ไม่ค่ะ จริง ๆ เราหมดไฟไปแล้วค่ะ แต่ในเมื่อชีวิตบอกให้เราสู้ เราก็ต้องสู้มันกลับค่ะ
บล็อกครั้งนี้เรามีเกร็ดเล็กกรุบกริบมาประดับสมองก่อนนอนโดยไม่ต้องดื่มเปปทีน สำหรับเพื่อนๆที่ชอบเสพสื่อญี่ปุ่น หรือ คุ้นเคยกับภาษาแดนกิมจิก็จะเห็นว่า เวลาที่เขาพูดแค่คำสั้น ๆ ซับไตเติลกลับชอบขึ้นมายาวเป็นหางว่าว แถมบางทีซับที่ขึ้นมายังไม่ใช่คำที่คน ๆ นั้นพูดจริง ๆ อีกด้วย แล้วคนที่แปลเขาแปลผิดหรือโมเมขึ้นมาเองหรือเปล่านะ เราไปหาคำตอบนั้นกันดีกว่าค่ะ
ภาษาญี่ปุ่น เป็นภาษาสมองกลับ
ภาพจาก : https://agirlinjapan.tumblr.com/post/80432078073/japanese-sentence-structure
อย่างที่เพื่อน ๆ รู้กันดีว่า สิ่งที่ชวนปวดหัวที่สุดของภาษาญี่ปุ่นอย่างหนึ่งนั่นก็คือ "โครงสร้างของประโยค" ค่ะ ภาษาญี่ปุ่นจะนำส่วนขยายย่อย ๆ ของประโยคมาขึ้นไว้ก่อน และจึงจับส่วนสำคัญของประโยคไปวางไว้ท้ายสุด อย่างเช่นประโยคตัวอย่างด้านบน
"แมรี่ซื้อหนังสือที่ร้านหนังสือเมื่อวันอังคาร"
แต่ถ้าแปลงเป็นประโยคภาษาญี่ปุ่น ก็จะได้ว่า
"แมรี่ เมื่อวันอังคาร ที่ร้านหนังสือ ซื้อ"
เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดคุยกับคนญี่ปุ่น ถึงเราจะฟังออกแบบงู ๆ ปลา ๆ แต่ถ้าเราเพ่งจิต และเปิดประสาทหูตอนช่วงท้ายของประโยคได้ ก็มีโอกาสมากขึ้นถึง 50% ที่จะเข้าใจในสิ่งที่เขาต้องการจะสื่อได้นั่นเองค่ะ
เข้าใจโครงสร้างประโยค ---✖----> เข้าใจภาษาญี่ปุ่น
ถึงแม้การเข้าใจลำดับการเรียงคำของประโยคได้แล้ว แต่ความยากของภาษาญี่ปุ่นยังไม่จบแค่นั้นค่ะ//หัวเราะแบบนางมารร้าย เพราะภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่ มีโครงสร้างแบบพิเศษ จากการที่ชอบวางส่วนขยายไว้ด้านหน้าของประโยค ทำให้ลำดับภาษานั้นสลับกลับด้านกับภาษาไทยไปโดยปริยายค่ะ
แต่ก่อนอื่นเราลองไปดูรูปแบบที่เราคุ้นเคยกันก่อนสักนิดนึงนะคะ
เช่น
- 東京に行くバス (Tokyo ni iku basu) = รถบัส ที่ไปโตเกียว
- 昨日見た映画 (kinou mita eiga) = หนัง ที่ดูเมื่อวาน
- 魚を焼く男 (sakana wo yaku otoko) = ชาย ที่ย่างปลา
รูปแบบภาษานี้จะเรียกว่าโครงสร้างแบบแน่นแฟ้น หรือ 内の関係 เพราะเป็นรูปแบบประโยคที่สามารถแปลงประธานของประโยคกลับมาด้านหน้า และนำส่วนขยายไปด้านหลัง (รูปประโยคแบบภาษาไทย) โดยที่เราจะยังสามารถเข้าใจความหมายของเขาได้ค่ะ
ทีนี้เราลองไปดูความงงของโครงสร้างอีกแบบกันดีกว่าค่ะ
- 野菜を食べるみそ汁 (yasai wo taberu misoshiru) = ซุปมิโสะ ที่กินผัก ?
- 眠くなる先生 (nemukunaru sensei) = ครู ที่ง่วง ?
- 魚を焼くにおい (sakana wo yaku nioi) = กลิ่น ย่างปลา ?
พออ่านแล้วรู้สึกตะหงิด ๆ ในใจบ้างมั้ยคะ ทำไมพอกลับตำแหน่งมาแล้วความหมายไม่รู้เรื่องเลยเนี่ย ความสัมพันธ์ของประโยคแบบนี้จะเรียกว่า โครงสร้างประโยคแบบหลวมๆ หรือ 外の関係 ค่ะ คือเมื่อกลับคำนามมาเป็นประธานแล้ว จะเกิดความผิดพลาดทั้งทางไวยากรณ์และความหมาย นั่นเป็นเพราะจริง ๆ แล้วมันมีความหมายที่ซ่อนอยู่ค่ะ ความหมายที่ถูกต้องของประโยคด้านบนก็คือ
- 野菜を食べるみそ汁 (yasai wo taberu misoshiru) = ซุปมิโสะ ที่ทำให้คนกินผักไปด้วยได้
- 眠くなる先生 (nemukunaru sensei) = ครูที่ทำให้นักเรียนง่วงนอน
- 魚を焼くにおい (sakana wo yaku nioi) = กลิ่นของปลาย่าง
จะเห็นได้ว่า 外の関係 เป็นหนึ่งในลักษณะเฉพาะของภาษาญี่ปุ่นมาก คือสามารถบอกความหมายอื่นที่เกินไปกว่านั้นได้ ทั้ง ๆ ที่ภาคแสดงบางส่วนถูกละไว้ เพราะฉะนั้นโดยลำพังการอาศัยแค่สลับลำดับประโยคกับภาษาไทย อาจไม่สามารถทำให้เราเข้าใจความหมายที่ถูกต้องได้นั่นเองค่ะ TT (แน่นอนว่ากูเกิลก็ยังทำไม่ได้นะเออ)
แต่ประโยคที่มีโครงสร้างแบบหลวม ๆ และคนไทยสามารถเข้าใจได้ก็มีนะคะ เช่น
- ドアをたたく音 (doa wo tataku oto) = เสียงเคาะประตู
- 太らないお菓子 (futoranai okashi) = ขนมไม่อ้วน (ขนมที่กินแล้วไม่อ้วน)
หนังสือสอนทำขนม 糖質オフだから毎日食べてもふとらないお菓子 (食べてすこやかシリーズ)
- タバコを買ったおつり (tabako wo katta okane) = เงินทอนซื้อบุหรี่ (เงินทอนที่ได้จากการซื้อบุหรี่)
- アルバイトをしたお金 (arubaito wo shita okane )= เงินทำงานพิเศษ (เงินที่ได้จากการทำงานพิเศษ)
- 英語を教える仕事 (eigo wo oshieru shigoto) = งานสอนภาษาอังกฤษ
เพราะฉะนั้นเวลาดูหนังหรือซีรีส์ญี่ปุ่น เกาหลี แล้วเห็นซับไตเติลแปลมาไม่ตรงกับคำที่คน ๆ นั้นพูดอาจจะเป็นเพราะว่าเขานำส่วนขยายขึ้นมาพูดก่อน หรือเพราะเขาใช้โครงสร้างประโยคแบบหลวม ๆ ที่ซ่อนประธาน ซ่อนความหมายไว้ในนั้น นั่นเองค่ะ ทีนี้เวลาเราได้ยินประโยคอะไร ก็ต้องลองมาคิดก่อนสักสองชั้นแล้วละค่ะ หวังว่าบล็อกครั้งนี้จะช่วยให้ดูซีรีส์ได้สนุกและมีอรรถรสยิ่งขึ้นนะคะ ♥
ไว้เจอกันใหม่
(เมื่อเรากลับมา)
^_^)/ Susu naka 여러분
อ้างอิง
https://agirlinjapan.tumblr.com/post/80432078073/japanese-sentence-structure
https://nihongokyoiku-shiken.com/post-1718/
ภาพ
https://unsplash.com/photos/sqkXyyj4WdE?utm_source=unsplash&utm_medium=referral&utm_content=creditShareLink
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in