Ta Prohm - ปราสาทตาพรหม
หากท่านผู้อ่านเคยชมภาพยนต์เรื่อง Tomb Raider เวอร์ชั่น Angelina Jolie ก็คงคุ้น ๆ กับซีนเทวาลัยร้างกลางป่ากันใช่หรือไม่
แม่นแล้ว! ซีนนี้เขามาถ่ายทำกันที่ปราสาทตาพรหมแห่งนี้นี่เอง!!!
ปราสาทตาพรหมแห่งนี้สร้างในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อีกตามเคยค่ะ เมื่อครั้งที่นักโบราณคดีเริ่มทำการดูแลฟื้นฟูปราสาทหินต่าง ๆ ตลอดจนพื้นที่โดยรอบ เพื่อให้เป็นเมืองมรดกโลก ก็ได้เลือกเอาปราสาทแห่งนี้ไว้ว่าจะซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมมากที่สุด เนื่องจากอยากให้คงสภาพความเป็นเมืองพระนครหลวงก่อนการบูรณะเอาไว้ให้แก่คนรุ่นหลังได้เห็น
เป็นเหตุให้ปราสาทนี้ยังคงมีมนตร์ขลังลึกลับของเทวาลัยร้างที่ซ่อนตัวอยู่กลางป่า โอบล้อมไปด้วยต้นสะปงยักษ์ที่ทอดกิ่งก้านสาขาแผ่รากชอนไชไปตามปราสาทและช่องเล็กช่องน้อย เกิดเป็นภาพที่น่าชมทั้งในแง่ของสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่งดงามตลอดจนให้ความรู้สึกว่าธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์เสมอ
Kodak Gold 200
ข้อความด้านบนนั้นเป็นเพียงมโนภาพในความนึกคิดขณะที่เรากำลังนั่งรถไปยังปราสาทแห่งนี้เท่านั้นค่ะ เพราะในโลกแห่งความจริงอันโหดร้ายนั้นได้ดับฝันการเดินชมปราสาทหินเงียบ ๆ ไปเลย เนื่องจากพอไปถึงปุ๊บ ก็เจอกับคณะทัวร์มหาศาล คนล้นหลามหาความสงบไม่ได้ เพราะเนื่องจากที่นี่เป็นซีนในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ ทุกคนก็เกิดอยากจะมีอินเนอร์เป็น Lara Croft กันทั้งหมดทั้งมวล แง
Kodak Gold 200
ตีไม้กั้นไว้ จะได้ไม่มีคนคิดอุตริไปปีนป่าย
Kodak Gold 200
บางส่วนมีการใช้เหล็กค้ำโครงสร้างไว้ค่ะ
ป้องกันไม่ให้ตัวปราสาทพังลงมาเนื่องจากรับน้ำหนักมากเกิน
Kodak Gold 200
เนื่องจากปราสาทนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อย่างที่เล่าไว้ข้างต้น ก็ทำให้ทราบได้ในทันทีเลยว่าปราสาทแห่งนี้เป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธนั่นเองค่ะ จากการศึกษาในบันทึกและหลักศิลาจารึกก็พบว่าที่นี่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ถึง 2,740 รูป มีหัวหน้าพระสงฆ์ทั้งหมด 18 รูป และมีคนดูแลปราสาทแห่งนี้มากถึง 79,365 คนเลยทีเดียว
และตามหลักศิลาจารึกที่ค้นพบได้มีการเขียนเกี่ยวกับชื่อปราสาทว่าชื่อ ราชวิหาร ค่ะ ส่วนชื่อตาพรหมนี่มีที่มาจากตอนที่บูรณะซ่อมแซมกันอยู่นั้น ตาพรหมแกเป็นคนมาคุมมาเฝ้าไซต์ เลยเรียกชื่อนี้กันต่อมาเรื่อย ๆ นั่นเอง (คิดว่าน่าจะเป็นทฤษฎีการตั้งชื่อแบบเดียวกันกับปราสาทตาสมและปราสาทแม่บุญค่ะ)
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่อยากจะเล่าต่ออีกสักนิด คือ เรื่องความขัดแย้งของศาสนาพุทธและฮินดูค่ะ เนื่องจากหากเดินดูรอบ ๆ ปราสาทแห่งนี้ ตลอดจนสังเกตรายละเอียดเล็ก ๆ ภายในปราสาทที่สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จะพบว่าภาพสลักพระพุทธเจ้าหรือพระโพธิสัตว์บางส่วนมีร่องรอยของการสกัดทำลายทั้งสิ้น คาดการณ์ว่าในยุคสมัยของพระองค์ที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองนั้นก่อให้เกิดความกระทบกระทั่งขัดแย้งกับผู้ที่นับถือศาสนาฮินดูค่ะ พอจบรัชกาล กษัตริย์กลับมานับถือศาสนาฮินดูจึงมีการทำลายภาพสลักต่าง ๆ นั่นเอง
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in