สะท้อนย้อนคิดหลังการฟัง Podcast
"หญิงคนชั่ว" ของ ก.สุรางคนางค์ (1)
“อาชีพโสเภณึคือความชั่วจริงหรือ” นี่คือคำถามที่เกิดขึ้นหลังจากที่ได้ยินวลี “ความชั่วที่หล่อเลี้ยงความดี” ที่ผู้แต่งพยายามย้ำอยู่หลายครั้งในเรื่อง หญิงคนชั่ว และเมื่อได้ลองพิจารณาจากลักษณะของตัวละครโสเภณีอย่าง "รื่น" และตอนจบที่แสดงให้เห็นว่ารื่นเป็นแม่ที่ดีแล้วนั้น ก็ได้คำตอบว่า โสเภณีอาจเป็นความชั่วจริง แต่ความชั่วในที่นี้ไม่ใช่ความเลวร้ายของจิตใจหรือการกระทำ หากแต่หมายถึงสิ่งใดก็ตามที่ไม่ตรงตามกรอบศีลธรรมสมมติของสังคม
“แล้วทำไมความชั่วจึงหล่อเลี้ยงความดี” สำหรับคำถามนี้ นอกจากคำตอบตามการวิเคราะห์ใน Podcast แล้ว ยังอาจตอบได้ด้วยการทำความเข้าใจว่า “ความดี” ที่ถูกหล่อเลี้ยงโดยความชั่วนี้เป็นเพียงสิ่งสมมติของสังคมเช่นเดียวกับ “ความชั่ว” ความดีนี้ไม่ใช่ความดีงามบริสุทธิ์ แต่เป็นเพียงกรอบศีลธรรมสมมติที่ผู้มีอำนาจในสังคมกำหนดขึ้นเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ตนเท่านั้น และเพื่อให้กลไกของศีลธรรมสมมตินี้สมบูรณ์ สิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องทำ นอกเหนือจากการกำหนดว่าสิ่งใดเป็น “ความดี” แล้ว ยังต้องกำหนดว่าสิ่งใดเป็น “ความชั่ว” ด้วย เพราะความชั่วเหล่านี้จะเป็นภาพเปรียบเทียบให้ความดีเด่นชัดและทรงพลังมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในบางครั้งเมื่อมี “ความชั่ว” เป็นตัวเปรียบเทียบแล้ว การกระทำอื่น ๆ ที่แม้จะไม่ได้เป็น “ความดี” ก็อาจได้รับการยกระดับทางศีลธรรมขึ้นมาด้วย
ในเรื่อง หญิงคนชั่ว และในสังคมไทย การที่อาชีพโสเภณีถูกตีตราว่าเป็นอาชีพของคนชั่วนั้นก็เพราะสังคมต้องการกดคนกลุ่มนี้ให้กลายเป็น “ความชั่ว” เพื่อให้ “ความดี” ซึ่งหมายถึงการกระทำตามกรอบศีลธรรมสมมตินี้สูงส่งขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้การกระทำอื่น ๆ ที่อาจเรียกว่า “ชั่วน้อยกว่า” กลายเป็นความดีขึ้นมาได้ด้วย เห็นได้จากในเรื่อง หญิงคนชั่ว เมื่อรื่นได้ฝากหนูอี๊ดไว้กับสามีภรรยาคู่หนึ่ง ถึงแม้ว่าพวกเขาจะโกงเงินค่านมจากรื่น แต่พวกเขาก็ยังตีตราว่ารื่นเป็นหญิงคนชั่วและมองว่าพวกเขามีศีลธรรมมากกว่า ซึ่งเป็นเพราะพวกเขามีตัวเปรียบเทียบเป็น “ความชั่ว” ที่สุดอย่างโสเภณีนั่นเอง
ผู้เขียนได้มีโอกาสฟังบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับชีวิตของคุณวรินทร วัตรสังข์ หรือ คุณแอนนา หญิงข้ามเพศที่เป็นอดีตโสเภณีและเป็นแม่ในครอบครัว LGBTQ เธอได้กล่าวถึงการแอบทำอาชีพโสเภณีในประเทศไทยว่าอาจถูกต้องเพียงเพราะเป็นช่องทางให้ผู้มีอำนาจสามารถเก็บส่วยได้เท่านั้น กรณีที่คุณแอนนากล่าวถึงนี้จึงคล้ายกับการกระทำของสามีภรรยาในเรื่อง หญิงคนชั่ว เพราะทั้งผู้มีอำนาจและคู่สามีภรรยาต่างทำผิด แต่เมื่อมีตัวเปรียบเทียบอย่างโสเภณีแล้ว การกระทำของพวกเขาก็มีศีลธรรมสูงกว่าไปโดยปริยาย
ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=LYcLObTkfMI
คุณแอนนายังให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสาเหตุของการต้องเป็นโสเภณีอีกว่าเป็นเพราะปัญหาทางเศรษฐกิจที่บีบให้เธอต้องทำงานใช้หนี้แทนคนในครอบครัว กรณีของคุณแอนนาจึงไม่ต่างกับโสเภณีอย่างรื่นที่ถูกสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องเป็น “หญิงคนชั่ว” เพื่อนำเงินมาดูแลตนเองและลูก
วรรณกรรมเรื่อง หญิงคนชั่ว โต้กลับคำตัดสินของสังคมที่มองว่าการเป็นโสเภณีนั้นเป็นเพียงทางเลือกและผู้ที่เลือกเป็นโสเภณีนั้นเป็นผู้ที่รักสบาย เพราะวรรณกรรมเรื่องนี้นำเสนอเหตุผลที่ตัวละครรื่นต้องจำใจเป็นโสเภณี คือเพื่อนำเงินมาจุนเจือตนเองและลูก โดยเธอไม่สามารถเลือกทำอาชีพอื่นได้ เห็นได้จากการที่รื่นอยากเปิดร้านขายผลไม้แต่ก็ไม่สามารถทำได้เพราะหากไม่ทำงานเป็นโสเภณีวันนี้ เธอก็จะไม่มีเงินทันใช้ในวันต่อไป
ขอบคุณที่มารูปภาพ: http://www.45cat.com/record/mr108
หญิงคนชั่ว ยังนำเสนอชีวิตของรื่นในมิติที่หลากหลายมากกว่าการเป็นโสเภณีคนหนึ่ง คือนำเสนอโสเภณีในฐานะปัจเจกชนที่มีชีวิต จิตใจ และอารมณ์ที่หลากหลายอย่างแท้จริง ตัวละครรื่นนั้นเริ่มจากการเป็นหญิงสาวที่มีความฝันและความหวังในอนาคตที่สดใสกับคนรักอย่างวิชัย แต่หลังจากที่เธอถูกหลอกและถูกสถานการณ์บีบบังคับให้เป็นโสเภณีนั้น ความฝันอันบริสุทธิ์ของรื่นก็ค่อย ๆ พังทลายลงไปพร้อม ๆ กับสภาพร่างกายและจิตใจของเธอ ประเด็นนี้จึงอาจคล้ายกับวรรณกรรมที่กล่าวถึง “เมียเช่า” อีกเรื่อง อย่างเรื่องสั้น I เขียน Letter ถึงเธอ Dear John (2559) ของวิกรานต์ ปอแก้ว ที่นำเสนอสภาพจิตใจของ "พร" ที่ค่อย ๆ แตกสลายและเฉยชากับความรักมากขึ้นทุกครั้งที่คนรักของเธอตายจากไป
ขอบคุณที่มารูปภาพ: https://www.youtube.com/watch?v=LvFG-GSkfRU
วรรณกรรมเรื่อง หญิงคนชั่ว จึงเป็นวรรณกรรมที่โต้กลับสังคมที่มักตัดสินอาชีพโสเภณีว่าเป็นอาชีพของคนรักสบายด้วยการแสดงให้เห็นด้านที่ทุกข์และลำบากของการเป็นโสเภณี ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ ในวรรณกรรมหลายเรื่องที่กล่าวถึงชีวิตของโสเภณี ตัวละครโสเภณีมักเปลี่ยนชื่อหลังเริ่มเป็นโสเภณี เช่น ในเรื่อง หญิงคนชั่ว ที่ตัวละคร หวาน ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น รื่น หรือในวรรณกรรมอีกสิบกว่าปีให้หลังอย่าง หลายชีวิต ที่ตัวละคร รื่น ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น พรรณี ซึ่งหากพิจารณาจากเนื้อเรื่องของวรรณกรรมทั้งสองเรื่องแล้ว การเปลี่ยนชื่ออาจหมายถึงการสละทิ้งตัวตนเดิม ความฝันอันบริสุทธิ์ และความหวังในชีวิตที่สวยงาม เพื่อก้าวสู่ความทุกข์ทรมานของการเป็นหฺญิงคนชั่วในโลกที่โหดร้ายก็ได้
จากที่กล่าวมานี้ ผู้เขียนเห็นด้วยกับผู้จัดทำ Podcast ว่า สารที่วรรณกรรมเรื่องนี้ต้องการสื่อกับผู้อ่านก็คือ “การไม่ตัดสินคนจากภายนอก” โดยสื่อสารผ่านการนำเสนอชีวิตของโสเภณีในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ที่ไม่ใช่ภาพเหมารวมของสังคม เพื่อแสดงให้เห็นว่าโสเภณีไม่ใช่ความชั่วร้ายที่ทำลายความดีงามของสังคม แต่เป็น “ความชั่ว” ที่ถูกสังคมสร้างขึ้นเพื่อหล่อเลี้ยง “ความดี” สมมติหรือศีลธรรมอันดีงามของสังคม
ปัญหาโสเภณีในประเทศไทยอาจไม่มีวันเปลี่ยนไป เพราะโสเภณี ไม่ว่าจะเป็น "รื่น" ใน หญิงคนชั่ว ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ 2480 "พรรณี" ใน หลายชีวิต ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ 2494 "พร" ใน I เขียน Letter ถึงเธอ Dear John ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ 2558 และ(อดีต)โสเภณีในปัจจุบันอย่างคุณแอนนา ก็ยังถูกปัญหาเศรษฐกิจบีบบังคับให้เป็นโสเภณีหรือเมียเช่า และยังถูกคนในสังคมเหยียดหยามว่าเป็น “หญิงคนชั่ว” เช่นเดิม จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ในอีกหลายปีข้างหน้า อาจจะยังมีวรรณกรรมเกี่ยวกับปัญหาโสเภณีเรื่องใหม่ที่มีเนื้อหาไม่ต่างกันเลยกับวรรณกรรมเรื่อง หญิงคนชั่ว
เรื่อง: ธนพงษ์ เมืองศิลปศาสตร์ เขียนขึ้นขณะอยู่ชั้นปีที่ 2 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
.
เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ทำซ้ำหรือดัดแปลง
.
© สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in