เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
หลังชั้นหนังสืออ่าน-คิด-เขียน
หลังชั้นหนังสือ ตอน "ความรักของวัลยา" ของ เสนีย์ เสาวพงศ์



  • ความรักของวัลยา เป็นนวนิยายอมตะของศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ "เสนีย์ เสาวพงศ์" เจ้าของผลงานชื่อดังอย่างนวนิยายเรื่อง ปีศาจ ที่ยังคงได้รับความนิยมจากผู้อ่านมาจนถึงปัจจุบัน

    ในบทตามท้ายนวนิยายเรื่องนี้ คุณทวีป วรดิลก ได้กล่าวถึงตัวละครวัลยาไว้ว่า 
    “วัลยามีอยู่ทุกหนทุกแห่ง วัลยามีอยู่ทุกละอองน้ำและไอแดด” 

    คุณอาจสงสัยว่า วัลยาคือใคร? แล้วทำไมเธอจึงอยู่ทุกหนทุกแห่ง ในทุกละอองน้ำและไอแดด?

    หากคุณได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว คุณอาจตอบว่า เธอเป็นนักดนตรี เป็นหญิงสาวหัวก้าวหน้า หรือเป็นนักเรียนทุนที่ได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส

    แต่ในวันนี้ รายการ "หลังชั้นหนังสือ" ตอน ความรักของวัลยา จะพาคุณมารู้จักกับอีกบทบาทของ วัลยาที่ทำให้นวนิยายเรื่องนี้โดดเด่นและมีความสำคัญอย่างมากต่อสายธารวรรณกรรมไทย นั่นก็คือ การเป็นผู้มี "สำนึกมนุษยธรรม" อย่างเข้มข้นนั่นเอง

    สร้างสรรค์ผลงานโดย..ธนพงษ์ เมืองศิลปศาสตร์ วรินทร สายอาริน และธัญลักษณ์ ทองสุข 
    นิสิตภาควิชาภาษาไทย อักษรฯ จุฬาฯ
    .
    ผลงานสร้างสรรค์จากรายวิชา "วิวัฒนาการวรรณกรรมไทย" ปีการศึกษา 2563
    เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ทำซ้ำหรือดัดแปลง 
    .
    © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558


    บรรณานุกรม
    - ความรักของวัลยา - เสนีย์เสาวพงศ์. (2 พฤษภาคม 2553). เข้าถึงได้จาก Bloggang: https://www.bloggang.com/viewdiary.php?
    id=atnoon&month=05-2010&date=02&group=1&gblog=31

    - ทีปกร. (2531). ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน. กรุงเทพฯ: สํานักพิมพ์ดอกหญ้า.

    - ผู้จัดการออนไลน์. (23 กุมภาพันธ์ 2563). รู้จัก "เสนีย์เสาวพงศ์" เจ้าของวลี "ปีศาจแห่งกาลเวลา" ที่ "ปิยบุตร" หยิบมาพูดหลังถูกยุบพรรค. เข้าถึงได้จาก MGR ONLINE: https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000018218

    - ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. กรุงเทพฯ: สํานักพิมพ์นานมีบุ๊คส์.

    - ศักดิชัย บํารุงพงศ์. (ม.ป.ป.). เข้าถึงได้จาก สํานักพิมพ์ประพันธ์สาน ชุมชนคนรักการอ่าน: http://www.praphansarn.com/home/detail_author_th/35
    เสนีย์เสาวพงศ์. (2564). ความรักของวัลยา. กรุงเทพฯ: สํานักพิมพ์มติชน.

    ขอบคุณที่มารูปภาพ
    - รูปที่ 1 ปกหนังสือ “ความรักของวัลยา” เข้าถึงได้จาก: https://readery.co/9789740217305
    - รูปที่ 2 ปกหนังสือ “ปีศาจ” เข้าถึงได้จาก: https://readery.co/9789740217220
    - รูปที่ 3 การปฏิวัติฝรั่งเศส เข้าถึงได้จาก: https://www.sarakadeelite.com/arts_and_culture/arts-and-
    french-revolution/
    - รูปที่ 4 ศรีบูรพา เข้าถึงได้จาก: https://pantip.com/topic/3752864

    ขอบคุณที่มาเพลงประกอบคลิป
    เข้าถึงได้จาก: https://www.mediafire.com/file/edq47azwnh04c3y/A_Night_Alone.mp3/file
    .
    ขอบคุณที่มาของชื่อรายการ "หลังชั้นหนังสือ" ซึ่ง "ณัฐวุฒิ จันทะลุน" เป็นผู้ริเริ่มค่ะ

  • สะท้อนย้อนคิดหลังการชมรายการ "หลังชั้นหนังสือ"

    การใช้วรรณกรรมเป็นพื้นที่ในการ “ส่งสาร”ถึงสังคมใน ความรักของวัลยา 



    ขอบคุณที่มารูปภาพ: https://readery.co/9789740217305

    การที่เราได้ทำงานวิเคราะห์วรรณกรรมเรื่อง แผ่นดินของเรา ของแม่อนงค์ (มาลัย ชูพินิจ) โดยศึกษาทัศนะเชิงวิพากษ์วิจารณ์การเมืองคณะราษฎรนั้น เมื่อประกอบกับการเรียนในชั้นเรียนแล้ว ก็ทำให้เราเกิดตกตะกอนบางอย่างในความคิดว่า บางครั้งวรรณกรรมมิได้เป็นเพียงบทประพันธ์ที่แต่งขึ้นเพื่อให้ความเพลิดเพลินหรือให้ผู้อ่านมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นหรือส่งสารบางอย่างให้กับสังคม รวมไปถึงในสภาวะที่บ้านเมืองมีการจับผิด (censor) งานเขียน มิได้ให้อิสระในการแสดงความคิดเห็น รรณกรรมจึงถือเป็นพื้นที่หนึ่งที่นักเขียนสามารถใช้ในการส่งสารถึงสังคมได้เช่นกัน เมื่อตกตะกอนความคิดได้ในรูปแบบนี้ ก็ทำให้เรามองวรรณกรรมที่ร่วมสมัยกับเรื่องแผ่นดินของเราในมุมมองที่ต่างออกไป ดังที่จะเล่าต่อไปนี้

    ก่อนหน้าที่จะได้ฟัง podcast เราได้ไปอ่านวรรณกรรมเรื่องอื่นในช่วงปี 2470 – 2500 ไม่ว่าจะเป็นสงครามชีวิต (2475)  จนกว่าเราจะพบกันอีก (2493) ของศรีบูรพา รวมไปถึงเรื่อง ความรักของวัลยา (2495) ผลงานของเสนีย์ เสาวพงศ์ 

    จุดร่วมหนึ่งที่เรารู้สึกได้จากการอ่านวรรณกรรมสามเรื่องข้างต้นคือ ตัวละครในแต่ละเรื่องมักจะมีการพูดคุยโต้ตอบกันเกี่ยวกับประเด็นทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการเขียนจดหมายโต้ตอบกันถึงปัญหาที่คนจน ๆ อย่างตัวเองต้องเผชิญระหว่าง "ระพินทร์" กับ "เพลิน" ในเรื่องสงครามชีวิต, การพูดคุยกันระหว่างโกเมศกับโดโรทีใน จนกว่าเราจะพบกันอีก หรือการพูดคุยกันของตัวละครแต่ละตัวในเรื่องความรักของวัลยา ก็มักจะเป็นการพูดคุยกันถึงประเด็นสังคม การเมือง ปรัชญายาก ๆ ซึ่งหากเป็นชีวิตจริง เราก็อาจจะไม่ได้พูดคุยประเด็นเหล่านี้กับคู่สนทนาของเรามากเท่าไหร่นัก (โดยเฉพาะประเด็นทางปรัชญาก็ยิ่งยากที่จะมีคนยกมาพูดกันในชีวิตประจำวัน) เราเลยตั้งสมมติฐานไว้ในใจว่าผู้เขียนอาจจะไม่ได้ต้องการแต่งวรรณกรรมเหล่านี้มาเพื่อให้เป็นนิยายรัก แต่อาจจะตั้งใจเขียนมาเพื่อวิจารณ์สังคมหรือมีเจตนาส่งสารบางอย่างให้แก่คนในสังคม

    หลังจากฟัง podcast หลังชั้นหนังสือ ตอน ความรักของวัลยา ของเพื่อนแล้ว มีบางช่วงที่ฟังแล้วจุดประกายความคิดบางอย่างรวมไปถึงมีหลายจุดที่เพื่อนคิดเห็นตรงกันกับตัวเรากล่าวคือ

    ช่วงแรกของ podcast เพื่อนได้ตั้งคำถามว่า “ฟังชื่อเรื่องแล้วนึกถึงอะไร” และคำถามว่า “วัลยาเลือกคนรักจากอะไร” รวมไปถึงการที่เพื่อนยกประเด็นเรื่องความรักที่มีต่อมนุษยชาติในหลาย ๆ ช่วงของ podcast ทำให้เมื่อฟังแล้ว ก็เกิดอนุมานบางอย่างได้ว่า เสนีย์ เสาวพงศ์ ผู้แต่งความรักของวัลยา อาจจะตั้งชื่อเรื่องโดยการเล่นกับคำว่า “ความรัก” 

    “ความรัก” .... โดยปกติเรามักจะใช้คำนี้ในบริบทระหว่างคนสองคน หากแต่เรื่องนี้นำเสนอความรักในมุมที่ต่างออกไป วรรณกรรมเรื่องนี้ดำเนินเนื้อเรื่องผ่าน “ข้าพเจ้า” (เสนีย์) ได้รู้จักกับนักเรียนไทยที่ไปเรียนในปารีส ซึ่งวัลยาคือหนึ่งในนักเรียนเหล่านั้น และมีการดำเนินเรื่องโดยเน้นการเล่าถึงวัลยาเป็นพิเศษ  ต้นเรื่องเริ่มจากการที่วัลยาไม่รับรัก เรวัตร และจบท้ายด้วยการที่วัลยาตัดสินใจรักกับ ยง  เรามองว่าการดำเนินเรื่องในลักษณะนี้ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นนิยายรักพาฝันทั่วไปที่ดำเนินเรื่องผ่านความรักของพระเอกนางเอก  แต่เมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียด บทสนทนาของตัวละครก็มักจะชูประเด็นความรักที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ (แม้แต่สิ่งที่นางเอกใช้เป็นเกณฑ์เลือกคนรักก็ดูจากความ “รัก” ในเพื่อนมนุษย์และอุดมการณ์) เราจึงมองว่าการตั้งชื่อเรื่องของคุณเสนีย์ เสาวพงศ์ เป็นการตั้งชื่อที่เล่นกับคำว่าความรัก ทั้งในแง่ความรักชายหญิง และความรักในอุดมการณ์ ซึ่งก็คือแนวคิดมนุษยภาพและความรักที่เผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์

    ประเด็นถัดมา เพื่อนนำเสนอประเด็นศิลปะเพื่อชีวิต และประเด็นสำนึกมนุษยธรรม (แนวคิดมนุษยภาพ) โดยเพื่อนได้อธิบายนิยามศิลปะเพื่อชีวิตจากคำอธิบายของทีปกร (จิตร ภูมิศักดิ์) ว่า “ศิลปะเพื่อชีวิตเป็นศิลปะที่สร้างขึ้นเพื่อรับใช้ชีวิตของมวลชน มิใช่สร้างขึ้นเพียงเพื่อที่จะให้เป็นศิลปะเฉย ๆ โด่อยู่เหมือนหัวตออันไม่ยอมมีบทบาทใดในสังคม” ,มีการเชื่อมโยงว่าตัวละครใน ความรักของวัลยา มีความเหมือนกับตัวละครใน จนกว่าเราจะพบกันอีก, การกล่าวว่า “หนังสือเป็นวาทกรรมที่มีอำนาจกล่อมเกลาคนให้มองโลกเปลี่ยนไปได้” รวมไปถึงการยกคำพูดของศรีบูรพาที่ว่า “ในขณะที่เก้าอี้และเสื้อไม่ทำให้ผู้ใช้กลายเป็นคนดีคนชั่วไปได้ แต่หนังสืออาจจะทำได้ ข้อนี้แหละทำให้นักประพันธ์ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นพิเศษ” 

    ประเด็นเหล่านี้ทำให้เราคิดขึ้นมาได้ว่า หากเรายึดตามนิยามของศิลปะเพื่อชีวิตและมองว่าวรรณกรรมเป็นศิลปะรูปแบบหนึ่ง เนื้อหาในวรรณกรรมก็ควรเป็นเนื้อหาที่เขียนมาเพื่อรับใช้ชีวิตของมวลชนไม่ว่าจะในมิติใดก็ตาม และวรรณกรรมมีพลังมากพอที่จะกล่อมเกลาความคิดของคน หรืออย่างน้อยที่สุด เป็นพื้นที่สำหรับส่งสารบางอย่างต่อสังคมเป็นวงกว้าง

    อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าไม่ว่าจะเป็น จนกว่าเราจะพบกันอีก, ความรักของวัลยา และสงครามชีวิต (เพื่อนไม่ได้กล่าวถึงสงครามชีวิต แต่เราขอยกมาประกอบ) มีจุดร่วมเดียวกันคือการให้ตัวละครพูดคุยกันถึงประเด็นในสังคม ทั้งประเด็นที่เป็นปัญหา และไม่เป็นปัญหา (เช่นอุดมการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ ) ซึ่งถึงแม้จะดูแปลกเกินจริงไปบ้างที่คนจะคุยกันแต่เรื่องปัญหาสังคม, อุดมการณ์ทุกวันทุกเวลาอย่างที่ตัวละครในสามเรื่องข้างต้นทำ แต่เมื่อยกประเด็นเรื่องศิลปะเพื่อชีวิตและอำนาจของวรรณกรรมที่เพื่อนได้นำเสนอมาประกอบการพิจารณา เราก็เกิดความเห็นว่า ในบางครั้ง โทนเรื่องของวรรณกรรมว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ผูกติดกับวัตถุประสงค์ที่นักเขียนคนนั้นต้องการจะสื่อลงไปในผลงาน 

    หากนิยามของศิลปะเพื่อชีวิตคือศิลปะที่สร้างขึ้นเพื่อรับใช้สังคมและวรรณกรรมเพื่อชีวิตเป็นแขนงหนึ่งของศิลปะเพื่อชีวิตแล้ว นักเขียนวรรณกรรมเพื่อชีวิต (อย่างน้อยก็คือศรีบูรพาและเสนีย์ เสาวพงศ์ ผู้แต่งวรรณกรรมสามเรื่องข้างต้น) ก็ย่อมมีวัตถุประสงค์ในการเขียนงานเพื่อมารับใช้สังคมเช่นกัน การมีวัตถุประสงค์เช่นนี้ก็ย่อมผลักดันให้ผู้เขียนพยายามเขียนในสิ่งที่จะตอบสนองวัตถุประสงค์ที่จะรับใช้สังคมของตัวเอง ไม่ว่าการรับใช้สังคมนั้นจะเป็นการรับใช้ในมิติใดก็ตาม (ทั้งมิติในการปลุกใจให้คนรู้สึกอยากเปลี่ยนแปลงสังคม, กล่อมเกลาความคิดผู้อ่าน หรือแม้แต่การชี้ให้เห็นว่าขณะนี้สังคมกำลังประสบปัญหาอะไรอยู่) ทำให้บรรยากาศในเรื่องเป็นบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยการปลุกใจให้คนยึดมั่นในแนวคิดมนุษยภาพ นึกถึงส่วนรวม รับใช้สังคม จึงสามารถอนุมานได้ว่า การที่ให้ตัวละครพูดถึงอุดมการณ์, ถกกันถึงปัญหาสังคม หรือแนวคิดใดก็ตามบ่อย ๆ ก็เพราะผู้เขียนมีวัตถุประสงค์จะให้ผู้อ่านรับ “สาร” ที่ตัวเองต้องการจะเผยแพร่สู่สังคม ผ่านการใช้พื้นที่วรรณกรรม ผ่านการยืม “เสียง” ของตัวละครในการกล่อมเกลาผู้อ่านให้เข้าใจและรับสารของตัวเองที่ต้องการจะเผยแพร่ ดังนั้นการให้ตัวละครถกเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ในสังคมบ่อย ๆ ถึงจะดูแปลกเกินความเป็นจริงไปบ้างก็ถือว่าเป็นกลวิธีหนึ่งที่ช่วยผู้เขียนในการกระจายสารและช่วยให้ผู้เขียนบรรลุวัตถุประสงค์ในการเขียนวรรณกรรม

    จากย่อหน้าแรกที่นิสิตได้เกริ่นว่าวรรณกรรมเป็นพื้นที่หนึ่งที่นักเขียนใช้แสดงความคิดเห็นหรือส่งสารบางอย่างให้กับสังคม ประกอบกับสมมติฐานที่นิสิตคิดไว้ในใจว่าผู้เขียนวรรณกรรมอาจจะตั้งใจเขียนวรรณกรรมขึ้นมาเพื่อวิจารณ์สังคมหรือมีเจตนาส่งสารบางอย่างให้แก่คนในสังคม รวมไปถึงประเด็นเกี่ยวกับอำนาจของวรรณกรรมกับพันธกิจของศิลปะเพื่อชีวิตและพันธกิจของนักประพันธ์ที่เพื่อนยกขึ้นมาใน podcast ทำให้นิสิตได้ข้อสรุปว่า วรรณกรรมมิใช่เป็นเพียงสิ่งที่ให้ความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่านเท่านั้น หากแต่ยังเป็นพื้นที่ที่นักเขียนใช้ส่งสารบางอย่างให้กระจายในสังคมเป็นวงกว้าง (ดังตัวอย่างการชูอุดมการณ์สำนึกมนุษยภาพในความรักของวัลยา) และวรรณกรรมยังสามารถเป็นพื้นที่ในการส่งสาร ส่ง “สัญญาณ” ให้คนในสังคมได้รับรู้ว่าตอนนี้กำลังเกิดปัญหาอะไรขึ้นในสังคม (ดังที่เห็นได้จาก ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางฐานะระหว่างคนรวยคนจนในสงครามชีวิต, ปัญหาการกดขี่ชาวนา การใช้กฎหมายเอารัดเอาเปรียบคนฐานะต่ำกว่าใน จนกว่าเราจะพบกันอีก) นั่นเอง


    เรื่อง:   พุทธิชาต มาแดง
    เขียนขึ้นขณะอยู่ชั้นปีที่ 2 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
    .
    เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ทำซ้ำหรือดัดแปลง 

    © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in