เทคนิคทำสไลด์ นำเสนออะไรก็ผ่านใน 3 นาที author: maeda kamari
ชื่อภาษาไทยของหนังสือเล่มนี้อาจจะชวนให้เข้าใจผิดไปนิดเพราะไปเน้นที่คำว่าเทคนิคการทำสไลด์ ถ้าดูชื่อภาษาญี่ปุ่นจะพบว่าระบุไว้ชัดเจนว่าเป็น 社内プレゼン หรือการนำเสนอภายในบริษัท เพราะฉะนั้นคนที่ต้องการเทคนิคการทำสไลด์ในสถานการณ์อื่นๆ อาจจะต้องประยุกต์ใช้เอา
พูดให้ชัดเจนขึ้นมาอีกนิดคือหนังสือเล่มนี้สอนเทคนิคการทำสไลด์และนำเสนอโครงการภายในบริษัทให้ผ่าน การนำเสนอในลักษณะนี้ต้องสั้นกระชับได้ใจความที่สุดเพราะผู้บริหารอาจจะไม่ได้มีเวลามานั่งฟังพนักงานตัวเล็กๆ มากขนาดนั้น ถ้าไม่สามารถสรุปเนื้อหาให้ชัดเจนภายในเวลา 3 นาทีก็มีโอกาสที่โครงการจะถูกปัดตกไป
เนื้อหาของหนังสือเราขอแบ่งเองเป็น 3 ส่วน
- โครงสร้างสไลด์
- เทคนิคการจัดวาง object ต่างๆ ในสไลด์
- เทคนิคการนำเสนอ
ในส่วนแรกเป็นการแนะนำโครงสร้างสไลด์ที่เหมาะกับการนำเสนอโครงการ ผู้เขียนแนะนำให้ทำสไลด์แค่ 5-9 หน้าต่อการนำเสนอ 1 โครงการ โดยแบ่งเป็นสถานการณ์ปัจจุบัน (ปัญหา) โครงการที่จะนำเสนอ (การแก้ไขปัญหา) และผลที่คาดว่าจะได้รับ
ส่วนต่อมาเป็นเทคนิคการจัดหน้าสไลด์ การใช้ฟอนท์ การใช้สี การใช้กราฟ การใช้ภาพ การวางตำแหน่งของ object ต่างๆ ให้ดูแล้วเข้าใจง่าย อ้างอิงตามประสบการณ์ของผู้เขียนบ้าน ตามหลักจิตวิทยาบ้าง โดยส่วนตัวเราว่าเนื้อหาส่วนนี้เอามาประยุกต์ใช้กับการทำสไลด์แบบอื่นๆ ได้พอสมควร แต่ต้องดูความเหมาะสมด้านอื่นๆ ประกอบด้วย
เช่นผู้เขียนแนะนำว่าถ้าผู้ฟังเป็นผู้ชาย ไม่ควรใช้ภาพประกอบเป็นผู้หญิงที่สวยเกินไปเพราะผู้ฟังจะถูก distract ได้ง่าย ซึ่งก็สมเหตุสมผลถ้าเป็นการนำเสนอในบริษัท แต่ถ้าเป็นการนำเสนอแบบอื่นๆ ที่ต้องการสร้างอารมณ์ร่วมกับผู้ฟังก็สามารถใช้ภาพสไตล์นี้ได้ไม่ผิดอะไร
หรือเรื่องการใช้กราฟ คนญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่ชอบใช้กราฟในการนำเสนอมาก และวิธีการใช้กราฟในการนำเสนอก็อาจจะแตกต่างกับคนไทยเล็กน้อย คือกราฟจะไม่ได้มีรายละเอียดมากมาย แค่แสดงให้เห็น trend บางอย่างเท่านั้น และด้วยความที่หนังสือเล่มนี้สอนการนำเสนอโครงการให้ผ่าน เทคนิคเลยเน้นไปที่การสร้างและจัดการกราฟเพื่อโน้มน้าวใจผู้บริหารให้ได้ แต่โดยส่วนตัวคิดว่าในการนำเสนอแบบอื่นๆ การจัดการกราฟแบบนี้อาจจะถูกมองว่าเป็นความจงใจนำเสนอข้อมูลแบบไม่ครบถ้วนได้เหมือนกัน
สุดท้ายเป็นเทคนิคการนำเสนอ เป็นบทสั้นๆ ว่าด้วยการซ้อมนำเสนอ ควรซ้อมอย่างต่ำ 20 รอบเพื่อให้พูดได้สมูธ เวลานำเสนอจริงก็แค่พูดไปตามสไลด์ที่ทำเอาไว้แล้ว เสริมด้วยเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ในการสังเกตการตอบสนองของผู้ฟังขณะนำเสนอ
คิดว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะมีประโยชน์มากที่สุดสำหรับคนที่ทำงานในบริษัทญี่ปุ่น เพราะแนวทางทุกอย่างญี่ปุ่นจ๋ามาก เนื้อหาหลายส่วนมีประโยชน์พอสมควรสำหรับคนทั่วๆ ไปที่ต้องทำสไลด์ แต่ถ้าต้องการเทคนิคการจัดองค์ประกอบสไลด์เน้นๆ แนว graphic design เล่มนี้อาจจะยังไม่ตอบโจทย์เท่าไร
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in