เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
OUT IN AFRICASALMONBOOKS
คำนำ
  • บ่อยครั้ง ที่เราเขียนคำนำสำนักพิมพ์ ด้วยความรู้สึกเหมือนกำลังร่างจดหมายของนักการทูต

    เพราะมันเป็นการแนะนำตัวหนังสือและสานสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้เขียนและผู้อ่านของเรา เนื่องจากหนังสือบางเล่มถูกเขียนโดยนักเขียนหน้าใหม่ ที่ผู้อ่านน่าจะยังต้องการความเชื่อมั่น ว่าจะดีจริงสมกับเป็นหนังสือที่วางใจซื้อมาใช้เวลาร่วมด้วย

    โดยเฉพาะหนังสือหมวดหนึ่งที่สำนักพิมพ์แซลมอนตั้งใจทำ (อาจกล่าวได้ว่าตั้งใจทำเป็นพิเศษ) ก็คือหมวดหนังสือที่น่าจะ ‘เปิดโลก’ ให้แก่ผู้อ่าน นำพาไปถึงดินแดนที่ไม่เคยไป สู่เขตข้อมูลที่ยังไม่เคยรู้ ในพรมแดนต่างๆ บนโลกนี้ที่ยังมีอะไรต่อมิอะไรขวางกั้น ‘เรา’ ออกจากกัน

    ทีมแซลมอนคอยมองหาต้นฉบับที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม (Culture) ที่เล่าเรื่องราว ความเชื่อ และความเคยชินของผู้คนในอีกประเทศ ซีกโลกที่ไม่เคยได้รู้จักหรือสัมผัสมาก่อน มองซ้ายส่ายขวาหางานที่จะเป็นหน้าต่างให้เรามองเห็นวิวของอีกที่ที่อยู่แสนไกล ย่อโลกกว้างๆ ให้เข้ามาชิดกันอีกสักหน่อย

    เราถึงตื่นเต้นตูมตามเมื่อพบว่า อาทิตย์ ประสาทกุล เขียนอีเมลมาถึงเรา เพื่อนำเสนอต้นฉบับที่เข้าข่ายคุณสมบัติเหล่านั้นทุกประการ!

    แปลกแต่จริง ประเทศบนทวีปแอฟริกาในความทรงจำและความคุ้นชินของพวกเราค่อนข้างแจ่มชัด เป็นประเทศที่มีสารพัดชนเผ่าอาศัยอยู่ในทะเลทราย บนพื้นดินสีแดงมีละอองทรายลอยฟุ้ง อาศัยอยู่ในบ้านดินที่สภาพไม่มั่นคง เป็นหลักแหล่งแห่งสัตว์ซาฟารีสารพัดที่เห็นตั้งแต่เด็กผ่านรายการสารคดีต่างประเทศ เมื่อพูดถึงแอฟริกาเรานึกถึงแต่ความไม่เจริญ คิดภาพตึกระฟ้าในดินแดนกาฬทวีปไม่ออก

    แน่นอนว่านั่นเป็นความเชื่อที่ผิด ก็คงเหมือนอย่างที่ต่างชาติรู้จักเมืองไทยแค่ผิวๆ คิดว่าใน กรุงเทพฯ นั้นมีเพียงวัดพระแก้ว ตรอกข้าวสาร หรือย่านสีลม

    แต่เพราะแอฟริกาอยู่แสนไกล ไม่มีแรงดึงดูดด้านวัฒนธรรมป๊อป แถมค่าเดินทางยังแพงหูฉี่ ทำให้มันถูกตัดออกจากหลักไมล์ในการเช็กอินของคนทั่วไปโดยปริยาย

    แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่เราจะไม่ควรศึกษาและทำความรู้จัก

    อาทิตย์ ประสาทกุล ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศเคนยาและย่านแอฟริกานานถึงสามปีในฐานะเลขานุการเอกแห่งสถานทูตไทยประจำกรุงไนโรบี หน้าที่ของเขาในฐานะตัวแทนประเทศไทยอย่างเป็นทางการคือ การสานสัมพันธ์และนำความเป็นไทยไปสู่ความเข้าใจอันดีของชาวแอฟริกัน ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมความเข้าใจแอฟริกาในสายตาของคนไทยให้ทันสมัยและรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มากขึ้น

    หนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกห้วงประสบการณ์ของอาทิตย์ตลอดเวลาที่อยู่ที่นั่น เป็นมุมมองของชาวไทยที่เปี่ยมไปด้วยความเคยชินในเมืองสยาม เป็นมุมมองของคนที่ตื่นตาตื่นใจเมื่อต้องไปอยู่ในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย ทว่าเป็นมุมมองที่ทำให้เขาเติบโตด้วยความเข้าใจในโลกที่กว้างขึ้น และอาจเป็นมุมมองที่จะทำให้คุณ—ผู้อ่านของเราได้เจริญเติบโตไปพร้อมกัน

    บ่อยครั้ง ที่เราเขียนคำนำโดยรู้สึกว่ามันคล้ายกับสาส์นจากนักการทูต

    ยิ่งกับหนังสือเล่มนี้เราก็ยิ่งรู้สึกขึ้นเป็นทวีคูณ และเหมือนทุกครั้งที่เคยเขียน เราหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะพาคุณไปได้ไกลเหมือนหนังสือที่เราตั้งใจทำขึ้นมาทุกเล่ม

    และแน่นอน ที่สำคัญที่สุด เราหวังว่าคุณจะสนุก—กับการเดินทางในแอฟริกา


  • คงไม่ผิดนัก หากจะพูดว่าสามปีในเคนยาและแอฟริกาถือเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่สุดยอดของชีวิต

    ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2011 ผมออกเดินทางจากประเทศไทยเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่เลขานุการโทที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี สาธารณ-รัฐเคนยา (ก่อนได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการเอกในปลายปีนั้น)

    แม้จะเป็นการออกไปปฏิบัติงานนอกประเทศเป็นครั้งแรก (ก่อนออกเดินทาง ผมรับราชการมาแล้วเจ็ดปี แต่ก็ทำงานอยู่แต่ในประเทศไทย) แต่ผมก็ได้รับโอกาสให้ปฏิบัติงานครบทุกรูปแบบ แถมยังได้ใช้ชีวิตในมิติอื่นอย่างครบครัน

    ผมจึงสามารถพูดได้เต็มปากว่าการเดินทางไปเคนยาทำให้ผมเข้าใจงานของข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศอย่างครบถ้วน แถมยังทำให้ผมโตขึ้น และได้รู้ว่าผมชอบงานที่ตัวเองทำมากแค่ไหน

    ผมกลับมาประจำการที่ไทยอีกครั้งเมื่อธันวาคม 2013

    หลายคนชอบถามผมว่า คิดถึงเคนยาบ้างมั้ย?

    ไม่เลย...คือคำตอบของผม

    ไม่ใช่เพราะไม่ประทับใจ แต่เป็นเพราะผมรู้สึกว่าได้ทำงาน ได้ใช้ชีวิต และได้เรียนรู้โลกอย่างเต็มที่แล้ว ผมจึงไม่เคยฟูมฟายถึงเคนยาและแอฟริกา หรือเสียดายที่กลับมาก่อนทั้งๆ ที่ผมสามารถอยู่ต่อได้อีกหนึ่งปี

    เอาเข้าจริง เมื่อต้องเดินทางกลับกรุงเทพฯ ผมรู้ดีว่าถึงเวลาแล้วที่จะก้าวออกจากวิถีชีวิตที่คุ้นเคย ละทิ้งชีวิตสบายๆ ใน ‘คอมฟอร์ตโซน’ แล้วกลับไปเริ่มสิ่งใหม่ที่ท้าทายให้ต้องดิ้นรนและขวนขวาย พร้อมที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าในเส้นทางที่ไม่รู้จักอีกครั้ง

    แต่สามปีในเคนยาและแอฟริกาของผมมีเรื่องราวและสิ่งที่ได้พบเห็นมากมาย ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานที่สถานทูต และที่เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ในดินแดนแอฟริกาตะวันออกที่อาจยังไม่เป็นที่รับรู้และรู้จักของคนไทยมากนัก

    ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในชาติตะวันตกทั้งในสมัยก่อนและสมัยปัจจุบัน ถือเป็นธรรมเนียมของนักการทูตที่เวลากลับมาจากต่างประเทศจะต้องเขียนบันทึกเรื่องราวการทำงานในประเทศนั้นๆ ประหนึ่งเป็นรายงานสำคัญที่จะต้องให้กระทรวงการต่างประเทศ รัฐบาล หรือเจ้าผู้ครองนคร (ในสมัยโบราณ) ของตนรับทราบว่าที่หายหน้าหายตาไปหลายปี เราได้ไปทำอะไรมาบ้าง

    เรื่องเล่าที่ปรากฏในรายงานหรือบันทึกการทำงานเหล่านั้นไม่ใช่แค่เรื่องสถิติข้อเท็จจริงอย่างเดียว หากยังรวมถึงความรู้สึกนึกคิด ประสบการณ์การใช้ชีวิต รวมทั้งแง่มุมต่างๆ ของสังคมที่นักการทูตได้พานพบและสนใจ ซึ่งไม่ได้มีแต่เรื่องการเมืองการปกครองหรือแนวนโยบายด้านการต่างประเทศเพียงอย่างเดียว

    ผมเห็นว่าธรรมเนียมการเขียนบันทึกประสบการณ์ที่ว่านี้เป็นเรื่องที่ดี

    ที่ผ่านมา ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศของไทยหลายท่านก็เคยเขียนเรื่องราวบอกเล่าประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศไว้มากมาย ทั้งในรูปแบบของงานเขียนเชิงสารคดี บันเทิงคดี หรือไม่ก็เรื่องสั้นหรือนวนิยายที่มีฉากและตัวละครเกิดขึ้นในประเทศที่ไปประจำการ

    ด้วยเหตุนี้ ผมถึงตั้งใจว่า หากมีโอกาสได้ไปอยู่ที่ไหน ก็จะพยายามกลับมาเล่าเรื่องที่เห็นและเรื่องที่ทำด้วย เพราะนอกจากหวังจะถ่ายทอดเรื่องราวที่ได้พบแล้ว ผมยังหวังต่อไปว่า ข้อเขียนในหนังสือเล่มนี้น่าจะทำให้ผู้อ่านได้เห็นอีกด้านหนึ่งของชีวิตการทำงานของพวกเรา—ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศที่ถูกส่งไปประจำการที่สถานทูตและสถานกงสุลของไทยในที่ต่างๆ ซึ่งหลายครั้งก็ไม่ได้สบาย (หรือลำบาก) อย่างที่ใครๆ คิด

    หากหนังสือเล่มนี้จะมีประโยชน์และให้ความเพลิดเพลินใจแก่ผู้อ่านบ้าง ผมขอมอบความดีทุกประการให้กับกระทรวงการต่างประเทศที่ผมภาคภูมิใจ แต่หากมีข้อผิดพลาดประการใด ผมก็ขอน้อมรับไว้แต่เพียงผู้เดียว และผมก็ขอขอบคุณสำนักพิมพ์แซลมอนที่ให้โอกาสในการเผยแพร่ข้อเขียนชิ้นนี้แก่สาธารณชนด้วยครับ

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in