เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
LOOK A BREATHE (Series 3)nimon
การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย



  • ผู้ป่วยระยะสุดท้าย มีอยู่สองประเภทหลักๆ ได้แก่ ผู้ป่วยที่อยู่นาน กับผู้ป่วยที่ไม่อยู่นาน ซึ่งผู้ป่วยทั้งสองประเภทนี้ก็ขึ้นอยู่กับโรคที่ผู้ป่วยเป็น และกำลังใจของผู้ป่วยด้วย


    “ผู้ป่วยทุกคนต้องทนทุกข์

    และไร้สุขเมื่อเจ็บปวดนั้น

    แต่ผู้ป่วยจะมีความสุขพลัน

    เมื่อทุกๆวันทุกคนให้กำลังใจ”


         คุณพ่อของเราป่วยเป็นมะเร็ง ตอนที่เราเรียนอยู่ที่อังกฤษ และคุณพ่อตัดสินใจไม่รักษาค่ะ คุณพ่อขอยอมปล่อยให้โรคมะเร็งเป็นไปตามวาระของโรคค่ะ เพราะคุณพ่อไม่ขอยอมรับทั้งคีโมและฉายแสงค่ะ คุณพ่อท่านคิดแต่เรื่องที่จะเป็นอาจารย์ใหญ่ และคุณพ่อไม่เคยประมาทในชีวิต เพราะทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมา คุณพ่อจะถามคุณแม่ว่า “อ้าวคิดว่าตายแล้วซะอีก” พ่อพูดกับแม่อย่างอารมณ์ขัน

         ตอนที่เรารู้ว่า พ่อป่วยเป็นมะเร็งจริงๆ ตอนนั้น เรารู้สึกเศร้ามากค่ะ และกลัวว่า “พ่อจะตาย และเราจะกลับไปดูใจไม่ทัน” เราจำได้แม่นเลยว่า “ตอนนั้นร้องไห้อยู่หนึ่งวันเต็มๆ” อยากกลับบ้าน เพราเรากลัวพ่อจะจากไป โดยที่พ่อยังไม่เห็นลูกประสบความสำเร็จ


    “ตอนพ่อเป็นมะเร็งนั้น

    ใจของฉันเจ็บปวดพลัน

    ความทุกข์ถาโถมนั้น

    กลัวไม่ทันไปดูใจพ่อ”


         เราจำได้ว่า เราไปไหว้ทุกที่ ทุกโบสถ์ของอังกฤษ ที่เขาบอกศักดิ์สิทธิ์ ไกลแค่ไหนเราก็ไป เรามีไปคนเดียว และไปกับเพื่อนค่ะ เราจำได้ว่า เราขอพรอย่างเดียว คือ 


    “เราขอนำใบจบปริญญาโทที่อังกฤษกลับไป

    ให้พ่อดูเป็นขวัญตาให้ได้ค่ะ”


         หลังจากนั้น เรากลับมาจากการเรียนที่อังกฤษ เราทำงานอยู่ที่หนึ่ง และวันหนึ่งก็ตัดสินใจลาออก และเราตกงานอยู่หลายเดือน จนวันหนึ่ง บริษัทยักษ์ใหญ่มาเปิดร้านที่ประเทศไทย เราไปสมัครงาน และบริษัทนั้นเรียกเราไปสัมภาษณ์งาน และเราได้งานที่นั้น ซึ่งในช่วงนั้นเองที่พ่อเริ่มมีอาการติดเตียงค่ะ เราจำได้ว่า กะทำงานของเราได้แต่กะดึกประจำเลยค่ะ จะดูแลพ่อ เราก็ทำได้ไม่ดีเท่าไหร่ เพราะตอนนั้น เราได้กะกลับถึงบ้านก็เที่ยงคืนทุกวัน ซึ่งเราไม่ได้ดูแลพ่อในช่วงนั้น แต่เราจะมาทำในช่วงวันหยุดของเรา โดยที่พี่สาวเราต้องทำงาน กลับมา และมาดูแลพ่ออยู่ทุกวัน พร้อมกับแม่ที่ต้องดูแลพ่อระหว่างวัน


    “เราต้องสร้างชีวิตใหม่ของเรา

    ควบคู่เค้าไปด้วยกับคุณพ่อนั้น

    เพื่อให้คุณพ่อคลายทุกข์พลัน

    และนับวันเราต้องสร้างรอยยิ้มนั้น”


         พี่สาวเราสอนให้เราดูแลพ่อ โดยการต้องพลิกตัวพ่อทุกๆชั่วโมง เพื่อไม่ให้มีแผลกดทับ เช็ดทำความสะอาดแผลอยู่ตลอด พาพ่อลุกขึ้นมานั่ง และเช็ดตัวทำความสะอาดให้พ่อ โดยนำน้ำมาล้างเช็ดแผลที่มีกลิ่น และเช็ดตัวพ่อให้สะอาด เพราะพ่อเป็นคนรักความสะอาดมากค่ะ เราต้องอาบน้ำให้พ่อ โดยนำผ้ามาชุบน้ำแล้วค่อยๆ ซับให้พ่อสบายตัว เราป้อนอาหารให้พ่อกิน บังคับให้พ่อทานยา เราทำแผลให้พ่อ เพื่อให้แผลของพ่อไม่เป็นไปมากกว่านี้ พี่สาวทำหน้าที่ควักขี้ให้พ่อ และเราคุยกับพ่อทุกเวลาที่จะคุยได้ เพื่อให้พ่อสบายใจ


    “การพูดคุยด้วยถ้อยทีวาจาดี

    นั้นล่ะที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจ

    และผู้ป่วยก็พร้อมที่จะสู้ไป

    จนสู้ได้หรือไม่ได้อยู่ที่นี่เอง”


         หลังจากนั้น พ่อเริ่มกังวลค่ะ และพ่ออยากไปอยู่ที่ “Nursing Home” ซึ่งพวกเราสอบถามพ่อหลายครั้ง พ่อพยายามพูดว่า พ่ออยากจะไป และเมื่อพวกเราพาพ่อไปอยู่ได้ไม่นาน “Nursing Home” มาขอร้องให้พาพ่อออกไป ซึ่งตอนนั้นตรงกับจังหวะที่พ่อหัวใจหยุดเต้นไปชั่วขณะหนึ่ง และพวกเราพาพ่อไปหาหมอที่โรงพยาบาลทหารเรือ และพ่อมีสติตื่นขึ้นมา หลังจากนั้น พ่อเริ่มพูดไม่ค่อยเป็นคำ และพวกเราพาพ่อกลับมาอยู่บ้าน


    “ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ทุกข์หนัก

    ไม่มีวันพักวันไหนเสมอศรี

    ทุกๆวันต้องตื่นขึ้นมาและทำดี

    ทำทุกที่ๆพ่อจะสบายใจ”


         เมื่อพวกเราพาพ่อกลับมาอยู่บ้าน พวกเราก็ทำกันแบบเดิมที่เคยดูแลพ่อ แต่คราวนี้ พ่อดันตกลงมาเอง และพ่อก็เกิดอาการติดเตียงถาวรค่ะ ซึ่งวันนั้น พวกเราทุกคนอยู่ดูแลพ่อ แต่เพียงแค่เวลาเพียงเสี้ยวนาทีเดียวที่พ่อตกลงมา แล้วชีวิตของพ่อและคนดูแลก็เปลี่ยนไป หลายครั้งที่เราตื่นมาตอนกลางคืน เราได้ยินพ่อคุยกับเพื่อนสนิทที่จากไปแล้วนานอย่างสนุกสนาน


    “พ่อของเราเริ่มไม่ค่อยสบายกาย

    และไม่สบายใจอีกด้วย

    พ่อพยายามที่อยากจะช่วย

    ตัวเองด้วยมือตัวเองๆ”


         พวกเราต้องดูแลพ่อมากขึ้น โดยพ่อรู้สึกไม่ค่อยสบายตัวกว่าเดิม เราต้องทำให้หนักขึ้น และพี่สาวต้องสวนปัสสาวะให้พ่อเพิ่มขึ้นมาอีก ตอนนั้น พ่อเริ่มเพ้อคุยกับเทวดามากขึ้น และคุยกับหลายๆคนมากขึ้น จนกระทั่งวันหนึ่ง พ่อตัดสินใจ ขอไปอยู่โรงพยาบาล ซึ่งพวกเราตัดสินพาพ่อไปอยู่โรงพยาบาลตามที่พ่อขอ และพวกเราก็ผลัดกันไปเฝ้าพ่อ จนพ่อเสียชีวิตในที่สุด 


    “วันนั้นเป็นวันที่บอกเหตุว่า

    พ่อจะลาและเสียชีวิตแล้ว

    ชีวิตของพ่อจะจากไปคงไม่แคล้ว

    พ่อจากลาแล้วไปเป็นอาจารย์ใหญ่”


         เราอยากขอบคุณอาจารย์ณัฐพงษ์ ผู้ช่วย และพยาบาลทุกคนในแผนกผู้ป่วยระยะสุดท้ายของโรงพยาบาลคามิลเลียน ที่ทุกคนดูแลพ่ออย่างดีในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตพ่อค่ะ และทุกคนตั้งใจที่จะแบ่งเบาภาระของพวกเราได้อย่างดี ทุกคนทำทุกอย่างให้เรา และตั้งใจทำทุกอย่างให้พ่อไปได้ดีที่สุด ไม่ว่าจะบาทหลวงที่หาพระมาให้พ่อได้ตักบาตร หรือหาเทปธรรมะมาให้พ่อฟัง ก่อนที่ชีวิตของพ่อจะได้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าทันในช่วงลมหายใจสุดท้าย


    “พ่อบอกกับพี่สาวเราว่า

    พ่อตักบาตรให้กับพระพุทธเจ้าอยู่

    ก่อนที่ลมหายใจของพ่อจะหมดลง”


         หลังจากนั้น พวกเราได้คุยกับหลายๆคนที่มีประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงเช่นเดียวกัน และหลายคนทำงานที่เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยในแต่ละวัน แต่พอเอาเข้าจริง เมื่อถึงการต้องมาดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่เป็นทั้งพ่อแม่ ญาติ และสามีภรรยา ก็กลายเป็นว่า “ทุกคนเหนื่อยด้วยกันทั้งสิ้น” 

         ส่วนใหญ่ผู้ดูแลจะต้องมีคนที่อยู่บ้านตลอดเพื่อดูแลผู้ป่วย ขณะที่คนอื่นไปเรียนหนังสือและทำงาน หรือจ้างคนมาดูแล หรือนำผู้ป่วยไปอยู่ที่ทั้ง Nursing Home และ โรงพยาบาลกันซะส่วนใหญ่


          การดูแลผู้ป่วยคนเดียวย่อมเป็นไปได้ ถ้าผู้ดูแลอยู่กับผู้ป่วยตลอดเวลา แต่ถ้าผู้ดูแลคนนั้นทั้งเรียนหนังสือ ทำงาน และมีแฟนขณะที่เรียนด้วย ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะเรื่องนี้เล่าให้ใครฟัง คนที่ดูแลผู้ป่วยจริงๆย่อมไม่มีใครเชื่อ เพราะบางทีก็อาจจะเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อเกินไปจริงๆค่ะ และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสถานการณ์นี่ไม่ได้จริงๆ


    “เรื่องเล่า เรื่องราว ที่ถูกเล่ามาจากประสบการณ์

    ของตัวเองโดยตรง นั่นย่อมเป็นจริงหรือไม่จริง

    ตัวเองที่เขียนและพูดย่อมรู้กับตัวเองเท่านั้น” 


           เราตั้งใจทำวิดีโอและภาพของบทความนี่ให้ดูแนวสบายๆ ไม่ว่า จะทั้งการนอนหลับสบาย ทานอาหารที่ดี มองภาพสวยงาม เพื่อให้ผู้ดูแลรู้สึกสบายกายและสบายใจค่ะ (สบายตา) และเราตั้งใจเขียนรีวิวนี้มาเพื่อให้เพื่อนๆทุกคนที่กำลังดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายมีกำลังใจที่จะดูแลผู้ป่วยต่อไป และดูแลผู้ป่วยอย่างไร และเราขอบอกว่า 


    “ถ้าหากเราที่เป็นคนดูแลหมดกำลังใจก่อน

    ผู้ป่วยจะหมดกำลังใจเหมือนกัน” 


         ดังนั้น เราอยากบอกให้เพื่อนๆรู้ว่า “เพื่อนๆทุกคนที่กำลังประสบปัญหาชีวิตแบบเราต้องสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ป่วย และผู้ป่วยจะมีกำลังใจที่จะสู้ต่อไปค่ะ” 

          รวมถึงสิ่งสำคัญคือ “ต้องสร้างชีวิตใหม่ให้กับผู้ป่วย ให้กับผู้ป่วยคุ้นชินที่เราช่วยเหลือแบบนี้ และผู้ป่วยก็จะตอบแบบนี้ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกดีกับชีวิตใหม่ค่ะ” 

          และสุดท้าย คือ พลังใจของเราที่ต้องใช้พลังใจมากในการเข้าใจผู้ป่วยและดูแลผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี เพราะหลายครั้งพ่อเราก็ดื้อ ไม่ยอมให้เช็ดตัว ไม่ยอมให้ควักขี้ หรือไม่ยอมให้พลิกตัว โดยเฉพาะพลิกตัว พ่อเราจะไม่ยอมอยู่ฝ่ายเดียว คือ พ่อจะพยายามที่จะพลิกกลับตลอด เราต้องสู้แรงกับพ่อตลอด ซึ่งก็ยากมากสำหรับผู้หญิงที่ต้องสู้แรงกับผู้ชาย


    LOOK A BREATHE

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in