เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
messy girl with messy lifems.messy
แค่รู้วิธีเรียน ก็เรียนเก่ง

  • คนเรียนเก่งนี่เขาสมองดีอยู่แล้วหรือว่าเขามีเคล็ดลับอะไรกันนะ?


    คุณเชื่อไหมว่าจริงๆแล้วคนเรียนเก่งเขาไม่ได้เป็นอัจริยะกว่าใคร เขาแค่รู้ "วิธีเรียน"
    วันนี้เรามีเทคนิคการเรียนเก่งมาฝากทุกคนสำหรับเป็นแนวทางในการเรียนหรือสอบค่ะ
    รับรองว่าถ้าทำตามนี้ คุณจะเรียนเก่งขึ้นได้อย่างแน่นอน

    เอาล่ะ ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจคำว่า "การเรียน" กันก่อน


    "การเรียน หมายถึง การเข้ารับความรู้จากผู้สอน, รับการฝึกฝนอบรมเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจหรือความชำนาญ, เช่น เรียนหนังสือ เรียนวิชาความรู้, ฝึกให้เกิดความรู้ความเข้าใจจนเป็นหรือมีความชำนาญ เช่น เขาเรียนแก้พัดลมด้วยตนเอง"


    วัตถุประสงค์ของการเรียนก็เพื่อให้เกิดความรู้หรือทักษะใหม่ๆ
    แต่บางคนมองว่า การเรียนต้องเพื่อสอบเท่านั้น และรู้สึกในแง่ลบเมื่อพูดถึงเรื่องเรียน
    เลยพาลทำให้ไม่ชอบ ไม่อยากเรียน และแน่นอนผลลัพธ์ก็คือคะแนนออกมาแย่นั่นเอง
    พอเป็นแบบนั้น เรามักเข้าใจผิดคิดไปเองว่าเพราะเราหัวไม่ดี เราไม่เก่ง ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่งเลยค่ะ

    อย่างที่กล่าวในตอนแรกว่า ทุกคนสามารถเรียนเก่งได้ เพียงแค่รู้ "วิธีเรียน"
    เทคนิคจากหนังสือจงถ่ายเอกสารหน้าสารบัญ แล้วคุณจะเก่งขึ้น ที่ผู้เขียนแนะนำคือ
    "ทำความเข้าใจภาพรวม" ด้วยการถ่ายเอกสารหน้าสารบัญแล้วเอามาดูไปพร้อมๆกับการอ่านหนังสือค่ะ
    ซึ่งจะทำให้เราเห็นว่าตอนนี้กำลังอยู่ตรงไหนของบท เหลืออีกมากน้อยเท่าไร โดยเราจะเห็นความเชื่อมโยงกันของแต่ละส่วน

    วิธีนี้ได้ผลดีเพราะตรงกับธรรมชาติของสมองที่ชอบการเชื่อมโยงนั่นเองค่ะ

    ขั้นต่อไป เรามาเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการจำเพื่อแก้ให้ตรงจุด 

    ให้อ่านหนังสือแล้วจำได้ จำแม่นไม่ลืมกันค่ะ


    กระบวนการจำมี 3 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้


           1) การเข้ารหัส - คือการที่เราเรียนรู้เรื่องใหม่ๆจากที่ครูสอน จากการอ่านหนังสือ 

                                       หรือจากการลงมือปฏิบัติ เป็นต้น 


           2) การเก็บข้อมูล - เป็นขั้นตอนที่สมองประมวลผล ซึมซับ และบันทึกไว้   

                                          สมองซึมซับได้ดีด้วยหลายวิธีเช่น จดโน้ตด้วยปากกาสีหรือวาดภาพ, 

                                          จดโน้ตย่อเป็นภาษาตัวเอง, ท่องจำเป็นกลอน, อ่านไปด้วยจดไปด้วย เป็นต้น


           3) การเรียกใช้ข้อมูล - เป็นขั้นตอนที่สมองดึงข้อมูลออกมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการทำข้อสอบ 

                                                อธิบาย สอนให้เพื่อนฟัง หรืออ่านซ้ำบ่อยๆ


    ถ้าเราทำ 3 ขั้นตอนนี้ได้มีประสิทธิภาพ เราก็จะจำได้ดีและตอบข้อสอบได้ค่ะ


    นอกจากนี้ ปัจจัยที่ทำให้เราเรียนได้ผลดีหรือผลแย่ก็คือสิ่งเหล่านี้

    ความสนใจ
    เราต้องมีความรู้สึกแง่บวกต่อเรื่องที่เรียน ยิ่งเราสนใจเรื่องนั้นมากเท่าไร เราก็จะสนุกและทำได้ดีมากเท่านั้น ถ้าไม่ใช่เรื่องที่เราสนใจนัก ให้ลองมองหาข้อดีของการเรียนรู้เรื่องนั้นๆดู


    สมาธิ・การจดจ่อ
    เมื่อใดที่เริ่มเรียน ให้พยายามตัดสิ่งรบกวนอื่นๆออกและจดจ่ออยู่กับสิ่งตรงหน้าให้ได้มากที่สุด


    การเชื่อมโยง・ความเข้าใจ
    พยายามทำความเข้าใจภาพรวมหรือคอนเซ็ปของเรื่องนั้นๆ เมื่อเข้าใจภาพใหญ่แล้วให้ลงรายละเอียดแต่ละส่วน แล้วลองเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของส่วนประกอบต่างๆ


    ทบทวน
    หากเรียนไปแล้วคุณไม่เคยกลับมาทบทวนอีก พอเวลาผ่านไปคุณจะมีโอกาสลืมข้อมูลนั้นได้สูง
    แต่ถ้าหมั่นทบทวนก็จะยิ่งทำให้ข้อมูลติดแน่นอยู่กับเราไปนาน จนกลายเป็นความจำระยะยาวที่อยู่ติดตัวไปตลอดชีวิต

    เป็นยังไงกันบ้างคะ ลองทำตามดูไม่ยากเลยใช่มั้ยเอ่ย
    อย่าลืมว่าเทคนิคจำแม่นมี 3 ขั้นตอน เมื่อเข้ารหัสและเก็บข้อมูลแล้ว เพื่อนๆอย่าลืมขั้นตอนสุดท้าย คือ ดึงข้อมูลออกมาใช้ด้วยการนำเคล็ดลับเหล่านี้ไปปฎิบัติกันด้วยนะคะ แล้วมาบอกกันบ้างว่าได้ผลหรือไม่ได้ผลยังไงบ้างนะคะ ^^

    แหล่งอ้างอิง
    http://www.royin.go.th/dictionary
    อิโต, มะโกะโตะ. จงถ่ายเอกสารหน้าสารบัญ แล้วคุณจะเรียนเก่งขึ้น, แปลโดยโยซุเกะ, พิมพ์รัก สุขสวัสดิ์

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in