“ความตาย”เป็นบางอย่างที่มนุษย์บนโลกตั้งแต่อดีตจนถึง ณ ปัจจุบันนี้ไม่มีใครรอดพ้นไปได้จนเกิดเป็นข้อสรุปว่า “มนุษย์ทุกคนต้องตาย” และข้อสรุปนี้ได้เป็นข้ออ้างในประโยคตรรกะวิทยาที่มักยกมาเป็นตัวอย่างให้เราเห็นได้อยู่บ่อยๆ
แต่นอกเหนือจากการเป็นข้ออ้างในประโยคตรรกะวิทยาแล้วความตายที่เกิดขึ้นกับหลายชีวิตในทุกๆวินาทีนี้ยังคงเป็นสิ่งที่สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงแก่มนุษย์คนใดที่นึกถึงและสร้างหวาดกลัวให้แก่มนุษย์ที่กำลังเผชิญภาวะใกล้ความตายจนเกิดความสังสัยว่าแท้จริงแล้ว ความตายคืออะไร? เบื้องลึกเบื้องหลังของความตายคือสิ่งใด...ยังคงเป็นคำตอบที่เราใฝ่หาเพื่อที่เมื่อรู้คำตอบว่าแท้จริงความตายคืออะไร บางทีเราอาจจะได้ควบคุมมันหรืออย่างน้อยๆก็ได้ทราบว่า เราควรวางท่าที่ต่อสิ่งที่เรียกว่าตายอย่างไร ซึ่งนั่นไม่ต่างอะไรกับคำถามทางอภิปรัชญาอื่นๆเลย เพราะอภิปรัชญาเป็นการตั้งคำถามต่อความเป็นจริงหรือธรรมชาติที่มีอยู่เป็นอยู่ อย่างเช่น คำถามว่าเนื้อแท้ของโลกคืออะไรสำหรับนักปรัชญาสสารนิยมได้ตอบว่า โลกและสิ่งต่างๆบนโลกคือการรวมตัวกันของธาตุหรือสสารจากแนวคิดเช่นนี้จึงนำไปสู่การค้นคว้า จนเกิดเป็นอีกแขนงวิชาหนึ่งก็คือ วิชาวิทยาศาสตร์ ที่ได้ค้นพบว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากการรวมตัวของธาตุ และธาตุก็มีอยู่มากมายหลายชนิดและมีความแตกต่างกันทางคุณสมบัติอีกด้วย ซึ่งความตายก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่มีอยู่-เป็นอยู่
“ความตายไม่เป็นสิ่งใดเลยสำหรับเรา...”เป็นข้อสรุปของนักปรัชญากรีกท่านหนึ่งผู้มีความเชื่อในสสารนิยม นามว่า อีพิคิวรัส(Epicurus)โดยเขาได้กล่าวไว้ว่า
“Deathis nothing to us: for that which is dissolved is without
sensation;and that which lacks sensation is nothing to us.”
"ความตายไม่เป็นสิ่งใดเลยสำหรับเราเพราะ สิ่งที่แตกสลาย(ตาย)แล้ว ย่อมไม่มีความรู้สึก(ผัสสะ)อีกต่อไป และสิ่งที่ไม่มีความรู้สึก(ผัสสะ)อีกต่อไปย่อมไม่เป็นสิ่งใดเลยสำหรับเรา”
ผู้เขียน(ขออนุญาติ)แสดงป็นประโยคตรรกะ ประมาณนี้...ว่า
(ข้ออ้าง1) สิ่งที่แตกสลาย(ตาย)ไปแล้ว เป็น สิ่งที่ไม่มีความรู้สึก(ผัสสะ)อีก
(ข้ออ้าง2) สิ่งที่ไม่มีความรู้สึก(ผัสสะ)อีก ไม่เป็น สิ่งใดเลยสำหรับเรา
(ข้อสรุป) สิ่งที่แตกสลาย(ตาย)ไปแล้ว ไม่เป็น สิ่งใดเลยสำหรับเรา
ฉะนั้น ความตายไม่เป็น สิ่งใดเลยสำหรับเรา
ดังนั้นเมื่อความตายไม่เป็นสิ่งใดเลยสำหรับเรา ความตายจึงไม่ใช่สิ่งน่ากลัวเพราะแน่นอนว่ามันจะไม่เกิดขึ้นกับเราในขณะที่เรายังมีชีวิตและความรู้สึกหรือผัสสะอยู่เพราะเมื่อมันเกิดขึ้นเราก็ไม่มีชีวิตและผัสสะใดๆลงเหลือแล้ว เหตุที่ทำให้อีพิคิวรัส(Epicurus) มีความคิดและให้เหตุผลเช่นนี้ เพราะว่า เขาคิดแบบสำนักสสารนิยมในเรื่องอะตอม ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นด้วยการรวมตัวของอะตอมอันเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดไม่มีองค์ประกอบใดๆเพราะถ้ามีองค์ประกอบของอะตอมก็เท่ากับว่าอะตอมแบ่งแยกลงไปได้อีกแต่อะตอมนั้นแบ่งแยกย่อยลงไปอีกไม่ได้ จะเกิดใหม่หรือเปลี่ยนแปลงหรือสลายไปก็ไม่ได้เพราะการเกิดใหม่คือการรวมตัวกันขององค์ประกอบของสิ่งนั้นการเปลี่ยนแปลงคือการเรียงตัวกันในรูปใหม่ขององค์ประกอบ และ การสลายตัวคือการแยกตัวขององค์ประกอบอะตอมนั้นไม่มีองค์ประกอบทว่าอะตอมคือองค์ประกอบของทุกสรรพสิ่ง ดังนั้นการเกิด-ดับและเปลี่ยนแปลงในทุกสรรพสิ่ง ไม่ว่าจะโลก มนุษย์ หรือสิ่งต่างๆในธรรมชาตินั้นเป็นเพียงการ รวมตัว แยกตัว และ การเรียงตัวใหม่ ของอะตอมอันเป็นองค์ประกอบของทุกสรรพสิ่ง
เมื่อทุกสรรพสิ่งเป็นเพียงการรวมตัวกันของอะตอมจึงเกิดเป็นคำถามว่า แล้วทำไมสิ่งหนึ่งจึงแตกต่างจากอีกสิ่งหนึ่งได้ทำไมมนุษย์จึงต่างจากก้อนหิน หรือทำไมมนุษย์จึงต่างกับสุนัข คำตอบคือการรวมตัวของอะตอมที่มากน้อยต่างกันไป จึงทำให้ลักษณะทางกายภาพและความสามารถในการทำสิ่งต่างๆของก้อนหิน สุนัข และ มนุษย์ต่างกันนอกจากความต่างกันทางกายภาพแล้ว เรื่องของจิต หรือความสามารถในการคิดก็ยังเป็นคำถามว่าทำไม มนุษย์เราจึงสามารถคิดได้ และรู้สึกได้ คำตอบคือ จิตนั้นเป็นปรากฏการณ์หนึ่งของสมองซึ่งสมองก็คือสสารเป็นการรวมตัวของอะตอมที่ซับซ้อนนั่นเอง
อีพิคิวรัส ให้เหตุผลว่า จิตวิญญาณ(Soul) นั้นไม่เป็นพื้นที่ว่างเพราะมันมีการทำงานอย่างเป็นพลวัตร่วมกับร่างกายดังนั้นมันต้องถูกสร้างมาจากอะตอม เขาอธิบายว่า อะตอมของจิตวิญญาณนี้การมีอยู่ของมันได้กระจายตัวทั้วร่างกาย แต่การมีอยู่ขอมันเปราะแตกง่ายเช่นนั้นมันจึงสลายหายไป เมื่อเราตายลง และดังนั้นเราจึงไม่หลงเหลือทุกผัสสะที่จะสามารถทำได้อีก[1]
ดังนั้นเมื่อเราตายไปเราจะไม่รับรู้ว่าเราตายหรือความตายนั้นเป็นอย่างไรเพราะการรับรู้เป็นเรื่องของสมองแต่เมื่อเราตายไปอะตอมต่างๆก็แยกตัวออกไปทำให้สมองของเราไม่สามารถทำงานได้ชีวิตของเราดับสูญไปพร้อมกับความเป็นตัวเรา เราจึงไม่สามารถจินตนาการถึงความตายได้เลยแม้ว่าจะมีข้อแย้งว่า เราสามารถจินตนาการความตายของตัวเองได้ เราสามารถจินตนาการถึงตัวเองที่กำลังติดอยู่กล่องสี่เหลี่ยมที่อึดอัดคับแคบหรือสามารถจินตนาการได้ว่าคนรักของเรากำลังร้องไห้เหนือหลุมศพแต่นั่นเป็นการจินตนาการที่ผิดเพราะการจินตนาการ หมายถึงการนึกภาพใดๆโดยผ่านมุมมองของบุรุษที่หนึ่งนั่นก็คือตัวของเรา
แต่ทว่าเมื่อเราตายไป ตอนนั้นจะไม่มี “เรา” หลงเหลืออยู่แล้ว จึงไม่มีเราผู้สามารถรับรู้และเฝ้ามองได้อีกเลย ลุดวิก วิทท์เกนสไตน์ ก็ได้แสดงความเห็นไปในแนวทางเดียวกันที่ปรากฏในงานเขียน ชื่อTractatus Logicao-Philosophicus ว่า “ความตายมิใช่วาระแห่งชีวิต”(“Death is not an event inlife.”) นี่คือแนวคิดที่ว่าวาระคือสิ่งที่เราสามารถใช้ผัสสะในการประสบได้แต่ความตายของเราได้ขจัดความสามารถที่จะใช้ผัสสะออกไปสิ้นความตายจึงไม่ใช่สิ่งที่เราจะรู้สึกหรือใช้ชีวิตอยู่ต่อไปด้วยได้
ข้อโต้แย้งว่าเราสามารถจินตนาการถึงความตายได้นั้นจะระบุให้ชัดคือการพูดถึงชีวิตหลังความตายเสียมากกว่า ดังนั้นเมื่อเราไม่สามารถจะจินตนาการชีวิตหลังความตายได้เราจึงไม่สามารถบอกว่า
ชีวิตหลังความตายเป็นเรื่องที่เป็นไปได้อีกด้วย เพราะ สิ่งใดที่จินตนาการไม่ได้ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
ในระดับสมบูรณ์ (Absolute Necessity) เนื่องจากสิ่งที่เป็นไปได้ในระดับสัมบูรณ์ (Absolute Possibility) คือสิ่งที่สามารถจินตนาการถึงความเป็นไปได้ได้โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับกฎธรรมชาติใดๆเช่น น้ำไหลจากที่ต่ำขึ้นสู่ที่สูง นั้นเป็นภาพที่เราสามารถจินตนาการได้จึงเป็นไปได้ที่น้ำจะไหลจากที่ต่ำขึ้นสู่ที่สูงในบางโลกแม้จะไม่ใช่โลกนี้ก็ตามส่วนสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในระดับสัมบูรณ์ คือ สิ่งที่เราไม่สามารถจินตนาการถึงความเป็นไปได้ของมันเพราะ เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในระดับสัมบูรณ์จะมีแต่เรื่องที่ขัดแย้งในตัวเอง เช่นคนโสดที่แต่งงานแล้ว หรือ แมวที่ไม่มีความเป็นแมว สำหรับชีวิตหลังความตายก็เช่นกันจะเขียนเป็นประโยคที่ชัดเจนได้ว่าความตายคืออาการที่สิ้นไปของความรู้สึกนึกคิดที่ยังมีความรู้สึกนึกคิด นั้นก็เป็นประโยคที่ขัดแย้งในตัวเอง ดังนั้นสำหรับชาวสสารนิยมชีวิตหลังความตายจึงเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้
นอกจากนี้อีพิคิวรัส(Epicurus) ยังเสริมอีกด้วยว่า ภาวะที่เราตาย นั้น ไม่ใช่ภาวะที่ลี้ลับไปกว่า
ภาวะก่อนเราจะเกิด (The time before your birth) ในโลกนี้ เพราะเป็นภาวะที่ไม่มีเราอยู่เลย เหมือนกันทั้งสองภาวะ หากเราไม่วิตกกังวลกับภาวะก่อนการเกิดของเราก็ไม่ควรที่จะไปวิตกกังวลต่อความตาย
ทั้งภาวะก่อนเกิดมาในโลกและภาวะที่ตายนั้น ต่างก็คือความไม่มีอยู่ต่างกันที่ภาวะก่อนเกิดเป็นภาวะไม่มีอยู่ก่อนหน้านี้ ส่วนภาวะที่ตายนั้นคือภาวะที่ไม่มีอยู่หลังจากนี้[2]
เมื่อบอกว่า ความตาย คือความไม่มีอยู่ และไม่เป็นสิ่งใดเลยสำหรับเรา (“Deathis nothing to us.” : Epicurus ) ตามข้อสรุปของ อิพิคิวรัสนั้น ดูจะสวนทางกับความรู้สึกของเราเอง เช่นนั้นความตายจึงไม่อาจไม่เป็นสิ่งใดเลย แม้ความตายอาจะเป็นบางสิ่งที่ยังสามารถบ่งถึงสิ่ง(Being)ประเภทใดประเภทหนึ่งซึ่งก็คือสิ่งที่ไม่มีอยู่ (non-being) แต่เรายังรู้สึกว่า สิ่งที่ไม่มีอยู่(non-being)นั้นมีผลกับเราเสมอ เช่น การรอคอยบางอย่างให้เกิดขึ้นก็เพราะตอนนี้มันไม่มีอยู่ และอาจจะมีหรือไม่มีอยู่ในอนาคตก็ได้เราก็เกิดความรู้สึกกระวนกระวายต่อสิ่งที่ไม่มีอยู่นี้ ซึ่งจะขอยกงานเขียนของ อาร์เธอร์โชเปนฮาวร์ (Arthur Schpenhauer) นักปรัชญาสำนักจิตนิยม จากงานเขียนชื่อโลกในฐานะเจตจำนงและการแสดงภาพแทน (The World as Will and Representation) ที่พูดถึงความตาย(ความไม่มีอยู่)ในแบบที่ขัดแย้งหรือแตกต่างจากของอิพิคิวรัส
ไว้ดังนี้
“ ...ไม่ต้องสงสัยเลยว่าความรู้เกี่ยวกับความตายและการพิจารณาความทุกข์
และความระทมขมขื่นของชีวิตที่มาด้วยกันคือแรงกระตุ้นที่ทรงพลังที่สุดให้เกิดการคิด
ทบทวนทางปรัชญาและคำอธิบายทางอภิปรัชญาแบบต่างๆ เกี่ยวกับโลก สมมุติเรามี
ชีวิตที่ไร้จุดจบและปลอดภัยจากความเจ็บปวด มันเป็นไปได้ที่จะไม่มีใครแม้แต่คนเดียว
ที่เกิดอยากถามคำถามว่าทำไมโลกนี้จึงมีอยู่และทำไมมันจึงมีอยู่ในลักษณะที่จำเพาะ
เจาะจงเช่นนี้ทุกคนมองเพียงว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามครรลองของมันเอง...
โบสถ์และวิหารเจดีย์และสุเหร่า ในทุกประเทศและทุกยุคทุกสมัย ในความ
หรูหราตระการตาและความโอ่โถงของสถานที่เหล่านี้ล้วนเป็นประจักษ์พยามถึงความ
ต้องการที่มนุษย์มีต่ออภิปรัชญาซึ่งเป็นความต้องการที่แรงกลาวและไม่อาจขจัดทิ้งได้”[3]
สรุปความได้ว่า ความรู้สึกขาดพร่องของชีวิตจากความตาย ความทุกข์ระทมนั้นก่อให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงต่อมนุษย์เรา เราจึงเกิดคำถามต่อสิ่งต่างๆว่าแท้จริงแล้วแก่นแท้ของแต่ละสิ่งไม่ว่าจะเป็น โลก และมนุษย์เอง นั้นคืออะไร (กลายเป็นคำถามทางอภิปรัชญาอีกครั้ง) เพื่อที่เมื่อเรารู้เบื้องหลังของสิ่งเหล่านั้นเราจะได้ควบคุมมันได้หรือแม้จะควบคุมไม่ได้ แต่อย่างน้อยเราก็ว่าควรวางตัวหรือมีท่าที่ต่อสิ่งเหล่านี้อย่างไร ให้รู้สึกมั่นคงที่สุด
เปรียบได้กับว่า เรากำลังยืนบนแพที่ลอยอยู่กลางทะเล ความมั่นคงนั้นไม่มีอยู่ ความโคลงเคลงของแพทำให้เราเกิดความกลัวว่าจะตกน้ำแล้วจมหายไปเราจึงเกิดความรู้สึกกระวนกระวายและอยากทราบเหลือเกินว่าข้างใต้แพนี้แท้จริงคืออะไร มันมีวิธีหรือจังหวะการเคลื่อนไหวอย่างไรถ้าเป็นไปได้เราอยากรู้ความจริงในสิ่งนี้มาก เพื่อที่จะสามารถจัดการควบคุมให้สงบหรือไม่ อย่างน้อยก็ให้เรารู้ถึงกระบวนการการเคลื่อนไหวนี้ เราจะได้คอยจัดท่าทางที่เรายืนให้มั่นคงที่สุดเช่น ถ้าเรารู้ว่าคลื่นมาทางขวา เราอาจทิ้งน้ำหนักยืนไปทางซ้ายเพื่อสร้างความสมดุลเป็นต้น ดังนั้นงานเขียนของ อาร์เธอร์ โชเปนฮาวร์ ชิ้นนี้ได้แสดงถึงที่มาแห่งอภิปรัชญาโดยชี้ ความไม่มีอยู่นี้ สร้างความรู้สึกต่อเราจนถึงขั้นกระวนกระวายทางอภิปรัชญา ซึ่งหากเป็นตามที่อาร์เธอร์โชเปนฮาวร์บอกไว้จริง ข้อสรุปที่ว่า ความตายไม่เป็นสิ่งใดเลยสำหรับเรานั้นน่าจะไม่ใช่
จากที่ได้ศึกษาและนำเสนอในข้างต้นเป็นเพียงทรรศนะของสสารนิยมต่อ เรื่อง ความตาย ซึ่งกล่าวโดยสรุปว่าความตายไม่ใช่สิ่งน่ากลัว เพราะเมื่อเราตายไปเราจะไม่เหลือตัวเราที่จะสามารถรับรู้ถึงความกลัวหรือความรู้สึกใดๆได้อีกเพราะการตายของเราเป็นเพียงการแยกตัวของอะตอมเท่านั้น ซึ่งคำตอบเช่นนี้ ทำให้ผู้ที่เชื่อในแนวคิดนี้ ได้วางท่าทีที่ไม่เกรงกลัวต่อการตายใดๆจึงใช้ชีวิตแบบเต็มที่ตามใจตัวเองเพราะไม่มีความเกรงกลัวต่อชีวิตหรือโลกหลังความตายซึ่งตัวของอีพิคิวรัส(Epicurus)เอง ใช้ชีวิตแบบแสวงหาความสุขเต็มที่ กล่าวคือความพยามหลีกเลี่ยงทุกข์ด้วยการทำอะไรเรียบง่ายและกินดื่มอย่างพอประมาณ
แต่จากคำสอนหลักเรื่องให้แสวงหาความสุขเต็มที่นั้นได้รับการตีความไปเป็นแบบอื่นนอกเหนือตัวนักคิดเองจนเกิดเป็นลัทธิเอพิคิวเรียน(Epicurean) หรือพวกที่ถูกเรียกว่าเอพิเคียว (Epicure) ที่รับประทานแต่อาหารดีๆใช้ชีวิตหรูหราและฟุ่มเฟื่อยด้วยเห็นว่า ขณะยังมีชีวิตอยู่ควรแสวงหาความสุขให้แก่ตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ความดีความชั่วที่คนเชื่อกันเป็นสิ่งสมมุติสิ่งที่เป็นจริงก็คือความสุขและความทุกข์ที่มนุษย์ได้รู้จักและประสบในชีวิตประจำวันสำหรับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้จึงยังคงยืนยันต่อเรื่องชีวิตหรือโลกหลังความตายอยู่เพราะเขายืนยันถึงผลแห่งการทำดี-ชั่วด้วย ดังจะเห็นได้ในคำสอนของศาสนาต่างๆที่ต่างก็มีเรื่องนรก-สวรรค์อันเป็นชีวิตหลังความตาย ผู้ที่เชื่อในแนวทางนี้จึงปฎิบัติตนแตกต่างจากพวกเอพีเคียวเพราะพวกเขากลัวเกรงต่อบทลงโทษในชีวิตหลังความตายที่จะได้รับหากพวกเขาทำความชั่วและได้รับรางวัลตอบแทนหากพวกเขากระทำความดี
สุดท้ายแล้ว...ดูเหมือนว่าเข็มทิศแห่งชีวิตเราจะชี้ไปทางไหนไปอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับมุมมองต่อความตาย จาก คำตอบของคำถามที่ว่า “ความตายคืออะไร” นั่นเอง
บรรณานุกรม
แบล็กเบิร์น, ไซมอน. (2555). 20คำถามสำคัญของปรัชญา. (แปลจากเรื่อง The BigQuestions—
Philosophy โดยดร.เวทินชาติกุลและคณะ) (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ : มติชน
วอร์เบอร์ตัน, ไนเจล. (2556). ประวัติปรัชญากระทัดรัด. (แปลจากเรื่อง The LittleHistory of
Philosophy โดยปราบดาหยุ่นและรติพร ชัยปิยะพร) (พิมพ์ครั้งที1). กรุงเทพฯ : ไต้ฝุ่น
วิทย์ วิศทเวย์. (2547). ปรัชญาทั่วไป มนุษย์ โลกและความหมายของชีวิต. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์
โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์. (2556). ความตายคืออะไร. เข้าถึงได้จาก https://soraj.wordpress.com
(วันที่ค้นข้อมูล 18ธันวาคม 2557).
Buckingham, Will. (2554). The Philosophy Book. London : DK Publishing
[1]Buckingham, Will. (2011). The Philosophy Book
[2]วอร์เบอร์ตัน,ไนเจล. (2556). ประวัติปรัชญากระทัดรัด. (แปลโดยปราบดา หยุ่นและรติพร ชัยปิยะพร)
[3]แบล็กเบิร์น,ไซมอน (2555). 20คำถามสำคัญของปรัชญา. (แปลโดยดร.เวทิน ชาติกุลและคณะ)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in