เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
#ดิออนออนเดอะโรลdionyk
15 : AP102 (วิชาตัวเลือกของฉัน)
  •      สวัสดีค่า กลับมาพบกับบทความใหม่ที่ทุกคนอาจจะงงๆว่ามันหมายถึงอะไร ฮ่าๆ ก่อนจะเข้าถึงเนื้อหาของบทนี้ เราขออนุญาตมาอัปเดตความเป็นไปของบล็อกในปัจจุบัน รวมถึงแนวทางที่จะเป็นไปของบล็อกในอนาคตอีกนิดนึงนะคะ เพราะอย่างที่เราบอกมาตลอดเลยว่าเราหมดมุกจะเขียนแล้ว ไม่รู้จะเขียนอะไร แง แต่ถ้าใครมีข้อสงสัยและอยากจะสอบถามอะไร ทักมาหาเราได้ตลอดทางทวิตเตอร์นะคะ
         อัปเดตก่อนเลยว่าตอนแรกจริงๆแล้วบทนี้จะพูดถึงเรื่อง road-trip เราเขียนบทนำไปได้นิดนึงแล้ว แต่มานึกอีกทีคือมันเยอะมาก แล้วเรายังไม่เคยเขียนบล็อกท่องเที่ยวจริงจังสักครั้ง ก็เลยไม่รู้ว่าจะดำเนินเรื่องไปในทางไหน เราเลยตัดสินใจลบออกแล้วเปลี่ยนหัวข้อในอีพี 15 นี้ เป็นเรื่องของเราแทนก่อนดีกว่า เพราะอย่างที่บอกว่ามันยาวมาก มันจะไม่เหมือนที่เราเขียนเกี่ยวกับการเที่ยวในนิวยอร์กไป เพราะอันนั้นรายละเอียดจะน้อยกว่า เวลาของทริปก็สั้น ก็เลยจะขอศึกษาแนวทางการเขียนบล็อกท่องเที่ยวอีกนิดนึงแล้วจะกลับมาเริ่มเขียนอีกครั้งนะคะ
         มาเข้าส่วนเนื้อหาของอีพีนี้กันเลยแล้วกันนะคะ นั่นคือ ‘ตัวเลือกของฉัน’ แน่นอนล่ะว่ามันหมายถึงเราเอง อาจจะแปลได้อีกความหมายว่าตัวเลือกอื่นๆที่นอกเหนือจากออแพร์อเมริกาสำหรับทุกคน แต่สำหรับเราคือตัวเลือกที่เลือกจะทำต่อหลังจบโครงการที่อเมริกา แอบใจหายนะที่จู่ๆก็จะอยู่ที่เมกาครบ 2 ปี 9 เดือนแล้ว ความคิดมันปะเดปะดังมาตั้งแต่ปีก่อนที่จะจบโครงการปีที่ 2 แล้วค่ะ สุดท้ายก็ได้อยู่ต่อมาจนถึงปีที่ 3 ของการเป็นออแพร์ แต่ถ้าใครอ่านอีพีที่ 10 เรื่องประสบการณ์ของเรา ก็จะรู้เนอะว่าเราเคยทำเรื่องไปต่อที่ยุโรปไว้ และใช่ค่ะ… เราเลือกที่จะไปเป็นออแพร์ที่ยุโรปต่ออีกหนึ่งปีเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ก่อนที่จะ Settle down กับอะไรจริงจังสักทีจริงๆ ฮ่าๆ
         แต่การไปเป็นออแพร์ที่ยุโรปของเราจะแตกต่างจากที่หลายคนรีวิวในยูทูปนิดนึงนะคะ ส่วนใหญ่คือการหาโฮสต์เองแล้วให้เอเจนซี่ของโฮสต์เป็นคนทำสัญญาและเอกสารต่างๆช่วย รวมถึงเอาตัวเราเข้าไปอยู่ในเอเจนซี่นั้นๆที่โฮสต์อยู่ ค่าใช้จ่ายก็จะถูกลงเยอะเลย ต่างจากอเมริกาที่ต้องมากับเอเจนซี่เท่านั้น แต่ในส่วนของเรานั้น เราสมัครกับเอเจนซี่ที่ไทยค่ะ เพราะตอนนั้นที่เริ่มทำเอกสารคือเราอยู่อเมริกาแล้วไม่ค่อยจะมีเวลา แต่จริงๆก็เคยลองหาเองดูแล้ว แล้วมันไม่มีเลย ไม่มีใครตอบ Positive กลับมาสักคน ฮ่าๆ หาเองอยู่เกือบ3เดือนเลยค่ะ เงียบมากๆ เราก็เลยตัดสินใจไปกับเอเจนซี่แทน ให้พี่เขาช่วยอะไรหลายๆอย่างด้วย อุ่นใจขึ้นเยอะนะ พูดเกริ่นมาเยอะแล้ว เดี๋ยวพาไปเข้าเนื้อหาหลักในเรื่องของรายละเอียดโครงการออแพร์ในยุโรป รวมถึงบอกขั้นตอนการทำเอกสารของเรากับเอเจนซี่ไทยคร่าวๆนะคะ อาจจะไม่ได้ลงลึก เพราะเราก็มีความรู้เรื่องโครงการฝั่งนั้นน้อยบวกกับยังเพิ่งเริ่มทำเอกสารได้ไม่นาน ก็เลยจะพูดอะไรได้ไม่มาก แต่ถ้าพร้อมแล้วก็ไปเริ่มกันเลยค่ะ ;)

    - ออแพร์คืออะไร?
         มาทวนกันอีกรอบว่าออแพร์คืออะไรนะคะ ออแพร์คือโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ผู้แลกเปลี่ยนจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้วยการอาศัยกับโฮสต์แฟมมิลี่และโฮสต์จะสนับสนุนค่าเล่าเรียนภาษาให้เราด้วย โดยที่ออแพร์จะต้องทำงานเลี้ยงดูบุตรให้กับโฮสต์แฟมมิลี่เพื่อแลกกับการอยู่อาศัยค่ะ ออแพร์ยุโรปกับออแพร์อเมริกาจะคล้ายคลึงกันเลย ต่างกันที่ในยุโรปนั้นบางประเทศจะรับออแพร์ได้ถึงอายุ 30 ปีแต่ไม่เกิน 31 ปีเลยทีเดียว ที่แตกต่างกันอีกหน้าที่คือการดูแลงานบ้าน อันนี้เราก็ยังไม่เคยไปสัมผัสด้วยตัวเองจริงๆ แต่หลายคนก็บอกมา แถมพี่เอเจนซี่เรา เขาก็บอกด้วยแหละค่ะว่าอย่าคาดหวังว่าจะเหมือนที่อเมริกา ยังไงก็ต้องได้ทำงานบ้าน จะมากจะน้อยยังไงก็ต้องคุยกับโฮสต์เอา แต่เขาบอกว่าทำงานบ้านแน่นอนค่ะ

    - ออแพร์ได้รับสิทธิอะไรบ้าง?
         พอมาถามคำถามนี้ มันจะแตกต่างจากอเมริกามากๆค่ะ เพราะแต่ละประเทศก็ได้สิทธิประโยชน์ไม่เหมือนกันเลยในสักข้อ ที่จะเหมือนคงเป็นได้เงินตอบแทน+เงินเรียนภาษา แต่เรื่องจำนวนนี่เราต้องมากางดูกันชัดๆเลยค่ะ เราขออนุญาตอ้างอิงข้อมูลต่างๆถึงเอเจนซี่ที่เราร่วมโครงการด้วยนะคะ พอดีเราไม่มีความรู้อื่นๆเลย รู้แค่ประเทศที่มีในรายชื่อของเอเจนซี่เราเท่านั้น เราขอแจกแจงรายละเอียดของแต่ละประเทศก่อนนะคะ ในหัวข้อย่อยนี้จะมีสิทธิประโยชน์ที่ออแพร์ในแต่ละประเทศจะได้รับรวมไว้อยู่ด้วย ก่อนที่เราจะพาไปดูรายชื่อเอเจนซี่ในไทยอีกที พร้อมแล้วก็ไปกันเลย

         + รายชื่อประเทศที่เรารู้จักของออแพร์ยุโรป
              เราขอไม่อธิบายเพิ่มเติมนะคะ สำหรับประเทศที่เราได้สรุปและทำข้อมูลในรูปแบบของภาพมาให้แล้ว เพราะเรามีข้อมูลแค่นั้นเหมือนกันค่า ยังไงลองอ่านดูตามด้านล่างนี้เลยนะคะ

    1) เดนมาร์ก

    2) สวีเดน

    3) นอร์เวย์

    4) เนเธอร์แลนด์ : จะมีกฎใหม่บังคับใช้เรื่องอายุออแพร์เร็วๆนี้ค่ะ จะเปลี่ยนเป็นผู้ที่สามารถไปเป็นออแพร์เนเธอร์แลนด์ได้จะต้องมีอายุระหว่าง 18-25 ปี เห็นบอกว่าจะเริ่มตุลาคม 2022 นี้นะคะ ยังไงใครสนใจประเทศนี้ต้องรอดูข้อจำกัดใหม่นี้ด้วยนะคะ

    5) เบลเยียม

    6) ออสเตรีย

    7) ลักเซมเบิร์ก

    8) เยอรมนี

    9) ฝรั่งเศส

         อันนี้เป็นรายชื่อประเทศทั้งหมดที่เราได้รับข้อมูลมาจากเอเจนซี่ของเรานะคะ แต่ว่าจริงๆมันก็มีอีกหลายประเทศ เราขออนุญาตพูดถึงโดยสังเขปแล้วกันนะคะ พอดีว่าเราเองก็ไม่มีความรู้มาก่อน แต่ได้อ่านและรับสารจากเพื่อนๆในกลุ่มออแพร์ยุโรปมาบ้าง ดังนั้นจึงขออนุญาตพูดถึงแต่ประเทศที่เราเคยอ่านมาบ้างนะคะ ตามด้านล่างนี้เลยค่ะ
         - สวิตเซอร์แลนด์ : ตอนนี้มีข้อจำกัดมากขึ้นทำให้ยากต่อการรับออแพร์นอก EU เข้ามา ส่วนมากในขณะนี้จะรับออแพร์ในกลุ่มประเทศ EU ซะมากกว่า เพราะโฮสต์จะต้องขอ Residence Permit ให้ตัวออแพร์ แล้วต้องไปดูอีกว่าแต่ละเขตมีโควตาให้ออแพร์นอก EU มั้ย ถ้าไม่มีก็หมดสิทธิ์ค่ะ แต่ว่าปีนี้เห็นคนมารีวิวในกลุ่มว่าได้ไปแล้ว ประมาณ 2 คนนะคะ ส่วนเราไม่มีความรู้อะไรมาก ขอไม่พูดถึงลึกๆแล้วกันเนอะ
         - อิตาลี : มีคนไปทำงานเลี้ยงเด็กในอิตาลีนะคะ แต่ไปในฐานะวีซ่านักเรียน เราเห็นคนมารีวิวเหมือนกัน ไม่แน่ใจว่าข้อตกลงในการทำงานและอะไรอื่นๆมันจะเหมือนออแพร์เลยมั้ย แต่ก็มีคนเตือนว่าระวังโดนสแกมเหมือนกันค่ะ ยังไงใครสนใจประเทศนี้ลองศึกษาดูแน่นๆก่อนตัดสินใจนะคะ
         - สเปน : เช่นเดียวกันกับอิตาลีค่ะ มีคนไปทำงานเลี้ยงเด็กในฐานะวีซ่านักเรียนเหมือนกัน เราเห็นคนมารีวิวอีกนั่นแหละเขาทำงานเหมือนเป็นออแพร์แต่อยู่ในฐานะวีซ่านักเรียนในสเปน ยังไงใครสนใจก็ลองศึกษาดูอีกทีแล้วกันนะคะ
         - ไอซ์แลนด์ : เหมือนเคยเห็นอยู่แว่บหนึ่งเมื่อปีก่อนว่ามีคนสนใจไปเหมือนกัน ประเทศนี้เหมือนจะมีออแพร์นะคะ อายุน่าจะระหว่าง 18-25 ปีค่ะ เราไม่แน่ใจว่ามีคนไทยคนไหนไปแล้วหรือยังไง และข้อมูลก็น้อยมากๆ ยังไงลองศึกษาดูอีกทีนะคะ
         - ไอร์แลนด์ : ชื่อคล้ายๆกันกับประเทศก่อนหน้า แต่ว่าของประเทศนี้ไม่มีวีซ่าออแพร์ค่ะ ถ้าจะทำน่าจะไปในฐานะนักเรียนอีกเหมือนเดิม ยังไงลองศึกษาดูอีกทีแล้วก็ระวังสแกมกันด้วยนะคะ
         - อังกฤษ : อันนี้น่าจะต้องเตือนกันเยอะๆเลยว่าอังกฤษไม่มีวีซ่าออแพร์ แถมหลังๆนี้ก็มีคนมาบอกด้วยนะว่าแม้แต่วีซ่านักเรียนก็ให้ระวังตัว เพราะสแกมเยอะมาก เยอะแบบบ่ไหวแล้ว เราเลยแนะนำว่าตัดประเทศนี้ออกไปเลยดีกว่าค่ะ เสี่ยงเกินไป
         - ฟินแลนด์ : มีวีซ่าออแพร์ค่ะ แล้วก็ต้องมีใบรับรองการเรียนภาษาฟินนิชแนบไปด้วย ถ้าลองค้นหาในกลุ่มออแพร์ไทยในยุโรปจะมีคนมารีวิวไว้อยู่ค่ะ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับคนที่สนใจประเทศนี้นะคะ

         และทั้งหมดนี้ก็เป็นการแนะนำสิทธิที่ออแพร์ยุโรปในแต่ละประเทศจะได้รับและให้ข้อมูลเกี่ยวกับออแพร์ยุโรปแบบพื้นฐานไปในตัวด้วยนะคะ จบหัวข้อนี้แล้ว เดี๋ยวต่อไปเราจะมาพูดถึงการหาโฮสต์ทั้งแบบไม่มีเอเจนซี่และมีเอเจนซี่แล้วกันนะคะ เพราะออแพร์ยุโรปมันจะแตกต่างจากออแพร์อเมริกาหลายส่วน ส่วนของการหาโฮสต์ก็สำคัญ ถ้าพร้อมแล้วก็ไปอ่านกันเลยค่า

    - การหาโฮสต์ของออแพร์ยุโรป
         แน่นอนว่าจะสับเป็นข้อย่อย 2 ข้อ เหมือนที่เกริ่นไปก่อนหน้า โดย 2 ข้อที่พูดก็มีดังต่อไปนี้ค่ะ
         
         + การหาโฮสต์โดยไม่มีเอเจนซี่ : อันนี้บอกเลยว่าข้อดีคือประหยัดลงมากๆ ไม่ต้องเสียค่าดำเนินการให้เอเจนซี่เลยแม้แต่บาทเดียว เราทำทุกอย่างเอง ที่ต้องเสียก็เป็นค่าวีซ่าและค่าเอกสารอื่นๆเท่านั้น ฝั่งโฮสต์จะมีเอเจนซี่ของเขาอยู่แล้ว และทางเอเจนซี่ของโฮสต์ก็จะช่วยเราทุกอย่างเองค่ะ (ขอแก้ไขว่ามีแบบนี้ในบางประเทศนะคะ หลายๆประเทศไม่จำเป็นต้องมีเอเจนซี่ของทางฝั่งโฮสต์ก็ได้ค่ะ) แต่ข้อเสียก็อาจจะมีตรงบางทีหัวจะปวดนิดนึงเพราะการหาโฮสต์เองคือเราต้องไล่ทักไปหาทุกคน จนกว่าจะมีสักครอบครัวตอบ positive กลับมาแล้วจะได้เริ่มขั้นตอนต่อไปกัน แต่การหาเองก็ไม่ใช่ยากค่ะ ไม่ต้องห่วงน้า ถ้าใครอยากประหยัดเงินในตรงนี้ เราแนะนำว่าหาเองเลยค่ะ เดี๋ยวเรามาแนะนำเว็บไซต์ที่ออนไลน์หาโฮสต์เองได้แล้วกันนะคะ

              1) aupairworld : เว็บไซต์ยอดฮิตในการหาโฮสต์เลยค่ะ รูปแบบเว็บใช้งานง่ายมาก ถ้าเพิ่งเริ่มต้น เราแนะนำว่าสมัครเว็บนี้แล้วขยันส่งข้อความหาโฮสต์เอาน่าจะได้โฮสต์ง่ายกว่าเว็บอื่นๆค่ะ ยังไงลองศึกษาดูได้นะคะ คลิก
              2) AuPair.com : อันนี้ฮิตลองลงมาจากอันแรก แต่เหมือนจะส่งข้อความหาโฮสต์เองไม่ได้ถ้าไม่สมัครพรีเมียมนะคะ เราเคยใช้ช่วงหนึ่งแต่ว่าไม่ได้สมัครพรีเมียม รูปแบบเว็บจะงงนิดหน่อยแต่ว่าโฮสต์เยอะมากค่ะ ยังไงลองดูนะคะ คลิก
              3) aufini : เป็นอีกอันที่เราใช้ตอนเราพยายามหาโฮสต์เอง อันนี้เราสมัครพรีเมียมลองดูค่ะ เพราะว่าราคาถูกสุดในทุกอัน ฮ่าๆ ช่วงที่เราสมัครดูเหมือนโฮสต์จะไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ แต่มีคนแนะนำว่าถ้าต้องการโฮสต์แถบสแกนดิเนเวีย (นอร์เวย์, สวีเดนและเดนมาร์ก) โฮสต์ในเว็บนี้จะเยอะกว่าภูมิภาคอื่นค่ะ ยังไงลองดูได้นะคะ คลิก

         เราขอแนะนำเว็บไซต์ที่สมัครหาโฮสต์เองได้ประมาณนี้นะคะ พอดีเราก็ลองด้วยตัวเองอยู่แค่ 3 เดือน แล้วมันไม่มีเลยจริงๆ ผนวกกับตอนนั้นที่เราเริ่ม เราอยู่อเมริกาอยู่ก็เลยเปลี่ยนใจติดต่อเอเจนซี่ไปแทน เพื่อให้พี่เอเจนซี่ช่วยเหลือเราและรวบรวมโฮสต์มาให้เราสัมภาษณ์เอง แต่การใช้เอเจนซี่ก็ไม่ใช่ว่าไม่ได้ทำอะไรเองเลยนะคะ ต้องกรอกข้อมูลเยอะอยู่เหมือนกัน เดี๋ยวเรามาแนะนำเอเจนซี่ในไทยพร้อมกับพูดเรื่องขั้นตอนของเราเล็กน้อยในหัวข้อถัดไปนะคะ
       
         + การใช้เอเจนซี่ในการหาโฮสต์ : แน่นอนแหละว่าข้อนี้มีข้อเสียหนึ่งเลยคือแพ๊งงงง ฮ่าๆ ขั้นต่ำก็คงจะต้องเตรียมเงินไว้ที่ 3-4 หมื่นบาทเลยค่ะ เพราะต้องจ่ายค่าดำเนินการให้เอเจนซี่ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 25,000 บาทแน่นอน แต่ข้อดีก็มีคือเรามีที่ปรึกษา เวลามีปัญหาอะไรก็ปรึกษาได้เสมอ เราเลยอุ่นใจนิดนึงนะ เพราะตัวเราก็ใหม่กับออแพร์ยุโรปมากๆ เดี๋ยวเราขอรวบรวมเอเจนซี่ในไทยที่เราเห็นมาไว้คร่าวๆนะคะ เอาที่เห็นผ่านตามาตลอดปีที่ผ่านมานะคะ หากมีเอเจนซี่ไหนที่เพื่อนๆรู้จักแต่ไม่มีในลิสต์นี้ ก็สามารถแนะนำเรามาได้นะคะ เดี๋ยวเรามาแก้ไขให้ค่ะ

              1) Au Pair Alternative : แนะนำเป็นเจ้าแรก เพราะเราไปกับพี่เอเจนซี่นี้นั่นเองค่ะ เราว่าโดยรวมแล้วพี่เขาดูแลดีนะคะ แต่ตอนนี้เราอยู่ในขั้นหาโฮสต์ก็คงจะพูดอะไรมากมายไม่ได้ ต้องรอดูจนถึงเราได้ไปอยู่จริงๆแล้วจะมารีวิวให้อ่านอีกทีค่ะ ซึ่งเอเจนซี่นี้จะรับทำเรื่องออแพร์ทั้งหมด 9 ประเทศตามที่เราได้เขียนแนะนำไปแล้วนะคะ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางนี้เลยค่ะ คลิก
              2) Thaiaupair : อันนี้ออแพร์อเมริกาทุกคนคงรู้จักดีอยู่แล้วเนอะ ในฝั่งของอเมริกาคือเป็นเอเจนซี่ที่อยู่มานานแล้วและไว้วางใจได้ค่ะ ซึ่งทางเอเจนซี่นี้จะรับทำเรื่องออแพร์ฝั่งยุโรปทั้งหมด 4 ประเทศคือเบลเยียม, ฝรั่งเศส, เยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ ค่ะ ใครสนใจเอเจนซี่นี้ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่นะคะ คลิก
              3)  BTA (บีเลิฟไทยออแพร์) : อันนี้น่าจะเป็นเจ้าแรกๆเลยหรือเปล่า เราไม่แน่ใจนะ แต่เมื่อ 3 ปีก่อนที่เราเริ่มหาข้อมูลออแพร์อเมริกา เราก็เห็นเอเจนซี่นี้ทำของยุโรปไปในตัวด้วยแล้ว เอเจนซี่นี้ก็รับทำเรื่องออแพร์ยุโรปทั้งหมด 9 ประเทศค่ะ ต่างกับเอเจนซี่ที่เราใช้แค่ประเทศเดียวคือเขามีสวิตเซอร์แลนด์แทนที่ลักเซมเบิร์ก ถ้าใครสนใจประเทศสวิตเซอร์แลนด์แล้วต้องการใช้เอเจนซี่ เราว่าก็เป็นอีกตัวเลือกที่ดีค่ะ ศึกษาเพิ่มเติมที่นี่เลยนะคะ คลิก
             4) Engenius : เอเจนซี่เจ้าใหม่ที่เกิดขึ้นในปี 2020 จากตอนแรกที่ทำแค่ออแพร์อเมริกา ตอนนี้เขารับทำออแพร์สวีเดนด้วยแล้วนะคะ ที่เห็นตอนนี้ยังรับทำแค่ประเทศเดียวค่ะ แต่ถ้าใครสนใจสวีเดนอยู่แล้ว สามารถสอบถามเพิ่มเติมกับเอเจนซี่ได้นะคะ คลิก

         เราขออนุญาตแนะนำไปประมาณนี้แล้วกันเนอะ พอดีว่าเราเองก็ไม่ได้ศึกษาลึกลงไปกว่านี้ว่ามีเอเจนซี่อื่นๆอีกมั้ย เอาเท่าที่เห็นผ่านมาตามาตลอดปีที่เราอยู่ใน process การทำเรื่องไปเป็นออแพร์ยุโรปนะคะ เอาล่ะ มาถึงหัวข้อสุดท้ายของวันนี้ นั่นก็คือเราจะมาพูดถึงขั้นตอนการทำเอกสารของเราคร่าวๆให้อ่านก่อน ทุกคนจะได้มีไอเดียว่าควรไปกับเอเจนซี่ดีมั้ยหรือควรจะทำเองดีกว่า หวังว่าจะช่วยให้ข้อมูลได้ไม่มากก็น้อยนะคะ เริ่มกันเลย

    - ขั้นตอนการทำเอกสารกับเอเจนซี่ไทย
         อันนี้เป็นเพียงประสบการณ์ของเราเท่านั้นนะคะ แต่ละคนอาจจะมีประสบการณ์ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นก็เตือนไว้ก่อนว่าเราเล่าแค่ในส่วนของเราเท่านั้นค่ะ ไปเริ่มกันเลยดีกว่าเนอะ
         เริ่มแรกของเราเลยคือทักไปหาพี่เอเจนซี่ทางไลน์เลยค่ะ ขอข้อมูลต่างๆแล้วก็พูดคุยกับเขานิดหน่อย พอเราอ่านรายละเอียดพร้อมกับถามใจตัวเองว่าจะใช้เอเจนซี่จริงๆใช่มั้ยอยู่นานแรมเดือน ในที่สุดเราก็ตัดสินใจไปกับเอเจนซี่จนได้ค่ะ ครั้งแรกพี่เขาก็จะให้เรากรอกเอกสารข้อมูลพื้นฐานเพื่อเข้าร่วมกับเอเจนซี่ของเขาก่อน จะกรอกเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้นะคะ หลังจากนั้นไม่นานเท่าไหร่ พี่เขาก็จะนัดสัมภาษณ์เราเป็นภาษาอังกฤษ เราก็คุยกันเรื่องพื้นฐานทั่วไปค่ะ บทสนทนาทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษนะคะ ถามไถ่ชีวิตประจำวันรวมถึงถามว่าทำไมอยากไปเป็นออแพร์ยุโรปอะไรประมาณนี้ค่ะ ถ้าเราผ่านพี่เขาก็จะบอกวันนั้นเลยว่าภาษาเราโอเคนะคะ เริ่มทำเอกสารกันเลย เราก็จะได้เสียเงินค่าแรกเข้าค่ะ ของเรา 3,500 บาท แล้วหลังจากนั้นพี่เขาก็จะเริ่มถามว่าอยากไปประเทศไหนบ้าง ถ้าเราระบุไปเลย พี่เขาก็จะให้กรอกเอกสารของประเทศนั้นๆเพียงประเทศเดียว เอกสารก็จะเยอะหน่อยนะคะ ต้องมี reference อ้างอิง แต่ด้วยความที่เราเป็นออแพร์ที่อเมริกาด้วยมั้งเลยต้องใช้เยอะหน่อย เราเปลี่ยนบ้านปีละครั้งเลย ฮ่าๆ หลังจากนั้นเขาก็จะส่งโฮสต์มาให้เราทางอีเมล ถ้าเราสนใจโฮสต์ก็ทักไปนัดหมายคุยกันโดยการวิดีโอคอลกันอีกทีค่ะ ซึ่งตอนนี้เราอยู่ที่ขั้นนี้แหละค่ะ กำลังคุยกับโฮสต์อยู่ แต่ก็ยังไม่มีใครที่เข้าตาเราหรือเราไปเข้าตาใคร ก็เลยยังต้องหากันต่อไปค่ะ หนทางยังอีกยาวไกล ฮ่าๆ เดี๋ยวบอกไว้ก่อนเนอะว่าเราเลือกประเทศเบลเยียมไป เพราะเราชอบกินช็อกโกแลตค่ะ ได้ยินว่าเบลเยียมมีช็อกโกแลตที่อร่อยเลยอยากไปอยู่ แถมเป็นประเทศเล็กๆด้วย เราเลยคิดว่ามันน่าจะ match my needs at least for 75% ฮ่าๆ เดี๋ยวเรามาอัปเดตกันอีกทีในอนาคตนะคะว่าสุดท้ายแล้วเราจะได้ไปเบลเยียมหรือเปล่าและขั้นตอนหลังจากนี้จะเป็นยังไงบ้าง อาจจะไม่ได้มาเขียนในบล็อก แต่จะรวบรวมไว้ในทวิตนะคะ เราจะมาแปะไว้อีกทีหลังจากเราทำทุกอย่างเรียบร้อยแล้วค่ะ

         สุดท้ายนี้แล้ว เรามาให้กำลังใจคนที่ทุ่มสุดตัวสู้กับออแพร์อเมริกาไปแล้ว แต่วีซ่าไม่ผ่าน อย่าเพิ่งหมดหวังนะคะ เราว่าตัวเลือกออแพร์ยุโรปก็เป็นอีกอันที่น่าสนใจมากๆ หันมาทางนี้ก็ไม่แย่เลยค่ะ หลายๆคนมีประสบการณ์ดีๆกับการเป็นออแพร์ยุโรป แต่บางคนก็อาจจะมีประสบการณ์แย่ๆ ยังไงเราขอกอดทุกๆคนผ่านทางนี้เลยนะคะ ทุกคนเก่งมากๆแล้ว ถึงจะเป็นประสบการณ์ที่ไม่ดี แต่เราว่าประสบการณ์นั้นจะสอนให้เราโตขึ้นและเข็มแข็งมากขึ้นนะคะ เป็นกำลังใจให้ค่ะ
         ขอฝากบทความอีพีนี้กับทุกคนด้วยนะคะ ใช้เวลานานมากกว่าจะมาเขียนให้จบได้ พยายามถึงที่สุดแล้วจริงๆ ฮ่าๆ เรายังมีแพลนเขียนอีก 1 ตอนที่อยู่ใน process แล้วตอนนี้ ยังไงก็ฝากติดตามบล็อกเราต่อไปด้วยนะคะ ขอบคุณทุกคนมากๆค่ะ ถ้าใครมีอะไรสอบถาม ก็ทักมาพูดคุยกับเราได้ที่ทวิตเตอร์นะคะ วันนี้เราไปแล้วค่า ไว้เจอกันน้า รักทุกคนนนน
         

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in