เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
BE RIGHT BACK หายไปที่อื่นSALMONBOOKS
01: ผู้ชายที่ไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้อะไร




  • ผมทำวันพฤหัสฯ หล่นหายไปหนึ่งวัน

    ที่หายไปก็เพราะผมเพิ่งขึ้นเครื่องบินข้ามโลกมาครับ ผมต้องจับเครื่องจากนิวยอร์กมา 16 ชั่วโมง อยู่รอทรานซิตที่กรุงโซลอีกสี่ชั่วโมง และนั่งจากกรุงโซลมากรุงเทพฯ อีกหกชั่วโมง รวมกันเป็นหนึ่งวันพอดิบพอดี

    เมื่อต้องนั่งเครื่องบินข้ามไทม์โซนมโหฬารครึ่งโลกแบบนี้ วันพฤหัสฯ ของผมจึงหล่นหายไปหนึ่งวันแบบไม่มีขาดมีเกิน เหมือนกับว่าในหนึ่งวันนั้นเราได้หายจากโลกนี้ไปเลย ไม่มีใครติดต่อเราได้ และเราก็ไม่สามารถติดต่อชาวบ้านได้ด้วย ถ้าสมมติว่ามีญาติสนิทมิตรสหายประสบอุบัติเหตุอะไรขึ้นมา ผมก็จะไม่รู้
    เลย อาจจะได้รู้ตอนแวะทรานซิต แต่เวลาอยู่บนเครื่องบินคงไม่รู้แน่ๆ

    ระหว่างที่เราทำโลกหล่นหาย โลกก็ทำเราหล่นหายไปเช่นกัน

    เป็นเพราะว่าเครื่องบินที่ผมนั่งไม่มีบริการอินเทอร์เน็ตน่ะสิครับ—ซึ่งผมก็พบว่าเป็นเรื่องที่ดีแล้ว 

    ถึงแม้การนั่งเครื่องบินสิริรวมกันกว่า 24 ชั่วโมงนี้จะฟังดูน่าเหนื่อยหน่าย แต่ที่จริงผมก็บ่นไปอย่างนั้นแหละครับว่าเหนื่อยเมื่อย และทรมาน ทั้งที่ความรู้สึกจริงๆ แล้วคือชอบ ผมชอบนั่งเครื่องบิน

    ลองมาถามตัวเองดูว่าทำไมถึงชอบนั่งเครื่องบินนัก ก็เป็นคำตอบเดียวกับที่อธิบายไปนั่นแหละครับ ผมรู้สึกว่าตัวเองได้หล่นไปจากโลก เป็นอันรู้กันในที่ทำงานว่าวันนี้จะติดต่อผมไม่ได้ และก็เป็นอันรู้กันอีกเช่นกันว่าวันนี้ผมจะติดต่อใครไม่ได้
  • สุญญากาศทางการเชื่อมต่อนี้อยู่บนขอบที่เชื่อมกันระหว่างความน่ากลัวกับความเป็นสุข

    น่ากลัวเพราะความไม่รู้ แต่ก็แปลกที่รู้สึกเป็นสุขเพราะความไม่รู้เหมือนกัน

    จะมีที่ไหนในโลกอีกล่ะครับที่ห้วงเวลาหนึ่งเราไม่ต้องแคร์ใครเลย

    ยิ่งถ้าต้องนั่งเครื่องบินคนเดียวก็จะยิ่งรู้สึกเหมือนได้ปลดพันธะและภาระออกจากบ่าครั้งใหญ่

    อีกเหตุผลหนึ่งที่ผมชอบนั่งเครื่องบินคือ ผมชอบเตรียมตัวที่จะนั่งเครื่องบิน

    แต่ละครั้ง พนันได้เลยครับว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดของผม ทั้งมือถือ ไอแพด คอมพิวเตอร์ และคินเดิลจะประกอบไปด้วยสาระบันเทิงแบบแน่นเอี้ยด ก่อนขึ้นเครื่องผมจะโหลดหนังลงทั้งไอแพดและคอมพิวเตอร์ (โหลดถูกลิขสิทธิ์เป็นส่วนมาก ไม่ถูกก็มี ก็ละอายอยู่เหมือนกัน) โหลดหนังสือลงคินเดิลจนมันน้ำหนักขึ้น โหลดพ็อดแคสต์และหนังสือเสียงลงมือถือเป็นระยะเวลาหลายชั่วโมง

    เคยทำสถิติอยู่นะครับว่าที่โหลดๆ ไปทั้งหมดเนี่ยดูหมดมั้ย ฟังหมดหรือเปล่า ก็พบว่าจากที่เตรียมไฟล์สาระบันเทิงทั้งหลายกว่าสามร้อยชั่วโมงนั้น (คือหนังเรื่องหนึ่งก็สองชั่วโมง ซีรีส์ตอนหนึ่งก็เกือบชั่วโมง ไหนจะหนังสือเสียงที่ยาวประมาณเจ็ดแปดชั่วโมงอีกสิบเล่ม...) เอาเข้าจริงแล้วผมเสพได้อย่างมาก
    แค่ห้าหรือหกชั่วโมงเท่านั้นเอง ส่วนเวลาที่เหลือ...แน่นอนว่านอนแน่

    ผมก็แปลกใจตัวเองนะครับว่าจะเตรียมตัวอะไรกันนักกันหนา ทั้งที่รู้ว่าเตรียมไปก็ไม่ค่อยได้ดูหรอก

    แล้วผมก็พบว่า หรือนี่จะเป็นผลกระทบจากการที่เป็นคนติดอินเทอร์เน็ต
  • คนเราติดอินเทอร์เน็ตเพราะอินเทอร์เน็ตให้ instant gratification หรือให้ความพึงพอใจสำเร็จรูปกับเรา เพียงแค่เปิดมันโลกทั้งใบก็อยู่ตรงหน้า ทุกสิ่งอยู่แค่เอื้อม จนเราไม่สามารถมีความสุขแบบ delayed gratification หรือความสุขแบบที่ต้องรอต้องใช้เวลากับมันได้อีกต่อไป

    ดูสิครับ ขนาดผมขึ้นเครื่องบิน ที่ที่ควรจะทำให้เรา ‘รอ’ มากที่สุด ผมยังต้องพกพาส่วนหนึ่งของอินเทอร์เน็ตมาในรูปแบบของสื่อสาระบันเทิงต่างๆ ที่มีมากเกินกว่าที่เราจะเลือกไหวได้

    หากคุณไปเที่ยวกับผม ถ้าไม่ชอบผมไปเลยก็อาจรำคาญจนอยากถีบ

    ทำไม?

    ก็เพราะว่าทุกเลี้ยว ทุกเทิร์น ทุกวัน ทุกชั่วโมง ผมจะรู้ล่วงหน้าว่าเราจะเจออะไรบ้าง

    ที่เป็นอย่างนี้ไม่ใช่ว่าเพราะผมเป็นเทพบุตรพยากรณ์นะครับ แต่เป็นเพราะว่าสายตาของผมมักจะสถิตอยู่กับโทรศัพท์มือถือตลอดเวลาต่างหาก เป็นการสถิตด้วยความต้องการรู้ว่า การมาเที่ยวในประเทศนี้หรือในเมืองนี้เราควรทำอะไรเพื่อให้ได้ความบันเทิงมากที่สุด ไปทางไหนเร็วที่สุด หากไปกินข้าวร้านนี้ควรจะเจออะไรบ้าง จุดที่กำลังยืนอยู่นี้ในอดีตเคยเกิดอะไรขึ้นบ้าง ราชาเคยฆ่าฟันศัตรูตรงนี้ใช่ไหม ในปีอะไร พรุ่งนี้ฝนจะตกหรือแดดจะออก และหากต้องซื้อของฝากควรจะซื้ออะไรที่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปและมีประโยชน์ต่อผู้รับที่สุด ฯลฯ โดยทุกเรื่องนั้นหาได้จากอินเทอร์เน็ตหรือจากโซเชียลเน็ตเวิร์กแทบทั้งสิ้น

    หลายครั้งผมพบว่าผมรู้บางเรื่องมากกว่าเพื่อนที่อยู่ในพื้นที่ด้วยซ้ำ ผมรู้จักร้านบะหมี่โคตรอร่อยในขณะที่เพื่อนแค่เคยเดินผ่าน ที่รู้จักก็เพราะเจอจากเว็บไซต์รีวิว

    “ถ้าเป็นแบบนี้มึงพากูเที่ยวดีกว่า” เพื่อนคนหนึ่งเคยงอนผม

    ขณะที่กำลังพิมพ์อยู่นี้ผมยังรู้สึกรำคาญตัวเองเลย
  • อินเทอร์เน็ตทำให้ผมไม่ได้เที่ยวแบบคนไม่รู้อีกต่อไป มันบังคับให้ต้องเที่ยวแบบคนที่รู้ สิ่งนี้อาจทำลายการท่องเที่ยวของคุณเลยก็ได้ โดยเฉพาะถ้าคุณคิดว่าการเดินทางหรือการท่องเที่ยวนั้นมีความสนุกอยู่ที่การไปเพื่อให้ได้รู้ ไม่ใช่การรู้เพื่อให้ได้ไป

    การเดินทางเคยมีเสน่ห์เพราะมันเป็นการดึงเราออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตนเองไปสู่พื้นที่ที่เราควบคุมอะไรไม่ได้นัก การเดินทางเคยมีเสน่ห์เพราะมันคือการค่อยๆ เรียนรู้ผ่านการลองผิดลองถูก—ในการเดินทางคุณอาจไม่ใส่ใจนักเมื่อหลงทาง เพราะไม่ว่าจะเป็นการเดินผิดหรือเดินถูกมันก็เป็นส่วนหนึ่งของ ‘การเดินทาง’ ทั้งสิ้น ถ้าเดินถูกตลอดสิที่แปลกและน่าเสียดาย หรือคุณอาจชอบที่ได้รู้สึก ‘เด๋อด๋า’ เมื่อทำอะไรที่คนท้องถิ่นเขาไม่ทำกัน เพราะนั่นเป็นช่วงเวลาที่คุณไม่ได้สัมผัสนานแล้ว—ตั้งแต่เรียกตัวเองว่าผู้ใหญ่

    ความไม่รู้ระหว่างการเดินทางอาจเป็นเรื่องสนุกสำหรับคุณ เพราะมันคือการเอาตัวเองไปเสี่ยงโดยไม่รู้ว่าผลจะออกหัวหรือก้อย แต่อย่างน้อยมันก็เป็นความเสี่ยงที่ควบคุมได้ เพราะเป็นความเสี่ยงที่ผลกระทบของมันอยู่นอกวงโคจรของชีวิตจริงของคุณเป็นส่วนใหญ่

    แต่ผมไม่ได้เป็นอย่างนั้น และผมก็คิดว่ามีคนที่ไม่ได้เป็นอย่างนั้นมากขึ้นเรื่อยๆ

    หรือนี่เป็นผลกระทบจากอินเทอร์เน็ต ในยุคที่เรารู้ไปหมดทุกเรื่อง ขอแค่กด แค่จิ้ม คำตอบก็จะปรากฏตรงหน้า

    ในยุคที่คำตอบหาได้ง่ายแค่ปลายนิ้ว เรากลับกลัวความไม่รู้จนไม่กล้าเอาตัวเข้าไปเสี่ยงกับมัน—เรา ‘อาย’ เพราะความไม่รู้เสียด้วยซ้ำ—เมื่อความรู้มีราคาถูกลง การไม่มีความรู้จึงดูเป็นเรื่องผิดแปลก ผิดปกติ ‘กูเกิลเอาสิ ทำไมเรื่องแค่นี้ก็ไม่รู้’
  • ผลการวิจัยพบว่า มีคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เลือกที่จะเดินในพิพิธภัณฑ์ด้วยเส้นทางที่ทำให้พวกเขา ‘รู้สึกคุ้ม’ ที่สุด คือจะมีเส้นทางการเดินที่ผ่านงานชิ้นดังๆ หรืองานที่มีคนสนใจมาก (หรืองานที่พวกเขา ‘ควร’ สนใจ) โดยจะรู้สึกพลาดหากไม่ได้ดูงานเหล่านั้น และรู้สึกว่าพิพิธภัณฑ์นี้ ‘คุ้มค่า’ น้อยลง การจัดวางชิ้นงานในพิพิธภัณฑ์ได้รับผลกระทบจากการเดินเช่นนี้ เพราะอย่างที่เรารู้นั่นแหละครับว่า ส่วนใหญ่เขาจะเอางานที่เจ๋งมากๆ หรือดังมากๆ อย่างเช่นงานของโมเนต์หรือปิกัสโซ่ไปตั้งไว้ตรงกลางหรือกระทั่งจัดห้องเฉพาะแยกออกมา (เพื่อให้คนรู้สึกคุ้ม โอ้ ได้มาเห็นกับตาแล้วว่ะ) ในขณะที่งานระดับรองลงมาก็เป็นได้แค่ดอกไม้ประดับที่มีคนไม่กี่คนไปจ้องดูด้วยความฉงนสนเท่ห์เท่านั้น

    ทั้งที่อาจเป็นงานชิ้นรองๆ นี่แหละที่พาให้ใจเราเคลื่อนไหวได้มากที่สุด

    เพราะอะไร?

    ก็เพราะความที่เราไม่รู้จักมันมาก่อนและไม่เคยเห็นในอินเทอร์เน็ตหรือที่ไหนๆ

    ด้วยความที่เราไม่คุ้นชิน มันจึงมีความสามารถในการพาเราไปที่อื่นได้

    การเดินทางก็คงเป็นอย่างนั้น

    ตัวละครหนึ่งบอกว่า “ประตูเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ล้ำเลิศมากของมนุษย์”

    “ทำไม” อีกคนถาม

    “เพราะมันสื่อถึงความเป็นไปได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่เธอยังไม่เคยเปิดประตูบานนั้นเธอก็จะไม่รู้ว่าหลังประตูมีอะไร มันอาจเป็นอย่างที่เธอคิด หรืออาจจะไม่ มันอาจจะเป็นโลกอื่นเลยก็ได้ เธอจะไม่มีวันรู้ ถ้าเธอไม่หมุนลูกบิดแล้วเปิดมันออกมา”

    อินเทอร์เน็ตทำให้เราแง้มดูหลังประตูได้ง่ายไปหน่อย
  • แน่นอนแหละครับ การเดินทางโดยไม่มีแผนที่อาจดูโง่เง่าเพราะมันพานให้เราพลาดพลั้งอะไรได้ง่ายดาย แต่ความจริงอีกด้านก็คือ การเดินทางแบบตามแผนที่ทุกวินาทีก็ทำให้เราพลาดพลั้งอะไรได้ง่ายไม่แพ้กัน

    เราพลาดที่จะเดินไปยังโลกที่เราไม่รู้ เพราะเราคิดว่าเรามีความรู้ และเราก็ภูมิใจกับมันเกินไปหน่อย เราจึงไม่รู้ว่าเราไม่รู้อะไร เราพกตัวเราคนเดิมไปเที่ยวด้วย เราจึงไม่ค่อยได้เปลี่ยนแปลง

    การเดินทางทำให้รู้ว่าเราเตรียมตัวไปเสียทุกเรื่องไม่ได้ ความผิดพลาดหรือการไม่รัดกุมเล็กๆ น้อยๆ นี่แหละที่ทำให้เรามีเรื่องกลับมาเล่า และเป็นเรื่องของเราโดยสมบูรณ์

    มันอาจเป็นรูปที่ไม่ฮิต ไม่ได้ตั้งอยู่กลางพิพิธภัณฑ์เหมือนงานไหนของใครเขา

    แต่ก็นั่นแหละครับ มันจะตั้งอยู่ในมุมส่วนตัวของเราเอง

    พูดแบบนี้ดูเหมือนผมจะปล่อยวางได้ใช่ไหม ปล่อยให้ตัวเองหลงอยู่ในความไม่รู้เสียบ้าง?

    เปล่าครับ—คนเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงง่ายขนาดนั้น ผมก็ยังเป็นผม เป็นคนที่ปล่อยอะไรไปไม่ได้ เป็นผมที่โคตรหัวแข็ง สายตาจ้องกับหน้าจอ และยังคงโหลดหนังโหลดหนังสือเข้ามือถือเข้าไอแพดเป็นจำนวนมาก เหมือนคนบ้าก่อนจะออกเดินทางอยู่เหมือนเดิม

    แต่สิ่งที่อยากบอกก็คือ ผมเงยหน้าขึ้นมาจากหน้าจอบ้างแล้วนะ แม้จะไม่กี่วินาทีก็เหอะ

    เอาน่ะ เรื่องต่อๆ จากนี้คงเป็นหลักฐานแสดงความล้มเหลว (หรือความสำเร็จ) ของผมได้ดี

    หยิบบอร์ดดิ้งพาสแล้วไปเที่ยวด้วยกัน

    หากหมั่นไส้ อนุญาตให้ถีบได้ แต่ห้ามเกินสามครั้ง

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in