เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Study Japanese with nisitparttimenisitparttime
พูดญี่ปุ่นยังไงให้เซียนด้วย 慣用句 แต่ตอนเรียนเหมือนซ้อมเล่นตลกคาเฟ่
  • มาแล้วกับเรื่องแรกของนิสิตพาร์ทไทม์

    วันนี้จะพาไปดูบรรยากาศและเนื้อหาในห้องเรียนวิชา "ภาษาศาสตร์ญี่ปุ่นประยุกต์"
    ที่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้บล็อกนี้เกิดขึ้นมาให้ทุกคนฟังกันก่อน

    เราขออธิบายสั้น ๆ ก่อนนะว่าภาษาศาสตร์คืออะไร ต่างอะไรกับการเรียนภาษาเฉย ๆ

    ภาษาศาสตร์ต่างจากการเรียนภาษาปกติตรงที่ ภาษาศาสตร์คือการทำความเข้าใจระบบภาษา
    ที่มาที่ไป โดยอิงจากหลักการและทฤษฎีต่าง ๆ ที่ช่วยอธิบายให้เราเข้าใจว่า
    ทำไมภาษาถึงมีการเลือกใช้คำ และเรียงคำ ตามแบบที่เราใช้อยู่ในทุกวันนี้ได้

    เข้าเรื่องแล้วนะ

    ภาษาศาสตร์ประยุกต์ ก็คือการเอาหลักภาษาศาสตร์ไปปรับใช้กับศาสตร์แขนงอื่น ๆ
    อย่างที่ฮิต ๆ ตอนนี้ก็อาจจะเอาหลักภาษาไปควบคู่กับวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
    เพื่อพัฒนาระบบแปลภาษาอัตโนมัติ หรือพัฒนาคุณ Siri คู่ใจให้คุยรู้เรื่องขึ้น หรือเอามา
    ปรับใช้ในชีวิตประจำวันก็ได้เหมือนกัน อย่างประเด็นฮอตฮิตที่เพื่อน ๆ ในห้องโหวตกันว่า
    อยากศึกษาที่สุด นั่นก็คือ

    พูดอย่างไรให้เซียน/ฉลาด
    ส่วนเราฉลาดมั้ยก็อีกเรื่องนึง นึกถึงอิมเมจแบบภาพบนไว้นะ
    การใช้ภาษา สำหรับเราแล้วเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ไม่น้อยไปกว่าหน้าตา ต่อให้เนื้อหา ความคิดเหมือนกัน แต่ใช้ภาษาในการถ่ายทอดออกมาไม่เหมือนกัน Reaction ของคนฟัง ก็ต่างออกไปได้ จริงไหม

    ซึ่งเทคนิคการพูดให้ดู ฉลาด หรือดูเป็นคนเก่ง ในภาษาญี่ปุ่นที่เราเอามาแนะนำในครั้งนี้ ไม่ได้ยากถึงขนาดต้องใช้จิตวิทยาอะไรมากมาย แต่เป็นเทคนิคการใช้คำศัพท์ให้ดูโปรขึ้น เหมือนเราเรียนหนังสือมาเยอะ (ฮา) ซึ่งทริคในวันนี้เราจะมานำเสนอตัวอย่างการใช้  ”慣用句(かんようく)”

    慣用句 คืออะไร??

    慣用句 คือสำนวน หรือประโยคที่มีความหมายแฝง เกิดจากการรวมคำมากกว่าสองคำขึ้นไปเพื่อสร้างเป็นความหมายใหม่ ที่อาจจะไม่ตรงกับความหมายตรงตัวของคำนั้น ๆ เช่น

    足を洗う
    ไหนเดาความหมายกันซิ ล้างเท้า? เหยียบอะไรมาเหรอถึงต้องล้างเท้า ^^;; เอิ่บ
    ความหมายที่ถูกต้องของสำนวนนี้ คล้ายกับกับคำว่า "ล้างมือ" ในภาษาไทย โดยแปลว่า
    悪い仕事や行動をやめること หรือ เลิกยุ่งเกี่ยว/เลิกทำ สิ่งที่ไม่ดี นั่นเอง

    ซึ่งการใช้ 慣用句 หรือคำสำบัดสำนวนแบบนี้ นอกจากจะทำให้ภาษาของเราดูลื่นไหลแล้ว ยังช่วยให้พูดได้เนียน ดูรอบรู้เหมือนเรียนภาษาญี่ปุ่นมาแสนนานด้วยนะ (ว้าวมะ ว้าวเป็นเพื่อนหน่อย)

    แต่ด้วยการที่ความหมายของสำนวนกับคำศัพท์ตัวตั้งต้นของมันไม่เหมือนกัน ทีนี้ตอนเรียน หรือตอนเดาคำศัพท์ที่จะมาเติมใน 慣用句 เนี่ย ถ้าใครความคิดสร้างสรรค์หรือชอบเล่นมุกเล่นคำหน่อย ก็อาจจะเปลี่ยนโต๊ะ brainstorming ให้กลายเป็นโต๊ะตลกหกฉากได้ เช่นอาจารย์ให้โจทย์มาว่า

    いつまでも実家で親と同居では、____が狭い。(申し訳ない)
    การอยู่บ้านเดียวกับพ่อแม่ที่บ้านเกิดไปตลอด (อารมณ์ว่าเป็นครอบครัวใหญ่) นั้น รู้สึก..........แคบ
    ความหมายที่ต้องการ: รู้สึกเกรงใจ ผิดที่ผิดทาง

    คำตอบแรกของเรา
    家が狭い ค่ะ คนอยู่กันเยอะ บ้านก็แคบสิคะ
    แอดแอดดดด ไม่ใช่นะ อย่าเพิ่งจำอะไรผิด ๆ จากเรา 55555

    คำตอบที่ถูกต้องก็คือ 肩身が狭い
    (อารมณ์เหมือนต้องห่อไหล่ ย่อเหลือตัวเท่ามดเพราะเรารู้สึกเกรงใจ รู้สึกผิดนั่นเอง!)

    ทายถูกกันไหมเอ่ยย

    ป่ะ ตัวอย่างต่อไป ทีนี้มาลองเดาความหมายกันบ้าง

    私の母は顔が広いのでスーパーマーケットでいつも誰かと話している
    เพราะว่าแม่ของฉัน "หน้ากว้าง" เวลาอยู่ซุปเปอร์ฯ ก็จะได้คุยกับใครสักคนตลอดเวลา

    เพราะว่าคุณแม่ของฉัน "หน้ากว้าง" เหรอ??
    จะว่าเราหน้าบานหัวเถิกอะไรก็ได้ แต่ทำไมต้องสืบพันธุกรรมไปว่าแม่เราด้วย y___y งง

    ไม่ใช่นะ!! 55555
    ความหมายจริง ๆ ของ 顔が広い ในที่นี้คือ 人によく知られていること หรือ "มีคนรู้จักเยอะ" นั่นเอง
    เดากันถูกไหม?

    อ่ะข้อสุดท้ายของบล็อกนี้ ที่เหลือเราไม่มาตบมุกแกล้งทุกคนแล้ว เดี๋ยวจะให้ฝึกกันเองนะ

    高校時代の私は____が薄く、友達があまりいなかった。(目立たない)
    ตอนสมัยม. ปลาย ฉัน......จาง ก็เลยไม่ค่อยมีเพื่อน
    ความหมายที่ต้องการ: ไม่เด่น จืดจาง

    อะไรจางดี 財布が薄い ไหมนะ แบบว่าไม่มีเงิน ไม่มีเพื่อน เหมือนนิสิตพาร์ทไทม์คนนี้ยังไงล่ะ ^^;;

    ถ้าดูจากความหมายที่โจทย์ต้องการ สำนวนที่มีความหมายว่า "จืดจาง ไม่เด่น" คือ

    印象が薄い หรือ 影が薄い


    หลาย ๆ คน อาจจะนึกถึงคำว่า 存在感 (ความมีตัวตน) ซึ่งจะนำมาใช้ในความหมายนีี้ก็ได้เหมือนกัน
    แต่คำว่า 存在感 จะใช้คู่กับ ある・ない ไม่ใช้กับ 薄い หรือ 濃い แบบด้านบน

    เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่า การจับคู่คำต่าง ๆ ให้มีความหมายโดยนัยอย่างที่เราต้องการ มีอะไรที่ต้องระวังหลายอย่างเลย ซึ่งข้อควรระวังและความหลากหลายของคำนี่แหละ ที่จะทำให้เราดูเป็นผู้ใช้ภาษาญี่ปุ่นที่โปรมากขึ้น เมื่อเราสามารถพูด หรือฟังได้ความหมายที่ถูกต้อง ^^


    ถ้าใครสนใจอยากได้ตัวอย่าง 慣用句 เพิ่มเติม สามารถดูตัวอย่างและความหมาย

    ได้จาก 慣用句リスト ตามเว็บไซต์ได้เลย เราจะแปะเอาไว้ให้นะ

    2. 知識の泉 慣用句いちらん

    เข้าไปแล้วก็จะเจอ 慣用句 มากมายก่ายกอง เห็นแล้วสะดุดตาอยากรู้ความหมายของคำไหน
    ก็จิ้มเข้าไปได้เลย
    แล้วเว็บจะขึ้นหน้าที่อธิบายความหมายให้เราเอง

    ส่วนตัวแล้ว เราว่าเรื่องนี้สนุกมากนะ ยิ่งได้เรียนกับเพื่อน ๆ ช่วยกันเดาความหมายช่วยกันคิดคำ
    แล้วมีเพื่อนสายกวน ๆ ที่ชอบคิดคำแปลก ๆ มาเอาฮา แบบตัวอย่างที่เราเจอในห้องเรียนแล้วเอามาลงบล็อกนี้ ก็ไม่เครียดแถมจำง่ายขึ้นได้อีกใช่มั้ยล่ะ

    อย่างประสบการณ์ตรงของเราเอง เวลาไปเป็นล่าม แล้วต้องพูดภาษาญี่ปุ่นต่อหน้า Native Speaker
    ตลอดเวลา เรารู้สึกว่า ถ้าเทียบประโยคและการเลือกใช้คำของคนต่างชาติอย่างเรา ๆ ที่ยังชั่วโมงบิน
    ไม่สูงพอ กับคนที่พูดเก่งจริง ๆ หรือคนใช้เป็นภาษาแม่ มันดูออกว่าความลื่นไหลและเป็นธรรมชาติ
    ของภาษาไม่เท่ากันจริง ๆ บางครั้งเราก็นึกเกรงใจ รู้สึกผิด (肩身が狭い)นะว่า เค้าจ้างเรามาเนี่ย
    จ้างเรามาพูดเหมือนเด็กป. ห้า (อันนี้ก็แอบเวอร์) ใช้คำห้วน ๆ จบประโยคสั้น ๆ คุ้มแล้วจริงเหรอ

    จริงอยู่ที่ภาษาคือการสื่อสารให้เข้าใจก็พอ แต่ถ้าเราสื่อสารได้เข้าใจและใช้คำได้อย่างฉลาดและรอบรู้ล่ะ
    เราจะเป็นคนที่ดีกว่าเดิมได้มั้ย

    อันนี้คือเป้าหมายขั้นต้นของเรา ในการเลือกลงเรียนวิชาภาษาศาสตร์ญี่ปุ่นประยุกต์เทอมนี้

    .

    .

    .

    แล้วมาเป็นผู้ใช้ภาษาญี่ปุ่นแบบ Professional ไปด้วยกันนะทุกคน

    สู้ ๆ

    #นิสิตพาร์ทไทม์

    ?



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in