เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
OUT IN AFRICASALMONBOOKS
01: ออกเดินทาง
  • ท่ามกลางเสียงคัดค้านและความสงสัย ผมไม่รีรอที่จะแจ้งว่า ผมขอสมัครไปทำงานที่สถานทูตไทยในประเทศเคนยา

    ปกติแล้ว ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศทุกคนพอทำงานตามกรมกองต่างๆ ในกระทรวงได้สองถึงห้าปี ก็จะต้องมีหน้าที่ให้ไปทำงานในสถานทูตหรือสถานกงสุลของไทยในต่างประเทศ (ปัจจุบันมีอยู่มากกว่าเจ็ดสิบแห่งทั่วโลก) คราวละสองถึงสี่ปี

    ผมพูดกับเพื่อนและรุ่นพี่ในที่ทำงานอยู่บ่อยครั้งว่า หากมีโอกาสก็จะขอไปทำงานในที่ที่คนอื่นอาจมองว่าไม่สำคัญ อยู่ไกลโพ้น อันตราย ดูแล้วไม่สะดวกสบายในการใช้ชีวิต หลายคนพอได้ฟังก็พากันตอบกลับว่า “ถึงเวลาก็ขอให้ทำจริงแล้วกัน”

    สำหรับผม ระยะเวลาการทำงานในประเทศไทยอาจยาวนานกว่าเพื่อนที่เริ่มทำงานในกระทรวงการต่างประเทศพร้อมๆ กันตั้งแต่ต้นปี 2004 เล็กน้อย

    ช่วงสองปีแรกของการรับราชการ ผมขอลาไปเรียนต่อปริญญาโท เมื่อกลับมา ก็ยังโยกย้ายไปมาหลายแผนก ผมจึงขอผ่อนผันไม่ไปทำงานที่ต่างประเทศสองปีติดกัน

    ตอนนั้น ผมคิดว่าตัวเองยังอ่อนหัดเกินกว่าจะออกไปทำงานที่สถานทูตในต่างแดน อีกทั้งยังติดคิดถึงคุณยายอายุเก้าสิบกว่าที่เลี้ยงดูและให้ความเมตตาผมมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งผมเองไม่ค่อยมีเวลาอยู่กับท่านเท่าไหร่ เพราะเป็นเด็กโรงเรียนประจำและเมื่อเข้ามหาวิทยาลัยก็บ้าทำกิจกรรม

    จนกลางปี 2010 กระทรวงการต่างประเทศเปิดรับสมัครเจ้าหน้าที่ระดับเลขานุการโทหรือเลขานุการเอกเพื่อไปทำงานที่สถานทูตไทยที่กรุงไนโรบี (Royal Thai Embassy in Nairobi) หนึ่งคน เนื่องจากช่วงนั้น กระทรวงการประเทศมีนโยบายขยายความร่วมมือกับประเทศในแอฟริกา ต้องการยกระดับให้ไทยมีบทบาทมากขึ้นในงานของสหประชาชาติ (United Nations หรือ UN) โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ซึ่งไนโรบีเป็นที่ตั้งของสำนักงานสหประชาชาติพอดี และที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศไม่เคยมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบงานที่จะต้องเป็นตัวแทนและประสานงานกับหน่วยงานของสหประชาชาติโดยตรง การประกาศรับสมัครเจ้าหน้าที่ก็เลยเกิดขึ้น และในช่วงเดียวกันนั้น ก็มีเมืองใหญ่ๆ ในจีน ศรีลังกา อินโดนีเซีย และกาตาร์เปิดรับสมัครอยู่ แต่ผมก็เลือกที่จะสมัครไปทำงานประจำสถานทูตไทยที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา (Kenya)

    ซึ่งดูเหมือนว่า ผมเป็นคนเดียวที่เลือกไนโรบี...

    ปกติแล้ว การพิจารณามอบหมายให้ข้าราชการไปทำงานในต่างประเทศจะต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาจากกระทรวงการต่างประเทศก่อน หรือพูดง่ายๆ ก็คือผ่านการพิจารณาของที่ประชุมผู้บริหารของกระทรวงการต่างประเทศ ผู้ที่แสดงความประสงค์จะไปประเทศต่างๆ ก็แค่ต้องรอลุ้นว่าจะได้รับการพิจารณาให้ไปอยู่ที่ไหน

    แต่ตำแหน่งที่เปิดรับสมัครในคราวนั้นแตกต่างออกไป
  • กระทรวงการต่างประเทศมีข้อกำหนดว่าผู้ที่สมัครในตำแหน่งที่จะต้องไปทำงานกับสหประชาชาติหรือองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ ต้องเข้ารับการสัมภาษณ์คัดเลือกก่อน ซึ่งสถานที่แจ็คพอตก็คือ ไนโรบี เวียนนา (Vienna) (ทำหน้าที่ประสานงานกับองค์การระหว่างประเทศด้านการต่อต้านยาเสพติดและอาชญากรรมข้ามชาติ หรือองค์การด้านปรมาณู) และจาการ์ตา (Jakarta) (เป็นที่ตั้งของสำนักเลขาธิการอาเซียน)

    ผมจำได้รางๆ ว่าตำแหน่งที่เวียนนามีผู้แจ้งความประสงค์ขอไปมากกว่าห้าคน ซึ่งเทียบกับตำแหน่งของผมที่เคนยาแล้ว ไม่มีใครอื่นเลย นอกจากผม

    แต่ถึงอย่างนั้น ผมก็เข้าสอบสัมภาษณ์ด้วยความประหม่า เพราะมีความเป็นไปได้เหมือนกันที่ที่ประชุมจะพิจารณาให้คนอื่นไปแทน ผมเรียนเจ้านายผมในขณะนั้นคือ อธิบดี อนุสนธิ์ ชินวรรโณ ว่าหากไม่ได้ไปไนโรบี ก็ขอทำงานที่กรุงเทพฯ ต่อไป

    ในการสอบสัมภาษณ์ครั้งนั้น ผมโดนท่านรองปลัด จิตริยา ปิ่นทอง ซึ่งเป็นประธานกรรมการ ถามแกมกระเซ้าในห้องสัมภาษณ์ว่า “สมัครมาคนเดียว แล้วจะมาสัมภาษณ์ทำไม?”

  • อืม...นั่นนะสิ

    แต่คำถามของท่านรองปลัดฯ ก็ทำให้ผมพอใจชื้นขึ้นว่า ผมน่าจะได้รับการพิจารณาให้ไปทำงานที่เคนยาตามที่ได้หมายมั่นปั้นมือไว้

    แน่นอนว่าผมได้รับการพิจารณาให้ไปประจำการที่สถานทูตไทยที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา แต่ผมก็อดคิดกังวลไม่ได้ว่า ที่ที่ผมไปจะอันตรายจะลำบากแค่ไหน จะต้องไปเผชิญกับอะไร และหน้าที่การงานในต่างประเทศจะเป็นอย่างไร

    แถมนี่ยังเป็นการออกไปทำงานในต่างประเทศครั้งแรกของผมอีกด้วย

    ความที่ไนโรบีเป็นเมืองที่มีสถานการณ์ ‘ไม่ปกติ’ มีเหตุก่อการร้ายและจลาจลกลางเมืองบ่อยครั้ง กระทรวงการต่างประเทศจึงกำหนดให้เป็นเมือง ‘ฮาร์ดชิป’ (Hardship) ซึี่งมีวาระการไปประจำการของผมในครั้งนี้ ลดเหลือแค่สองจากสี่ปี (แต่ถ้าหากติดใจก็สามารถขออยู่ต่อได้อีกหนึ่งหรือสองปี) และแต่ละปีก็จะได้สิทธิ์ใช้ตั๋วเครื่องบินไปกลับกรุงเทพฯ-ไนโรบีฟรีหนึ่งครั้ง (หรือเป็นที่อื่นที่มีระยะทางหรือราคาตั๋วเครื่องบินใกล้เคียงกันก็ได้)

    ผมมีเวลาเตรียมตัวก่อนเดินทางสี่ห้าเดือน โดยระหว่างนั้นมีการอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมและความรู้ที่จำเป็น มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนักการทูตที่มีวินัย เอกสิทธิ์ และความคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศ อีกทั้งยังมีการสอนให้ทำงานด้านการกงสุลต่างๆ เช่น ทำหนังสือเดินทาง ออกสูติบัตร มรณบัตร หรือแนวทางในการให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศ

    น่าเสียดายที่ผมไม่ได้เข้ารับการอบรมอย่างเต็มที่ เพราะต้องไปประชุมงานที่ต่างประเทศเป็นเวลานานหลายวัน ซึ่งผมก็คิดปลอบใจตัวเองว่า เอาไว้เจอเองกับตัวแล้วกัน ค่อยไปเรียนรู้เอาทีหลังก็ได้ เพราะตอนนั้น ผมกังวลปนตื่นเต้นกับการเดินทางไปทำงานที่ไนโรบีมากกว่า เริ่มฝันแล้วว่าจะได้เจองานแบบไหน จะได้ทำงานอะไร จะได้เจอใครบ้าง แล้วไหนจะการได้เจอผู้คนชาวแอฟริกันที่แทบจะไม่เคยทำงานด้วยมาก่อน หรือแม้กระทั่งความเหงา แต่ผมก็หยุดคิดและเลิกตีตนไปก่อนไข้ เพราะตอนนี้ถึงเวลาที่ผมจะต้องออกเดินทางแล้ว
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in