ไม่กี่ปีมานี้ ณ ร้านอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์
มีครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่งนั่งรับประทานอาหารล้อมวงในห้องคาราโอเกะ
พนักงานเสิร์ฟค่อย ๆ เสิร์ฟอาหารทีละจาน ทีละจาน
เริ่มต้นจากข้าวสวยที่ลูกหลานค่อย ๆ ตักให้ญาติผู้ใหญ่
ต้มยำปลาคัง ซึ่งเป็นปลาประจำถิ่นบริเวณลุ่มน้ำปิง ปลากะพงทอด
แล้วก็ "ทอดมันปลากราย"
"เอ้อ ปลาเห็ด ร้านนี้อร่อย เหนียวดีว่ะ"
ยายว่า พลางตักข้าวสวยพร้อมตัดทอดมันพอดีคำ
ราดน้ำจิ้มหวานลงไปเล็กน้อย ก่อนจะรวมทุกสิ่งเข้าปากไป
"ทำไมยายเรียกทอดมันว่า ปลาเห็ด ล่ะ"
หลานถาม พร้อมทำหน้าสงสัยอย่างสุด ๆ
"คนแถวนี้เรียกทอดมันว่าปลาเห็ดกันทั้งนั้นแหละ" ยายว่า
"แต่ไม่รู้เหมือนกันว่ามันมาจากไหนนะ รู้แต่ว่ารุ่นพ่อรุ่นแม่ฉันเขาก็เรียกกันแบบนี้"
ยายยังขยายว่าไม่ได้เรียกกันแค่นครสวรรค์ ขึ้นไปยันพิษณุโลกก็ยังเรียกเช่นนี้
เมื่อมาเรียนภาษาเขมร ก็ทำให้ได้รู้ว่า ปลาเห็ดนั้นเพี้ยนมาจาก "ปรอเหิต" (ប្រហិត)
ที่แปลว่าลูกชิ้น หรือเนื้อที่นำมาผสมกับเครื่องเทศต่าง ๆ ปั้นเป็นก้อน โดยมีลักษณะคล้ายทอดมันแบบไทย แต่ต่างกันที่ "ปรอเหิต" ไม่ได้ทำมาจากปลาอย่างเดียว แต่สามารถทำจากเนื้อสัตว์อื่น ๆ ได้ด้วย เช่น ไก่ เป็นต้น
ดังนั้น ถ้าเราจะสั่ง "ปรอเหิตสัจเตร็ย" ในกัมพูชา อาจจะต้องดูปริบทว่า เรากำลังอยากกิน "ลูกชิ้นปลา" หรือ "ทอดมันปลา" กันแน่
แต่ที่แน่ ๆ ถ้ามีโอกาส ก็อยากลองกินปรอเหิตสัจเตร็ย ที่หมายถึงทอดมันปลาแบบกัมพูชาสักครั้ง
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in