3
ระยะเวลาเจ็ดวันที่เกาหลีเหนือเป็นการต่อสู้ระหว่างหลายฝักหลายฝ่ายในจิตใจ
ด้านหนึ่ง พวกเราได้รับการปฏิบัติอย่างดี มีไกด์ประจำตัวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ มีกระทั่งโอกาสได้คุยกับเจ้าหน้าที่รัฐหลายกระทรวง ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงกลาโหม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ได้ศึกษาเพิ่มเติมว่าจริงๆ แล้วเกาหลีเหนือมีแนวคิดอย่างไร และแนวคิดที่โลกภายนอกมองเกาหลีเหนือนั้นผิดเพี้ยนไปไหม
อันที่จริงก็ถือเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ล้าง preconception หรือความคิดดั้งเดิม จะได้เปลี่ยนอคติที่พกพามาจากโลกภายนอก
แต่ในอีกด้าน ผมก็รู้สึกว่าทั้งหมดที่เขาพยายามแสดงให้เราเห็นมันเป็นเพียงละครฉากโตเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับเกาหลีเหนือเท่านั้น ภายใต้การต้อนรับขับสู้อันดีผมกลับรู้สึกเหมือนไม่เคยได้ออกจาก ‘สนามบินเปียงยาง’ เลย เพราะทุกการเคลื่อนไหวของผม (และพวกเราที่มาด้วยกันทั้งหมด) อยู่ภายใต้การจับตาดูของใครคนใดคนหนึ่งตลอดเวลา ถึงแม้เราจะไม่เห็นว่าเขาเฝ้ามองเราอยู่จากตรงไหนก็ตาม
ตามคำบอกเล่าของไกด์ชาวเกาหลีเหนือ โรงแรมที่เกาหลีเหนือจัดให้เราพักเป็นโรงแรมของรัฐ แขกของรัฐบาลจะถูกพามาพักที่โรงแรมนี้เท่านั้น เสียงลือเสียงเล่าอ้างอื่นๆ ยังบอกผมว่าห้องพักทุกห้องมี ‘บั๊ก’ หรือตัวดักฟังซ่อนอยู่ เพราะรัฐบาลจะได้ล่วงรู้ความคิดเห็นของแต่ละคนเมื่อ ‘ลดการ์ดลง’ เพราะรู้สึกปลอดภัยในห้องพักที่คิดว่าไม่มีการจับตามอง
เนื่องจากเกาหลีเหนือไม่มีอินเทอร์เน็ต—ในที่นี้คือไม่มีอินเทอร์เน็ตให้เราใช้—เราจึงไม่สามารถติดต่อกับทางบ้านได้ง่ายๆ จะทำได้ก็เพียงใช้โทรศัพท์ของโรงแรมเท่านั้น (ซึ่งก็ลือกันว่ามีการดักฟังอีก) ตลอดเจ็ดวันผมใช้โอกาสนี้โทร.กลับบ้านสองครั้ง และโทร.หาเพื่อนสนิทอีกสองครั้ง
“เป็นยังไงบ้างมึง หิวไส้กรอกไหม” เสียงตามสายถามมา
ต้องเล่าก่อนว่า ก่อนมาเกาหลีเหนือ ผมเกิดพารานอยด์ขนาดหนัก คิดว่าถ้าอยู่ที่เกาหลีเหนือแล้วเกิดซุ่มซ่ามก่อเรื่องให้เขาโมโหก็อาจโดน ‘เก็บ’ จึงนัดแนะโค้ดลับโง่ๆ กับเพื่อนไว้ว่า ถ้าผมตกอยู่ในสถานะสุ่มเสี่ยงเมื่อไหร่ ผมจะโทร.หาแล้วพูดคำว่า “หิวไส้กรอก” ออกมาโดยไม่มีบริบทอื่น ได้ยินว่าไส้กรอกเมื่อไหร่ เป็นอันรู้กันว่ามึงรีบติดต่อสถานทูตไทยให้วางแผนช่วยเหลือตัวประกันได้เลย
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in