เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
#ดิออนออนเดอะโรลdionyk
14 : ออแพร์กับภาษี
  •      สวัสดีค่ะ กลับมาพบกันอีกแล้ว จริงๆเนื้อหาของอีพีนี้ควรจะมาตั้งแต่ปีก่อนแล้ว แต่ช่วงนั้นวุ่นวายเขียนเรื่องอื่นอยู่ เนื่องด้วยคลับเฮ้าส์กำลังมาเลยต้องใช้พื้นที่เขียนบทความรวมถึงโปรโมทห้องคลับเฮ้าส์ ฮ่าๆ ซึ่งปัจจุบันเราปิดคลับเฮ้าส์ไปแล้วนะคะ เพราะรู้สึกว่าหลังๆไม่ได้ใช้เลย เลยไม่รู้จะทำไปทำไม แล้วประจวบเหมาะกับตอนนี้ในทวิตเตอร์ที่เราใช้เป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารกับทุกคนมีสเปซขึ้นมา การทำงานคล้ายคลึงกับคลับเฮ้าส์เลยค่ะ ก็เลยคิดอยู่เหมือนกันว่าเผื่อใครอยากให้มาพูดอะไร อาจจะเปิดห้องขึ้นมาสนทนาด้วยกันสักวัน แต่... เอาไว้ในตอนที่มีไฟกว่านี้แล้วกันนะคะ ฮ่าๆ
         เอาล่ะ วันนี้เรามาพูดถึงเรื่องภาษีที่ออแพร์ต้องจ่ายกัน ตอนเรามาปีแรกเราก็งงค่ะ แต่ก็ได้โพสต์ของออแพร์รุ่นพี่ในกลุ่มช่วยชีวิตไว้ ปีนี้ก็เลยคิดว่าถึงเวลาของเราบ้างแล้วที่ต้องมาเขียนเป็นแนวทางไว้ จริงๆก็เอาไว้ให้ตัวเองด้วยหนึ่งเพราะเราต้องจ่ายภาษีอีก 2 ครั้งเลยค่ะ คือปีนี้ 2022 ที่เป็นช่วงจ่ายภาษีของปี 2021 และปีหน้า 2023 ที่เป็นช่วงจ่ายภาษีของปี 2022 ถ้าพร้อมแล้ว เราไปเริ่มจ่ายภาษีด้วยกันเลยนะคะ

    ออแพร์ต้องจ่ายภาษี?
         ใช่ค่ะ เพราะทาง IRS ระบุไว้ในเว็บเลยว่าเขาพิจารณาว่าออแพร์คือคนทำงาน ทำให้ออแพร์ต้องจ่ายภาษีนะคะ ส่วนภาษีที่ต้องจ่ายคือ Federal tax ซึ่งเป็นภาษีที่เรียกเก็บกับคนทำงานในอเมริกา ออแพร์จึงต้องจ่ายภาษีตัวนี้ค่ะ ซึ่งทุกๆปีก็จะมีเพื่อนๆพี่ๆทุกท่านเขียนโพสต์เป็นปณิธานให้ตลอด เราเองก็อาศัยเขาตลอดเช่นกันค่ะ เพราะไม่ค่อยจำอะไร ทำหน้าที่จ่ายไปอย่างเดียวจบ ฮ่าๆ แต่ปีนี้ตัดสินใจมาทำไว้แล้วกัน ปีหน้าเราจะได้ใช้ข้อมูลที่ตัวเองรวบรวมเองในการจ่ายบ้าง ซึ่งปีนี้เอง deadline ของการจ่ายภาษีคือวันที่ 18 เมษายน 2022 ค่ะ

    วิธีคำนวณภาษี
         การคำนวณภาษีคือเราต้องคำนวณจากระยะเวลาที่เราทำงานค่ะ โดยนับทุกวันศุกร์ของสัปดาห์ เพราะของเราได้เงินทุกวันศุกร์นะคะ จนถึงวันศุกร์สุดท้ายของปีนั้นๆ ยกตัวอย่างปีแรกของเราแล้วกันนะคะ เรามาถึงอเมริกา 21 ตุลาคม และเราก็ได้รับเงินอาทิตย์แรกวันที่ 25 ตุลาคมเลย ตอนนั้นเป็น orientation อยู่แต่โฮสต์จ่ายให้เต็ม 195.75$ ในอาทิตย์แรกค่ะ (เราเป็นออแพร์ทั่วไปนะคะ ไม่ใช่ extra ordinary เลยได้รับเงินตามที่ระบุไว้ข้างต้นเลยค่ะ ส่วนใครที่เป็น extra ordinary ก็แนะนำว่าจ่ายให้ถูกต้องตามที่ตัวเองได้รับดีกว่าค่ะ) การเริ่มนับจำนวนสัปดาห์ของเราก็นับตั้งแต่ศุกร์นั้นที่ได้เงินมาจนถึงศุกร์สุดท้ายที่ได้ในของปีนั้นๆ ส่วนใครที่ทำทั้งปีก็ไม่ต้องคิดให้ยากค่ะ เอาจำนวนเงินคูณกับจำนวนสัปดาห์ทั้งหมด นั่นคือ 52 สัปดาห์เข้าไปเลย และจะได้จำนวนรายได้ทั้งหมดที่เราได้รับต่อปีมาและหลังจากนั้นก็เอาไปเทียบกับ Timetable ของภาษีในปีนั้นๆนะคะ ของปี 2021 ก็ที่นี่เลยค่า คลิก
         โดยการคำนวณภาษีนี้ เอาแค่จำนวนเงินสุทธิที่ได้รับนะคะ ไม่รวมงาน extra กับโฮสต์/ค่าใช้จ่ายอื่นๆที่โฮสต์ให้เพิ่ม/ไม่รวมเงินของขวัญใดๆ หรือใครที่ไม่ได้รับเงินในสัปดาห์ใดสัปดาห์หนึ่งก็ไม่ต้องรวมเข้าไปนะคะ อย่างของเรามีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปีแรกเหมือนกันที่โฮสต์บ้านแรกไม่จ่ายเรา 1 สัปดาห์ เราคุยแชทกับเขาด้วย เราเลยแคปหลักฐานนี้ส่งแนบไปกับเอกสารอื่นๆให้กับ IRS ด้วยเลยค่ะว่าเราได้รับเงินแค่ 51 สัปดาห์ (เราส่งไปเผื่อเฉยๆนะ กลัวมีปัญหา ฮ่าๆ)
         มีถามมาทุกปีในกลุ่มออแพร์อีกค่ะว่าเราทำแค่เดือนเดียวของปีนั้น เราต้องจ่ายภาษีหรือเปล่า? คำตอบคือจ่ายทั้งหมดค่ะ คุณจะทำอาทิตย์เดียวก็จ่าย เพราะตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา เขายกเลิกการลดหย่อนภาษีของออแพร์ ออแพร์ต้องจ่ายภาษีทุกคนตามจำนวนเงินที่ได้รับในปีนั้นๆเลยค่ะ เราเข้าใจนะว่ามันแค่ไม่กี่อาทิตย์อะไรงี้ เราถึงกับต้องส่งฟอร์มจ่ายเลยเหรอ ก็บอกเลยว่าต้องทำค่ะ เพื่อไม่ให้มีปัญหาในอนาคตเนอะ เพราะมันอาจจะส่งผลเสียให้กับการของวีซ่าเข้าอเมริกาใหม่ในอนาคตได้ค่ะ ทำตามกฎถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดนะคะ

    ตัวอย่างการคำนวณภาษี 
         เราขอแบ่งเป็น 2 กรณีคือกรณีที่ทำเต็มปีและไม่เต็มปีนะคะ
         1) กรณีที่ทำไม่เต็มปี เราขออ้างอิงของเราเองนะคะ คือสมมติว่าเป็นปี 2019 ก่อนนะ (แต่ทุกคนต้องจ่ายของปี 2021 นะคะ อันนี้เรายกตัวอย่างการคำนวณเฉยๆน้า)
         เราทำทั้งหมด 10 weeks เราได้รับเงิน 195.75$ เป๊ะๆ = 10 x 195.75 = 1,957.5$
         เราเอาไปเทียบในตาราง (สมมติเป็นของปี 2021 นะคะ คลิก) เราต้องจ่ายภาษีทั้งหมด 196$ (รายได้เราอยู่ระหว่าง range ที่เราไฮไลต์ เลยจ่ายตามจำนวนนั้นๆนะคะ)
         2) กรณีทำงานเต็มปีอย่างที่บอกเลยค่ะว่าไม่ต้องคิดให้ยากเลย เอาเงินที่ได้รับ x จำนวน 52 สัปดาห์ เลย เช่นของเรา 195.75$ x 52 = 10,179$ ให้เอาเงินจำนวนนี้ไปเทียบตารางดูค่ะ (ตารางเดียวกันกับข้อก่อนหน้านะคะ) เราต้องจ่ายภาษีทั้งหมด 1,022$ (รายได้เราอยู่ระหว่าง range ที่เราไฮไลต์ เลยจ่ายตามจำนวนนั้นๆนะคะ)

    การกรอกฟอร์มยื่นเสียภาษี
         เราขออนุญาตแปะเป็นลิงก์ให้แทนนะคะ เพราะตัวอย่างที่เราทำไว้ให้มันเป็นเอกสาร pdf คนที่เข้ามาอ่านบล็อกจะได้เห็นชัดๆด้วยเนอะ รอบนี้เพื่อนเราบอกว่ามี 3 ฟอร์มนะคะ เดี๋ยวเราแปะให้ตามด้านล่างนี้เลยนะ

         - ดาวน์โหลดเอกสารเปล่า (form 1040-NR) คลิก
         - ตัวอย่างการกรอกเอกสาร (form 1040-NR) คลิก
         - ดาวน์โหลดเอกสารเปล่า (form schedule OI) คลิก
         - ตัวอย่างการกรอกเอกสาร (form schedule OI) คลิก
         - ดาวน์โหลดเอกสารเปล่า (form 8843) คลิก
         - ตัวอย่างการกรอกเอกสาร (form 8843) คลิก

         อาจจะมีงงๆว่า form 8843 คืออะไร มันคือ statement ที่กรอกเพื่อยื่นให้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมให้ US government เฉยๆค่ะ ก็ไม่มีอะไรมาก ถ้าอยากอ่านเพิ่มเติม แนะนำให้อ่านจากตรงนี้นะคะ คลิก

    วิธีจ่ายภาษี
         เราขอยกตัวอย่างเดียวนะคะ เพราะว่าเคยทำแต่จ่ายออนไลน์ ไม่เคยจ่ายผ่าน money order หรือผ่อนจ่ายมาก่อน (เก็บเงินเพื่อจ่ายภาษีนี่แหละค่ะ แง) การยกตัวอย่างของเราจะเป็นการอ้างถึงการจ่ายภาษีของปี 2020 เพราะปีนี้เราจะรอรอจ่ายหลังจากกลับมาจากเวเคชั่นค่ะ แต่ถ้าใครมีข้อสงสัยอะไรทักถามได้ตลอดนะคะ ทางทวิตเตอร์เลยน้า

         1) เริ่มจากเข้าไปในนี้เลยนะคะ หน้า payment คลิก
         2) กดเลือกตามที่แสดงในภาพเลยค่ะ
         3) คลิกแล้วจะเข้ามาหน้านี้ค่ะ
         4) ไปต่อเรื่อยๆเลยค่ะ ตามภาพด้านล่างเลยค่ะ
         5) เลือกฟอร์มแล้ว มันจะมาหน้ากรอกข้อมูล ให้กรอกทุกอย่างเลยน้า (step 3 ตอบ NO นะคะ เพราะเราไม่ได้แต่งงาน เราจ่ายแบบ single ค่ะ)  ที่อยู่ก็เป็นของอเมริกาเลยนะคะ (บ้านโฮสต์) กรอกเสร็จก็กด accept terms เลยค่ะ (ยังไม่ตัดเงินน้า)
         6) กรอกเสร็จมันจะพาไปหน้า payment นะคะ (ลำดับถัดมา) กรอกข้อมูลบัตรให้เรียบร้อย เราจ่ายจากบัตร debit นะคะ ถ้าเรียบร้อยแล้วก็กดไปหน้าถัดไป มันจะให้ review อีกครั้ง
         7) เช็กข้อมูลเพื่อความถูกต้องอีกครั้ง ถ้าทุกอย่างโอเคแล้วก็คลิก submit payment เลยนะคะ อย่างที่บอกว่าปีก่อนเราได้เงินแค่ 51 สัปดาห์ ทำให้ปีที่แล้วเราจ่าย 1,000$ + payment fee 2$ = 1,002$ นะคะ
         8) มาถึงหน้านี้จะถือว่าเสร็จสิ้นแล้ว แต่อย่าลืมปริ้นท์การชำระเงินนี้ส่งไปให้ IRS ทางจดหมายอีกครั้งด้วยนะคะ หรือถ้าใครลืม สามารถปริ้นท์อีเมลที่เขาส่ง confirmation number ไปได้ค่ะ

    การส่งเอกสารไป IRS
         เนื่องจากเราจ่ายแบบออนไลน์มาตลอด เลยไม่มีการ enclose payment ไปในเอกสารที่ต้องส่งให้ IRS สำหรับคนที่จ่ายออนไลน์ ให้ส่งเอกสาร Form โดยการส่ง ส่งแบบจดหมายปกติได้เลยค่ะ เราก็ทำ ติดสแตมป์ forever 1 ดวงแล้วหย่อน Dropbox ของ usps ได้เลยค่า

    Department of the Treasury
    Internal Revenue Service
    Austin, TX  73301-0215
    USA

    ที่อยู่ตามด้านบนเลยนะคะ หรือใครที่จะจ่ายแบบ money order ให้ส่งไปอีกทีนะคะ ดูที่อยู่เพิ่มเติม คลิก

    การขอ tax transcript
         อันนี้คงเป็นเรื่องสุดท้ายที่จะเขียนในอีพีนี้ คือการขอใบรับรองการจ่ายภาษีค่ะ สามารถทำได้หลังจากที่จ่ายภาษีไปแล้ว 1-2 เดือน เราจำวิธีได้ไม่แน่ชัด แต่ขออนุญาตแปะลิงก์เว็บไซต์ที่ต้องเข้าไปเพื่อขอใบรับรองการจ่ายให้ก่อนนะคะ คลิก ใครที่มีคำถามใดๆเกี่ยวกับการจ่ายภาษีหรือข้อสงสัยอื่นๆที่อยากถาม สามารถทักหลังไมค์มาได้เสมอที่ทวิตเตอร์นะคะ

         เอาล่ะค่ะ วันนี้คงต้องขอตัวลาไปก่อน หลังๆไม่ค่อยได้อัปบล็อกหรือทำอะไรเท่าไหร่ เพราะหมดไฟมากแล้วจริงๆ แต่อย่างที่บอกมาตลอดนะคะว่าสามารถทักมาสอบถามหรือทักมาคุยในทวิตเตอร์ เพราะเรายินดีช่วยเหลือมากๆ ขออนุญาตว่าถ้าคำถามไหนมีในบล็อกแล้ว เราจะไม่ตอบตั้งแต่เริ่ม เราจะแปะบล็อกให้เลย ฉะนั้นก่อนจะทักไปถามใดๆ รบกวนอ่านบล็อกเราก่อนน้า เราเขียนเยอะมาก จนคิดว่ามันแทบจะมีทุกคำตอบให้ทุกคนในนี้แล้ว แง ยังไงก็ฝากด้วยค่ะ ไว้เจอกันอีพีหน้านะคะ ;)

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in