่ดูมั่นอกมั่นใจ หรือยัดเยียดให้ผู้ฟังจนเกินไป
ยกตัวอย่างประโยค あのアイデア、いいかも!?
หรือการลงท้ายประโยค ○○くれないかな? (จะทำให้เราได้ไหมนะ?)
ที่เป็นเหมือนการพูดกับตัวเอง ถามตัวเอง แต่ขอร้องอีกฝ่ายแบบอ้อม ๆ
ถ้าใครอยากเจอประโยค 独り言 แบบจุใจ ลองไปฟังเพลงของ Back Number กันดูได้นะ
ยิ่งเป็นฟีลเพลงอกหัก ของถนัดของวงนี้ด้วยแล้ว ประโยครำพึงรำพันแบบเหงา ๆ ที่มุมห้องจะออกมาเยอะมาก ๆ เลย เช่น เพลง Happy Birthday นี้ ก็ขนกันมาหมด
ยกตัวอย่าง 1 ท่อน
ああ、そうか
そうだよな
Happy Birthday
片思いの俺
เศร้าจบครบด้วยตัวเอง ไม่ต้องโทรไปงอแงกับใคร ฮะๆ
เพลงของไทยเราส่วนมาก จะเป็นแนวส่ง Message ให้ใครคนนึงมากกว่า เช่น
"ฉันกำลังขอร้องอ้อนวอนเธออย่าไป" (คุกเข่า - Cocktail)
"โปรดรักฉัน รักฉัน เถอะนะ ฉันจะดูแลเธอให้ดี โปรดถามใจเธออีกที.." (Please - อะตอม ชนกันต์)
แต่ถ้าสังเกต เพลงของญี่ปุ่น จะเป็นการเล่าเรื่องฝ่ายเดียว และประโยคพูดคนเดียวแทรกอยู่เยอะกว่า
เรื่องนี้เราเองก็เพิ่งสังเกตเหมือนกัน ว่าภาษาญี่ปุ่นไม่ใช่แค่พูดอ้อม
แต่อ้อมแล้วยังทำเหมือนพูดกับตัวเองอีกต่างหาก ^^;
แต่เค้าก็ยังสื่อสารกับเรานะ แค่แกล้ง ๆ พูดคนเดียวเฉย ๆ
อย่าเข้าใจเค้าผิดกันล่ะ
.
.
.
นิสิตพาร์ทไทม์ :))
อ้างอิง:
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in