เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
CAMBODIAN CULTURE JOURNALlinwawrites
สัปดาห์ที่ 11: จาก "กัมพูชาที่รัก" ถึง "สาวกัมพูชา"
  • "รักข้ามขอบฟ้า รักคือสื่อภาษาสวรรค์"

    จากเพลง รักข้ามขอบฟ้า ที่เรายกมานี้ สื่อให้เห็นชัดเลยว่ารักไม่มีคำว่า "พรมแดน" 
    หากว่าใจคนสองคนตรงกัน ก็สามารถเอาชนะระยะทางที่ห่างไกล หรือกำแพงภาษาไปจนได้

    ฟังแล้วโรแมนติกเหลือเกิน หรือแม้กระทั่งเศร้าใจเหลือเกิน
    เพราะรักเป็นทั้งบ่อเกิดของความสุขและความทุกข์ ซึ่งสะท้อนออกมาผ่านเพลง

    สำหรับกัมพูชา เราก็มีเพลงที่สะท้อนให้เห็นถึงรักข้ามพรมแดนด้วยเช่นกัน

    "กัมพูชาที่รัก" ต้นฉบับร้องโดย ภูษิต ภู่สว่าง เป็นเพลงลูกทุ่งที่แทนเสียงของชายหนุ่มที่ตกหลุมรักสาวกัมพูชา ผ่านการเดินทางข้ามแดนไปท่องเที่ยวที่ "เสียมเรียบ" และลงทุนดั้นด้นไปเจอเธออีกครั้งที่กัมพูชา ความน่าสนใจของเพลงนี้คือการใช้คำศัพท์กัมพูชาในเนื้อเพลง อย่าง บองสรันโอน (បងស្រឡាញ់អូន, ฉันรักเธอ) หรือ ลออ  (ល្អ, สวย ซึ่งอาจอนุมานได้ว่าเป็นชื่อของสาวกัมพูชาในเพลง) ซึ่งอาจสื่อได้ถึงความพยายามที่จะเข้าหาสาวที่ตนหมายปองด้วยการทำความเข้าใจภาษาที่เธอใช้ 

    "กัมพูชาที่รัก" มีเพลงแก้ (คือ เพลงที่ฝ่ายหญิงโต้ตอบกลับจากเพลงของฝ่ายชาย) คือ รอพี่ที่กัมพูชา ซึ่งร้องต้นฉบับโดย ยุพิน แพรทอง ซึ่งปรากฏลักษณะการใช้คำภาษาเขมรแบบเดียวกัน สอดคล้องกับการแต่งเพลงแก้ที่จะเลียนภาษาจากเพลงของฝ่ายชาย ที่เป็นการ "เกี้ยว" หญิง ในขณะที่เพลงแก้จะมีเนื้อหา "ตัดพ้อ" ถึงความเรรวนของฝ่ายชายด้วย

    ทั้งสองเพลงที่ยกมานี้ เป็นตัวแทนของเพลงลูกทุ่งรุ่นเก่าที่มีลักษณะเป็นเพลง "ปฏิพากย์" คือมีการตอบโต้กันระหว่างหญิงและชาย เราขอชวนให้ลองมาฟังเพลงลูกทุ่งสมัยใหม่อย่าง "สาวกัมพูชา" ของสาลี่ ขนิษฐา กันดูบ้างว่า จะมีความแตกต่างจากสองเพลงก่อนหน้าหรือไม่


    จากเนื้อเพลง ได้สะท้อนเสียงของสาวกัมพูชาเช่นเดียวกับ "รอพี่ที่กัมพูชา" คือการรอคอยและตัดพ้อถึงความรักของชายไทยที่อาจจะ "กลับกลอก" "ไม่จริงใจ" โดยอาจสังเกตได้ว่า เนื้อเพลงได้สอดแทรกภาษาเขมรมากกว่าในสองเพลงก่อนหน้าเพื่อใช้ในการเล่าถึง "ตัวตน" ของสาวกัมพูชา ผู้เป็น "ผู้เล่าเรื่อง" ของเพลงนี้ ทั้งยังสอดแทรกอาหารการกินของชาวกัมพูชาด้วย ดังจะเห็นได้จากเนื้อเพลงบางส่วนที่ตัดตอนมาด้านล่าง

    "... บานโอ๊ยฮกเปย พี่สงสัยว่ากินแกงนก
    น้องเคยกินแต่ปลาฮ๊ก ตึ๊กเตย กะปิ ก็กินหรอกหนา..." (ขีดเส้นใต้โดยผู้เขียน)

    ความแตกต่างของอาหารนี้ อาจเป็นตัวแทนของ ความกังวลในการใช้ชีิวิต ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการครองรักกับคนต่างชาติว่า อาจจะเข้ากันไม่ได้ดีเท่าที่ใจต้องการอีกด้วย 

    ความรักข้ามเชื้อชาติที่ปรากฏในทั้งสามเพลงนี้เป็นตัวแทน "ความรัก" ที่ท้วมท้น และ "ความกังวล" ที่ล้นเหลือจากความสัมพันธ์ข้ามพรมแดน และยังคงมีความกังวลเช่นนี้แม้โลกจะก้าวไปสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ที่คนสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้สะดวก รวดเร็ว เดทกันได้แม้จะอยู่ห่างกันคนละซีกโลกก็ตาม

    ว่าแต่ ถ้ามีเพลงรักจากคนกัมพูชา "จริง ๆ" ครวญถึงคนฝั่งไทย ก็แบ่งปันกันได้นะ ... รอฟัง
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in